Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๖

 

 

 

sungaracha

 

 

 

 

 

 

 

 

sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

เรื่องพระพุทธศาสนา

คำว่า พระพุทธศาสนา ประกอบด้วยคำว่า พุทธะ ซึ่งแปลว่า ผู้รู้ กับคำว่า ศาสนา ที่แปลว่า คำสั่งสอน รวมกันเข้าเป็น พุทธศาสนา แปลว่า คำสั่งสอนของผู้รู้ เมื่อพูดว่าพุทธศาสนา ความเข้าใจก็ต้องแล่นเข้าไปถึงลัทธิปฏิบัติ และคณะบุคคลซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในลัทธิปฏิบัตินั้น ไม่ใช่มีความหมายแต่เพียงคำสั่งสอน ซึ่งเป็นเสียงหรือเป็นหนังสือ หรือเป็นเพียงตำรับตำราเท่านั้น พระพุทธศาสนาที่เราทั้งหลายในบัดนี้ได้รับนับถือและปฏิบัติเนื่องมาจากอะไร คือเราได้อะไรจากสิ่งที่เรียกว่า พระพุทธศาสนา นั้นมานับถือปฏิบัติในบัดนี้

เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า เราได้ หนังสือ อย่างหนึ่ง บุคคล อย่างหนึ่ง หนังสือนั้นก็คือตำราที่แสดงพระพุทธศาสนา บุคคลนั้นก็คือพุทธศาสนิก ที่แปลว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกนี้มิใช่หมายความแต่เพียงคฤหัสถ์ หมายความถึงทั้งบรรพชิตคือนักบวช และคฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา พูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้แก่พุทธบริษัทคือหมู่ของผู้นับถือพระพุทธเจ้า ดังที่เรียกว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แต่ในบัดนี้ ภิกษุณี ไม่มีแล้ว ก็มีภิกษุกับสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา หรือบุคคลที่เรียกว่าพุทธมามกะ พุทธมามิกา ก็รวมเรียกว่าพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนิกทั้งหมด คือในบัดนี้มีหนังสือซึ่งเป็นตำราพระพุทธศาสนา และมีบุคคลซึ่งเป็นพุทธศาสนิกหรือเป็นพุทธบริษัท ทั้ง ๒ อย่างนี้ หนังสือก็มาจากบุคคลนั่นเอง คือบุคคลที่เป็นพุทธศาสนิกหรือเป็นพุทธบริษัทได้เป็นผู้ทำหนังสือขึ้น และบุคคลดังกล่าวนี้ก็ได้มีสืบต่อกันเรื่อยมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และสืบต่อมาตั้งแต่จากที่เกิดของพระพุทธศาสนา มาจนถึงในต่างประเทศของประเทศนั้น ดังเช่นในประเทศไทยในบัดนี้ คือว่าได้มีพุทธศาสนิกหรือพุทธบริษัทสืบต่อกันเรื่อยมา จึงมาถึงเราทั้งหลายในบัดนี้ และเราทั้งหลายในบัดนี้ก็ได้เป็นพุทธศาสนิกหรือพุทธบริษัทในปัจจุบัน และคนรุ่นต่อ ๆ ไปก็จะสืบต่อไปอีก

หนังสือคือ ตำราพระพุทธศาสนา นั้นได้กล่าวแล้วว่าก็ออกมาจากบุคคล คือบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนาในสมัยนั้น ๆ ได้ทำเอาไว้ และเมื่อเราได้ศึกษาในหนังสือตำราพระพุทธศาสนาแล้ว เราจึงทราบประวัติของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ต้นมา เพราะฉะนั้น การทราบเรื่องพระพุทธศาสนาในบัดนี้ จึงทราบได้จากหนังสือซึ่งเป็นตำรา บุคคลซึ่งเป็นผู้รู้พระพุทธศาสนาในบัดนี้ก็รู้จากหนังสือหรือตำรา และก็บอกอธิบายกันต่อ ๆ มา เพราะฉะนั้น ก็ควรจะทราบหนังสือที่เป็นตำราในพระพุทธศาสนานี้ว่ามีขึ้นอย่างไร

หนังสือที่เป็นตำราพระพุทธศาสนานี้ มีเล่าว่า ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างสมบูรณ์ เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปแล้ว ๔๐๐ ปีเศษ คือหลังจากพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๔๐๐ ปีเศษ ภิกษุซึ่งเป็นพหูสูตในประเทศลังกา ได้ปรารภความทรงจำของบุคคลว่าเสื่อมทรามลง ต่อไปก็คงไม่มีใครสามารถจะทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้ทั้งหมด จึงได้ประชุมกันทำสังคายนา คือสอบสวนร้อยกรองพระพุทธวจนะตามที่ต่างคนได้จำกันไว้ได้ รับรองต้องกันแล้วก็เขียนลงเป็นตัวหนังสือ

