Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๘

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

จาตุรงคสันนิบาต

 เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์นั้น ได้มีมหาสันนิบาตคือการประชุมใหญ่ของพระสาวกครั้งหนึ่ง เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า ความประชุมประกอบด้วยองค์ ๔ ในอรรถกถาทีฆนขสูตรได้แสดงไว้ว่า องค์ ๔ นั้น คือพระสาวกที่มาประชุมกันเป็นมหาสันนิบาตนั้น

 ๑. ได้มาประชุมกันในวันอุโบสถมาฆปุณณมี คือวันเพ็ญเดือนมาฆะ โดยปกติก็ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ ถ้าปีมีอธิกมาส ก็ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔ ตามแบบไทยเรา

 ๒. ภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งมาประชุมกันนั้น มิได้มีการนิมนต์นัดหมาย มาประชุมเอง

 ๓. ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ และ

 ๔. ล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือเป็นภิกษุที่ได้รับอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงจัดไว้ในพระพุทธประวัติเล่ม ๒ ว่าดังนี้ ๑. ภิกษุที่มาประชุมนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ ๒. ล้วนเป็นเอหิภิกขุ ๓. ล้วนมิได้นัดหมาย และ ๔. พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาทที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์

 มหาสันนิบาตนี้ ได้มี ณ เวฬวัน ในวันมาฆปุณณมี ในอรรถกถาแห่งพระสูตรดั่งกล่าว ได้กล่าวว่า มหาสันนิบาตนั้นได้มีในวันที่พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คือเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่ปริพาชกชื่อทีฆนขะ พระสารีบุตรได้นั่งถวายงานพัดฟังอยู่ด้วย เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว พระสารีบุตรก็มีจิตพ้นจากอาสวะ ในขณะนั้นเวลายังเป็นกลางวันอยู่พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏ และเสด็จมาสู่พระเวฬุวัน ก็ทรงแสดงพระโอวาทในมหาสันนิบาตดั่งกล่าวนั้นในวันมาฆปุณณมี ตามคำของท่านจึงแสดงว่า ท่านพระสารีบุตรได้เป็นผู้เสร็จกิจในวันมาฆปุณณมีนั้น คือในวันมาฆปุณณมีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระโอวาทปาติโมกข์

 ท่านยังได้แสดงระยะเวลาไว้ว่า ในพรรษาแรก พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นออกพรรษาแล้วได้เสด็จไปโปรดพวกปุราณชฎิล ในชั้นแรก ได้ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะอยู่เป็นเวลา ๒ เดือน คือจนถึงปุสสปุณณมี ที่ตรงกับวันเพ็ญเดือนอ้าย อุรุเวลกัสสปะจึงได้ยินยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า และต่อมาก็ได้โปรดกัสสปะอีก ๒ ท่าน จนถึงทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร แล้วจึงเสด็จจากตำบลนั้นมาสู่กรุงราชคฤห์ ทรงได้พระอัครสาวกแล้ว จนถึงกลางเดือน ๓ ที่เรียกว่า วันมาฆปุณณมี ก็ได้มีสาวกสันนิบาต ที่เรียกว่าวันจาตุรงคสันนิบาตดั่งกล่าว

 แต่คำที่ท่านกล่าวไว้นี้ ขัดกันกับข้อความบางแห่งที่แสดงไว้ในหลักฐานชั้นบาลี คือ ในหลักฐานชั้นบาลี ว่า ในระหว่างฤดูหนาว ๘ วัน ระหว่างเดือนมาฆะ (โดยปกติตรงกับเดือน ๓) และเดือนผัคคุณะ (โดยปกติตรงกับเดือน ๔) พระพุทธเจ้าได้ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา ตามหลักฐานนี้ วันกลางเดือนมาฆะคือวันมาฆปุณณมีนั้น พระพุทธเจ้ายังประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา ฉะนั้น ถ้าหลักฐานที่แสดงไว้ในบาลีนี้ถูก หลักฐานในอรรถกถาก็ผิด วันมหาสันนิบาตนั้น ก็น่าจะต้องเลื่อนไปมีในเมื่อออกพรรษาที่ ๒ แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานทั้งปวงก็ยืนยันว่า ได้มีมหาสันนิบาตของพระสาวกครั้งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔ อันเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตดั่งกล่าวแล้วในวันมาฆปุณณมี พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระโอวาทอันเรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ ในมหาสันนิบาตนั้น


 
โอวาทปาติโมกข์หัวใจพระพุทธศาสนา

 พระโอวาทนี้ ประมวลพระพุทธวาทะ ประมวลพระพุทธศาสนา ด้วยข้อความเพียง ๓ คาถากึ่ง ฉะนั้น พระโอวาทนี้จึงเป็นที่นับถือว่า แสดงหัวใจพระพุทธศาสนา ตามที่ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รวบรวมไว้ว่าดังนี้

