Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๕

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พระอัครสาวก

 

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงรับพระเวฬุวันเป็นพระอาราม ได้ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันนั้น ท่านว่าได้ประทับอยู่ในพรรษาที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ และในระหว่างที่ประทับอยู่นี้ ทรงได้ พระอัครสาวก คือ พระสาวกผู้เลิศเบื้องขวาและเบื้องซ้ายที่พระเวฬุวัน พระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระโมคคัลลานเถระ ประวัติของท่านโดยย่อมีว่า

ที่ใกล้กรุงราชคฤห์นั้น ได้มีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่ ๒ หมู่ หัวหน้าของหมู่บ้านนั้นได้เป็นสหายสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน และต่างก็ได้มีบุตรชาย หัวหน้าหมู่บ้านพราหมณ์หมู่หนึ่งตั้งชื่อบุตรว่า อุปติสสะ ในฐานะที่เป็นชื่อของหมู่บ้านนั้น และเป็นบุตรของหัวหน้า หัวหน้าหมู่บ้านพราหมณ์อีกหมู่หนึ่งตั้งชื่อบุตรว่า โกลิตะ ใช้ชื่อหมู่บ้านนั้นมาเป็นชื่อบุตรของหัวหน้า อุปติสสะและโกลิตะเมื่อเติบโตขึ้นต่างก็ได้เล่าเรียนศึกษาจนได้สำเร็จการศึกษาตามลัทธิของตน และก็ได้ไปเที่ยวเตร่ด้วยกันอยู่เสมอ เช่นได้ไปเที่ยวดูมหรสพที่มีอยู่บนยอดเขาเป็นการประจำปี และก็ได้เคยเบิกบานรื่นเริงหรือเศร้า หรือว่าตกรางวัลแก่ผู้แสดงไปตามบทบาท แต่เมื่อมีญาณแก่กล้าขึ้น แปลว่าถึงคราวที่จะออกบวช ในคราวหนึ่งก็เกิดความสังเวชใจ ไม่รู้สึกสนุกในการดูมหรสพนั้น ยิ่งคนดูเขาหัวเราะกัน รื่นเริงกัน ก็กลับรู้สึกสังเวชใจ เพราะนึกว่าอีกไม่ช้าเท่าไร ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็จะพากันตายไปหมดสิ้น และเมื่อสังเกตเห็นอาการของกันและกันเป็นดั่งกล่าวนี้ ก็เลยชวนกันไปบวชเป็นปริพาชกในสำนักของสัญชัยซึ่งเป็นอาจารย์ เมื่อได้ศึกษาลัทธิของอาจารย์สัญชัยนั้นแล้ว ก็เห็นว่าไม่มีสาระ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปพบใครที่ไหนซึ่งจะสอนได้ดีกว่า จึงพากันตั้งกติกาไว้ว่า ถ้าใครพบอมตธรรมคือธรรมที่ไม่ตายก่อนก็ให้บอกแก่กัน

ในวันหนึ่ง อุปติสสะได้พบท่าน พระอัสสชิ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ ได้เห็นอาการของท่านเป็นที่น่าเลื่อมใส ก็เกิดความสนใจ แต่เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะไต่ถาม จึงได้เดินตามท่านไป เมื่อท่านบิณฑบาตกลับ ฉันเสร็จแล้ว จึงเป็นโอกาส ก็เรียนถามท่านว่า ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร

ท่านพระอัสสชิก็กล่าวตอบว่า ท่านบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสด็จออกผนวชจากศักยสกุล พระองค์เป็นพระศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของพระองค์

อุปติสสะก็ขอให้ท่านแสดงธรรมนั้นให้ฟัง ท่านอัสสชิก็กล่าวตอบว่าท่านเพิ่งเข้ามาบวช ยังไม่อาจที่จะแสดงให้พิสดารกว้างขวาง จะแสดงได้ก็โดยย่อ

อุปติสสะก็กล่าวตอบว่า แสดงพยัญชนะมากแต่ไม่ได้เนื้อความอะไรก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร ก็ขอให้แสดงแต่โดยใจความ

