Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

ในระหว่างพรรษาทั้ง ๓ นี้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จ กรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท ในหลักฐานชั้นบาลีบ่งว่า รวมอยู่กับแคว้นโกศล ดั่งที่ในตอนปลายพุทธกาล เล่าถึงพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า พระพุทธเจ้ามีพระชนม์ ๘๐ พรรษา พระเจ้าปเสนทิโกศลก็มีพระชนม์ ๘๐ พรรษา พระพุทธเจ้าเป็นชาวโกศล พระเจ้าปเสนทิก็เป็นชาวโกศล แต่อาจจะแยกเป็นแคว้นอิสระในบางครั้งก็ได้

แต่ในหลักฐานชั้นอรรถกถาหลังลงมา กล่าวว่าเป็นแคว้นอิสระ ซึ่งมีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เป็นพระราชาแห่งแคว้นสักกะนั้น มีกรุงกบิลพัสดุ์เป็นนครหลวง ท่านเล่าไว้ว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้ทรงคอยฟังข่าวอยู่เสมอ เมื่อตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จจาริกประกาศพระพุทธศาสนา จนมาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ พระพุทธบิดาก็ได้ทรงสดับข่าวนี้มาโดยลำดับ และได้ทรงส่งทูตมาทูลเชิญเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ ผู้ที่มานั้นก็มาฟังธรรมและบวชในสำนักพระพุทธเจ้าไม่กลับไป จนถึงพระพุทธบิดาได้ทรงส่งอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อว่า กาฬุทายี แปลว่า อุทายีดำ เพราะมีผิวดำสักหน่อย เป็นทูตมาเชิญเสด็จ อำมาตย์กาฬุทายีนั้นเมื่อได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ก็ได้บวช และได้กราบทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าไปกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จจากกรุงราชคฤห์ ทรงดำเนินด้วยพระบาทไปยังกรุงกบิลพัสดุ์โดยลำดับ

ในชั้นบาลีไม่ได้กล่าวไว้ชัดว่าเสด็จเมื่อไร แต่ว่าในชั้นอรรถกถา ได้แสดงเวลาไว้ดั่งนี้ พรรษาแรกได้ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ถึงวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ออกพรรษาแล้ว ก็เสด็จไปโปรดชฎิล ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเป็นเวลาถึง ๓ เดือน คือจนถึงกลางเดือนยี่ ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปกรุงราชคฤห์ ทรงรับพระเวฬุวัน วันสิ้นเดือนยี่ ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันนั้นจนถึงกลางเดือน ๔ วันรุ่งขึ้นจึงได้เริ่มเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งท่านพรรณนาไว้ว่า มีหนทาง ๖๐ โยชน์ และเสด็จพระพุทธดำเนินไปเพียงวันละ ๑ โยชน์ ต้องใช้เวลา ๒ เดือน ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ในวันกลางเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันวิสาขปุณณมี โยชน์ในครั้งนั้นจะเป็นระยะทางเท่าไรไม่อาจจะทราบได้แน่ แต่ว่าอาจจะเทียบได้ ที่กล่าวถึงระยะทางจากพุทธคยาคือที่ตรัสรู้ ไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นระยะทาง ๑๘ โยชน์ เดี๋ยวนี้ทางในแผนที่ปัจจุบันตามทางรถไฟ ตก ๑๒๐ ไมล์หย่อนหน่อย คือไม่ถึง ๑๒๐ ไมล์ดี ที่เป็น ๑๘ โยชน์ก็อาจจะคิดเทียบเคียงได้ดั่งนี้ ส่วนระยะทางจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงกบิลพัสดุ์แคว้นสักกะนั้น ๖๐ โยชน์ เสด็จวันละโยชน์ ที่กล่าวว่าเสด็จไม่รีบร้อน

