Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ทักษิณานุปทานครั้งแรก

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวันนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานในพระพุทธศาสนา ได้ทรงอาราธนาพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ไปในพระราชนิเวศน์ ทรงถวายภัตตาหาร แล้วทรงถวายไทยธรรมมีผ้าเป็นต้น แล้วทรงอุทิศกุศลที่ทรงบำเพ็ญนั้นแก่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงภาษิตอนุโมทนา มีตอนหนึ่งที่พระได้นำมาใช้สวดอนุโมทนาในการทำบุญเกี่ยวแก่ทักษิณานุปทาน มีว่า อทาสิ เม อกาสิ เม เป็นต้น ที่มีคำแปลว่า ญาติก็ดี มิตรก็ดี ระลึกถึงอุปการะอันท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า ท่านได้ให้แล้วแก่เรา ท่านได้ทำแล้วแก่เรา ท่านเป็นญาติ เป็นมิตร เป็นสขาคือสหายของเรา ดังนี้ พึงให้ทักษิณาเพื่อเปตชน ไม่พึงทำการร้องไห้เศร้าโศกรำพันถึง เพราะการทำอย่างนั้นไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เปตชน ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ส่วนทักษิณานี้ที่ท่านทั้งหลายบริจาค ทำให้ตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปตชนนั้นโดยฐานะสิ้นกาลนาน ท่านทั้งหลายได้แสดงญาติธรรมนี้ด้วย ได้ทำบูชาเปตชนให้ยิ่งด้วย ได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วย เป็นอันได้ทำบุญไม่น้อย นี้เป็นความย่อในเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารทรงบำเพ็ญทักษิณานุปทาน นับว่าเป็นครั้งแรกที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

คำว่า ทักษิณานุปทาน แยกออกเป็น ทักษิณะ กับ อนุปทาน อนุปทาน แปลว่า การเพิ่มให้ แปลรวมกันว่า การเพิ่มให้ทักษิณา คำว่า ทักษิณา นั้นแปลตามศัพท์ว่า เหตุที่ให้ถึงความเจริญ ใช้เป็นชื่อของการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

การทำบุญดั่งนี้ เรียกอีกคำหนึ่งว่า ปุพพเปตพลี บุพพ ก็แปลว่า บุรพ หรือ ก่อน เปตะ แปลว่า ผู้ที่ละไปแล้ว คือคนที่ตายไปแล้ว พลี ก็แปลว่าการสละให้ แปลรวมกันว่า การทำพลี คือการสละให้เพื่อผู้ที่ละไปแล้วในกาลก่อน อีกอย่างหนึ่ง ปุพพเปตะ แปลว่า บุรพบิดร ตามลัทธิพราหมณ์บรรพบุรุษที่จะจัดว่าเป็นปุพพเปตะหรือว่าบุรพบิดรนั้น นับขึ้นไปเพียง ๓ ชั้น คือ บิดา ปู่ และทวด นอกจากนี้ไม่นับเป็นบุรพบิดร

            การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายนี้ เป็นธรรมเนียมที่มีมาเก่าแก่ เพราะเชื่อกันโดยมากว่าตายเกิด เชื่อว่าวิญญาณจะกลับมาเข้าร่างเก่าอีกครั้งหนึ่งก็มี แต่ว่าโดยมากนั้นไม่เชื่ออย่างนี้ แต่เชื่อว่าไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ญาติที่อยู่ทางนี้ก็เป็นห่วง เกรงว่าจะไปเกิดในภพในชาติที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้ ใครมีความเชื่ออย่างใด ก็ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การทำบุญอย่างนี้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สทฺธ ในภาษาบาลี หรือ ศฺรทฺธ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งแปลว่าศรัทธา ดั่งที่เรามาใช้ว่า ศราทธพรต ก็คือ วัตรหรือการปฏิบัติด้วยศรัทธา ก็คือการปฏิบัติด้วยมีความเชื่อว่า ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ผลจะไปถึงแก่ผู้ตาย ในลัทธิของพราหมณ์นั้น เขามีวิธี เซ่น ด้วยกรวดน้ำ และด้วยให้ทาน

