Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๔

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พรรษาที่ ๒ - ๔

พระเวฬุวัน
กรุงราชคฤห์

มคธ – พระเจ้าพิมพิสาร

 

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอบรมปุราณชฎิลจนได้อุปสมบท และได้ฟังธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะนั้นตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว ก็ได้ทรงนำภิกษุทั้งหมดนั้นเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมคธรัฐ

 มคธรัฐ ปรากฏตามหลักฐานต่าง ๆ ว่า ในเวลานั้นเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมีอำนาจมาก เมืองหลวงเรียกกันโดยมากว่า ราชคหะ แต่ในภาษาไทยเรียกว่า ราชคฤห์ ในสมัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พิมพิสาร ในบาลีใช้คำเรียกว่า ราชา มาคโธ เป็นคำยกย่องเท่ากับเป็นมหาราชแห่งแคว้นมคธ และใช้คำนำพระนามว่า เสนิโย คือมีคำต่อไปว่า เสนิโย พิมฺพิสาโร เป็นคำไทยว่า พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นจอมทัพ ปรากฏเรื่องว่า กรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นนครหลวงนั้น ตั้งอยู่ในระหว่างภูเขา ๕ ลูก คือ เขาคิชฌกูฏ เขาเวภาระ เขาเวปุลละ เขาอิสิคิลิ และเขากาลกูฏ ล้อมรอบคล้ายเป็นคอก เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า คิริพพชะ แปลว่า คอกเขา เมืองหลวงเดิมว่าตั้งอยู่บนเนินเขา แต่ว่าถูกไฟไหม้บ่อย ๆ พระเจ้าพิมพิสารจึงย้ายลงมาตั้งที่เชิงเขาข้างล่างซึ่งเป็นที่ราบ แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างแห่งภูเขาทั้ง ๕ นั้น

 ต่อมาปลายสมัยพุทธกาล พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้ไปสร้างเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่ง ภายนอกจากวงล้อมของเขาทั้ง ๕ ลูกนั้นทางด้านทิศเหนือ กรุงราชคฤห์เจริญมีคนมาก คณาจารย์เจ้าลัทธิไปอาศัยอยู่มาก และก็ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงอุปถัมภ์ลัทธิต่าง ๆ ตามควร หรือไม่อุปถัมภ์ก็ไม่ทรงเบียดเบียน ปล่อยให้มีความสะดวกในการที่จะแสดงลัทธิของตน ๆ ในสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงได้แคว้นกาสิกคามเป็นของขวัญจากแคว้นโกศล ในคราวทรงอภิเษกสมรสกับพระราชกนิษฐภคินีของพระเจ้าปเสนทิแห่งแคว้นโกศลดั่งที่ได้เล่าแล้ว

พระพุทธเจ้าได้เสด็จมุ่งไปสู่กรุงราชคฤห์ก่อน อย่างหนึ่งว่าเพื่อทรงเปลื้องปฏิญญาที่ได้ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร อีกอย่างหนึ่งว่าเพื่อทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในที่ที่เจริญก่อน

            ข้อที่ว่าทรงเปลื้องปฏิญญานั้น ดั่งที่มีเรื่องเล่าว่า เมื่อได้เสด็จออกทรงผนวชทีแรกในขณะที่เสด็จไปลองทรงศึกษาบ้าง ทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เองบ้าง เพื่อประสบโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์นั้น ก่อนที่จะเสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งเป็นสถานที่ทรงทำความเพียรจนตรัสรู้ ก็ได้ทรงผ่านกรุงราชคฤห์ และประทับอยู่ที่เขา ปัณฑวะ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบก็ได้เสด็จไปเพื่อทรงพบ และตามเรื่องเล่าว่า พระเจ้าพิมพิสารได้ตรัสถามถึงเหตุที่ทรงออกผนวช เมื่อได้ทรงตอบแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้รับสั่งชวนให้ทรงลาผนวช จะทรงแบ่งราชสมบัติให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรับ เมื่อเป็นเช่นนี้พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงขอให้เสด็จกลับมาแสดงธรรมในเมื่อได้ทรงประสบพบธรรมนั้นแล้ว ฉะนั้น เมื่อได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้เสด็จมายังกรุงราชคฤห์ก่อนประเทศหรือนครอื่น

