Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๙

 sungaracha

 

 

 

 

 

 

 

sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

อริยสัจ ๔

คราวนี้จะแสดงความของปฐมเทศนา อธิบายออกไปโดยสังเขป

 อริยสัจข้อที่ ๑ คือทุกข์ คำว่า ทุกข์ แปลตามศัพท์ว่า สิ่งที่ทนอยู่ยาก มีความหมายเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งหมายถึงทุก ๆ สิ่งต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป คือว่าเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องแปรปรวนเรื่อยไปจนถึงดับหรือแตกสลาย เรียกง่าย ๆ ว่า หมายถึงทุก ๆ สิ่งที่มีเกิด มีดับ สิ่งใดมีเกิดขึ้น

และต้องดับไป สิ่งนั้นเรียกว่าเป็นทุกข์ทั้งหมด เพราะอะไร เพราะว่าทนอยู่ยาก คือทนอยู่ไม่ได้ ถ้าทนอยู่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องไม่ดับไม่แตกสลาย แต่เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับต้องแตกสลาย จึงได้ชื่อว่าเป็นทุกข์อันแปลว่าทนอยู่ยาก หมายความว่าทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป นี้เป็นทุกข์ที่เป็นสภาพธรรมดา ทุก ๆ สิ่งในโลกตลอดถึงตัวโลกเองก็ต้องเป็นเช่นนี้ เพราะไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดับไม่แตกสลาย ต่างกันแต่ว่าจะแตกสลายไปช้าหรือเร็วเท่านั้น

 ในพระสูตร ท่านชี้เข้ามาให้กำหนดรู้โดยเฉพาะที่กายว่า เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ ก็มุ่งที่จะให้รู้ถึงทุกข์ที่เป็นสภาพธรรมดาดั่งกล่าวนั้น ถ้าจะอธิบายอย่างอื่นก็พอได้แต่ไม่ชัด เช่นบางท่านอธิบายว่าเมื่อเกิดนั้นทุกข์หนักหนา แต่ความจริง ทุก ๆ คนก็ไม่รู้ว่าทุกข์อย่างไรเวลาเกิดออกมา มารู้เอาเมื่อโตขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น จะไปว่าเป็นทุกข์ก็ไม่รู้ แก่นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามุ่งถึงว่าร่างกายแปรปรวนเปลี่ยนแปลงในขั้นเจริญขึ้น ซึ่งเรียกว่าแก่เหมือนกันคือว่าแก่ขึ้น ก็ไม่รู้สึกว่าจะเป็นทุกข์อะไร แต่ครั้นอายุมากเข้าเป็นแก่ลง ร่างกายเสื่อมลงจึงค่อยรู้สึกขึ้น เมื่อเวลาจะตายว่าตายเป็นทุกข์ ความจริงทุกข์ก่อนตาย เมื่อจะตายจริง ๆ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นทุกข์อย่างไร อย่างที่เรียกว่ากลัวตายนั้น ความจริงกลัวก่อนตาย ถ้ายังกลัวตายอยู่ก็ยังไม่ตาย เมื่อจะตายจริงแล้วไม่กลัว คือว่าไม่รู้สึกที่จะกลัวแล้ว และพร้อมกันนั้นก็ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์แล้ว แต่ท่านก็อธิบายให้เห็นว่าเดือดร้อนอย่างนั้นอย่างนี้ต่าง ๆ แต่ก็ไม่ชัด เพราะฉะนั้น เห็นว่าจะต้องอธิบายว่า ที่ชื่อว่าเป็นทุกข์ก็หมายถึงว่า เป็นสภาพธรรมดาที่จะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทนอยู่คงที่ไม่ได้ คือว่าทุก ๆ สิ่งตลอดถึงกายของเรา เมื่อเกิดขึ้นเบื้องต้นแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนถึงลงท้ายก็ดับ ทุก ๆ สิ่งในโลกตลอดถึงโลกก็เป็นอย่างนี้ เป็นทุกข์ที่เป็นสภาพธรรมดา นี้เป็นความหมายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นความหมายยืน แต่คนเราเองไปมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก และมีอุปาทานคือความยึดถือในสิ่งที่เป็นทุกข์นั้น เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดความทุกข์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าความทุกข์ใจต่าง ๆ ดั่งที่ท่านแสดงไว้ว่า โสกปริเทวทกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทกฺขา เป็นต้น ถ้าบุคคลไม่มีตัณหาอุปาทานอย่างพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวก ก็ไม่เห็นว่าจะต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนอะไร สิ่งทั้งหลายในโลกตลอดจนถึงกายของเราเอง ตลอดจนถึงโลกเอง ก็ต้องเป็นไปตามคติธรรมดา คือว่ามีเกิด มีแปรปรวน มีดับ แต่เมื่อไม่มีกิเลสเข้าไปยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์

 เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงความทุกข์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากตัณหา ได้แก่ความทุกข์ใจต่าง ๆ ประกอบกันไปด้วย แล้วก็ชี้ว่าตัณหานี้ที่เป็นเหตุให้เกิดอุปาทานคือความยึดถือก็เป็น สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอริยสัจข้อที่ ๒

 เมื่อดับตัณหา ดับความยึดถือได้ ก็เป็น ความดับทุกข์ เป็นอริยสัจข้อที่ ๓ อะไรจะเป็นอะไร ใจเราก็ไม่เป็นทุกข์อะไร เทียบดูเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้เอง ถ้าบุคคลมีตัณหาอุปาทานในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอะไรขึ้นในทางที่ไม่ชอบไม่ปรารถนา จึงจะเกิดความทุกข์ขึ้น ถ้าไม่มีตัณหาอุปาทานในสิ่งใด สิ่งนั้นจะเป็นอะไร จะไม่เป็นทุกข์อะไร คราวนี้พิจารณาดูใกล้เข้ามา ๆ จนถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหมดตัณหาอุปาทานเสียทุก ๆ สิ่งแล้ว ทุกข์ก็ไม่มีทุก ๆ สิ่ง แต่ว่าสิ่งทั้งหลายในโลกก็ต้องเป็นไปตามคติธรรมดา มีเกิด มีแปรปรวน มีดับ

 มรรคนั้นก็หมายความว่า การปฏิบัติอบรมจิตและอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ความเห็นจนเป็นเหตุให้ละตัณหาอุปาทานเสียได้ นี่แหละเป็นใจความของ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่ง เป็นอริยสัจข้อที่ ๔ ความรู้ความเห็นนั้นต้องเป็นความรู้ที่ละได้ด้วย ไม่ใช่รู้แล้วละไม่ได้ ต้องเป็นความรู้ที่ทำได้ ไม่ใช่รู้แล้วทำไม่ได้ อันนี้เป็นลักษณะของความรู้ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

 ในปฐมเทศนาที่ได้ย่อความมาแสดงแล้ว มีอธิบายโดยสังเขปบางข้อ ดังนี้

คราวนี้จะอธิบาย ญาณ คือความรู้ของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในอริยสัจที่ว่ามีวน ๓ มีอาการ ๑๒ ในเบื้องต้น ควรกำหนดชื่อญาณไว้ ๓ ก่อน คือ

 ๑. สัจจญาณ ความรู้ในสัจจะคือความจริง

. กิจจญาณ ความรู้ในกิจหน้าที่ที่พึงทำ

. กตญาณ ความรู้ในการทำกิจเสร็จ

 การที่จะทำความเข้าใจญาณในอริยสัจ ก็ควรจะทำความเข้าใจญาณ คือความรู้ในเรื่องสามัญ เป็นการเทียบเคียง เมื่อทุก ๆ คนประสบเรื่องที่เป็นหน้าที่การงานของตน เรื่องในครอบครัว เรื่องอื่น ๆ จากนี้ที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นจะต้องรู้ความจริงก่อน ที่เรียกกันเป็นสามัญว่าข้อเท็จจริง เมื่อรู้ความจริงถูกต้องแล้ว จึงรู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนั้น เมื่อรู้ดั่งนี้แล้วจึงลงมือจัดทำจนสำเร็จ รู้ความจริงเบื้องต้น เทียบได้กับ สัจจญาณ รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เทียบได้กับ กิจจญาณ รู้ว่าทำสำเร็จแล้ว เทียบได้กับ กตญาณ อีกอย่างหนึ่ง เทียบในการรักษาโรค เบื้องต้นก็จะต้องรู้ว่าเป็นโรคอะไร นี้เทียบได้กับ สัจจญาณ จะต้องรู้ว่าจะต้องรักษาอย่างไร นี้เทียบได้กับ กิจจญาณ รู้ว่ารักษาโรคให้หายได้แล้ว นี้เทียบได้กับ กตญาณ ฉะนั้น ความรู้สามัญในเรื่องทั่วๆ ไปของคนก็จะต้องมีลักษณะทั้ง ๓ นี้

