Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๓

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ชฎิล ๓ พี่น้อง

 

พระบรมศาสดาได้ทรงจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น ครั้นออกพรรษาแล้ว ในอรรถกถาแห่งหนึ่งแสดงว่า ได้เสด็จจาริกจากอิสิปตนมฤคทายวันในวันปาฏิบท คือวันแรม ๑ ค่ำ เสด็จย้อนไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งเป็นตำบลที่ตรัสรู้ มุ่งจะเสด็จไปโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ คน ซึ่งตั้งสำนักอยู่ในตำบลนั้น ในระหว่างที่เสด็จออกจากอิสิปตนมฤคทายวัน ได้ประทับพักที่ร่มไม้ในแถวไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง ก็ได้ทรงพบกับ ภัททวัคคิยกุมาร มีจำนวน ๓๐ คน ซึ่งมาเที่ยวเล่นกันอยู่พร้อมกับภริยาของตน แต่สหาย

คนหนึ่งไม่มีภริยา ก็นำเอาหญิงโสเภณีมา เมื่อเผลอหญิงโสเภณีก็ลักเอาห่อสิ่งของหนีไป ก็พากันเที่ยวตามหา มาพบพระศาสดา กราบทูลถามว่าได้พบหญิงนั้นบ้างหรือไม่ พระองค์ตรัสถามเรื่อง กุมารเหล่านั้นก็กราบทูลเล่าถวายจนถึงเที่ยวตามหา พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า จะแสวงหาสตรีดี หรือจะแสวงหาตนดี กุมารเหล่านั้นกราบทูลว่า แสวงหาตนดีกว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ กุมารเหล่านั้นฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานอนุญาตให้อุปสมบท แล้วส่งไปประกาศศาสนา ส่วนพระองค์เองก็เสด็จต่อไปจนถึงตำบลอุรุเวลาที่ชฎิลทั้ง ๑,๐๐๐ คนนั้นอาศัยอยู่

 ชฎิลเหล่านั้น มีหัวหน้าอยู่ ๓ คน ชื่อ อุรุเวลกัสสปะ คนหนึ่ง มีบริวาร ๕๐๐ คน ตั้งสำนักอยู่ตำบลหนึ่ง น้องคนที่ ๒ ชื่อว่า นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คน ตั้งอาศรมพำนักอยู่ถัดไปอีกแห่งหนึ่ง น้องคนสุดท้องชื่อว่า คยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐ คน ตั้งสำนักอยู่แห่งหนึ่งในที่ถัดไป พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังสำนักของอุรุเวลกัสสปะก่อน ได้ตรัสขออาศัยพัก อุรุเวลกัสสปะก็ยอมให้พัก พระองค์ได้ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปะนั้นด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้อุรุเวลกัสสปะหายจากความสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นความสำคัญผิด

 ตามเรื่องแสดงว่า ในตอนแรก พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้วิธี อิทธิปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ อาเทสนาปาฏิหาริย์ แสดงวิธีดักใจต่าง ๆ จนอุรุเวลกัสสปะคลายจากความสำคัญผิดนั้น และทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้ไปบอกบริวารเสียก่อน อุรุเวลกัสสปะก็บอกบริวาร บริวารก็บอกว่าเห็นชอบก็พร้อมกันลอยเครื่องสำหรับชฎิล เช่น เครื่องที่ทำผมเป็นเชิง หาบคาน ซึ่งเป็นชฎิลบริขาร ลอยน้ำทิ้งเสียหมด แล้วก็ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต ต่อมานทีกัสสปะกับบริวารได้เห็นชฎิลบริขารของพี่ชายกับบริวารลอยน้ำมา ก็คิดว่าจะเกิดอันตรายแก่พี่และคณะ ก็พร้อมกันมา เห็นพี่และคณะอุปสมบทเป็นภิกษุ ก็พากันลอยบริขารชฎิลของตน ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ฝ่ายคยากัสสปะและบริวารก็คงปฏิบัติเช่นเดียวกัน จึงเป็นอันว่าชฎิลรวม ๑,๐๐๐ คน ซึ่งมีหัวหน้า ๓ คน ก็ได้มาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็มาถึงวาระที่พระพุทธเจ้าจะทรงแสดง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คืออบรมสั่งสอนเพื่อให้ชฎิลเหล่านั้นได้บรรลุธรรมสืบต่อไป จึงได้ทรงนำไปยังตำบลคยาสีสะใกล้แม่น้ำคยา แล้วก็ตรัสเทศนาที่พระคันถรจนาจารย์ได้ขนานนามว่า อาทิตตปริยายสูตร คือเป็นพระสูตรที่แสดงบรรยายถึงสิ่งที่เป็นของร้อน

