Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๒

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พระยสะ

 

ในกรุงพาราณสีนั้น ได้มีกุลบุตรผู้หนึ่งเป็นบุตรเศรษฐีชื่อ ยสะ มารดาบิดาหวงแหนรักษาเป็นอย่างดี จนถึงสร้างปราสาทให้อยู่ใน ๓ ฤดู ในคืนวันหนึ่งยสกุลบุตรนั้น ได้รับความบำเรอให้เป็นสุขด้วยดนตรีต่างๆ บนปราสาทที่มีแต่สตรีล้วน ได้หลับไปก่อน สตรีทั้งหลายซึ่งเป็นผู้บำเรอหลับภายหลัง แต่

ยสกุลบุตรได้ตื่นขึ้นก่อน และได้เห็นอาการต่าง ๆ ของสตรีผู้นอนหลับ ก็มีความเบื่อหน่ายจนถึงอุทานขึ้นว่า ที่นี่วุ่นวาย ที่นี่ขัดข้อง แล้วก็ลงจากปราสาทเดินไปออกประตูเมืองพาราณสี ตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วก็เดินบ่นไปอย่างนั้น ในขณะนั้น พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จเดินจงกรมอยู่ ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรบ่นไปอย่างนั้น ตรัสขึ้นว่า ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย ยสกุลบุตรได้ฟังก็มีความยินดีว่า ที่นี่ไม่ขัดข้องไม่วุ่นวาย ก็นั่งลง พระพุทธเจ้าก็ตรัส อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ จบแล้ว ยสกุลบุตรเกิดดวงตาเห็นธรรม

 ครั้นสว่างขึ้น มารดาของยสกุลบุตรได้ขึ้นไปบนปราสาท ไม่พบบุตรก็ไปบอกเศรษฐีผู้บิดา เศรษฐีผู้บิดาก็ส่งคนไปเที่ยวค้นหา ส่วนตนเองได้เดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบรองเท้าทองของบุตรวางอยู่ ก็ตรงเข้าไปถามพระพุทธเจ้าว่า ยสกุลบุตรอยู่ที่นี่หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า นั่งลงแล้วก็จะ

พบยสกุลบุตร เศรษฐีผู้บิดาก็นั่งลง พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ เศรษฐีผู้บิดาก็เกิดดวงตาเห็นธรรมและแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต นับว่าเป็นอุบาสกคนแรกผู้เปล่งวาจาถึงรัตนะ ๓ เป็นสรณะ ในขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจแก่เศรษฐีผู้บิดานั้น ยสกุลบุตรก็ได้ฟังทบทวนไปด้วย ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในขณะนั้นเศรษฐีผู้เป็นบิดาได้มองเห็นยสกุลบุตร จึงกล่าวขึ้นชักชวนให้กลับไปบ้าน อ้างว่ามารดากำลังคร่ำครวญถึงเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ให้ชีวิตแก่มารดา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ยสกุลบุตรเป็นผู้มีจิตสิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ไม่ควรที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์อีก เศรษฐีผู้บิดาจึงอนุโมทนา และได้นิมนต์พระพุทธเจ้าขอให้ยสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะเข้าไปฉันในเรือนของตน ยสกุลบุตรได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเสด็จไปฉันในเรือนของเศรษฐี มีพระยสะซึ่งอุปสมบทใหม่เป็นปัจฉาสมณะ และได้เทศนาโปรดมารดาของพระยสะกับปุราณทุติยิกา ซึ่งแปลว่า สตรีผู้เป็นที่ ๒ คนเก่า หมายถึงภรรยาซึ่งกลายเป็นคนเก่าไปแล้ว ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ เช่นเดียวกัน สตรีทั้ง ๒ นั้น ได้แสดงตนเป็นอุบาสิกาผู้ถึงรัตนะ ๓ เป็นสรณะตลอดชีวิต นับว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงรัตนะ ๓ เป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา

