Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๕

 

 

 

sungaracha

 

 

 

 

 

 

 

 

sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า


เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

บทนำ

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้ประทานพระโอวาทแก่นวกภิกษุมาโดยลำดับศก ดังที่ได้บันทึกทำเป็นเล่มแล้ว ได้ทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้น เช่น เรื่องการบวช พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และได้ทรงแสดงธรรมในนวโกวาทไปตามลำดับหมวด กับในธรรมวิภาคปริจเฉทที่ ๒ ธรรมที่จะพึงจัดเป็นหมวดกันได้ก็ทรงแสดงเป็นหมวด คือธรรมในโพธิปักขิยธรรม กับธรรมที่เป็นหมวดสรีรยนต์ เมื่อได้สนใจอ่านพระโอวาทให้เข้าใจโดยตลอดแล้ว ก็จะได้ความรู้พระพุทธศาสนาพอสมควรทีเดียว ส่วนที่จะแสดงในที่นี้ ก็จะแสดงในเรื่องเดียวกันกับพระโอวาทนั้นบ้าง ต่างไปบ้าง แต่ก็พึงทราบว่าอาศัยอยู่ในแนวของพระโอวาทนั้นเป็นพื้น เพราะก็ได้ฝึกหัดและศึกษาธรรมมาจากพระองค์ท่านเป็นส่วนมาก และแม้จะแสดงในเรื่องเดียวกันแต่มีแนวความอธิบายต่างกันออกไป ก็พึงถือว่า ก็เป็นการขยายความออกไปอีกบ้างเท่านั้น

 

เรื่องการบวช

เรื่อง การบวช คำนี้ ออกมาจากคำว่า ปัพพัชชา มีคำแปลอย่างหนึ่งว่าการออก การออกที่เป็นการบวชหรือปัพพัชชานี้ ในเบื้องต้นก็เป็นการออกทางกาย คือออกจากเคหสถานบ้านเรือน มาเป็นผู้ไม่มีเรือน เพราะฉะนั้นจึงมีคำเรียกนักบวชว่า อนาคาริยะ ที่แปลว่า คนไม่มีเรือน คนไม่มีบ้าน เพราะว่าได้ออกจากบ้านเรือนมาแล้ว เมื่อออกมาเป็นอนาคาริยะ คือคนไม่มีบ้าน คนไม่มีเรือน ดังนี้แล้ว จึงต้องมีความเป็นอยู่เกี่ยวพันกับ นิสสัย ๔ ของบรรพชิต คือผู้บวช

คำว่า นิสสัย นั้นก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือนิสสัยที่เป็นภายนอกอย่างหนึ่ง นิสสัยที่เป็นภายในอย่างหนึ่งนิสสัยที่เป็นภายนอกได้แก่ปัจจัยเป็นเครื่องอาศัย ซึ่งนับว่าจำต้องอาศัย ขาดไม่ได้ นิสสัยที่เป็นภายในได้แก่นิสสัยจิตใจ ก็หมายถึงพื้นเพของจิตใจ แต่ว่านิสสัยจิตใจนั้นจะยกไว้ จะกล่าวเฉพาะนิสสัยภายนอก คือปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยที่จำเป็นสำหรับผู้บวช ก็คือเที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนต้นไม้ ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ดังที่ได้บอกกันเมื่ออุปสมบทเสร็จใหม่ ๆ นั้นแล้ว

