Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๘

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

 

ชีวกโกมารภัจ

 

แพทย์หลวงผู้นี้มีชื่อว่า ชีวกโกมารภัจ เป็นชื่อที่ในวงการแพทย์แผนโบราณได้รู้จักและนับถือกันมากในประเทศไทยเป็นเวลาช้านาน ในบาลีจีวรขันธกะ ได้มีเรื่องเล่าถึงประวัติของนายแพทย์ผู้นี้ไว้ว่า

ในสมัยพุทธกาล กรุงเวสาลีนครหลวงของรัฐวัชชีเจริญใหญ่โต มีประชาชนพลเมืองมาก มีเครื่องอุปโภคบริโภคบริบูรณ์ มีปราสาทอาคารบ้านเรือนคับคั่ง มีสวนมีสระเป็นที่รื่นรมย์มากมาย ทั้งมีนางคณิกาชื่อว่าอัมพปาลี ซึ่งมีรูปงามประดับพระนครให้งดงาม นางอัมพปาลีนั้นต้อนรับบุรุษด้วยกำหนด ๑ ราตรีต่อ ๕๐ กหาปณะ

ในครั้งนั้น ได้มีพวกคฤหบดีชาวกรุงราชคฤห์ นครหลวงมคธ คณะหนึ่งไปกรุงเวสาลีด้วยกิจธุระบางอย่าง ได้เห็นกรุงเวสาลีเจริญใหญ่โต ทั้งสนุกสนานกันอย่างนั้น ครั้นกลับมาแล้วจึงได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องกรุงเวสาลีตามที่ได้ไปเห็นมา และกราบทูลแนะนำให้ทรงตั้งสตรีรูปงามผู้หนึ่งให้เป็นนางคณิกาสำหรับพระนครราชคฤห์อย่างนครเวสาลี พระเจ้าพิมพิสารก็ประทานอนุญาต พวกคฤหบดีเหล่านั้นจึงได้เลือกกุมารีรูปงามผู้หนึ่งชื่อว่า สาลวดี ตั้งให้เป็นนางคณิกาประจำราชคฤห์ และตั้งอัตราบำเรอราตรีละ ๑๐๐ กหาปณะ ในสำนักของนางคณิกานี้จัดให้มีการฟ้อนรำขับร้องเป็นเครื่องบำรุงความเพลิดเพลินต่างๆ

เรื่องการตั้งนางคณิกาสำหรับประจำเมืองนี้ ได้เป็นประเพณีของบางรัฐในอินเดียในสมัยนั้น หญิงรูปงามผู้หนึ่งจะต้องถูกเลือกให้เป็นนางคณิกา เป็นสาธารณะสำหรับชายทั่วไป เป็นที่นิยมว่าเป็นเครื่องประดับพระนครให้สวยงามอย่างหนึ่ง เช่นสวนและสระที่น่ารื่นรมย์ จึงได้เรียกว่า นครโสเภณี ที่แปลว่าเป็นหญิงงามแห่งนคร ในบางรัฐถ้าปรากฏว่ามีหญิงงามที่สุดเป็นที่ปองกันมากแล้ว ก็จะถูกจัดให้เป็นนครโสเภณี ไม่ยอมให้ไปตกแก่ผู้ใดโดยเฉพาะ

ในเวลาต่อมา นางสาลวดีได้ตั้งครรภ์ขึ้น เห็นว่าหญิงมีครรภ์ไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ จึงเก็บตัวด้วยแสดงว่าป่วยไข้ ต่อมานางคลอดบุตรเป็นชายจึงให้นางทาสีนำไปทิ้งในที่หยากเยื่อ มักถือเป็นธรรมเนียมว่าถ้าคลอดบุตรเป็นหญิงก็จะเลี้ยงไว้และให้สืบอาชีพต่อไป แต่ถ้าเป็นชายก็ไม่เลี้ยง แต่ว่าเป็นบุญของเด็กคนนั้น เพราะได้มีพระราชกุมารซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสารองค์หนึ่ง มีพระนามว่า อภัย ได้เสด็จไปสู่ที่เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในเวลาเช้า ได้ทรงเห็นฝูงกาบินว่อนอยู่ในที่ซึ่งทารกถูกทิ้งไว้ ก็ได้โปรดให้มหาดเล็กไปตรวจดูว่ามีอะไร ก็ได้เห็นมีเด็กถูกทิ้ง ก็ตรัสถามว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มหาดเล็กก็ทูลตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้มีชื่อว่า ชีวก และได้โปรดให้นำไปวัง โปรดให้จัดพี่เลี้ยงนางนมเลี้ยงดูไว้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นจึงได้มีชื่อต่อว่า โกมารภัจ หรือ ชีวกโกมารภัจ

