Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ทรงอนุญาตเสนาสนะ

ใน ๓ พรรษานี้ พระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษาที่พระเวฬุวัน มีเรื่องที่น่านำมาเล่าบางเรื่องสืบต่อไปคือ เรื่องทรงอนุญาตเสนาสนะ

           คำว่า เสนาสนะ แยกออกเป็นสอง เสนะ แปลว่า ที่นอน อาสนะ แปลว่าที่นั่ง สนธิเป็น เสนาสนะ แปลว่า ที่นอนที่นั่ง รวมหมายถึงที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งจะต้องเข้าไปนอนไปนั่งในนั้น

เดิมพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้รับอารามดังพระเวฬุวัน ซึ่งเป็นอารามคือเป็นสวนพระเวฬุวันเป็นสวนหลวง จึงน่าจะต้องมีที่พักอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แสดงไว้ชัด แต่จะต้องมีต้นไม้มากเป็นแน่นอน เหมือนอย่างที่เรียกว่าสวนในบัดนี้ คำว่า อาราม แปลว่า เป็นที่มายินดี มีต้นไม้ร่มรื่น และอาจจะเป็นต้นไม้มีผล แต่ก็มีร่มเงาร่มรื่น คำว่า อาราม เดิมก็มีความหมายว่าเป็นสวนต้นไม้ดั่งกล่าวนี้ และเพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้รับอารามเป็นที่พักของภิกษุในพระพุทธศาสนา จึงใช้คำนี้ในความหมายว่าเป็นวัดด้วย ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ท่านจึงได้มีนิยมสืบ ๆ กันมาว่า วัดจะต้องมีต้นไม้ ก็เป็นไปตามประวัติที่วัดนั้นมาจากอารามคือสวนต้นไม้ดั่งที่กล่าวมานั้น

ที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ดี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ก็ดี ก็โปรดให้มีต้นไม้ ต้นไม้ต้นไหนล้มก็โปรดให้หามาปลูกใหม่ไว้แทนที่ เพราะวัดจะต้องมีต้นไม้ให้เป็นที่ร่มรื่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงสันนิษฐานว่า อารามที่เป็นวัดในชั้นเดิมนั้น กรรมสิทธิ์ก็อยู่กับผู้ถวาย ดั่งเช่นพระเวฬุวัน ก็คงเป็นของหลวงอยู่ และก็คงจะต้องมีผู้รักษาซึ่งเป็นของหลวง แต่ว่าได้พระราชทานสำหรับให้สงฆ์อาศัยได้

ในชั้นต้นนั้น ยังไม่กล่าวถึงเรื่องเสนาสนะ คือกุฏิ วิหาร จึงมีเล่าไว้ในเสนาสนขันธกะ พระบาลีวินัยว่า

เช้าวันหนึ่ง เศรษฐีกรุงราชคฤห์ ได้ออกไปเห็นพระภิกษุเวลาเช้าตรู่กำลังออกกันมาจากป่าบ้าง โคนไม้บ้าง ภูเขาบ้าง ซอกเขาบ้าง ถ้ำบ้าง ป่าช้าบ้าง สุมทุมพุ่มไม้บ้าง ที่แจ้งบ้าง ลอมฟางบ้าง และภิกษุเหล่านั้นต่างก็พากันสำรวมเป็นอย่างดี เศรษฐีกรุงราชคฤห์มีความยินดีเลื่อมใส จึงได้กล่าวว่า พระภิกษุจะรับวิหารที่จะสร้างถวายหรือไม่ พระก็ตอบว่า จะกราบทูลพระพุทธเจ้าก่อน แล้วก็มากราบทูล พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้รับเสนาสนะ คือที่นอนที่นั่งที่ระบุไว้ในบาลี ๕ ชนิด ได้แก่ วิหาร อันหมายถึงที่อยู่ เช่น กุฏิหรือกระท่อม อัฑฒโยคะ อันหมายถึงที่อยู่ที่บังครึ่งหนึ่ง เปิดให้โปร่งไว้ครึ่งหนึ่ง ปราสาท อันหมายถึงเรือนชั้น หัมมิยะ อันหมายถึงที่อยู่ที่มีหลังคาตัด คูหา อันหมายถึงถ้ำ เป็นถ้ำอิฐที่สร้างขึ้น หรือว่าถ้ำภูเขา หรือถ้ำที่พอกขึ้นด้วยดินอย่างใดอย่างหนึ่ง พระภิกษุก็ไปแจ้งให้แก่เศรษฐีกรุงราชคฤห์ เศรษฐีจึงให้สร้างวิหารขึ้น ๖๐ หลังในวันเดียวกัน ซึ่งท่านสันนิษฐานว่าคงจะเป็นกระท่อมเล็ก ๆ พอเป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุรูปหนึ่ง ๆ จึงสร้างได้รวดเร็ว ถ้าไม่สร้างเป็นกระท่อมเล็ก ๆ อย่างนั้นก็อาจจะเสร็จไม่ทัน ครั้นแล้วก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า เชิญเสด็จพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ให้ไปเสวยและไปฉันที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น