 คราวนี้ว่าถึงความรู้ใน อริยสัจ อริยสัจนั้นมี ๔ ข้อ ดังที่แสดงแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ตัวของอริยสัจทั้ง ๔ นั้นด้วย คือเมื่อทรงแสดงว่า ทุกข์ ก็ทรงแสดงว่า อะไรเป็นทุกข์ เมื่อทรงแสดงว่า สมุทัย ได้ทรงชี้ด้วยว่า อะไรเป็นสมุทัย เมื่อทรงแสดงว่า นิโรธ ความดับทุกข์ ทรงชี้ด้วยว่า ดับอะไร เมื่อทรงแสดง มรรค ก็ทรงชี้ข้อปฏิบัติไว้ด้วยครบถ้วน ฉะนั้น ในเบื้องต้นที่เรียกว่าจะรู้อริยสัจ ก็ต้องรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงแสดงไว้นั้นเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ ทรงแสดงว่า ความเกิดแก่ตายเป็นต้นเป็นทุกข์ ก็ความเกิดแก่ตายนั้นเป็นทุกข์จริงหรือไม่ ทรงแสดงว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริงหรือไม่ ทรงแสดงว่า ดับตัณหาเสียเป็นความดับทุกข์ ก็เป็นความดับทุกข์จริงหรือไม่ ทรงแสดงว่า ทางมีองค์ ๘ เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ เบื้องต้นก็จะต้องรู้ว่าจริงหรือไม่ดั่งกล่าวนี้ก่อน ถ้ายังไม่เกิดความรู้ของตัวเอง ก็ยังไม่ชื่อว่ารู้ ดั่งเช่นรู้ตามแบบ หรือตามที่ได้ยิน อ่านเรื่องอริยสัจ ฟังเรื่องอริยสัจก็คงรู้เหมือน ๆ กันทุกคน แล้วก็สวดกันอยู่เป็นประจำว่า ชาติปิ ทกฺขา ชราปิ ทกฺขา มรณมฺปิ ทกฺขํ รู้ตาม

สัญญาดั่งนี้ยังไม่ชื่อว่าญาณ ต้องรู้สึกเห็นจริงขึ้นด้วยตัวเอง เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นแท้แน่นอนลงไปอย่างนั้น โดยไม่ต้องนึกว่าพระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่ต้องนึกว่าใครว่า แต่ว่าตนเองลงความเห็นจริงลงไปอย่างนั้น และการลงความเห็นนั้นก็ไม่ใช่ว่าลงความเห็นข้างนอก แต่ว่าลงความเห็นเข้ามาที่ตัวเราเอง เพราะอริยสัจทั้ง ๔ นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ตัวของเราเอง คือตัวของทุก ๆ คน ดั่งทรงแสดงว่า นี้ทุกข์ คำนี้ก็หมายถึงชี้เข้ามาข้างใน ทุกข์ก็คงอยู่ที่ตัวของเราเอง เกิด แก่ ตาย ก็คงอยู่ที่ตัวของเราเอง ทุกข์ใจต่าง ๆ ต่อจากนั้นก็อยู่ที่ตัวของเราเอง รู้เข้ามาที่ตัวของเราเอง เหล่านี้แหละว่าเป็นทุกข์จริง สมุทัยก็เหมือนกัน รู้เข้ามาที่ตัวของเราเองว่า ตัณหาที่จิตใจของตนเองนั้นเป็นตัวสมุทัย นิโรธก็เหมือนกัน รู้เข้ามาถึงความดับตัณหาของตนเองว่าเป็นความดับทุกข์ มรรคก็เหมือนกัน รู้เข้ามาที่ข้อปฏิบัติดีและปฏิบัติชอบต่าง ๆ ที่ตัวของเราเองว่าเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 ความรู้ที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง มีความเห็นชัดลงไปด้วยตนเอง เห็นจริงแท้แน่นอนลงไปเองว่า นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์ นี้เป็นความดับทุกข์ นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า สัจจญาณ รู้ในความจริง ซึ่งต้องมีเป็นประการแรก เมื่อมีความรู้นี้แล้ว ก็เป็นอันว่ารู้ลักษณะหน้าตาของอริยสัจทั้ง ๔ นี้ รู้สภาพของอริยสัจทั้ง ๔ นี้ เหมือนอย่างมีคนมา ๔ คน ในเบื้องต้น เมื่อสังเกตจนรู้ว่าคนทั้ง ๔ นี้มีลักษณะนิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีความสามารถเป็นอย่างไร แปลว่ารู้จักคนทั้ง ๔ นี้ดีว่าเป็นอย่างไร