         ท่านพระอัสสชิก็แสดงธรรมโดยย่นย่อให้ฟัง ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้มาร้อยกรองเป็นพระคาถาไว้ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด หรือเกิดแต่เหตุ เตสํ เหตํุ ตถาคโต พระตถาคต กล่าวเหตุของธรรมเหล่านั้น เตสญฺจ โย นิโรโธ จ และความดับของธรรมเหล่านั้น เอวํ วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ อุปติสสะเมื่อได้ฟัง ก็เกิด ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ครั้นแล้วอุปติสสะก็ลาท่านไปพบโกลิตะผู้สหาย เพราะได้ระลึกถึงสัญญาที่ได้ทำกันไว้ ว่าใครพบอมตธรรมก่อนจงบอกแก่กัน เมื่อพบโกลิตะก็ได้ไปกล่าวธรรมนี้ให้โกลิตะฟัง โกลิตะเมื่อได้ฟังแล้วเกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน แล้วก็พากันไปหาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ เล่าเรื่องให้ฟังแล้ว กล่าวชักชวนอาจารย์ให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า สัญชัยผู้เป็นอาจารย์ก็ไม่ยอม เพราะมีมานะว่าได้เป็นคณาจารย์เจ้าลัทธิอยู่แล้ว จะกลับไปเป็นศิษย์ของผู้อื่นอีกนั้นก็เหมือนอย่างเอาจระเข้ไปใส่ในตุ่มน้ำ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในอรรถกถาธรรมบทยังมีเล่าไว้ว่า สัญชัยผู้เป็นอาจารย์นั้นได้ถามว่า ในโลกนี้มีคนฉลาดมากหรือมีคนโง่มาก อุปติสสะและโกลิตะก็ตอบว่า คนโง่มีมากกว่า อาจารย์สัญชัยก็กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้คนฉลาดไปหาพระพุทธเจ้า ให้คนโง่มาหาตนก็แล้วกันก็เป็นอันว่าไม่ยอมไป

อุปติสสะและโกลิตะก็ลาอาจารย์ พาเอามาณพที่เป็นบริวารของตนที่ว่ามีจำนวน ๒๕๐ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ประทานให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งหมด ฝ่ายบริวารนั้นเมื่อได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้บำเพ็ญเพียร ไม่ช้านักก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ส่วนพระโกลิตะ ที่ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า พระโมคคัลลานะ ตามชื่อมารดาว่าโมคคัลลี โมคคัลลานะ ก็แปลว่าบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี ท่านอุปสมบทได้ ๗ วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ ณ บ้าน กัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธนั้น ในเวลานั้น พระศาสดาได้ประทับอยู่ในสวน เภสกลาวัน ซึ่งเป็นที่ให้เหยื่อแก่เนื้อหรือเป็นป่าเนื้อ ใกล้เมืองหลวงแคว้นภัคคะ อันชื่อว่า สุงสุมารคิระ พระโมคคัลลานะเมื่อบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคามนั้นได้นั่งโงกง่วงอยู่ พระพุทธเจ้าได้ทรงทราบ ก็ได้เสด็จไปประทานพระโอวาท ตรัสบอกอุบายแก้ง่วงต่าง ๆ เมื่อจะสรุปลงแล้วก็ได้เป็นข้อ ๆ ดั่งนี้

ข้อ ๑ เมื่อมนสิการคือทำไว้ในใจ ซึ่งสัญญาคือความกำหนดหมายในข้อใด เกิดความง่วงขึ้น ก็ให้ทำมนสิการสัญญาข้อนั้นให้มากขึ้น

ข้อ ๒ ตรึกตรองพิจารณาธรรมที่ได้ฟังได้เรียนมาด้วยใจ

ข้อ ๓ ให้สาธยายคือท่องบ่นธรรมโดยพิสดาร

ข้อ ๔ เอามือยอนหูทั้ง ๒ ข้าง หรือว่าลูบด้วยฝ่ามือ

ข้อ ๕ ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศ แหงนหน้าดูดาว

ข้อ ๖ มนสิการคือทำไว้ในใจซึ่งอาโลกสัญญา คือกำหนดความสว่าง ให้มีความสว่างเหมือนอย่างกลางวัน อันปรากฏอยู่ในใจ ทำใจให้เปิด ไม่ให้ถูกหุ้มห่อ ให้สว่าง

ข้อ ๗ จงกรมคือเดินไปเดินมา สำรวมอินทรีย์และสำรวมจิต ไม่คิดออกไปภายนอก และ

ข้อ ๘ ก็ให้นอน ที่เรียกว่า สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ไม่คิดทำความสุขในการนอน และตั้งสติกำหนดจะตื่นขึ้น ลุกขึ้น