 

อาทิตตปริยายสูตร

ในพระสูตรนี้ ในตอนแรก พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน สิ่งทั้งปวงคืออะไรบ้าง ก็ได้ทรงยกขึ้นแสดงเป็นหมวด ๆ ดั่งต่อไปนี้

 

 ตอนที่หนึ่ง

 หมวดที่ ๑ จักขุ รูปที่เห็นได้ด้วยจักษุ จักขุวิญญาณ วิญญาณคือความรู้สึกเห็นรูปทางจักษุ จักขุสัมผัส สัมผัสอาศัยจักษุ จักขุสัมผัสสชาเวทนา เวทนาที่เกิดจากสัมผัสอาศัยจักษุ

 หมวดที่ ๒ โสตะคือหู สัททะคือเสียง โสตวิญญาณ วิญญาณอาศัยโสตะคือหู โสตสัมผัส สัมผัสอาศัยโสตะคือหู โสตสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดเพราะสัมผัสอาศัยโสตะคือหู

 หมวดที่ ๓ ฆานะคือจมูก คันธะคือกลิ่น ฆานวิญญาณ วิญญาณอาศัยจมูก ฆานสัมผัส สัมผัสอาศัยจมูก ฆานสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยจมูก

 หมวดที่ ๔ ชิวหาคือลิ้น รสะคือรส ชิวหาวิญญาณ วิญญาณอาศัยลิ้นชิวหาสัมผัส สัมผัสอาศัยลิ้น ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยลิ้น

 หมวดที่ ๕ กายะคือกาย โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง กายวิญญาณวิญญาณอาศัยกาย กายสัมผัส สัมผัสอาศัยกาย กายสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยกาย

 หมวดที่ ๖ มโนหรือมนะคือใจ ธรรมคือเรื่อง มโนวิญญาณ วิญญาณอาศัยมนะคือใจ มโนสัมผัส สัมผัสอาศัยมนะคือใจ มโนสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยมนะคือใจ เหล่านี้เป็นของร้อน

 

ตอนที่ ๒

 ได้ทรงแสดงว่า ร้อนเพราะอะไร อะไรมาเผาให้ไหม้ให้ร้อน ก็ทรงชี้ว่าสิ่งทั้งปวงนี้ร้อนเพราะไฟคือราคะ ความติด ความยินดี ความกำหนัด ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง ร้อนเพราะไฟคือโมหะ ความหลง ร้อนเพราะความเกิด ร้อนเพราะความแก่ ร้อนเพราะความตาย ร้อนเพราะโสกะคือความแห้งใจ ปริเทวะ ความร่ำไรรำพันหรือความระทมใจ ทุกขะ ความเจ็บไข้หรือความทุกข์กาย โทมนัส ความทุกข์ใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ ฉะนั้น จึงได้ตรัสว่าเป็นของร้อน

 

ตอนที่สาม

 ได้ทรงแสดงผลของความรู้ความเห็นต่อไปว่า เมื่ออริยสาวกคือผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ ได้สดับแล้วอย่างนี้ คือว่าได้มีความรู้ความเห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายในสิ่งทั้งปวงนั้น เมื่อหน่ายก็สิ้นกำหนัด เมื่อสิ้นกำหนัดก็วิมุตติคือหลุดพ้น เมื่อวิมุตติคือหลุดพ้น ก็มีญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นว่าพ้นแล้ว และย่อมรู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นเช่นนี้อีก

 ท่านแสดงไว้ว่า เมื่อภิกษุทั้ง ๑,๐๐๐ รูปนั้นได้สดับพระธรรมเทศนานี้ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๑,๐๐๐ รูป

