Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๙

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

นิพพาน ๒ อย่าง

 

จะอธิบายในพระพุทธวาทะข้อที่ ๒ ในพระโอวาทปาติโมกข์ว่า นิพพานเป็นอย่างยิ่ง หรือ นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง

            โดยพยัญชนะ คำว่า นิพพาน แปลได้ ๒ อย่างคือ ดับ อย่างหนึ่ง ไม่มีเครื่องเสียบแทงอย่างหนึ่ง ที่แปลว่า ดับ นั้นออกมาจาก วา ธาตุ ที่แปลว่าพัด อย่างพัดลม นิ ปฏิเสธ ก็แปลตรงกันข้ามว่า ดับ ส่วนที่แปลว่า ไม่มีเครื่องเสียบแทงนั้น ออกมาจากศัพท์ว่า วาน ที่แปลว่า เครื่องเสียบแทง ใช้เป็นชื่อของลูกศร ก็มี นิ ปฏิเสธ ก็แปลว่า ไม่มีเครื่องเสียบแทง แต่โดยอรรถคือเนื้อความ หมายถึง จุดสูงสุด และคำว่านิพพานนี้เป็นคำเก่า มีใช้มาก่อนพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ มีความหมายถึงจุดสูงสุดของลัทธิปฏิบัตินั้นๆ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็ได้ทรงนำคำนี้มาใช้ ให้หมายถึงจุดสูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่มีความหมายเฉพาะในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่างไปจากความหมายเดิมของคำที่ใช้ในลัทธิศาสนาในภายนอก

คำอธิบายนิพพานที่เป็นพระพุทธภาษิต ซึ่งมีความกว้าง ๆ ก็เช่นว่า ตณฺหาย วิปฺปหาเนน นิพฺพานํ อิติ วุจฺจติ เพราะละตัณหาเสีย เรียกว่านิพพาน ราคโทสโมหกฺขยา นิพฺพานํ ชื่อว่า นิพพาน เพราะสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ฉะนั้น กล่าวสั้น นิพพานจึงได้แก่ธรรมเป็นที่ดับราคะ โทสะ โมหะ ธรรมเป็นที่ดับตัณหา หรือธรรมเป็นที่ดับกิเลสทั้งหมด เมื่อปฏิบัติทำกิเลสให้สิ้นไปได้แล้ว นิพพานก็ปรากฏขึ้นแก่ผู้ดับกิเลสเอง แต่เมื่อยังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้ การพูดถึงนิพพาน การแสดงถึงนิพพาน ก็พูดแสดงไปตามคลองแห่งพระพุทธศาสนา และเมื่อพิจารณาตามคลองแห่งพระพุทธศาสนาดั่งกล่าว การบรรลุถึงนิพพานนั้น ไม่เกี่ยวกับอยากหรือไม่อยาก เมื่อยังมีอยากหรือมีไม่อยาก ก็แสดงว่ายังมีชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งเป็นลักษณะของตัณหาของกิเลส ฉะนั้น ก็บรรลุไม่ได้ จะบรรลุได้นั้น ด้วยการปฏิบัติใกล้เข้าไปจนเข้าเขต ไม่ต้องกล่าวถึงอยากที่พูดกันอยู่อย่างสามัญ ในพระบาลีบางแห่งได้จำแนกพระนิพพานไว้ ๒ อย่าง คือ

. สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่มีอุปาทิเหลือ

. อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลือ

ท่านอธิบายว่า อุปาทิ นั้นเป็นชื่อของขันธปัญจกะ หมวด ๕ แห่งขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือท่านละอาสวะกิเลสได้หมดสิ้น แต่ยังมีขันธปัญจกะ ดำรงชีวิตอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน เมื่อพระอรหันต์ดับขันธ์คือขันธปัญจกะแตกสลาย ดั่งคนสามัญ ก็เรียกว่า ตาย แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ ก็เรียกว่านิพพานหรือปรินิพพาน เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน

          แต่อีกนัยหนึ่ง อธิบายว่า อุปาทิ เป็นชื่อของกิเลส มีอุปาทาน ความยึดถือเป็นต้น ฉะนั้น พระอริยบุคคลผู้ดับกิเลสมาเป็นชั้น ๆ แต่ว่ายังดับไม่หมด ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยังมีอุปาทิ คือยังมีอุปาทาน หรือกิเลสที่ต้องละต่อไป ดับกิเลสของท่านดั่งกล่าวนี้ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนพระอรหันต์ดับอาสวะกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งยังเหลืออยู่ ความดับกิเลสของท่าน เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน มีคำที่เป็นไวพจน์ คือคำที่มีรูปต่าง ๆ กัน แต่รวมอยู่ในความหมายอันเดียวกันของนิพพานหลายคำ เช่นคำว่า อมตะ วิราคะ โมกขะ อสังขตะ หรือ วิสังขาร

อมตะ แปลว่าธรรมที่ไม่ตาย เรื่องความไม่ตาย เป็นเรื่องที่ปรารถนากันอยู่โดยทั่วไป ความคิดของมนุษย์ในเรื่องนี้ ก็ได้มีมาโดยลำดับ เมื่อสรุปลงแล้วก็เห็นว่า เป็นบุคคลก็มี เป็นภาวะก็มี เป็นธรรมก็มี ที่เป็นอมตะคือไม่ตาย

ในส่วนที่เห็นว่าเป็นบุคคลนั้น เช่น ลัทธิของผู้ที่เชื่อว่ามีเทพผู้ไม่ตายสถิตอยู่ในสวรรค์ ลัทธิที่เก่าก่อนพระพุทธศาสนาก็ได้แก่พราหมณ์ ที่เชื่อว่ามีพรหมเป็นผู้ไม่ตาย อยู่ในสวรรค์ชั้นพรหม คือมีความเห็นว่ามีอยู่ถิ่นหนึ่งซึ่งมีเทพผู้ไม่ตายสถิตอยู่ บุคคลอาจจะเข้าถึงเทพนั้นได้ด้วยการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่แสดงไว้ในลัทธินั้น ๆ แม้เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นและต่อจากสมัยพระพุทธเจ้ามา ก็ได้มีลัทธิดั่งกล่าวนี้สืบ ๆ มาอีกหลายลัทธิ แสดงเป็นตัวตนเป็นบุคคล

          ส่วนที่เห็นว่า ภาวะเป็นอมตะนั้น ดั่งเช่น ลัทธิอุปนิษัท ที่แสดง ปรมาตมัน เป็นอัตตาใหญ่ ซึ่งคงอยู่ชั่วนิรันดร ทุก ๆ คนหรือทุก ๆ สัตวโลก แยกออกมาจากปรมาตมัน มาเป็นอาตมันหรืออัตตาของแต่ละบุคคล และเมื่อทำความดีมากขึ้นก็จะบรรลุความเป็น มหาตมัน หรือ มหัตตา อย่างที่ยกย่อง บางคนว่า มหาตมะ นี่ก็คือมหาตมัน หรือมหัตตา เมื่อมหาตมันหรือมหัตตานั้นสิ้นชีวิต ก็จะไปรวมเป็นปรมาตมัน และคงที่อยู่นิรันดรตามเดิม

          ส่วนที่แสดงธรรมนั้น คือพระพุทธศาสนา เพราะทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า ไม่มีเทพหรือบุคคลที่จะเป็นผู้ไม่ตายอยู่ตลอดนิรันดร เพราะเทพหรือบุคคลนั้นต้องตั้งต้นด้วยชาติคือความเกิด ก็ต้องมีแก่ ต้องมีตาย เพราะฉะนั้น จึงต้องมีดับสูญ แม้พระพรหม ซึ่งแสดงว่ามีอายุยืนนานเหลือเกิน แต่ก็ต้องดับสูญในที่สุด เป็นแต่เพียงว่าดำรงอยู่นานเท่านั้น อันนี้มาเทียบกับทางวัตถุ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวต่าง ๆ ทางวิทยาการก็แสดงว่าจะต้องมีดับ แต่มีอายุยืนนานมากจนรู้สึกเหมือนไม่ดับ