            ต่อมาเมื่อชีวกโกมารภัจนั้นเติบโตขึ้นแล้ว ก็ได้กราบทูลถามอภัยราชกุมารถึงมารดาบิดาของตน พระราชกุมารก็ตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงรู้จักมารดาบิดาของชีวก แต่ว่าได้ทรงชุบเลี้ยงชีวกไว้เหมือนอย่างบุตร ชีวกโกมารภัจก็ได้พิจารณาถึงฐานะของตน คิดว่าถ้าไม่มีศิลปะจะดำรงชีวิตอยู่ในราชสำนักเป็นการยาก จึงคิดไปศึกษาศิลปวิทยา และก็ได้ตกลงเลือกเอาวิชาแพทย์ เพราะเหตุว่าเป็นวิชาที่ประกอบอาชีพไม่เบียดเบียนผู้ใด เป็นผู้ปฏิบัติประกอบด้วยเมตตากรุณาเกื้อกูลแก่ความสุขของมนุษย์ จึงได้ไปศึกษาวิชาทางแพทย์ในสำนักแพทย์ผู้ทิศาปาโมกข์คนหนึ่งในเมืองตักกศิลา

ชีวิกเป็นผู้ที่ฉลาดสามารถในการศึกษา เรียนได้มาก เรียนได้เร็ว ทรงจำได้เร็ว ทรงจำได้ดี ไม่หลงลืม ในตอนนี้ ได้มีพระอรรถกถาจารย์ได้แต่งแทรกไว้ว่า ท้าวสักกเทวราชได้เข้ามาสิงอาจารย์ช่วยสอนวิชาแพทย์ให้ชีวกด้วย จนถึงสอนให้สามารถรักษาคนไข้หนเดียวก็หายได้ เมื่อได้ศึกษาอยู่ถึง ๗ ปีก็คิดว่า เราได้ศึกษามามากถึงเท่านี้ ที่สุดของวิชาก็ไม่ปรากฏ เมื่อไรจะปรากฏสักที จึงได้เข้าไปถามอาจารย์ อาจารย์สั่งให้ชีวกถือจอบออกไปหาต้นไม้ต่าง ๆ ในที่ประมาณ ๑ โยชน์โดยรอบ เมื่อพบต้นไม้ต้นใดที่ไม่ใช่ยาก็ให้ขุดนำเอามา ชีวกนั้นก็ได้ปฏิบัติตาม เที่ยวค้นหาต้นไม้ที่ไม่ใช่ยา คือที่ไม่สามารถนำมาทำยาได้ ก็ไม่พบ เพราะว่าไปพบแต่ที่สามารถใช้เป็นยาได้ทั้งนั้น จึงได้กลับมาแจ้งให้อาจารย์ทราบ อาจารย์จึงได้ประกาศว่า เธอเป็นผู้ศึกษาจบแล้ว เท่านี้ก็เพียงพอเพื่อจะเลี้ยงชีวิตของเธอได้ จึงได้มอบเสบียงเดินทางกลับให้เพียงเล็กน้อย และส่งชีวกให้เดินทางกลับ

ชีวกได้เดินทางกลับไปยังกรุงราชคฤห์ แต่ว่าได้ผ่านเมืองต่าง ๆ มาโดยลำดับ เมื่อผ่านมาถึงเมืองสาเกตก็สิ้นเสบียง เพราะอาจารย์ให้เสบียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงต้องคิดหาเสบียงใหม่ที่จะเดินทางต่อไปด้วยการไปขอรับรักษาโรค

