Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ราหุโลวาทสูตร

 แต่ก็มีพระสูตรบางพระสูตรที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระราหุลที่พระเวฬุวัน ซึ่งท่านพระอรรถกถาจารย์ท่านเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าโปรดให้บวชพระราหุลนั้น พระราหุลมีชันษาได้เพียง ๗ พรรษา และเมื่อได้ทรงนำมาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันกรุงราชคฤห์ ก็ได้ทรงอบรมราหุลสามเณรอยู่เสมอ คำอบรมในระหว่างที่ราหุลสามเณรมีพระชนม์ ๗ พรรษา นั้นท่านร้อยกรองไว้เป็นพระสูตรหนึ่ง เรียกว่า ราหุโลวาท ซึ่งแปลว่า โอวาทแก่พระราหุล มีเล่าไว้ว่า พระราหุลได้ประทับอยู่ที่เรือนชั้นอันชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา ที่ตอนสุดของพระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทานพระโอวาทอบรมเตือนให้พระราหุลศึกษา ๒ ข้อ คือ

. ให้ศึกษาว่า จะไม่พูดเท็จแม้เพื่อจะหัวเราะเล่น

. ให้ศึกษาว่า จะปัจจเวกขณ์ คือพิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริสุทธิ์

ข้อความละเอียดในพระสูตรนี้มีเล่าว่า เมื่อเสด็จพระพุทธดำเนินไปถึง พระราหุลก็ได้ปูอาสนะ ได้เตรียมน้ำล้างพระบาท และก็ได้ล้างพระบาทถวายพระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งแล้วก็ตรัสให้พระราหุลดูน้ำที่เหลืออยู่ในภาชนะที่ใช้เทล้างพระบาทนั้น ซึ่งมีเหลืออยู่น้อย ตรัสเปรียบเทียบว่า ความละอายในเพราะสัมปชานมุสาวาท คือพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด สามัญญะ คือความเป็นสมณะของผู้นั้นก็มีน้อย เหมือนอย่างน้ำที่มีเหลืออยู่น้อยในภาชนะน้ำนั้น

แล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลเทน้ำทิ้งให้หมด ตรัสโอวาทต่อไปว่า ความละอายในเพราะพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด ความเป็นสมณะของผู้นั้นก็ต้องถูกทิ้งเสียแล้ว เหมือนอย่างน้ำในภาชนะน้ำที่เขาทิ้งเสียหมด แล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วทรงสั่งให้พระราหุลหงายภาชนะน้ำนั้น ก็เป็นภาชนะน้ำที่ว่างเปล่า ก็ตรัสโอวาทสืบต่อไปอีกว่า ความละอายในเพราะพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด ความเป็นสมณะของผู้นั้นก็ว่างเปล่า เหมือนอย่างภาชนะน้ำที่หงายขึ้นว่างเปล่าฉะนั้น

ต่อจากนั้นก็ตรัสอุปมาอีกข้อหนึ่งว่า เหมือนอย่างช้างศึกของพระเจ้าแผ่นดินที่ฝึกหัดไว้เป็นอย่างดี ขึ้นระวางแล้วออกสงครามก็ทำการรบ คือทำหน้าที่ออกศึกด้วยเท้าหน้าทั้ง ๒ ด้วยเท้าหลังทั้ง ๒ ด้วยศีรษะ ด้วยหู ด้วยงวง ด้วยหาง แต่ว่าถ้ายังรักษางวงอยู่ ยังไม่ใช้งวงในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ชื่อว่ายังมิได้สละชีวิตเพื่อพระเจ้าแผ่นดิน ต่อได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยงวงอย่างหนึ่ง จึงชื่อว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างบริบูรณ์ และก็ไม่มีอะไรที่ช้างนั้นมิได้ทำ ฉันใดก็ดี ถ้าไม่มีความละอายที่จะพูดเท็จทั้งรู้ ก็กล่าวไม่ได้ว่าจะไม่ทำบาปอะไร ๆ แต่ถ้ามีความละอายอยู่ในอันที่จะพูดเท็จทั้งรู้ งดเว้นจากการพูดเท็จเสียได้ จึงจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้ไม่ทำบาป

เมื่อได้ตรัสโอวาทดั่งนี้แล้ว จึงสรุปให้พระราหุลศึกษาว่า จะไม่พูดเท็จแม้เพื่อจะหัวเราะเล่น

ต่อจากนั้นได้ทรงสอนให้พระราหุลปัจจเวกขณ์กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ได้ทรงชักวัตถุอย่างหนึ่งมาเปรียบเทียบ คือตรัสถามว่า แว่นส่องมีประโยชน์อะไร พระราหุลก็กราบทูลว่า มีประโยชน์เพื่อจะปัจจเวกขณ์ คือว่าได้ตรวจดูหน้าตาเป็นต้น พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานพระโอวาทสืบต่อไปว่า ควรที่จะปัจจเวกขณ์คือพิจารณาก่อนแล้วจึงทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เมื่อคิดปรารถนาจะทำ จะพูด จะคิด ก็ให้ปัจจเวกขณ์ก่อนว่า เราจะทำจะพูด จะคิดอย่างนี้ แต่ว่าการทำ พูด คิดอย่างนี้เป็นอย่างไร เมื่อปัจจเวกขณ์ แล้วรู้ว่า การทำ การพูด การคิดอย่างนี้เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอกุศล มีทุกข์โทษเป็นกำไรเป็นผล เมื่อรู้ดั่งนี้แล้วก็ไม่ควรทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น ต่อเมื่อได้ปัจจเวกขณ์แล้ว ก็รู้ว่าเป็นไปตรงกันข้าม คือการทำ การพูด การคิดนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนดั่งกล่าว เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไรเป็นผล เมื่อรู้ดั่งนี้แล้ว จึงควรทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น