 ในพระสูตรนี้ ได้จำแนกแสดงส่วนต่าง ๆ ภายในกายนี้ให้ละเอียดมากขึ้นอีก ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และใน อนัตตลักขณสูตร ที่แสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ได้ยกเบญจขันธ์ขึ้นแสดง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ยังไม่ได้จำแนกถึงวิถีคือทางที่เกิดขึ้นตามลำดับ ในพระสูตรนี้ได้แสดงความเกิดขึ้นแห่งเบญจขันธ์เหล่านั้น แต่แสดงถึงเพียงเวทนา เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นก็ควรทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อน

 ฃมติทางพระพุทธศาสนานั้น ตามที่พิจารณาจากพระสูตรต่าง ๆ พอสรุปลงได้ว่า แสดงบุคคลว่าประกอบด้วยกายส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง กายก็หมายถึงรูปกาย จิตก็หมายถึงธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่คิดนึก และมีหน้าที่รู้ เพราะเป็นธาตุรู้ การแสดงปฏิบัติธรรม โดยตรงก็มุ่งอบรมจิตเป็นประการสำคัญ แม้พระบรมศาสดาเองเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อทรงพบทางที่ถูกต้อง ก็หมายความว่าได้ทรงพบทางปฏิบัติจิต จึงได้ทรงเริ่มปฏิบัติอบรมจิต ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าจิตตามทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของกาย คือว่า จิตไม่ใช่รูป ดั่งมีพระพุทธภาษิตที่แสดงว่า อสรีระ ไม่มีสรีระ คือ ไม่มีรูปร่าง แต่ว่า คุหาสยะ มีคูหา อันหมายถึง กายอันเป็นที่อาศัย เมื่อบุคคลมีจิตและกายประกอบกันอยู่ ชีวิตจึงดำเนินอยู่เป็นไปอยู่

แต่ว่าเมื่อจิตพรากออกไปจากกายหรือว่ากายแตกสลาย เป็นที่อาศัยอยู่ของจิตไม่ได้ ชีวะก็สิ้นไป สำหรับเรื่องจิตนี้จะพึงพิสูจน์ได้ตามที่แสดงไว้ทางพระพุทธศาสนาอย่างไรนั้น จะขอยกไว้ก่อน จะย้อนกล่าวถึงวิถีจิตต่อไป

 จิตแม้มีหน้าที่คิด มีหน้าที่รู้ เป็นธาตุรู้ ดั่งกล่าวก็จริง แต่การที่จะออกมารู้อะไรได้นั้น จำต้องอาศัยกาย คือรู้ได้ทางอายตนะหรือทางทวาร กล่าวคือต้องอาศัยออกมารู้รูปทางจักขุประสาทคือตา รู้เสียงทางโสตประสาทคือหู รู้กลิ่นทางฆานประสาทคือจมูก รู้รสทางชิวหาประสาทคือลิ้น รู้โผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องทางกายประสาทคือกาย รู้ธรรมคือเรื่องทางมนะที่ แปลว่าใจ เพราะฉะนั้น จักษุ ตา โสตะ หู ฆานะ จมูก ชิวหา ลิ้น กายะ กาย มนะ ใจ จึงเป็นทวารคือเป็นประตู สำหรับที่จะให้จิตรู้รูป รู้เสียง เป็นต้น ดั่งกล่าวมานั้น ถ้าไม่มีทางทั้ง ๖ นี้ จิตก็เหมือนถูกขังอยู่ในห้องที่ไม่มีประตูหน้าต่าง ออกมารู้อะไรไม่ได้ ทางรู้ของจิตทั้ง ๖ ดั่งกล่าวมานั้น สำหรับจักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท กายประสาท ก็เป็นที่เข้าใจได้ง่าย แต่มนะคือทางที่ ๖ นี้ ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ

 มนะ แปลกันว่า ใจ แต่ตามศัพท์แปลว่า รู้ มีหน้าที่สำหรับรู้ธรรม ธรรมในที่นี้หมายความว่า เรื่อง คือ เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้วในอดีต แต่ก็มานึกถึงในปัจจุบัน ความนึกถึงเรื่องในอดีตดั่งกล่าวนั้น ไม่ได้อาศัยตาหูเดี๋ยวนั้น แต่คราวนี้มานึกขึ้นได้ด้วยอะไร สมมติว่าไปเห็นรูปได้ยินเสียงมาเมื่อเช้านี้ แต่ว่ามานั่งนึกถึงอยู่เดี๋ยวนี้ นึกถึงรูปนึกถึงเสียงนั้น นึกถึงด้วยอะไร เพราะไม่ได้อาศัยตาไม่ได้อาศัยหู เมื่อเช้านี้ต่างหากต้องอาศัยตาอาศัยหู แต่ว่าการที่มานั่งนึกถึงเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องใช้ตาไม่ต้องใช้หู คราวนี้ใช้อะไร อันนี้ท่านจึงแสดงทางที่ ๖ คือมนะ นึกถึงได้ด้วยมนะ ที่แปลว่า ใจ หรือแปลว่า รู้ และธรรมในที่นี้หมายถึงเรื่องอดีตต่าง ๆ ดั่งกล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงแสดงทวารซึ่งเป็นทางที่ ๖ คือมนะ แต่ก็ไม่เรียกว่า ประสาทมนะ ตามที่อธิบายมานี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงสันนิษฐานว่าได้แก่ มันสมอง

 มนะ คือทางที่ ๖ นี้ ยังมีหน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งที่แสดงไว้ในอรรถกถาอภิธรรม คือในชั้นบาลีนั้นได้แสดงว่า จักขุคือตา รูปะคือรูป กระทบกันก็เกิดจักขุวิญญาณ วิญญาณอาศัยจักษุคือตา วิญญาณในที่นี้ก็อธิบายว่า ความรู้สึกเห็นรูป

 

โสตะคือหู สัททะคือเสียง กระทบกันก็เกิดโสตวิญญาณ ความรู้สึกได้ยินเสียง

 ฆานะคือจมูก คันธะคือกลิ่น กระทบกันก็เกิดฆานวิญญาณ ความรู้สึกสูดกลิ่นหรือได้กลิ่น

 ชิวหาคือลิ้น รสะคือรส กระทบกันก็เกิดชิวหาวิญญาณ ความรู้สึกได้รสทางลิ้น

 กายกับโผฏฐัพพะกระทบกัน ก็เกิดกายวิญญาณ ความรู้สึกทางกาย

 มนะกับธรรมกระทบกัน ก็เกิดเป็นมโนวิญญาณ ความรู้สึกทางมนะคือใจ

 ในบาลีแสดงอย่างนี้ ดั่งบาลีในพระสูตรนี้ คือ วิญญาณ มาเป็นอันดับ ๑ เมื่อมีวิญญาณแล้วก็ต้องมี สัมผัส

 

อันดับ ๒ สัมผัส แปลว่า ความกระทบกัน ก็มี ๖ เช่นเดียวกัน แต่มีอธิบายว่า ที่ชื่อว่า สัมผัส นั้น ได้แก่ความประชุมกันของจักษุ รูป และ จักขุวิญญาณ จึงจะเรียกว่า จักขุสัมผัส ความประชุมของโสตะ หู สัททะเสียง และโสตวิญญาณ จึงจะเรียกว่าโสตสัมผัส ความประชุมกันของฆานะจมูก คันธะ กลิ่น และฆานวิญญาณ จึงจะเป็นฆานสัมผัส ความประชุมกันของชิวหา รสะ และชิวหาวิญญาณ จึงจะเป็นชิวหาสัมผัส ความประชุมกันของกาย โผฏฐัพพะ และกายวิญญาณ จึงจะเป็นกายสัมผัส ความประชุมกันของมนะ ธรรม และมโนวิญญาณ จึงจะเป็นมโนสัมผัส

อันดับ ๓ ก็เป็น เวทนา คือเมื่อเป็นสัมผัสแล้วก็เป็นเวทนา คือความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นสุขบ้าง ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นสุขบ้าง เวทนาก็มี ๖ สืบไปจากสัมผัส เรียกจักขุสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยจักษุ โสตสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยโสตะ ฆานสัมผัสสชาเวทนา

เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยฆานะ ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยชิวหา กายสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยกาย มโนสัมผัสสชาเวทนา เวทนาเกิดจากสัมผัสอาศัยมนะ

