Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๗

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พระมหากัสสปะ

ในสมัยที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ทรงได้พระสาวกสำคัญอีกรูปหนึ่ง เรียกในทางพระพุทธศาสนาว่า พระมหากัสสปะ ประวัติของท่านมีโดยสังเขปว่า ท่านเป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อว่า กปิละ กัสสปโคตร ในบ้านพราหมณ์ ชื่อ มหาติฏฐะ ในมคธรัฐนั้น ท่านได้รับชื่อว่า ปิปผลิมาณพ ตระกูลพราหมณ์ที่ท่านถือกำเนิดนั้น เป็นตระกูลที่มั่งคั่ง ต่อมาเมื่อท่านได้บรรลุวัยอันสมควร ก็มีภริยาชื่อว่า ภัททกาปิลานี ซึ่งเป็นธิดาของพราหมณ์ โกสิยโคตร ในสาคลนคร ในมคธรัฐนั้นเหมือนกัน ต่อมาท่านได้เกิดหน่ายในทางฆราวาส ประสงค์จะประพฤติพรหมจรรย์ และเห็นว่าถ้าจะอยู่ครองฆราวาส จะประพฤติให้บริสุทธิ์เหมือนอย่างสังข์ที่ขัดไม่ได้ จึงได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่าบวชอุทิศบรรพชา เวลานั้น ท่านยังไม่รู้ว่าท่านผู้ใดเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็เชื่อว่าจะต้องมีอยู่ ฉะนั้น ท่านจึงบวชอุทิศต่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องแสดงว่า คำว่า ภควา ที่เราแปลว่า พระผู้มีพระภาค ก็ดี อรหํ หรือ อรหันต์ ก็ดี สัมมาสัมพุทธะ ก็ดี เป็นคำที่มีอยู่แล้ว และใช้เรียกท่านที่นับถือว่าเป็นผู้วิเศษอย่างสูง ปิปผลิมาณพที่มีความเห็นดั่งนั้น และเชื่อว่าจะต้องมีพระอรหันต์ในโลก แต่ยังไม่รู้ว่าท่านเป็นผู้ใด ก็ออกบวชอุทิศท่านผู้นั้น การออกบวชอุทิศนั้น ยังมีสาวกอื่นอีกบางรูปในพระพุทธศาสนา แรกก็บวชเป็นอุทิศบรรพชาเช่นนี้ ท่านได้จาริกไปพบพระพุทธเจ้า ในระหว่างกรุงราชคฤห์และนาลันทาในขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นไทรต้นหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า พหุปุตตนิโครธ แปลว่า ต้นไทรที่มีลูกมาก คงจะเป็นเพราะมีไทรย้อยอย่างใหญ่ เมื่อท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ท่านก็ลงสันนิษฐานแน่ว่า ท่านที่นั่งอยู่ที่นั่นเป็นพระพุทธเจ้า จึงได้เข้าไปหมอบที่พระบาทและได้กล่าวคำประกาศตนว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา คือเป็นครูของตน เป็นครูของท่าน ท่านเป็นสาวก

 แต่ว่าท่านได้สังเกตอะไรจึงลงสันนิษฐานว่าท่านที่ประทับนั่งนั้นเป็นพระพุทธเจ้า ในบาลีไม่ได้กล่าวไว้ ในอรรถกถาก็มีกล่าวไว้ในทางอภินิหารนี้ต่างจากเรื่องของพระสาวกที่บวชอุทิศพระพุทธเจ้าบางรูป เช่น พระปุกกุสาติ นั้น ก็บวชอุทิศพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าองค์ไหน จนได้พบกันและพักแรมด้วยกันในโรงงานของนายช่างหม้อ ท่านปุกกุสาติก็ยังไม่รู้จักอยู่นั่นเอง แต่เมื่อฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้รู้สึกขึ้นว่าท่านผู้แสดงธรรมให้ฟังนั้นเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็แสดงตนเป็นสาวก ส่วนเรื่องพระมหากัสสปะไม่ได้มีเรื่องเล่าว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พอท่านพระมหากัสสปะเห็นเข้าก็ลงสันนิษฐานว่าต้องเป็นพระพุทธเจ้า และแสดงตนเป็นสาวกของพระองค์เลยทีเดียว อันนี้ก็น่าจะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ท่านสังเกตและลงสันนิษฐานได้เช่นนั้น ไม่ได้แสดงธรรมก่อน และท่านเป็นผู้ที่ทรงธรรมปัญญา อาจจะดูคนออกได้ง่าย อย่างพระสารีบุตรฟังธรรมย่อของพระอัสสชิก็เข้าใจพระพุทธศาสนาได้ทันที พระพุทธเจ้าได้ตรัสประทานพระโอวาทแก่ท่านพระมหากัสสปะ ๓ ข้อ คือ

