Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๔

 

sangharaja-section

sungaracha

ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่ออะไร

หากจะมีปัญหาถามว่าศึกษาพุทธศาสนาเพื่ออะไร ผู้ตอบก็คงจะได้ตอบต่างๆ กันตามที่แต่ละบุคคลได้ศึกษาปฏิบัติพินิจพิจารณา และการตอบนั้นอาจจะอ้างข้อธรรมข้อใดขอหนึ่งหรือหมวดใดหมวดหนึ่งก็ได้ อาจจะพินิจพิจารณาประมวลความเอาเองก็ได้

ได้มีคำตอบอันหนึ่งซึ่งจะนำมาแสดงในวันนี้ อันเป็นคำตอบของผู้ที่ได้ศึกษาปฏิบัติพินิจพิจารณาพุทธศาสนามาเป็นอย่างดียิ่ง ท่านได้ให้คำตอบไว้ว่าศึกษาพุทธศาสนาเพื่อความจริง ความดี และความงาม จึงจะได้อธิบายไปตามความสำนึกพิจารณาดังนี้

 

สัจจะ – ความจริง

ข้อแรกเพื่อความจริงนั้น ก็เพื่อให้รู้ความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักสูตรแห่งการศึกษานักธรรมหรือธรรมศึกษาก็ดี เป็นคำแสดงเทศน์ต่าง ๆ บรรยายต่าง ๆ ก็ดี หรือจะรวมเข้าทั้งหมดเป็นพระวินัยพระสูตรพระอภิธรรมอันเป็นคัมภีร์พระไตรปิฏกทั้งสิ้นก็ดี ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็ล้วนเป็นความจริงแต่ละข้อที่ควรศึกษาให้มีความรู้และควรทรงจำควรพิจารณาให้เข้าใจ เพื่อให้เห็นจริงตามที่ทรงสั่งสอนนั้น หรือแม้ว่าจะคิดค้านก็ต้องคิดพินิจพิจารณาแก้ แล้วก็จะพบความจริง

อันธรรมที่แสดงความจริงของทุก ๆ ข้อ หากพิจารณาแล้วก็จะเห็นไปโดยลำดับ ว่าไม่มีใครจะแสดงได้จริงเหมือนพระพุทธเจ้าในทางทั้งหลาย เช่นว่าผู้ที่ศึกษาธรรมวิภาคในนวโกวาท ตั้งแต่ทุกะหมวด ๒ หมวด ๒ คู่แรก มีธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง สติความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัวและต่อ ๆ ไป  เมื่อฟังเผิน ๆ ก็จะไม่รู้สึกซาบซึ้งเท่าไรนัก แต่ถ้าหากว่าพินิจพิจารณาให้รู้จักว่าสติเป็นอย่างไร สัมปชัญญะเป็นอย่างไร มีอุปการะมากอย่างไร ยิ่งเข้าใจก็จะยิ่งเห็นความจริง และธรรมอื่น ๆ ทุกข้อก็เช่นเดียวกัน เมื่อยิ่งศึกษาคือฟังอ่านทรงจำพิจารณาให้เข้าใจ ก็จะยิ่งซาบซึ้ง เพราะจะยิ่งเข้าใจและได้เห็นความจริงในทุก ๆ ข้อ อันจะพึงค้านตามเหตุผลมิได้ เพราะฉะนั้น ยิ่งศึกษาดังกล่าวก็ยิ่งจะพบความจริงตามเหตุและผล จะพบเหตุและผลตามความจริงซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุผลในด้านชีวิต ในด้านพฤติกรรมคือการปฏิบัติของตนเองของแต่ละคน ตลอดจนถึงความจริงตามเหตุและผลของจิตใจของเจตนาของกรรม ที่ประกอบกระทำทางกายวาจาทางใจของตนเอง และในด้านอื่น ๆ และเมื่อรวมเข้าโดยเหตุผลในทางกรรม คือการที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจของตนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ว่าทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว ซึ่งฟังดูทีแรกก็รู้สึกว่าผิวเผินไม่ค่อยจะรู้สึกรับรองเท่าไรนัก หรืออาจจะรู้สึกคัดค้าน แต่หากว่าได้ตั้งใจพินิจพิจารณายิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว เมื่อยิ่งเข้าใจก็ยิ่งจะได้พบความจริง ว่าที่ตรัสสอนไว้นั้นเป็นจริงตามเหตุและผล กรรมเป็นเหตุ ผลดีหรือผลชั่วที่ได้รับเป็นผล ตลอดจนถึงความจริงที่เป็นอริยสัจ คือที่มิใช่สามัญสัจจะความจริงที่เป็นสามัญทั่วไป แต่เป็นความจริงที่ละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ซึ่งเป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ดังแสดงไว้ในปฐมเทศนา ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อได้ยิ่งพินิจพิจารณาให้มีความเข้าใจ ก็ยิ่งจะเห็นความจริง