 อันดับที่ ๔ ก็คือ สัญญา ความจำได้หมายรู้ ก็นับเป็น ๖ คือ รูปสัญญาความจำหมายในรูป สัททสัญญา ความจำหมายในเสียง คันธสัญญา ความจำหมายในกลิ่น รสสัญญา ความจำหมายในรส โผฏฐัพพสัญญา ความจำหมายในโผฏฐัพพะ ธรรมสัญญา ความจำหมายในเรื่อง

 อันดับ ๕ ก็เป็น สังขาร คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดไปตามสัญญา เป็นกุศลคือเป็นส่วนดีบ้าง เป็นอกุศลคือเป็นส่วนไม่ดีบ้าง เป็นอัพยากฤตคือเป็นส่วนกลาง ๆ บ้าง

 เพราะฉะนั้น นับตั้งแต่วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา สังขารนี้ รวมเรียกว่า นามธรรม คือเป็นส่วนนาม นาม แปลว่า น้อม หมายความว่าเป็นอาการที่จิตน้อมออกไปรู้อะไรต่าง ๆ อาศัยกายคืออาศัยทวาร ๖ ดั่งกล่าวมานั้น เมื่อจิตน้อมออกไปรู้ รู้ขั้นแรกก็เป็นวิญญาณ รู้ขั้นที่ ๒ ก็เป็นสัมผัส รู้ขั้นที่ ๓ ก็เป็นเวทนา รู้ขั้นที่ ๔ ก็เป็นสัญญา รู้ขั้นที่ ๕ ก็เป็นสังขาร แต่ว่าในเบญจขันธ์ ขันธ์ ๕ นั้น นับเพียง ๔ คือว่าสัมผัสไม่นับ ยกออกเสีย และนับรูปเข้าเป็นที่ ๑ คือรูปกาย แล้วก็เอาวิญญาณไปไว้ท้าย คือเรียงเสียใหม่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ว่าเมื่อกล่าวโดยลำดับที่เกิดวิญญาณต้องมาก่อน เป็นวิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร ทำไมท่านจึงเอาเรียงไว้ท้าย ก็เพื่อให้เป็นวงกลม เพราะอาการที่จิตน้อมไปรู้ที่เรียกว่านามนั้น รู้ขั้นที่ ๑ เป็นวิญญาณ สัมผัสไม่นับ ขั้นที่ ๒ ก็เป็นเวทนา ขั้นที่ ๓ เป็นสัญญา ขั้นที่ ๔ เป็นสังขาร คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด เมื่อคิดปรุงไปก็รู้ไปด้วย รู้ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปกับความคิดนั้น ก็ย้อนมาเป็นวิญญาณอีก แล้วก็มาเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็ย้อนมาเป็นวิญญาณ เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขารไปใหม่ เป็นวงกลม เพราะฉะนั้น ปัญจขันธ์ คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีทางเกิดดั่งกล่าวมานี้ และเมื่อย่นย่อลงก็เป็น ๒ คือ เป็น รูป อย่างหนึ่ง นาม อย่างหนึ่ง รูปก็เป็น รูปกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นนามกาย แต่มักเรียกสั้น ๆ กันว่า นามรูป เรียกว่า นาม เพราะเป็นอาการที่น้อมไปรู้ของจิต ดั่งบรรยายมานั้น

 วิถีจิต คือทางดำเนินของจิตที่ปรากฏเป็นนามธรรม อาศัยรูปธรรม คือจิตอาศัยรูปแสดงอาการเป็นนาม น้อมออกมารู้รูป รู้เสียง ทีแรกก็น้อมออกมาเป็นวิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็วนกลับไปใหม่เป็นวงกลม

 จะอธิบายเกี่ยวแก่มนะต่อไป ได้กล่าวถึงอายตนะภายในหรือทวารทั้ง ๖ คู่ กับอายตนะภายนอก ๖ แล้ว และได้กล่าวนามธรรมซึ่งเป็นวิถีจิตสืบไป จากนั้น นั้นเป็นการแสดงอธิบายตามพระบาลี แต่ในอรรถกถาพระอภิธรรมได้อธิบายพิเศษเกี่ยวแก่มนะ ซึ่งก็ได้อ้างแต่ยังไม่ได้อธิบาย จึงจะมาจับอธิบาย

