Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๗

 sungaracha

 

 

 

 

 

 

 

sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

พรรษาที่ ๑

ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี

เมื่อก่อนพุทธปรินิพพาน ๔๕ ปี ในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยดาวฤกษ์ชื่อว่า วิสาขา คือวันเพ็ญเดือนวิสาขะเป็นเวสาขะ ในราตรีวันเพ็ญนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม ก่อนแต่ตรัสรู้เรียกว่า พระโพธิสัตว์ แปลว่าผู้ข้องอยู่ในความรู้ อันหมายความว่า ไม่ทรงข้องอยู่ในสิ่งอื่น ข้องอยู่แต่ในความรู้ จึงทรงแสวงหาความรู้จนได้ตรัสรู้ จึงเรียกว่า พุทธะ ที่แปลว่า ผู้รู้ หรือตรัสรู้ เราเรียกกันว่า พระพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ภายใต้ต้นไม้ชื่อว่า อัสสัตถะ ต่อมาก็เรียกว่า ต้นโพธิ์ คำว่า โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ เพราะพระพุทธเจ้าไปประทับนั่งใต้ต้นไม้นั้นตรัสรู้ จึงได้เรียกว่า ต้นไม้ตรัสรู้ เรียกเป็นศัพท์ว่า โพธิพฤกษ์ แต่ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ว่า อัสสัตถะ ที่ตรัสรู้นั้นอยู่ที่ใกล้ฝั่ง แม่น้ำเนรัญชรา ใน ตำบลอุรุเวลา ใน มคธรัฐ

เมื่อตรัสรู้แล้วก็ได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขในที่ต่าง ๆ ใกล้กับโพธิฤกษ์นั้นอยู่หลายสัปดาห์ ได้ทรงดำริถึงพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่าเป็นของที่ลุ่มลึก ในชั้นแรกก็ทรงมีความขวนขวายน้อยว่าจะไม่ทรงแสดงธรรมนั้น เพราะเห็นว่าคนเป็นอันมากจะไม่เข้าใจ แต่ก็ได้ทรงพิจารณาดูหมู่สัตว์เห็นว่า หมู่สัตว์นั้นมีต่าง ๆ กัน ผู้ที่จะตรัสรู้ได้ก็มีอยู่ เทียบด้วยดอกบัว ๓ เหล่าที่จะบานได้ ผู้ที่ตรัสรู้ไม่ได้ก็มี อันเทียบด้วยดอกบัวอีกชนิดหนึ่งที่จมอยู่ก้นสระ ไม่มีหวังจะบานและท่านแสดงว่า ท้าวสหัมบดีพรหมได้มากราบทูลอาราธนา ทรงพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ดั่งกล่าวนั้น ก็ทรงรับอาราธนาของพรหม เรื่องนี้ก็ถอดความว่า ได้เกิดพระกรุณาขึ้นแก่สัตวโลก พระกรุณานั้นเองทำให้ทรงตกลงพระหฤทัยว่า จะทรงแสดงธรรมสอนภิกษุปัญจวัคคีย์

เมื่อได้ตกลงพระหฤทัยดั่งนี้ ก็ได้ทรงทำสังขาราธิษฐาน คือตั้งพระหฤทัยว่าจะทรงดำรงพระชนมชีพอยู่จนกว่าจะประกาศพระพุทธศาสนาตั้งลงได้โดยมั่นคง มีพุทธบริษัทบริบูรณ์ และได้ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่จะทรงแสดงธรรมสั่งสอนเป็นครั้งแรก ได้ทรงระลึกถึงอาฬารดาบสและอุททกดาบสซึ่งได้เคยเข้าไปทรงศึกษาอยู่ในชั้นแรก แต่ก็ได้ทรงทราบว่า ท่านทั้ง ๒ นั้นถึงมรณภาพไปเสียแล้ว ต่อจากนั้นจึงได้ทรงระลึกถึงภิกษุ ๕ รูปอันเรียกว่า ปัญจวัคคีย์ แปลว่า มีพวก ๕ ซึ่งได้มาคอยเฝ้าปฏิบัติพระองค์อยู่ในเวลาที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ได้ทิ้งพระองค์ไปเสียเมื่อทรงเลิกทุกรกิริยามาทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต ทรงทราบว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ได้ไปพักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี จึงได้เสด็จออกจากบริเวณโพธิพฤกษ์ที่ตรัสรู้ ในตำบลอุรุเวลา เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่กรุงพาราณสี เพื่อจะเสด็จไปยังตำบลที่ภิกษุทั้ง ๕ นั้นพักอยู่