 คราวนี้ภาวะคือ ปรมาตมันหรือปรมัตตา ดั่งที่แสดงไว้ในลัทธิอุปนิษัทนั้น ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า เมื่อยังมีภาวะเป็นอัตตาอยู่ ก็แสดงว่ายังมีอุปาทานคือความยึดถือ เมื่อยังมีความยึดถือก็ต้องมีภพคือภาวะ ได้แก่ ภาวะเป็นอัตตาดั่งกล่าวนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องมีชาติ คือเกิดเป็นอัตตาดั่งกล่าวนั้น และในที่สุดก็จะต้องมีดับคู่กันกับเกิด ส่วนมติทางพระพุทธศาสนานั้นแสดงว่า เมื่อจะไม่ดับก็ต้องไม่เกิด เมื่อสิ้นชาติคือความเกิด จึงจะสิ้นความแก่ สิ้นความตาย หรือว่าสิ้นดับ และเมื่อสิ้นความเกิดเป็นเทพ เป็นมนุษย์ เป็นอะไร ๆ ทั้งนั้น ก็สิ้นสมมติบัญญัติ คือไม่มีจุดอันใดอันหนึ่งที่จะยกขึ้นมา สมมติคือหมายรู้กัน หรือว่าบัญญัติคือแต่งตั้งกล่าวถึงกันว่าเป็นอะไร การจะมีสมมติคือหมายรู้กัน ก็จะต้องมีสิ่งที่ถูกสมมติขึ้นก่อน การที่จะมีบัญญัติคือแต่งตั้งพูดถึงกัน ก็จะต้องมีสิ่งที่จะถูกบัญญัติขึ้นก่อน เหมือนอย่างว่า เราจะสมมติบัญญัติภาษาขึ้นพูด เช่น เรียกว่า บ้าน เรียกว่า เรือน ก็จะต้องมีสิ่งที่เป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นก่อน และจึงเรียกสิ่งที่เป็นบ้านเป็นเรือนนั้นว่า นั่นบ้านนั่นเรือน แต่ถ้าสิ่งที่เป็นบ้านเป็นเรือนไม่มีเสียเลยแล้ว สมมติบัญญัติคือภาษาที่สำหรับจะให้หมายรู้กัน หรือที่จะบัญญัติขึ้นกล่าวกันก็ไม่มี ฉันใดก็ดี เมื่อไม่มีเกิด ไม่มีเกิดอะไรทั้งนั้น ก็ไม่มีสิ่งที่จะสมมติบัญญัติขึ้นว่าอะไร ฉะนั้น จึงเรียกว่า สิ้นสมมติ สิ้นบัญญัติ และเมื่อเป็นเช่นนี้จึงมิใช่เป็นบุคคลที่เป็นอมตะ มิใช่ภาวะที่เป็นอมตะ แต่เป็นธรรม คือสภาพที่ทรงอยู่ซึ่งเป็นอมตะ จะชี้ว่ามีภาวะเป็นอย่างใดก็ไม่ได้ จะชี้ว่าเป็นบุคคลหรือเป็นภาวะอย่างใดก็ไม่ได้ ฉะนั้น อมตะ ธรรมที่ไม่ตาย จึงมีความหมายในคลองธรรมของพระพุทธเจ้าดั่งกล่าวนี้

 อนึ่ง บางแห่งเรียกว่า วิราคะ แปลว่าธรรมที่สิ้นราคะ คือความติดความยินดี ความกำหนัด นี้ก็หมายถึงธรรมเป็นที่สิ้นกิเลส แต่ว่ากิเลสเหล่านี้ ราคะเป็นที่ปรากฏอยู่มาก ฉะนั้น จึงได้ยกเอาในด้านไม่มีเป็นชื่อของนิพพาน