          ในครั้งนั้น ภริยาเศรษฐีในเมืองสาเกตเป็นโรคปวดศีรษะมาเป็นเวลา ๗ ปี ได้มีหมอใหญ่เป็นอันมากมารักษาก็ไม่สามารถจะรักษาให้หายได้ เสียเงินเสียทองไปเป็นอันมาก ชีวกก็เข้าไปขออาสารักษา ทีแรกภริยาเศรษฐีก็กล่าวปฏิเสธ ด้วยหมิ่นว่าเป็นหมอเด็ก ๆ จะเสียทรัพย์เปล่า ชีวกก็กล่าวรับรองว่าจะไม่เรียกทรัพย์ก่อน เมื่อบำบัดโรคหายแล้วจะให้เท่าไหร่ก็ตามแต่จะปรารถนา ภริยาเศรษฐีจึงยอมให้รักษา ชีวกได้เข้าไปยังห้องของภริยาเศรษฐี ตรวจดูอาการต่าง ๆ แล้ว ก็สั่งให้นำเนยใสมาประมาณซองมือหนึ่ง บดผสมด้วยเภสัชต่าง ๆ แล้วให้ภริยาเศรษฐีนัด เมื่อภริยาเศรษฐีได้นัดยานั้นก็หายจากโรคปวดศีรษะซึ่งได้เป็นมานาน จึงได้พร้อมกับเศรษฐีและญาติรวมกันมอบทรัพย์ให้แก่ชีวก ๑,๖๐๐ กหาปณะ พร้อมทั้งทาสและทาสีอีกด้วย ชีวกได้นำทรัพย์เหล่านั้นไปยังกรุงราชคฤห์ ได้เข้าเฝ้าทูลถวายแก่อภัยราชกุมาร เป็นส่วนสนองพระเดชพระคุณที่ได้ทรงเลี้ยงดูมา พระราชกุมารก็ได้ประทานคืน และโปรดให้ปลูกนิเวศน์อยู่ภายในวังของพระองค์

          ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารประชวรเป็นโรคพระภคันทลาคือโรคริดสีดวงทวาร มีโลหิตออกเปื้อนผ้าสาฎก พระเทวีทั้งหลายพากันเยาะเย้ยว่า เทวราชทรงมีระดู จะประสูติในไม่ช้า พระราชาทรงละอาย ก็โปรดให้อภัยราชกุมารหาหมอมาบำบัด พระกุมารก็ส่งหมอชีวกเข้าไปถวายการรักษา ชีวกก็ถวายการรักษาด้วยการทายาเพียงครั้งเดียว พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงหายโรค แล้วก็โปรดให้นางสนมกำนัลเป็นอันมาก ประดับเครื่องประดับเต็มที่แล้ว ให้เปลื้องเครื่องประดับออกกองไว้ประทานแก่ชีวก ชีวกไม่รับ แต่กราบทูลว่า ขอแต่ให้พระองค์ทรงระลึกถึงอธิการของตนเท่านั้น พระราชาก็โปรดให้เป็นแพทย์หลวงบำรุงพระองค์และฝ่ายใน กับบำรุงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

          ในครั้งนั้น เศรษฐีกรุงราชคฤห์เองเป็นโรคในศีรษะมา ๗ ปี มีหมอใหญ่ ๆ เป็นอันมากมารักษาก็ไม่หาย หมอบอกลาไปเสียเป็นอันมาก บางพวกก็พากันบอกว่าอีก ๕ วันจะตาย บางพวกก็บอกว่าอีก ๗ วันก็จะตาย นายนิคมราชคฤห์จึงได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอหมอชีวกเป็นผู้ช่วยบำบัด หมอชีวกได้ไปยังนิเวศน์ของเศรษฐี ตรวจดูอาการของเศรษฐีแล้วถามว่า ถ้าบำบัดโรคหายได้จะให้อะไร เศรษฐีก็ตอบว่า จะให้สมบัติทั้งหมด ตนเองจะยอมเป็นทาส ถามว่าจะนอนตะแคงขวา ซ้าย และนอนหงาย ท่าละ ๗ เดือนได้หรือไม่ เศรษฐีตอบว่าได้

