Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พระมหากัจจายนะ

พระเจ้าปัชโชต กรุงอุชเชนี ซึ่งหมอชีวกโกมารภัจไปรักษาและได้ทรงส่งผ้าสิเวยยกะมา นอกจากเป็นผู้ที่เกลียดสัปปิ (เนยใส) แล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ดุร้าย จึงมีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า พระเจ้าจัณฑปัชโชต เติมคำว่า จัณฑะไว้ข้างหน้า ซึ่งแปลว่าพระเจ้าปัชโชตผู้ดุร้าย และโปรดเสวยน้ำจัณฑ์ แต่ว่าเป็นผู้ที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา เมื่อได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกก็คิดที่จะเชิญเสด็จพระพุทธเจ้ามาสู่กรุงอุชเชนี เมื่อปรึกษาว่าจะส่งใครไปเชิญเสด็จ ก็เห็นสมควรว่าปุโรหิตของกรุงนั้นชื่อว่า กาญจนะ เรียกโดยโคตรว่า กัจจายนะ เป็นผู้ที่ควรเป็นทูตไปเชิญเสด็จได้ จึงได้มอบหมายให้กาญจนะปุโรหิตหรือว่ากัจจายนะปุโรหิตไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตนั้นก็ทูลรับว่าจะไปเชิญเสด็จ แต่ว่าขอประทานอนุญาตบวชในสำนักพระพุทธเจ้า พระเจ้าปัชโชตก็ประทานอนุญาต กัจจายนะปุโรหิตพร้อมกับผู้ร่วมทางอีก ๗ คน รวมเป็น ๘ คน ได้เดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ แล้วขอบวชในสำนักพระพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้วก็บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จพระอรหันต์ด้วยกันทั้ง ๘ รูป

กัจจายนะปุโรหิตผู้นี้ มีเล่าไว้ในประวัติของท่านว่า ท่านเป็นบุตรของสกุลพราหมณ์ปุโรหิตในกรุงอุชเชนี เป็นผู้มีวรรณะงดงาม (ใช้คำว่า สุวัณณวัณโณ คือมีวรรณะเพียงวรรณะของทอง ซึ่งคำนี้ก็เป็นคำที่ใช้สรรเสริญวรรณะของพระพุทธเจ้า) เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า กาญจนะ แต่มักจะเรียกโดยโคตรว่า กัจจายนะ เมื่อบิดาสิ้นชีวิตก็ได้สืบตำแหน่งแทนบิดา ตั้งแต่มาบวชแล้วก็เรียกว่า พระมหากัจจายนเถระ

เมื่อท่านได้บรรลุถึงผลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านก็ได้กราบทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปกรุงอุชเชนี พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ท่านกัจจายนะไปเองเถิด เพราะว่าเธอสามารถจะยังราชตระกูลและประชาชนในกรุงอุชเชนีให้เลื่อมใสได้ เพราะฉะนั้น พระมหากัจจายนะพร้อมด้วยพระผู้ร่วมเดินทางอีก ๗ รูปก็เดินทางไปกรุงอุชเชนี ในระหว่างทางก็ได้ไปถึงนิคมคืออำเภอแห่งหนึ่งชื่อว่า นาริ ในนารินิคมนี้ได้มีธิดาของเศรษฐีที่ตกยาก คือเกิดในขณะที่กำลังตกยากแล้ว แต่เป็นผู้ที่มีผมยาวและงดงาม ธิดาของเศรษฐีอีกสกุลหนึ่งเป็นผู้มั่งมีแต่ว่าขัดสนผม ธิดาเศรษฐีคนที่ขัดสนผมนี้ได้ส่งคนไปขอซื้อผมของอีกคนหนึ่ง ให้ราคามากมาย ธิดาเศรษฐีผมดกแต่ว่าตกยากผู้นั้นก็ไม่ยอมขายผมให้