อนึ่ง เมื่อกำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอยู่ ก็ให้ปัจเจกขณ์ว่า บัดนี้เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอย่างนี้ แต่ว่าการทำ การพูด การคิดอย่างนี้เป็นอย่างไร เมื่อปัจจเวกขณ์ก็จะรู้ เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนไม่ดี ก็ให้เลิกเสีย เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนดี ก็ให้ทำเพิ่มเติมต่อไป

อนึ่ง ทำ พูด คิดมาแล้ว ก็ให้ปัจจเวกขณ์เหมือนกันว่า เราได้ทำ พูดคิดอย่างนี้มาแล้ว แต่ว่าการทำ การพูด การคิดของเรานั้นเป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่าไม่ดี แต่ว่าทำไปแล้ว ก็ให้แสดงเปิดเผยในพระศาสดาหรือในสพรหมจารีซึ่งเป็นวิญญูชน คือเป็นผู้รู้ และถึงความสังวรเพื่อจะไม่ทำอีกต่อไป เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนดี ก็ให้เป็นผู้มีปีติความอิ่มใจปราโมทย์ความบันเทิงอยู่ และตามศึกษาสำเหนียกอยู่ในธรรมที่เป็นส่วนกุศลทั้งหลาย ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน

            พระพุทธเจ้าตรัสสรุปต่อไปว่า สมณพราหมณ์ในอดีต ปัจจเวกขณ์ชำระ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมมาอย่างนี้ ในอนาคตก็จักได้ปัจจเวกขณ์ชำระอย่างนี้ ในปัจจุบันก็พิจารณาชำระอย่างนี้

ในที่สุดก็ตรัสเตือนให้พระราหุลศึกษาเป็นข้อที่ ๒ คือให้คอยปัจเวกขณ์ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

พระสูตรนี้เรียกว่า อัมพลัฏฐิการาหุโลวาทสูตร ตามชื่อของเรือนนั้น ชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา หรือเรียกว่า จุลลราหุโลวาทสูตร พระสูตรที่แสดงพระโอวาทแก่พระราหุลซึ่งเป็นสูตรเล็ก เพราะเมื่อพระราหุลมีอายุมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาทอย่างอื่นต่อไป

 

กุมารปัญหา

อนึ่ง ในระยะเวลาที่พระราหุลมีพระชนม์พรรษาน้อยอยู่นี้ พระอรรถกถาจารย์ท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมด้วย กุมารปัญหา คือปัญหาที่ผูกขึ้นสำหรับถามเด็ก หรือ สามเณรปัญหา ปัญหาที่ผูกขึ้นสำหรับสามเณร ปัญหานี้ในที่แห่งหนึ่งแสดงว่า พระพุทธเจ้าตรัสถามให้สามเณรรูปหนึ่งชื่อว่า โสปากสามเณร ตอบ แต่ท่านพระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสตั้งปัญหาอันเดียวกันนี้ถามพระราหุลด้วย มี ๑๐ ข้อ คือ

ถามว่า อะไรชื่อว่า หนึ่ง ก็ทูลตอบว่า ที่ชื่อว่าหนึ่ง ก็คือสัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร

ถามว่า อะไรชื่อว่า สอง ก็ตอบว่า ที่ชื่อว่าสองคือนามรูป

ถามว่า อะไรชื่อว่า สาม ก็ตอบว่า คือเวทนา ๓

ถามว่า อะไรชื่อว่า สี่ ก็ตอบว่า อริยสัจ ๔

ถามว่า อะไรชื่อว่า ห้า ก็ตอบว่า อุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕

ถามว่า อะไรชื่อว่า หก ก็ตอบว่า อายตนะภายใน ๖

ถามว่า อะไรชื่อว่า เจ็ด ก็ตอบว่า โพชฌงค์ ๗

ถามว่า อะไรชื่อว่า แปด ก็ตอบว่า อริยมรรคมีองค์ ๘

ถามว่า อะไรชื่อว่า เก้า ก็ตอบว่า สัตตวาส คือที่อยู่ของสัตว์ ๙ จำพวก

ถามว่า อะไรชื่อว่า สิบ ก็ตอบว่า ท่านที่ประกอบด้วยองค์ ๑๐ เรียกว่าพระอรหันต์

ชื่อธรรมเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันอยู่เป็นส่วนมาก สัตตวาส ๙ นั้น เป็นภูมิภพของสัตว์ ๙ จำพวก ส่วนพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐ นั้นก็คือประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะคือความรู้ชอบ สัมมาวิมุตติคือความพ้นชอบ ซึ่งเป็นอเสขะคือเป็นองค์ที่เสร็จกิจจะต้องศึกษา อันเรียกว่าเป็นของพระอเสขะผู้ที่ไม่ต้องศึกษา ก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ และเพิ่มสัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติเข้าอีก ๒ รวมเป็น ๑๐

ปัญหาเหล่านี้เท่ากับว่าตั้งขึ้นถามให้ตอบหรือว่าทาย และคอยแก้ ก็เพื่อที่จะให้จดจำข้อธรรมได้ ในตอนแรกก็อาจจะไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้รับอบรมมากขึ้น ก็อาจเข้าใจในหัวข้อธรรมเหล่านั้นมากขึ้น ในตอนแรกก็ตั้งให้ตอบพอจำได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า กุมารปัญหา หรือว่า สามเณรปัญหา มี ๑๐ ข้อด้วยกัน

 

 จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๘๐ – ๑๘๔