 

ข้อ ๑ ให้ศึกษาว่า จักตั้งหิริ ความละอาย โอตตัปปะ ความเกรงกลัวอย่างแรงกล้าในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพระเถระ ทั้งที่เป็นนวกะ ทั้งที่เป็นมัชฌิมะ

ข้อ ๒ ให้ศึกษาว่า จักเงี่ยโสต ประมวลใจ ฟังธรรมที่ประกอบด้วยกุศลทุก ๆ อย่าง และ

ข้อ ๓ ให้ศึกษาว่า จักไม่ละกายคตาสติ คือสติที่เป็นไปในกาย อันประกอบด้วยความสำราญ คือให้พอใจเป็นสุขอยู่ในการเจริญสติที่ไปในกาย

ท่านกล่าวว่า พระมหากัสสปะเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงรับให้อุปสมบทด้วยพระโอวาท ๓ ข้อนี้ สันนิษฐานว่าทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทานั้นเอง แต่ว่าในเรื่องไม่ได้กล่าวไว้

ท่านพระมหากัสสปะได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ในวันที่ ๘ ท่านก็ได้บรรลุปัญญาความรู้ทั่วถึง ที่หมายถึงพระอรหัต เป็นผู้มีจิตพ้นจากอาสวะกิเลส ตามเรื่องก็แสดงว่า ภริยาของท่านก็ออกบวชอุทิศพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน และต่อมาก็ได้บวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา พระเถระที่เรียกว่ากัสสปะยังมีอีก ๔ องค์ คือ ท่านที่เป็นหัวหน้าปุราณชฎิลพันหนึ่งนั้น ได้แก่พระอุรุเวลกัสสปะ พระนทีกัสสปะ พระคยากัสสปะ อีกองค์หนึ่งคือ พระกุมารกัสสปะ รวมเป็น ๕ ทั้งท่านพระมหากัสสปะ ซึ่งเรียกตามชื่อโคตรและเติมมหาเข้าข้างหน้า ท่านได้เป็นกำลังสำคัญในพระพุทธศาสนาองค์หนึ่งตลอดมาจนถึงเวลาหลังพระพุทธปรินิพพาน

 

โอวาทของ ๓ พระสาวก

 

 

             คราวนี้จะกล่าวธรรมบางข้อของพระสาวกทั้ง ๓ นี้ พระสารีบุตร เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องว่า เป็นผู้มีปัญญาสามารถที่จะแสดงธรรมจักรและอริยสัจได้กว้างขวางพิสดารแม้นพระองค์ได้ ในบางคราวเมื่อมีภิกษุมาทูลลาจะเดินทางไปในต่างถิ่น ก็โปรดให้ไปลาท่านพระสารีบุตร ดั่งในคราวหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ที่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นจำนวนมากได้เข้าเฝ้าทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท ก็โปรดให้ไปลาพระสารีบุตร เมื่อภิกษุเหล่านั้นไปลาตามที่รับสั่ง พระสารีบุตรก็ถามว่า เมื่อภิกษุเหล่านั้นจะไปต่างประเทศต่างถิ่น ก็คงจะมีคนมีปัญญามาถามว่าครูของท่านสอนอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะตอบเขาว่าอย่างไร จึงจะไม่ผิดคำสั่งสอนของพระศาสดา และเป็นการถูกต้อง ภิกษุเหล่านั้นก็ขอให้ท่านแนะนำ ท่านก็แนะนำว่า ให้ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ครูของเราสอนให้ตัดความกำหนัดรักใคร่เสีย ถ้าเขาถามว่า ให้ละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งใด ก็ให้ตอบว่า ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าเขาถามอีกว่า เห็นโทษเห็นคุณอย่างไรจึงสอนอย่างนั้น ก็ให้ตอบว่า เมื่อยังมีความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้น ครั้นสิ่งเหล่านั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นก็จะเกิดความทุกข์มีโศกเป็นต้น เมื่อละเสียได้ ครั้นสิ่งเหล่านั้นแปรปรวนไป ทุกข์ก็จะไม่เกิด ครูของเราเห็นโทษและเห็นคุณอย่างนี้ จึงสอนอย่างนั้น