ตำราที่เขียนขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เล่าถึงว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงคำสั่งสอนไว้อย่างไร เรียกว่าเป็นปกรณ์คือเป็นหนังสือชั้น บาลี เป็นหลักฐานชั้นที่ ๑ และต่อมาก็มีอาจารย์ได้แต่งคำอธิบายบาลีนั้น คำอธิบายบาลีของพระอาจารย์นั้น เรียกว่า อรรถกถา แปลว่า กล่าวเนื้อความ เป็นตำราชั้นที่ ๒ ต่อมาก็มีอาจารย์แต่งอธิบายอรรถกถานั้นอีก เรียกว่า ฎีกา เป็นตำราชั้นที่ ๓ ต่อมาก็มีพระอาจารย์แต่งอธิบายฎีกาออกไปอีก เรียกว่า อนุฎีกา เป็นตำราชั้นที่ ๔ และก็ยังมีพระอาจารย์แต่งอธิบายเบ็ดเตล็ด เป็นเรื่องสำคัญบ้าง เป็นเรื่องย่อย ๆ บ้างอีกมากมาย ก็เรียกว่าเป็นปกรณ์พิเศษ คือเป็นหนังสือพิเศษต่าง ๆ แต่ว่าตำราที่เป็นหลักก็คือ บาลี อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ดั่งกล่าวมานั้น

หนังสือเหล่านี้ ได้มีในประเทศลังกา และตามประวัติก็เล่าว่า เดิมก็เขียนเป็นภาษาลังกาหรือภาษาสีหฬอยู่เป็นอันมาก และต่อมาก็ได้มีพระเถระ เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ มาแปลเป็นภาษาบาลี ที่ในบัดนี้นับถือว่าเป็นภาษาพระพุทธศาสนาจนถึงในบัดนี้ หนังสือตำราเหล่านี้ก็ได้แปลเป็นภาษาบาลีในลังกาทั้งหมด ในประเทศไทยเราก็ได้ตำราเหล่านี้มา เช่นในบัดนี้ ที่เป็นชั้นบาลีก็ได้มาบริบูรณ์ ชั้นอรรถกถาก็ได้มาบริบูรณ์ ฎีกา อนุฎีกา ก็มีโดยมาก แต่ที่พิมพ์แล้วด้วยอักษรไทย สำหรับที่เป็นบาลี เรียกว่าพระไตรปิฎก พิมพ์ทั้งหมด พิมพ์เมื่อรัชกาลที่ ๕ ครั้งหนึ่ง พิมพ์เมื่อรัชกาลที่ ๗ คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้พิมพ์ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ เป็นครั้งที่ ๒ และในเวลาต่อ ๆ มาก็เพียงแต่พิมพ์ซ่อม สำหรับที่เป็นชั้นบาลีอันเรียกว่าพระไตรปิฎกนี้ ทางคณะสงฆ์ได้แปลเป็นภาษาไทย และได้พิมพ์เสร็จแล้วเป็นจำนวนมากเล่ม เป็นฉบับแปลของกรมการศาสนา ส่วนที่เป็นชั้นอรรถกถาได้พิมพ์ไว้ด้วยอักษรไทยเป็นส่วนมาก ชั้นฎีกาก็ได้พิมพ์บ้างแต่เป็นส่วนน้อย แต่หนังสือเหล่านี้โดยมากก็เป็นภาษาบาลี เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อจะรู้พระพุทธศาสนาด้วยตนเองจากตำราเดิม จึงต้องศึกษาภาษาบาลี หรือภาษามคธ พระภิกษุที่บวชมีหน้าที่จะต้องศึกษาสืบต่อพระพุทธศาสนาก็ต้องเรียนบาลีกัน และก็นำเอาพระธรรมวินัยจากบาลีนั้นมาแสดงแก่ผู้ที่ไม่ได้เรียนภาษาบาลี

เมื่อทราบว่า เราในบัดนี้ได้ทราบพระพุทธศาสนาจากหนังสือและจากคณะบุคคลซึ่งเป็นพุทธศาสนิก ดั่งที่กล่าวมาโดยย่อนี้แล้ว ก็ควรจะทราบต่อไปว่า เมื่อศึกษาจากหนังสือและบุคคลที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เป็นครูบาอาจารย์ต่อ ๆ กันมา จึงได้ทราบว่าต้นเดิมของพระพุทธศาสนานั้น ก็คือ พระพุทธเจ้า