ทำไมจึงต้องบอกนิสสัย ๔ นี้ ก็เพราะว่าเมื่อออกจากบ้านจากเรือนมาเป็นอนาคาริยะ คือคนไม่มีบ้านไม่มีเรือน จะทำอย่างไร ครอบครัวก็ไม่มี ก็ต้องเที่ยวขอเขา คือเที่ยวบิณฑบาต ผ้านุ่งห่มจะได้ที่ไหน ก็ต้องเที่ยวเก็บเอาผ้าที่เขาทิ้ง เขาไม่ต้องการ มาทำเป็นผ้านุ่งห่มสำหรับตน ที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ไหน บ้านก็ไม่มี โดยที่สุดก็ต้องอยู่ตามโคนไม้ เมื่อเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นจะได้หยูกยาที่ไหน เมื่ออยู่ตามโคนไม้ ก็ต้องเก็บเอาผลไม้ที่เป็นยา มาทำเป็นยากัน แก้ไข้ตามมีตามได้ เพราะฉะนั้น นิสสัย ๔ นี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ สำหรับผู้ที่บวชตามความหมายดั้งเดิมนั้น คือว่าออกมาเป็นคนไม่มีบ้านไม่มีเรือน ก็ต้องอาศัยนิสสัย ๔ นี้เท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อนักบวชได้มาเกี่ยวข้องกับชาวบ้านชาวเมือง ในฐานะที่มาเที่ยวสั่งสอนอบรมเขา มาเป็นบุญเขต คือนาบุญของเขา เมื่อเขามีศรัทธา เขาก็สร้างวัดให้อยู่ ก็กลายมาเป็นนักบวชที่อยู่วัด เมื่อมาอยู่วัดเข้า ชาวบ้านชาวเมืองมีศรัทธามากขึ้น เขาก็มาบำรุงด้วยอติเรกลาภต่าง ๆ จนมากมาย ด้วยกำลังศรัทธาของเขาดังที่ปรากฏอยู่นี้ เพราะฉะนั้นในบัดนี้มักจะลืมเลือนไปถึงความหมายเดิมของการบวช ลืมเลือนนิสสัย ๔ ของการบวช ชักให้ประมาท ลืมความเป็นนักบวชคือความเป็นผู้ออกดังกล่าวของตนแล้ว ก็ประพฤติตนไม่สมควร ก็กลายเป็นก่อบาป ก่ออกุศลขึ้น ฉะนั้น จึงควรที่จะระลึกถึงความหมายของการบวช ระลึกถึงนิสสัย ๔ ของการบวชที่มีความหมายเกี่ยวพันกันดังกล่าวมานั้น แล้วก็ไม่ประมาทตั้งใจบวชปฏิบัติพระธรรมวินัยตามกำลังสามารถ

ทำไมเขาจึงบำรุงด้วยอติเรกลาภต่าง ๆ มากมาย ก็เพราะเขามุ่งจะให้ผู้บวชเป็นสมณะที่ดี จะได้มีสัปปายะคือความสะดวกสบายในการที่จะเล่าเรียนปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จึงควรทำสติคือความระลึก สัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่เสมอ ว่าเขายิ่งบำรุงเท่าไร ก็จำเป็นที่จะต้องยิ่งทำความดีให้มากขึ้นเท่านั้นเพราะเขามุ่งเช่นนั้น เขาจึงทำนุบำรุง เมื่อมีสติเช่นนี้แล้วก็จะได้เกิดความไม่ประมาท

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นการออกบวชทางกาย และยังต้องมีลัทธิวิธีในการบวช ดังออกบวชเป็นภิกษุ เป็นสามเณร ก็จะต้องปฏิบัติพิธีการบวช เมื่อบวชแล้วก็จำเป็นที่จะต้องรักษาปฏิบัติในสิกขาตามหน้าที่ของผู้บวช ในการนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีการออกบวชอีกอย่างหนึ่ง คือการออกบวชทางใจ ได้แก่การปฏิบัติทางจิตใจ ให้เกิดความสงบระงับตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า

การออกบวชทางจิตใจเป็นข้อสำคัญ ถ้าจิตใจไม่ออก ดังเช่นจิตใจยังฟุ้งซ่านไปในเรื่องของโลก ในเรื่องของบ้านที่ได้ออกมาแล้ว หรือในทางใดทางหนึ่งในภายนอก ก็จะพาให้ร่างกายกระสับกระส่ายไปด้วย ไม่สามารถจะปฏิบัติในสิกขาของผู้บวชได้ เพราะฉะนั้น การบวชที่สมบูรณ์ก็จำเป็นที่จะออกบวชทางจิตใจอีกส่วนหนึ่ง