 ต่อมาก็มีสหายของพระยสะอีก ๔ คน ซึ่งเป็นบุตรของเศรษฐีที่สืบสกุลกันมาโดยลำดับ ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ทูลขออุปสมบท ได้อุปสมบทโดยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุสาสน์สั่งสอนจนจิตพ้นจากอาสวะเป็นพระอรหันต์ขึ้น รวมเป็นพระอรหันต์ ๑๑ องค์ในโลก ต่อมาสหายชาวชนบทของพระยสะอีก ๕๐ คนได้ข่าว เข้าใจว่าธรรมวินัยที่พระยสะออกบวชนั้นจะไม่เป็นของต่ำทราม การบวชของพระยสะก็คงไม่เป็นของต่ำทราม จึงได้พากันมา พระยสะได้พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ จนสหาย ๕๐ คนนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลขออุปสมบท ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อได้ฟังพุทธโอวาทที่ทรงอนุสาสน์สอนอบรมก็มีจิตพ้นจากอาสวะเป็นพระอรหันต์ขึ้น รวมเป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์ในโลก นับว่ามีจำนวนมากพอสมควร พระพุทธเจ้าจึงได้มีพระพุทธดำรัสโดยความว่า

 เราผู้ตถาคตเป็นผู้พ้นจากบ่วงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ทั้งหมด แม้ท่านทั้งหลายก็เป็นผู้พ้นจากบ่วงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ทั้งหมด ท่านทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่โลก เพื่อความสุขแก่เทพและมนุษย์ทั้งหลาย แต่ว่า ๒ รูปอย่าไปโดยทางอันเดียวกัน คือให้ไปทางละ ๑ รูป แยกกันไป จงแสดงธรรมที่มีความไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด พร้อมทั้งอรรถคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ ประกาศพรหมจรรย์คือพระศาสนาที่บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในจักษุคือมีกิเลสที่บังดวงตาปัญญาแต่เพียงเล็กน้อยมีอยู่ เมื่อไม่ได้ฟังธรรมก็จะเสื่อมประโยชน์ ผู้ที่รู้ธรรมก็จักมีอยู่ ส่วนเราผู้ตถาคตเองนั้นจะไปยังอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม

 พระพุทธเจ้าได้ทรงส่งพระสาวกซึ่งเป็นผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เริ่มแยกกันไปประกาศพระศาสนาในครั้งนั้นอย่างนี้

 ในสมัยนั้น ภิกษุที่แยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา ได้ไปในทิศทางต่าง ๆ กัน ในชนบทต่าง ๆ กัน เมื่อมีใครต้องการบรรพชาอุปสมบทก็ต้องนำมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระพุทธเจ้าประทานบรรพชาอุปสมบท เป็นความลำบาก ฉะนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภถึงความลำบากข้อนี้ ได้ทรงอนุญาตให้พระสาวกเป็นผู้บรรพชาอุปสมบทเองได้ ด้วยได้ตรัสอนุญาตให้ผู้ที่ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทปลงผมและหนวดก่อนนุ่งผ้ากาสายะคือผ้าย้อมน้ำฝาด ทำผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระหย่งประคองอัญชลี แล้วนำให้กล่าววาจาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ วาระที่ ๑ วาระที่ ๒ วาระที่ ๓ ก็เป็นอันอุปสมบทเป็นภิกษุได้ด้วยพิธีเพียงเท่านั้น วิธีนี้เรียกว่า ติสรณคมนอุปสัมปทา

 

 อนุปุพพิกถา

คราวนี้จะอธิบายอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสอนแก่ยสกุลบุตรเป็นต้น

 คำว่า อนุปุพพิกถา แปลว่า ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไป มี ๕ คือ ทานกถา ถ้อยคำที่พรรณนาทาน สีลกถา ถ้อยคำที่พรรณนาศีล สัคคกถา ถ้อยคำที่พรรณนาสวรรค์ กามาทีนวกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอาทีนพคือโทษของกาม เนกขัมมานิสังสกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอานิสงส์ของเนกขัมมะคือการออกจากกาม

 ถ้อยคำที่พรรณนาทานนั้น ทาน แปลว่า ให้ เป็นชื่อของวัตถุ แปลว่าวัตถุที่ให้ เป็นชื่อของเจตนา แปลว่าเจตนาเป็นเหตุให้ ทางพระพุทธศาสนาแสดงทานด้วยมุ่งให้บุคคลทำการบริจาค เป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือบูชา เป็นการเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่น และด้วยมุ่งกำจัดโลภะคือความโลภ มัจฉริยะคือความตระหนี่ในจิตใจของตนด้วย แต่ว่าทานในพระพุทธศาสนาที่จะมีผลมากนั้นต้องประกอบด้วยวัตถุสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือสิ่งที่ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้รับตามสมควร ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีโทษ เจตนาสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดี ตั้งแต่เมื่อก่อนให้ ในขณะที่ให้ และในภายหลังที่ให้แล้ว กับปฏิคาหกสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยปฏิคาหกคือผู้รับ หมายถึงว่าผู้รับก็ต้องเป็นผู้สมควร เช่น เป็นผู้ที่ควรอนุเคราะห์เป็นผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นผู้ที่ควรบูชา อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญจึงต้องเป็นทานที่เรียกว่า มีการเลือกให้ ไม่ใช่ให้โดยไม่เลือก คือต้อง เลือกวัตถุ เลือกเจตนา เลือกบุคคลผู้รับ กับต้องดูให้พอเหมาะสม ไม่ทำตนเองให้ต้องลำบากเพราะการให้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทานกถา พรรณนาทานนี้เป็นข้อที่ ๑