การเซ่นนั้น เซ่นด้วยก้อนข้าว แก่บุรพบิดร ๓ ชั้น ดั่งที่ได้กล่าวแล้ว เรียกว่า สปิณฑะ แปลว่า ผู้ร่วมก้อนข้าว นอกจากบุรพบิดร ๓ ชั้นนั้น ไม่เซ่นด้วยก้อนข้าว แต่ว่าใช้กรวดน้ำให้

            การกรวดน้ำของเขานั้น ก็ลงไปในแม่น้ำเอามือกอบน้ำ และให้น้ำไหลออกจากมือพร้อมทั้งอุทิศเพื่อให้ญาติผู้ตายไปแล้ว จะได้มีน้ำบริโภค จะได้ไม่กระหายน้ำ การกรวดน้ำนี้ก็ใช้แก่บุรพชน ๓ ชั้นนั้นด้วย

อีกอย่างหนึ่ง ให้ทาน คือเชิญพราหมณ์มาเลี้ยงแล้วก็ให้เสื้อผ้า เพื่อว่าญาติผู้ตายไปแล้วจะได้มีอาหารบริโภคและจะได้มีผ้านุ่งผ้าห่มใช้สอย

           การเซ่นด้วยข้าวบิณฑ์ที่เรียกว่า สปิณฑะ นี้ ก็ติดมาในธรรมเนียมไทย เช่นในวันตรุษวันสารท ก็ใช้ใบตองทำกรวยใส่ข้าวลงไป แล้วก็วางลงบนพานเป็นต้น มีกับข้าวหรือสิ่งที่เป็นอาหารตั้งรอบ ๆ

การกรวดน้ำนั้น ก็น่าจะติดมาในธรรมเนียมไทยที่ใช้กรวดน้ำด้วย การเทน้ำเป็นการแสดงกิริยาว่าให้อย่างหนึ่งทั่ว ๆ ไป ดั่งที่เคยอธิบายมาแล้ว แต่ว่าที่เรามาใช้กรวดน้ำนั้น อาจจะติดมาจากธรรมเนียมของพราหมณ์ดั่งกล่าวก็ได้ แต่ว่าไม่ได้มุ่งว่าจะให้น้ำที่เทลงไปนั้น ไปเป็นน้ำสำหรับญาติผู้ตายไปแล้วจะได้บริโภค เราใช้ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลไปให้ในขณะนั้นต่างหาก เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นการแสดงกิริยาว่าให้ การกรวดน้ำของพราหมณ์นั้น เรียกว่า สมาโนทก เป็นการให้แก่ญาติ แปลว่า เป็นผู้ร่วมน้ำกัน

คราวนี้มาถึงพระพุทธศาสนา พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชปรารภอย่างไร จึงได้ทรงบำเพ็ญทักษิณานุปทานในพระพุทธศาสนา พระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงเลี้ยงพระในวันที่ถวายพระเวฬุวันนั้น พวกญาติของพระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติที่ทำบาปทำอกุศลไว้ไปเกิดเป็นเปตะ ที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า เปรต พากันมาอออยู่มากมาย คิดว่าพระเจ้าพิมพิสารจะทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง แต่ก็ปรากฏว่าไม่มีใครระลึกถึง เป็นอันว่าญาติเหล่านั้นไม่ได้รับส่วนกุศล ตกเวลากลางคืนก็มาทำเสียงเปรต พระเจ้าพิมพิสารทรงได้สดับเสียงที่น่ากลัวนั้น เมื่อทรงหวนระลึก จึงได้ทรงมีพระราชปรารภจะทำบุญอุทิศให้ แล้วก็ทรงบำเพ็ญทักษิณานุปทานดั่งกล่าวนั้น ทรงบำเพ็ญในรุ่งขึ้นจากวันที่ถวายพระเวฬุวัน ท่านพระอรรถกถาจารย์ท่านเล่าไว้ดั่งนี้

