Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๖๐

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พรรษาที่ ๕

ป่ามหาวัน
กรุงเวสาลี

 

ลิจฉวี

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ ตามที่ทรงพอพระทัยแล้ว ก็ได้เสด็จจากกรุงราชคฤห์ไปยังกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี เป็นเมืองหลวงของ แคว้นวัชชี ซึ่งเป็นรัฐอิสระรัฐหนึ่ง เวลานั้นมีความเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองสวยงาม ท่านเล่าประวัติของราชตระกูลที่ปกครองวัชชี อันเรียกว่า ลิจฉวี ไว้ดั่งนี้

ในอดีต พระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสีแห่งแคว้นกาสีได้ทรงครรภ์ และประสูติออกมาเป็นชิ้นเนื้อที่มีสีแดง ก็ทรงละอายพระหฤทัย รับสั่งให้นำใส่เข้าไปในภาชนะ แล้วตีตราบอกว่าเป็นปชาคือเป็นผู้ที่เกิดมาของพระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี ปิดเรียบร้อยดีแล้วก็ลอยน้ำทิ้งไป ภาชนะนั้นก็ลอยออกแม่น้ำคงคา ลอยไปจนถึงตำบลหนึ่ง ได้มีดาบสผู้หนึ่งอาศัยสกุลของคนเลี้ยงโคที่เรียกว่า โคบาล ได้ลงไปอาบน้ำ ได้พบภาชนะนั้นลอยมาก็เก็บเอาขึ้นไป เมื่อเปิดดูก็พบชิ้นเนื้อซึ่งเป็นของที่ยังไม่เน่า สงสัยว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตอะไรอยู่ ก็เอาเก็บไว้ ต่อมาชิ้นเนื้อนั้นก็แตกออกเป็น ๒ ชิ้นและต่อมาก็เป็นเด็กขึ้น ๒ คน เป็นชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง เด็กทั้ง ๒ นี้เมื่อบริโภคอาหารลงไปก็มองเห็นจากข้างนอก เพราะมีผิวหนังเหมือนสิ่งโปร่งแสง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ลิจฉวี ที่แปลว่า ไม่มีฉวี ไม่มีผิวหนัง อีกนัยหนึ่งว่ามีผิวหนังเหี่ยวย่นอย่างเป็นรอยเย็บด้วยเข็ม จึงเรียกว่า สีนัจฉวี ที่แปลว่า มีผิวหนังเหี่ยวย่น เรียกเพี้ยนไปก็เป็นลิจฉวี

ดาบสก็เลี้ยงเด็กทั้ง ๒ นั้นไว้ แต่ก็ต้องเป็นกังวล เข้าไปบิณฑบาตในบ้านก็จนตะวันโด่ง พวกโคบาลได้ทราบก็มาขอเอาไป ดาบสนั้นก็ให้ไปและได้สั่งว่า ให้เลี้ยงดูให้จงดี เมื่อเติบโตขึ้นก็จงอภิเษกให้เป็นคู่ครองกัน และจงสร้างบ้านสร้างเมืองให้ โคบาลเหล่านั้นก็เลี้ยงเด็กทั้ง ๒ คนนั้นไว้ และก็ได้ปฏิบัติตามคำที่ดาบสสั่งไว้ ก็เกิดเป็นวงศ์ลิจฉวีขึ้น คู่แรกนี้เมื่ออภิเษกกันแล้วก็มีโอรสมีธิดา และก็อภิเษกในวงศ์เดียวกัน ขยายออกไปจนถึงต้องขยายบ้านเมืองออกไปหลายครั้ง เพราะฉะนั้น เมืองนั้นจึงเรียกว่า เมืองเวสาลี ที่แปลว่า เมืองที่ขยายออกไป และแคว้นนั้นเรียกว่า แคว้นวัชชี คือประเทศวัชชี แปลว่า เป็นถิ่นที่พึงเว้น อาจจะหมายว่า เป็นถิ่นที่มีกำลังเข้มแข็ง ผู้ที่มุ่งจะรุกรานควรจะเว้นก็ได้

แต่ท่านเล่าความหมายไว้อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อกษัตริย์ผู้เป็นต้นวงศ์ลิจฉวียังเด็กอยู่ ได้เล่นรังแกเด็กที่เป็นลูกของพวกโคบาล เด็กที่เป็นลูกของพวกโคบาลก็มาฟ้องบิดามารดาว่า ถูกเด็กที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่มาเล่นรังแก บิดามารดาไม่พอใจก็สั่งให้ลูกงดเว้นไม่ให้คบหากับเด็กทั้ง ๒ นั้น แต่ชื่อนี้ถ้าหมายความว่า เป็นแคว้นที่พึงละเว้นเพราะเหตุที่มีกำลังมาก ก็เห็นจะเหมาะ

เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ กำเนิดภิกษุณี

พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับที่กูฏาคารศาลา อันแปลว่า ศาลาที่เป็นเรือนยอดในป่ามหาวัน ในขณะที่ประทับอยู่ในที่นั้น ก็ได้ทรงทราบข่าวประชวรของพระพุทธบิดา ตามเรื่องได้เล่าว่า เมื่อพระโอรสพระนัดดาได้เสด็จออกทรงผนวชหมด ก็ได้ทรงระลึกถึงอยู่เสมอ เมื่อประชวรลงก็ปรารถนาจะได้เห็นพระราชโอรสและพระราชนัดดา โดยเฉพาะก็คือพระพุทธเจ้า พระนันทะ และพระอานนท์

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงทราบข่าวประชวร ก็ได้รีบเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ และได้เข้าเฝ้าพระพุทธบิดา ได้ทรงแสดงธรรมอบรมอยู่เป็นเวลาหลายวัน จนพระพุทธบิดาเสด็จนิพพาน คือท่านว่าพระพุทธบิดานั้น ได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าอบรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และก็ได้ทูลลาพระพุทธเจ้าเข้านิพพานโดยยังมิทันจะได้อุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ได้ถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา เสร็จแล้วพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระมาตุจฉา คือพระน้านาง เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสวามีสิ้นพระชนม์แล้วก็ทรงหมดภาระ จึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธารามในกรุงกบิลพัสดุ์อันเป็นที่ประทับ และได้ทูลขอให้มาตุคามคือสตรีได้บวชเป็นอนาคาริยะในพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศ พระพุทธเจ้าได้ตรัสปฏิเสธว่า อย่าให้มาตุคามยินดีเพื่อจะบวชในพระธรรมวินัย พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ได้ทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงปฏิเสธทั้ง ๓ ครั้ง พระนางก็ทรงกันแสงเสียพระทัย เสด็จกลับ

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่นิโครธารามในกรุงกบิลพัสดุ์ ตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว ก็ได้เสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี พระนางมหาปชาโคตมีก็ได้ทรงชักชวนเจ้าหญิงสากิยานีเป็นอันมากปลงพระเกศา ทรงผ้ากาสายะคือผ้าย้อมน้ำฝาด แล้วก็ได้เสด็จดำเนินด้วยพระบาททั้งหมดไปยังกรุงเวสาลี และต่างก็มีพระบาทแตกและมีพระกายที่เหน็ดเหนื่อยลำบาก พากันไปยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มประตูที่ประทับ ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมีและหมู่เจ้าหญิงสากิยานีเป็นอันมาก มายืนกันแสงอยู่อย่างนั้นก็ได้เข้าไปถาม พระนางก็ได้รับสั่ง บอกแก่พระอานนท์ พระอานนท์ขอให้ประทับรออยู่ที่นั้นก่อน และก็ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ทูลขอให้มาตุคามได้บวชในพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าได้ตรัสปฏิเสธแก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็ได้ทูลขอถึง ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสปฏิเสธทั้ง ๓ ครั้ง

พระอานนท์จึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ถ้าว่ามาตุคามคือสตรีเมื่อบวชในพระธรรมวินัยนี้แล้ว จะเป็นผู้สมควรที่จะกระทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า เป็นผู้สมควรที่จะกระทำให้แจ้งได้ พระอานนท์จึงได้กราบทูลว่า ถ้ามาตุคาม คือสตรีเป็นผู้ที่สมควรอย่างนั้น และพระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ได้เป็นผู้มีอุปการะมากแด่พระพุทธเจ้ามาในเบื้องต้น เพราะทรงเป็นผู้เลี้ยงดูทะนุถนอมพระองค์สืบต่อจากพระพุทธมารดาซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไป เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พระนางได้บวชในพระธรรมวินัยตามที่ทรงตั้งพระหฤทัย

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมีจะรับ ครุธรรม คือธรรมที่หนัก ๘ ข้อได้ ก็ให้อุปสมบทได้ ครุธรรม ๘ ข้อนั้น คือ

. ภิกษุณีที่อุปสมบทมาตั้ง ๑๐๐ พรรษา ก็พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ การกระทำอัญชลี การทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุที่อุปสมบทใหม่แม้ในวันนั้น

. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ

. ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ ประการจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือการถามวันอุโบสถและการเข้าไปฟังโอวาท

. ภิกษุณีออกพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือ ในภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์

. ภิกษุณีเมื่อต้องครุธรรม คือต้องอาบัติหนัก พึงประพฤติมานัตปักข์หนึ่งในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย

. สตรีที่ศึกษาอยู่ในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี (กล่าวคือรักษาศีล ๑๐ ของสามเณร ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ โดยไม่ขาดตลอดเวลา ๒ ปี) อันเรียกว่า นางสิกขมานา เมื่อได้ศึกษาแล้วดั่งนี้จึงอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายได้

. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุโดยปริยายอะไร ๆ ทั้งนั้น และ

. ภิกษุทั้งหลายสั่งสอนห้ามปรามภิกษุณีทั้งหลายได้ แต่ว่าภิกษุณีทั้งหลายจะสั่งสอนห้ามปรามภิกษุทั้งหลายไม่ได้

ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยินดีรับครุธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ จึงให้อุปสมบทได้

ท่านพระอานนท์ก็เรียนครุธรรมทั้ง ๘ ประการนั้น ก็ได้ไปทูลให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีทราบ พระนางทรงยินดีรับครุธรรมทั้ง ๘ ประการนั้น ได้ตรัสว่าทรงมีความยินดีรับเหมือนอย่างสตรีหรือบุรุษที่เป็นบุคคลรุ่นหนุ่มรุ่นสาวยินดีรับพวงดอกไม้เครื่องประดับ และการรับครุธรรมทั้ง ๘ ประการนั้น เป็นการอุปสมบทของพระนางมหาปชาบดีโคตมี ท่านพระอานนท์ก็ได้กลับเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ทูลให้ทรงทราบว่า พระนางได้รับครุธรรมทั้ง ๘ ได้อุปสมบทแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ถ้ามาตุคามคือสตรีไม่พึงบวชในพระธรรมวินัยนี้ พรหมจรรย์คือพระศาสนาก็จะตั้งอยู่ตลอดกาลนาน สัทธรรมก็พึงตั้งอยู่ตลอดกาล ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามบวชในพระธรรมวินัยนี้ พรหมจรรย์ก็ไม่ตั้งอยู่ตลอดกาลนาน สัทธรรมจะตั้งอยู่ตลอด ๕๐๐ ปีเท่านั้น เหมือนอย่างตระกูลที่มีสตรีมาก มีบุรุษน้อย ก็จะถูกทำลายได้ง่าย เหมือนอย่างโรคของต้นข้าวชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเพลี้ย เมื่อลงในนาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นก็จะไม่ตั้งอยู่ได้นาน หรือเหมือนอย่างโรคที่เกิดขึ้นแก่ต้นอ้อย ที่ทำให้ต้นอ้อยเกิดสีแดงขึ้น ก็จะทำให้ไร่อ้อยตั้งอยู่ไม่ได้นาน แต่ว่าได้ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ให้ภิกษุณีทั้งหลายรับรักษาไว้ ไม่ก้าวล่วงตลอดชีวิต เหมือนอย่างได้ทรงทำทำนบกันบ่อที่ใหญ่ไว้ทุกด้านเพื่อไม่ให้น้ำไหลออก และเพื่อป้องกันน้ำข้างนอกจะไหลเข้ามามากเกินไปด้วย

หลักฐานในพระบาลีภิกขุนีขันธกะตอนนี้ มีแห่งเดียวที่พยากรณ์เรื่องศาสนาว่า ถ้ามาตุคามไม่เข้ามาบวช พรหมจรรย์ก็จักตั้งอยู่นาน ท่านว่า ๑,๐๐๐ ปี แต่ว่าถ้าเข้ามาบวชก็จะเหลือเพียง ๕๐๐ ปี นี่เป็นหลักฐานชั้นบาลีในพระไตรปิฎกของเรา แต่ว่าในชั้นอรรถกถา ท่านได้มาแก้ไว้ว่า พระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ จะมีอยู่ในระยะ ๑,๐๐๐ ปีแรก พระอรหันต์ที่เป็นสุกขวิปัสสก คือว่าที่ได้สำเร็จตัดกิเลสได้ แต่ว่าไม่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ ไม่มีความแตกฉาน (สุกขวิปัสสก แปลว่า เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง คือหมายความว่าไม่ได้ความแตกฉาน แต่ก็ทำกิเลสให้สิ้นไป) นี่จะมีอยู่ในระยะพันปีที่ ๒ พระอนาคามีจะมีอยู่ในระยะพันปีที่ ๓ พระสกทาคามีจะมีอยู่ในระยะพันปีที่ ๔ พระโสดาบันจะมีอยู่ในระยะพันปีที่ ๕ ปฏิเวธสัทธรรม สัทธรรม คือ มรรคผล นิพพาน จะตั้งอยู่ ๕,๐๐๐ ปี ปริยัติสัทธรรม คือการเรียนให้รู้พระพุทธศาสนา ก็จะตั้งอยู่เท่านั้น แต่ว่าเพศคือการทรงเครื่องหมายเป็นบรรพชิตในรูปใดรูปหนึ่งนั้นจะมีสืบไปอีกนาน