 คราวนี้ก็ถึง กิจจญาณ ความรู้ในกิจหน้าที่ที่พึงทำ คือเมื่อรู้สภาพของอริยสัจทั้ง ๔ นั้นตามเป็นจริงแล้ว ก็รู้สืบไปว่าทุกข์นั้นควรกำหนดรู้ คือควรกำหนดให้รู้ว่าเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่ต้องทำอะไร สมุทัยนั้นควรละคือสละให้พ้นไป นิโรธนั้นควรทำให้แจ้ง มรรคนั้นควรอบรมให้มีให้เป็นขึ้น นี้เรียกว่า กิจจญาณ รู้ในกิจคือหน้าที่ที่ควรทำในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น หมายความว่า รู้หน้าที่อันควรปฏิบัติในธรรมแต่ละข้อ

 การปฏิบัติของคนที่ยุ่งเหยิงกันอยู่ ก็เพราะเหตุว่าปฏิบัติไม่ถูกหน้าที่ยกเฉพาะอริยสัจ ๔ นี้ หน้าที่ที่ควรจะปฏิบัติในทุกข์ก็คือกำหนดให้รู้เท่านั้นว่าเป็นทุกข์ หน้าที่ที่ควรจะปฏิบัติในสมุทัยก็คือละ ดั่งกล่าวแล้ว แต่คนเราไปปฏิบัติสลับกัน ดั่งเช่นคนที่มีความทุกข์โศกอย่างหนัก เพราะปรารถนาไม่ได้สมหวัง เป็นคนจนทางเข้า บางทีก็ทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง นี้เรียกว่าทำผิดหน้าที่ของธรรม เพราะว่าร่างกายของตัวเองที่ตัวเองฆ่าเสียนั้น จัดเข้าในทุกขสัจจะ คืออยู่ในหมวดทุกข์ ที่ท่านว่า ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ดั่งที่แสดงแล้ว เกี่ยวแก่ร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้กำหนดรู้เท่านั้นว่าเป็นทุกข์      ไม่ได้สอนให้ละคือฆ่าตัวเองลงไป สิ่งที่ท่านสอนให้ฆ่านั้นคือสมุทัยต่างหาก ได้แก่ตัณหาที่เป็นตัวเหตุอันมีอยู่ในใจของตัว หรือพูดรวมๆ ว่า กิเลส เป็นความปรารถนาอยากได้ต่าง ๆ หรือจะพูดอย่างกว้าง ๆ ว่า โลภ โกรธ หลง ก็ได้ ตัวสมุทัยท่านสอนให้ละ เมื่อจะฆ่าก็ต้องฆ่าสมุทัย ไม่ใช่ฆ่าร่างกาย

 ในเรื่องสามัญอื่น ๆ ก็เหมือนกัน อย่างเช่นว่าเมื่อเกิดเรื่องกระทบกระทั่ง โกรธแค้นขัดเคืองกัน ก็ทุบตีทำร้ายร่างกายกัน นี่ก็ทำผิดหน้าที่เหมือนกัน ร่างกายที่ทุบตีทำร้ายกันนั้น เป็นทุกขสัจจะ เพราะร่างกายต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ในหมวดทุกข์ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้กำหนดรู้ ท่านไม่สอนให้

ไปทุบตีทำร้ายกัน ท่านสอนให้ทุบตีทำร้ายโทสะ คือความโกรธในใจของตัวเองนั้นแหละ เมื่อเกิดความโกรธขึ้น ก็ให้ทุบตีทำร้ายตัวความโกรธในใจ คือให้ละความโกรธนั้นเสีย ถ้าจะทำร้ายก็ทำร้ายความโกรธ ไม่ให้ใครไปทำร้ายร่างกายของใคร เพราะฉะนั้น ถ้ารู้หน้าที่ของธรรม ปฏิบัติให้ถูกหน้าที่ของธรรม เรื่องเดือดร้อนก็ไม่มี