 ต่อจากนั้นก็ทรงแสดง ศีล ศีลนั้น ตามศัพท์แปลว่า ปกติ หมายถึงความปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ ไม่ถูกกิเลสดึงไปให้ประพฤติทุจริตต่าง ๆ ฉะนั้น จึงต้องมี วิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่วนั้นๆ จึงจะเป็นศีล ศีลในพระพุทธศาสนานั้นอย่างต่ำก็คือ ศีล ๕ ได้แก่ เจตนางดเว้นจากภัยหรือเวร ๕ ประการ ฉะนั้น ศีลจึงเท่ากับเป็นความไม่มีเวร ไม่มีภัย เมื่อรักษาศีล ก็เท่ากับว่า ทำอภัยทาน คือให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย และตัวผู้มีศีลเองก็เป็นผู้ที่ไม่ก่อภัยก่อเวรขึ้นแก่ตัวเองด้วย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงศีลนี้เป็นข้อที่ ๒

 ต่อจากนั้น ก็ทรงแสดง สวรรค์ คำว่า สวรรค์ ก็ออกมาจากศัพท์บาลีว่า สคฺค แปลว่า ที่เป็นที่ข้องเป็นที่ติด ก็ได้ ที่เป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ ก็ได้ ตามที่เข้าใจกัน สวรรค์เป็นโลกอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งบุคคลผู้ทำความดีจะพึงเข้าถึงในเวลาที่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้แล้ว และในคัมภีร์ก็แสดงสวรรค์ไว้มาก เช่น สวรรค์กามาพจร ที่แปลว่า ชั้นที่ยังหยั่งลงในกาม ๖ ชั้น แต่สวรรค์ดั่งกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่มีแสดงไว้ในตำราเก่าก่อนพระพุทธศาสนา และมาถึงพระพุทธศาสนาก็ยังมีติดมาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่ก็ติดมาไม่หมด คือติดมาบางส่วน

 อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสวรรค์ในปัจจุบัน คือได้ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่ง มีความว่า สวรรค์ชั้น ผัสสายตนะ ๖ ชั้น อันเราเห็นแล้วคือสวรรค์เกิดขึ้นทางอายตนะที่ให้เกิดผัสสะ ได้แก่

 ในที่ใด มีรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงเห็นได้ด้วยตา ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้นผัสสายตนะชั้นรูป

ในที่ใด มีเสียงที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงได้ยินได้ด้วยหู ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้นผัสสายตนะชั้นเสียง

ในที่ใด มีกลิ่นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงสูดได้ด้วยจมูก ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้นผัสสายตนะชั้นฆานะ

ในที่ใด มีรสที่น่าใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงลิ้มได้ด้วยลิ้น ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้นผัสสายตนะชั้นชิวหา

ในที่ใด มีโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจที่จะพึงกระทบถูกได้ด้วยกาย ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้นผัสสายตนะชั้นกาย

ในที่ใด มีธรรมคือเรื่องราวต่างๆ มีเรื่องรูป เรื่องเสียงเป็นต้น ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงรู้ได้ด้วยใจ ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้นผัสสายตนะชั้นธรรม คือชั้นเรื่องราว