อีกแห่งหนึ่ง ได้แสดงอันตรธาน คือความเสื่อมสิ้นแห่งพระศาสนาไว้ ๕ ได้แก่

. อธิคมอันตรธาน ความเสื่อมสิ้นแห่งมรรคผลนิพพาน

. ปฏิปัตติอันตรธาน ความเสื่อมสิ้นแห่งการปฏิบัติ ความเสื่อมสิ้นแห่งมรรคผลนิพพานนั้น หมายความว่า เมื่อไม่มีพระอรหันต์เรื่อยมาจนถึงไม่มีพระโสดาบันเมื่อใด เมื่อนั้นก็ชื่อว่าเป็นความเสื่อมสิ้นแห่งอธิคมคือมรรคผลนิพพาน ความเสื่อมสิ้นแห่งการปฏิบัตินั้น ในเบื้องต้นก็เสื่อมสิ้นการปฏิบัติเพื่อฌานวิปัสสนามรรคผลก่อน คือว่าบุคคลผู้ปฏิบัติไม่ได้มุ่งฌาน ไม่ได้มุ่งวิปัสสนา ไม่ได้มุ่งผล เมื่อการปฏิบัติในด้านนี้เสื่อมลงไปแล้ว ก็เหลือแต่การปฏิบัติพระวินัย ในการปฏิบัติพระวินัยนั้น ข้อเล็ก ๆ ก็เสื่อมไปก่อน คือไม่ใส่ใจในข้อปฏิบัติ พระวินัยที่เป็นส่วนเล็กน้อยก็ขาดวิ่นเรื่อยไปจนถึงเหลือแต่ปาราชิก ๔ แปลว่ารักษาศีล ๔ คือ รักษาการเว้นปาราชิกทั้ง ๔ ข้อไว้ จนเมื่อไม่รักษาสิกขาบททั้ง ๔ ข้อนี้ไว้เมื่อใดด้วยกันทั้งหมด เมื่อนั้นก็เป็นอันว่าถึงความเสื่อมสิ้นของการปฏิบัติ

. ปริยัติอันตรธาน ความเสื่อมสิ้นของปริยัติ คือการเรียนพระศาสนา เมื่อยังมีการเรียนพระศาสนา ยังมีการทรงจำอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ก็ยังไม่เสื่อมสิ้น จนเมื่อใดไม่มีใครทรงจำพระพุทธศาสนาไว้ได้ ก็เรียกว่าเป็นปริยัติอันตรธาน

. ลิงคอันตรธาน ความเสื่อมสิ้นแห่งเพศ คือเมื่อยังทรงเพศอยู่ เพศก็ยังไม่เสื่อมสิ้น เมื่อใดเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเครื่องหมายที่เป็นเพศบรรพชิตไว้เลย เมื่อนั้นก็ชื่อว่าเป็นลิงคอันตรธาน

. ธาตุอันตรธาน ความเสื่อมสิ้นแห่งธาตุ หมายความว่าความเสื่อมสิ้นพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งท่านพยากรณ์ว่าในอนาคตข้างหน้า โอกาสหนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุก็จะเสื่อมสิ้นไป

