Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๖

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

อนาถปิณฑิกเศรษฐี

ในขณะที่ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันนั้น สมัยหนึ่ง คฤหบดีชาวกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ชื่อว่า อนาถปิณฑิกะ ได้เดินทางมาเกี่ยวกับกิจการที่กรุงราชคฤห์ และได้พักที่บ้านของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ อนาถปิณฑิกคฤหบดีนี้เป็นสามีของภคินีของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ คำว่า ภคินี นั้น เป็นพี่หญิงก็ได้ น้องหญิงก็ได้ เมื่อต้องการจะพูดให้ชัดก็มีคำประกอบว่า เชษฐภคินี พี่หญิง กนิษฐภคินี น้องหญิง แต่ถ้าใช้คำเดียว มักจะหมายความว่าน้อง แต่ก็อาจหมายถึงกลาง ๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้น อนาถปิณฑิกคฤหบดีนี้ จึงเป็นน้องเขยของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ หรืออาจจะเป็นพี่เขยก็ได้ จึงมีความสัมพันธ์กัน

ในคราวที่อนาถปิณฑิกคฤหบดีเข้ามาครั้งนั้น เศรษฐีกรุงราชคฤห์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์มาเสวยที่บ้านของตน จึงได้สั่งการตระเตรียมอาหารและสิ่งต่าง ๆ วุ่นวายอยู่ ไม่มีโอกาสมาสนทนาปราศรัยกับอนาถปิณฑิกะ ฝ่ายอนาถปิณฑิกะก็สงสัยว่า มาคราวก่อน ๆ เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็พักการงานมาสนทนาปราศรัยด้วย แต่คราวนี้เห็นยุ่งอยู่กับการสั่งโน่นสั่งนี่ ครั้นเศรษฐีกรุงราชคฤห์สั่งการงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มาสนทนาปราศรัย อนาถปิณฑิกะก็ถามขึ้นว่า จะทำงานอาวาหวิวาหมงคล หรือว่าจะเชิญเสด็จพระเจ้าแผ่นดินพร้อมทั้งเสนามาถวายการเลี้ยง หรือว่าจะบูชายัญอย่างใหญ่ จึงได้สั่งให้เตรียมอาหารและสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็ตอบว่า ไม่ได้ทำอาวาหวิวาหมงคล ไม่ได้เชิญเสด็จพระเจ้าแผ่นดินพร้อมทั้งเสนา แต่ว่าได้ประกอบมหายัญอย่างใหญ่ คือได้เชิญเสด็จพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์มาเสวยและฉัน

อนาถปิณฑิกะได้ยินคำว่า พุทธะ ก็เกิดความตื่นเต้น ได้ถามขึ้นหลายครั้งหลายหน เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็กล่าวว่า ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์มาเสวยและฉัน จึงแสดงความประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็ตอบว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลา ให้รอไว้วันรุ่งขึ้น อนาถปิณฑิกะก็ตั้งใจรออยู่ในคืนวันนั้น ตั้งใจว่ารุ่งขึ้นจะไปเฝ้า แต่ก็ได้ตื่นขึ้นตั้งแต่ก่อนสว่าง มีความต้องการจะไปเฝ้าเป็นอย่างมาก จึงได้ลุกขึ้นและออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อว่า สีตวัน ไปยังพระเวฬุวัน ในเวลานั้น พระพุทธเจ้าได้ตื่นบรรทมและได้เสด็จจงกรมอยู่ อนาถปิณฑิกะก็ได้เข้าไปเฝ้าและได้กราบทูลว่า ทรงอยู่สบายดีหรือ เป็นคำทักกันอย่างธรรมดา แต่ว่าสำนวนทักในครั้งนั้นใช้ว่า นอนสบายดีหรือ หมายความว่า อยู่สบายดีหรือ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า พราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ดับกิเลสแล้วคงอยู่สบายทุกเมื่อ ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ครั้นทรงแสดงจบแล้วทรงเห็นว่า อนาถปิณฑิกะเป็นผู้มีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ เหมือนอย่างเป็นผ้าที่ได้ซักให้สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์สะอาดสิ้นไปแล้ว เป็นผ้าที่บริสุทธิ์สะอาด สมควรจะรับน้ำย้อมได้ ก็ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ต่อไป อนาถปิณฑิกะเมื่อได้สดับแล้ว ก็เกิดดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา คือเห็นทุกขสัจจะความจริงคือทุกข์ขึ้น บรรดาสิ่งทั้งหลายในโลก ล้วนเป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับ เมื่อเห็นความจริงอันนี้ประจักษ์ชัดขึ้น ท่านแสดงว่าได้เกิดธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมขึ้น อันเป็นมรรคผลชั้นแรกในพระพุทธศาสนา อนาถปิณฑิกะก็ได้กล่าววาจาถึงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ และแสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา แล้วก็กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ให้ไปเสวยและไปฉันในวันต่อไป พระพุทธเจ้าก็ทรงนิ่ง ซึ่งเป็นอาการรับอาราธนา