วิธีแก้ง่วงทั้ง ๘ ข้อนี้ ตรัสสอนเป็นวิธีแก้เพื่อเลือกใช้ข้อใดข้อหนึ่ง ข้อ ๑ ไม่สำเร็จก็ให้ใช้ข้อ ๒ เป็นต้น จนในที่สุดเมื่อไม่สำเร็จก็ต้องนอนทันที เมื่อประทานวิธีแก้ง่วงดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสพระโอวาทอีก ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ไม่ควรชูงวงเข้าสกุล หมายความว่า ไม่ควรตั้งมานะว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ ที่เขาต้องนับถือ เขาจะต้องต้อนรับเข้าไปสู่ประตู เพราะถ้าหากว่าคนในสกุลเขามีการงานมาก เขาไม่ได้ใส่ใจถึง ก็จะให้เกิดเก้อเขินคิดไปในทางต่างๆ เกิดความฟุ้งซ่าน จิตเลยไม่สำรวม ก็จะห่างจากสมาธิ

ข้อ ๒ ไม่พูดคำที่เป็นเหตุโต้เถียงกันคือผิดใจกัน เพราะจะต้องพูดมากทำให้ฟุ้งซ่าน ทำให้จิตไม่สำรวม ซึ่งทำให้ห่างจากสมาธิได้เช่นเดียวกัน และ

ข้อ ๓ ได้ตรัสว่า พระองค์ทรงติการคลุกคลี แต่ว่ามิใช่ติไปทุกอย่าง สรรเสริญก็มี คือทรงติ ไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่ชน แต่ว่าทรงสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะอันสงัด คืออยู่ในที่นอนที่นั่งอันสงัด

 

พระโมคคัลลานะได้กราบทูลถามว่า ด้วยข้อปฏิบัติเท่าไร ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา สำเร็จถึงที่สุด เกษมจากโยคะคือกิเลสที่เป็นเครื่องประกอบจิตไว้ถึงที่สุด เป็นพรหมจารีถึงที่สุด ถึงสุดทางกันจริง ๆ เป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบโดยความว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็พิจารณาให้ทราบชัดลักษณะของธรรมทั้งปวงนั้น กำหนดธรรมทั้งปวงนั้นว่าไม่ควรยึดมั่นอย่างไร เมื่อเสวยเวทนาคือ สุข ทุกข์ หรือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยความหน่าย ความดับ และความสลัดคืน ไม่ยึดมั่น ไม่สะดุ้ง จึงเป็นผู้ดับกิเลสเฉพาะตัว และจึงเป็นผู้รู้ว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว

พระโมคคัลลานะเมื่อได้สดับพระพุทธานุสาสนีแล้วได้ปฏิบัติ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น

           ส่วนพระอุปติสสะ ที่ในศาสนานี้เรียกท่านตามชื่อมารดาว่า พระสารีบุตร คือเป็นบุตรของนางสารีพราหมณี บวชแล้วได้กึ่งเดือน ได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปบนเขา คิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ในวันนั้นพระพุทธเจ้าได้ประทับที่ถ้ำชื่อว่า สุกรขาตา ในเขาคิชฌกูฏนั้น มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อ ทีฆนขะ ซึ่งเป็น อัคคิเวสสนโคตร ได้เข้าไปยืนเฝ้า ท่านพระสารีบุตรได้นั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์และถวายงานพัดพระพุทธเจ้าอยู่

 ปริพาชกนั้นได้ทูลถามถึงทิฏฐิคือความเห็นของตนว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจหมดทุกสิ่ง

 พระพุทธเจ้าได้ตรัสโดยใจความว่า ถ้าอย่างนั้น ทิฏฐิคือความเห็นเช่นนั้นก็ต้องไม่ควรแก่ปริพาชกนั้น ปริพาชกนั้นก็ต้องไม่ชอบทิฏฐินั้นเหมือนกัน

 ทิฏฐิ คือความเห็นต่างๆ นั้น เมื่อสรุปลงแล้วก็มีเพียง ๓ คือ

. เห็นว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่ตน ตนชอบใจหมด

. เห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจหมด

            ๓. เห็นว่า บรรดาสิ่งทั้งปวงนั้น บางสิ่งก็ควรแก่ตน ตนชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจ

ทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ ทิฏฐิที่ ๑ ใกล้ต่อความยินดีพอใจ ทิฏฐิที่ ๒ ใกล้ต่อความขัดใจ ทิฏฐิที่ ๓ ใกล้ทั้ง ๒ อย่าง คือบางอย่างก็ใกล้ต่อความยินดีพอใจ บางอย่างก็ใกล้ต่อความไม่ชอบ เป็นอันว่าทิฏฐิทุก ๆ อย่างนั้น เป็นเหตุให้เจริญกิเลสได้ทั้งนั้น เพราะว่าถ้าถือมั่นในทิฏฐินั้นอันใดว่าเป็นจริง ทิฏฐิอื่นเป็นโมฆะ คือว่าเปล่าหมด ก็จะต้องผิดจากอีก ๒ พวก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องวิวาทกัน จะต้องพิฆาตกัน เบียดเบียนกัน ผู้รู้เมื่อพิจารณาเห็นโทษของความถือมั่นในทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งกล่าวมานี้ จึงได้ละทิฏฐินั้น และไม่ทำทิฏฐิอื่นให้เกิดขึ้น