          พิจารณาดูตามเรื่อง พราหมณ์เขามีวิธีบำเพ็ญทักษิณานุปทาน บำเพ็ญปุพพเปตพลี ทำศราทธพรตดั่งที่กล่าวมาแล้ว การบำเพ็ญในพระพุทธศาสนาก็ควรจะมีบ้าง แต่ว่าการบำเพ็ญในพระพุทธศาสนานั้น ก็จะต้องแผ่ใจไป คือไม่มีการเซ่น และไม่มีการอุทิศน้ำนั้นให้ มีแต่การบำเพ็ญทานในพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข และก็อุทิศส่วนกุศลที่บำเพ็ญนั้นไปให้ ลัทธิพราหมณ์เขาจำกัดให้แก่บุรพบิดรคือญาติชั้นผู้ใหญ่ นับขึ้นไป ๓ ชั้นดั่งกล่าว และญาติที่นอกจากนั้น แต่ในพระพุทธศาสนาอุทิศให้แก่ใคร ๆ ก็ได้ทั้งนั้น ดั่งในบทอนุโมทนาที่แปลมาแล้ว เมื่อระลึกถึงอุปการะของบุคคลที่ล่วงไปได้ทำไว้ จะเป็นญาติหรือเป็นเพื่อนก็ตาม ก็ทำบุญอุทิศไปให้ได้ ไม่จำกัดอยู่ในวงแคบและไม่ปันชั้นว่าจะต้องเป็นบุรพบิดรเท่านั้นจึงจะกินข้าวได้ ถ้าญาตินอกนั้นกินได้แต่น้ำเท่านั้น คือว่าบุรพบิดร ๓ ชั้นนั้นเป็นสปิณฑะ กินข้าวได้ นอกนั้นก็วักน้ำขึ้นให้กินแต่น้ำ แต่ในพระพุทธศาสนาอุทิศให้ได้ทั่ว ๆ ไปจนถึงแก่สรรพสัตว์ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสอนุโมทนามีบทที่เป็นกลเม็ดอันเกี่ยวแก่ทาน พึงพิจารณาก็คือว่า สำเร็จได้โดยฐานะ ท่านว่าอย่างนั้น ก็แปลว่าถ้ามีฐานะที่จะถึงที่จะสำเร็จก็สำเร็จได้ ถ้าไม่ใช่ฐานะก็ไม่สำเร็จ และได้ทรงอธิบายน้อมเข้ามาในปัจจุบันผล ที่ผู้บำเพ็ญนั้นเองจะพึงได้รับ และผลที่ผู้รับทานจะพึงได้รับ ดั่งที่ว่า ผู้บำเพ็ญนั้นเองได้แสดงญาติธรรมให้ปรากฏ เช่นแสดงให้ปรากฏว่าเป็นผู้มีกตัญญูกตเวที และได้ปฏิบัติพอสมควร ได้ทำบูชาเปตชน คือได้แสดงความเคารพนับถือต่อผู้ที่ล่วงไปแล้ว แล้วก็ได้เพิ่มให้กำลังแก่ภิกษุทั้งหลาย ได้บำเพ็ญบุญไม่น้อยก็เพราะว่าได้ทำทาน ทรงแสดงให้ผลปรากฏแก่คนเป็น ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ที่เห็นกันอยู่ ส่วนที่จะถึงแก่คนตายนั้นก็จะสำเร็จโดยฐานะ

          คราวนี้คำว่า ฐานะ คือที่จะพึงสำเร็จได้ กับ อฐานะ คือที่สำเร็จไม่ได้นั้น มีพระสูตรหนึ่งแสดงไว้ว่ามีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่าชาณุสโสณิ ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามว่า พวกพราหมณ์พากันให้ทาน ทำศราทธหรือว่าศราทธพรต ด้วยตั้งเจตนาอุทิศว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้ว ขอญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้ว จงได้บริโภคทานนี้ ทานที่ทำนั้นจะสำเร็จหรือไม่ และญาติสาโลหิต ผู้ละไปแล้วจะได้บริโภคหรือไม่

ในพระสูตรนั้นได้แสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า สำเร็จในฐานะไม่สำเร็จในอฐานะ ไม่สำเร็จในอฐานะนั้นก็คือ คนที่ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไปเกิดเป็นเนรยิกะคือสัตว์นรกก็ดี ไปเกิดเป็นกำเนิดดิรัจฉานก็ดี หรือว่าคนที่เว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไปเกิดร่วมหมู่กับมนุษย์ก็ดี กับเทพก็ดี ก็บริโภคอาหารที่เป็นของจำพวกที่ไปเกิดนั้น ทานที่ทำอุทิศไปให้ไม่สำเร็จ แต่ว่าคนที่ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไปเกิดในปิตติวิสัยคือเกิดในกำเนิดเปรต นี่หมายถึงเป็นภพของผู้ทำบาปไปเกิดจำพวกหนึ่ง ที่มีร่างกายพิกลพิการต่าง ๆ จำพวกปิตติวิสัยนี้ก็เป็นอยู่ด้วยอาหารสำหรับจำพวกนั้น และเป็นอยู่ด้วยอาหารที่ญาติมิตรทำบุญอุทิศไปให้ จำพวกนี้เท่านั้นจึงเป็นฐานะที่จะได้รับผล

ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็ถามว่า ถ้าญาติสาโลหิตที่อุทิศให้นั้นไม่ไปเกิดในปิตติวิสัย ใครจะได้รับผล

ในพระสูตรก็กล่าวว่า ได้ตรัสตอบว่า ญาติสาโลหิตอื่น ๆ จากนั้นก็จะได้รับผล เพราะว่าที่จะว่างจากญาติสาโลหิตของใครเลยนั้นเป็นอันไม่มี

ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า เมื่อไปเกิดในอฐานะคือในกำเนิดที่จะไม่ได้รับผล จะมีข้อปริกัปอันใดบ้างที่เขาจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

            ตรัสตอบว่า เขาก็จะได้รับผลของทานที่เขาทำไว้เอง เช่นว่า ถ้าเขาได้เคยบำเพ็ญทานไว้ เมื่อไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เช่น เป็นช้าง เป็นม้า ก็ไม่ใคร่จะอดอยาก มีน้ำ มีข้าว มีอาหาร อะไรบริบูรณ์ เมื่อไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ ก็จะไม่ขาดแคลน มีสิ่งที่ต้องการบริบูรณ์ ก็เป็นผลของทานที่เขาทำไว้นั้นเอง ซึ่งสรุปลงว่า ทายก คือผู้ให้ ผู้บริจาคนั้น จะไม่ไร้ผล

            เมื่อสรุปลงแล้ว มติทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ว่า การบำเพ็ญทักษิณาที่จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ละไปแล้วนั้น

๑.   ทายก ทายิกา คือผู้ให้ ผู้บริจาค จะต้องตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้ จะใช้น้ำกรวดหรือไม่ใช้น้ำกรวดก็ตาม ไม่สำคัญ สำคัญที่ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้

. ผู้ที่ละไปแล้วนั้น ไปเกิดในปิตติวิสัยดั่งกล่าว และได้ทราบ ได้อนุโมทนา คือบันเทิงยินดีในการบำเพ็ญกุศลของญาติในโลกนี้ และ

            ๓. จะต้องถึงพร้อมด้วยทักขิเณยบุคคล คือบุคคลผู้ควรทักษิณา ถ้าในศาสนาพราหมณ์ ก็พวกพราหมณ์เป็นทักขิเณยยะ คือผู้ควรทักษิณาของเขา ถ้าในพระพุทธศาสนาก็หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ แต่ว่าการบำเพ็ญทาน แม้ในบุคคลหรือในส่วนอื่น ก็ถือว่าเป็นบุญ เมื่อเป็นบุญแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้ก็สำเร็จประโยชน์เหมือนกัน

เดี๋ยวนี้ ในทางราชการมีใช้อีกคำหนึ่งว่า ทักษิณานุสรณ์ ตัดบทเป็น ทักษิณ แล้วก็อนุสรณ์ อนุสรณ์ก็แปลว่า ตามระลึกถึง แปลรวมกันเข้าความก็ไม่สนิทนัก ตามระลึกถึงทักษิณา แต่ว่ามาบัญญัติใช้ในความหมาย ถ้าทำบุญ มีสวดมนต์ มีเลี้ยงพระด้วย เรียกว่า ทักษิณานุปทาน ถ้ามีแต่สวดมนต์ มีบังสุกุล มีสดับปกรณ์ แต่ไม่เลี้ยงพระ ก็เรียกว่า ทักษิณานุสรณ์ (พ.. ๒๕๐๔ ต่อมาดูจะเลิกใช้.)

