Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๔๐

 sungaracha

 

 

 

 

 

 

 

sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

อนัตตลักขณสูตร

เมื่อท่าน พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม และได้เป็นพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนาแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสอบรมอีก ๔ รูป ด้วยธรรมเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ต่อมาท่านวัปปะและภัททิยะได้เกิดดวงตาเห็นธรรม และได้ทูลขออุปสมบท ก็ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า

เช่นเดียวกับท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ พระพุทธเจ้าได้อบรมอีก ๒ ท่าน ท่านที่ได้อุปสมบทแล้ว ๓ ท่านก็เป็นผู้ไปบิณฑบาตเลี้ยงรวมกันทั้ง ๖ ต่อมาท่านมหานามะกับท่านอัสสชิก็ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม และได้ทูลขออุปสมบท ก็ได้รับการอุปสมบทเช่นเดียวกัน แต่ในอรรถกถาได้กล่าวว่า ท่านวัปปะได้

ดวงตาเห็นธรรมและได้อุปสมบทในวันแรม ๑ ค่ำ ท่านภัททิยะในวันแรม ๒ ค่ำ ท่านมหานามะในวันแรม ๓ ค่ำ ท่านอัสสชิในวันแรม ๔ ค่ำ ส่วนในชั้นบาลีได้กล่าวไว้เป็นคู่กันดั่งที่เล่ามาทีแรก เมื่อท่านทั้ง ๕ ได้ดวงตาเห็นธรรมและอุปสมบทเป็นภิกษุเรียบร้อยพร้อมกันแล้ว ในวันแรม ๕ ค่ำแห่งเดือนสาวนะ ที่ตรงกับวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๘ ตามที่นับในประเทศไทย พระบรมศาสดาก็ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ ๒ อันเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร แปลว่า พระสูตรที่แสดงลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน พระสูตรนี้มีใจความโดยย่อดังต่อไปนี้

 ตอนที่ ๑ พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ถ้าทั้ง ๕ นี้พึงเป็นอัตตาตัวตน ทั้ง ๕ นี้ก็พึงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลก็พึงได้ในส่วนทั้ง ๕ นี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุว่าทั้ง ๕ นี้มิใช่อัตตาตัวตน  ฉะนั้น ทั้ง ๕ นี้จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลก็ย่อมไม่ได้ในส่วนทั้ง ๕ นี้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

 ตอนที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอบความรู้ความเห็นของท่านทั้ง ๕ นั้น ตรัสถามว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ นี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้ง ๕ ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง  ตรัสถามอีกว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ท่านทั้ง ๕ กราบทูลว่า เป็นทุกข์ ก็ตรัสถามต่อไปว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะเห็นสิ่งนั้นว่านี่เป็นของเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นตัวตนของเรา ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลว่า ไม่ควรเห็นอย่างนั้น

 ตอนที่ ๓ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปลงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ นี้ ที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี เป็นส่วนหยาบก็ดี เป็นส่วนละเอียดก็ดี เป็นส่วนเลวก็ดี เป็นส่วนประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ควรเห็นด้วยปัญญาชอบตามที่เป็นแล้วว่า นี่ไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่นี่ นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา

 ตอนที่ ๔ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงผลที่เกิดแก่ผู้ฟังและเกิดความรู้เห็นชอบดั่งกล่าวมานั้นต่อไปว่า อริยสาวกคือผู้ฟังผู้ประเสริฐซึ่งได้สดับแล้วอย่างนี้ ย่อมเกิดนิพพิทา คือความหน่ายในรูป หน่ายในเวทนา หน่ายในสัญญา หน่ายในสังขาร หน่ายในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็ย่อมสิ้นราคะ คือสิ้นความติด ความยินดี ความกำหนัด เมื่อสิ้นราคะก็ย่อมวิมุตติ คือหลุดพ้น เมื่อวิมุตติก็ย่อมมีญาณ คือความรู้ว่าวิมุตติหลุดพ้นแล้ว และย่อมรู้ว่า ชาติคือความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นเช่นนี้อีกต่อไป

 พระธรรมสังคาหกาจารย์ หรือพระอาจารย์ผู้ทำสังคายนาร้อยกรองตั้งเป็นพระบาลีไว้ ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายพระสูตรว่า เมื่อท่านทั้ง ๕ ได้สดับสูตรนี้จบแล้ว ก็มีใจปีติโสมนัสแนบแน่น จิตของท่านทั้ง ๕ ก็พ้นจากอาสวะกิเลส คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕ รูป