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติคือความทนทาน เป็น บรมตบะ

นิพฺพานํ ปรมํวทนฺติ พุทฺธา พระพุทธะคือพระผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นอย่างยิ่ง

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต บรรพชิตคือนักบวชผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าสมณะ นี้เป็นพระคาถาแรก

พระคาถานี้แสดงพระพุทธวาทะคือวาทะของพระพุทธะ ที่แปลว่า พระผู้รู้ไว้ ๓ ข้อ ๑. ขันติ ความทนทาน เป็นบรมตบะ ๒. นิพพาน เป็นบรมธรรม ๓. บรรพชิตคือนักบวช ผู้ยังทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

 

มีข้อที่ควรทำความเข้าใจ คือในพระคาถานี้ใช้คำ พุทธะ เป็นพหุวจนะ คือแปลว่า พระพุทธะทั้งหลาย ซึ่งหมายความว่า มีมาก ในที่อื่นได้แสดงพระพุทธะคือผู้รู้ ไว้เป็น ๓ จำพวก คือ

 ๑. พระสัพพัญญูพุทธะ พระพุทธะผู้รู้ทั้งหมด หรือพระสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธะผู้รู้เองชอบ หมายถึงท่านที่ตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตามไปด้วย จนถึงตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น ตั้งพุทธบริษัทขึ้น

 ๒. พระปัจเจกพุทธะ พระผู้รู้เฉพาะองค์ คือเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยตนเองเหมือนกัน แต่ว่ารู้เฉพาะตนเท่านั้น ไม่สอนให้ผู้อื่นรู้ พระพุทธะจำพวกนี้ไม่ได้ตั้งพระพุทธศาสนา ไม่ได้ตั้งพุทธบริษัทขึ้น เป็นผู้รู้เฉพาะตน

           . พระอนุพุทธะ คือ พระผู้รู้ตาม หมายถึงเป็นพระสาวกพุทธะ คือเป็นผู้รู้ซึ่งเป็นผู้ฟัง เป็นศิษย์ของพระพุทธะจำพวกที่ ๑ ได้แก่พระอรหันตสาวกทั้งหลาย

พระพุทธะมี ๓ จำพวกดั่งกล่าวมา และก็ล้วนมีวาทะคือถ้อยคำตรงกันดั่งที่กล่าวมานั้น

พระพุทธวาทะข้อที่ ๑ ขันติคือความทนทาน เป็นบรมตบะ ขันติ นั้นแปลกันว่า ความอดทน จำแนกออกไปโดยนัยหนึ่งเป็น ๒ คือ อธิวาสนขันติ และ ตีติกขาขันติ

 

ขันติ ๒ อย่าง

อธิวาสน (ขันติ) แปลว่า อดกลั้น ตามศัพท์แปลว่า ทำให้ยับยั้งอยู่ ขันติคือการทำให้ยับยั้งอยู่ อันหมายถึงความอดกลั้นนี้เป็นขันติสามัญ ดั่งเช่นเมื่อได้รับความลำบาก อันเกิดจากทุกขเวทนาในเวลาป่วยไข้ ได้รับความตรากตรำในเวลาที่ถูกเย็น ถูกร้อน ต้องหิว ต้องกระหาย เป็นต้น ได้รับความเจ็บช้ำน้ำใจในเวลาที่ถูกว่ากล่าวกระทบกระทั่ง ร่างกายก็รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความลำบากหรือเพราะความตรากตรำนั้น จิตใจก็รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความเจ็บช้ำน้ำใจนั้น ผู้ที่ไม่มีขันติคือความอดกลั้น เมื่อได้รับความลำบากเช่น เวลารับความทุกขเวทนาในเวลาป่วยไข้ก็ร้องครวญคราง ได้รับความลำบากตรากตรำก็มักทนไม่ได้ ได้รับความเจ็บใจก็ทนไม่ได้ จะต้องผลุนผลันกระทำการตอบแทนออกไป ดังที่ปรากฏเป็นเรื่องการวิวาทโต้เถียงหรือการทำร้ายกันและกัน แต่ว่าผู้ที่มีอธิวาสนขันติคืออดกลั้นเอาไว้ได้ ก็จะพอยับยั้งเอาไว้ ได้รับทุกขเวทนาเวลาป่วยไข้ก็ยับยั้งเอาไว้ ได้รับความลำบากก็ยับยั้งเอาไว้ ได้รับความเจ็บใจก็ยับยั้งเอาไว้ แต่ว่าความทุกข์กายทุกข์ใจยังมีอยู่กลั้นเอาไว้เท่านั้น ถ้ากลั้นเอาไว้ได้ก็เป็นการปกติเรียบร้อย ถ้ากลั้นเอาไว้ไม่ได้ก็ต้องมีอาการหรือมีความประพฤติไปตามที่จะเป็น ควบคุมไว้ไม่ได้ ฉะนั้นอธิวาสนขันติ ขันติคือความอดกลั้นยับยั้งเอาไว้นี้ จึงจัดเป็นขันติสามัญ และก็ชื่อว่าเป็นตบะคือธรรมเป็นเครื่องแผดเผากิเลสเหมือนกัน คือว่าอดกลั้นเอาไว้ได้ และก็แผดเผากิเลสส่วนนั้นไว้ได้ กิเลสไม่ลุกฮือขึ้นมาทำให้เสียหายแต่ก็เป็นตบะอย่างสามัญ

           อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ตีติกขาขันติ ขันติคือความทนทาน ที่กล่าวไว้ในพระโอวาทนี้ ขันติคือความทนทานนี้ เป็นขันติที่สูงขึ้นมาก หมายถึงเป็นขันติทางจิตใจที่ได้ปฏิบัติมาในขันติสามัญนั่นแหละจนมีจิตใจแข็งแกร่ง ทนทานต่ออารมณ์ที่มายั่วต่าง ๆ อารมณ์ที่มายั่วต่าง ๆ นั้น จะมายั่วให้ชอบก็ตาม ให้ชังก็ตาม ให้หลงก็ตาม จิตใจที่ประกอบด้วยตีติกขาคือความทนทาน ย่อมไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์เหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงมีขันติอย่างนี้ ดังที่ตรัสปรารภถึงพระองค์เองไว้ในที่แห่งหนึ่ง แปลความว่าเราทนทานคำล่วงเกินเหมือนอย่างช้างศึกที่ทนทานลูกศรซึ่งตกจากแล่งมาต้องกายในสนามรบ เพราะว่าคนเป็นอันมากเป็นผู้ที่ทุศีล

 คราวนี้ เมื่อจะเทียบกันดูระหว่างอธิวาสนขันติกับตีติกขาขันติ ก็ย่อมได้ดังนี้ เมื่อมีอารมณ์มายั่วให้โกรธ ถ้ามีเพียงอธิวาสนขันติ ก็ยังโกรธเหมือนกันแต่ว่ากลั้นเอาไว้ได้ แต่ถ้ามีถึงตีติกขาขันติแล้วไม่โกรธ คือว่าขันตินั้นมาทำจิตใจให้เข้มแข็งหรือว่าให้แข็งแกร่งพอที่จะไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่มายั่ว เพราะฉะนั้น ตีติกขาขันตินี้จึงไม่ต้องกลั้น คือทนทานแข็งแกร่งอยู่ได้ในตัวเองแล้ว ส่วนอธิวาสนขันติ ต้องกลั้น ถ้ากลั้นไว้ไม่ไหว ก็แปลว่าโพล่งออกไปทีเดียว

 คราวนี้ สำหรับวิธีปฏิบัติ ก็ต้องหัดปฏิบัติให้เป็นอธิวาสนขันติมาก่อน เมื่อปฏิบัติจนเกิดความชำนิชำนาญความคุ้นเคยมากขึ้น ๆ จิตใจก็จะแข็งแกร่งคือเข้มแข็งนั่นเอง เป็นตีติกขาขันติขึ้นได้โดยลำดับ ตีติกขาขันตินี้ เป็นตบะคือธรรมเป็นเครื่องแผดเผากิเลสเป็นอย่างยิ่ง สูงกว่าอธิวาสนขันติ ซึ่งเป็นขันติสามัญ นี้สำหรับจิตใจ แต่สำหรับทางร่างกายนั้น ต่างกับจิตใจ จิตใจทำให้ไม่มีทุกข์ได้ แต่ว่าร่างกายนั้นมีทุกข์เป็นธรรมดา โดยเฉพาะก็ต้องมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ดังที่เราสวดกันอยู่ ร่างกายของปุถุชนหรือร่างกายพระอรหันต์ ก็ต้องตกอยู่ในคติธรรมดาเช่นนี้ ฉะนั้น จึงมีแสดงในพระพุทธประวัติว่า แม้พระกายของพระพุทธเจ้าเองก็ประชวร ได้ประชวรหลายครั้ง ในการประชวรนั้นก็มีแสดงว่าในบางคราวก็โปรดให้แพทย์เยียวยา ในบางคราวก็ทรงระงับด้วยอธิวาสนขันติ ท่านใช้คำนี้ คือความอดทนที่ทำให้ความเจ็บไข้นั้นยับยั้งไป แต่สำหรับในส่วนจิตใจแล้ว ท่านมีความเข้มแข็งทนทาน ไม่มีอารมณ์อะไรมายั่วให้เป็นทุกข์ขึ้นได้ แปลว่ามีตีติกขาขันติ ขันติคือความทนทานบริบูรณ์

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๒๙ – ๑๓๕