Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๖

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

จะอธิบายธรรมที่เกี่ยวข้องในเรื่องของพระอัครสาวกทั้งสอง และจะชักภาษิตของท่านบางเรื่องมากล่าวก่อน ภาษิตของท่านพระอัสสชิที่ได้กล่าวแก่พระสารีบุตรเมื่อเป็นปริพาชกนั้น นับถือกันว่าเป็นคาถาแสดงหัวใจอริยสัจ และปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสมัยพระเจ้าอโศกเป็นอันมาก ฉะนั้น ก็ควรทำความเข้าใจเนื้อความบ้าง

 คาถาบทนี้ขึ้นต้นว่า เย ธมฺมา ที่มีคำแปลว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้นและความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ ที่จริงฟังดูก็น่าจะไม่รู้สึกสะกิดใจเท่าใด ตามเนื้อความที่กล่าวมานี้ ถ้าได้ฟังอริยสัจมาบ้าง ก็พอจะจับเค้าได้ แต่ถ้าไม่เคยฟังอริยสัจมา ก็ยากที่จะกำหนดให้เข้าใจ

 คราวนี้ จะอธิบายในฐานะที่ได้เคยฟังอริยสัจมาก่อน คือว่าเมื่อเคยฟังอริยสัจมาแล้วรู้ว่า อริยสัจนั้นมี ๔ ได้แก่ ๑. ทุกข์ ซึ่งเป็นผล . สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งเป็นเหตุ ทั้ง ๒ นี้เป็นผลและเหตุในด้านทุกข์ ๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ซึ่งเป็นผล  . มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งเป็นเหตุ นี้เป็นผลและเป็นเหตุในด้านความทุกข์ เมื่อได้เคยฟังอริยสัจมาและทราบหัวข้ออย่างนี้ ก็พอจับเค้าของคาถาของท่านได้ คือข้อว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ นี่ก็หมายถึงทุกข์ซึ่งเป็นผล นี่เป็นบาทที่ ๑ ของคาถานั้น ส่วนบาทที่ ๒ ว่า พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น นี่ก็คือตรัสสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ บาทที่ ๓ ว่า และความดับของธรรมเหล่านั้น นี่ก็เท่ากับแสดงนิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งรวมอยู่ในฝ่ายความดับทุกข์ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ ก็คือว่าตรัสสั่งสอนไว้อย่างนี้

 คราวนี้ ถ้าจะสรุปเข้าในคำสอนของพระพุทธเจ้าทั่ว ๆ ไป ในฐานะที่เคยเรียนมาแล้วก็พอสรุปได้คือว่า ในชั้นสามัญ พระพุทธศาสนาสอนว่า ผลที่ไม่ดีต่าง ๆ เกิดจากเหตุที่ไม่ดี อันเรียกว่า บาป ทุจริต หรืออกุศลกรรม ส่วนผลที่ดีต่าง ๆ ก็เกิดจากเหตุที่ดี อันเรียกว่า บุญ สุจริต กุศลกรรม คาถาของอัสสชินั้น บาทที่ ๑ ที่ว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ นี่ก็หมายถึงผล ทั้งที่เป็นส่วนดี ทั้งที่เป็นส่วนไม่ดี ที่บุคคลได้รับอยู่ในชีวิต บาทที่ ๒ ว่า พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น ก็คือทรงชี้ว่าบุญ สุจริต กุศล นี่เป็นเหตุของผลที่ดีต่าง ๆ ส่วนบาป ทุจริต อกุศล นี่เป็นเหตุของผลที่ไม่ดีต่าง ๆ นี่เข้าได้ใน ๒ บาทต้น แต่ว่าในบาทที่ ๓ ว่า ตรัสความดับของธรรมเหล่านั้นอันนี้ ก็อาจจะมาสรุปเข้าได้ด้วยอธิบายว่า ตรัสสอนให้ดับความชั่ว เพื่อจะได้ดับผลที่ชั่ว ดังที่สอนให้ละความชั่วทั้งปวงเสีย แต่ว่าถ้าในด้านของความดีแล้วท่านสอนให้ก่อคือให้ทำ ยังไม่ได้สอนให้ตัด แต่คราวนี้ ในการที่จะแสดงศาสนาให้บริบูรณ์นั้น จำจะต้องมีที่สุด ถ้าจะสอนให้ทำความดีกันเรื่อยไป ก็จะมีปัญหาว่า เมื่อไรจะสิ้นสุดกันเสียสักทีหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่มีที่สิ้นสุด ยังทำกันเรื่อยไป ก็ต้องแปลว่าศาสนานั้นยังสอนไม่จบ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายจะต้องมีที่สุด ชีวิตของบุคคลก็มีที่สิ้นสุด การเรียนของบุคคลที่จัดเป็นชั้นต่าง ๆ ก็มีที่สุด การงานก็มีที่สุด คือว่าทุก ๆ อย่างนั้นต้องมีขอบเขตที่สุดของตน เพราะฉะนั้น ศาสนาใดก็ตาม ถ้าหากว่าสอนให้ทำดีกันเรื่อยไป โดยที่ไม่มีขอบเขตว่าจะสิ้นสุดกันเมื่อไร ก็แปลว่าไม่จบ