 พระสูตรที่ ๒ นี้มีใจความดังที่ย่อมากล่าวนั้น แต่ก็ควรทำความเข้าใจสืบต่อไป จุดมุ่งของพระสูตรนี้ต้องการที่จะชี้ อนัตตา เพราะได้มีความเข้าใจในเรื่องอัตตาที่แปลกันว่าตัวตน และมีความเชื่อมั่นกันอยู่หลายอย่าง แต่เมื่อสรุปแล้วก็มักจะมี ทิฏฐิ คือความเห็นกันอยู่ ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง อย่าง ๑ อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อย่าง ๑

 สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงนั้น คือเห็นว่าในปัจจุบันชาตินี้ก็มีอัตตาคือตัวตน เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาคือตัวตนก็ยังไม่สิ้น ยังจะมีสืบภพชาติต่อไป มีชาติหน้าเรื่อยไป ไม่มีขาดสูญ แปลว่ามีอัตตาคือตัวตนยืนที่ตลอดไป นี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่าเที่ยง ส่วนที่มีความเห็นว่าขาดสูญ อันเรียกว่า อุทเฉททิฏฐินั้น คือเห็นว่ามีอัตตาตัวตนอยู่แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาตัวตนก็สิ้นไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่จะให้ไปเกิด ดั่งที่เห็นว่าตายแล้วสูญ นี่เรียกว่าอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ

 ในทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า ความเห็นทั้ง ๒ นี้เป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ทั้ง ๒ อย่าง คือเห็นว่าเที่ยงก็ผิด เห็นว่าขาดสูญก็ผิด เพราะทางพระพุทธศาสนาไม่ยอมชี้ว่ามีอะไรเป็นอัตตาคือตัวตน ที่จะให้เป็นที่ตั้งของอุปาทานคือความยึดถืออยู่ในสิ่งนั้น เมื่อยังมีอุปาทานคือความยึดถืออยู่ ก็ยังไม่สิ้นกิเลสและสิ้นทุกข์ เพราะความยึดถือนั้นเป็นตัวกิเลส แต่ว่าได้แสดงเป็นหลักเหตุผลในปฏิจจสมุปบาท ยกมากล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อยังมีอวิชชาเป็นต้น ก็ยังต้องมีชาติคือความเกิด เมื่อสิ้นอวิชชาเป็นต้นก็สิ้นชาติคือความเกิด ทางพระพุทธศาสนาแสดงเหตุผลดั่งนี้ และไม่ชี้ด้วยว่า จะเป็นชาติอดีต ชาติอนาคต หรือชาติปัจจุบัน สุดแต่ว่าจะยังมีเหตุมีผลดังกล่าวนี้สัมพันธ์กันอยู่อย่างไรเท่านั้น กาลเมื่อไรไม่เป็นข้อสำคัญ สำคัญอยู่แต่ว่า เมื่อยังมีเหตุก็มีผล เมื่อสิ้นเหตุก็สิ้นผล

 คราวนี้ผู้ที่ยังมีความเห็นว่า มีอัตตา คือมีตัวตนนั้น จะเป็นอัตตาคือตัวตนเฉพาะในปัจจุบันหรือจะสืบต่อไปในอนาคตก็ตาม ก็จะต้องมีความเห็นสืบต่อไปว่า อะไรคืออัตตาตัวตน โดยมากนั้นย่อมมีความยึดถืออยู่ในรูปบ้าง ในเวทนาบ้าง ในสัญญาบ้าง ในสังขารบ้าง ในวิญญาณบ้าง ว่าเป็นอัตตาคือตัวตน