ในตอนนี้ พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงว่า ได้เสด็จออกจากตำบลอุรุเวลาที่ตรัสรู้ในตอนเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ หน้าวันเข้าพรรษา คือได้เสด็จไปตอนเช้าของวันโกน และก็ได้เสด็จถึงตำบลที่พระภิกษุปัญจวัคคีย์พักอยู่คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในตอนเย็นวันนั้น แต่ถ้าดูระยะทางตามแผนที่จากตำบลอุรุเวลา ที่บัดนี้เรียกว่าพุทธคยา ไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่บัดนี้เรียกว่า สารนาถ ก็เป็นหนทางถึง ๑๐๐ ไมล์เศษ ในคัมภีร์ชั้นบาลีไม่ได้กำหนดวัน เป็นแต่เพียงได้บอกว่าได้เสด็จไปโดยลำดับเท่านั้น

ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น มีชื่อว่า ๑.โกณฑัญญะ ๒.วัปปะ ๓.ภัททิยะ ๔.มหานามะ และ ๕.อัสสชิ โกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ท่านโกณฑัญญะผู้นี้ ได้เป็นพราหมณ์คนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๑๐๘ คน ที่มาประชุมทำนายพระลักษณะ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประสูติแล้ว ๕ วัน พราหมณ์เหล่านี้พากันทำนายว่าพระองค์จะมีคติเป็น ๒ คือถ้าอยู่ครองฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชาเอกในโลก แต่ถ้าออกทรงผนวช จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก ส่วนท่านโกณฑัญญะเป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดในหมู่พราหมณ์นั้น ได้ทำนายไว้คติเดียวว่า จะเสด็จออกทรงผนวช และจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก เพราะฉะนั้น จึงได้คอยฟังข่าวพระโพธิสัตว์อยู่เสมอ จนเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช ท่านโกณฑัญญะก็ได้ชักชวนบุตรของพราหมณ์ที่มาประชุมทำนายพระลักษณะในคราวนั้นได้อีก ๔ คน รวมกันเป็น ๕ คน ออกบวชคอยติดตามพระพุทธเจ้า และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญทุกรกริยาก็เป็นที่สบอัธยาศัยของท่านทั้ง ๕ นั้น ซึ่งนิยมในทางนั้น ก็พากันไปคอยเฝ้าปฏิบัติ ครั้นพระองค์ได้ทรงเลิกละเสียแล้ว ท่านทั้ง ๕ นั้นก็เห็นว่าพระองค์ได้ทรงเวียนมาเป็นผู้มักมาก จะไม่สามารถตรัสรู้พระธรรมได้ ก็พากันหลีกไปพักอยู่ที่ตำบลอิสิปตนมฤคทายวันนั้น

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ก็นัดหมายกันไม่ให้ลุกต้อนรับ ไม่ให้ทำการอภิวาท แต่ให้ปูอาสวะไว้ ถ้าทรงประสงค์จะนั่งก็นั่ง แต่ถ้าไม่ทรงประสงค์ก็แล้วไป แต่ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเข้าต่างก็ลืมกติกาที่ตั้งกันไว้ พากันลุกขึ้นรับและอภิวาทกราบไหว้ และนำน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท ผ้าเช็ดพระบาทมาคอยปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับบนอาสนะ ทรงล้างพระบาทแล้ว พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ก็พากันเรียกพระองค์ด้วยถ้อยคำตีเสมอ คือเรียกพระองค์ว่า อาวุโส ที่แปลว่า ผู้มีอายุ หรือแปลกันอย่างภาษาไทยว่า คุณ พระพุทธเจ้าก็ตรัสห้าม และได้ตรัสว่าตถาคตมาก็เพื่อจะแสดงอมตธรรมให้ท่านทั้งหลายฟัง เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจฟังและปฏิบัติโดยชอบก็จะเกิดความรู้จนถึงที่สุดทุกข์ได้ ภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลคัดค้านว่า เมื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยายังไม่ได้ตรัสรู้ เมื่อทรงเลิกเสียจะตรัสรู้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสยืนยันเช่นนั้น และพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ก็คงคัดค้านเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ระลึกว่า แต่ก่อนนี้พระองค์ได้เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้หรือไม่ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ระลึกขึ้นได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ยินยอมเพื่อจะฟังธรรม

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่า พวกภิกษุปัญจวัคคีย์พากันตั้งใจเพื่อจะฟังธรรมของพระองค์แล้ว จึงได้ทรงแสดง ปฐมเทศนา คือ เทศนาทีแรก โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ ท่านแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนานี้ในวันรุ่งขึ้นจากที่เสด็จไปถึง คือได้ทรงแสดงในวันเพ็ญของเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘ หน้าวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันที่ได้ประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ดังที่ได้กำหนดตั้งขึ้นเป็นวันบูชาวันหนึ่ง

 

ปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ปฐมเทศนานี้ เป็นเทศน์ครั้งแรกที่มีความสำคัญ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทางที่พระองค์ทรงปฏิบัติ ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้ ได้ทรงแสดงญาณคือความรู้ของพระองค์ที่เกิดขึ้นในธรรมนั้น ถ้าจะตั้งปัญหาว่า พระพุทธเจ้าทรงดำเนินทางปฏิบัติมาอย่างไรจึงได้ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อะไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยความรู้ที่มีลักษณะอย่างไร ปัญหาเหล่านี้ก็อาจจะตอบได้ด้วยพระสูตรนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นพระสูตรที่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจะละเสียมิได้ ควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจ

ใจความปฐมเทศนานี้ ตอนที่ ๑ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางที่บรรพชิตคือนักบวช ซึ่งมุ่งความหน่าย มุ่งความสิ้นราคะ คือความติด ความยินดี มุ่งความตรัสรู้ มุ่งพระนิพพาน ไม่ควรจะซ่องเสพ อันได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบตนด้วยความสุขสดชื่นอยู่ในทางกาม และ อัตตกิลมถานุโยค ความประกอบการทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนเปล่า เพราะเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นของต่ำทราม ที่เป็นกิจของชาวบ้าน ที่เป็นของปุถุชน มิใช่เป็นกิจของบรรพชิตผู้มุ่งผลเช่นนั้น ส่วนอีกหนทางหนึ่งซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเป็นหนทางกลาง อยู่ในระหว่างทางทั้ง ๒ นั้น แต่ว่าไม่ข้องแวะอยู่ในทางทั้ง ๒ นั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ให้เกิดจักษุคือดวงตาเห็นธรรม จะทำให้เกิดญาณคือความหยั่งรู้ ทำให้เกิดความสงบระงับ ทำให้เกิดความรอบรู้ ทำให้เกิดความดับกิเลส อันได้แก่ ทางที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการ อันเป็นของประเสริฐ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ พยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

ตอนที่ ๒ ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้ เมื่อละทางทั้ง ๒ ข้างต้น และมาเดินอยู่ในทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือข้อปฏิบัติเป็นทางกลาง ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง ๘ นั้น อันได้แก่อริยสัจ ๔ คำว่า อริยสัจ แปลว่า ความจริงของบุคคลผู้ประเสริฐก็ได้ แปลว่า ความจริงที่ทำให้บุคคลเป็นคนประเสริฐก็ได้ อริยสัจ ๔ นี้ได้แก่

๑. ทุกข์ ในพระสูตรนี้ ได้ชี้ว่าอะไรเป็นทุกข์ไว้ด้วย คือชี้ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความโศกคือแห้งใจ ปริเทวะคือคร่ำครวญรัญจวนใจ ทุกขะคือทุกข์กาย เช่นป่วยไข้ โทมนัสสะคือทุกข์ใจ อุปายาสคือคับแค้นใจ เป็นทุกข์ อัปปิยสัมปโยค ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ปิยวิปโยค ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ปรารถนาไม่ได้สมหวัง เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ขันธ์ที่ยึดถือไว้ทั้ง ๕ ประการ เป็นทุกข์

๒. ทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ในพระสูตรได้ทรงชี้ว่า ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ อันมีลักษณะให้ซัดส่ายไปสู่ภพคือภาวะใหม่เสมอ ไปด้วยกันกับนันทิ ความเพลิดเพลิน ราคะ ความติดความยินดี มีความเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ มี ๓ คือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือได้แก่สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่

๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ในพระสูตรได้ทรงชี้ว่า คือดับตัณหาเสียได้หมด สละตัณหาเสียได้หมด ปล่อยคืนตัณหาเสียได้หมด พ้นตัณหาเสียได้หมด ไม่อาลัยพัวพันอยู่ในตัณหาทั้งหมด

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เรียกสั้น ๆ ว่า มรรค ได้แก่ มรรคอันมีองค์ ๘ ประการ ดั่งกล่าวข้างต้นนั้น

ตอนที่ ๓ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้แจงว่า ที่เรียกว่า ตรัสรู้ นั้น คือต้องเป็นรู้ที่มีลักษณะอย่างไร รู้ที่เรียกว่าเป็นตรัสรู้นั้น ต้องมีลักษณะดังนี้ คือเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านี้เป็นทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่าทุกข์นี้เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่าทุกข์นี้ได้กำหนดรู้แล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านี้เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่าสมุทัยนี้ควรละ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่าสมุทัยนี้ละได้แล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านี้เป็นนิโรธความดับทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านิโรธนี้ควรกระทำให้แจ้ง เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านิโรธนี้ได้ทำให้แจ้งแล้ว เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านี้เป็นมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่าทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ควรอบรมให้มีขึ้น เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่าทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ได้อบรมให้มีขึ้นได้บริบูรณ์แล้ว