อีกอย่างหนึ่ง ทรงมุ่งจะมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในที่ที่มีความเจริญก่อน เพราะวิธีประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น จะเห็นได้ว่า ได้ทรงประกาศแก่นักบวช ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมา มุ่งดีมา และเป็นผู้คงแก่เรียนมาแล้ว ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็ทรงมุ่งประกาศแก่บุคคลที่เป็นหัวหน้าคน เช่นพระเจ้าแผ่นดิน มหาอำมาตย์ และแก่พราหมณ์คฤหัสถ์ ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนต่าง ๆ เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้ดวงตาเห็นธรรม รับนับถือพระพุทธศาสนาแล้วคนอื่น ๆ ก็นับถือตามไปด้วยเป็นอันมาก หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดความสนใจ ตั้งใจที่จะสำเหนียกศึกษาปฏิบัติ เพราะบุคคลที่ได้ทรงแสดงธรรมโปรดก่อนเหล่านั้นก็ล้วนเป็นที่เคารพนับถือของเหล่าประชาชน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงได้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว และพระพุทธเจ้าเองก็ทรงปลอดภัยจากบรรดาผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเป็นต้น เพราะว่าได้ทรงให้บรรดาผู้มีอำนาจเหล่านั้นยอมรับนับถือ ทั้งได้ทรงปฏิบัติพระองค์เองไม่ทรงข้องแวะกับการบ้านการเมืองทุก ๆ อย่าง ทรงมุ่งประกาศพระพุทธศาสนาไปโดยส่วนเดียว ดั่งจะพึงเห็นได้จากพระพุทธประวัติที่จะกล่าวในอันดับต่อไป

เมื่อเสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์นั้น ไม่ได้เสด็จเข้าไปทีเดียว ได้ประทับพักที่ ลัฏฐิวัน อันแปลว่า สวนตาลหนุ่ม น่าจะเป็นสถานที่สำหรับปลูกเพาะต้นตาล พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบกิตติศัพท์ คือเสียงที่พูดเล่าลือกันว่า พระสมณโคดม ผู้ศักยบุตร ออกผนวชจากศักยตระกูล ได้เสด็จมายังกรุงราชคฤห์ เวลานี้ได้พักอยู่ที่ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่ม กิตติศัพท์คือเสียงที่พูดกันระบือถึงพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ฟุ้งขจรไปว่า พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ศาสนาพร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริบูรณ์บริสุทธิ์ทั้งหมด ฉะนั้นการที่จะได้พบได้เห็นพระอรหันต์เห็นปานนั้นเป็นกิจที่ดีที่ชอบ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งบริวาร ๑๒ นหุต เป็นพวกพราหมณ์คฤหบดีชาวกรุงมคธก็ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับนั้น องค์พระมหากษัตริย์เองได้ทรงอภิวาทพระพุทธเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพวกพราหมณ์คฤหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตได้แสดงกิริยาต่าง ๆ กัน บางพวกก็ถวายอภิวาท บางพวกก็กล่าววาจาปราศรัยชื่นชมยินดี บางพวกก็เพียงพนมมือไปทางพระพุทธเจ้า บางพวกก็ร้องประกาศชื่อโคตรของตน บางพวกก็เพียงเฉย ๆ อยู่ ทั้งหมดก็นั่งอยู่ตามที่อันควรแก่ตน ท่านแสดงว่า บริษัทเหล่านั้นโดยมากสงสัยว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของท่านอุรุเวลกัสสปะ หรือว่าท่านอุรุเวลกัสสปะนั้นประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าได้ทรงทอดพระเนตรเห็นอาการของบริษัทที่ยังมีความเคลือบแคลงอยู่ดั่งกล่าว ก็ได้ตรัสถามท่านอุรุเวลกัสสปะขึ้น โดยความว่าท่านได้เห็นอะไรจึงได้ละทิ้งลัทธิบูชายัญเดิมของตนเสีย ท่านอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า ลัทธิบูชายัญนั้น สรรเสริญกาม คือสิ่งที่น่าปรารถนาพอใจ เช่น รูป เสียง กลิ่น รสและสรรเสริญสตรี ท่านได้รู้ว่านั่นเป็นมลทิน จึงไม่ยินดี

