Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๘

 sungaracha

 

 

 

 

 

 

 

sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

เมื่อได้เล่าเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่อิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี ในแคว้นกาสี และเมื่อได้เล่าความแห่งปฐมเทศนานั้นโดยย่อ ต่อไปนี้จะเล่าเรื่องประกอบก่อน

 

แคว้นกาสี

แคว้นกาสี ตามเรื่องที่แสดงในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าเคยเป็นแคว้นที่เจริญรุ่งเรืองมาในสมัยก่อนพุทธกาล คู่กับแคว้นโกศลที่อยู่ติดต่อกัน คำว่า กาสี เข้าใจกันว่าเป็นชื่อของชาวอารยัน เผ่าที่มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในที่นั้น หรือเป็นชื่อของกษัตริย์พระองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้ปกครองแคว้นนั้นในอดีต

คำว่า พาราณสี บางคนว่ามาจากคำว่า พรณา กับ อสี ต่อกัน คือที่ตรงนั้นมีแม่น้ำพรณาอยู่ทางเหนือ แม่น้ำอสีอยู่ทางใต้ แต่อีกแบบหนึ่งก็กล่าวว่า แม่น้ำคงคาและแม่น้ำชื่อว่า วรุณ มาบรรจบกัน และมีความเชื่อถือของคนว่ามีแม่น้ำอีกสายหนึ่งลอดมาข้างใต้ มาบรรจบกันที่ตรงนั้น แต่ที่เห็นกันอยู่ก็เป็นแม่น้ำ ๒ สายมาบรรจบกัน ว่ารวมชื่อของแม่น้ำนี้เข้าก็เป็นพาราณสี

ส่วนคำว่า อิสิปตนะ แปลตามศัพท์ว่า ที่เป็นที่ตกของฤษี มีอธิบาย ๒ อย่าง อย่างที่หนึ่งมีอธิบายว่า ได้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวน ๕๐๐ รูปเหาะมาถึงที่ตรงนั้น ก็มานิพพาน แล้วสรีระของท่านก็ตกลงมาที่ตรงนั้นพร้อมกัน อีกอย่างหนึ่งอธิบายว่า ได้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าจำนวน ๕๐๐ รูป คือจำนวนมาก ได้ออกมาจากป่า และมาพักอยู่ที่แห่งหนึ่งนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อิสิปตนะ แปลว่า ที่ตกของฤษี หรือที่มาประชุมพักของฤษีก็ได้ คำว่า ฤษี แปลตามศัพท์ว่า ผู้มีปกติแสวงหา หมายความว่า ผู้มีปกติแสวงหาคุณวิเศษ เดิมก็ใช้เป็นชื่อเรียกนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม ก็ใช้คำนี้เป็นชื่อของผู้แสวงธรรมในพระพุทธศาสนาด้วย ดั่งที่เรียกพระสาวกเป็นต้น ว่าเป็น อิสิ หรือ ฤษี แต่ว่าใช้ในความหมายว่า แสวงธรรม

คำว่า มิคทายะ นั้น คำว่า ทายะ บางท่านแปลว่า ป่า มิคทายะ แปลว่า ป่าเนื้อ อีกคำหนึ่ง ทาวะ คือเป็นตัว แปลว่า ป่า เหมือนกัน มิคทาวะ ก็แปลว่า ป่าเนื้อ อีกอย่างหนึ่ง ทายะ แปลว่าให้ มิคทายะ ก็แปลว่าที่เป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ คือเนื้อนกที่อยู่ในเขตนั้น ก็ถูกห้ามไม่ให้ทำอันตราย คือเท่ากับเป็นที่หวงห้ามไม่ให้ทำอันตรายแก่สัตว์ป่าในที่นั้น

ความเจริญของแคว้นกาสีในอดีต ได้มีเล่าไว้ในชาดกเป็นอันมาก ในบางครั้งได้มีความเจริญในด้านศีลธรรมมาก จนถึงมีเล่าไว้ในชาดกว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นกาสีมีพระนามว่า พรหมทัต พระนามนี้เป็นพระนามของกษัตริย์แห่งแคว้นนี้สืบต่อกันมาทุก ๆ องค์ พระเจ้าพรหมทัตพระองค์นี้ได้ทรงตั้งอยู่ในความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงตัดสินความของราษฎรด้วยความเที่ยงตรง ทรงปกครองให้มีความสุขไม่เบียดเบียนกันและกันจนเป็นที่สรรเสริญกันทั่วไป พระองค์ได้เคยปลอมพระองค์เสด็จไปเที่ยวสอดส่องดูแลสุขทุกข์ของราษฎรอยู่เสมอ ก็ไม่พบผู้ที่ตำหนิติเตียน พระองค์ได้เสด็จทรงราชรถมีนายสารถีขับเรื่อยไปจนถึงชายแดนในคราวหนึ่ง และในรัฐโกศลซึ่งอยู่ติดกัน พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนั้นมีพระนามว่า พัลลิกะ ก็ทรงปกครองราษฎรให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขคล้ายคลึงกัน ชอบปลอมพระองค์เสด็จออกสอดส่องดูทุกข์สุขของราษฎร และในคราวหนึ่งก็เสด็จทรงราชรถมีนายสารถีขับออกไปจนถึงชายแดน รถของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์มาสวนกันในทางแคบแห่งหนึ่ง สารถีของทั้ง ๒ ฝ่ายก็เกี่ยงจะให้อีกฝ่ายหนึ่งหลีกทางให้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอม ฉะนั้นก็ได้ไต่ถามกันถึงพระราชประวัติต่าง ๆ ปรากฏว่ามีพระชนม์เท่ากัน มีกำลังรี้พลทรัพย์สมบัติก็เท่าเทียมกัน ไม่ด้อยกว่ากัน ก็ยังไม่มีเหตุที่จะอ้างให้อีกฝ่ายหนึ่งหลีกทางให้อีกฝ่ายหนึ่งได้