เพราะฉะนั้น ญาณ คือความรู้ จะเรียกว่า ตรัสรู้ ต้องประกอบด้วยลักษณะเป็น สัจจญาณ คือความรู้ในความจริงว่า นี่เป็นความทุกข์จริง นี่เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี่เป็นนิโรธคือความดับทุกข์จริง นี่เป็นมรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง ส่วน ๑ ต้องเป็น กิจจญาณ ความรู้ในกิจคือหน้าที่ คือรู้ว่าหน้าที่จะต้องปฏิบัติในทุกข์ก็ได้แก่กำหนดรู้ ในสมุทัยก็ได้แก่ต้องละ ในนิโรธก็ได้แก่การทำให้แจ้ง ในมรรคก็ได้แก่ต้องปฏิบัติอบรม ส่วน ๑ ต้องเป็น กตญาณ คือความรู้ในการทำกิจเสร็จ คือรู้ว่าทุกข์ก็ได้กำหนดเสร็จแล้ว สมุทัยก็ละเสร็จแล้ว นิโรธก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็ได้ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้ว ส่วน ๑

เพราะฉะนั้น ในพระสูตรจึงแสดงว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็น ญาณ คือความหยั่งรู้ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ มีวนรอบ ๓ ก็คือว่าต้องรู้ในอริยสัจทั้ง ๔ นั้น โดยเป็นสัจจญาณ คือความรู้ในความจริงรอบหนึ่ง ต้องรู้ในอริยสัจทั้ง ๔ โดยเป็นกิจจญาณ คือต้องรู้ในกิจอันได้แก่หน้าที่รอบหนึ่ง ต้องรู้ในอริยสัจ ๔ นั้นโดยเป็นกตญาณ คือความรู้ในการทำกิจเสร็จรอบหนึ่ง ๓ คูณ ๔ ก็เป็น ๑๒ คือว่ามีอาการ ๑๒ เมื่อเป็นความรู้ที่วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดั่งกล่าวนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นความตรัสรู้ และท่านผู้ที่ได้มีความรู้ดั่งกล่าวนี้ จึงเรียกว่าเป็น พุทธะ คือเป็นผู้ตรัสรู้ ถ้าเรียกปัญญาของท่านก็เป็น โพธิ ที่แปลว่า ความตรัสรู้

เพราะฉะนั้น ใจความในพระสูตรที่กล่าวมานี้จึงเป็นการตอบปัญหาได้ทั้ง ๓ ข้อ ปัญหาว่าพระพุทธเจ้าได้ดำเนินทางปฏิบัติมาอย่างไรจึงได้ตรัสรู้ ก็ตอบได้ด้วยตอนที่ ๑ ปัญหาว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อะไร ก็ตอบได้ด้วยตอนที่ ๒ ปัญหาว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยความรู้ที่มีลักษณะอาการอย่างไร ก็ตอบได้ด้วยตอนที่ ๓ ฉะนั้น ในท้ายพระสูตร พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงประกาศว่า เมื่อความรู้ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดั่งกล่าวนี้ ยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ตราบใด ก็ยังไม่ทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้ ต่อญาณดั่งกล่าวนั้นเกิดขึ้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ พระองค์จึงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็น พุทธะ คือผู้ตรัสรู้ และเรียกว่าเป็นผู้ตรัสรู้เอง ก็เพราะว่าความรู้ของพระองค์ที่เกิดขึ้นดั่งกล่าวนั้น เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในธรรม คือในความจริงที่ไม่ได้ทรงเคยสดับฟังมาจากใคร ไม่ได้ทรงเรียนมาจากใคร เมื่อพิจารณาตามพระสูตร แม้ทางปฏิบัติของพระองค์ พระองค์ก็ทรงพบขึ้นเอง เพราะได้ทรงละทางปฏิบัติของคณาจารย์ต่าง ๆ มาโดยลำดับ จนมาถึงทรงค้นหาทางปฏิบัติด้วยพระองค์เอง และทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาและก็ทรงดำเนินไปในทางนั้น เมื่อทรงดำเนินไปในทางนั้นจนบริบูรณ์แล้ว ก็เกิดญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นในธรรมคือความจริง อันได้แก่ อริยสัจ ๔ ซึ่งไม่ได้เคยทรงสดับมาจากใคร ความรู้นั้นผุดขึ้นเอง อันเป็นผลของการปฏิบัติที่บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ตรัสรู้เอง ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ หมายถึงว่าทรงมีความรู้ ดั่งที่แสดงไว้ในพระสูตร ดั่งกล่าวนั้นแล



จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๓๕ – ๔๔