อนึ่ง บวชทำไม ปัญหานี้ ตอบตามทางพิจารณาดูตามประวัติของพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้านั้นเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นพระราชกุมาร ก็ทรงมีความบริบูรณ์พูนสุขทุกประการ แต่ได้ทรงปรารภถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่มีครอบงำสัตวโลกทุกถ้วนหน้า จึงทรงประสงค์จะพบโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย เมื่อได้ทรงประสบพบเห็นสมณะคือนักบวช ก็ทรงเลื่อมใสในการบวช ทรงเห็นว่าจะเป็นทางแสวงหาโมกขธรรมคือธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความทุกข์ดั่งกล่าวนั้นได้ จึงได้เสด็จออกบวช เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายแห่งการบวชของพระพุทธเจ้า จึงได้มุ่งโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความทุกข์ของโลก คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พร้อมทั้งความเกิด ผู้ที่บวชตามพระพุทธเจ้าในชั้นแรก ก็มีความมุ่งเช่นนี้ ดังเช่นพระสาวกในครั้งพุทธกาลรูปหนึ่งชื่อว่า พระรัฏฐปาละ ท่านเป็นลูกเศรษฐี แต่ก็ได้สละทรัพย์สมบัติออกบวช ปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนั้นพระนามว่า พระเจ้าโกรัพยะ ได้ถามท่านว่า ท่านบวชทำไมเพราะคนโดยมากนั้น บวชกันเพราะเหตุว่า มีความเสื่อมเพราะชราบ้าง มีความเสื่อมเพราะความป่วยไข้บ้าง มีความเสื่อมทรัพย์สมบัติบ้าง มีความเสื่อมญาติบ้าง แต่ว่าท่านรัฏฐปาละเป็นผู้ที่ยังไม่มีความเสื่อมใด ๆ ดังกล่าวนั้น ไฉนท่านจึงออกบวช ท่านก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัส ธัมมุทเทส ไว้ ๔ ข้อ คือ

๑.     โลกอันชราย่อมนำเข้าไป ไม่ยั่งยืน
๒. โลกไม่มีอะไรต้านทานจากความเจ็บป่วย ไม่เป็นใหญ่
๓. โลกไม่ใช่ของ ๆ ตน เพราะทุก ๆ คนจำต้องละสิ่งทั้งปวงไป ด้วยอำนาจของความตาย
๔. โลกพร่องอยู่ ไม่มีอิ่ม เป็นทาสของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

ท่านได้ปรารภธัมมุทเทส คือการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ ประการนี้ จึงได้ออกบวช

แต่ว่าการบวชนั้น ก็มิได้มีผู้มุ่งผลอย่างสูงดั่งกล่าวนี้เสมอไป ดังในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ ได้ถาม พระนาคเสน ว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชคืออะไร พระนาคเสนท่านก็ตอบว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชนั้นคือพระนิพพาน คือความดับ เพราะไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ทั้งหมด แต่คนก็มิใช่บวชเพื่อประโยชน์นี้ทั้งหมด บางคนบวชเพราะหลีกหนีราชภัย บ้างหลีกหนีโจรภัยบ้าง ปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือตามประสงค์ของผู้มีอำนาจบ้าง ต้องการจะพ้นหนี้สินบ้าง ต้องการความเป็นใหญ่บ้าง ต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายบ้าง เพราะกลัวภัยต่าง ๆ บ้าง พระเจ้ามิลินท์ก็ถามว่าพระนาคเสนเล่า เมื่อบวชมุ่งประโยชน์อย่างนี้หรือ หรือมุ่งอย่างไร พระนาคเสนก็ตอบว่า เมื่อท่านบวชนั้น ท่านยังเป็นหนุ่ม ก็ไม่ได้คิดจะมุ่งประโยชน์อย่างนี้ แต่ว่าท่านคิดว่า พระสมณศักยบุตรเหล่านี้ เป็นบัณฑิตคือเป็นผู้ฉลาดจักสามารถยังเราให้ศึกษาได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้บวชเพื่อศึกษา ครั้นท่านได้ศึกษาแล้ว ท่านจึงได้เห็นประโยชน์ของการบวช เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าท่านบวชก็ด้วยมุ่งประโยชน์เช่นนั้นเหมือนกัน พระนาคเสนท่านตอบพระเจ้ามิลินท์ดั่งนี้