 ส่วนนิโรธนั้น ท่านสอนให้ทำให้แจ้ง คือเมื่อได้ปฏิบัติจนได้รับความสงบของจิตใจ สงบจากความดิ้นรนทะยานอยาก ก็ให้กำหนดดูให้รู้จักตัวความสงบนั้นไว้ แล้วคอยพอกพูนอยู่ บางทีเราไม่ค่อยสนใจกับความสงบ แต่ความจริงทุก ๆ คนจะต้องมีความสงบอยู่เสมอเป็นครั้งเป็นคราว เพราะว่ากิเลสเช่นว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากปรารถนานั้น ไม่ใช่ว่าจะมีครอบงำใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าครอบงำใจอยู่ตลอดเวลาแล้วจะหาความสงบไม่ได้ จะพักผ่อนหลับนอนไม่ได้ ใจจะยุ่งอยู่กับอารมณ์ที่ดิ้นรนที่ยึดถืออยู่

แต่ที่เราพักผ่อนได้ มีความสุขได้ ก็เพราะเหตุว่ามีเวลาที่จิตใจมีความสงบ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องคอยสังเกตดูให้รู้จักตัวความสงบที่เราได้รับอยู่ ทั้งที่ได้รับโดยปกติ ทั้งที่ได้รับโดยการปฏิบัติ ให้รู้จักหน้าตาของความสงบอยู่เสมอ อย่าละเลยไปเสีย เพราะอันนี้แหละเป็นผลที่ทำให้จิตใจได้รับความสุข และคอยรักษาความสงบนั้นไว้

 คราวนี้ มรรค หน้าที่ที่จะปฏิบัติในมรรค ก็หมายความว่าจะต้องปฏิบัติทำให้มีขึ้น พิจารณาดูได้ในองค์ทั้ง ๘ นั้นที่เราเองว่า ตัวของเรามีอยู่เพียงไร แล้วก็ต้องอบรมให้มีขึ้น อบรมความเห็นชอบ ความดำริชอบ พูดชอบ ทำการงานชอบ อาชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ให้มีอยู่เสมอ ถ้าเราตรวจดูที่ตัวเราเองอยู่ เราก็จะรู้ เว้นไว้แต่จะละเลยไม่ตรวจ โดยมากเรามักจะไปตรวจข้างนอก ไปดูว่าคนนั้นผิด คนนั้นชอบ แต่สำหรับในด้านคดีธรรมนั้น ท่านมุ่งให้ตรวจดูเข้ามาข้างใน ให้ดูตัวเองอยู่ว่า อะไรของเราผิด อะไรของเราชอบ แล้วก็ต้องพยายามละส่วนที่ผิดให้หมดไป ปฏิบัติส่วนที่ชอบให้มีมากขึ้น ๆ นี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำในมรรคมีองค์ ๘

 รู้ในกิจคือหน้าที่ดั่งกล่าวมานี้ เรียกว่า กิจจญาณ

 เมื่อได้ปฏิบัติในกิจคือหน้าที่ในอริยสัจทั้ง ๔ นี้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็รู้เป็น กตญาณ คือความรู้ในการทำกิจสำเร็จ ต้องถึงขั้นนี้จึงจะเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ ถ้ายังไม่ถึงกตญาณ ความรู้ยังไม่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติจนบังเกิดความรู้ถึงขั้นกตญาณนี้ จึงได้ชื่อว่า พุทธะ ผู้รู้ที่บริบูรณ์ ผู้รู้ที่สมบูรณ์ เพราะเหตุว่าได้ทรงกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว ทำให้แจ้งนิโรธแล้ว ปฏิบัติในมรรคบริบูรณ์แล้ว ทรงเป็นผู้เสร็จกิจจริง ๆ

 อริยสัจทั้ง ๔ นี้ เป็นธรรมที่สรุปธรรมทั้งหมด ท่านแสดงว่าเหมือนอย่างรอยเท้าช้างเป็นที่รวมของรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลก เรียกชื่อตามกิจคือหน้าที่ในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ ก็ได้ธรรมเป็น ๔ หมวด คือ

. ปริญเญยยธรรม ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ได้แก่พวกทุกขสัจทั้งหมด หรือว่าสิ่งที่ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตาย หรือสิ่งที่เกิดดับทั้งหมด รวมเข้าในหมวดนี้ ที่แสดงไว้ในนวโกวาทก็ได้แก่ ธรรมหมวดขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นต้น ทั้งหมด

