Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

อธิบายเบญจขันธ์

ได้เล่าถึงเรื่องพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง อนัตตลักขณสูตร ได้ย่อความของพระสูตรนั้น และได้อธิบายเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าแต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไร จึงขอสรุปความในตอนนั้นว่า สิ่งทั้ง ๕ เหล่านั้น แต่ละสิ่งมีมากด้วยกัน ฉะนั้นจึงเรียกว่า ขันธ์ ที่แปลว่า กอง หรือ หมู่หมวดคือเรียกว่า รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ รวมเรียกว่า ปัญจขันธ์ แปลว่า กองทั้ง ๕ หรือเรียกเป็นไทยว่า เบญจขันธ์ คำนี้จะได้พบในหนังสือทางพระพุทธศาสนา หรือในเทศนาเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะกำหนดชื่อไว้และทำความเข้าใจ

 ทุก ๆ คน เมื่อกล่าวถึงอัตตาตัวตน โดยปกติก็จะต้องมุ่งไปที่ปัญจขันธ์นี้ เพราะเว้นจากปัญจขันธ์นี้แล้ว ก็ไม่มีสิ่งอะไรที่จะสมมติบัญญัติว่าเป็นอัตตาตัวตน ฉะนั้น ความเข้าใจว่าอะไรเป็นอัตตาตัวตน จึงเข้าใจกันที่ปัญจขันธ์นี้ และก็ยึดกันที่ปัญจขันธ์นี้ว่า เป็นอัตตาตัวตน ฉะนั้น จึงมีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า ปัญจอุปาทานขันธ์ ปัญจะ ก็แปลว่า ๕ อุปาทาน ก็แปลว่า เป็นที่ยึดถือขันธ์ ก็แปลว่า ขันธ์ แปลรวมกันว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ๕ ประการ คือเป็นที่ยึดถือว่าเป็นอัตตาตัวตนดั่งกล่าว ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงยกเอาปัญจขันธ์นี้ขึ้นชี้ว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นการค้านการยึดถือของภิกษุปัญจวัคคีย์และของคนทั่วไป ได้ทรงแสดงเหตุผลในข้อนี้ไว้ว่า ถ้าปัญจขันธ์จะพึงเป็นอัตตาตัวตนไซร้ ปัญจขันธ์ก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใคร ๆ ก็จะพึงได้ในปัญจขันธ์ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้ ขออย่าให้เป็นอย่างนั้น แต่เพราะเหตุที่ปัญจขันธ์เป็นไปเพื่ออาพาธ และใคร ๆ ก็ไม่ได้ในปัญจขันธ์ว่า ขอให้ปัญจขันธ์เป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น จึงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน นี้เป็นเหตุผลที่ทรงชี้ในพระสูตรนี้

 คำว่า เป็นไปเพื่ออาพาธ โดยทั่วไปหมายความว่า เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ เพราะอาพาธใช้ในความหมายว่า เจ็บไข้ แต่คำว่า อาพาธ อาจอธิบายให้เห็นความหมายกว้างไปกว่านั้น คือ คำว่า อาพาธ แปลว่า เป็นที่ถูกเบียดเบียน เป็นที่ถูกทำลายให้หมดสิ้น เมื่อให้คำแปลอย่างนี้ก็อาจอธิบายให้กว้างออกไปอีกว่า ปัญจขันธ์เมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องถูกความแก่เบียดเบียน ถูกพยาธิคือความป่วยไข้เบียดเบียน ตลอดจนถึงถูกความตายเบียดเบียน รวมความว่า เมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องมีแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปจนถึงดับในที่สุด ฉะนั้น จึงต้องถูกความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงและถูกความดับเบียดเบียนทำลายล้างให้หมดสิ้น