 ตามพระพุทธภาษิตนี้ เป็นอันทรงแสดงสวรรค์ ชี้ลงไปกลาง ๆ จะในเวลาไหน คือในบัดนี้หรือในอนาคต ในโลกนี้ หรือในโลกหน้าก็ตามที เมื่อมีผลเป็นเช่นนี้ อยู่ในที่ใด ในที่นั้นก็ชื่อว่าเป็นสวรรค์ เพราะจัดเป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ มีอารมณ์ที่งดงาม และในขณะเดียวกันก็เป็นที่ข้องที่ติดเป็นอย่างยิ่งด้วย คือว่าเป็นที่ปรารถนาพอใจอย่างยิ่ง สวรรค์ดังกล่าวมานี้ จำต้องอาศัยทาน อาศัยศีลเป็นเหตุ พิจารณาดูตามกระแสปัจจุบัน ก็จะเห็นเข้าเรื่องกันได้กับสวรรค์ ๖ ชั้นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น คือเมื่อต่างมีทานเฉลี่ยเผื่อแผ่ให้ความสุขแก่กันและกัน และมีศีลไม่เบียดเบียนกันและกัน ให้อภัยกันและกัน ก็จะต่างมีความสุขด้วยกัน เมื่อมีความสุขด้วยกันอยู่ ก็จะมีความเจริญตา เจริญหู เจริญจมูก เจริญลิ้น เจริญกาย เจริญใจ ปราศจากความทุกข์ที่เกิดจากความคับแค้นและที่เกิดจากการเบียดเบียนกัน ก็เป็นผลที่เรียกได้ว่าสวรรค์อยู่แล้ว สวรรค์นี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นข้อที่ ๓

 ต่อจากนั้นก็ทรงแสดง กามาทีนพ คือโทษของกาม สวรรค์ได้ชื่อว่าเป็นกาม คือเป็นที่รักใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจ เป็นอย่างยิ่ง คำว่า กาม นั้น เป็นวัตถุที่เป็นภายนอกดั่งกล่าวนั้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นชื่อของกิเลสในใจของบุคคล คือเป็นชื่อของความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เมื่อมีความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เป็นกิเลสกามในจิตใจ วัตถุข้างนอกจึงได้พลอยเป็นกามไปด้วย แต่ถ้าจิตใจไม่มีกิเลสกามอยู่ วัตถุข้างภายนอกก็เป็นวัตถุเฉย ๆ ไม่เป็นกามของผู้นั้น เหมือนอย่างบุคคลสามัญซึ่งมีกิเลสกามอยู่ในใจ เมื่อไปในที่ไหน ในที่นั้นก็เป็นกามของเขา เพราะว่าเป็นที่รักใคร่ ปรารถนา พอใจ แต่พระอรหันต์จะไปในที่ไหน ในที่นั้นไม่เป็นกามของท่าน เพราะว่าท่านไม่มีความรักใคร่ปรารถนาพอใจ สิ่งนั้นๆ ก็คงเป็นวัตถุนั้นๆ อยู่โดยธรรมดาเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงกามจึงมีความหมายเป็น ๒ หมายถึงวัตถุภายนอกก็ได้ หมายถึงกิเลสในใจก็ได้ แต่ว่าโดยปกติเมื่อกล่าวอย่างสามัญ คำว่า กาม เป็นชื่อของวัตถุภายนอก เพราะเป็นที่ใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจของบุคคลทั่วไป สวรรค์ แม้จะมีอารมณ์อันเลิศสักเท่าไร แต่ก็ยังเป็นกามคือเป็นที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ และเป็นสิ่งที่ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป มีเกิด มีดับ เหมือนอย่างวัตถุทั้งปวงในโลกถึงจะเปลี่ยนแปลงไปช้า ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น เมื่อไปมีความรักใคร่ปรารถนาพอใจมาก เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็ยิ่งทำให้ต้องเป็นทุกข์มาก เพราะฉะนั้น อันนี้จึงชื่อว่า อาทีนพ คือโทษของกาม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้ให้เห็นเป็นข้อที่ ๔

 ต่อจากนั้น ก็เป็นข้อที่ ๕ ทรงแสดง เนกขัมมะ คือการออกจากกาม การออกจากกามนั้น ออกทางกาย ได้แก่ การออกบวชประการหนึ่ง ออกทางใจ ได้แก่การทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนสงบสงัดจากกาม จากอกุศลกรรมทั้งหลายอีกประการหนึ่ง เป็นเหตุทำให้จิตใจสงบและมีความสุข ตัดกังวลห่วงใยอันเกี่ยวกับกามด้วยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงยกขึ้นโดยเป็นอานิสงส์ของเนกขัมมะเป็นข้อที่ ๕

 เมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่าผู้ฟังมีจิตแช่มชื่นผ่องใส ปราศจาก นิวรณ์ คือ กิเลสเครื่องกั้นจิต มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส สมควรที่จะรับพระธรรมที่สูงขึ้นไป เหมือนอย่างผ้าที่ซักให้สะอาดปราศจากมลทินต่างๆ ควรที่จะรับน้ำย้อมได้แล้ว จึงได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือทรงชี้ทุกข์ ชี้สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ชี้นิโรธ ความดับทุกข์ ชี้มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยนัยดั่งในปฐมเทศนานั้น อริยสัจ ๔ นี้ เรียกว่า สามุกฺกํสิกธมฺมเทสนา คือเป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง เพราะได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยปกติ เมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ แล้ว ผู้ฟังก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ที่ท่านแสดงว่าได้เป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา

 อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ นี้ ตามประวัติในพระพุทธศาสนาปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่มนุษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ไม่ทรงแสดงแก่เทพยดาหรือภิกษุ และผู้ที่จะทรงแสดงนั้นเป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใสเบิกบาน ควรที่จะได้รับผลจากการฟัง ฉะนั้น จึงปรากฏว่าเมื่อได้ฟังจบลงแล้ว จึงได้รับผลคือได้ดวงตาเห็นธรรม

 ดวงตาเห็นธรรมนั้น ตามศัพท์เรียกว่า ธมฺมจกฺขุ ท่านแสดงไว้ตรงกัน คือเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดความเห็นขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือว่าเกิดธรรมจักษุ จะฟังเทศน์กัณฑ์ไหนๆ ก็ตาม เมื่อเกิดดวงตาเห็นธรรม ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ พิจารณาดูก็น่าเข้าใจว่า คือเห็นทุกข์นั้นเอง เห็นเกิดดับเรียกว่าเห็นทุกข์ หรือว่าเห็นทุกข์คือเห็นเกิดดับ โดยมากเห็นแต่เกิด อย่างเห็นชีวิตของเราในบัดนี้ เรารู้จักกันแต่เกิด แต่ว่าไม่รู้สึกกว่าจะดับ ดับนั้นเราคิดว่าอยู่ข้างหน้า คือว่ายังไม่มาถึง ในปัจจุบันก็คือเกิดและยังดำรงอยู่ ยังไม่เห็นดับเป็นคู่กันไป แต่ความเห็นที่จะเรียกว่าเห็นธรรมนั้น ต้องเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกัน เมื่อเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกันแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้งจะตั้งความชอบความชังไว้ที่ไหน ความชอบความชังที่เป็นกิเลสนั้นจะตั้งอยู่ได้ต้องตั้งในสิ่งที่เราเห็นว่า ยังมีอยู่ ยังเป็นอยู่ คือในสิ่งที่ยังเกิดอยู่ แต่ว่าถ้าเห็นว่าดับเสียแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้ง ชอบก็ไม่มีที่ตั้ง ชังก็ไม่มีที่ตั้ง เพราะไม่มีอะไรจะตั้ง เพราะเห็นว่าดับเสียแล้ว

ฉะนั้น โดยปกติบุคคลจึงยังไม่ชื่อว่าเห็นทุกขสัจจะ จะเห็นก็เห็นเพียงนิดหน่อย ถ้าจะเห็นที่เป็นดวงตาเห็นธรรม จะต้องเห็นให้ตลอด คือเห็นถึงดับ และเห็นให้ได้ในปัจจุบัน เมื่อเห็นถึงดับได้ในปัจจุบัน กิเลสไม่มีที่ตั้งนั่นแหละ จึงชื่อว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม และผู้ที่ฟังเทศน์จนได้ดวงตาเห็นธรรมนี้ ท่านไม่ได้ฟังเพื่อจะมุ่งกำหนดว่า เทศน์ว่าอย่างไร เบื้องต้นแสดงอย่างไร ท่ามกลางแสดงอย่างไร ข้างท้ายแสดงอย่างไร คือไม่ได้มุ่งจะจำถ้อยคำ มุ่งแต่เพียงเข้าใจให้ได้อย่างแจ่มแจ้ง การบรรลุในขั้นแรกในพระพุทธศาสนานั้น จะต้องเกิดดวงตาเห็นธรรมดั่งกล่าวมานี้ เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมในขั้นแรกนี้แล้ว พระพุทธเจ้าจึงจะทรงอบรมให้เกิดปัญญาสูงขึ้นไปอีกจนถึงที่สุด

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๗๔ – ๘๓