นี่เป็นเค้าของเรื่องศาสนาอันตรธาน ความเสื่อมสิ้นแห่งพระศาสนาที่มีแต่งกันเป็นหลักฐานในลังกา แต่ในชั้นบาลีก็มีพบเท่าที่อ้างมาข้างต้น ซึ่งท่านอธิบายว่า ที่ตรัสว่าพรหมจรรย์หรือว่าสัทธรรมจะตั้งอยู่พันปีนั้น ก็หมายถึงว่าจะมีพระอรหันต์ที่เป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทา คือความแตกฉานในปฏิสัมภิทาอยู่ตลอดพันปี ส่วน ๕๐๐ ปีนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติครุธรรมป้องกันไว้ จึงไม่เป็นไปดั่งนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประทานครุธรรมเป็นการประทานอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีแล้ว ก็ได้โปรดให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทเจ้าหญิงสากิยานีที่ตามเสด็จมานั้นให้เป็นภิกษุณีด้วยกันสิ้น แต่ก็ต้องรับปฏิบัติในครุธรรมทั้ง ๘ ประการนั้นด้วย ต่อมา มีครั้งหนึ่งพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ขอให้ท่านพระอานนท์ทูลขอพระพุทธเจ้าข้อหนึ่ง คือขอให้ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายกราบไหว้กันตามอ่อนแก่ พระพุทธเจ้าไม่ทรงยินยอมอำนวยตาม และในคราวหนึ่ง พระนางมหาปชาโคตมีได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ทรงขอให้ทรงแสดงธรรมโดยย่อ ซึ่งเมื่อได้ทรงสดับธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะได้หลีกออกปฏิบัติ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า

ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อความประกอบอยู่กับทุกข์ เป็นไปเพื่อความสั่งสมกองกิเลส เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ก็พึงทรงไว้ว่านั่นไม่ใช่ธรรม นั่นมิใช่วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์คือคำสอนของพระศาสดา

ส่วนธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความสิ้นกำหนัดย้อมใจ เป็นไปเพื่อความไม่ประกอบอยู่กับทุกข์ เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกองกิเลส เป็นไปเพื่อความปรารถนาน้อย เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ เป็นไปเพื่อความหลีกออกสงบสงัด เป็นไปเพื่อความปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ก็ให้พึงทรงไว้ว่า นี่เป็นธรรม นี่เป็นวินัย นี่เป็นสัตถุศาสน์

ธรรมะที่ตรัสแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีนี้ ในนวโกวาทได้นำมาไว้ในหมวด ๘ และได้เรียกว่า ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ อย่าง

 ในพรรษาที่ ๕ พระพุทธเจ้าก็ได้ประทับจำพรรษาอยู่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวันใกล้กรุงเวสาลีนั้น

ตามที่ได้แสดงไว้แล้วว่าในพรรษาที่ ๕ นั้น พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี มหาวัน แปลว่าป่าใหญ่ อยู่ใกล้เมืองเวสาลี ได้มีการสร้างเรือนชั้นที่เรียกว่าปราสาท ซึ่งทำเป็นแบบเรือนยอดมีช่อฟ้า แต่ว่าเรียกชื่อว่า กูฏาคารศาลา กูฏะ แปลว่า ยอด อาคาร แปลว่า เรือน ศาลา ก็แปลว่า โรง รวมกันว่า โรงเรือนยอด สร้างไว้ในป่ามหาวันนั้น และเป็นสังฆารามสำหรับพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อพูดว่า กูฏาคารศาลา ก็หมายถึงว่าเป็นชื่อของอารามในที่นั้น ท่านแสดงว่าตัวศาลาหลังนี้ ได้สร้างยาวไปตามทิศเหนือมาใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในระหว่างที่ประทับอยู่ในที่นี้ ได้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์โปรดพระพุทธบิดาดั่งที่เล่าแล้ว การเสด็จครั้งนี้ พระอาจารย์กล่าวว่าเสด็จไปทางอากาศ น่าจะเข้าใจว่าเสด็จโดยรีบด่วน เพราะพระพุทธบิดาประชวรมาก เมื่อพระพุทธบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว มหานามสักกะซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระอนุรุทธเถระก็ได้ปกครองศากยวงศ์สืบต่อมา

ในปฐมสมโพธิ ฉบับ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และอรรถกถา ได้เล่าว่า พระนางยโสธราพิมพาได้ทรงปรารภถึงการเสด็จออกทรงผนวชของพระพุทธเจ้ากับพระราหุลซึ่งเป็นพระโอรส และเมื่อสิ้นพระพุทธบิดาแล้ว จึงได้ทรงคิดจะออกผนวชเป็นภิกษุณี ได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถีซึ่งเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับ และก็ทรงขอผนวชเป็นภิกษุณี ในระยะนี้ก็ยังไม่ถึงวาระที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นดั่งนั้น ก็คงจะเป็นที่เสด็จผ่าน คือว่าจาริกผ่านไปและประทับที่พระเชตวันก่อนเข้าพรรษา แล้วจึงเสด็จต่อไปยังกรุงเวสาลีประทับ ณ ป่ามหาวันนั้น


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑  หน้า ๒๒๖ – ๒๓๘