Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๕๐

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

สมณะ

จะอธิบายความในพระโอวาทปาติโมกข์สืบไป พระพุทธวาทะข้อที่ ๓ น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต แปลว่า บรรพชิตคือนักบวช ผู้ยังทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ อีกอย่างหนึ่ง แปลปฏิเสธทั้ง ๒ คือ แปลว่า บุคคลผู้ทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ ของพม่าเขาใส่ ปฏิเสธในบาทที่ ๒ ด้วยเลยว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี น สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต แต่ในฉบับของไทยเรา ปฏิเสธที่บาทหลังนี้ไม่มี โดยความก็เท่ากัน

ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่น ด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ หรือด้วยอำนาจของตัณหา ไม่ควรจะเรียกว่าเป็น บรรพชิต ที่แปลตามศัพท์ว่าผู้ออก ซึ่งเป็นผู้งดเว้นจากบาปต่าง ๆ ไม่ควรจะเรียกชื่อว่า สมณะ ที่แปลว่าผู้สงบ บุคคลที่ควรจะชื่อว่าเป็นบรรพชิต ควรจะเป็นผู้ออกจากกิเลส ออกจากบาปด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากกิเลส ออกจากบาปด้วยตนเอง บุคคลที่ชื่อว่าสมณะก็เช่นเดียวกัน ควรจะเป็นผู้สงบกิเลส สงบบาปด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อสงบดั่งกล่าว ถ้ากิเลสยังไม่สงบ ก็จะต้องมีการทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ถ้ากิเลสนั้นรุนแรง บุคคลลุอำนาจของกิเลสก็จะต้องทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายด้วยวาจา ถ้ากิเลสนั้นไม่รุนแรง ถึงอย่างนั้น มีอยู่เพียงในจิตใจ ก็จะทำร้ายผู้อื่นเบียดเบียนผู้อื่นด้วยใจ ก็ยังชื่อว่าเบียดเบียนอยู่นั่นเอง ฉะนั้น จะเป็นบรรพชิตได้เต็มที่ จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติให้มีขันติดั่งกล่าวในพระพุทธวาทะข้อที่ ๑ และได้มีนิพพานดั่งกล่าวในพระพุทธวาทะข้อที่ ๒ ฉะนั้น เมื่อกล่าวสรุปประมวลเข้ามาแล้ว พุทธวาทะข้อที่ ๑ และ ๒ แสดงธรรม พระพุทธวาทะข้อที่ ๓ นี้ แสดงบุคคลที่มีธรรมนั้น แต่แสดงในรูปปฏิเสธว่า ถ้าบุคคลปราศจากธรรมดั่งกล่าวนั้น ก็ยังจะต้องทำร้ายผู้อื่น ยังจะต้องเบียดเบียนผู้อื่นแม้ด้วยใจ ถ้าเป็นดั่งนั้นก็ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ หรือจะพูดอย่างธรรมดาว่า นักบวชที่ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ ยังไม่ชื่อว่าเป็นสมณะคือผู้สงบในทางพระพุทธศาสนา ได้แสดงสมณะไว้ ๔ ชั้น มุ่งถึงการบรรลุธรรมเป็นเกณฑ์ ไม่มุ่งถึงเพศว่าจะเป็นชายเป็นหญิง เป็นบรรพชิตหรือเป็นคฤหัสถ์ สมณะที่ ๑ ได้แก่พระโสดาบัน สมณะที่ ๒ ได้แก่พระสกทาคามี สมณะที่ ๓ ได้แก่พระอนาคามี สมณะที่ ๔ ได้แก่ พระอรหันต์ สมณะทั้ง ๔ ชั้นนี้ที่เรียกว่า สังโฆ คือพระสงฆ์ ซึ่งเป็นรัตนะที่ ๓ และเป็นสรณะที่ ๓

          เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธวาทะดั่งนี้แล้ว จึงได้ทรงย่อพระพุทธศาสนาในพระคาถาเพียงบทหนึ่งต่อไปว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้เป็นพุทธศาสนา คือคำสอนของผู้รู้ทั้งหลาย