          หมอชีวกก็จับให้เศรษฐีนอนบนเตียง ผูกติดที่เตียงแล้ว ผ่าหนังศีรษะเปิดรอยประสาน นำปาณกะสิ่งมีชีวิตินทรีย์เล็ก ๆ ออกมา ๒ ตัว กล่าวกันว่าพวกอาจารย์ที่เห็นตัวใหญ่ก็กล่าวว่า อีก ๕ วันเศรษฐีจักตาย พวกอาจารย์ที่เห็นตัวเล็กก็บอกว่า อีก ๗ วันเศรษฐีจักตาย แล้วได้ปิดรอยประสานเย็บหนังศีรษะ ทายาให้ติดตามเดิม เศรษฐีนอนตะแคงข้างหนึ่งได้ ๑ สัปดาห์ ก็บอกว่าไม่สามารถนอนตะแคงข้างหนึ่งต่อไปได้ ชีวกก็อนุญาตให้เปลี่ยนเป็นนอนตะแคงอีกข้างหนึ่ง ๑ สัปดาห์ นอนหงาย ๑ สัปดาห์ รวมเป็น ๓ สัปดาห์ ก็บอกว่า ถ้าไม่บอกให้นอนข้างละ ๗ เดือน เศรษฐีก็คงไม่อาจจะนอนแม้เพียงข้างละ ๗ วันได้ ในบัดนี้โรคหายแล้ว ให้ลุกขึ้นนั่งได้ เมื่อเศรษฐีจะมอบสมบัติทั้งปวงให้และมอบตัวเองให้เป็นทาสตามสัญญาก็ไม่รับ ขอรับแต่ทรัพย์แสนหนึ่งสำหรับพระราชา แสนหนึ่งสำหรับตน

          ในครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสีเล่นกีฬากายกรรม ป่วยเป็นโรคอันตคัณฐะ คือว่าโรคลำไส้บิด หรือว่าโรคลำไส้เป็นปม มีอาการอาหารไม่ย่อย อุจจาระปัสสาวะไม่คล่อง มีร่างกายผ่ายผอมลงไป เศรษฐีผู้บิดาจึงได้นำไปยังกรุงราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลขอหมอชีวกไปช่วยรักษา หมอชีวกไปถึง ตรวจดูอาการต่าง ๆ แล้วให้คนออกไปกั้นม่าน ให้ภรรยาของบุตรเศรษฐียืนข้างหน้า แล้วก็ผ่าหน้าท้องนำไส้ที่บิดออกคลี่คลายให้เป็นปกติแล้วสอดลำไส้เข้าไป เย็บหนังท้อง ทายาให้ติดกันตามเดิม การบำบัดโรคในครั้งนี้ได้ทรัพย์ ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ

          ครั้งนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต กรุงอุชเชนี ประชวรเป็นโรคปัณฑุปลาสคือโรคผอมเหลือง ทรงส่งทูตไปทูลขอหมอชีวกไปรักษา หมอชีวกไปถึงแล้วเข้าเฝ้าตรวจพระอาการต่าง ๆ ก็กราบทูลถามว่า จะทรงดื่มเนยใสที่เคี่ยวเป็นยาได้หรือไม่ พระราชาทรงปฏิเสธ เพราะทรงรังเกียจเนยใส รับสั่งให้ใช้สิ่งอื่นนอกจากเนยใส หมอชีวกคิดว่า โรคอย่างนี้ไม่อาจจะเว้นเนยใสได้ จึงเคี่ยวเนยใสกับยาต่าง ๆ ให้มีสีกลิ่นรสเหมือนน้ำฝาด คือน้ำยาต้มแก่นไม้เป็นต้นเพื่อลวงให้เสวย และคิดเตรียมการหนี จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า ธรรมดาว่าหมอจำต้องขุดรากไม้รวบรวมยาบางอย่างฉับพลัน จึงขอให้ทรงสั่งว่า หมอชีวกปรารถนาจะไป ก็ขอให้ไปได้ด้วยพาหนะทุกอย่าง โดยทวารทุกทวารและทุกเวลา ตลอดถึงการกลับเข้ามา พระราชาได้โปรดสั่งตามประสงค์

