Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ศากยราชกุมารทั้ง ๖

ราชกุมาร ๖ องค์กับช่างกัลบก ๑ คนออกบวช เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกที่เล่ามาแล้วนั้น เมื่อเสด็จกลับ ได้จาริกไปโดยลำดับ เสด็จถึงอนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ ที่อยู่เบื้องหน้ากรุงกบิลพัสดุ์ ในหนังสือบางเล่มบอกว่าไม่ไกลกันนัก ได้มีศากยราชกุมาร ๖ องค์ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธะ อานันทะ ภัคคุ กิมพิละ เทวทัต กับช่างกัลบกอีก ๑ คน ชื่อว่า อุบาลี ได้ออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ตามพระพุทธเจ้าไปขอบวชที่อนุปิยอัมพวันนั้น มีเรื่องเล่าไว้ในสังฆเภทขันธกะ โดยย่อว่า

มีศากยราชกุมาร ๒ องค์ คือ มหานามะ ผู้เป็นเชษฐากับ อนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา อนุรุทธะผู้เป็นอนุชานั้น เป็นที่รักของมารดาเป็นอย่างยิ่ง และได้รับทำนุบำรุงให้เป็นสุขอยู่ด้วยการเล่นและเครื่องบำรุงต่าง ๆ จนถึงกล่าวว่ามีปราสาทเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู และได้รับทำนุบำรุงให้มีความสุขอยู่ในปราสาททั้ง ๓ ฤดูนั้น คล้ายกับพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้เสด็จออกทรงผนวช ส่วนมหานามะผู้เชษฐาต้องประกอบการงาน เพราะมีพระชนมายุมากกว่า ศากยราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์นี้จึงได้หารือกันว่า ได้มีศากยราชกุมารผู้มีชื่อเสียงออกบวชตามพระพุทธเจ้ากันเกือบจะทุกราชตระกูล แต่ว่าในตระกูลของทั้ง ๒ องค์นี้ยังไม่มีใครออกบวช ก็ควรที่จะต้องออกบวชกันสัก ๑ องค์ ถ้าไม่มหานามะก็ต้องเป็นอนุรุทธะ

อนุรุทธศากยะก็บอกว่า ไม่สามารถจะบวชได้ ให้มหานามะผู้เชษฐาบวช มหานามะผู้เชษฐาก็บอกว่า ถ้าไม่บวช มหานามะก็จะบวชเอง แต่ว่าอนุรุทธะจะต้องประกอบการงาน คือจะต้องทำกสิกรรม และจะต้องเรียนเรื่องการทำนา มหานามะก็สอนอนุรุทธะให้ทราบถึงวิธีทำนาตั้งต้นแต่การไถ การหว่าน อนุรุทธะได้ยินดั่งนั้นก็ถามขึ้นว่า การงานนี้เมื่อไรจะเสร็จกัน มหานามะก็ตอบว่า ไม่มีเสร็จสิ้น ต้องทำกันเรื่อยไป พระชนกชนนีและบรรพบุรุษก็ทำการงานกันจนสิ้นพระชนม์ไปตาม ๆ กัน แต่ว่าการงานก็ไม่เสร็จสิ้น เพราะฉะนั้น เรื่องของการงานไม่มีจบ อนุรุทธะก็ตอบว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้พี่อยู่ทำการงาน ส่วนตนเองจะบวช จึงเข้าไปลามารดา มารดาก็ไม่ยอมให้บวชเพราะว่าเป็นที่รักของมารดามาก อนุรุทธะก็อ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง มารดาจึงตอบว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ไปชวนภัททิยศากยราชา ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินครอบครองศากยราชสมบัติ ถ้าพระองค์ทรงบวชด้วยก็อนุญาต

อนุรุทธะจึงเข้าไปเฝ้าภัททิยศากยราชาและได้ทูลว่า การบวชของตนเนื่องด้วยภัททิยราชา ฝ่ายภัททิยราชาก็ตรัสว่า ถ้าบรรพชาของอนุรุทธะจะเนื่องหรือไม่เนื่องด้วยพระองค์ก็ตาม เรากับท่าน (คือภัททิยราชากับอนุรุทธะ) ท่านจงบวชตามสบาย อนุรุทธะจึงพูดตกลงเอาทีเดียวว่า ทั้ง ๒ จะบวชด้วยกัน ภัททิยราชาก็ตอบว่า ยังไม่อาจที่จะบวชได้ ถ้าหากว่าจะให้ทำอย่างอื่นที่สามารถก็จะทำได้ ให้อนุรุทธะไปบวชผู้เดียว อนุรุทธะก็บอกว่า มารดาได้พูดไว้ว่า ถ้าภัททิยศากยราชาซึ่งเป็นสหายของอนุรุทธะบวช ก็อนุญาตให้อนุรุทธะบวช และบัดนี้ภัททิยศากยราชาได้ตกพระโอษฐ์แล้วว่าเรากับท่าน.....” แม้จะตรัสค้างไว้เท่านั้น ก็ฟังได้ว่าเราจักบวชกับท่านเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะต้องบวชด้วยกัน