เพราะฉะนั้นประการแรกของผู้ศึกษาพุทธศาสนาจึงเพื่อจะรู้ความจริง เพื่อจะจับความจริงให้ได้ คือเพื่อความจริง ความจริงที่จับได้หรือที่รู้นี้ มิใช่หมายความว่าเป็นเพียงการฟังการอ่านและความจำ แต่หมายความว่าต้องพินิจพิจารณาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจก็จะเห็นจริง จึงต้องการให้รู้จริงให้เห็นจริงแม้แต่ในข้อใดข้อหนึ่ง

อันนี้เป็นหลักกำหนดให้รู้จักลักษณะพุทธศาสนา ประการแรกของผู้มุ่งศึกษาพุทธศาสนา จะเป็นพระเก่า พระใหม่ จะเป็นเณรเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ตาม ประการแรกนั้นต้องให้พบความจริง ให้เห็นจริง ให้รู้จริง แม้ในธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งในข้อนี้ผู้ศึกษาจะต้องทำใจเป็นกลาง คือยังไม่คิดที่จะคัดค้าน ยังไม่คิดที่จะรับ แต่ว่าตั้งใจฟังตั้งใจอ่านตั้งใจที่จะทรงจำ แล้วก็ตั้งใจพิจารณาไปตามเหตุและผลให้เข้าใจถูกต้อง และเมื่อได้ความเข้าใจถูกต้องแล้วก็จะเห็นจริง จะพบความจริงแม้ในข้อใดข้อหนึ่ง เช่นแม้ในข้อทุกกะหมวด ๒ ที่ยกมานั้น ให้เข้าใจจริง ๆ ว่าสติเป็นอย่างไร สัมปชัญญะเป็นอย่างไร อุปการะมากอย่างไร ให้เห็นจริงให้เข้าใจจริงแม้ในข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะได้พบลักษณะพุทธศาสนาประการแรก

 

ความดี

มาถึงข้อที่ ๒ ความดี นี้เป็นข้อสำคัญ ความดีนั้นเป็นคำที่ทุกคนก็ได้ยินกันมาและก็น่าจะมีความเข้าใจพอสมควร อย่างน้อยก็จะต้องเข้าใจว่าความดีนั้นตรงกันข้ามกับความชั่ว และอะไรเป็นความดีอะไรเป็นความชั่วก็ได้ฟังอบรมกันมา ตั้งแต่จากบิดามารดาครูบาอาจารย์ มาจนถึงจากพระพุทธเจ้า คือที่พระเทศน์พระสอนต่าง ๆ และความดีความชั่วนี้ก็รู้กันอยู่ ว่าเกิดจากความประพฤติของบุคคลทุก ๆ คนนี้เอง ความดีก็เกิดจากทำดี ความชั่วก็เกิดจากทำชั่ว เมื่อทำดีก็ได้ความดี ทำชั่วก็ได้ความชั่ว เพราะฉะนั้นประการต่อมาจากข้อ ๑ คือความจริง จึงมาถึงความดี ที่เมื่อได้ศึกษาให้รู้จักความจริงแล้ว ก็ต้องศึกษาให้รู้จัก

ความดีอันตรงกันข้ามกับความชั่ว ความดีอันตรงกันข้ามกับความชั่วนี้ก็สืบเนื่องมาจากความจริงข้อแรกนั้นแหละ เพราะเป็นข้อที่พุทธศาสนาได้สอนไว้ทั้งนั้น ว่าอะไรเป็นความดีอะไรเป็นความชั่ว เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาให้รู้จักความจริง กล่าวจำเพาะที่สัมพันธ์กับความดีความชั่ว ก็คือความจริงของความดีและความจริงของความชั่ว พูดสั้น ๆ ก็คือให้รู้จักว่าอะไรเป็นความดีจริงอะไรเป็นความชั่วจริง เพราะฉะนั้น จึงมาถึงว่าจะต้องปฏิบัติละความชั่ว กระทำความดีต้องทำความเข้าใจในความดี ว่าคือคุณที่เกื้อกูลตนเองและผู้อื่นให้เป็นสุขต่าง ๆ ให้ได้รับสุขประโยชน์ต่าง ๆ ความชั่วก็คือโทษที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับทุกข์โทษต่าง ๆ ความชั่วเป็นข้อที่ควรละความดีเป็นข้อที่ควรกระทำ เพราะฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติละชั่วทำดี จับความดีให้ได้ แต่การจับความดีให้ได้นี้ต้องหมายถึงว่าทำดี