          หมอชีวกได้ถวายยาเข้าเนยใสให้พระราชาเสวยแล้ว ก็ไปโรงช้างขึ้นช้างพังชื่อว่า ภัททวดี หนีออกจากนครอุชเชนี ฝ่ายพระเจ้าจัณฑปัชโชตได้เสวยยาเข้าเนยใส ครั้นยาย่อยทรงเรอก็ทรงทราบว่าได้ถูกหมอหลอกให้ดื่มเนยใสแล้ว ก็ทรงกริ้ว รับสั่งให้จับตัวหมอชีวก เมื่อทราบว่าขึ้นช้างพังภัททวดีหนีไปแล้ว ก็รับสั่งให้ กากะทาส ผู้มีฝีเท้าเร็วกว่าช้างภัททวดีรีบตามไป แต่รับสั่งห้ามกากะทาสมิให้รับอะไรของหมอชีวกมาบริโภค เพราะพวกหมอมีมายามาก กากะทาสตามไปทันหมอชีวกซึ่งกำลังบริโภคอาหารอยู่ในเขตเมืองโกสัมพีในระหว่างทาง ก็แจ้งให้หมอชีวกทราบว่ามีรับสั่งให้กลับ หมอชีวกก็กล่าวว่า ให้รอก่อนจนกว่าจะบริโภคอาหารเสร็จ และชวนกากะทาสให้บริโภคอาหารด้วย เมื่อกากะทาสไม่ยอมบริโภคอาหาร จึงได้แทรกยาด้วยเล็บในผลมะขามป้อม ตนเองก็เคี้ยวมะขามป้อมที่ไม่ได้แทรกยาไว้ แล้วก็ชวนกากะทาสเคี้ยวมะขามป้อม กากะทาสเห็นว่า แม้ชีวกก็ยังเคี้ยวมะขามป้อมได้ คงจะไม่เป็นอะไร ก็รับเอามะขามป้อมที่ถูกแทรกยาไว้มาเคี้ยวและดื่มน้ำ ก็ถ่ายในทันทีนั้นเอง มีความตกใจถามหมอชีวกว่า นี่จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ หมอชีวกก็ตอบว่า ไม่ต้องกลัว จะหายได้ แต่ว่าพระราชาทรงดุร้ายนัก จะให้ฆ่าตนเสียจึงจะไม่กลับละ แล้วก็มอบช้างภัททวดีคืนให้แก่กากะทาสให้นำกลับกรุงอุชเชนี

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงหายโรคแล้ว ทรงระลึกถึงอธิการของหมอชีวก โปรดส่งผ้าสิเวยยกะคือผ้าเนื้อพิเศษทอที่เมืองสีพีคู่หนึ่งไปประทาน หมอชีวกคิดว่า ผ้าคู่นี้ พระพุทธเจ้าหรือพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นสมควรจะทรงใช้

          อนึ่ง ในสมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเองก็มีพระกายไม่สบาย เพราะว่ามีอาการผูกไม่ถ่าย มีพระประสงค์จะเสวยยาระบาย ท่านพระอานนท์ก็ไปแจ้งแก่หมอชีวก หมอชีวกก็ได้ประกอบยาระบายถวาย พระผู้มีพระภาคได้ทรงเสวยยาระบายแล้ว ก็มีพระกายสำราญ

          หมอชีวกผู้นี้ได้เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงในครั้งพุทธกาลนั้นเป็นอย่างยิ่ง และได้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าไว้วัดหนึ่งในกรุงราชคฤห์ เรียกกันว่า วัดชีวกัมพวัน ซึ่งจะได้เล่าต่อไป