ภัททิยราชาเมื่อตรัสพลาดออกไปแล้ว จึงต้องทรงรักษาถ้อยคำรักษาสัจจะ จึงได้ขอผลัดว่าอีกสัก ๗ ปีค่อยบวช อนุรุทธะไม่ยินยอม จึงลดลงมาโดยลำดับจนถึง ๗ วัน ก็ตกลง ภัททิยราชาจึงทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระโอรสและพระภาดาคือพี่น้อง ในระหว่าง ๗ วันนั้น และได้ชักชวนกันอีก คือ อานันทะ ซึ่งเป็นโอรสของอมิโตทนศากยะ ภัคคุ กิมพิละ ผู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าเป็นโอรสของใคร เทวทัต ซึ่งเป็นโอรสของสุปปพุทธสักกะ ซึ่งเป็นอนุชาของพระนางยโสธราพิมพา พระมารดาพระราหุล รวมเป็นศากยราชกุมาร ๖ องค์ได้ออกจากกรุงกบิลพัสดุ์

เมื่อออกไปจากกรุงนั้นก็มีเสนา (กองทัพ) ตามส่งจนถึงสิ้นอาณาเขตก็ให้กองทัพกลับ แล้วได้เข้าไปในเขตของแคว้นมัลละ ศากยราชกุมารทั้ง ๖ องค์นั้นก็ได้ถอดเครื่องประดับออกห่อมอบให้แก่ อุบาลี ช่างกัลบก แล้วบอกให้อุบาลีกลับ ประทานห่อเครื่องประดับทั้งหมดให้เพื่อจะได้ใช้จ่ายเลี้ยงชีวิต อุบาลีรับเอาห่อเครื่องประดับมาได้หน่อยหนึ่งก็หวนคิดขึ้นว่า ถ้าจะกลับไปเจ้าศากยะทั้งหลายก็อาจที่จะฆ่าตนเสียได้ เพราะคงจะคิดว่าตนได้ทำร้ายราชกุมารทั้ง ๖ องค์นั้น และนำเอาเครื่องประดับนี้มา ก็เมื่อพระราชกุมารทั้ง ๖ องค์นี้ออกบวชได้ ตนก็ควรจะสละได้ จึงได้เอาห่อเครื่องประดับนั้นแขวนต้นไม้แล้วก็กลับไปหาพระราชกุมารทั้ง ๖ องค์นั้น ขอตามไปบวชด้วย เพราะฉะนั้น จึงรวมทั้ง ๗ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อนุปิยอัมพวันนั้น และได้กราบทูลขอบวช

ในเบื้องต้น ศากยราชกุมารทั้ง ๖ องค์ได้ทูลขอให้ทรงบวชอุบาลีซึ่งเป็นช่างกัลบกก่อน เพื่อว่าเมื่อบวชเสร็จแล้วจะได้ทำความเคารพแก่อุบาลีซึ่งได้บวชแล้ว เป็นการทำลายมานะคือความถือตัวถือตน พระพุทธเจ้าก็ทรงให้อุบาลีบวชก่อน ศากยราชกุมารทั้ง ๖ องค์นั้นก็ทำความเคารพแก่พระอุบาลีซึ่งเคยเป็นช่างกัลบกของตนมา แล้วก็ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าก็ประทานให้ทั้ง ๖ องค์นั้นอุปสมบท

ในหนังสือที่เล่าประวัติของท่านพระภัททิยะได้แสดงว่า พระภัททิยะ เป็นโอรสของนางกาฬิโคธา เป็นราชาแห่งวงศ์ศากยะ ประวัติอื่นนอกจากนี้ไม่ได้แสดงไว้ ในชั้นบาลีนี้ มีเรียกว่าราชาก็แต่ท่านภัททิยะนี้ ส่วนพระเจ้าสุทโธทนะนั้นเรียกแต่เพียงว่า สุทโธทนสักกะ ครั้นมาถึงชั้นอรรถกถาจึงได้เรียกพระเจ้าสุทโธทนะว่าราชา เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ชัดว่าตามประวัติที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร แต่ว่าเมื่อท่านภัททิยะมาบวชแล้ว ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ภายในพรรษานั้นเอง และมักจะเปล่งอุทานว่า อโห สุขํ ที่แปลว่า เป็นสุขจริงหนอ หรือว่า โอเป็นสุข