          ด้วยพระคาถาบทนี้ ได้ทรงประมวลข้อปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาไว้เป็น ๓ ข้อ โดยย่นย่อคือ ๑. ไม่ทำบาปทุกอย่าง ๒. ทำกุศลให้ถึงพร้อม และ ๓. ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

        ในชั้นนี้ยังไม่ได้ทรงชี้ว่า อะไรเป็นบาป อะไรเป็นอกุศล เพราะได้ทรงสอนแก่พระสาวก ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้น ท่านก็ย่อมทราบโดยเหตุผลทั่ว ๆ ไป การทำจิตของตนให้ผ่องใสก็ไม่ได้ทรงแสดงวิธีไว้เช่นเดียวกัน แต่ท่านก็ย่อมทราบ เพราะว่าท่านเหล่านั้นได้เป็นผู้ปฏิบัติมาแล้วครบทุกประการ ฉะนั้น เมื่อนำมากล่าวจี้จุดลงไปเป็นการประมวลความ ท่านก็ย่อมทราบได้ทันที ในตอนหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้โดยชัดเจนว่า อะไรเป็นบาป อะไรเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น บุคคลในชั้นหลังจึงได้ทราบและปฏิบัติได้โดยไม่ยาก ดังเช่นได้ทรงชี้ว่า เวร ๕ หรือภัย ๕ ประการ เป็นบาปเป็นอกุศล ได้แก่ การฆ่าเขา การลักของเขา การประพฤติผิดในทางกาม การพูดเท็จ การดื่มน้ำเมา หรือได้ทรงแสดงกรรมบถ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลไว้ ๑๐ ข้อ ที่จำแนกออกเป็นกายกรรมฝ่ายอกุศล วจีกรรมฝ่ายอกุศล มโนกรรมฝ่ายอกุศล และแสดงมูลของอกุศลที่เรียกว่า อกุศลมูล แสดงผลของอกุศลที่เป็นความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ บาปอกุศลทั้งหมดเหล่านั้น พระพุทธศาสนา แสดงไว้ว่าไม่ให้ทำ และแสดงไว้ว่าบุคคลสามารถที่จะไม่ทำได้

 

          ในด้านตรงกันข้ามก็คือกุศล ทางพระพุทธศาสนาก็แสดงไว้ชัดเจนเหมือนกัน ตัวกุศลก็ได้ทรงแสดงไว้ใน กุศลกรรมบถ ๑๐ ที่ตรงข้ามกับ อกุศลกรรมบถ ๑๐ มูลของกุศล เรียกว่า กุศลมูล ก็ทรงแสดงไว้ ผลของกุศลคือความสุขต่าง ๆ ก็ทรงแสดงไว้ นอกจากนี้ คุณงามความดีทุกอย่างดั่งที่แสดงไว้ในนวโกวาท ตั้งแต่ทุกะ หมวด ๒ เป็นต้นว่า พรหมวิหารธรรม ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่ก็รวมเรียกว่าเป็นกุศลทั้งนั้น กุศลนี้พระพุทธศาสนาแสดงให้ปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้นโดยบริบูรณ์ และแสดงว่าบุคคลสามารถที่จะปฏิบัติได้

         การที่จะไม่ทำบาปอกุศล และการที่จะทำกุศล ก็เกี่ยวด้วยจิตใจเป็นสำคัญ ฉะนั้น ในข้อที่ ๓ จึงได้แสดงให้ชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้ว จึงควรทำความเข้าใจเรื่องจิตในพระพุทธศาสนาโดยย่อ