 คราวนี้ ตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ท่านมีจบเหมือนกัน คือว่ามีจุดเป็นที่สุดดี คนเรายังต้องทำความดีกันอยู่นั้นก็เพราะยังไม่ถึงจุดอันนั้นคือจุดที่สุด จึงยังต้องการดี หรือว่าหวังดี แปลว่าความดียังไม่พอ จึงต้องหวัง จึงต้องมีความต้องการ ถ้าความดีเพียงพอแล้ว คือว่าถึงจุดที่เป็นที่สุดแล้ว ก็ไม่ต้องหวังดีหรือไม่ต้องหวังความดีอะไรต่อไป

 จุดที่จะเป็นที่สุดดีดั่งกล่าวนี้จะมีได้เมื่อใด มติทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้โดยความว่า จะมีได้ในเมื่อสิ้นอาสวะกิเลส เมื่ออาสวะกิเลสหมดสิ้นแล้ว ก็แปลว่า หมดความชั่ว และหมดสมุฏฐานของความชั่วทั้งหลาย เมื่อความชั่วพร้อมทั้งสมุฏฐานความชั่วหมดไปแล้ว ก็เสร็จกิจที่จะต้องทำความดีเพื่อฟอกล้างความชั่วอีกต่อไป อันนี้ที่ทางพระพุทธศาสนาเอาสำนวนพราหมณ์มาใช้ว่า เป็นผู้ลอยบุญลอยบาปแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อถึงจุดอันนี้ก็ชื่อว่าเป็นจุดที่สุดดี คือสุดสิ้นความดี ความดีขึ้นถึงขีดสูงสุดเพียงเท่านั้นแล้วก็เสร็จกิจ นี้เรียกว่าเป็นจุดดับ ก็แปลว่า ดับทั้งความดีดับทั้งความชั่ว เพราะว่าดับอาสวะกิเลสหมดสิ้น พระพุทธศาสนาจึงได้สอนถึงจุดของความดับอันนี้ ก็เป็นอันว่าเมื่อสอนถึงจุดอันนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าได้แสดงธรรมจบ ไม่เช่นนั้นก็ไม่จบ จะต้องทำกันเรื่อยไป

 ท่านพระสารีบุตรนั้น ท่านแสดงว่า เป็นผู้มีปัญญามาก สำเร็จก็ช้ากว่าเขา พวกบริวารนั้นทำอาสวะให้สิ้นไปก่อน พระโมคคัลลานะบวชได้ ๗ วัน จึงทำอาสวะให้สิ้นไปได้ ท่านพระสารีบุตรนี่ถึง ๑๕ วัน ท่านก็แสดงว่า เพราะเป็นผู้ที่มีปัญญามากนั่นเอง คิดมาก เมื่อมีปัญญามากก็ต้องมีจุดที่สงสัยมาก และจะต้องค้นคว้ามาก ท่านได้สดับคาถาของท่านพระอัสสชิ ทั้งที่ท่านไม่ได้เคยฟังพระพุทธศาสนามาก่อน แต่ท่านก็จับใจความได้ทันที

 คราวนี้ ก็น่าพิจารณาดูเหมือนกัน สำหรับทุก ๆ คนที่ไม่เคยได้สดับพระพุทธศาสนามาก่อน หรือสดับมาบ้าง เมื่อฟังคาถาของพระอัสสชิดั่งนี้แล้ว จะพึงเข้าใจได้อย่างไร หรือจะพึงจับใจความได้อย่างไร คิดดูดั่งนี้จะพอรู้สึกว่า ท่านมีปัญญามากจริง ๆ