เมื่อพระมหากัจจายนเถระและพระผู้ร่วมทางได้ไปถึงนิคมนั้น ได้ออกบิณฑบาตถือบาตรเปล่าเดินไป ธิดาของเศรษฐีตกยากให้คนไปนิมนต์เข้ามาในเรือน แล้วก็ได้เข้าไปในห้องตัดผมของตนออก ให้พี่เลี้ยงนำผมไปขายให้แก่ธิดาของเศรษฐีคนที่ขัดสนผม สั่งไว้ว่าเมื่อได้เท่าไรก็ให้ซื้ออาหารมาเพื่อใส่บาตร พี่เลี้ยงนั้นก็นำผมไปขายให้แก่ธิดาเศรษฐีคนที่ขัดสนผม ธิดาของเศรษฐีผู้นั้นก็บอกว่า ไม่ควรจะให้ราคาสูงดั่งที่ติดต่อกันมาก่อน เพราะว่านำมาให้อย่างนี้เป็นผมที่ปราศจากค่าเหมือนผมของคนตาย จึงได้ให้ราคาเพียง ๘ กหาปณะเท่านั้น พี่เลี้ยงก็นำเงิน ๘ กหาปณะไปซื้ออาหารแบ่งเป็น ๘ ส่วน แล้วนำไปให้ธิดาของเศรษฐีใส่บาตรแก่พระภิกษุทั้ง ๘ รูปนั้น

พระมหากัจจายนะพร้อมทั้งพระอนุจร ทำภัตกิจแล้วออกจากบ้านนั้นก็ตรงไปยังกรุงอุชเชนี ไปพักอยู่ในอุทยาน กัญจนวัน ของพระเจ้าแผ่นดิน คนรักษาอุทยานจำได้ ก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าปัชโชตให้ทรงทราบ พระเจ้าปัชโชตได้เสด็จมาทรงพบแล้วตรัสถามว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระมหากัจจายนะทูลตอบว่า ไม่ได้เสด็จมาเอง โปรดให้ท่านมา พระเจ้าแผ่นดินก็ตรัสถามระยะทางที่มา กับอาหารการขบฉัน ท่านก็ได้เล่าถวายตามเรื่องที่เป็นมา พระเจ้าปัชโชตทรงได้สดับ ก็ทรงนิยมชมชื่นโปรดให้ไปรับธิดาเศรษฐีตกยากมาเป็นพระมเหสีอีกองค์หนึ่ง ต่อมาพระมเหสีองค์นี้ได้ประสูติพระราชกุมาร พระราชบิดาทรงตั้งพระนามตามชื่อของเศรษฐีผู้เป็นตาว่า โคปาลกุมาร และพระเทวีก็มีชื่อว่า โคปาลมาตาเทวี พระเทวีได้โปรดให้สร้างวิหารถวายพระมหากัจจายนเถระในอุทยานกัญจนวันนั้น

พระมหากัจจายนเถระเป็นผู้สามารถในการขยายความย่อให้พิสดาร ต่อมาในภายหลังเมื่อท่านได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ายังพระเชตวัน กรุงสาวัตถี ท่านได้แสดงขยายความภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยย่อแบบแต่งกระทู้นี่แหละ ภาษิตของท่านนั้นพระอาจารย์ผู้สังคายนาพระธรรมวินัยได้รวบรวมไว้มาก เช่น มธุปิณฑิกสูตร พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภเหตุนี้ จึงได้ทรงยกย่องให้ท่านเป็นเอตทัคคะในทางขยายความย่อให้พิสดารโดยเฉพาะ ท่านได้ทำให้เกิดความเลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนาในกรุงอุชเชนีเป็นอันมาก ได้มีกุลบุตรในกรุงอุชเชนีออกบวชกันมาก