. ปหาตัพพธรรม ธรรมที่ควรละ ได้แก่กิเลสทั้งหมด ที่แสดงไว้ในนวโกวาทก็เช่น อกุศลมูล ๓ นิวรณ์ ๕ มลทิน ๙ อุปกิเลส ๑๖ รวมความว่า พวกกิเลสและอกุศลธรรมทั้งหมด

. สัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ได้แก่ผลของการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหมด เช่น อุปสมะ ความสงบระงับแห่งใจ

. ภาเวตัพพธรรม ธรรมที่ควรอบรมให้มีขึ้นเป็นขึ้น ได้แก่ ธรรมปฏิบัติทุก ๆ อย่างในนวโกวาท ตั้งแต่ทุกะหมวด ๒ ไปที่เป็นข้อที่สอนให้ปฏิบัติธรรม ก็รวมเข้าในหมวดนี้ทั้งนั้น

 ข้อที่ควรทราบเบ็ดเตล็ดอีกอย่างหนึ่งคือในปฐมเทศนานี้ ตอนแสดงทุกขสัจ ไม่กล่าวถึงพยาธิ ความป่วยไข้ ว่าเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าได้รวมไว้ในคำว่า ทุกฺข คือทุกข์กาย ในคำว่า โสก ปริเทว ทุกฺข โทมนสฺส อุปายาส นั้นแล้ว แต่ในที่มาบางแห่งได้แสดงว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ และตัดคำว่า โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา เสีย

 เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนาแล้ว ท่านแสดงว่า ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดแก่พระโกณฑัญญะซึ่งเป็นหัวหน้าของภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา คำนี้บ่งว่าท่านได้เห็นทุกขสัจแจ้งขึ้น เพราะความหมายของทุกข์ประการที่ ๑ คือสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ อันหมายถึงว่าสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ เมื่อท่านได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ท่านก็ขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสอนุญาตว่า เอหิ ภิกฺขุ จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติปฏิบัติเพื่อสิ้นทุกข์โดยชอบเถิด ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันว่าท่านได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า และอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา แปลว่า การอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด

 พระสูตรนี้ท่านเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรที่แสดงถึงเรื่องการยังจักรคือธรรมให้เป็นไป เทียบกับจักรของพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดินั้น ท่านแสดงว่ามีรัตนะ ๗ ได้แก่ จักกรัตนะ จักรแก้ว หัตถิรัตนะ ช้างแก้ว อัสสรัตนะ ม้าแก้ว มณิรัตนะ มณีแก้ว อิตถีรัตนะ สตรีแก้ว คหปติรัตนะ คฤหบดีแก้ว ปริณายกรัตนะ นายกแก้ว เป็นเครื่องทำให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิคือเป็นเจ้าโลก เทียบในปัจจุบันก็หมายความว่า ถ้าจะมีอุปกรณ์และบุคคลอันใดที่จะทำให้ใครๆ มีอำนาจเหนือบุคคลทั้งโลก จนเป็นเจ้าโลกได้ ก็พอเรียกว่าเป็นรัตนะได้ ความคิดว่าจะต้องเป็นเจ้าโลกได้มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในบัดนี้ก็พยายามที่จะเป็นกันอยู่ ก็สุดแต่ว่าใครจะมีอะไรเหนือคนทั้งโลก ในรัตนะ ๗ นั้น จักกรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นตัวอำนาจสำคัญที่ทำให้เป็นเจ้าโลก ถ้าจะเทียบกับในทางบ้านเมืองก็หมายถึงว่าอาณาจักร คือชาติไหนจะเป็นประเทศชาติของตัวขึ้น ก็จะต้องมีอาณาจักร คืออำนาจ พระพุทธเจ้าจะตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น ก็ทรงเริ่มด้วยการแสดงปฐมเทศนา เท่ากับว่าทรงตั้งพุทธจักรขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยปฐมเทศนานี้ แต่ว่าจักรของพระพุทธเจ้าไม่ใช่อำนาจทางโลก หมายถึงธรรม ทรงตั้งพุทธจักรขึ้นด้วยธรรม เป็นอันเริ่มตั้งขึ้นด้วยปฐมเทศนานี้

 


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๕๐ – ๕๙