          เมื่อเสด็จไปถึง พระญาติมีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นประธาน ก็ถวายการต้อนรับ และจัดให้ประทับที่อารามของเจ้าสักยะองค์หนึ่ง ชื่อว่า นิโครธ จึงได้เรียกว่า นิโครธาราม ในชั้นแรก พระญาติชั้นผู้ใหญ่คือผู้ที่สูงอายุกว่า ไม่ยอมถวายบังคมคือไหว้พระพุทธเจ้า เพราะวงศ์สักยะนี้เป็นผู้ที่มีมานะแรงมาก ไม่ยอมแสดงความเคารพแก่ผู้ที่อ่อนอายุกว่า ท่านแสดงว่าฝนโบกขรพรรษได้ตก แปลว่าฝนที่มีสีแดง และพระพุทธเจ้าก็ได้แสดง เวสสันตรชาดก คือเรื่องพระเวสสันดร ที่มีความโดยย่อว่า

พระเจ้าสัญชัย แห่ง สีวีรัฐ ได้มีพระโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า เวสสันดร ประสูติแต่พระนางผุสดี พระเวสสันดรนั้น ครั้นเมื่อมีพระชนม์เจริญขึ้น ก็ได้ทรงอภิเษกกับพระนางมัทรี มีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า ชาลี พระธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า กัณหา พระเวสสันดรเป็นผู้ที่มีพระหทัยกว้างขวาง ทรงบำเพ็ญทานอยู่เสมอ มีพระอัธยาศัยน้อมน้าวไปในทางบริจาคอย่างไม่อั้นและไม่หยุดยั้ง ได้ประทานช้างเผือกสำหรับพระนครแก่พราหมณ์ชาวกลิงครัฐไป ชาวเมืองจึงเกิดความไม่พอใจ ประชุมกันให้พระเจ้าสัญชัยเนรเทศพระเวสสันดร พระเจ้าสัญชัยก็จำต้องทรงปฏิบัติตามความประสงค์ของประชาชน เนรเทศพระเวสสันดรไปพร้อมกับพระชายากับพระโอรสพระธิดาทั้ง ๔ พระองค์ได้เสด็จไปทรงผนวชเป็นฤษีอยู่ในป่า แต่ก็ยังมีพราหมณ์ชูชกไปทูลขอพระชาลี พระกัณหา พระเวสสันดรก็ประทานให้ ชูชกก็พาพระกุมารกุมารีทั้ง ๒ ไป แล้วก็ยังมีพราหมณ์มาขอพระนางมัทรีอีก พระเวสสันดรก็ประทานให้ แต่ว่าพราหมณ์ที่มาขอพระนางมัทรีนั้น ว่าเป็นพราหมณ์พระอินทร์แปลง เพราะฉะนั้น ก็ถวายคืนไว้ ฝ่ายชูชกพาพระชาลีพระกัณหาไปเฝ้าพระเจ้าสัญชัย พระเจ้าสัญชัยก็ทรงรับเอาทั้ง ๒ พระองค์ไว้ และพระราชทานทรัพย์เป็นการแลกเปลี่ยนพระราชนัดดา และพระเจ้าสัญชัยก็ได้ทรงพาพระราชนัดดาออกไปรับพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีเสด็จกลับพระนคร เรื่องโดยย่อก็มีเท่านี้

เรื่องพระเวสสันดรชาดกนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาชาติ เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยมาตั้งแต่เก่าก่อน ได้มีนักกวีแต่งเป็นร่ายยาวสำหรับเทศน์ มีสำนวนดี ๆ มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงเก่าศรีอยุธยา ในสมัยกรุงเทพฯ นี้ก็มี จนถึงเป็นธรรมเนียมในราชสำนัก เจ้านายผู้ใหญ่ทรงผนวช อย่างบวช ๓ เดือน และต้องไปถวายเทศน์มหาชาติกัณฑ์หนึ่ง รัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงผนวชเณรก็ทรงถวายเทศน์มหาชาติกัณฑ์หนึ่ง รัชกาลที่ ๔ โปรดให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศทรงเป็นผู้จัดเครื่องกัณฑ์ ในบัดนี้ วัดอีกมากก็ยังนิยมเทศน์มหาชาติเป็นงานประจำปี เป็นการหาทุนสร้างอะไรต่าง ๆ ในวัด เพราะฉะนั้นพระเวสสันดรท่านก็ได้ช่วยสร้างวัด สร้างถาวรวัตถุและสิ่งต่าง ๆ มามากมายสำหรับในเมืองไทย