และมีอีกเรื่องหนึ่ง คือภิกษุองค์หนึ่งชื่อ ยมกะ ได้มีความเห็นว่าพระอรหันตขีณาสพตายสูญ ซึ่งเป็นความเห็นผิด และพวกภิกษุก็ช่วยกันเปลื้องทิฏฐินั้น แต่ไม่สำเร็จ จึงได้มาขอให้ท่านพระสารีบุตรช่วยเปลื้อง ท่านพระสารีบุตรก็ถามขึ้นว่า ท่านยมกะเห็นอะไรเป็นพระอรหันตขีณาสพ หรือว่าเห็นพระอรหันต์มีอยู่ในอะไร คือเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นพระอรหันต์ หรือเห็นว่า พระอรหันต์มีอยู่ในขันธ์ ๕ นั้น ท่านยมกะก็ตอบว่าไม่ใช่ ๆ ทุกข้อ ท่านพระสารีบุตรถามว่า ก็ไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว ควรจะพูดว่าพระอรหันต์ตายสูญหรือ ท่านยมกะก็ตอบว่า เมื่อก่อนไม่ได้มีความรู้อย่างนี้ ท่านพระสารีบุตรถามว่า ถ้าเขาถามว่า พระอรหันต์ตายแล้วเป็นอะไรจะแก้อย่างไร พระยมกะก็ตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เที่ยง ดับไปแล้ว นี่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรจะกำหนดเอาไว้ ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวอบรมต่อไปว่า เหมือนอย่างมีคฤหบดีซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง และรักษาตัวอย่างแข็งแรง มีบุคคลผู้หนึ่งคิดจะฆ่าแต่ไม่สำเร็จ จึงได้สมัครเข้าไปเป็นคนรับใช้ จนเป็นที่ไว้วางใจแล้วก็ลอบฆ่าเสีย ในขณะที่คฤหบดีผู้นั้นจะตาย ก็ไม่ได้คิดว่าผู้ที่รับใช้ตนเองนั้นเองเป็นผู้ฆ่าตน ฉันใดก็ดี บุคคลผู้ถือขันธ์ ๕ เป็นตน เมื่อขันธ์ ๕ ที่ตนยึดถือนั้นแปรปรวนไป ก็เป็นทุกข์ แต่ว่าเมื่อไม่ถือว่าเป็นอัตตาอยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ แปรปรวนไปอย่างใด ก็ไม่เป็นทุกข์

อีกเรื่องหนึ่ง ในระหว่างที่ท่านพระสารีบุตรพักอยู่ที่พระเวฬุวันนั้นเช้าวันหนึ่ง ท่านบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้อาหารมาแล้วก็มานั่งฉันอยู่ที่เชิงฝาเรือนแห่งหนึ่ง ในขณะนั้นได้มีนางปริพาชิกาคนหนึ่งชื่อว่า สูจิมุขี แปลว่ามีปากเหมือนอย่างเข็ม คงจะหมายความว่าชอบพูดทิ่มแทงคนอื่น ได้เข้าไปหาท่านแล้วก็กล่าวว่า ท่านสมณะนี้ก้มหน้าฉัน ท่านก็ตอบว่า เราไม่ได้ก้มหน้าฉัน นางสูจิมุขีก็กล่าวต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นก็แหงนหน้าฉัน ท่านก็ตอบว่า เราไม่ได้แหงนหน้าฉัน นางสูจิมุขีก็พูดขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นก็ต้องตั้งหน้าไปทางทิศใหญ่ฉัน ท่านก็ตอบว่า เราไม่ได้ตั้งหน้าไปทางทิศใหญ่ฉัน นางสูจิมุขีพูดขึ้นอีกว่า ถ้าเช่นนั้นท่านก็ตั้งหน้าไปทางทิศน้อยฉัน ท่านก็ตอบว่า เราไม่ได้ตั้งหน้าไปทางทิศน้อยฉัน