           วันรุ่งขึ้นพระพุทธเจ้ากับภิกษุสงฆ์ ก็ไปที่บ้านของเศรษฐีนั้น เศรษฐีนั้นก็อังคาสคือถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ และกราบทูลถามว่า จะปฏิบัติอย่างไรในวิหาร ๖๐ หลังนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ให้ประดิษฐานไว้เพื่อสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ เศรษฐีก็กราบทูลถวายประดิษฐาน คือให้ตั้งไว้เพื่อพระสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาด้วยพระพุทธภาษิตที่ท่านร้อยกรองเอาไว้ ขึ้นต้นว่า สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ เป็นต้น ที่มีคำแปลโดยความว่า

วิหารนั้น ย่อมกำจัดเย็นร้อน กันสัตว์ร้าย สัตว์เลื้อยคลาน และยุง คุ้มฝน ลม แดด การถวายวิหารแด่สงฆ์เพื่อเป็นที่เร้น เพื่อความสำราญ เพื่อบำเพ็ญสมถวิปัสสนา พระพุทธะทั้งหลายสรรเสริญว่าเลิศ เหตุนั้น บัณฑิตแลเห็นประโยชน์ จึงให้ทำวิหารอันน่าสำราญ แล้วเชิญท่านผู้พหูสูตให้อยู่ พึงให้ข้าว ให้น้ำ ผ้านุ่งห่ม เสนาสนะคือที่นอนที่นั่งแก่ท่าน ด้วยจิตเลื่อมใสในท่านว่า เป็นผู้ตรง ท่านผู้พหูสูตเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์แก่เขา ที่เขารู้ธรรมแล้วจักเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้

          พระศาสดาได้ทรงอนุโมทนาวิหารทานของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ แล้วก็เสด็จกลับ

ธรรมเนียมอนุโมทนา ในสมัยนั้น อนุโมทนารูปเดียว คือเมื่อเลี้ยงพระเสร็จแล้ว ท่านผู้เป็นประธานก็เป็นผู้กล่าวอนุโมทนาเป็นแบบเทศน์สั้น ๆ ฟังกันรู้เรื่อง คือเป็นแบบสอน ๆ นี่แหละ บางทีพระอื่น ๆ นั่งอยู่ด้วย บางทีก็ส่งพระอื่น ๆ ให้กลับไปก่อน เหลือไว้แต่พระที่จะกล่าวคำอนุโมทนานั้นเพียงรูปเดียว และคำอนุโมทนานั้นก็เป็นคำสอนนั่นเอง แต่มักจะปรารภบุญกุศลที่เขาบำเพ็ญมาประกอบเข้าด้วย

 