ฝ่ายพวกภิกษุก็ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บางทีท่านจะคำนึงถึงความสุขในราชสมบัติ แล้วมาเปล่งอุทานดั่งนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกท่านมา แล้วถามว่า ที่ท่านเปล่งอุทานว่า อโห สุขํ อยู่บ่อย ๆ นั้นหมายความว่าอย่างไร ท่านก็ตอบว่า เมื่อท่านเป็นราชาอยู่นั้น ต้องคอยเอาใจใส่ป้องกันรักษาทั้งภายในทั้งภายนอก ตั้งแต่ภายในพระราชนิเวศน์จนตลอดราชอาณาเขต ถึงจะได้จัดการอารักขาอย่างดีที่สุด ก็ยังมีความกังวลไม่มีความสุข แต่ครั้นได้มาบวชอยู่ดั่งนี้ แม้จะอยู่เพียงผู้เดียวในป่า ก็ไม่รู้สึกว่ามีอันตรายมาจากไหน ท่านรู้สึกว่าเป็นสุขอย่างยิ่งจึงได้เปล่งอุทานดั่งนั้น ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องท่านให้เป็นเอตทัคคะในทางเป็นผู้มีสกุลสูง

พระอนุรุทธะ นั้น ท่านได้ไปพักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ปาจีนวังสทายวันในรัฐเจติ ก่อนจะไป ท่านได้เรียนกรรมฐานในสำนักของพระธรรมเสนาบดีคือพระสารีบุตร ท่านได้ตรึกถึงธรรม ๗ ข้อ ที่เรียกว่า มหาปุริสวิตก แปลว่า ความตรึกของมหาบุรุษ คือ

ข้อ ๑ ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก

ข้อ ๒ ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้สันโดษ ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้ไม่สันโดษ

ข้อ ๓ ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้สงบสงัดจากหมู่คณะ ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

ข้อ ๔ ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้เกียจคร้าน

ข้อ ๕ ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีสติที่ตั้งมั่น ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีสติที่หลงลืม

ข้อ ๖ ธรรมนี้ เป็นของบุคคลผู้มีใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ใช่เป็นของบุคคลผู้มีใจไม่เป็นสมาธิ

ข้อ ๗ ธรรมะนี้ เป็นของบุคคลผู้มีปัญญา ไม่ใช่เป็นของบุคคลทรามปัญญา

            ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในเภสกฬาวันมิคทายะ ใกล้กับเมืองสุงสุมารคิระในแคว้นภัคคะ ได้เสด็จมาทรงแสดงเพิ่มเติมให้อีกข้อหนึ่ง เป็นข้อที่ ๘ ว่า ธรรมนี้เป็นของบุคคลผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า และได้ตรัสแสดงอานิสงส์ของการตรึกอยู่ในวิตก ๘ ข้อนี้ว่า เมื่อมีความตรึกอยู่เสมอดั่งนี้ แม้เมื่อนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ก็จะเหมือนกับนุ่งห่มผ้าที่ดีวิเศษของเศรษฐีคฤหบดี เมื่ออาศัยอาหารบิณฑบาต ก็เหมือนอย่างได้บริโภคสิ่งที่มีรสเลิศต่าง ๆ ของเศรษฐีคฤหบดี เมื่ออยู่โคนต้นไม้ ก็เหมือนอยู่บนเคหาสน์ที่งดงามของเศรษฐีคฤหบดี เมื่อฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ก็เหมือนอย่างได้ฉันเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยที่ดีวิเศษของเศรษฐีคฤหบดี เพราะว่าเมื่อตรึกอยู่ ก็จะทำให้เกิดความสันโดษมักน้อย เมื่อมีความสันโดษมักน้อยอยู่ ก็จะมีความยินดีพอใจอยู่ในปัจจัยที่บริโภค เมื่อมีความยินดีพอใจอยู่ในปัจจัยที่บริโภค แม้ปัจจัยนั้นจะเป็นเช่นไรก็ไม่แปลก

ในพระบาลีนี้ได้เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับจากไปหาท่านแล้วก็ได้มาตรัสมหาปุริสวิตกทั้ง ๘ ข้อนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย และได้ทรงอธิบายโดยย่อว่า