พระญาติที่มีอาวุโสกว่า เมื่อได้ฟังและได้เห็นพระพุทธจรรยาต่าง ๆ ในที่สุดก็ได้ถวายบังคมด้วยกันทั้งหมด แต่ในวันนั้นยังไม่มีใครอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ไปเสวยที่ไหน วันรุ่งขึ้นจึงได้เสด็จออกทรงบิณฑบาตพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ฝ่ายพระญาติมีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นต้น ได้ทรงทราบข่าวดั่งนั้นก็ตระหนกพระทัย เพราะว่าผิดธรรมเนียมของขัตติยวงศ์ พระเจ้าสุทโธทนะได้รีบเสด็จออกไปยังที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงบิณฑบาต ท่านว่าพระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสต่อว่า ว่าได้ทรงปฏิบัติผิดวงศ์หรือผิดตระกูล ไม่มีธรรมเนียมที่กษัตริย์จะภิกขาจารเหมือนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ได้ทรงปฏิบัติตามวงศ์ของพระพุทธะ ไม่ใช่วงศ์ของขัตติยะ ได้ทรงเป็นพระพุทธะ ทรงปฏิบัติตามวงศ์ของพระพุทธะ แล้วก็ได้ตรัสพระคาถาว่า อุตฺติฏฺเฐ นปฺปมชฺเชยฺย เป็นต้น ที่แปลความว่า บุคคลไม่พึงประมาทในอาหารที่เป็นเดน หรือในก้อนข้าวที่พึงลุกขึ้นรับ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต เพราะว่าผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกอื่น

ถ้าจะพิจารณาดูโดยความก็คือเท่ากับทรงแสดงว่า ไม่พึงประมาทในอาหารที่เขาใส่บาตร และการเที่ยวภิกขาจารนี้ก็ไม่ได้ไปลักไปขโมยใคร เป็นการแสวงหาโดยสุจริต ไม่ได้ไปทำทุจริตที่ไหน เพราะฉะนั้น อาชีพอะไร ๆ ก็ตามที่เป็นอาชีพที่สุจริต และที่เป็นการสมควรแก่ภาวะของตนแล้ว ก็ใช้ได้ แต่ว่าทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า การภิกขาจารนั้นจะเป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญเรื่อยไป เพราะเป็นกรณียะคือเป็นกิจที่ควรทำโดยเฉพาะสำหรับนักบวช ซึ่งเป็นผู้ต้องอาศัยนิสสัยข้อนี้ แต่สำหรับคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นผู้มีกิจทำมาหากิน จะภิกขาจารอย่างนี้ก็ไม่ได้ ก็ต้องปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะ

          พระเจ้าสุทโธทนะได้รับบาตรพระพุทธเจ้า และเชิญเสด็จเข้าไปทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์

พระนันทะ พระราหุลบวช

ในวันต่อมา ที่กล่าวว่าเป็นวันที่ ๓ เป็นวันประกอบพิธีวิวาหมงคลและพิธีมงคลขึ้นตำหนักอภิเษกของพระราชกุมาร ทรงพระนามว่า นันทะ พระนันทะนี้เป็นพระโอรสของพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางของพระพุทธเจ้า พระนางนี้มีพระราชธิดาอีกองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า รูปนันทา พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเรือนตำหนักของพระนันทราชกุมาร พระนันทราชกุมารก็ทรงรับบาตรของพระพุทธเจ้า และก็เสด็จตามพระพุทธเจ้าออกมา ฝ่ายพวกคนในเรือนเห็นดังนั้น ก็รีบไปทูลนางชนบทกัลยาณีซึ่งเป็นคู่อภิเษกในวันนั้นของพระนันทะ นางก็รีบออกมาและเตือนให้รีบกลับ ฝ่ายพระนันทะก็ถือบาตรตามพระพุทธเจ้าเรื่อยมา และก็ทรงนึกเรื่อยมาว่า พระพุทธเจ้าจะทรงรับบาตรที่นี่ที่นั่น พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรับ ก็ต้องถือบาตรตามพระพุทธเจ้าเรื่อยมาจนถึงนิโครธาราม ครั้นถึงนิโครธารามแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามพระนันทะว่าจะบวชไหม พระนันทะทูลตอบรับว่าจะบวช ด้วยไม่กล้าจะขัดพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าก็โปรดให้สงฆ์บวชพระนันทะเป็นภิกษุ

