Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

ในระหว่างพรรษาเหล่านี้ ครั้งหนึ่งได้ทรงแสดงโอวาทโปรดบุตรคฤหบดีผู้หนึ่ง ซึ่งชื่อว่า สิงคาลกะ เป็นพระโอวาทสั่งสอนทางคดีโลก นับว่าได้ทรงสั่งสอนผ่อนจากคดีโลกุตตรธรรมลงมา พระธรรมเทศนาที่แสดงมาในเบื้องต้นโดยลำดับนั้นเป็นเรื่องโลกุตตรธรรม หรือปรมัตถธรรมเป็นพื้น และผู้นับถือพระพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าได้มีภิกษุมีสามเณรเป็นฝ่ายบรรพชิต ทางฝ่ายคฤหัสถ์ก็มีอุบาสกอุบาสิกา ปรากฏว่าได้ทรงอบรมด้วยอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ท่านแสดงว่า ผู้ที่จะทรงอบรมดั่งกล่าวนั้น ต้องมีอุปนิสัยที่จะได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ที่กล่าวว่าเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันนั้นคฤหัสถ์ก็เป็นได้ พระสกทาคามีก็เหมือนกัน ส่วนพระอนาคามีนั้น ท่านแสดงว่า คฤหัสถ์ก็เป็นได้ แต่โดยมากเมื่อคฤหัสถ์เป็นพระอนาคามีก็มักจะบวช ส่วนที่ไม่บวชมีตัวอย่างอยู่บางท่าน ท่านอ้างว่า เพราะมีกิจต้องทะนุบำรุงมารดาบิดา ทิ้งไปบวชไม่ได้ แต่ว่าถ้าเป็นพระอรหันต์ต้องออกบวช จะอยู่เป็นคฤหัสถ์ต่อไปไม่ได้ และมีกำหนดว่า ต้องบวชในวันนั้นด้วย กำหนดเป็นแบบธรรมดานิยม เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนที่แล้วมา แม้จะสอนแก่คฤหัสถ์ ก็สอนตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงอริยสัจ ส่วนที่สอนแก่สิงคาลกะนี้ เป็นการสอนทางคดีโลกโดยตรง

สิงคาลกสูตร

มีเรื่องเล่าว่า มีคฤหบดีบุตรผู้หนึ่ง ชื่อว่า สิงคาลกะ ตื่นขึ้นเช้าก็ออกจากเมืองราชคฤห์ นุ่งผ้าเปียก และเอาน้ำรดผมให้เปียก ประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้งหลาย คือไหว้ทิศบูรพา ทิศทักษิณ ทิศปัจฉิม ทิศอุดร ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ได้ทรงพบก็ตรัสถาม มาณพนั้นกราบทูลว่า บิดาสั่งไว้ให้ไหว้ทิศเมื่อก่อนจะตาย พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ในอริยวินัย (วินัยพระอริยะ) ไม่ควรไหว้ทิศอย่างนี้ บุตรคฤหบดีทูลถามว่า จะควรไหว้ทิศอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ประทานพระโอวาท ยืนประทานในขณะที่ทรงอุ้มบาตรอยู่นั้น

ความในพระโอวาทนั้นก็คือได้ตรัสว่า อริยสาวกผู้ที่ปราศจากบาปคือกรรมที่ชั่ว ๑๔ ข้อ และเป็นผู้ปกปิดอันตรายจากทิศทั้ง ๖ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อการชนะโลก คือโลกนี้และโลกอื่น การปฏิบัติปราศจากกรรมที่บาป ๑๔ ข้อ กับการปกปิดอันตรายจากทิศทั้ง ๖ นี่เป็นส่วนเหตุ การชนะโลกทั้ง ๒ ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้ปรารภคือประสบผลที่ดีมีความสุขความเจริญในโลกนี้และโลกอื่น นี่เป็นผล

คำว่า อริยสาวก นั้น มีคำแปลได้ ๒ อย่าง แปลว่า สาวกผู้ฟัง คือศิษย์ของพระอริยะ อย่าง ๑ แปลว่า สาวกผู้เป็นอริยะ อย่าง ๑ อย่างหลังความแรงหน่อย คือต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป แต่ว่าอย่างต้นนั้นหมายความได้ทั่วไป และในที่นี้อริยสาวกก็หมายถึง คฤหัสถ์ จึงน่าจะแปลว่า ศิษย์ของพระอริยะ จะเหมาะกว่า เหมือนอย่างคำว่า อริยวินเย ที่แปลว่า ในวินัยของพระอริยะ เมื่อปฏิบัติตามวินัยของพระอริยะ ก็ชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระอริยะที่เรียกว่า อริยสาวก