 รูปนั้น ก็ได้แก่รูปกายทั้งหมด ที่ประกอบด้วยอาการต่าง ๆ ทั้งภายนอกทั้งภายใน ดั่งที่เรียกว่า อาการ ๓๑ หรือ ๓๒ หรือจะแยกให้ละเอียดไปกว่านั้นในทางสรีรวิทยาก็ตาม หรือว่าจะกล่าวโดยสรุปก็ได้แก่ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ มุ่งถึงส่วนที่เป็นธาตุทั้ง ๔ และ อุปาทายรูป รูปอาศัย เช่น ประสาทต่างๆ ที่อาศัยอยู่กับรูปใหญ่นั้นก็ตาม ทั้งหมดรวมเรียกว่า รูป เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า รูปขันธ์ แปลว่า กองรูป หรือ หมวดรูป เพราะว่ามีลักษณะอาการ มีส่วนประกอบมากมายด้วยกัน ตามตำราศัพท์เล่าว่า ครั้งเดิมทีเดียวคนเราสังเกตเอาว่า เมื่อหัวใจยังเต้นตุ๊บ ๆ อยู่ ก็ยังมีชีวะหรือยังมีอัตตาตัวตนอยู่ เมื่อดับลมหายใจเสียแล้วก็สิ้นชีวะ อัตตาตัวตนก็ดับ จึงเรียกลมหายใจว่าอัตตา ในสันสกฤตเรียกว่า อาตมัน บาลีก็เป็น อัตตา อาตมันนี้ก็ไปตรงกับศัพท์กิริยาในภาษาเยอรมัน แปลว่า หายใจ เหมือนกัน แล้วก็เขียนอ่านว่าเป็นอาตมัน เหมือนอย่างสันสกฤต นี่แสดงว่าคนครั้งดั้งเดิมนั้น เข้าใจว่าอัตตาก็อยู่ที่ลมหายใจนี่แหละ ตั้งชื่อเรียกว่า อาตมัน มาตรงกับบาลีว่า อัตตา นี่เข้าใจแต่รูปเท่านี้

 อนึ่ง ก็เข้าใจว่าอัตตาอยู่ที่เวทนา เวทนาก็ได้แก่ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง เวทนามีมากด้วยกัน จึงเรียกว่า เวทนาขันธ์ กองเวทนา คือว่าเมื่อรู้จักคิดเข้า ก็คิดสืบไปว่า ลำพังรูปแม้จะยังหายใจอยู่ ถ้าไม่มีเวทนาก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เป็นสุขอย่างไร แต่ว่าเพราะมีเวทนานี่แหละ จึงจะรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ฉะนั้น จึงได้เลื่อนความเข้าใจว่า อัตตาคือตัวตนนั้น ก็ได้แก่เวทนานี่เอง เพราะว่าเป็นสภาพที่คอยกินสุขกินทุกข์ และก็แปล อัตตา ว่า ผู้กิน อันหมายความว่า กินสุขกินทุกข์ ก็ได้แก่เวทนานี่เอง

 อนึ่ง มีความเข้าใจเลื่อนไปถึงสัญญา สัญญาก็ได้แก่ความจำหมาย คือความจำได้หมายรู้ต่างๆ มีมากด้วยกัน จึงเรียกว่า สัญญาขันธ์ แปลว่ากองสัญญา หรือว่า หมวดสัญญา เห็นว่า ลำพังแต่กินสุขกินทุกข์ กินแล้วก็ลืม จำอะไรไว้ไม่ได้ก็ไม่ยั่งยืนอะไร ความยั่งยืนมาอยู่ที่ความจำได้หมายรู้ฉะนั้น สัญญาคือความจำได้หมายรู้จึงเป็นอัตตาตัวตน

 อนึ่ง มีความคิดเลื่อนไปอีกว่า สังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดเป็นอัตตาคือตัวตน เพราะลำพังสัญญาคือความจำได้หมายรู้นั้น ก็สักแต่ว่าจำ ๆ เท่านั้น ถ้าจำแล้วไม่เอาไปคิดอ่านให้เป็นเรื่องเป็นราวอะไรต่อไป ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรติดต่อกัน แต่การที่จะเป็นเรื่องเป็นราวอะไรติดต่อกัน ก็ต้องมีความคิดปรุง หรือความปรุงคิด ตัวความคิดปรุง หรือความปรุงคิดนี้จึงเป็นอัตตาตัวตน และความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนี้ก็มีมาก จึงเรียกว่า สังขารขันธ์ กองสังขาร หรือหมวดสังขาร