ต่อจากนั้นได้ตรัสถึงกายอันนี้ ซึ่งเป็นที่ประชุมมหาภูตทั้ง ๔ อันได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นเพราะการทำนุบำรุงด้วยอาหารต่างๆ เป็นกายที่จะต้องแตกทำลายเป็นธรรมดา ก็ควรจะพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

ครั้นแล้วได้ทรงแสดง เวทนา ๓ คือเมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนาในเวลาใด เวลานั้นก็ย่อมไม่ได้เสวยทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา เสวยทุกขเวทนาเวลาใด ในเวลานั้นก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา เสวยอทุกขมสุขเวทนาเวลาใด ในเวลานั้นก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา คือรับเวทนาทีละอย่างในเวลาหนึ่ง เวทนาทั้ง ๓ นั้นก็เป็นของที่ไม่เที่ยง เป็นของที่มีการปรุงแต่ง เป็นของที่อาศัยเหตุเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไปได้ จนถึงดับไปเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาให้เห็นความจริงในเวทนาดั่งนี้ ก็จะเกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เหมือนดั่งที่แสดงในอนัตตลักขณสูตร

เมื่อพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมนี้แก่ฑีฆนขปริพาชกนั้น ท่านพระสารีบุตรได้นั่งถวายงานพัดไปพลางฟังไปพลาง และพิจารณาตามเห็นว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ละให้สละคืน เพราะความรู้จริงเห็นจริงในธรรมเหล่านี้ เมื่อพิจารณาอยู่จิตก็พ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น

ส่วนทีฆนขปริพาชก เพียงแต่ได้ดวงตาเห็นธรรม และท่านแสดงว่าปริพาชกนั้นก็เป็นหลานของพระสารีบุตร ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อจะไปสืบฟังข่าวของพระสารีบุตรว่า เมื่อบวชแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง จึงได้ไปเฝ้าและได้ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงทิฏฐิคือความเห็นของตน เป็นอันว่าไม่ชอบใจอะไรทั้งนั้น เท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธว่าไม่ชอบใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วย แต่ก็ไม่ปฏิเสธโดยตรง ยกเอาทิฏฐิขึ้นมาว่าให้คลุมไปถึง พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสชักเข้าหาเหตุผลและชักเข้าหาธรรมปฏิบัติ

           พระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องว่าเป็นเลิศในทางมีฤทธิ์มาก พระสารีบุตร พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องว่าเป็นเลิศในทางมีปัญญามาก พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ดังที่เมื่อสร้างพระพุทธปฏิมา ก็มักจะสร้างรูปพระอัครสาวกทั้งคู่ให้ยืนหรือนั่งอยู่ ๒ ข้างด้วย และก็สร้างเหมือน ๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ที่จะสังเกตได้ว่า ท่านองค์ไหนเป็นพระสารีบุตร ท่านองค์ไหนเป็นพระโมคคัลลานะ ก็ให้สังเกตว่าเบื้องขวาขององค์พระพุทธปฏิมาก็เป็นพระสารีบุตรเถระ เบื้องซ้ายขององค์พระพุทธปฏิมาก็เป็นพระโมคคัลลานเถระ เมื่อเราหันหน้าเข้าก็กลับด้าน คือด้านซ้ายของเราเป็นพระสารีบุตร ด้านขวาของเราก็เป็นพระโมคคัลลานะ และได้ถือเป็นธรรมเนียมในการจัดลำดับโดยปกติดั่งนี้ เช่น นาคที่มีอายุมากกว่าก็อยู่ทางด้านขวาของพระอุปัชฌาย์ นาคที่มีอายุน้อยกว่าก็อยู่ทางด้านซ้ายของพระอุปัชฌาย์ ตัวนาคเองเมื่อหันหน้าเข้าไปก็รู้สึกว่าสับกันคนละข้าง แต่ว่าถือเอาขวาและซ้ายของสิ่งที่เป็นประธานนั้นไว้เป็นหลัก

 

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๑๐๖ – ๑๑๔