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านยินดีอะไร

ท่านอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า ท่านเห็นธรรมที่สงบไม่มีกิเลสที่เป็นเครื่องข้องเกี่ยว เป็นธรรมที่ไม่แปรปรวนเป็นอย่างอื่น เป็นธรรมที่ไม่มีผู้อื่นจะพึงแนะนำได้ นอกจากจะพึงรู้ด้วยตนเอง ท่านได้ประสบพบเห็นธรรมนั้นแล้ว จึงไม่ยินดีในลัทธิวิธีบูชายัญ

ครั้นท่านกราบทูลแล้ว ท่านก็ได้ซบศีรษะลงที่พระบาทของพระพุทธเจ้า แล้วก็กราบทูลขึ้นว่า พระองค์เป็นศาสดาของตน ตนเป็นสาวก

บริษัททั้งหมดนั้น ครั้นได้ฟังจึงเกิดเลื่อมใส สิ้นความเคลือบแคลงสงสัย พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดง อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ซึ่งท่านแสดงว่า บริษัททั้งหมดเมื่อได้ฟังแล้ว ๑๑ ส่วนได้เกิดดวงตาเห็นธรรม และอีกส่วน ๑ ได้ตั้งอยู่ในสรณคมน์

ครั้นแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้กราบทูลแสดงว่า ความปรารถนาของพระองค์ได้ตั้งไว้ ๕ ข้อ ได้สำเร็จบริบูรณ์ในบัดนี้แล้ว คือ

ข้อที่ ๑ ได้ทรงตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอให้ได้ทรงอภิเษกเป็นพระราชาแห่งมคธรัฐ

ข้อที่ ๒ ขอให้พระอรหันต์ได้มาสู่แว่นแคว้นของพระองค์

ข้อที่ ๓ ขอให้พระองค์ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์

ข้อที่ ๔ ขอให้พระอรหันต์ได้แสดงธรรมแก่พระองค์ และ

ข้อที่ ๕ ขอให้พระองค์ได้รู้ธรรมของพระอรหันต์ทั่วถึง

ได้ทรงสรรเสริญธรรมของพระพุทธเจ้า และได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์สาวกให้เสด็จเข้าไปรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงรับด้วยอาการดุษณีภาพคือ อาการนั่งนิ่ง ซึ่งเป็นวิธีรับของพระพุทธเจ้าและของพระสาวก นิ่ง หมายความว่า รับ อย่างมานิมนต์พระ นิมนต์แล้ว ถ้าพระนิ่ง หมายความว่ารับ บางทีถ้าไม่ทราบธรรมเนียมนี้ก็มักจะต้องถามต่อไปอีก ให้ตอบอย่างใดอย่างหนึ่ง

รุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าและพระสาวกก็ได้เสด็จเข้าไปเสวยและฉันภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ เสร็จแล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ได้ทรงมีพระราชดำริว่า จะควรถวายที่ที่ไหนให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ได้ทรงเห็นว่าที่อันควรจะเป็นที่ประทับนั้น

. ควรจะเป็นที่ไม่ไกลหรือไม่ใกล้นักจากบ้าน

. ควรจะเป็นที่มีทางสัญจรไปมาบริบูรณ์ สะดวกแก่ผู้ที่ต้องการจะไปมาได้

. กลางวันก็ไม่เป็นที่พลุกพล่านด้วยผู้คน กลางคืนก็มีความสงัด ไม่มีเสียงอื้ออึง ปราศจากลมที่เกิดจากผู้คนเดินไปมาพลุกพล่าน

. ควรจะเป็นที่ประกอบกิจของผู้บำเพ็ญพรต และเป็นที่หลีกเร้นในการบำเพ็ญพรต

. ควรที่พระบรมศาสดาจะประทับได้

ได้ทรงเห็นพระเวฬุวันคือสวนไผ่ ซึ่งเป็นสวนหลวง อันอยู่ภายนอกพระนครในทางด้านทิศเหนือ ไม่สู้ไกลนัก ก็ได้ทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าทองกราบทูลถวายพระเวฬุวันนั้น โดยความว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระเวฬุวันนั้น แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับอารามคือสวน พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมให้พระราชาทรงเห็นแจ่มแจ้ง ให้ทรงสมาทาน ให้ทรงอาจหาญ และให้ทรงร่าเริงแล้ว ได้ทรงปรารภเรื่องนี้ เป็นเหตุตรัสอนุญาตให้ภิกษุรับอาราม อันหมายความว่า วัดเป็นที่อาศัยอยู่ได้

 ตามตำนานปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับพรรษาที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ รวม ๓ พรรษาที่เวฬุวันนี้ และได้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในระหว่างนี้หลายเรื่อง ซึ่งจะได้แสดงในอันดับต่อไป

 ในบัดนี้จะได้กล่าวเรื่องเกร็ด ๆ ที่เนื่องกับธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น ตามเรื่องที่เล่ามา

            ธรรมเนียมการให้ของผู้อื่น ให้สิ่งที่เป็นวัตถุยกหยิบยื่นได้ ก็มักจะหยิบยื่นให้ แต่ว่าถ้าให้สิ่งที่ใหญ่โต เช่น สวน หรือกุฏิ วิหาร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่อาจจะหยิบยกให้ได้ มีธรรมเนียมใช้เทน้ำลงยังพื้นดิน หลั่งน้ำเป็นเครื่องหมายว่าให้ อย่างในเรื่องนี้ พระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวันเป็นอาราม ท่านทรงเทน้ำจากพระเต้าทองเป็นการแสดงว่าถวาย ในเรื่องอื่นดังเช่นพระเวสสันดรประทานช้างแก่พราหมณ์ที่มาขอ ท่านก็ยกช้างให้ไม่ได้ ก็ทรงเทน้ำจากพระเต้าทองเหมือนกัน หรืออย่างที่เรากรวดน้ำกัน ใช้เทน้ำ เพราะส่วนบุญนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เห็นตัว ไม่ใช่วัตถุ หยิบยื่นให้ไม่ได้ ฉะนั้น ก็ใช้เทน้ำเป็นหมายว่าให้ เข้าในธรรมเนียมที่กล่าวมานั้น อีกอย่างหนึ่ง อาจจะติดมาจากธรรมเนียมพราหมณ์ที่จะกล่าวต่อไป และธรรมเนียมเทน้ำกรวดนั้น เขานิยมเทน้ำหมด ไม่ให้เหลือค้างไว้ เหมือนอย่างว่าเต็มใจให้กันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ประหยัดเอาไว้

 บทสรรเสริญพระพุทธคุณที่เราสวดกันเวลาเช้า คงจำได้ว่า ตํ โข ปน ภควนฺตํ เอวํ กลฺยาโณ กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต เป็นต้น แสดงว่าเป็นเสียงสรรเสริญที่ประชาชนเขาพูด ๆ กันออกไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น เพราะฉะนั้น บทแสดงพระพุทธคุณเหล่านั้น ต้นเดิมก็ดังมาจากเสียงที่พูดกันแพร่หลายในหมู่ประชาชน ไม่ใช่เป็นของผู้นั้นผู้นี้ได้แต่งขึ้น และถ้อยคำเหล่านั้นก็ล้วนเป็นคำเก่า ๆ อย่างคำว่า ภควา หรือ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้น เมื่อใครเป็นที่เคารพนับถือขึ้น แสดงตนเป็นศาสดาขึ้น ประชาชนก็คงใช้คำเหล่านี้เองเป็นคำเรียกร้อง และในตอนท้ายก็มีว่า การไปดูไปเห็นพระอรหันต์เป็นการดี เพราะฉะนั้น เมื่อเขาลือกันว่ามีพระอรหันต์มา ก็ควรที่จะไปดูพระอรหันต์กันเสียทีหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปด้วย ก็ยิ่งพากันไปมากมาย ส่วนศรัทธาที่จะตั้งมั่นสำหรับตนนั้น จะมีต่อเมื่อเกิดดวงตาเห็นธรรม คือเมื่อฟังธรรมแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยตนเองนั่นแหละจึงจะเกิดศรัทธาขึ้นด้วยตนเอง

 อนึ่ง พระเวฬุวันนั้น ในตำนานบางแห่งแสดงว่ามี ๒ ตอน ตอนหนึ่งเรียกว่า กลันทกนิวาปะ คือเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต ตอนนี้พระเจ้าพิมพิสารถวายให้เป็นอารามแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก ส่วนอีกตอนหนึ่งเรียกว่า โมรนิวาปะ คือเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง พระเจ้าพิมพิสารได้อนุญาตให้เป็นที่อยู่ของพวกปริพาชก ซึ่งเป็นนักบวชพวกหนึ่ง นี้ก็แสดงว่า พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์ของทุก ๆ ลัทธิ ถึงไม่ทรงนับถือ แต่ก็ไม่ทรงเบียดเบียน

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๙๗ – ๑๐๕