ในเมืองไทยเรานี้ได้รู้จักท่านในรูปนั่งที่เป็นพระอ้วน ๆ ทำไมจึงได้สร้างรูปของท่านให้อ้วนนั่งพุงพลุ้ยอย่างนั้น ไม่พบหลักฐานในบาลีและอรรถกถา เป็นแต่เคยได้ยินมาว่า ท่านเป็นผู้มีวรรณะงดงาม จนมีผู้เข้าใจว่าเป็นพระพุทธเจ้าหลายครั้งหลายหน ท่านจึงอธิษฐานให้องค์อ้วนอย่างนั้น เราก็มาสร้างรูปท่านเป็นพระอ้วน พระอ้วนนี้ของพม่ามอญก็มี คือ พระอุปคุต ที่เราเรียกว่า พระบัวเข็ม ของจีนก็มีคือ พระศรีอาริย์ เป็นที่นิยมว่าเป็นเครื่องหมายของความสุขสมบูรณ์ ไทยเราอาจจะสร้างพระอ้วนขึ้นเป็นเครื่องหมายของความสุขสมบูรณ์เหมือนอย่างพม่ามอญจีนดั่งกล่าวก็ได้

ในพระบาลีนั้นมักไม่ได้ระบุกาลเวลาแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจไว้ ในชั้นอรรถกถาก็มักไม่ระบุไว้ แต่มีระบุไว้มากกว่าในพระบาลี ฉะนั้น ในการจัดว่าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอะไรในปีไหน จึงจัดตามที่มีระบุไว้ชัดบ้าง ตามสันนิษฐานบ้าง ตามเรื่องราวบ้าง ดั่งเช่นเมื่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์ อันส่องความว่าเป็นในระยะต้น มีเหตุผลที่ส่องความอย่างนั้น เช่น ประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งทรงใช้อยู่ในระยะต้น และเหตุผลประกอบอีกบางอย่าง ก็จัดเข้าในพรรษาที่ ๒--๔ ด้วย

มีอีกเรื่องหนึ่งที่หนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๔ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวแก่บุคคล คือในอรรถกถาธรรมบท เล่าว่าบุตรเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ผู้หนึ่ง ชื่อว่า อุคคเสน ครั้งหนึ่งได้มีคณะนาฏกะคือคณะนาฏศิลป์คณะหนึ่งมาแสดงในกรุงราชคฤห์ และมีการไต่ราวซึ่งใช้ไม้ไผ่ต่อตั้งพาดขึ้นไปในอากาศ มีนักแสดงไต่ขึ้นไปเดินบนราวนั้นและฟ้อนรำขับร้อง บุตรเศรษฐีอุคคเสนได้ไปดูก็เกิดพอใจในธิดานักฟ้อนผู้หนึ่ง กลับมาบ้านก็ลงนอนไม่ยอมแตะต้องอาหาร บอกว่าถ้าไม่ได้ก็จะยอมตาย บิดามารดาก็ส่งคนไปขอ เขาก็ไม่ยอมยกให้ บอกว่าถ้าพอใจก็ให้ตามคณะเขาไปเขาจึงจะยอมให้ บุตรเศรษฐีนั้นก็ยอมตามคณะนั้นไป และก็ได้ธิดานักฟ้อนนั้นตามประสงค์ ต่อมาเมื่อมีบุตร ภรรยาก็สอนให้บุตรพูดว่า เป็นลูกของคนเทียมเกวียน เป็นลูกของคนยกสิ่งของ คือว่าบุตรเศรษฐีนั้นไม่มีศิลปะในทางนั้น ก็ต้องช่วยคณะในการจัดเกวียน ในการเลี้ยงโค และในการยกทัพสัมภาระ เมื่อได้ฟังภริยาพูดหมิ่นดั่งนั้นก็คิดว่า มานะของภริยานั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็จับได้ว่าเพราะตนเองไม่มีศิลปะ จึงเกิดความตั้งใจที่จะศึกษา ไปหาบิดาของภริยา ขอศึกษาศิลปะจนเป็นผู้สามารถแสดงได้เป็นอย่างดี ในคราวหนึ่งได้มาแสดงในกรุงราชคฤห์และได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งที่แปลใจความว่า

จงปล่อยในเบื้องต้น จงปล่อยข้างหลัง จงปล่อยในท่ามกลาง เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งภพ บุคคลผู้มีใจวิมุตติแล้วในที่ทั้งปวง จักไม่เข้าถึงชาติและชราต่อไปอีก” 
ก็ได้ขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานให้เป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๒๒๑ – ๒๒๕