ในตอนนี้

 ตามอธิบายในอรรถกถานั้น มนะ อันเป็นอายตนะที่ ๖ หรือเป็นทวารที่ ๖ ต้องประกอบด้วยอายตนะ ๕ ข้างต้นเสมอ จึงจะเกิดวิญญาณตามสายได้แก่ เมื่อ จักษุ (ตา) และ รูป มากระทบกัน ต้องกระทบถึงมนะด้วย จึงจะเกิด จักขุวิญญาณ (ความรู้สึกเห็นรูปทางตา) โสตะ (หู) สัททะ (เสียง) กระทบกัน จะต้องกระทบถึงมนะด้วย จึงเกิด โสตวิญญาณ (ความรู้สึกได้ยินเสียงทางหู) ฆานะ (จมูก) คันธะ (กลิ่น) กระทบกัน ต้องกระทบถึงมนะด้วย จึงจะเกิด ฆานวิญญาณ (ความรู้สึกเป็นกลิ่นทางจมูก) ชิวหา (ลิ้น) รสะ (รส) กระทบกัน ต้องกระทบถึงมนะด้วย จึงจะเกิด ชิวหาวิญญาณ (ความรู้สึกรู้รสทางลิ้น) กายะ (กาย) โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้อง) กระทบกัน ต้องกระทบถึงมนะด้วย จึงจะเกิด กายวิญญาณ (ความรู้สึกกระทบทางกาย) ส่วนข้อที่ ๖ นั้น มนะ กับ ธรรม คือเรื่อง กระทบกันก็เกิด มโนวิญญาณ (ความรู้สึกรู้เรื่องทางมนะ) ฉะนั้น มนะ ข้อที่ ๖ จึงต้องเกี่ยวข้องกับอายตนะ ๕ ข้างต้นอยู่เสมอ และท่านอธิบายในพระอภิธรรมละเอียดไปกว่านั้น เช่นข้อที่ ๑ จักษุ (ตา) รูปะ ท่านเรียกว่า วรรณะ คือ สี แล้วก็ต้องมี แสงสว่าง มี มนสิการ คือการกระทำไว้ในใจ จึงจะเกิดเป็น จักขุวิญญาณ (ความรู้สึกเห็นรูปทางตา) มนสิการ การกระทำไว้ในใจก็คือมนะ ดั่งที่ได้อธิบายแล้ว เป็นอันว่าในอายตนะ ๕ ข้างต้นนั้น รูปเป็นต้น ต้องกระทบทั้งจักขุประสาทตามทางของตน และต้องกระทบทั้งมนะในขณะเดียวกัน ท่านแสดงว่ารวดเร็วมาก เมื่อรูปมากระทบกับจักษุก็กระทบถึงมนะด้วยทันที เหมือนอย่างนกที่บินมาจับที่กิ่งไม้บนต้นไม้ เงาของนกก็กระทบไปถึงพื้นดินทันที เกือบจะเรียกได้ว่าในขณะเดียวกัน

 

ตามที่อธิบายมานี้ พึงสังเกตคำ ๓ คำ วิญญาณ คำหนึ่ง มนะ หรือ มโน คำหนึ่ง จิต อีกคำหนึ่ง คำทั้ง ๓ คำนี้ใช้ต่างกัน

 วิญญาณ นั้น ใช้ในความหมายเพียงรู้สึกเห็นรูปเป็นต้น ดั่งที่อธิบายมาแล้วเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายเป็นอย่างอื่น คือไม่ได้หมายไปถึงสภาพที่จะไปเกิดต่อไป ซึ่งเป็นตัวยั่งยืน

 มนะ หรือ มโน ก็มีความหมายเพียงทวารหรืออายตนะที่ ๖ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอายตนะ ๕ ข้างต้น กับเกี่ยวข้องธรรมคือเรื่องของรูปเสียงเป็นต้น ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้ว ดั่งที่ได้อธิบายมาแล้วเท่านั้น คือมีหน้าที่เป็นอายตนะคือที่ต่อ หรือเป็นทวารคือเป็นช่องทางสำหรับจิตดำเนิน เหมือนกับอายตนะ ๕ ข้อข้างต้น