 การถืออุปัชฌาย์

อีกเรื่องหนึ่ง ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม มีการอุปสมบทเป็นต้น ในชั้นแรกได้เล่าถึงการทรงสั่งให้พระที่บวชเข้ามาถืออุปัชฌายะก่อน ปรารภเหตุว่า พระที่บวชเข้ามานั้นนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เข้าไปบิณฑบาตในบ้านไม่เรียบร้อย มีความประพฤติต่าง ๆ ไม่เรียบร้อย ในตอนนั้นในพระบาลีก็ไม่ได้เล่าว่าบวชวิธีไหน แต่ว่าในครั้งนั้นยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ก็น่าจะยังใช้บวชกันด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือติสรณคมนุปสัมปทา พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภเหตุนั้น จึงได้ทรงสั่งให้พระทั้งหลายถืออุปัชฌายะ ที่แปลว่า ผู้เข้าไปเพ่ง โดยความก็คือผู้ดูแล วิธีที่ให้ถืออุปัชฌายะนั้น ในตอนแรกน่าจะเช่นเดียวกับการจัดให้มีพระพี่เลี้ยงที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้ แปลว่า พระที่บวชเข้ามาต้องมีภิกษุผู้บวชมานานเป็นผู้ดูแลอีกส่วนหนึ่ง เรียกผู้ดูแลนั้นว่า อุปัชฌายะ

ต่อมาก็มีเล่าไว้ว่า มีพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุมาก ชื่อว่า ราธะ ได้มาหาภิกษุทั้งหลายขอบวช พวกภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาที่จะบวชให้ ราธพราหมณ์นั้นก็เสียใจ ผ่ายผอมลงไป พระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสถาม ราธะนั้นก็กราบทูลเล่าให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา และตรัสถามว่า ใครระลึกถึงอธิการคืออุปการะของพราหมณ์นั้นได้บ้าง พระสารีบุตรก็กราบทูลว่า ตนระลึกได้ คือพราหมณ์นั้นได้เคยถวายภิกษาแก่ท่านทัพพีหนึ่งเมื่อท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้พระสารีบุตรบรรพชาอุปสมบทพราหมณ์

           พระสารีบุตรรับพระพุทธบัญชานั้น แล้วก็กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะให้อุปสมบทด้วยวิธีอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงให้เลิกวิธีอุปสมบทด้วยติสรณคมนุปสัมปทา ซึ่งอนุญาตให้พระภิกษุเฉพาะรูปให้อุปสมบทกุลบุตรด้วยวิธีให้ไตรสรณคมน์ และได้ทรงอนุญาตวิธีอุปสมบทขึ้นใหม่ ด้วยให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการอุปสมบทนั้น และต้องมีการเสนอญัตติในสงฆ์ ๑ จบ สวดประกาศกันอีก ๓ จบ รวมเป็น ๔ จบทั้งญัตติ วิธีอุปสมบทด้วยวิธีอย่างนี้จึงได้เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ในสภานิติบัญญัติบัดนี้ก็ใช้วิธีคล้ายกันนี้ ที่ใช้ญัตติหนหนึ่ง และปรึกษากันอีก ๓ วาระ ก็เป็น ๔ วาระทั้งญัตติ ตั้งแต่นั้นมาก็ใช้วิธีญัตติจตุตถกรรมอุปสมบทจนถึงบัดนี้ และพระสารีบุตรจึงได้อุปสมบทราธพราหมณ์ด้วยวิธีนั้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมา ก็ชื่อว่าได้ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการอุปสมบทและในสังฆกรรมทั้งปวง

 

ประเภทของสงฆ์

 คำว่า สงฆ์ นั้น แปลว่า หมู่ ในที่นี้หมายถึง การกสงฆ์ คือหมู่ของภิกษุผู้กระทำกรรม มีจำนวนอย่างต่ำตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป และได้มีกำหนดไว้โดยย่อ ดั่งนี้

 จตุวรรคสงฆ์ คือ สงฆ์ที่มีจำนวนภิกษุผู้ประชุมกัน ๔ รูป นี้เป็นการกสงฆ์ ที่สามารถทำสังฆกรรมทั่ว ๆ ไป เว้นแต่สังฆกรรมที่ระบุจำนวนมากกว่า