คำว่า จิต นั้น ได้เคยแสดงมาครั้งหนึ่งแล้วว่า หมายถึงธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่มีรูปร่าง สี สัณฐาน ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม อาศัยอยู่ในคูหาคือร่างกายนี้เป็นผู้ประสาทการทุกอย่าง เป็นต้นว่าทำให้สำเร็จความคิดนึกต่าง ๆ ทำให้เกิดเจตนาซึ่งเป็นตัวกรรมต่าง ๆ และเป็นตัวผู้เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว เป็นตัวผู้ข้องเกี่ยวหรือว่าหลุดพ้น มีลักษณะอย่างหนึ่งคือเป็นตัวธาตุรู้ ได้แก่เป็นเบื้องต้นหรือมูลฐานของความรู้ทุก ๆ อย่าง ได้มีพระบาลีแสดงธรรมชาติจิตไว้ว่า จิตเป็นธรรมชาติประภัสสร ที่แปลว่า ผุดผ่อง นี้เป็นธรรมชาติแท้ของจิต

บางคนแปลว่า จิตเดิมเป็นธรรมชาติประภัสสร ใส่คำว่าเดิมเข้ามาด้วย ก็ทำให้หมายความว่า จิตต่อมาไม่ประภัสสร แต่ในพระบาลีท่านไม่มีคำว่า เดิมหมายความเป็นตัวธรรมชาติของจิตทีเดียว เหมือนอย่างทองคำที่เป็นธรรมชาติผุดผ่อง หรือว่าเพชรที่มีธรรมชาติผ่องใสหรือผุดผ่อง เมื่อเป็นทองคำหรือเป็นเพชรก็ต้องมีลักษณะอย่างนั้นเป็นประจำ จิตก็ต้องมีลักษณะประภัสสร คือผุดผ่องเป็นประจำ แต่ว่าจิตนี้ถูกอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่เป็นอาคันตุกะคือที่จรเข้ามา ทำให้เศร้าหมองไป

 

กิเลส ๓ ชั้น

ในที่นี้พึงสังเกตคำว่า อุปกิเลส กับคำว่า อาคันตุกะ ในที่ทั่วไปใช้คำว่า กิเลส แปลว่า เครื่องเศร้าหมอง แต่ในที่นี้มีคำว่า อุป เป็นบทหน้า อุป แปลว่า เข้าหรือเข้าไป บ่งความว่า เครื่องเศร้าหมองนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำจิต เป็นธรรมชาติของจิต แต่ว่าเป็นสิ่งที่เข้ามาหรือเข้าไป เป็นอาคันตุกะคือเป็นผู้จรมา หรือเป็นแขกผู้พักอาศัยอยู่กับจิต ต้องการที่จะแสดงนัยอันนี้ให้ชัดว่า กิเลสนั้นไม่ใช่เป็นธรรมชาติที่ประจำจิต แต่เป็นของที่เป็นอาคันตุกะ เป็นแขกจรเข้ามา จึงได้ใช้คำว่า อุป ประกอบเข้าด้วย อันนี้เป็นเรื่องในพระพุทธศาสนาที่แสดงว่าจิตกับกิเลสเป็นคนละอัน กิเลสไม่ใช่เป็นธรรมชาติของจิต เป็นอาคันตุกะของจิตเท่านั้น ฉะนั้น ในบทต่อไปจึงได้แสดงไว้ แต่ว่าจิตนั้นก็วิมุตติคือหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลายได้เหมือนกัน และเมื่อจิตวิมุตติคือหลุดพ้นจากอุปกิเลสทั้งหลายได้แล้ว ธรรมชาติที่ประภัสสรคือความผุดผ่องของจิต ก็ปรากฏเต็มที่ เหมือนอย่างทองคำที่ถูกผสมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เมื่อนำมาหล่อหลอมไล่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ออกไป ก็เหลือแต่ทองคำที่มีเนื้อบริสุทธิ์ หรือว่าเหมือนอย่างเพชรที่ถูกห่อหุ้มเปรอะเปื้อน ความผุดผ่องของเพชรไม่ปรากฏ เมื่อมาชำระล้างสิ่งซึ่งห่อหุ้มเปรอะเปื้อนหมดแล้ว หรือเจียระไนขัดสีดีแล้ว รัศมีของเพชรก็ปรากฏ จิตก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

อุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตนั้น เข้ามาได้ทางไหน อย่างไร ในพระพุทธศาสนาตอนหลังได้มีแสดงไว้ในพระสูตรหลายพระสูตร โดยความว่าอุปกิเลสนั้นเข้ามาทำจิตให้เศร้าหมองทางอารมณ์ อารมณ์ก็ได้แก่เรื่องที่จิตคิดดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นอยู่ ก็ได้แก่ รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่ผ่านเข้ามาทางจักขุทวาร ประตูคือจักษุ สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่ผ่านเข้ามาทางโสตทวาร ประตูคือหู คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่ผ่านเข้ามาทางฆานทวาร ประตูคือจมูก รสารมณ์ อารมณ์คือรสที่ผ่านเข้ามาทางชิวหาทวาร ประตูคือลิ้น โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง ที่ผ่านเข้ามาทางกายทวาร ประตูคือกาย ธัมมารมณ์ อารมณ์คือเรื่องรูป เสียง กลิ่น เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านเข้ามาทางมโนทวาร ประตูคือใจ อารมณ์เหล่านี้เป็นที่ตั้งแห่งราคะหรือโลภะก็มี เป็นที่ตั้งแห่งโทสะก็มี เป็นที่ตั้งแห่งโมหะก็มี เมื่อเป็นที่ตั้งแห่งราคะหรือโลภะผ่านเข้ามา ราคะหรือโลภะก็เกิดขึ้นในจิต เมื่อเป็นที่ตั้งแห่งโทสะผ่านเข้ามา โทสะก็เกิดขึ้นในจิต เมื่อเป็นที่ตั้งแห่งโมหะผ่านเข้ามา โมหะก็เกิดขึ้นในจิต ราคะหรือโลภะ โทสะและโมหะที่เกิดขึ้นในจิตนั้น ปรากฏในความรู้สึกของทุก ๆ คน คือเมื่อเกิดราคะหรือโลภะขึ้น ตนเองก็รู้สึกว่าเรามีราคะหรือโลภะ โทสะและโมหะก็เช่นเดียวกัน กิเลสชั้นนี้เรียกว่า ปริยุฏฐานะ คือกิเลสที่เป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต หมายถึงว่าเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มกลัดอยู่ในจิต เป็นที่รู้สึก

         คราวนี้กิเลสชั้นที่กลุ้มกลัดอยู่ในจิตนี้ ถ้าถูกยั่วให้แรงขึ้นก็กำเริบมากขึ้นจนถึงเป็นตัวอกุศลมูลคือเป็นตัวก่อกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ถ้าหากว่ากำเริบขึ้นจนถึงเป็นตัวอกุศลมูลคือเป็นตัวก่อกรรม ก็เป็นกิเลสอย่างแรง มีชื่อเรียกว่า วีติกกมกิเลส กิเลสที่ทำให้ล่วงละเมิด คือไม่ใช่ว่าเก็บอยู่ในใจเท่านั้น ล่วงละเมิดไปแล้ว คือว่าก่อกรรมไปแล้ว ออกไปนอกขอบเขตของความดีความชอบแล้ว คราวนี้ถ้าบุคคลระงับไว้ได้ ไม่ให้เป็นวีติกกมกิเลส หรือมิให้เป็นตัวอกุศลมูลก่อกรรม ก็คงกลุ้มกลัดอยู่ในจิต เป็นตัวนิวรณ์คือเป็นตัวกั้นไม่ให้บรรลุคุณงามความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่กิเลสเหล่านี้ก็มีเวลาสงบ คนเราถึงจะมีราคะหรือโลภะสักเท่าไหร่ก็มีเวลาสงบ โทสะก็มีเวลาสงบ โมหะก็มีเวลาสงบ สงบไปโดยธรรมดาที่ว่าทุกสิ่งมีเกิดมีดับ หรือว่าสงบด้วยการปฏิบัติ แม้ว่าจะสงบไปแล้วแต่ก็ไม่หมด ตะกอนของกิเลสนั้นก็ยังตกไปนอนจมเป็นส่วนลึกของจิต กล่าวคือ เมื่อราคะสงบไปแล้ว ตะกอนของราคะก็ยังไปนอนจมอยู่ในจิต เรียกว่า ราคานุสัย อนุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต) คือราคะ โทสะเมื่อสงบลงไปแล้ว ตะกอนของโทสะก็ยังไปนอนจมอยู่ในจิตเรียกว่า ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบคือความไม่ชอบ เมื่อความหลงสงบไปแล้ว ตะกอนของความหลงก็ลงไปนอนจมอยู่ในจิต เรียกว่า อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา ความไม่รู้จริง