          กรรมที่เป็นบาป ๑๔ ข้อ นั้น แบ่งเป็น ๓ หมวด คือ

หมวดที่ ๑ ได้แก่ กรรมกิเลส ๔ กรรมกิเลส แปลว่า กรรมที่เศร้าหมอง ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ พูดเท็จ ๑

หมวดที่ ๒ ได้แก่ อคติ ๔ คือ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะฉันทะคือความชอบ โทสาคติ ลำเอียงเพราะโทสะคือความชัง โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว เมื่อถึงอคติเหล่านี้ จึงทำบาปกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

หมวดที่ ๓ ได้แก่ อบายมุข คือทางแห่งความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๖ ได้แก่ ดื่มสุราเมรัย ๑ เที่ยวกลางคืนหรือเที่ยวผิดเวลา ๑ เที่ยวดูการเล่น ๑ เที่ยวเล่นการพนัน ๑ คบคนชั่วเป็นมิตร ๑ เกียจคร้านทำงาน ๑ และได้ตรัสขยายความของอบายมุขเหล่านี้ออกไป ด้วยชี้โทษทีละข้อว่า

- ดื่มสุราเมรัย มีโทษ ๖ สถาน คือ ๑. เสียทรัพย์ ๒. ก่อความทะเลาะวิวาท ๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค ๔. ให้เกิดความเสียชื่อเสียง ๕. หมดความละอาย และ ๖. ทอนกำลังปัญญา

- เที่ยวผิดเวลา เช่นว่าเที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖ สถาน คือ ๑. ชื่อว่าไม่รักษาตน ๒. ชื่อว่าไม่รักษาบุตรภรรยา ๓. ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ๔. เป็นที่รังเกียจ ๕. อาจถูกใส่ความ และ ๖. ได้รับความลำบากมาก

 - เที่ยวดูการเล่น มีโทษตามวัตถุแห่งการเล่น ยกเป็นตัวอย่างไว้ ๖ คือ ๑. ฟ้อนรำที่ไหนไปที่นั่น ๒. ขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ๓. ประโคมที่ไหนไปที่นั่น ๔. เสภาที่ไหนไปที่นั่น ๕. เพลงที่ไหนไปที่นั่น ๖. เถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

 - เล่นการพนัน มีโทษ ๖ สถาน คือ ๑. ชนะย่อมก่อเวร ๒. แพ้ก็เสียดายทรัพย์ที่เสียไป ๓. ทรัพย์ฉิบหาย ๔. ไม่เป็นที่เชื่อฟังถ้อยคำ ๕. เป็นที่ดูหมิ่นของเพื่อนฝูง และ ๖. ไม่มีผู้ที่ปรารถนาจะแต่งงานด้วย เพราะเป็นผู้ไม่สามารถจะบำรุงเลี้ยงดูครอบครัว

 - คบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษที่ยกไว้เป็น ๖ สถาน คือ ๑. ทำให้เป็นนักเลงการพนัน ๒. ทำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ ๓. ทำให้เป็นนักเลงเหล้า ๔. ทำให้เป็นนักลวงเขาด้วยของปลอม ๕. ทำให้เป็นนักหลอกลวงเขาซึ่งหน้า และ ๖. ทำให้เป็นนักเลงหัวไม้

 - เกียจคร้านทำการงาน มีโทษ ๖ สถาน คือ ๑. อ้างว่าหนาวนัก ๒. อ้างว่าร้อนนัก ๓. อ้างว่าเย็นไป ๔. อ้างว่าเช้าไป ๕. อ้างว่าหิวนัก และ ๖. อ้างว่ากระหายนัก แล้วไม่ทำงาน

 รวมเป็นบาปกรรม ๑๔ ข้อ คือ กรรมกิเลส ๔ อคติ ๔ และอบายมุข ๖ ในกรรมกิเลส ๔ นั้น ก็คือเวร ๔ อันตรงกันกับศีล ๔ ข้างต้น ไม่มีสุราเมรัย เพราะอะไร ก็เพราะว่าในพระสูตรนี้ เรื่องสุราก็ว่าในอบายมุขแล้ว ในกรรมกิเลสนั้นก็ไม่ต้องกล่าวถึงสุราเข้าไป จึงเหลือ ๔ เท่านั้น

 

ต่อจากนี้ก็ได้ตรัสถึง มิตร ว่ามี ๒ จำพวกคือ มิตรปฏิรูป คือคนเทียมมิตร จำพวกหนึ่ง มิตรแท้ จำพวกหนึ่ง