 อนึ่ง มีความคิดสืบขึ้นไปอีกว่า วิญญาณนี่เป็นอัตตาตัวตน วิญญาณนี้หมายถึงใจหรือหมายถึงสิ่งที่จะไปเวียนเกิดก็มี หมายเพียงความรู้สึกเห็นรูป รู้สึกได้ยินเสียง ในเวลาที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้นก็มี ฝ่ายที่มีความเห็นว่าวิญญาณเป็นอัตตานั้น ก็ด้วยมีความเข้าใจว่า วิญญาณคือใจที่เป็น (ไม่ตาย) ล่องลอยไปไหนก็ไปได้ เหมือนอย่างเราอยู่ในที่นี้ แต่ว่าใจล่องลอยไปอยู่ที่โน้นที่นี้ ไปไกลเท่าไรก็ได้ และไปได้อย่างรวดเร็ว และถ้ายิ่งมีความเข้าใจว่า เมื่อตายไปแล้ว วิญญาณเป็นตัวไปเกิด ก็ยิ่งจะมีความเห็นกระชับลงไปว่า นี่เองเป็นอัตตาตัวตน และความเข้าใจของคนโดยมากก็เข้าใจดั่งนี้ คือเมื่อเรียกว่าวิญญาณ ก็เข้าใจว่าได้แก่ใจที่ล่องลอยไปไหนได้ หรือว่าเป็นตัวที่จะไปเกิดต่อไป

 ในคนเราก็มีสิ่งทั้ง ๕ นี้ คือมีรูป ได้แก่ มีรูปกายหรือรูปขันธ์ กองรูป มีเวทนาขันธ์ กองเวทนา มีสัญญาขันธ์ กองสัญญา มีสังขารขันธ์ กองสังขาร มีวิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ มีอยู่ด้วยกันทั้ง ๕ และที่เข้าใจกันว่าเป็นตัวเป็นตน ก็เข้าใจกันอยู่ที่สิ่งทั้ง ๕ นี้ ในเวลาที่สิ่งทั้ง ๕ นี้ยังมีอยู่บริบูรณ์ ก็เข้าใจว่ามีตัวตนบริบูรณ์ ถ้าพิการก็เข้าใจว่าอัตตาพิการ เช่น ถ้ารูปขันธ์พิการเสียอย่างเช่น ตาบอด หูหนวก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส กายเป็นอัมพาต ก็หมดเรื่องกันเท่านั้น ถ้ายิ่งสลบไสลไปด้วยเสียอีก ก็ยิ่งไม่รู้อะไร ฉะนั้นเพียงแต่รูปขันธ์อย่างเดียวเท่านั้นก็เป็นข้อสำคัญ เมื่อยังมีอยู่บริบูรณ์ ทุก ๆ คนจึงยังมีความรู้สึกอะไรต่อมิอะไร คิดอะไรต่อมิอะไรอยู่ได้ อีก ๔ อย่างนั้นก็เหมือนกัน เพราะมีเวทนาอยู่ จึงมีความสุขทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์อะไรต่าง ๆ มีสัญญาอยู่ จึงมีความจำได้หมายรู้ มีสังขารอยู่ จึงมีความคิดปรุงหรือปรุงคิดไปได้ มีวิญญาณอยู่ จึงมีความรู้สึกต่างๆ ถ้าอาการเหล่านี้เสียไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นความบกพร่อง ถ้าขาดไปเสียทั้งหมดก็เลยเป็นผู้มีความไม่รู้สึกอะไรเลย

 เพราะฉะนั้น ที่บุคคลยังมีความรู้สึกเป็นตัวตนอยู่ มีชีวะอยู่อย่างบริบูรณ์ ก็เพราะมีอาการทั้ง ๕ นี้ประกอบกันอยู่สมบูรณ์ และเป็นไปโดยสะดวกไม่ขัดข้อง ฉะนั้น จึงยึดถืออาการทั้ง ๕ เหล่านี้นี่เองว่าเป็นอัตตาตัวตน ถ้าหากว่าสิ้นอาการทั้ง ๕ เหล่านี้ ก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือ และไม่มีอะไรที่จะให้มีความคิดในการที่จะให้ยึดถือ ในสมัยพุทธกาลหรือสมัยไหนๆ ก็คงเป็นเช่นนี้

 ในปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้ และพระปัญจวัคคีย์นั้นก็ย่อมมีความยึดถืออยู่เช่นนี้อย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมจักร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงได้ดวงตาเห็นธรรมเพียงรูปเดียว เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอบรมอีก จึงได้ ดวงตาเห็นธรรมจนครบทั้ง ๕ รูป แต่ก็ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม เท่ากับว่าเห็นทุกขสัจ ความจริงคือทุกข์ขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงพระสูตร

ที่ ๒ ชี้ลักษณะของอาการทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนโดยชัดเจน


จากหนังสือ
๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๖๐ – ๖๖