คราวนี้จึงได้ถามกันขึ้นถึงธรรมของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์ นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นโกศลตอบว่า พระเจ้าพัลลิกะพระราชาของตนนั้นทรงโต้ตอบหนักแก่คนที่หนักมา ทรงโต้ตอบอ่อนแก่คนที่อ่อนมา ทรงชนะความดีด้วยความดี แต่เมื่อชั่วมาก็ทรงเอาชนะด้วยความชั่ว พระเจ้าแผ่นดินของตนเป็นเช่นนี้ ฝ่ายสารถีของพระเจ้าพรหมทัตกรุงกาสีก็ตอบว่า พระเจ้าแผ่นดินของตนนั้น ทรงเอาชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ทรงเอาชนะคนชั่วหรือความชั่วด้วยความดี ทรงเอาชนะคนตระหนี่หรือความตระหนี่ด้วยการบริจาค พระเจ้าแผ่นดินของตนได้มีธรรมเช่นนี้ เมื่อได้ฟังดั่งนั้นฝ่ายพระเจ้าพัลลิกะแห่งกรุงโกศลเห็นว่าธรรมของพระเจ้าพรหมทัตสูงกว่าจึงได้ยอมหลีกทางให้

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องแสดงการให้อภัยแก่เนื้อ คือมีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าพรหมทัตซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นกาสีพระองค์หนึ่ง ได้โปรดล่าเนื้อและเสวยเนื้อสัตว์เป็นอาจิณ ได้เกณฑ์ให้ราษฎรตามเสด็จในการล่าเนื้อ จนราษฎรพากันระอา เพราะต้องละทิ้งการงาน จึงได้คิดที่จะหาที่สักแห่งหนึ่ง จัดล้อมไว้และต้อนเนื้อเข้ามารักษาไว้ที่นั้น เมื่อพระเจ้าแผ่นดินต้องการจะล่าเนื้อเสวยเนื้อ ก็ให้มาล่าเอาไป พวกตนก็จะไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน จึงได้พร้อมกันไปต้อนเอาเนื้อมารวมไว้ที่แห่งหนึ่งจำนวนมาก

เนื้อที่ถูกต้อนมานั้นได้มีอยู่ ๒ หมู่ หัวหน้าของเนื้อหมู่หนึ่งชื่อว่า นิโครธ อีกหมู่หนึ่งชื่อว่า สาขะ เนื้อทั้ง ๒ นี้เป็นเนื้อที่มีรูปงาม พระเจ้าแผ่นดินเมื่อได้เสด็จมาทอดพระเนตร ก็พระราชทานอภัยให้โดยเฉพาะ ไม่ให้ใครทำอันตราย เมื่อต้อนเนื้อมารวมไว้ดั่งนั้นแล้ว บางคราวพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จมาเอง บางคราวก็ให้พ่อครัวมาจัดการประหารไปปรุงอาหารเป็นประจำ เนื้อที่ถูกเขาไล่จะฆ่าก็พากันวิ่งหนี จะจับฆ่าได้สักตัวหนึ่งก็บาดเจ็บกันหลายตัว เพราะฉะนั้น หัวหน้าทั้ง ๒ ก็หารือกันว่า ไหน ๆ ก็จะต้องตายด้วยกันแล้ว จัดวาระไปรอรับความตายอยู่วันละตัว เมื่อถึงวาระของเนื้อตัวไหน เนื้อตัวนั้นก็ไปอยู่รอในที่ที่เขาจะประหาร หมู่เนื้อทั้งปวงก็ตกลงกัน และก็ผลัดวาระกันไปให้เขาจับฆ่า