 ปัญจวรรคสงฆ์ สงฆ์มีจำนวน ๕ รูปประชุมกันนี้ สามารถทำสังฆกรรม ได้แก่ ปวารณาออกพรรษา อุปสมบทกุลบุตรในปัจฉิมชนบทหรือปัจจันตชนบท ถ้ามีจำนวนต่ำกว่านี้ คือ ๔ รูป ทำไม่ได้

 ทสวรรคสงฆ์ สงฆ์มีจำนวนภิกษุประชุมกัน ๑๐ รูปขึ้นไป สามารถทำสังฆกรรม คืออุปสมบทกุลบุตรในมัชฌิมชนบทหรือมัชฌิมประเทศ ถ้าต่ำกว่านี้ทำไม่ได้

 วีสติวรรคสงฆ์ สงฆ์มีจำนวนภิกษุ ๒๐ รูปขึ้นไป สามารถทำสังฆกรรม คือการให้อัพภานแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และอยู่ปริวาส มานัต ครบกำหนดแล้ว มาขอให้สงฆ์จำนวนนี้สวดชักเข้าหมู่ตามเดิม ถ้าจำนวนต่ำกว่านี้ทำไม่ได้

 เมื่อทรงอนุญาตให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการประกอบสังฆกรรมดั่งนี้ จึงต้องมีกำหนดลักษณะในการประชุมกันอีกหลายอย่าง เมื่อครบถ้วนบริบูรณ์ก็เรียกว่า สมบัติ ถ้าหากว่าขาดตกบกพร่องก็เรียกว่า วิบัติ ถ้าเป็นสมบัติก็ใช้ได้ ถ้าเป็นวิบัติก็ใช้ไม่ได้ กล่าวคือ

. เกี่ยวแก่วัตถุ ได้แก่ที่ตั้ง หมายถึงบุคคลหรือเรื่องที่เป็นที่ปรารภทำสังฆกรรมนั้น ๆ เช่นในพิธีอุปสมบท วัตถุก็หมายถึง อุปสัมปทาเปกขะ คือตัวผู้ที่จะอุปสมบท จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้ เมื่อถูกต้องจึงจะเป็นวัตถุสมบัติ ใช้ได้ ถ้าไม่ถูกต้องก็เป็นวัตถุวิบัติ ใช้ไม่ได้

. เขตชุมนุม อันเรียกว่า สีมา ก็จะต้องเป็นเขตชุมนุมที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตไว้ จึงจะเป็น สีมาสมบัติ ถ้าไม่ถูกต้องก็เป็นสีมาวิบัติ ใช้ไม่ได้

. เกี่ยวแก่บริษัท คือภิกษุที่มาประชุมกันเป็นสงฆ์นั้น ก็จะต้องเป็นภิกษุปกตัตตะ คือภิกษุปกติ ไม่ได้เป็นผู้ต้องปาราชิก หรือไม่ได้ถูกสงฆ์ยกวัตร และไม่ละหัตถบาสกัน หัตถบาส แปลว่า บ่วงมือ คือเข้ามานั่งใกล้กัน อยู่ในระยะที่เอื้อมมือของกันและกันถึง ถ้าจะนับก็ขนาดศอกคืบจากกันและกัน ไม่ห่างจากนั้น ประชุมกันอยู่ในหัตถบาสดั่งกล่าวนี้ ในสีมาอันเดียวกัน คือในเขตชุมนุมอันเดียวกัน และในขณะที่ประชุมกระทำสังฆกรรมอยู่นั้น ภิกษุที่นั่งในที่ประชุมก็ไม่ออกไปนอกหัตถบาส และภิกษุข้างนอกก็ไม่เข้ามาในสีมา ถ้าเข้ามาก็ต้องเข้ามาในหัตถบาสทีเดียว ถ้าถูกต้องดังนี้ เรียกว่า ปริสสมบัติ ถ้าผิดพลาดไปก็เป็นปริสวิบัติ ใช้ไม่ได้