 จะพึงเห็นได้ว่า รูปขันธ์ กองรูป ก็เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา แต่อาศัยบุคคลบริโภคอาหารเข้าไปทำนุบำรุง คอยซ่อมส่วนที่สึกหรออยู่เสมอ จึงรู้สึกมีความสืบต่อเรื่อยมา แม้แต่ในทางการแพทย์ปัจจุบันก็รับรองว่า แม้ส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกาย เช่น กระดูก ก็เปลี่ยนไปอยู่ กระดูกเมื่อเกิดกับกระดูกในบัดนี้ ก็เป็นคนละส่วนแล้ว ส่วนที่อ่อนกว่านั้น เช่น เนื้อหนัง ก็ยิ่งจะเปลี่ยนไปได้เร็ว ฉะนั้น รูปขันธ์ก็มีความเกิดดับอยู่เรื่อย แต่อาศัยที่มี สันตติ คือความสืบต่อ เพราะชีวิตยังดำรงอยู่ จึงยังเป็นมาได้ เวทนาขันธ์ กองเวทนา ปรากฏเกิดดับเห็นได้ชัด อย่างเช่น ความสุขเกิดขึ้นแล้วหายไป ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็หายไป ความเป็นกลาง ๆ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เปลี่ยนกันไปอยู่เสมอ สัญญาขันธ์ กองสัญญา ความจำหมาย ก็เกิดดับอยู่เสมอ สังขารขันธ์ กองสังขาร คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดเป็นเรื่องต่างๆ ก็เกิดดับอยู่เสมอ วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ก็เกิดดับอยู่เสมอ

 คราวนี้ ควรจะทำความเข้าใจคำว่า วิญญาณ ได้เคยให้ความหมายทั่ว ๆ ไปไว้แล้วว่า หมายถึงใจ หมายถึงสภาพที่จะไปเกิดต่อไป หมายถึงความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียง เป็นต้น ที่หมายถึงใจหรือหมายถึงสภาพที่จะเวียนเกิดต่อไปนั้น เป็นความหมายที่เข้าใจกันอยู่ ที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป แม้ในเรื่องทางพระพุทธศาสนาเองที่เป็นเรื่องเล่า เมื่อเล่าถึงสิ่งที่จะไปเวียนเกิด ใช้คำว่า วิญญาณ ก็มี แต่ความหมายในปัญจขันธ์นี้ ไม่ใช่หมายความถึงสภาพเช่นนั้น แต่หมายถึงความรู้สึกเห็นรูป ในเมื่อตากับรูปกระทบกัน อันเรียกว่า จักขุวิญญาณ ความรู้สึกได้ยินเสียง ในเวลาที่หูกับเสียงกระทบกัน เรียกว่า โสตวิญญาณ ความรู้สึกได้กลิ่น ในเมื่อฆานะกับกลิ่นกระทบกัน เรียกว่า ฆานวิญญาณ ความรู้สึกในรส ในเมื่อลิ้นกับรสกระทบกันเรียกว่า ชิวหาวิญญาณ ความรู้สึกถูกต้องที่กายถูกต้อง ในเวลาที่กายกับสิ่งที่ถูกต้องกายกระทบกัน เรียกว่า กายวิญญาณ ความรู้สึกในเรื่องที่มโนหรือมนะรู้ ในเวลาที่มนะกับเรื่องกระทบกัน เรียกว่า มโนวิญญาณ วิญญาณในปัญจขันธ์หมายถึงวิญญาณ ๖ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางอายตนะทั้ง ๖ ดั่งกล่าวแล้ว ฉะนั้น ความรู้สึกดั่งกล่าวนี้จึงมีมาก เมื่อตาเห็นรูป เกิดความรู้สึกเห็นรูปนี้ก็เป็นจักขุวิญญาณ ครั้นหูได้ยินเสียง ก็เกิดความรู้สึกได้ยินเสียงขึ้น ก็เป็นโสตวิญญาณเป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงมิใช่มีหนึ่ง แต่ว่ามีมาก จึงเรียกว่าเป็นวิญญาณขันธ์ ดั่งที่กล่าวมาแล้ว วิญญาณขันธ์ที่มีอธิบายอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่เสมอ