ฉะนั้น คนเราที่ประสบอารมณ์ก็เกิดราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะกันอยู่เสมอ ๆ และก็สงบกันอยู่เสมอ ๆ แต่ว่าตะกอนของกิเลสเหล่านี้ก็ยังไปนอนจมเป็นอนุสัยอยู่ในจิต พอกพูนอยู่เสมอ กิเลสชั้นอนุสัยนี้ไม่ปรากฏ ที่เปรียบเหมือนตะกอนนอนก้นตุ่มน้ำ ในตุ่มที่มีตะกอนนอนก้นตุ่มอยู่นั้น ดูก็ใสในเบื้องบน แต่ก็ใสในเวลาที่ไม่ถูกกวน ครั้นถูกกวนจนตะกอนฟุ้งขึ้นมาน้ำก็จะขุ่น จิตก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่ถูกอารมณ์มายั่ว จิตก็ดูบริสุทธิ์ แต่ครั้นถูกอารมณ์มายั่ว กิเลสที่เป็นตะกอนนี้ก็ฟุ้งขึ้นมา จิตก็ขุ่นมัว

จะอธิบายหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาต่อไป ในหลักข้อ ๓ ให้ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว จิตผ่องแผ้วนี้เป็นฝ่ายหนึ่ง จึงต้องอธิบายถึงจิตเศร้าหมองที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เมื่ออธิบายถึงจิตเศร้าหมอง ต้องว่าถึงอุปกิเลส และก็อธิบายแล้วว่า ทำไมในที่นี้จึงมีคำว่า อุป รวมความก็คือเพื่อแสดงว่า กิเลสคือเครื่องเศร้าหมองนั้นเป็นสิ่งที่จรเข้ามาเป็นอาคันตุกะคือเป็นแขกของจิต ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เพื่อจะเน้นให้เข้าใจเงื่อนไขอันนี้ จึงใช้คำว่า อุป เข้าในที่นี้ด้วย แต่โดยทั่วไปก็ใช้คำว่า กิเลส และก็ได้อธิบายแล้วถึงกิเลสว่ามีลักษณะเป็นชั้น ๆ อย่างไร ปากทางที่จะให้เกิดกิเลสก็คืออารมณ์ ทำให้เกิด ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสที่ปล้นจิต กลุ้มรุมจิต ทำให้จิตกลุ้มกลัด เมื่อแรงออกมาก็เป็น วีติกกมกิเลส กิเลสที่ทำให้ล่วงละเมิด และเมื่อกิเลสเหล่านี้สงบไป โดยธรรมดาหรือด้วยการปฏิบัติ แต่ยังมีตะกอนนอนเป็นเชื้ออยู่เรียกว่า อนุสัย นอนเนื่องหรือแอบแนบ นี้เป็นสรุปความที่ได้อธิบายไปแล้ว

ในคราวนี้จะได้ย้ำความโดยกล่าวทบทวนตั้งแต่ต้นเงื่อนออกมา หรือตั้งแต่ละเอียดออกมาหาหยาบ กิเลสที่เป็นต้นเงื่อนหรือที่เป็นส่วนละเอียดนั้นได้แก่อนุสัยคือ ราคานุสัย อนุสัยคือราคะ ความติด ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ การกระทบ หมายถึงความไม่ชอบ อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา คือความรู้ไม่จริง นี้เป็นส่วนละเอียด