            การบำเพ็ญทักษิณานุปทานนั้น ของพราหมณ์ไม่ค่อยยอมจะให้ขาดผ้าขาดอาหาร คือจะต้องมีการให้ผ้าให้อาหารแก่พวกพราหมณ์ ในฝ่ายพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน จะทำให้บริบูรณ์ จะต้องมีทั้งผ้าทั้งอาหาร และผ้านั้นในวิธีบำเพ็ญ ก็ไม่ใช่ถวายด้วยมือ แต่ใช้ทอดให้พระบังสุกุลหรือสดับปกรณ์ ถ้าผู้ตายเป็นบุคคลสามัญก็เรียก บังสุกุล ถ้าเป็นเจ้านายชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปก็เรียก สดัปกรณ์

 บังสุกุล ก็เป็นชื่อของผ้าเก่า ที่กล่าวถึงในนิสสัยข้อที่ ๑ ว่านุ่งห่มผ้าบังสุกุล

 สดับปกรณ์ แปลว่า เจ็ดคัมภีร์ เป็นชื่อของอภิธรรมที่มีเจ็ดคัมภีร์ เมื่อเวลาจะสวดศพ นิยมเอาบทพระบาลีในพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาสวด เมื่อถึงตอนชักผ้า ก็เอามาเป็นชื่อผ้าเป็นสดับปกรณ์

              มีด้ายสายสิญจน์หรือผ้าภูษาโยงจากศพหรือจากอัฐิมาข้างหน้าพระ และเจ้าภาพก็นำผ้าไปทอดวางไว้บนผ้าภูษาโยงหรือบนด้ายสายสิญจน์นั้น แล้วพระก็จับผ้า ใช้มือขวาจับผ้าแล้วก็ว่าพระพุทธภาษิตบทบังสุกุล อนิจฺจา วตสงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปฺปาทวยธมฺมิโน มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เตสํ วูปสโม สุโข ความสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข ในฝ่ายพระธรรมยุตว่าเพิ่มเข้าอีกคาถาหนึ่งว่า สพฺเพ สตฺตา มรนฺติ จ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงตายอยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี มรึสุ จ มริสฺสเร ตายไปแล้วก็ดี จักตายข้างหน้าก็ดี ตเถวาหํ มริสฺสามิ ตัวเราก็จักตายอย่างนั้นเหมือนกัน นตฺถิ เม เอตฺถ สํสโย ความสงสัยในเรื่องตายนี้ ไม่มีแก่เรา

          คราวนี้ถ้าเอาผ้าไปทอดไว้ที่หีบศพบนเมรุจะเผาแล้ว พระไปชักก็ว่าบทนี้แต่เรียกว่า มหาบังสุกุล เป็นเพราะใกล้ศพเข้าไปมากสักหน่อย ทอดผ้าภูษาโยง หรือสายสิญจน์นั้นใกล้ศพหน่อย ในพระพุทธประวัติมีเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรมานอุรุเวลกัสสปะที่ตำบลอุรุเวลา ได้ทรงชักมหาบังสุกุล แต่ว่าไม่ได้ทรงทำเป็นพิธีอย่างนี้ คือไปทรงชักผ้าที่เขาห่อศพทิ้งไว้มาทรงซักย้อมทำเป็นจีวรสำหรับทรงครอง ในธรรมเนียมไทยเรา บางแห่งก็มีเหมือนกัน เอาศพไปไว้ในป่า หรือในสุมทุมพุ่มไม้ แล้วเอาผ้าไปไว้ในมือศพ ทำเป็นกระดานกลไว้ แล้วนิมนต์พระไปชัก พอพระเข้าไป ก็ไปเหยียบกระดานกลนั้น ศพก็ลุกขึ้นนั่งทำท่าเหมือนจะถวายผ้า แล้วพระก็ชักเอามา แต่ว่าบางทีเขาไม่บอกให้พระรู้ ถ้าขวัญไม่ดีก็แย่เหมือนกัน วิธีชักผ้าบังสุกุลนี้ คงจะมุ่งสำหรับพระที่ถือรับผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือไม่รับผ้าที่ทายกถวาย หรืออีกอย่างหนึ่ง ก็รักษาธรรมเนียมเก่าที่แปลว่าพระไปเปลื้องเอามาจากศพเน่า ๆ ทีเดียว แล้วก็นำมาซักย้อมทำเป็นผ้านุ่งห่มดั่งพระพุทธเจ้าได้ทรงทำมาแล้ว ดั่งเล่าไว้ในพระพุทธประวัตินั้น

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๕๓ – ๑๖๒