คราวนี้ก็ถึงวาระของแม่เนื้อตัวหนึ่งซึ่งมีครรภ์แก่ เป็นบริวารของเนื้อชื่อว่าสาขะ แม่เนื้อตัวนั้นไปหาหัวหน้า ขอร้องว่าให้ตกลูกเสียก่อน เมื่อตกลูกแล้วก็จะเข้ารับวาระ ฝ่ายหัวหน้าก็ไม่ยอมเพราะไม่อาจจะจัดให้ใครไปแทนได้ เนื้อท้องแก่นั้นก็ไปหาหัวหน้าเนื้ออีกฝูงหนึ่ง ซึ่งชื่อว่านิโครธ หัวหน้าเนื้อชื่อว่านิโครธนั้นสงสาร จึงรับภาระที่จะช่วย ได้เอาตัวเองไปรอรับวาระ ฝ่ายพ่อครัวเข้ามาเพื่อจะฆ่าเนื้อ เมื่อมาเห็นเนื้อหัวหน้าซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้สั่งห้ามไว้แล้ว ก็ไม่กล้าทำอันตราย ไปทูลให้ทรงทราบ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาทรงถาม สอบสวนได้ความแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า แม้แต่สัตว์เดียรัจฉานก็ยังมีจิตใจที่มีเมตตากรุณา ไฉนมนุษย์จึงไม่มี จึงพระราชทานอภัยให้แก่หมู่เนื้อทั้งหลาย ห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายทั่ว ๆ ไปทั้งหมด

เรื่องชาดกโดยมากในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องเล่าในแคว้นกาสีนี้เกือบทั้งนั้น อันแสดงว่าเป็นแคว้นที่เคยรุ่งเรืองมามาก แต่ก็หมายความว่ารุ่งเรืองมามากก่อนสมัยพุทธกาล คือก่อนที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นนั้น แคว้นกาสีนี้ปรากฏว่าได้ด้อยอำนาจลงไป จนต้องไปรวมอยู่กับแคว้นโกศล ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่อยู่ในเวลานั้น แต่ว่าในสมัยพระพุทธเจ้านั้น แคว้นกาสีนี้จะเป็นแคว้นอิสระหรืออย่างไรไม่ปรากฏชัด แต่ก็มีเรื่องเกี่ยวเนื่องอยู่กับแคว้นโกศลและมคธ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะทราบอีก ๒ แคว้นนั้นโดยสังเขปก่อน

 

แคว้นมคธ หรือ มคธรัฐ นั้นในสมัยพุทธกาล พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พิมพิสาร ราชธานีชื่อว่า ราชคหะ หรือ ราชคฤห์ ส่วน แคว้นโกศล พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า ปเสนทิ ราชธานีชื่อว่า สาวัตถี พระเจ้าพิมพิสารกรุงราชคฤห์แห่งมคธรัฐ กับพระเจ้าปเสนทิกรุงสาวัตถีแห่งโกศลรัฐ ต่างก็เป็นพระสวามีของขนิษฐภคินีของกันและกัน คือพระขนิษฐภคินีของพระเจ้าปเสนทิไปอภิเษกเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร พระขนิษฐภคินีของพระเจ้าพิมพิสารก็ไปอภิเษกเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิ เมื่อพระราชบิดาของพระเจ้าปเสนทิ อันมีพระนามว่า พระเจ้ามหาโกศล หรือ มหาปเสนทิ ทรงจัดอภิเษกพระราชธิดา ซึ่งเป็นขนิษฐภคินีของพระเจ้าปเสนทิในปัจจุบันนั้นแก่พระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้พระราชทานกาสิกคามให้แก่พระราชธิดา เพื่อเป็นค่าเครื่องประดับทำนุบำรุงพระราชธิดาของพระองค์ ผู้ปกครองของแคว้นกาสีไม่ปรากฏชัด เพราะในตำนานพระพุทธศาสนาจะมีเล่าไว้ก็ในเมื่อมาเกี่ยวพันกับเรื่องทางศาสนาเท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวพันก็ไม่เล่า แต่ว่ามีกล่าวไว้ในอรรถกถาพระวินัยเล่มหนึ่ง ว่าพระเจ้าแผ่นดินของกาสีเป็นพระภาดาร่วมพระราชบิดาของพระเจ้าปเสนทิแห่งแคว้นโกศลในสมัยนั้น และในบาลีวินัยแห่งหนึ่ง ก็มีเล่าถึงว่า พระเจ้ากาสีได้ส่งผ้าเนื้อดีไปพระราชทานแก่หมอชีวกโกมารภัจ ซึ่งเป็นผู้มีอุปการะแก่พระองค์ ผ้าแคว้นกาสีนี้เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เป็นของดีมีราคามาก ส่วนการศาสนาในแคว้นกาสี โดยเฉพาะในพาราณสี ซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าเป็นที่รวมของลัทธิศาสนาเป็นอันมาก ดั่งที่กล่าวว่า มีศาสดาเจ้าลัทธิสั่งสอนอยู่เป็นก๊กใหญ่ ๆ ๖ ก๊ก และที่มีผู้นับถือมาก ตามหลักฐานที่แสดงกันมาก็คือ ศาสนาไชนะ กับ ศาสนาพราหมณ์   พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประกาศพระพุทธศาสนาในแหล่งที่มีศาสนาต่าง ๆ กำลังรุ่งเรืองอยู่

 


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๔๔ – ๔๙