ครั้นอนาถปิณฑิกะกลับมาสู่บ้านของราชคหิกเศรษฐีแล้ว เศรษฐีกรุงราชคฤห์ได้ทราบก็ขอรับเป็นผู้จัดให้ อนาถปิณฑิกะก็ไม่ยอม ว่าจะจัดเอง นายบ้านจนถึงพระเจ้าพิมพิสารได้ขอและได้ทรงขอช่วยจัดพระราชทาน อนาถปิณฑิกะก็คงไม่ยอม จะจัดเอง เพราะว่าได้เตรียมผู้คนและสิ่งของต่าง ๆ ไว้โดยพร้อมเพรียง อนาถปิณฑิกะก็จัดสิ่งต่าง ๆ ครั้นถึงเวลาก็กราบทูลเวลาพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ก็เสด็จมาที่บ้านของราชคหิกเศรษฐี ครั้นเสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว อนาถปิณฑิกะก็กราบทูลอาราธนาให้เสด็จไปประทับที่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธะทั้งหลายย่อมอภิรมย์สุญญาคารถือเรือนว่าง อนาถปิณฑิกะทูลว่า ทราบแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ

ฝ่ายอนาถปิณฑิกะ ครั้นจัดธุรกิจต่าง ๆ ในกรุงราชคฤห์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางออกจากกรุงราชคฤห์ กลับไปสู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล และได้จัดเตรียมระยะทางที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จจากกรุงราชคฤห์ไปสู่กรุงสาวัตถี ได้สั่งให้จัดทำอาราม จัดสร้างวิหาร และกำหนดการถวายทาน คือจัดเตรียมเรื่องอาหารไว้เป็นระยะ ๆ จนถึงกรุงสาวัตถี ครั้นได้ไปถึงกรุงสาวัตถีแล้วจะได้ไปตรวจดูว่าที่ที่ไหนสมควรจะสร้างเป็นอาราม ก็ไปพบสวนของพระราชกุมารองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เชตะ หรือ เชต เป็นที่ที่เหมาะจะทำเป็นอารามเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ มีลักษณะดั่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงเลือกดั่งที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ไปติดต่อขอซื้อที่กับเจ้าเชต เจ้าเชตก็ตอบว่าไม่ยอมขายให้ แต่ว่าถ้าเอาเงินมาเกลี่ยลาดจนเต็มพื้นที่นั่นแหละ อนาถปิณฑิกะก็ตอบว่า ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันตกลงซื้อ เจ้าของก็บอกว่าไม่ยอม เรื่องก็ไปถึงตุลาการ ตุลาการก็ตัดสินว่า เมื่อเจ้าเชตได้กำหนดราคาดั่งนั้นแล้ว และอนาถปิณฑิกะก็ตกลงให้แล้ว ก็เป็นอันว่าให้ถือว่าขาย เจ้าเชตก็ต้องตกลง อนาถปิณฑิกะก็ซื้อสวนของเจ้าเชตนั้นด้วยวิธีเอาเงินมาเกลี่ยจนเต็มพื้นที่ เมื่อเอาเงินมาเกลี่ยครั้งแรกยังเหลือที่อยู่อีกหน่อยหนึ่งใกล้ซุ้ม เจ้าเชตก็ขอเป็นผู้มีส่วนทำบุญด้วยในส่วนที่เหลือนั้น คือไม่ต้องเอาเงินมาเกลี่ยให้เต็ม เป็นอันว่าที่ยังเหลืออีกหน่อยก็ยกให้ เป็นการร่วมสร้างวัดด้วย อนาถปิณฑิกะก็ยินยอม

เมื่อซื้อกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว อนาถปิณฑิกะก็สร้างวิหารคือกุฏิซึ่งเป็นที่อยู่ สร้างบริเวณ สร้างซุ้ม สร้างศาลาสำหรับเป็นที่อุปัฏฐากบำรุง สร้างโรงไฟสร้างกัปปิยกุฏิคือกุฏิสำหรับเก็บอาหาร เมื่ออาหารเก็บไว้ในที่นั้นจึงจะสมควรกัปปิยะ แปลว่า สมควร จึงเรียกว่า กัปปิยกุฏิ สร้างวัจจกุฏิ สร้างที่จงกรม ที่จงกรมนั้นคือที่สำหรับเดินเพื่อปฏิบัติทางจิตใจ ในการปฏิบัติทางจิตใจนั้นนิยมให้นั่งหรือว่าให้เดิน ที่นั่งนั้นก็จัดไว้เป็นที่เป็นทาง ที่เดินก็จัดไว้เป็นที่เป็นทางเหมือนกัน สร้างศาลาจงกรม สร้างบ่อน้ำ สร้างศาลาบ่อน้ำ สร้างชันตาคาร ชันตาคาร นี้ก็แปลว่า เรือนไฟ สร้างศาลาชันตาคารคือศาลาเรือนไฟ แต่เรือนไฟที่ชื่อชันตาคารนี้ ในเมืองไทยเห็นจะไม่มี แต่ได้ยินว่าอินเดียยังใช้อยู่ คือใช้เป็นที่อบกายให้เหงื่อออก แล้วอาบเหงื่อนั่นเอง เป็นเหมือนอย่างน้ำอาบ เมื่อเหงื่อออกโชกแล้วก็เช็ดตัวให้เกิดความสะอาด ชันตาคารนี้ก็เป็นที่อาบเหงื่อนั่นเอง สร้างสระโบกขรณี สร้างมณฑป ส่วนเจ้าเชตนั้นได้สร้างซุ้มในโอกาสที่ตนเป็นผู้บริจาค