นางสูจิมุขีจึงกล่าวขึ้นว่า พูดอย่างใดท่านก็ปฏิเสธทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านฉันอย่างใด ท่านก็ตอบว่า ที่ท่านปฏิเสธนั้นก็เพราะสมณพราหมณ์เหล่าใดที่สำเร็จชีวิตด้วยติรัจฉานวิชา คือว่าวิชาดูที่ทางต่าง ๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้นเรียกว่า ก้มหน้าฉัน สมณพราหมณ์เหล่าใดสำเร็จชีวิตด้วยติรัจฉานวิชา คือว่าวิชาดูดาวนักษัตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็เรียกว่า แหงนหน้าฉัน สมณพราหมณ์เหล่าใดสำเร็จชีวิตด้วยติรัจฉานวิชา คือรับใช้เป็นทูตของเขา รับใช้ไปโน่นไปนี่ให้เขาตามแต่เขาส่งใช้ไป สมณพราหมณ์เหล่านั้นเรียกว่า ตั้งหน้าไปทางทิศใหญ่ฉัน สมณพราหมณ์เหล่าใดสำเร็จชีวิตด้วยติรัจฉานวิชา คือวิชาดูลักษณะอวัยวะร่างกาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นเรียกว่า ตั้งหน้าไปทางทิศน้อยฉัน ท่านไม่ได้สำเร็จชีวิตอย่างนี้ ท่านแสวงหาภิกษาโดยธรรมได้มาฉัน ท่านจึงเป็นผู้ที่ฉันโดยธรรม ท่านมีปฏิภาณในการโต้ตอบกับผู้ที่มากล่าวหา และท่านได้แสดงธรรมยาว ๆ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้เป็นพระสูตรอีกมาก เช่น สังคีตสุตร ทสุตตรสูตร ซึ่งเป็นแบบฉบับของวิธีการทำสังคายนา 

           ส่วน พระโมคคัลลานะ นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องว่า เป็นผู้ทำสกุลที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส เป็นผู้ไม่ทำศรัทธา ไม่ทำโภคะหรือทรัพย์ของตระกูลให้เสียหาย เหมือนอย่างแมลงผึ้งที่ถือเอาแต่รสของดอกไม้ ไม่ทำสีกลีบ กลิ่นของดอกไม้ให้เสียหาย ท่านเป็นผู้สามารถในการนวกรรมคือการก่อสร้าง เมื่อมีการก่อสร้างพระอาราม ท่านก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล เช่นดั่งนางวิสาขาสร้างบุพพารามในกรุงสาวัตถี ท่านก็ได้รับเป็นผู้ดูแล และคำสั่งสอนของท่านนั้นก็มีหลายอย่าง ดั่งเช่นที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้ร้อยกรองไว้ โดยชื่อว่า อนุมานสูตร คือพระสูตรที่แสดงถึงการอนุมานตนเอง ความย่อในพระสูตรนั้น ท่านได้สอนธรรมพวกภิกษุโดยความว่า ถ้าภิกษุปวารณาตนเอง คือบอกอนุญาตหรือขอให้เพื่อนสพรหมจารีตักเตือนตนได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ว่ายากแล้ว เพื่อนสพรหมจารีก็จะไม่ว่ากล่าว เหตุที่ทำให้ว่ายากนั้น ท่านยกขึ้นมาแสดงหลายข้อ เช่น ความโกรธ ความผูกโกรธ ความหงุดหงิด ตั้งแง่งอนต่าง ๆ การกล่าววาจาที่แสดงว่าโกรธเป็นต้น คราวนี้ ถ้าพระภิกษุปวารณาให้เพื่อนสพรหมจารีว่ากล่าวตักเตือนได้ ถ้าเป็นผู้ว่าง่ายคือเป็นผู้ที่พอจะตักเตือนได้ เพื่อนสพรหมจารีก็ตักเตือน เหตุที่ทำให้ว่าง่ายนั้นท่านก็ยกขึ้นเป็นข้อ ๆ ตรงกันข้ามกับเหตุที่ทำให้ว่ายาก ต่อจากนั้น ท่านสอนให้อนุมานตนเองคือให้ชั่งดู เทียบตนเองกับคนอื่น คือว่าคนอื่นเป็นคนที่ปรารถนาลามกเป็นต้น ก็ไม่เป็นที่ชอบใจแก่เราฉันใด ถ้าเราเป็นคนปรารถนาลามกเช่นนั้น ก็ไม่เป็นที่ชอบใจแก่คนอื่นเหมือนกัน แปลว่า ชั่งตนเอง ดูตนเองว่า บัดนี้เราเป็นอย่างไร เป็นคนที่ปรารถนาลามกคือปรารถนาไม่ดีอยู่หรือไม่ ถ้ารู้ว่าเราเองเป็นคนที่มีความปรารถนาลามกเช่นนั้น ก็ให้พยายามละเสีย และให้ตั้งใจศึกษาสำเหนียกอยู่ เพื่อจะปฏิบัติดั่งนั้น ทั้ง1กลางวันกลางคืน เหมือนหนุ่มสาวที่ส่องกระจกเพื่อจะแต่งหน้าแต่งตัว เมื่อเห็นส่วนไหนเป็นมลทิน ก็ต้องนำส่วนนั้นออกเสีย บุคคลก็เหมือนกัน ก็ใช้ปัญญาส่องตัวดูตัวเองและแต่งตนเองให้บริสุทธิ์หมดจด พระสูตรนี้ท่านแสดงที่ป่าสงวนเนื้อชื่อ เภสกลาวัน ภัคคชนบท