 ต่อมาก็ควรพิจารณาถึงตอนที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระอัครสาวกทั้ง ๒ ว่า ทำไมจึงยกเวทนาขึ้นแสดง ท่านแสดงว่า คนที่มีตัณหาจริตหยาบ มักจะติดกาย เช่นว่า แต่งร่างกายให้สวยสดงดาม แต่งบ้านเรือน เครื่องใช้ เครื่องประดับต่าง ๆ ให้งดงาม ถึงแม้ว่าไม่สู้สบายนัก แต่ว่าขอให้งดงามก็แล้วกัน บางทีก็ต้องยอมเป็นทุกข์เพราะต้องการความงดงามนั้น นี่เรียกว่าติดกาย ถ้าผู้มีตัณหาจริตละเอียดขึ้น ก็มาติดเวทนา แต่โดยทั่วไปก็เรียกติดสุข คือไม่ค่อยคำนึงว่าจะงดงามหรือไม่งดงามอะไรสักเท่าไร ให้เป็นสุข มีสัปปายะ คือให้สบายก็แล้วกัน สำหรับที่ติดเวทนานี้ ออกจะมีตรงกันเป็นส่วนมาก คือว่าต้องการให้สบาย ให้มีที่อยู่ ก็เป็นสัปปายะคือสบาย อาหารก็เป็นที่สบาย เครื่องนุ่งห่มก็เป็นที่สบาย สิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการก็ให้เป็นที่สบาย แต่ว่าเวทนานั้น ไม่ใช่มีเพียงสบายอย่างเดียว ก็ยังมีไม่สบายกับเป็นกลาง ๆ อีกด้วย ฉะนั้น ถ้าไปติดเวทนา ก็เรียกว่าติดสุข หรือว่าติดสบาย ก็จะมีความเดือดร้อน และบางทีก็ไม่อาจที่จะทำอะไรได้ เพราะเกิดความไม่สบายขึ้นเสีย ยิ่งในการที่จะประกอบการงาน หรือในการเรียนที่จะต้องมีความทุกข์ต่าง ๆ ถ้าติดสุขหรือติดสบายแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทำได้

 ท่านพระอัครสาวกทั้ง ๒ นั้น ท่านเป็นบุตรอยู่ในตระกูลที่มั่งคั่ง มีความสุขมาก เมื่อมาบวชเข้าก็ต้องมาอาศัยนิสสัย ๔ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาลนั้น จะต้องใช้นิสสัย ๔ กันมากกว่าบัดนี้ ความไม่สบายก็จะต้องมีมากขึ้น เพราะการที่จะอยู่อาศัย การที่จะนุ่งห่ม การที่จะขบฉัน ก็ไม่เป็นไปตามที่ประสงค์ จะต้องไปบิณฑบาตเขามาฉันจริง ๆ อย่างนี้จะเอาให้ถูกกับความปรารถนาก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แหละ หากยังติดอยู่ ยังชอบสุขเวทนาอยู่ ถึงจะมีความรู้ความเข้าใจอะไรได้แจ่มแจ้งพอสมควรแล้วก็ตาม การ

ปฏิบัติก็ยังดำเนินไปไม่สะดวก อันนี้น่าเห็นว่า ทรงยกเวทนาขึ้นมาเน้น ก็เวทนาทั้ง ๓ ในขณะหนึ่งก็มีได้แต่เพียงอย่างหนึ่ง แต่ทุก ๆ อย่างก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีดับไป สิ้นไป ไม่ควรที่จะมายึดมั่น เพราะฉะนั้นเมื่อปล่อยเวทนา คือว่าปล่อยสุขเสียได้ ก็เป็นอันว่าท่านไม่มีกังวลอีกแล้ว จึงเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมแจ่มแจ้งหมด เป็นข้อที่ควรคิด อุปสรรคในการงาน ในการเรียน หรือในการทำความดีทุกอย่าง เนื่องมาจากติดสุขเป็นประการสำคัญอันหนึ่ง ถ้าสละความติดสุข ยอมเผชิญทุกข์ก็จะต้องทำการทำงาน จะต้องเรียน ต้องศึกษาได้อย่างสบาย เรียนอะไรก็เรียนได้ ทำงานอะไรก็ทำได้ จะไปไหนก็ไปได้

 อีกข้อหนึ่ง ก็เรื่องที่ท่านว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น นี่เป็นหลักของทางพระพุทธศาสนาทีเดียว บาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย แปลว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น มีอรรถคล้ายกับที่เราสวดกันเวลาเช้า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่ก็พึงเข้าใจว่า ธรรมบทนี้เป็นปรมัตถธรรม คือธรรมที่เป็นอรรถเป็นอย่างสูง พระพุทธเจ้าจะแสดงก็แต่ผู้ที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลเท่านั้น ถ้าบุคคลสามัญก็ไม่ตรัสธรรมนี้