แม้ในบัดนี้ การบวชจะไม่ได้มุ่งทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า บวชด้วยมุ่งจะศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบัติพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดประณีต เท่าที่เมื่อเข้ามาบวชแล้วจึงจะปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้น แม้มีความมุ่งจะบวชศึกษาและปฏิบัติดังกล่าวนี้ ก็ชื่อว่าเป็นความมุ่งที่ถูกต้องเหมือนกัน ในพระสูตรหนึ่ง ท่านได้แสดงถึงคนที่มุ่งดีเข้ามาบวช แต่ว่าเมื่อบวชแล้วก็ยังมีการได้ต่าง ๆ กัน

อย่างที่ ๑ เรียกว่า บวชได้กิ่งใบของพรหมจรรย์ คือบวชแล้วก็มุ่งแต่จะได้ลาภ ได้สักการะ ได้สรรเสริญ เมื่อได้ก็พอใจเพียงเท่านั้น

อย่างที่ ๒ เรียกว่า บวชได้กะเทาะเปลือกของพรหมจรรย์ คือก็ไม่ได้มุ่งจะได้ลาภ สักการะ และสรรเสริญทีเดียว แต่ก็ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงว่าจะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เท่านั้น

อย่างที่ ๓ เรียกว่า บวชได้เปลือกของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้แล้ว ก็ปฏิบัติในสมาธิให้บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงสมาธิเท่านั้น

อย่างที่ ๔ เรียกว่า บวชได้กระพี้ของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ให้บริบูรณ์แล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปจนเกิดญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นธรรมขึ้นด้วย และก็พอใจเพียงที่รู้ที่เห็นเท่านั้น

อย่างที่ ๕ เรียกว่า บวชได้แก่นของพรหมจรรย์ คือว่าได้ปฏิบัติสืบขึ้นไปจนได้วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์บางส่วนหรือสิ้นเชิง ตามสามารถของการปฏิบัติ

อย่างที่ ๕ นี้จึงจะชื่อว่าได้บรรลุแก่นของการบวช หรือว่าบวชได้แก่นของพรหมจรรย์

การบวชได้อะไรบ้างตามชั้น ๆ นี้ อันที่จริงเมื่อได้บวชตั้งใจปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ขึ้นมา ก็ชื่อว่าเป็นการบวชดีได้ แต่ยังมีกิจที่จะต้องทำให้สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกก็ต้องทำต่อไป ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น

การบวช จะได้ประโยชน์ของการบวชตั้งแต่ขั้นต้นขั้นต่ำดั่งที่กล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยการบวชใจประกอบอีกส่วนหนึ่ง เมื่อบวชพร้อมทั้งกายทั้งใจแล้วก็จะเป็นการบุญเป็นการกุศลอย่างสูง เป็นบุญก็คือเป็นเครื่องชำระความชั่ว เป็นกุศลก็คือเป็นกิจของคนฉลาดชำระความชั่วของเราเอง และเราเองก็เป็นผู้ฉลาดขึ้นเอง เป็นความฉลาดบริสุทธิ์

เรื่องการบวชตามที่กล่าวมานี้ เป็นการแสดงประกอบความรู้และความเข้าใจ ควรจะสนใจและตั้งใจทำการบวชแม้ชั่วคราวให้เป็นกุศลอย่างสูง เท่าที่สามารถจะทำได้


จากหนังสือ ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
เล่ม ๑ หน้า ๒๔ – ๒๙