          อนึ่ง บางแห่งก็เรียกว่า โมกขะ หรือ โมกขธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากทุกข์ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารถนาเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ และในตอนแรกก็หมายถึงความพ้นจากผล เพราะทุกข์เป็นผล แต่เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงพบเหตุคือตัณหาหรือกิเลส โมกขะจึงแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมเป็นที่พ้นกิเลสด้วย ซึ่งมักจะแปลรวม ๆ กันว่า พ้นกิเลสและกองทุกข์ แต่ว่าในตอนแรกเมื่อยังไม่พบกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

อนึ่ง บางแห่งเรียกว่า อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุง หรือเรียกว่า วิสังขาร แปลว่า ธรรมที่สิ้นสังขาร คือสิ้นเครื่องปรุงแต่ง อรรถะทั้ง ๒ คำนี้ก็เป็นอันเดียวกัน คำว่า อสังขตะ ตรงกันข้ามกับ สังขตะ ที่แปลว่า ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง คำว่า วิสังขาร ก็ตรงกันข้ามกับคำว่า สังขาร ที่แปลว่าสิ่งที่ปรุงแต่ง ในโลกนี้ ส่วนที่ปรากฏอยู่ ที่ตาเห็น หูได้ยิน เป็นต้น ข้างนอกตลอดจนถึงร่างกายอันนี้ทั้งหมด ที่รวมเรียกว่า เบญจขันธ์ หรือว่า นามรูป เป็นสังขตะคือสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งนั้น เป็นสังขารทั้งนั้น คือเป็นผลที่เนื่องมาจากเหตุ และเหตุนั้นก็เป็นผลที่เนื่องมาจากเหตุอีกอันหนึ่ง อาจจะพิจารณาสาวเข้าไปพบผลและเหตุ หรือเหตุและผลได้มากมาย รวมความว่าเป็นสิ่งที่เป็นผล เกิดจากเหตุ มีเหตุมาปรุงแต่งให้มีขึ้นเป็นขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างข้างนอก เช่นฝนตกแดดออก ฝนตกแดดออกนั้นเป็นผล ก็มีเหตุว่า ทำไมฝนจึงตก แดดจึงออก และเหตุนั้นเมื่อค้นเข้าไปแล้ว ก็ยังเป็นผลอยู่นั่นเอง เพราะเนื่องมาจากเหตุอื่น ทุก ๆ อย่างในโลกเป็นผลที่เกิดจากเหตุปรุงแต่งดั่งกล่าวนี้ ล้วนเป็นสังขตะหรือสังขาร ทางพระพุทธศาสนาจึงแสดงว่า ตกอยู่ในลักษณะ ๓ คือ ๑. อุปฺปาโท ปญฺญา ยติ ความเกิดขึ้นปรากฏ ๒. วโย ปญฺญา ยติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ และ ๓. ฐิตสฺส อญฺญถตฺติ ปญฺญา ยติ เมื่อยังตั้งอยู่มีความปรวนแปรไปปรากฏ รวมความว่า ขึ้นต้นด้วยเกิดและลงท้ายด้วยดับ และในระหว่างก็มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ไป