. กรรมวาจาที่สวด นั้น ก็จะต้องถูกต้อง เช่นในพิธีอุปสมบทนั้น จะต้องตั้งญัตติหนหนึ่ง อนุสาวนาอีก ๓ หน และในญัตติในอนุสาวนา ก็จะต้องมีระบุชื่อผู้ที่จะขออุปสมบท ระบุชื่ออุปัชฌายะ ระบุรายละเอียดต่าง ๆ และต้องว่าให้ครบถ้วนถูกต้อง จึงจะเป็นกรรมวาจาสมบัติ ถ้าผิดพลาดไปก็เป็นกรรมวาจาวิบัติ ใช้ไม่ได้

สำหรับจำนวนภิกษุที่จะเป็นสงฆ์ในพิธีอุปสมบทนั้น ในมัชฌิมชนบท หรือมัชฌิมประเทศ จำนวนตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป ในปัจจันตชนบท ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป มัชฌิมประเทศนั้น โดยตรงก็หมายถึงส่วนกลางของชมพูทวีปในสมัยนั้น ดั่งที่มีแสดงไว้ในพุทธประวัติว่า ทิศนั้นจดเมืองนั้น ๆ เมื่อรวมกันเข้าทั้งหมด ท่านว่า มุทิงฺคสณฺฐาโน มีสัณฐานดั่งตะโพน เพราะเป็นถิ่นที่เจริญและมีพระมาก หาพระมาอุปสมบท ๑๐ รูปได้ง่าย จึงได้ตรัสไว้ดั่งนั้น แต่ในชนบทหรือในประเทศถิ่นนอกไปจากนั้น ก็เรียกว่าเป็นปัจจันตชนบททั้งหมด ใช้พระ ๕ รูปก็ได้ ถ้าถือตรง ๆ ตาม เช่น ประเทศไทยเรานี้ ใช้ ๕ รูปก็ได้ แต่ว่าถ้าถือตามวัตถุประสงค์ว่า ประเทศที่หาพระง่ายก็ ๑๐ รูป หาพระยากก็ ๕ รูป ก็ไม่ควรจะใช้พระเพียง ๕ รูปในประเทศไทย เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระมหาสมณนิยมไม่ให้ใช้ ให้ใช้แต่ ๑๐ รูปขึ้นไป ในอินเดียเดี๋ยวนี้ที่เป็นมัชฌิมประเทศในสมัยนั้น ครั้นมาถึงสมัยนี้จะหาพระถึง ๑๐ รูปก็คงลำบาก แต่ว่าถ้าจะไปบวชในอินเดีย ในเขตที่กำหนดว่าเป็นมัชฌิมชนบทหรือมัชฌิมประเทศ ก็ต้องถือตามวินัยบัญญัติไว้ น้อยกว่า ๑๐ ใช้ไม่ได้

น่าสังเกตสีมาวัดบวรนิเวศวิหารนี้ ที่มีประวัติการผูก ๓ คราว คราวแรกก็ผูกเท่ามุขหน้าของพระอุโบสถนี้ ครั้งที่ ๒ ขยายออกไปถึงแนวพลสิงห์โดยรอบ ครั้งที่ ๓ จึงขยายออกไปอีก ด้านหน้าพระอุโบสถมีต้นจันทน์ทั้ง ๒ เป็นนิมิต ด้านข้าง คือด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตกนั้นมีบ่อน้ำเป็นนิมิต เบื้องหลังก็มีเสาหินคู่หนึ่ง นั่นเป็นเขตนิมิต รวมกันเข้าก็ป่องกลาง มีสัณฐานดั่งตะโพนเหมือนกัน บางทีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะได้ทรงจับเอาเค้าว่า มุทิงฺคสณฺฐาโน ที่ว่ามัชฌิมประเทศมีสัณฐานเหมือนดั่งตะโพน สีมาวัดนี้ก็มีสัณฐานเหมือนดั่งตะโพน

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๖๒ – ๑๖๙