 ส่วน พระมหากัสสปะ นั้น ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในด้านที่มีวาทะกำจัดกิเลส พอใจแนะนำอบรมให้ภิกษุเป็นผู้มักน้อยเสมอ ยินดีในธุดงควัตร พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องท่านมากว่า เป็นผู้มีคุณธรรมเสมอด้วยพระองค์ เป็นผู้มีสันโดษด้วยปัจจัย ๔ เป็นผู้ที่มักน้อยและเป็นที่สมควรที่จะเข้าสกุลได้ ดั่งตรัสโอวาทหมู่ภิกษุให้ทำตนให้มีอุปมาเหมือนอย่างดวงจันทร์ คอยชักกายชักใจออกห่างสกุลอยู่เสมอ ทำตนให้เขาเห็นอย่างเป็นคนใหม่อยู่เสมอ ไม่ให้มีความคะนองในสกุลทั้งหลาย ท่านพระมหากัสสปะก็เป็นผู้มีคุณอย่างนั้น ควรเป็นตัวอย่างของภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้นแกว่งในอากาศ แล้วก็ตรัสว่า มือที่แกว่งในอากาศนี้ไม่ข้องอยู่ในอากาศฉันใด เมื่อภิกษุจะเข้าไปในสกุลก็ฉันนั้น อย่าให้จิตติดข้องอยู่ ตั้งจิตเป็นกลางว่า เขาปรารถนาลาภปรารถนาบุญ ก็จงได้ลาภได้บุญเถิด และให้ทำใจในเมื่อผู้อื่นได้ลาภให้เหมือนกับตนได้เองเถิด พระมหากัสสปะเป็นผู้มีคุณสมบัติดั่งกล่าวมานี้ จึงเป็นผู้สมควรจะเข้าสกุลได้

และพระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องว่า ธรรมเทศนาคือการเทศน์แสดงธรรมของท่านก็บริสุทธิ์ แล้วก็ตรัสการแสดงธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ คือถ้าภิกษุแสดงธรรมด้วยคิดว่า เขาจะเลื่อมใสในตน และจะทำอาการของผู้เลื่อมใสในตนธรรมเทศนาก็ไม่บริสุทธิ์ แต่ว่าถ้าภิกษุแสดงธรรมด้วยคิดว่าจะแสดงธรรมให้เขาฟังให้รู้เรื่อง แจ่มแจ้ง เห็นจริง เมื่อรู้แล้วจะได้ปฏิบัติ แสดงธรรมด้วยมุ่งที่จะให้เขาเข้าใจธรรม มีความกรุณา มีความเอ็นดู อนุเคราะห์ต่อเขา ไม่ได้มุ่งย้อนเข้ามาเพื่อตน ธรรมเทศนาดั่งนี้ จึงเรียกว่าบริสุทธิ์ ท่านมหากัสสปะเป็นผู้ที่มีธรรมเทศนาคือการแสดงธรรมที่บริสุทธิ์ดังกล่าวมานี้

พระมหากัสสปะ โดยปกติเป็นผู้ที่ถือธุดงค์คืออยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ทรงจีวร ๓ ผืนเป็นวัตร เป็นผู้ที่ไม่คลุกคลี พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านมหากัสสปะเป็นผู้ชราแล้ว มาฉันอาหารที่ทายกเขาถวายอยู่ในวัด ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า ท่านปฏิบัติดั่งนี้ก็เพราะประโยชน์ ๒ อย่าง คือ อย่างที่ ๑ ท่านเห็นว่า การปฏิบัติดั่งนี้เป็นความสุขในปัจจุบันของท่าน อย่างที่ ๒ ท่านเห็นว่า จะได้วางแบบให้เป็นตัวอย่างสำหรับภิกษุทั้งหลายในกาลต่อไปว่า ได้มีพระสาวกเป็นผู้ปฏิบัติเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงประทานสาธุการ

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๒๐ – ๑๒๙