แม้ความดีความชั่วเป็นตัวกรรมที่บุคคลทำ ก็เป็นสังขตะหรือสังขารเหมือนกัน เพราะว่าต้องปรุงต้องแต่ง หมายความว่า คนต้องทำชั่วจึงจะเป็นความชั่ว ต้องทำดีจึงจะเป็นความดี ถ้าไม่ทำ ความชั่วก็ไม่มี ความดีก็ไม่มี เพราะฉะนั้น แม้ความดีความชั่วก็เป็นสังขตะหรือเป็นสังขาร ความดีหรือความชั่วนี้เมื่อบุคคลทำขึ้น ส่งวิบากคือผล ผลนี่ก็เป็นสังขตะหรือเป็นสังขาร เพราะเป็นสิ่งที่เนื่องมาจากเหตุ คราวนี้เมื่อบุคคลได้รับผล ถ้าเป็นผลที่ดีก็ชอบใจ ถ้าเป็นผลที่ไม่ดีก็ไม่ชอบใจ ชอบใจหรือไม่ชอบใจนี้ก็เป็นกิเลส กิเลสนี่ก็เป็นสังขตะหรือสังขารเหมือนกัน เพราะเป็นผลที่เนื่องมาจากวิบาก ชอบใจหรือไม่ชอบใจนี้ รวมเรียกว่าเป็นกิเลส และเมื่อเป็นกิเลสขึ้น ก็ก่อเจตนาขึ้น คือความจงใจให้ประกอบกรรมต่าง ๆ กรรมที่ก่อขึ้นก็เป็นผลอีก คือเป็นผลที่เนื่องมาจากกิเลส แต่ก็เป็นตัวเหตุให้เกิดวิบากของกรรม ครั้นได้รับวิบากของกรรมแล้ว วิบากของกรรมนั้นก็เป็นตัวผลที่เนื่องมาจากกรรม แต่ก็เป็นตัวเหตุที่ส่งเสริมกิเลสขึ้นอีก รวมความว่า ทั้งกิเลส ทั้งกรรม ทั้งวิบากนี้ เป็นวงกลม บุคคลต้องหมุนไปตามกิเลส ตามกรรม ตามวิบาก เป็นวงกลมอยู่ตลอดเวลา อันนี้แหละที่เรียกว่า วัฏฏะ วนหรือหมุน

          โลกข้างนอกก็หมุน โลกข้างในคือจิตใจของคนก็หมุน หมุนไปตามกิเลส กรรม วิบาก เป็นวงกลมอยู่ตลอดเวลา นี้เป็นกระแสปัจจุบัน และโดยปกติ ทุก ๆ สัตว์บุคคล ก็อยู่ในวงหมุนนี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่พ้นจากวงหมุนนี้ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องปรุงต้องแต่ง เป็นเหตุเป็นผลกันในวงหมุนอันนี้อยู่เรื่อยไป เมื่อมาเข้าวงหมุนดั่งนี้แล้ว ก็ไม่ต้องพูดกันถึงชาติอดีตชาติอนาคต หรือชาติปัจจุบัน เพราะจะเป็นชาติไหน ๆ ก็ตาม ก็จะอยู่ในวงหมุนนี้ทั้งนั้น และเมื่อยังอยู่ในวงหมุนนี้ตราบใด ก็ยังหมุนไปอยู่ตราบนั้นจนกว่าจะหยุดหมุนได้ คือว่าปรุงแต่งมรรคมีองค์ ๘ อันประมวลเรียกว่า ทำความดีจนตัดกิเลสได้หมดสิ้น เมื่อตัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็ตัดวงหมุนเพราะไม่มีเหตุให้กระทำกรรม กรรมก็ไม่ส่งวิบาก จึงหลุดออกจากวงหมุน เป็นผู้หยุดหมุน เมื่อเป็นผู้หยุดหมุนแล้ว ตรงจุดนี้เรียกว่าเป็นนิพพานคือดับ หรือว่าไม่มีเครื่องเสียบแทงทั้งหมด

 ได้กล่าวแล้วว่า เรื่องนิพพานนี้ ไม่เกี่ยวกับอยากหรือไม่อยาก อยากก็ไปไม่ถึง ไม่อยากก็ไปไม่ถึง หน้าที่ก็คือว่าทำความดีเรื่อย ๆ ไป ซึ่งเป็นส่วนสังขตะหรือส่วนสังขาร แต่ว่าเป็นส่วนสังขตะหรือส่วนสังขารในด้านทำความดีเมื่อถึงจุดแล้ว นิพพานก็จะปรากฏขึ้นเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องไม่อยาก พระพุทธเจ้าทั้งหลายคือ ท่านผู้รู้ ซึ่งเป็นผู้ได้ผู้ถึงแล้ว จึงได้กล่าวว่า นิพพานเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่าถ้ายังไม่ได้ไม่ถึง ก็ยังไม่มีใครกล่าวว่า นิพพานเป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นพระพุทธวาทะข้อที่ ๒

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๓๕ – ๑๔๒