 ฉะนั้น ปัญจขันธ์ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ คือต้องถูกเบียดเบียน คือต้องถูกทำลายล้างให้สิ้นไป ด้วยอำนาจของความแก่ เจ็บ ตาย หรือว่า เกิด ดับ อยู่เสมอ ใคร ๆ จะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ คือบังคับให้เป็นอย่างนี้ อย่าให้เป็นอย่างนั้น ก็บังคับไม่ได้ อย่างเช่นรูปขันธ์ จะบังคับว่าจะต้องให้คงอยู่อย่างนั้น อย่าให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ดังที่จะพึงเห็นได้ว่า เมื่อเกิดขึ้นมาก็เปลี่ยนแปลงมาจนถึงที่สุด ใครจะชอบใจในระยะไหนและปรารถนาจะให้คงอยู่ในระยะนั้นก็ปรารถนาไม่ได้ กองเวทนาก็เหมือนกัน ก็ย่อมปรารถนาสุข แต่จะบังคับให้เป็นสุขอยู่เสมอไม่ได้ ทุกข์ก็เหมือนกัน เมื่อทุกข์เกิดขึ้น โดยปกติก็ไม่ชอบ แต่ทุกข์นั้นก็ต้องถูกเบียดเบียนเหมือนกัน คือว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหายไป แล้วเกิดอย่างอื่นขึ้นแทน กองสัญญา ก็เหมือนกัน จะบังคับให้จำได้หมายรู้อยู่ตลอดไปก็ไม่ได้เหมือนกัน กองสังขาร คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดก็ไม่ได้เหมือนกัน และกองวิญญาณ คือความรู้สึกทางอายตนะดั่งกล่าวมานั้น ก็เหมือนกัน บังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ เพราะเหตุที่บังคับไม่ได้ดั่งกล่าวมานี้ ปัญจขันธ์ต้องเป็นไปเพื่ออาพาธ ต้องเป็นไปตามคติธรรมดา ฉะนั้น จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน

 ตามลักษณะนี้พึงเห็นว่า สิ่งที่จะเป็นอัตตาตัวตนนั้น ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ เป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็ไม่ชื่อว่าอัตตา ดั่งเช่นปัญจขันธ์ ซึ่งเป็นที่ยึดถือว่าเป็นอัตตา เมื่อพิจารณาแล้วก็จะพึงเห็นว่าไม่ใช่ แต่เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ด้วยเหตุผลดั่งที่กล่าวมานี้

 

 การสอบครั้งแรก

 พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ลักษณะว่าเป็น อนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนอย่างไรแล้วต่อจากนั้นก็ได้ตรัสถามความรู้ความเข้าใจของท่านทั้ง ๕ นั้นว่า ปัญจขันธ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่า ไม่เที่ยง ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่า เป็นทุกข์ ก็ตรัสถามว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ มีการแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ท่านทั้ง ๕ นั้นก็กราบทูลว่า ไม่ควรเห็นอย่างนั้น

 ในตอนนี้ เรียกว่าเป็น การสอบครั้งแรก ในพระพุทธศาสนา คือพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอบถามท่านปัญจวัคคีย์ถึงความรู้ความเห็นของท่านในเมื่อฟังเทศน์แล้ว นับว่าเป็นการสอบไล่ครั้งแรก และในข้อสอบที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งขึ้นถามนี้ ก็เป็นอันตรัสถามในหลักของ ไตรลักษณ์ ลักษณะเครื่องหมายกำหนดหมาย ๓ อย่าง อันได้แก่ อนิจฺจํ ไม่เที่ยง ทุกฺขํ เป็นทุกข์ อนตฺตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน ได้ทรงแสดงลักษณะแห่งอนัตตาก่อนดั่งที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ตรัสสอบถามว่าปัญจขันธ์ที่กล่าวมาแล้วนั้น คือว่าที่เป็นไปเพื่ออาพาธและที่ใคร ๆ จะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้นั้น เป็น นิจฺจํ คือเป็นสิ่งเที่ยง หรือเป็น อนิจฺจํ คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่า เป็น อนิจฺจํ คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เพราะว่าถ้าเป็นสิ่งที่เที่ยงแล้ว จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่ออาพาธและบังคับได้ แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น จึงเป็น อนิจฺจํ คือสิ่งที่ไม่เที่ยง และเมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ ลักษณะที่ชื่อว่าเป็นทุกข์ ในที่นี้ท่านก็กล่าวไว้เองว่า คือความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เพราะคำว่า ทุกข์แปลว่า สิ่งที่ทนอยู่ยาก หมายความว่า ทนอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะที่ชื่อว่าเป็นทุกข์นั้น ก็คือลักษณะที่ทนอยู่ไม่ได้ คืออย่างไรก็ต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ความแปรปรวนไปเป็นธรรมดานี้ เรียกตามศัพท์ว่า วิปริณามธรรม นี้เป็นอีกคำหนึ่งที่จะได้เห็นในหนังสือทางพระพุทธศาสนาหรือในทางศาสนาเป็นอันมาก วิปริณามธรรม แปลว่า แปรปรวนไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นอนิจจังคือไม่เที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเห็นว่า เอตํ มม นี่เป็นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่ เอโสเม อตฺตา นี่เป็นอัตตาคือตัวตนของเรา

 เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์นี้จึงเป็นสิ่งที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน อันจะพึงกล่าว

ได้ว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา หรือจะกล่าว

กลับกันว่า สิ่งใดเป็นอนัตตาสิ่งนั้นก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ดั่งนี้ก็ได้ เพราะก็อยู่ใน

ลักษณะที่เนื่องกัน ฉะนั้น ในตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอบถามนี้ จึงเป็นอันได้

ตรัสสอบถามในหลักไตรลักษณ์ เป็นอันได้ทรงแสดงหลักไตรลักษณ์ในพระพุทธ

ศาสนาเป็นครั้งแรกด้วย

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอบถาม และพระปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลตอบแสดงว่าได้มีความรู้ความเห็นถูกต้องแล้ว จึงได้ตรัสสรุปความว่า ปัญจขันธ์ โดยกาล คือเป็นอดีตล่วงมาแล้วก็ตาม เป็นอนาคตยังไม่มาถึงก็ตาม เป็นปัจจุบันก็ตาม โดยที่ตั้ง เป็นส่วนภายในก็ตาม เป็นส่วนภายนอกก็ตาม โดยวัตถุ เป็นของหยาบก็ตาม เป็นของละเอียดก็ตาม โดยคุณภาพ เป็นของเลวก็ตาม เป็นของประณีตก็ตาม โดยระยะไกล เช่นว่าล่วงมาแล้ว หรือว่ายังไม่มาถึงก็ตาม หรือว่าอยู่ใกล้ เช่นว่าเป็นปัจจุบันก็ตาม ทั้งหมดก็สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ควรที่จะเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นแล้วว่า นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนี่ นี่ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา

 เมื่อตรัสสรุปดั่งนี้แล้ว ก็ได้ตรัสผลที่สืบเนื่องจากความรู้ความเห็นชอบดั่งกล่าวมานั้นว่า อริยสาวกผู้สดับแล้วอย่างนี้ คือว่ามีปัญญาชอบตามที่เป็นแล้วอย่างนี้ ย่อมมีความหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นกำหนัดคือว่าสิ้นราคะ เมื่อสิ้นราคะก็ย่อมวิมุตติหลุดพ้น เมื่อวิมุตติหลุดพ้นก็ย่อมมีญาณคือความรู้ว่าพ้นแล้ว เป็นอันว่าได้ทรงแสดงธรรมในส่วนโลกุตตรธรรม ได้ธรรมคือ สัมมัปปัญญา ความรู้ชอบ นิพพิทา ความหน่าย วิราคะ ความสิ้นราคะ วิมุตติ ความหลุดพ้น วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นว่าหลุดพ้น

 ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมที่เป็นหลักทั้งนั้น ต้องมีสัมมัปปัญญาคือมีความรู้ชอบตามที่เป็นแล้วในปัญจขันธ์ก่อน จึงจะเกิดนิพพิทาคือความหน่ายขึ้น เมื่อเกิดนิพพิทาคือความหน่าย จึงจะเกิดวิราคะคือสิ้นราคะ สิ้นความติด สิ้นความยินดี สิ้นความกำหนัด เมื่อเกิดวิราคะ จึงจะเกิดวิมุตติ ความหลุดพ้นจากความยึดถือว่า เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ดั่งกล่าวมาแล้ว เมื่อเกิดวิมุตติ จึงจะเกิดวิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นว่าพ้นแล้ว เมื่อถึงตอนนี้ จึงจะเป็นผู้เสร็จกิจ ลำดับธรรมนี้ควรกำหนดไว้โดยชื่อด้วยและทำความเข้าใจด้วย จึงจะเข้าใจพระพุทธศาสนาได้ถึงปรมัตถธรรมทั่ว ๆ ไปในหนังสือทั้งปวงหรือในเทศนาทั้งปวง

 ฉะนั้น จะได้กล่าวสรุปในตอนนี้อีกสักหนหนึ่ง คือเบื้องต้นต้องศึกษาให้รู้จักปัญจขันธ์ว่ามีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ต่อไปก็ศึกษาให้รู้จักไตรลักษณะที่เป็นไปในปัญจขันธ์นั้น คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา เมื่อเกิดสัมมัปปัญญาคือความรู้ชอบตามที่เป็นแล้วในปัญจขันธ์ คือปัญจขันธ์เป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น ไม่ใช่รู้ตามสัญญาหรือว่าแกล้งรู้ รู้ไปตามที่เป็นแล้วอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจะเกิดนิพพิทา วิราคะ วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ดั่งกล่าวโดยลำดับ อันนี้เป็นหลักธรรม เมื่อมีความเข้าใจตลอดสายอย่างนี้ ก็จะเข้าใจพระพุทธศาสนาในส่วนปรมัตถธรรมทั่วๆ ไปด้วย

             ในท้ายพระสูตรแสดงว่า เมื่อพระปัญจวัคคีย์ได้สดับพระสูตรนี้แล้ว ก็มีจิตปีติโสมนัส จิตของท่านทั้ง ๕ ก็พ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองนอนจมหมักหมมอยู่ในสันดาน จึงได้บังเกิดเป็นพระอรหันต์ขึ้น ๖ รูปในโลก พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์รูปแรก ท่านพระปัญจวัคคีย์ที่ฟังอนัตตลักขณสูตรจนจิตพ้นจากอาสวะกิเลส สำเร็จเป็นพระอรหันต์อีก ๕ รูป ก็รวมเป็น ๖ รูปด้วยกัน พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็น พระพุทธรัตนะ รัตนะคือพระพุทธเจ้า พระธรรมได้ชื่อว่า พระธรรมรัตนะ รัตนะคือพระธรรม พระปัญจวัคคีย์ซึ่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมานั้นได้ชื่อว่าเป็น สังฆรัตนะ รัตนะคือพระสงฆ์ รัตนะทั้ง ๓ จึงเกิดขึ้นบริบูรณ์ในวันนั้น ท่านแสดงว่าวันนั้นเป็นวันแรม ๕ ค่ำ แห่งเดือนสาวนะ ซึ่งตรงกับวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ตามที่นับในประเทศไทย ฉะนั้น ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ จึงเป็นวันที่รัตนะทั้ง ๓ เกิดขึ้นบริบูรณ์ในโลก

 ส่วนวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนานั้น ท่านพระโกณฑัญญะรูปเดียวได้เกิดดวงตาเห็นธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และก็ได้ขอบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาเพียงรูปเดียว ก็ชื่อว่าเป็นวันที่เริ่มจะมีพระสังฆรัตนะในชั้นแรกเท่านั้น ยังไม่บริบูรณ์ แต่ก็ชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเทศนาครั้งแรก เป็นวันที่ได้เริ่มตั้งพุทธจักรขึ้นในโลก ต่อมาเมื่อถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ จึงเป็นวันที่รัตนะทั้ง ๓ เกิดขึ้นบริบูรณ์ในโลก

 

จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๖๖ – ๗๔