ต่อมา ท่านกล่าวว่าเป็นวันที่ ๗ ได้เสด็จเข้าไปทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ พระนางยโสธราพิมพา ซึ่งเป็นพระราชมารดาของราหุลพระโอรสของพระโพธิสัตว์เมื่อก่อนทรงผนวช ได้ทรงแต่งพระราหุลออกมาให้กราบทูลพระราชบิดา ทำนองว่ากราบทูลขอพระราชสมบัติ พระราหุลเวลานั้นว่ามีพระชนม์ ๗ ขวบ ออกมากราบทูลขอมรดก พระพุทธเจ้าก็ทรงนำพระราหุลไปนิโครธารามด้วย และเมื่อถึงนิโครธารามแล้ว ก็โปรดให้พระสารีบุตรบรรพชาพระราหุลเป็นสามเณร ด้วยใช้วิธีให้รับสรณะ ๓ คือวิธีอุปสมบทด้วยถึงสรณะ ๓ ที่ทรงให้เลิกไปแล้วนั้นมาใช้บรรพชาสามเณร พระราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และก็ใช้วิธีบวชด้วยให้ถึงสรณะ ๓ สืบต่อมาจนบัดนี้ ท่านแสดงว่า เพราะทรงมีพระพุทธดำริว่า ทรัพย์ที่เป็นโลกียะนั้นเป็นของที่ไม่ยั่งยืน แต่ว่าอริยทรัพย์เป็นสิ่งยั่งยืนกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อมากราบทูลขอมรดก จึงได้ประทานอริยทรัพย์ให้

          ข้อนี้ก็น่าพิจารณาถึงธรรมเนียมบวชในบัดนี้ มารดาบิดาที่จัดให้บุตรได้บวชก็เท่ากับว่าเป็นการให้อริยทรัพย์ หรือว่าจัดให้บุตรได้อริยทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นการทำให้ได้รับทรัพย์ที่ประเสริฐ เมื่อท่านได้ทำกิจอันนี้ก็รู้สึกว่าท่านได้มีความปีติยินดีว่า ได้อุปการะบุตรเป็นอย่างดี คราวนี้มาพิจารณาดูถึงหน้าที่ของบุตรที่จะพึงมีต่อบุพพการี เช่น มารดาบิดา ในพระพุทธศาสนาก็แสดงไว้เป็น ๒ คือ ตอบแทนตามหน้าที่ เช่นว่าท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ท่านแสดงว่า ตอบแทนด้วยทำให้มารดาบิดาเจริญด้วยคุณมีศรัทธา ศีล เป็นต้น เมื่อทำให้ท่านเจริญศรัทธา ศีล เป็นต้น ก็ชื่อว่าเป็นการตอบแทนอย่างสูง พิจารณาดูก็คือว่าตอบแทนท่าน ด้วยทำให้ท่านได้รับอริยทรัพย์นั้นเอง และการบวชก็เป็นทางที่จะทำให้ท่านบุพพการีจะรับอริยทรัพย์ได้ง่าย เพราะทำให้ท่านมีความคุ้นเคยในศาสนา เป็นโอกาสที่จะเข้ามารักษาศีลฟังธรรม และปฏิบัติความดีอื่น ๆ อีก เพราะฉะนั้น ก็เป็นเหตุผลที่จูงกันไปในด้านดี ให้เกิดอริยทรัพย์ด้วยกันทุก ๆ ฝ่าย

ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อได้ทรงทราบดั่งนั้น ก็ทรงมีความทุกข์เป็นอย่างยิ่ง ได้รีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ทูลถึงความทุกข์ในพระราชหฤทัยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกทรงผนวชนั้น ก็ทรงประสบความทุกข์อย่างใหญ่หลวงเป็นครั้งแรก ครั้นเมื่อพระนันทะออกทรงผนวชอีก ก็ทรงประสบความทุกข์เป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังหวังอยู่ว่ายังมีพระราหุลจะทรงเป็นผู้สืบพระราชวงศ์ต่อไป แต่มาครั้งนี้พระราหุลมาทรงผนวชอีก ก็ยิ่งทรงประสบความทุกข์อย่างหนักเป็นครั้งที่ ๓ เพราะฉะนั้น ก็ทรงขอประทานพรพระพุทธเจ้าข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ได้ทรงล่วงพรเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะก็ทูลโดยความว่า ก็มิใช่จะเป็นการบังคับ เมื่อทรงเห็นสมควรก็ประทาน เมื่อไม่ทรงเห็นสมควรก็อย่าประทาน พระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระเจ้าสุทโธทนะตรัสว่าจะทรงขอพรอะไร พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้ทูลขอพรข้อหนึ่งว่า ต่อไปเมื่อพระสงฆ์จะบวชผู้ใด ก็ให้ผู้นั้นได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาก่อน เพราะได้ทรงปรารภถึงความทุกข์ที่เกิดแก่พระองค์ครั้งนี้ว่ามากมายนัก ก็อย่าให้ความทุกข์เช่นนี้เกิดขึ้นแก่มารดาบิดาอื่นเลย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต และก็ได้ทรงสั่งพระสงฆ์ว่า จะบวชใครก็ต้องให้ผู้นั้นได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาเสียก่อน ตลอดมาถึงบัดนี้     

และในวันหนึ่ง ที่ท่านพระอรรถกถาจารย์ได้แสดงว่า ในวันรุ่งขึ้นพระเจ้าสุทโธทนะได้ทูลพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ได้มีเทพยดามาบอกว่า พระลูกเจ้าสิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่ทรงเชื่อ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชาดกเรื่องหนึ่งเรียกว่า มหาธรรมปาลชาดก โดยความว่า

ในแคว้นกาสีได้มีบ้านหนึ่งชื่อว่า บ้านธรรมปาละ นายบ้านก็ชื่อว่าธรรมปาละ และมีบุตรคนหนึ่งก็ชื่อธรรมปาละ เป็นตระกูลที่ประพฤติธรรมสืบ ๆ กันมา คนในหมู่บ้านนั้นทุกชั้นก็พากันประพฤติธรรม คือไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่พูดเท็จ เป็นต้น บิดาได้ส่งธรรมปาลกุมารไปเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่กรุงตักกศิลา ธรรมปาลกุมารเรียนได้ดี

            ต่อมาบุตรของอาจารย์ก็สิ้นชีวิตด้วยเหตุอย่างหนึ่ง หมู่ญาติและหมู่ศิษย์ก็พากันเศร้าโศก ฝ่ายธรรมปาลกุมารไม่เศร้าโศก แต่มีความสงสัยว่าทำไมจึงตายในเวลาเป็นหนุ่ม ในที่สุดก็ได้ถามขึ้น คนเหล่านั้นได้บอกว่า ความตายนั้นไม่แน่นอน จะตายเวลาไหนได้ทั้งนั้น ธรรมปาลกุมารก็บอกว่า ในหมู่บ้านเขานั้นเห็นตายกันเมื่อแก่เป็นพื้น ฝ่ายอาจารย์ก็ไม่เชื่อ จึงได้ให้ธรรมปาลกุมารเป็นผู้ดูแลกิจการอยู่ชั่วคราว ตนเองก็เดินทางไปหมู่บ้านธรรมปาละและนำเอากระดูกของแพะไปแสดงแก่บิดาของธรรมปาละว่า ธรรมปาละตายแล้ว บิดาของธรรมปาละก็บอกว่าไม่เชื่อ เพราะที่นี่โดยปกติไม่ตายกันในเวลาเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่ม อาจารย์ก็ถามว่า จะต้องมีเหตุ และประพฤติอย่างไรจึงเป็นเหตุให้บังเกิดผลเช่นนี้ บิดาของธรรมปาละก็ได้ตอบว่าประพฤติธรรมนั่นเอง และแจ้งข้อที่ประพฤติต่อ ๆ กันมาให้ทราบ อาจารย์ของธรรมปาละก็มีความชื่นชมยินดี แล้วก็รับเอาธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่บ้านนั้นกลับไปใช้ประพฤติปฏิบัติกันต่อไป