ข้อว่า มีความปรารถนาน้อยนั้น ก็คือแม้จะเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย มีสันโดษเป็นต้น จนถึงยินดีอยู่ในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า แต่ก็ไม่ปรารถนาที่จะให้ใครรู้ว่าตนเป็นผู้ที่เป็นเช่นนั้น คือไม่ปรารถนาที่จะอวดตน ที่จะแสดงตน

ข้อว่า สันโดษ ก็คือยินดีอยู่ด้วยปัจจัยทั้ง ๔ ตามมีตามได้

ข้อว่า สงบสงัดจากหมู่คณะ ก็คือเมื่อมีผู้ใดมาหาก็ไม่พูดให้ยืดยาว แต่ว่าชักพูดให้เรื่องสั้นเข้า ที่เรียกว่าพูดด้วยถ้อยคำที่เป็นการส่งกลับ

ข้อว่า ปรารถนาความเพียร ก็คือบำเพ็ญเพียรในที่ ๔ สถานดั่งที่แสดงไว้ในปธาน ๔

ข้อว่า มีสติตั้งมั่น ก็คือมีสติไม่หลงลืม ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้

ข้อว่า มีใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็คือบำเพ็ญสมาธิที่แน่วแน่ อย่างสูงก็ถึงฌาน

ข้อว่า มีปัญญา ก็คืออบรมให้เกิดความรู้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดก็มีดับเป็นธรรมดา

ข้อว่า ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ก็คือยินดีในการที่จะปฏิบัติให้ได้ถึงมรรคผลโดยรวดเร็ว ไม่ให้เนิ่นช้าอยู่ด้วยกิเลสที่เป็นเครื่องถ่วงต่างๆ

พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำให้พระอนุรุทธะจำพรรษาอยู่ที่ปาจีนวังสมิคทายวัน ท่านได้บำเพ็ญเพียรและก็ได้มรรคผลที่สุดในพรรษานั้น ในภายหลังพระศาสดาก็ได้ทรงตั้งท่านให้เป็นเอตทัคคะในด้านที่เป็นผู้มีทิพจักษุ คือจักษุเป็นทิพย์

ส่วน พระอานนท์ ได้ฟังธรรมของท่านพระปุณณมันตานีบุตร ได้สำเร็จโสดาปัตติผล และต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้ ๒๐ ปี ท่านจึงได้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำองค์พระพุทธเจ้าจนปรินิพพาน เรื่องของท่านจะได้เล่าในตอนหลัง

ภัคคุ กับ กิมพิละ นั้น ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จถึงผลที่สุด แต่ก็ไม่มีประวัติเล่าไว้เป็นพิเศษ

ส่วน อุบาลี ช่างกัลบกนั้น ท่านได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา ทีแรกได้ทูลลาออกไปบำเพ็ญในป่า แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ถ้าไปอยู่ป่าก็จะสำเร็จธุระเพียงอย่างเดียว แต่ว่าถ้าอยู่ในสำนักของพระองค์จะสำเร็จธุระทั้ง ๒ ได้แก่ วาสธุระ หมายถึงวิปัสสนาธุระ หรือการปฏิบัติสมณธรรม และ คันถธุระ การเรียนคัมภีร์ ต่อมาท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพรรษานั้น ท่านได้ศึกษาจนมีความรู้แตกฉานในพระวินัย พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องให้เป็นเอตทัคคะในทางพระวินัย ที่เรียกว่า วินัยธร

ส่วนผู้ที่แตกเหล่าออกไปนั้นก็คือ พระเทวทัต ซึ่งมีเล่าว่าได้บำเพ็ญเพียรจนได้ฤทธิ์ซึ่งเป็นของปุถุชน ในเวลาต่อมาได้เป็นผู้มุ่งลาภสักการะ และได้ก่อเหตุที่ไม่สงบขึ้นหลายอย่างหลายประการจนถึงได้ทำโลหิตุปบาท ได้ทำสังฆเภท ซึ่งจะได้เล่าในเมื่อถึงวาระ

ในระหว่างพรรษาเหล่านี้ ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง พระพุทธเจ้าได้พระสาวกที่สำคัญมากองค์ แม้ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็ได้อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นกำลังเกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนาก็มากท่าน จะได้เล่าถึงแพทย์หลวงประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดินกรุงราชคฤห์และประจำพระองค์พระพุทธเจ้าด้วย

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๙๕ – ๒๐๒