 

ส่วน จิต มีความหมายเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีสรีระคือรูปร่าง แต่ว่าอาศัยอยู่ในคูหา ที่แปลว่า ถ้ำ คือในกายอันนี้ มีหน้าที่เป็นผู้รู้ เป็นผู้แสดงเจตนา (ความจงใจประกอบกรรม) มีหน้าที่ที่จะดำเนินออกมารู้ตามวิถีที่กล่าวมานั้น และเป็นที่จะต้องปฏิบัติอบรมให้เป็นศีล ให้เป็นสมาธิ และให้ประกอบด้วยความรู้ เป็นตัวปัญญา ตลอดจนถึงให้เป็นผู้วิมุตติคือเป็นผู้หลุดพ้น ดั่งในท้ายของอนัตตลักขณสูตรและอาทิตตปริยายสูตรที่อธิบายมาแล้ว ก็แสดงว่าจิตของท่านเหล่านั้นวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ แม้เช่นนั้นก็ไม่มีพระพุทธภาษิตสักแห่งหนึ่ง แสดงว่า จิตเป็น

อัตตาคือตัวตน แต่กลับมีพระพุทธภาษิตแสดงไม่ให้ถือว่าจิตเป็นอัตตาคือตัวตน ในพระสูตรนั้น ได้แสดงว่า ถือว่ากายเป็นตัวตนเสียยังดีกว่า ถือว่าจิตเป็นอัตตาคือตัวตนเป็นการไม่ดี เพราะว่าจิตเป็นธรรมชาติที่ดิ้นรนกระสับกระส่ายอยู่เสมอ เหมือนอย่างวานรที่ดิ้นรนกระสับกระส่ายอยู่เสมอ เมื่ออยู่บนต้นไม้ก็โยนตัวจับกิ่งนี้ ปล่อยจากกิ่งนี้ไปจับกิ่งนั้น ปล่อยจากกิ่งนั้นไปจับกิ่งโน้น ฉะนั้น ถ้าหากว่าจิตเป็นอัตตา อัตตาก็จะเท่ากับวานรที่มีธรรมชาติหลุกหลิกดังกล่าวมาแล้วนั้น ท่านจึงไม่ให้ถือจิตเป็นอัตตาคือตัวตน

 หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ก็ไม่ให้ถืออะไรทั้งหมดว่าอัตตาคือตัวตน ถ้าไปถือเข้าก็แสดงว่ายังมีอุปาทานคือความยึดถือ และก็จะต้องคิดปั้นสิ่งที่ถือนั้นให้เป็นนั่นเป็นนี่ เมื่อยังคิดปั้นว่าเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ ก็ยังเป็นภพหรือเป็นภาวะหรือภวะอยู่ เมื่อเป็นตนหรือเป็นภาวะหรือภวะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ก็ยังจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดดับเพราะเป็นสิ่งที่คิดปรุงแต่ง ฉะนั้นจึงให้ปล่อยวางทั้งหมด ส่วนธรรมอันใดที่มีอยู่ที่เป็นอยู่อย่างไร ก็คงมีอยู่หรือเป็นอยู่ไปเช่นนั้น คือว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดาตามเรื่อง