พระพุทธเจ้าไม่ได้ประทับจำพรรษาที่กรุงกบิลพัสดุ์ในตอนนั้น ได้โปรดให้บวชพระนันทะกับพระราหุล และได้ทรงนำพระนันทะกับพระราหุลเสด็จกลับไปสู่กรุงราชคฤห์ ทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ เรื่องการเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรกก็มีเพียงเท่านี้

เรื่องการกำหนดเวลาว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจอะไร เมื่อไร เสด็จไปไหน เมื่อไหร่ ได้หลักฐานในชั้นบาลีเป็นส่วนน้อย และโดยมากก็บอกแต่เพียงว่า สมัยหนึ่งประทับที่นั่น หรือประทับที่นั่นตามพระพุทธอัธยาศัย แล้วก็เสด็จจาริกไปที่นั่น หนังสือชั้นบาลีนั้นปรากฏว่า เขียนเป็นตัวอักษรขึ้นที่ลังกาในสมัยสังคายนาเป็นครั้งที่ ๕ เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๔๐๐ ปีเศษ แต่คัมภีร์ในชั้นหลังต่อมา ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายพระบาลี ที่เรียกว่า อรรถกถา แปลว่า กล่าวเนื้อความของบาลี ซึ่งเป็นการอธิบาย พระอาจารย์รจนาอรรถกถา เรียกว่า อรรถกถาจารย์ ปรากฏว่าได้ทำในสมัยต่อมาอีก จนกระทั่งพระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๑,๐๐๐ ปีกว่า ในคัมภีร์ชั้นนี้แสดงเวลาไว้ละเอียดยิ่งขึ้น ดั่งเช่นระยะเวลาที่กล่าวเมื่อคราวก่อน โดยเฉพาะระยะเวลาเรื่องเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ชั้นอรรถกถากล่าวไว้ว่า เสด็จก่อนเข้าพรรษาที่ ๒ ดั่งที่กล่าวแล้ว แต่ว่าในอรรถกถานั้นเอง ได้มีเรื่องที่เป็นเบื้องต้นไว้ว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้ส่งทูตมาเชิญเสด็จพระพุทธเจ้ารวมทั้งหมดเป็น ๑๐ คน ทั้งกาฬุทายีอำมาตย์ และส่งมาทีละคน เมื่อส่งมาคนหนึ่งเห็นหายไป ก็ส่งมาอีกคนหนึ่ง รวมจนถึงคนที่ ๑๐ จึงสำเร็จ

ถ้าเป็นจริงตามนี้ ระยะเวลาที่จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์หน้าพรรษาที่ ๒ ก็คงเป็นไปไม่ได้ กว่าทูตคนหนึ่งจะเดินทางมาถึงแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะก็จะต้องทรงรอ เห็นหายไปจนผิดสังเกตจึงได้ทรงส่งอีกคนหนึ่งมา ระยะทางไม่ใกล้ ฉะนั้น ที่ท่านพรรณนาถึงเรื่องเบื้องต้นเหล่านี้ไว้ เมื่อพิจารณาดูระยะเวลาที่ท่านให้ในการเสด็จ ก็ดูเหมือนจะขัดกัน แต่ก็เป็นอันยุติได้แต่เพียงว่า ได้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ครั้งหนึ่งในระยะต้นนั้น และท่านว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงพาพระนันทะและพระราหุลเสด็จกลับมากรุงราชคฤห์ประทับจำพรรษาที่ ๒ ที่พระเวฬุวัน แต่ในหลักฐานชั้นบาลีกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงผนวชพระราหุลเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปนครสาวัตถีแคว้นโกศล ขัดกันอยู่ ฉะนั้น เรื่องการบวชพระราหุล อาจจะเป็นการเสด็จในครั้งที่ ๒ ก็ได้ เพราะได้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์อีกครั้งหนึ่งในภายหลัง และในครั้งหลังนั้นได้เสด็จจำพรรษาที่นิโครธารา

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๗๐ – ๑๗๙