 ธรรมทั้งปวงนั้น ถ้าพูดอย่างสามัญก็แบ่งออกเป็นกุศลธรรมส่วนหนึ่ง อกุศลธรรมส่วนหนึ่ง ในเบื้องต้นท่านก็สอนให้ละอกุศล แต่ว่าสอนให้ทำกุศลยึดมั่นในกุศล ปล่อยอกุศล นี่ยังต้องยึด คือว่าทิ้งชั่ว ยึดดีเอาไว้ ดีนั้นทิ้งไม่ได้ ต้องยึดเอาไว้ เพราะว่าทุก ๆ คนนั้นยังไม่ถึงจุดสุดดี ดั่งที่กล่าวแล้ว ยังต้องมีความดีที่จะทำต่อไป แต่ว่าเมื่อทำความดีเรื่อย ๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด หากยังจะยึดความดีนั้นอยู่ ก็แปลว่ายังไม่เสร็จกิจ เหมือนอย่างว่าเราเรียนไปจนจบชั้นสูงสุดแล้ว และยังจะยึดชั้นนั้นอยู่ ไม่ยอมออก อย่างนี้ก็แปลว่าไม่สำเร็จ ไม่จบ เพราะฉะนั้น ในขั้นที่ถึงจุดที่เป็นที่สุดดีแล้ว ก็ต้องปล่อยวางทั้งหมด ถ้ายังยึดอยู่ ก็แสดงว่ายังมีตัณหาอุปาทาน ความปรารถนาและความยึดถือ ตัณหาอุปาทานนั้นเป็นตัวกิเลส ยังมีกิเลสอยู่ก็แปลว่ายังไม่สิ้นกิเลส อื่น ๆ หมดไปแล้ว แต่ว่ายังรักษาตัณหาอุปาทานไว้ เพราะฉะนั้น ต้องสละตัณหาอุปาทานออกไปเสียให้หมด ปล่อยวางทั้งหมด นั่นแหละจึงจะถึงจุดสุดดี ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ในขั้นสุดท้ายนี้เท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงจะสอนให้ไม่ยึดมั่นธรรมทั้งปวง ในขั้นสามัญ ท่านไม่สอนอย่างนี้ จะต้องยึดดีเอาไว้ละความชั่วไปโดยลำดับ เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมต้องอย่าให้ผิดที่ ถ้าหากว่าแสดงผิดที่ก็จะเกิดความไขว้เขวสับสนไปหมด แล้วก็จะไม่เข้าใจ

 เมื่อท่านพระอัครสาวกออกบวชนั้น มีพวกกุลบุตรที่มีชื่อเสียงในเมืองมคธพากันบวชมากขึ้น ๆ จนชาวบ้านชาวเมืองพากันกล่าวโพนทะนาว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติทำให้คนไม่มีลูก ทำให้หญิงเป็นหมันเป็นหม้าย ทำให้ตระกูลขาด เมื่อชาวบ้านเห็นพระออกเที่ยวบิณฑบาทก็จะพากันว่า พวกพระเหล่านี้พากันมาอีกแล้ว แนะนำเอาคณะของอาจารย์สัญชัยไปบวชกันมากมายแล้ว คราวนี้จะแนะนำเอาใครไปบวชอีก พระก็มากราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า เสียงเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในพระศาสนาของพระองค์ จะมีอยู่อย่างนานประมาณ ๗ วัน แล้วก็ทรงสั่งให้พระตอบไปว่า พระตถาคตทั้งหลายย่อมแนะนำด้วยสัจจธรรม คือด้วยธรรมที่ดีจริง ผู้ที่รู้อยู่ดั่งนี้ว่า ท่านสั่งสอนแนะนำโดยธรรม ก็ไม่ควรจะมีความขึ้งเคียดเดียดฉันท์ พิจารณาดูตามเรื่อง ผู้ที่มาบวชในระยะนั้น ที่มีชื่อเสียงปรากฏ โดยมากเป็นผู้ที่ออกบวชแล้ว อย่างพระอัครสาวกทั้ง ๒ กับบริวารนั้น ก็ออกบวชในสำนักของสัญชัยอยู่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งออกจากบ้านจากเรือนใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นเสียงเหล่านั้นก็อาจจะเป็นเสียงที่มาจากพวกนักบวชลัทธิต่าง ๆ ที่ต้องเสียศิษย์ของตนไป เพราะเข้ามาบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า

 

 จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๑๔ – ๑๒๐