 คราวนี้ จะย้อนมาทำความเข้าใจในเรื่อง นามธรรม อีกสักเล็กน้อย คือตามที่กล่าวว่า นามธรรมเป็นวิถีจิต ซึ่งเกิดเป็นวงกลมอยู่เสมอ ไม่ใช่เกิดอย่างเดียว ดับด้วยอยู่เสมอเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตามองเห็นหนังสือ ก็เกิดจักขุวิญญาณคือความรู้สึกเห็นขึ้น แล้วก็เวทนาคือเป็นสุขหรือเป็นทุกข์หรือเฉย ๆ แล้วเกิดสัญญาคือความจำหมาย แล้วเกิดสังขารคือความคิดปรุงหรือว่าปรุงคิดในสิ่งที่เห็นนั้น เมื่อคิดปรุงหรือว่าปรุงคิดไป ก็เกิดวิญญาณคือความรู้สึกขึ้นในเรื่องที่ปรุงหรือคิดนั้นไปด้วย แล้วเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร แล้วก็มาวิญญาณวนกันไป คราวนี้พอหูได้ยินเสียง เช่นได้ยินเสียงนาฬิกาตี ก็ทิ้งเรื่องหนังสือไปเกิดโสตวิญญาณคือความรู้สึกได้ยินเสียงนั้นอีก แล้วเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร เกิดวิญญาณ เกิดเวทนาเป็นวงกลมไปในสิ่งที่ได้ยินนั้นอีก คราวนี้จมูกได้กลิ่นธูปหรือกลิ่นอะไรอย่างอื่น นามธรรมก็มาเกิดในเรื่องกลิ่น เรื่องเสียงนั้นก็หายไปเลิกกันไป เมื่อบริโภคอาหาร ลิ้นได้ประสบกับรส ก็เกิดนามธรรมในเรื่องของรสนั้น กายได้ถูกต้อง เช่นว่าได้อาบน้ำ ก็เกิดนามธรรมในเรื่องของสิ่งที่ถูกต้องนั้น แล้วบางทีมนะไปกระทบกับธรรม คือว่าย้อนไปคิดถึงเรื่องในอดีตที่ประสบพบผ่านมาแล้ว ก็เกิดนามธรรมในสายของมนะวนกันไปอย่างนั้น

 เพราะฉะนั้น วันหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนเช้าเรื่อยมา นามธรรมจึงเกิดดับไปนับไม่ถ้วนตามที่ประสบ และถ้าเรื่องใดมีความมุ่งใจอยู่มาก ก็ต่อกันไปได้นาน แต่ถ้าเรื่องใดความมุ่งของใจน้อย นามธรรมในเรื่องนั้นก็น้อยสุดแต่ว่าจะมีความมุ่งใจน้อยหรือมากอย่างไร ฉะนั้น รูปกับนามจึงเป็นส่วนที่ทุก ๆ คนมีอยู่ อาศัยอยู่ ทำงานอยู่ตามหน้าที่ และมีอาการที่เกิดดับอยู่เสมอ ไม่มีเวลาที่จะว่างเว้น ถ้าพิจารณาดูก็จะเห็นความจริงอันนี้ได้

 ความเกิดดับของรูปนั้น อาจจะเห็นได้ง่าย ส่วนความเกิดดับของนามนั้น เมื่อพิจารณาก็พอจะเห็นได้ง่ายเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องที่เกิดกับใจ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและดับไปรวดเร็วมาก เพราะอาการของใจเป็นสิ่งที่ละเอียดและเป็นสิ่งที่รวดเร็ว

ในอาทิตตปริยายสูตรนี้ พระพุทธเจ้าได้ยกขึ้นแสดงเพียงแต่เวทนา ด้วยทรงชี้ให้เห็นว่าเป็นของที่ร้อน หรือถูกเผาให้ไหม้อยู่เสมอ เท่ากับว่าทรงแสดงทุกขสัจ ความจริงคือทุกข์ ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงสมุทัยสัจ ความจริงคือเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ว่าในพระสูตรทรงยกเอาราคะโทสะโมหะ และเพราะบุคคลมีราคะโทสะโมหะเป็นไฟที่แผดเผาอยู่เสมอ จึงได้เดือดร้อนอยู่ด้วยความโศกเป็นต้น และด้วยความเกิดแก่ตาย ซึ่งเป็นสภาพธรรมดา ต่อจากนั้นก็แสดงมรรคสัจ ความจริงคือมรรค ได้แก่ปัญญาที่กำหนดพิจารณาให้รู้เห็น ตามเป็นจริง แล้วก็ทรงแสดงนิโรธสัจ ความจริงคือความดับทุกข์ ตั้งต้นแต่เกิดนิพพิทา ความหน่าย แล้วเกิดวิราคะ ความสิ้นราคะ เกิดวิมุตติ ความหลุดพ้น เกิดวิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นว่าหลุดพ้น มีนัยเดียวกันกับที่แสดงไว้ในท้ายอนัตตลักขณสูตร

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๘๔ – ๙๕