มิตรปฏิรูป นั้น มีลักษณะ ๔ ได้แก่ ๑. คนปอกลอก ๒. คนดีแต่พูด ๓. คนหัวประจบ และ ๔. คนชักชวนในทางฉิบหาย

- คนปอกลอก นั้น มีลักษณะ ๔ คือ ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒. เสียแต่น้อยปรารถนาจะได้มาก ๓. เมื่อมีภัยแก่ตนจึงรับทำกิจให้ และ ๔. คบเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตน

- คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ ๑. เก็บของเอาของที่ล่วงแล้วมาปราศรัย ๒. อ้างเอาสิ่งยังไม่มีมาปราศรัย ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ และ ๔. เมื่อมีกิจเกิดขึ้น เอาเป็นที่พึ่งอาศัยไม่ได้

- คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. จะทำชั่วก็คล้อยตาม ๒. จะทำดีก็คล้อยตาม ๓. ต่อหน้าว่าสรรเสริญ และ ๔. ลับหลังตั้งนินทา

- คนชักชวนในทางฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ ๑. ชักชวนให้ดื่มสุราเมรัย ๒. ชักชวนให้เที่ยวผิดเวลา ๓. ชักชวนให้มัวเมาการเล่น และ ๔. ชักชวนให้เล่นการพนัน

 

ส่วน มิตรแท้ นั้น มีลักษณะ ๔ ได้แก่ ๑. มิตรมีอุปการะ ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๓. มิตรแนะประโยชน์ และ ๔. มิตรมีใจเอ็นดูรักใคร่

- มิตรมีอุปการะ นั้น มีลักษณะ ๔ คือ ๑. รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๒. รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๓. เมื่อมีภัยเอาเป็นที่พึ่งอาศัยได้ และ ๔. เมื่อมีกิจธุระก็ออกทรัพย์ช่วยมากกว่าที่ออกปาก

- มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. บอกความลับของตนแก่เพื่อน ๒. ปกปิดความลับของเพื่อน ๓. ไม่ละทิ้งในคราวมีอันตราย และ ๔. แม้ชีวิตก็อาจสละให้ได้

- มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. แนะนำให้ทำความดี ๓. แนะนำให้ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง และ ๔. บอกทางสวรรค์ให้

- มิตรที่มีใจเอ็นดูรักใคร่ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. ไม่ยินดีเพราะความเสื่อมของเพื่อน ดั่งที่เรียกว่าทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ๒. ยินดีในความเจริญของเพื่อนดั่งที่เรียกว่าสุขก็สุขด้วย ๓. ห้ามบุคคลผู้กล่าวติเตียนเพื่อน และ ๔. รับรองบุคคลผู้กล่าวสรรเสริญเพื่อน

ธรรมเหล่านี้มีในคิหิปฏิบัติและเป็นธรรมที่เป็นพื้น เป็นพื้นทั้งในด้านที่เคยได้ยินได้ฟังมา เพราะสั่งสอนกันบ่อย ๆ และเป็นพื้นทั้งในด้านที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำ แต่บางทีเพราะเป็นธรรมที่เป็นพื้นมากไปก็อาจไม่ใส่ใจถึง เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดเสียหายกันอยู่บ่อย ๆ ถ้าได้ใส่ใจถึงและคอยพิจารณาในการประกอบกรรมคือการงานทุก ๆ ด้านในทางคดีโลกของตน ให้เว้นจากบาปกรรมทั้ง ๑๔ ข้อ และรู้จักเลือกในการที่จะคบเพื่อนตามที่ทรงสั่งสอนไว้นี้ก็จะได้ประโยชน์

เมื่อพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทแก่สิงคาลกะ ถึงทรงสอนให้เว้นกรรมที่เป็นบาป ๑๔ ข้อแล้ว ต่อจากนั้นก็ทรงแสดง ทิศ ๖ ในอริยวินัยโดยทรงชี้ถึงบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ปุรัตถิมทิศ ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา

ทักษิณทิศ ทิศเบื้องขวา ได้แก่ อาจารย์

ปัจฉิมทิศ ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา

อุตตรทิศ ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรอำมาตย์หรือมิตรสหาย

เหฏฐิมทิศ ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ทาสกรรมกร

อุปริมทิศ ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์

ทรงแสดงถึงหน้าที่ ซึ่งบุคคลจะพึงปฏิบัติต่อทิศเหล่านี้

ปุรัตถิมทิศ ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดานั้น อันบุตรพึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. ท่านเลี้ยงมาแล้วเลี้ยงท่านตอบ ๒. ทำกิจของท่าน ๓. ดำรงวงศ์สกุล ๔. ปฏิบัติตนให้สมควรเป็นผู้รับมรดก และ ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว เพิ่มทักษิณาคือทำบุญอุทิศให้

ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดา ผู้ที่บุตรได้บำรุงดั่งนี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. ห้ามจากบาป ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ศึกษาศิลปะ ๔. ประกอบด้วยคู่ครองที่สมควรให้ และ ๕. มอบทรัพย์มรดกให้ในสมัยที่สมควร

ทักษิณทิศ ทิศเบื้องขวาคืออาจารย์ ศิษย์พึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๓. ด้วยเชื่อฟัง ๔. ด้วยการปฏิบัติบำรุง และ ๕. ด้วยการรับศิลปะโดยเคารพ

ทิศเบื้องขวาคืออาจารย์ ที่ศิษย์บำรุงอย่างนี้ ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. แนะนำดี ๒. ให้เรียนดี ๓. บอกศิลปะให้หมด ๔. ยกย่องให้ปรากฏในมิตรสหาย และ ๕. กระทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

ข้อว่า กระทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ที่น่าพิจารณา อย่างหนึ่งอาจารย์เป็นผู้ที่มีผู้เคารพนับถือในทิศทั้งหลาย ที่เรียกว่า ทิศาปาโมกข์ เมื่อศิษย์ไปที่ไหน และในที่นั้นรู้ว่าเป็นศิษย์ของอาจารย์ผู้นั้น ก็ให้ความนับถือและช่วยเหลือ อย่างหนึ่ง เมื่อพูดโดยส่วนรวม เมื่อศึกษาอยู่ในสำนักเดียวกัน และเมื่อไปในที่ไหน เขารู้ว่าเป็นศิษย์ในสำนักนั้น บุคคลในที่นั้นที่เคยศึกษาร่วมกันก็ดี หรือว่าเคยนับถือสำนักนั้นก็ดี ก็ยอมให้การนับถือช่วยเหลือด้วยอย่างหนึ่ง ศิลปวิทยาที่อาจารย์ให้นั้น เมื่อศิษย์ศึกษาไปด้วยดี ไปในที่ไหนก็ได้อาศัยศิลปวิทยานั้นเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต และเป็นเครื่องปฏิบัติ ก็ชื่อว่าอาจารย์ได้ให้การป้องกันในที่ทั้งหลายนั้นด้วย

ปัจฉิมทิศ ทิศเบื้องหลังคือภรรยา อันสามีพึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. ด้วยการยกย่องนับถือ ๒. ด้วยการไม่ดูหมิ่น ๓. ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ และ ๕. ด้วยให้เครื่องประดับตกแต่ง

ทิศเบื้องหลังคือภรรยา ที่สามีบำรุงดั่งนี้ ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. จัดแจงการงานดี ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๓. ไม่ประพฤตินอกใจ ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาไว้ให้ และ ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

อุตตรทิศ ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรอำมาตย์หรือมิตรสหาย อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. ด้วยทานคือการให้ เป็นการสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ๒. ด้วยการพูดถ้อยคำเป็นที่รัก ๓. ด้วยการประพฤติประโยชน์ ๔. ด้วยการวางตนสม่ำเสมอ และ ๕. ด้วยการไม่พูดให้ผิดไปจากความเป็นจริง

ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย ที่กุลบุตรบำรุงด้วยฐานะอย่างนี้ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๒. รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๓. เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ๔. ไม่ละทิ้งไปคราวมีอันตราย และ ๕. นับถือตลอดถึงประชาอื่น อันหมายถึงญาติมิตรของเพื่อน

เหฏฐิมทิศ ทิศเบื้องต่ำคือทาสกรรมกรหรือบ่าว อันนายพึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๒. ด้วยการเพิ่มให้อาหารและบำเหน็จ ๓. ด้วยการรักษาพยาบาลให้ในคราวเจ็บไข้ ๔. ด้วยการแบ่งสิ่งที่มีรสดี ๆ ให้ และ ๕. ด้วยการปล่อยให้พักให้เที่ยวบ้างในสมัยที่สมควร

ทิศเบื้องต่ำคือทาสและกรรมกร ที่นายบำรุงอย่างนี้ ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. เป็นผู้ตื่นลุกขึ้นก่อน ๒. เป็นผู้พักในภายหลัง ๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๔. ทำการงานดี และ ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ

              อุปริมทิศ ทิศเบื้องบนคือสมณพราหมณ์ อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ ๑. ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๒. ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๓. ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือห้ามไม่ให้ท่านเข้าบ้านหรือว่าไม่ต้อนรับ และ ๕. ด้วยการมอบให้อามิสคือข้าวน้ำเป็นต้น

ทิศเบื้องบนคือสมณพราหมณ์ ที่กุลบุตรบำรุงอย่างนี้ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยฐานะ ๖ คือ ๑. ห้ามจากบาป ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. อนุเคราะห์ด้วยใจอันงาม ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง และ ๖. บอกทางสวรรค์ให้

ทิศ ๖ เหล่านี้ เป็นสังคมมนุษย์ เมื่อเรายืนอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมมีทิศทั้ง ๖ นี้อยู่โดยรอบตัว จะไปไหนก็ไม่พ้นจากทิศเหล่านี้ฉันใด ในกลุ่มชนทุก ๆ คนก็มีบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่โดยรอบ จะไปไหนก็ไม่พ้นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกันดั่งกล่าว ฉะนั้น เมื่อได้ปฏิบัติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นให้ชอบให้ถูกต้อง ก็ชื่อว่าได้เป็นผู้ปฏิบัติป้องกันอันตรายจากทิศเหล่านั้น คือจากบุคคลเหล่านั้น อันหมายความว่าเราเองได้ปฏิบัติชอบแล้ว แต่ว่าทิศเหล่านั้นคือบุคคลเหล่านั้น ปฏิบัติตอบแทนอย่างไรนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยมากหรือโดยทั่วไป เมื่อดีไป ก็มักจะได้รับดีตอบ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องได้รับการปฏิบัติตอบแทนบ้างตามสมควร ส่วนข้อสำคัญนั้นเป็นอันว่าตัวเราเองได้ปฏิบัติชอบหรือถูกต้องแล้ว

ท่านแสดงผลไว้ว่า เมื่อได้ประพฤติตนเป็นผู้เว้นจากกรรมชั่ว ๑๔ ข้อ และปฏิบัติเป็นการปกปิดภัยอันตรายจากทิศทั้ง ๖ ดั่งกล่าวนี้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นผู้ชนะโลกทั้งสอง คือชนะโลกนี้และชนะโลกอื่น อันหมายความว่าเป็นผู้เริ่ม คือว่าประสบความสำเร็จในโลกทั้ง ๒ นี้ ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในโลกทั้ง ๒ ก็คือได้รับความสุขความเจริญ เป็นผู้ตั้งตัวได้โดยชอบ บุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่โดยรอบนั้นก็จะมีเมตตาจิตต่อเรา ไม่ทำอันตรายอะไร ๆ ต่อเรา ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีภัยจากทิศทั้ง ๖

เรื่องหน้าที่ที่สามีจะพึงปฏิบัติต่อภรรยา ถ้ามาดูในสมัยนี้ก็เป็นของไม่แปลก แต่ถ้าดูไปถึงธรรมเนียมในสมัยนั้นแล้ว การสอนอย่างนี้ก็เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีของสมัยนั้น ที่ถือผู้หญิงว่าเหมือนอย่างภัณฑะหน้าที่ซึ่งแสดงไว้ในพระสูตรนี้ ให้การยกย่องเป็นอย่างดี

ในอรรถกถาของพระสูตรนี้ได้เล่าถึงประวัติของเวฬุวันไว้อีกว่า เวฬุวันคือสวนไผ่นี้เป็นสวนหลวงมาเก่าแก่ มีพระราชาพระองค์หนึ่งได้เสด็จไปประพาสพระเวฬุวัน ได้บรรทมหลับอยู่ในบริเวณนั้น ข้าราชการบริพารก็เที่ยวแยกย้ายไป มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยตรงเข้ามา ในขณะนั้นก็มีกระแตตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาใกล้พระกรรณของพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ร้องขึ้น พระเจ้าแผ่นดินก็ตื่นบรรทม งูซึ่งเลื้อยตรงเข้ามานั้นก็เลื้อยหนีไป มีพระราชดำริว่า ทรงปลอดภัยก็เพราะกระแตมาร้องให้ตื่นบรรทมขึ้น จึงได้ทรงพระราชทานอภัยแก่กระแต ให้อาหารแก่กระแตในสวนนั้น เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า กลันทกนิวาปะ คือเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต เป็นเขตหวงห้ามไม่ให้ทำอันตรายแก่กระแต ชื่อนี้ก็เรียกกันเรื่อยมา

 

 จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๘๔ – ๑๙๕