เมื่อหมอชีวกโกมารภัจได้ถวายยาระบายแด่พระพุทธเจ้าจนทรงมีพระกายผาสุก แล้วก็ได้ถวายผ้าคู่สิเวยยกะคือผ้าที่ทำจากแคว้นสีพี (ซึ่งพระเจ้าจัณฑปัชโชต กรุงอุชเชนี ได้ส่งมาประทานเป็นการตอบแทนในการที่หมอชีวกได้ไปถวายการรักษาจนทรงหายจากโรคผอมเหลือง) แด่พระพุทธเจ้า แต่ว่าก่อนที่จะถวายได้ทูลขอพรข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พระตถาคตทั้งหลายได้ล่วงพรเสียแล้ว หมอชีวกก็กราบทูลว่า ให้ทรงพิจารณาดูตามสมควร เมื่อสมควรที่จะประทานได้ก็ขอให้ประทาน หมอชีวกได้ทูลขอให้ภิกษุรับคฤหบดีจีวรได้ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงอนุญาต ก่อนแต่นี้พระภิกษุใช้แต่ผ้าบังสุกุล คือเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งมาทำผ้านุ่งห่ม ไม่รับผ้าที่ชาวบ้านถวาย หมอชีวกเป็นผู้ที่มาทูลขอให้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าที่นำมาถวายเป็นคนแรก ผ้าอย่างนี้เรียกว่า คฤหบดีจีวร ในการทรงอนุญาตนั้นก็มีพระพุทธดำรัส ตรัสเป็นกลาง ๆ ว่า ถ้าปรารถนาจะถือผ้าบังสุกุลก็ให้ถือ ปรารถนาจะรับคฤหบดีจีวรก็ให้รับ แต่ว่าตรัสสรรเสริญความสันโดษคือความยินดีตามมีตามได้

          พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอนุโมทนาผ้าที่หมอชีวกถวาย ให้หมอชีวกได้เกิดความเห็นแจ่มแจ้ง ให้เกิดความคิดสมาทานคือถือปฏิบัติ ให้เกิดความอาจหาญ ให้เกิดความรื่นเริงในธรรม ในตอนนี้พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่าหมอชีวกได้เกิดดวงตาเห็นธรรมคือเป็นพระโสดาบัน ครั้นแล้วก็ได้คิดที่จะถวายสวนมะม่วงที่เรียกว่า อัมพวัน ของตนให้เป็นอาราม เพราะเหตุว่าเวฬุวันนั้นอยู่ไกล ส่วนอัมพวันคือสวนมะม่วงของตนอยู่ใกล้กว่า สะดวกที่จะไปมา จึงได้ทูลถวายสวนมะม่วงของตนให้เป็นอารามคือให้เป็นวัด ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับที่อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจนี้เป็นบางครั้งบางคราว

ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่อัมพวันนั้น หมอชีวกโกมารภัจได้เข้าไปเฝ้าและได้กราบทูลถามว่า ตนได้ยินเขาพูดกันว่า หมู่ชนฆ่าสัตว์อุทิศพระสมณโคดม พระสมณโคดมก็ทรงทราบอยู่ และก็เสวยเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าอุทิศอันเรียกว่า อุทิสสมังสะ พลอยเป็น (ปาณาติบาต) กรรมพ่วงอาศัยไปด้วย ที่เขาพูดดั่งนี้เป็นการพูดจริงตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกอบอย่างนั้น หรือว่าเขาพูดเป็นการกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง

พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ที่เขาพูดกันดั่งนั้นมิใช่เป็นการพูดตามที่พระองค์ปฏิบัติ เป็นการตู่พระองค์ด้วยคำไม่เป็นจริง เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสว่า เนื้อสัตว์ที่ภิกษุไม่ควรบริโภคนั้น ประกอบด้วยฐานะ ๓ คือ ด้วยการเห็น ด้วยการได้ยิน ด้วยการรังเกียจสงสัย การเห็นคือเห็นเขาฆ่าเพื่อจะเอามาถวาย ได้ยินนั้นก็คือได้ยินเขาพูดว่า เขาฆ่าจะเอามาถวาย ด้วยรังเกียจสงสัยก็คือไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน แต่มีจิตรังเกียจสงสัยว่าเขาฆ่ามาถวาย พระองค์ตรัสว่าเนื้อไม่ควรบริโภคด้วยฐานะทั้ง ๓ นี้ และพระองค์ตรัสว่าเนื้อที่ควรจะบริโภคนั้น ประกอบด้วยฐานะทั้ง ๓ ตรงกันข้าม คือ ด้วยไม่ได้เห็น ด้วยไม่ได้ยิน ด้วยไม่ได้รังเกียจสงสัย

          ต่อจากนี้ก็ตรัสว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้อาศัยคามนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ โดยเป็นผู้ที่มีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปในทิศที่ ๑ ในทิศที่ ๒ ในทิศที่ ๓ ในทิศที่ ๔ ในเบื้องบน ในเบื้องล่าง เธอเป็นผู้มีใจประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ นั้นอันไพบูลย์ อันกว้างขวางไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความคิดเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกทั้งหมด ในที่ทุกสถาน โดยประการทั้งปวง คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาเธอและนิมนต์ด้วยภัตในวันรุ่ง เมื่อเธอประสงค์ก็รับนิมนต์ และเมื่อเธอได้เข้าไปในบ้านตามที่รับนิมนต์นั้น เขาก็อังคาสด้วยบิณฑบาต เธอก็มิได้มีความคิดขอให้เขาอังคาสด้วยบิณฑบาตประณีต เธอฉันบิณฑบาตด้วยการพิจารณาเห็นโทษและใช้ปัญญาที่แล่นออก คือมิได้บริโภคด้วยตัณหา เมื่อเป็นเช่นนี้ภิกษุนั้นจะชื่อว่าเป็นผู้มีเจตนาความจงใจเพื่อที่จะเบียดเบียนตน เพื่อจะเบียดเบียนผู้อื่น หรือว่าเพื่อจะเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้างหรือ

หมอชีวกกราบทูลว่า ถ้าภิกษุนั้นเป็นผู้เจริญพรหมวิหารธรรม ทั้งมีการพิจารณาในการฉันบิณฑบาตอย่างนั้น ก็ไม่เป็นผู้มีเจตนาเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็เป็นผู้ชื่อว่าฉันอาหารโดยไม่มีโทษไม่ใช่หรือ

หมอชีวกก็กราบทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น เมื่อเธอเป็นผู้ปฏิบัติและทำใจได้อย่างนั้น ก็เป็นผู้ที่ฉันอาหารไม่มีโทษ หมอชีวกกราบทูลต่อไปว่า ตนได้เคยฟังมาว่าพรหมเป็นผู้ที่เป็นเมตตาวิหารี อยู่ด้วยเมตตา กรุณาวิหารี อยู่ด้วยกรุณา มุทิตาวิหารี อยู่ด้วยมุทิตา อุเบกขาวิหารี อยู่ด้วยอุเบกขา ตนเห็นพระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นสักขีพยาน เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีเมตตาวิหารีเป็นต้น

พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า บุคคลใดยังมีพยาบาท คือว่ายังมีความมุ่งร้ายมุ่งความพิบัติ ด้วยอำนาจของราคะ โทสะ โมหะอันใด ราคะ โทสะ โมหะอันนั้นของบุคคลนั้น ไม่มีแก่พระพุทธเจ้า เพราะว่าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ต่อจากนี้ก็ได้ตรัสว่า บุคคลผู้ที่ฆ่าสัตว์ถวายพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า อันเรียกว่าอุทิสสมังสะนั้น ย่อมประสบสิ่งที่มิใช่บุญด้วยฐานะ ๕ คือ

เมื่อสั่งเขาว่า จงไปนำสัตว์ที่โน้นมา ก็เป็นผู้ประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นประการแรก เมื่อเขานำสัตว์นั้นมาด้วยวิธีผูกคอล่ามมาเป็นต้น ทำให้สัตว์นั้นได้รับความทุกข์โทมนัสเป็นอันมาก ก็ชื่อว่าประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นประการที่ ๒