เมื่ออนุสัยนี้ฟุ้งออกมา ราคานุสัยก็ฟุ้งออกมาเป็นราคะ ควรจะแปลว่าความยินดีหรือความกำหนัด ปฏิฆานุสัยก็ฟุ้งออกมาเป็นโทสะคือความขัดเคือง โทสะในชั้นนี้หมายถึงความโกรธที่มีอยู่ในใจ โทสะแปลว่าประทุษร้าย จึงประทุษร้ายใจของตนเอง ยังไม่ถึงให้ออกไปคิดทำร้ายผู้อื่น อวิชชานุสัยก็ฟุ้งออกมาเป็นโมหะ ความหลงที่ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด ราคะ โทสะ โมหะ เป็นชั้นปริยุฏฐานะ ที่กลุ้มรุมหรือกลุ้มกลัดจิตใจอยู่ปรากฏอยู่ บุคคลก็รู้สึกอยู่

ต่อจากนี้ ราคะเมื่อแรงขึ้นก็เป็น อภิชฌา ความโลภเพ่งเล็ง หมายถึงความอยากได้อย่างแรงจนถึงคิดมุ่งจะได้มาเป็นของ ๆ ตน โทสะแรงขึ้นก็เป็น พยาบาท ตามศัพท์แปลว่า ถึงผิด ตามความหมายนั้นหมายถึงความมุ่งร้าย คือความโกรธที่แรงออกมาจนถึงคิดจะทำร้ายผู้อื่น ถ้ายังไม่คิดทำร้ายใคร ขัดเคืองอยู่ในใจ ก็เป็นโทสะ แต่ว่าถ้าคิดจนถึงทำร้ายผู้อื่นก็เป็นพยาบาท ไม่ใช่หมายความว่า ผูกโกรธ เหมือนอย่างที่พูดในภาษาไทย โมหะแรงขึ้นก็เป็น มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด คือเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด ที่ให้ถือเอาผิด ความเห็นผิดนี้ เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี ทำอะไรลงไปก็สักแต่ว่าเป็นกิริยา แต่ว่าไม่เรียกว่าเป็นทำบุญทำบาป เห็นว่าผลทุก ๆ อย่างไม่มีเหตุ เกิดขึ้นเองตามสิ่งอำนวยหรือตามบังเอิญ และเห็นสิ่งที่สมมตินับถือกันอยู่ต่าง ๆ ก็ไม่มี เช่น พ่อแม่ก็ไม่มี คือว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่จะต้องนับถือว่าเป็นพ่อแม่อย่างไร เป็นแต่เพียงผู้ที่เกิดมาก่อน แล้วก็เกิดสืบ ๆ กันมา คล้าย ๆ ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ คนดีคนชั่วก็ไม่มี ผลต่าง ๆ ที่เป็นส่วนดีส่วนชั่วก็ไม่มี เป็นการปฏิเสธทั้งหมด เหล่านี้เรียกว่าเป็นการเห็นผิดอย่างร้ายแรง เป็นความเห็นผิดจากคลองธรรม

         อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้เป็น วีติกกมกิเลส คือเป็นกิเลสที่จะทำให้ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และตัววีติกกมกิเลสนี้เองก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล แปลว่าเป็นกิเลสอย่างแรงที่ล่วงมโนทวารออกมาทีเดียว และเมื่อเกิดมโนกรรมฝ่ายอกุศลดั่งนี้ ก็เป็นเหตุให้ประกอบกายกรรมวจีกรรมฝ่ายอกุศลตามไปด้วย พระพุทธภาษิตจึงได้แสดงเอาไว้โดยความว่าธรรมทั้งหลายมีมนะเป็นหัวหน้า มีมนะประเสริฐ สำเร็จด้วยมนะ ถ้าบุคคลมีมนะอันโทษประทุษร้ายแล้ว จะพูดหรือจะทำ ทุกข์ย่อมติดตามไป เหมือนอย่างล้อเกวียนติดตามรอยเท้าโคที่จูงเกวียนนั้นไป แต่ถ้าตรงกันข้าม บุคคลมีใจผ่องแผ้ว จะทำหรือจะพูด สุขก็ย่อมติดตามไป เหมือนอย่างเงาที่ไม่ละตัวรวมเป็นกิเลส ๓ ชั้น นับจากหยาบไปหาละเอียดก็คือ วีติกกมกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส อนุสัยกิเลส