คำว่า พระพุทธะ แปลว่า พระผู้รู้ ในภาษาไทยเราเติมคำว่า เจ้า เรียกว่า พระพุทธเจ้า คือเอาความรู้ของท่านมาเป็นชื่อ ตามพุทธประวัติที่ทราบจากหนังสือทางพระพุทธศาสนาดั่งกล่าวนั้น พระพุทธเจ้าก็เป็นบุคคลคือเป็นมนุษย์เรานี่เอง ซึ่งมีประวัติดั่งที่แสดงไว้ในพระพุทธประวัติแล้ว แต่ว่าท่านได้ค้นคว้าหาความรู้ จนประสบความรู้ที่เป็นโลกุตตระ คือความรู้ที่เป็นส่วนเหนือโลก หมายความง่าย ๆ ว่าความรู้ที่เป็นส่วนโลกิยะหรือเป็นส่วนโลกนั้น เมื่อประมวลเข้าแล้วก็เป็นความรู้ในด้านสร้างบ้าง ในด้านธำรงรักษาบ้าง ในด้านทำลายล้างบ้าง ผู้รู้เองและความรู้นั้นเองก็เป็นไปในทางคดีโลก ซึ่งต้องเป็นไปตามคติธรรมดาของโลก ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เพราะต้องเกี่ยวข้องอยู่กับโลก นอกจากนี้ ยังต้องเป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ ถึงจะเป็นเจ้าโลกแต่ไม่เป็นเจ้าตัณหา ต้องเป็นทาสของตัณหาในใจของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ยังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย และยังต้องเป็นทาสของตัณหาดั่งกล่าวนี้ จึงเรียกว่ายังเป็นโลกิยะ ยังไม่เป็นโลกุตตระคืออยู่เหนือโลก แต่ความรู้ที่จะเป็นโลกุตตระคืออยู่เหนือโลกได้นั้น จะต้องเป็นความรู้ที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ดั่งกล่าวได้ พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ปฏิญญาณพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม ซึ่งทำให้เป็นโลกุตตระคืออยู่เหนือโลก คือทำให้ท่านผู้รู้นั้นเป็นผู้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ดั่งกล่าวนั้น ท่านผู้ประกอบด้วยความรู้ดั่งกล่าวมานี้ และประกาศความรู้นั้นสั่งสอน ได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นต้นเดิมของพระพุทธศาสนา

พระธรรม ทีแรกก็เป็นเสียงที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า เป็นเสียงที่ประกาศความจริงให้บุคคลทราบธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ เพราะฉะนั้นเสียงที่ประกาศความจริงแก่โลกนี้ ก็เรียกกันว่าพระธรรมส่วนหนึ่ง หรือเรียกว่าพระพุทธศาสนา คือเป็นคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า เป็นคำสั่งเป็นคำสอน ข้อปฏิบัติที่คำสั่งสอนนั้นแสดงชี้ ก็เป็นพระธรรมส่วนหนึ่ง ผลของการปฏิบัติก็เป็นพระธรรมส่วนหนึ่ง เหล่านี้เรียกว่า พระธรรม

หมู่ชนที่ได้ฟังเสียงซึ่งออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ได้ความรู้พระธรรมคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอน จนถึงได้บรรลุโลกุตตรธรรม ธรรมที่อยู่เหนือโลกตามพระพุทธเจ้า เรียกว่าพระสงฆ์ คือหมู่ของชนที่เป็นสาวกคือผู้ฟังของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้รู้พระธรรมตามพระพุทธเจ้าได้ พระสงฆ์ดั่งกล่าวนี้เรียกว่า พระอริยสงฆ์ มุ่งเอาความรู้เป็นสำคัญเหมือนกัน ไม่ได้มุ่งว่าจะต้องเป็นคฤหัสถ์หรือจะต้องเป็นบรรพชิต และเมื่อรู้พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็ประกาศตนนับถือพระพุทธเจ้า ที่มีศรัทธาแก่กล้าก็ขอบวชตาม ที่ไม่ถึงกับขอบวชตามก็ประกาศตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา จึงได้เกิดเป็น บริษัท ๔ ขึ้น คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในบริษัท ๔ นี้หมู่ของภิกษุก็เรียกว่าพระสงฆ์เหมือนกัน แต่เรียกว่า สมมติสงฆ์ สงฆ์โดยสมมติ เพราะว่าเป็นภิกษุตามพระวินัยด้วยวิธีอุปสมบทรับรองกันว่าเป็นอุปสัมบันหรือเป็นภิกษุขึ้น เมื่อภิกษุหลายรูปมาประชุมกันกระทำกิจของสงฆ์ ก็เรียกว่า สงฆ์

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ที่เป็นอริยสงฆ์ ทั้ง ๓ นี้ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสรณะคือที่พึ่งอย่างสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ความเป็นพระอริยสงฆ์นั้นเป็นจำเพาะตน ส่วนหมู่แห่งบุคคลที่ดำรงพระพุทธศาสนาสืบต่อมา ก็คือพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนิกดั่งกล่าวมาข้างต้น ในพุทธบริษัทเหล่านี้ ก็มีภิกษุสงฆ์นี่แหละเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งเป็นผู้พลีชีวิตมาเพื่อปฏิบัติดำรงรักษาพระพุทธศาสนา นำพระพุทธศาสนาสืบ ๆ ต่อกันมา จนถึงในบัดนี้

 


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๒๙ – ๓๓