คำว่า อนาถปิณฑิกะ แปลว่า ผู้ให้ก้อนข้าวแก่คนอนาถา คือคนไม่มีที่พึ่ง ไม่ใช่เป็นชื่อเดิมของคฤหบดีผู้นี้ เดิมชื่อว่า สุทัตตะ สุทัตตคฤหบดีนี้เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง ยินดีบริจาคทานเพื่อคนยากจนขัดสนทั่ว ๆ ไป จนถึงได้เกิดมีชื่อขึ้นใหม่ว่า อนาถปิณฑิกะ และใช้ชื่อนี้กันในที่ทั่ว ๆ ไป

เจ้าเชตนั้น คำว่า เชตะ แปลว่า ชนะ ในอรรถกถาอธิบายว่า เมื่อประสูติ พระเจ้าแผ่นดินทรงชนะข้าศึก จึงได้พระราชทานนามพระราชกุมารว่า เชตะ เป็นนิมิตแห่งการชนะซึ่งถือว่าเป็นมงคล สวนของเจ้าเชตนี้เรียกว่า เชตวัน เรามาใช้เป็น เชตุพน อย่างวัดพระเชตุพน เอา อุ ใส่เข้าอีก แต่เป็นภาษาไทยเป็นอารามของอนาถปิณฑิกะ คืออนาถปิณฑิกะเป็นผู้สร้างถวาย มาในชั้นอรรถกถาได้แสดงมูลค่าไว้ว่า ค่าที่มีราคาถึง ๑๘ โกฏิ ค่าเสนาสนะอีก ๑๘ โกฏิ และเตรียมไว้สำหรับงานฉลองและกิจการอื่นอีก ๑๘ โกฏิ รวมเป็น ๕๔ โกฏิ อนาถปิณฑิกะนี้ เป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนาในส่วนทานมัยมากมาย ดังจะได้กล่าวต่อไปในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล

 

 พระปุณณะ

จะเล่าประวัติของพระสาวกบางรูป ซึ่งได้ออกบวชในระยะเหล่านี้ก็มี พระปุณณะ เป็นบุตรของนางพราหมณีชื่อว่า นางมันตานี จึงเรียกว่า พระปุณณมันตานีบุตร ท่านเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ชื่อว่าโฑณวัตถุ ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นหลานของพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อท่านพระอัญญาโกณฑัญญะไปประกาศพระศาสนา ก็ได้ไปบ้านโฑณวัตถุนี้ และได้ชักนำหลานของท่านผู้นี้บวช ครั้นท่านบวชให้หลานของท่านแล้วก็กลับ ส่วนพระปุณณะยังคงพักอยู่ในที่นั้น ได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุถึงผลที่สุดในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้บวชกุลบุตรในที่นั้นอีกประมาณ ๕๐๐ คน

ในอรรถกถาที่แสดงประวัติท่านได้เล่าว่า ท่านได้แสดง กถาวัตถุ คือถ้อยคำที่ควรพูด ๑๐ อย่างที่ปรากฏขึ้นแก่ท่านเอง สั่งสอนศิษย์ คือ

. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย

. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ

. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้หลีกออกหาความสงบสงัด

. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่ระคนด้วยหมู่คณะ

. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร

. สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล

. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปฏิบัติในสมาธิ

. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้อบรมปัญญา

. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปฏิบัติเพื่อผลคือความหลุดพ้น

๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่แสดงความรู้ความเห็นในวิมุตติ

ในภายหลังท่านได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้สนทนาเรื่องวิสุทธิ ๗ กับท่านพระสารีบุตรเถระ พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องท่านให้เป็นเอตทัคคะในทางเป็นพระธรรมกถึก

คำว่า เอตทัคคะ นี้ ประกอบด้วยศัพท์ว่า เอต แปลว่า นี้ อัคคะ แปลว่าเลิศ รวมกันแปลว่า นี้เป็นเลิศ ตัดเอามาจากประโยคภาษาบาลีที่แสดงยกย่องพระสาวก บรรดาพระสาวกทั้งหลาย ท่านรูปใดเป็นเลิศในทางใด พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงว่า เอตทัคคัง ท่านผู้นี้เป็นเลิศในทางนั้น จึงนำเอาคำว่าเอตทัคคะนี้มาใช้เรียกผู้ที่เป็นเลิศหรือเป็นยอดในทางใดทางหนึ่ง เรื่องพระปุณณมันตานีบุตรนี้ ควรจะเล่าไว้ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก


จากหนังสือ
๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๙๕ – ๒๐๒