          อนึ่ง กิเลสชั้นละเอียดนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาสวะ คำว่า อาสวะ แปลตามศัพท์ว่า ไหลมา คือไหลมานอนจมหมักหมม ในที่อื่น คำว่า อาสวะ แปลว่า น้ำเมา ก็หมายถึงเป็นสิ่งที่หมักดอง อาสวะนี้ จัดไว้เป็น ๓ คือ

. กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ความใคร่ ความปรารถนา ก็สงเคราะห์กับราคะอนุสัย

. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ได้แก่ภาวะคือความเป็น ข้อนี้ศัพท์ไม่กลมกลืนกับปฏิฆะอนุสัยนัก แต่ก็พออธิบายให้เข้ากันได้ ภพ แปลว่า ความเป็น ปฏิฆะ แปลว่า กระทบ เมื่อมีภพคือความเป็น ความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นเราซึ่งเป็นตัวอัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจะมีการกระทบกระทั่งกันได้ ถ้าไม่มีภพก็ไม่มีอะไรที่จะถูกกระทบกระทั่ง แต่ว่าเพราะมีภพจึงมีสิ่งที่กระทบกระทั่ง เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงภาวะหรือภพคือความเป็น ก็จัดเป็นภวาสวะ อาสวะคือภพ แต่ว่าเมื่อพูดอีกทางหนึ่ง คือความกระทบกระทั่ง ก็จัดเป็นปฏิฆะอนุสัย

. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้จริง ก็ตรงกับอวิชชาอนุสัย

เมื่อทราบถึงด้านเศร้าหมอง คือด้านกิเลสเหล่านี้แล้ว ก็ควรจะทราบวิธีที่จะทำให้ผ่องแผ้วโดยสังเขป เมื่อจัดกิเลสเป็น ๓ ชั้น จะขัดสีกิเลสชั้นหยาบคือวีติกกมกิเลส ก็ทำได้ด้วยหลักข้อที่ ๑ คือไม่ทำบาปทั้งปวง ในต่อมาก็จัดเป็นสีลสิกขา สิกขาคือศีล

กิเลสชั้นกลางคือ ปริยุฏฐานกิเลส จะขัดสีได้ก็ด้วยหลักข้อที่ ๒ คือทำกุศลให้ถึงพร้อม ต่อมาก็จัดเป็นสมาธิ จิตตสิกขา สิกขาคืออบรมจิตให้เป็นสมาธิ ในหลักข้อที่ ๒ นี้ ควรสังเกตการใช้คำ กุสลสฺสูปสมฺปทา แปลว่าการทำกุศลให้ถึงพร้อม ถ้าแปลทับศัพท์คือ อุปสมบทกุศล นี้เป็นการอุปสมบททางจิตใจ หลักข้อที่ ๑ นั้น เท่ากับเป็นการอุปสมบททางกาย คือด้วยศีล

          ส่วนกิเลสชั้นละเอียด คือชั้นอนุสัยนั้น จะขัดสีได้ก็ด้วยหลักข้อที่ ๓ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว คือจะผ่องแผ้วจริง ๆ ก็ด้วยอาศัยหลักข้อนี้ ซึ่งต่อมาก็สงเคราะห์เป็นปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา หมายความว่า ต้องอบรมปัญญาจนรู้แจ้งเห็นจริง ปัญญานี้เท่านั้นจึงจะขับไล่อนุสัยกิเลสหรืออาสวะกิเลสให้สิ้นไปได้ และการอบรมปัญญานั้น พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงแล้ว ดังเช่นใน อนัตตลักขณสูตร และใน อาทิตตปริยายสูตร ที่ต้องอบรมให้เกิดความรู้เห็นตามที่เป็นจริงในเบญจขันธ์หรือว่าในอายตนะ จนเกิดนิพพิทาเป็นต้น ดั่งที่แสดงมาแล้วโดยลำดับ ต้องดำเนินตามทางนั้น หลัก ๓ ข้อนี้ เป็นศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

          พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสหลัก ๓ ข้อนี้แล้ว ได้ตรัสต่อไปอีกหนึ่งคาถากึ่งว่า อนูปวาโท การไม่ว่าร้าย อนูปฆาโต การไม่ทำร้าย ปาติโมกฺเข จ สํวโร ความสำรวมในพระปาติโมกข์ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมิํ ความรู้ประมาณในภัต ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนที่นั่งอันสงัด อธิจิตฺเต จ อาโยโค ความประกอบในอธิจิตคือจิตยิ่ง เอตํ พุทธาน สาสนํ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระโอวาทในข้อนี้ คือเหมือนอย่างเป็นคำอธิบายประกอบของโอวาทที่เป็นหลัก ๓ ข้อนั้น มีข้อที่พึงสังเกต คือในเวลานั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยปาติโมกข์ ฉะนั้นที่ตรัสให้สำรวมในพระปาติโมกข์ จึงมีความหมายคือปาติโมกข์ที่เป็นตัวแบบฉบับอันควรที่สมณะจะพึงปฏิบัติโดยทั่วไป พระโอวาททั้งหมดนี้เรียกว่า พระโอวาทปาติโมกข์ ปาติโมกข์ที่เป็นโอวาท พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งนั้น จึงมิได้มุ่งที่จะอบรมให้ท่านบรรลุมรรคผล แต่ว่ามุ่งที่จะวางแนวพระพุทธศาสนา เบื้องต้นก็ชี้ถึงวาทะของพระพุทธะ ๓ ข้อ ต่อมาก็วางหลักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างกว้าง ๆ ไว้ ๓ ข้อ และมีคำอธิบายประกอบอีกเล็กน้อย

          ท่านแสดงว่า ในวันอุโบสถ วันพระจันทร์เพ็ญ และวันพระจันทร์ดับ พระพุทธเจ้าได้ประทับเป็นประธานหมู่พระสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ขึ้นด้วยพระองค์เองทุก ๑๕ วัน แปลว่า ทรงทำอุโบสถร่วมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วก็เรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ คือเป็นอุโบสถที่บริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็บริสุทธิ์ จนถึงมีเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมามีเล่าไว้ในบาลีวินัยว่า พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง จนถึงเวลา ๑ ยาม พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนว่า ยามหนึ่งแล้ว พระมานั่งรออยู่นานแล้ว ขอให้เสด็จลงทรงสวดปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๒ พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง ครั้นถึงยามที่ ๓ พระอานนท์ก็ไปทูลเตือนอีก พระพุทธเจ้าก็ไม่เสด็จลง แต่ว่าในยามที่ ๓ นี้ได้มีพระพุทธดำรัสว่า บริษัทไม่บริสุทธิ์ คือว่ามีพระทุศีลมาปนอยู่ด้วย พระโมคคัลลานะจึงได้เที่ยวตรวจดู เมื่อไปพบภิกษุที่ทุศีลก็บอกให้ออกไปจากที่ประชุม ผู้นั้นก็ไม่ยอมออกไป ต้องฉุดแขนออกไป แต่ก็สว่างเสียก่อน พ้นเวลาที่จะทำอุโบสถ ก็เป็นอันว่าในอุโบสถนั้นไม่ได้ทำ พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภเรื่องนี้ ตรัสให้พระสงฆ์ยกเอาพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นไว้มาสวดเป็นปาติโมกข์แทน และให้พระสงฆ์สวดกันเอง พระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาทำอุโบสถร่วมด้วยอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น จึงมีการยกเอาวินัยขึ้นสวดเป็นปาติโมกข์ทุก ๆ ๑๕ วัน สืบต่อมาจนบัดนี้ ปาติโมกข์ที่ยกวินัยขึ้นสวดนี้ เรียกว่า วินัยปาติโมกข์

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๔๓ – ๑๕๓