เมื่อสั่งเขาว่า จงไปฆ่าสัตว์นี้ ก็ชื่อว่าได้ประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นประการที่ ๓

เมื่อสัตว์นั้นกำลังถูกฆ่า ก็ชื่อว่าได้ประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นประการที่ ๔

และเมื่อได้ถวายให้พระตถาคต หรือว่าพระสาวกของพระตถาคตฉันด้วยสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ (สิ่งที่ไม่สมควร) ก็ชื่อว่าได้ประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นประการที่ ๕

เมื่อตรัสดั่งนี้แล้ว หมอชีวกโกมารภัจก็กราบทูลสรรเสริญพระพุทธภาษิต และได้กล่าวรับรองว่า ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ฉันอาหารเป็นกัปปิยะ คือสิ่งที่สมควร ฉันอาหารที่เป็นอนวัชชะ คือสิ่งที่ไม่มีโทษ แล้วได้ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต

พระสูตรนี้เรียกว่า ชีวกสูตร ได้ตรัสแสดงเพราะเหตุที่หมอชีวกโกมารภัจได้กราบทูลถาม และได้มีเนื้อความเป็นการแก้ปัญหาที่ว่า ทำไมห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์แล้วภิกษุจึงฉันเนื้อสัตว์อีก กล่าวโดยย่อว่า ไม่ได้กล่าวอนุญาตด้วยประการทั้งปวง ไม่ได้กล่าวห้ามด้วยประการทั้งปวง คือว่าห้ามเนื้อที่เป็นอุทิสมังสะ (เนื้อที่เขาฆ่าอุทิศเจาะจง) ที่ภิกษุได้เห็น ได้ฟัง หรือว่าได้สงสัย และทรงห้ามเนื้อ ๑๐ จำพวก มีเนื้อมนุษย์ เนื้อหมี เนื้อช้าง เป็นต้น กับทรงห้ามเนื้อดิบ ส่วนเนื้อนอกจากนั้นไม่ใช่เนื้อที่เป็นอุทิสสมังสะ ไม่ทรงห้าม แต่ในการที่จะฉันเนื้อชนิดที่ไม่เป็นโทษนั้นก็ต้องทำใจด้วย คือจะต้องมีใจประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม และไม่มีความมุ่งหมายว่าจะต้องได้อาหารอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีไปฉันไม่พบอาหารที่มีเนื้อเข้า ก็นึกว่าเนื้อไม่มีเลย คิดแลบไปอย่างนั้น บางทีก็เป็นบาปไปหน่อยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าตั้งเจตนาอย่างนั้น เมื่อเขานำมาถวายอย่างใด ก็สันโดษคือยินดีอย่างนั้น ไม่ให้ใจวอกแวกไปในทางจะกินเนื้อสัตว์ ก็เมื่อรักษาอย่างนี้แล้วก็ได้ชื่อว่าได้ฉันอาหารเป็นกัปปิยะ ฉันอาหารเป็นอนวัชชะ คือไม่มีโทษตามพระสูตรนี้

อนึ่ง พระเป็นผู้ที่มีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น เมื่อผู้อื่นเขาปรุงอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ทั่ว ๆ ไป ถ้าจะถือไม่ฉันก็เป็นการลำบาก เพราะเขาจะต้องไปจัดอาหารพิเศษมาให้ เพราะฉะนั้น จึงตัดบทเสียว่า เมื่อไม่ใช่เนื้อที่ห้ามดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเขาถวายอย่างใด จะมีเนื้อสัตว์หรือไม่มีก็ตาม ก็พิจารณาฉันได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การบัญญัติลงไปด้วยเหตุผล และการปฏิบัติที่พอเป็นไปได้ในเมื่อที่จะอาศัยประชาชนอยู่ดั่งนี้ ก็พอเหมาะพอสม

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๒๐๙ – ๒๒๑