อันที่จริงละชั่วก็นับว่าเป็นดีอย่างหนึ่ง แต่ว่าจะต้องทำดีที่เป็นคุณเกื้อกูลยิ่งขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นว่า การฆ่า การทำร้ายร่างกาย การเบียดเบียนเขาให้เป็นทุกข์เดือดร้อน เบียดเบียนชีวิตเบียดเบียนร่างกาย นั่นเป็นชั่ว ก็ละชั่ว คือแปลว่าเว้นจากการที่จะเบียดเบียนทำร้ายชีวิตร่างกายของใคร เมตตาความมีจิตปรารถนาให้เป็นสุข และความประพฤติที่เกื้อกูลอนุเคราะห์ต่างๆ แก่เขา คือแก่บุคคลและสัตว์นั้น ๆ เพื่อให้ดำรงชีวิตร่างกายอยู่อย่างเป็นสุข เป็นความดี

เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้รู้จักความดีอันตรงกันข้ามกับความชั่ว สืบเนื่องมาจากความจริง คือตั้งต้นจากศึกษาว่าอะไรดีจริงอะไรชั่วจริง แล้วก็ตั้งใจละชั่วทำดีจริง ต้องจับเอาความดีให้ได้ในวันหนึ่ง ๆ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง ว่าเราได้ละความชั่วทำความดีอะไรบ้าง หรือแม้ว่าได้ทำความชั่วอะไรบ้างทำความดีอะไรบ้างก็ให้รู้ แล้วก็ตั้งใจละไม่ทำความชั่วอีกต่อไป ฝึกตัวอยู่เสมอดั่งนี้ หัดให้ละชั่วทำดีอยู่เสมอ ให้รู้จักความดีให้รู้จักความชั่ว ให้รู้จักละชั่ว ให้รู้จักทำดีในด้านต่าง ๆ ทั้งทางกายทั้งทางวาจาทั้งทางใจ นี้เป็นข้อที่ ๒ คือความดี

 

ความงาม

จึงมาถึงข้อที่ ๓ คือความงาม อันความงามนี้เป็นข้อที่ละเอียดอ่อนสักหน่อยหนึ่ง แต่ว่าถ้าทำความเข้าใจให้ดีแล้ว จะเห็นว่าเป็นข้อสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าข้อความจริง และข้อความดีอันสิ่งที่งามซึ่งเป็นวัตถุย่อมเป็นที่พอใจของชาวโลกทั้งหลายของคนทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงพอใจที่จะตกแต่งร่างกายกันให้สวยงาม พอใจที่จะหาเครื่องประดับที่สวยงามมีค่ามาตกแต่ง บ้านเมืองก็ต้องการที่จะปลูกสร้างกันให้สวยงามเรียบร้อย และอันความสวยงามหรือเรียกสั้น ๆ ว่าความงามนี้ก็มิใช่หมายถึงเครื่องตกแต่งมีค่าเท่านั้น แต่ย่อมหมายความถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย เช่นการจะตั้งวางสิ่งของในห้องในหับก็ตั้งวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การที่จะนุ่งจะห่มก็ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การที่จะลุกนอนก็ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย วาจาที่พูดก็ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เหล่านี้เป็นความงามทั้งนั้น

แม้สิ่งที่เรียกว่าศิลปะ วิธีที่จะทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเรียกว่าเป็นความงามอย่างหนึ่งนั้นก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ดังเช่นพระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งพระอานนท์ให้ทำแบบอย่างจีวรสำหรับพระห่ม โดยที่เดิมนั้นพระองค์ได้ทรงบัญญัติให้ตัดผ้าเป็นชิ้นๆ มาเย็บต่อกันเข้า คล้ายผ้าผืนเดียว ถ้าใช้ผ้าผืนเดียวมักจะถูกขโมย เพราะว่าเขามักจะขโมยไปตัดเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมของเขาได้ หรือเอาไปนุ่งห่มได้ทั้งที่เป็นผืนอย่างนั้น เปลี่ยนสีเสียใหม่ หรือซักสีที่เป็นผ้ากาสายะหรือกาสาวะผ้าย้อมน้ำฝาดออกเสีย เพราะฉะนั้นจึงได้โปรดให้ใช้ผ้าตัดเป็นชิ้น ๆ เอามาเย็บต่อกันเข้าเพื่อกันขโมย ถ้าขโมยเอาไปก็เอาไปใช้นุ่งห่มไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ท่านพระอานนท์จึงได้คิดแบบจีวรขึ้นแบบคันนาของชาวมคธ ซึ่งเมื่อเขาทำนาเขาทำเป็นคันนา เป็นกระทงเล็กเป็นกระทงใหญ่ จึงมาออกแบบตัดเป็นแบบจีวรเป็นกระทง ๆ เป็นกระทงเล็กกระทงใหญ่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มิได้นำเอามาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเอามาเย็บต่อกันเข้าอย่างไม่มีระเบียบ แต่ว่าทำอย่างมีระเบียบก็ดูเป็นของงาม คืองามด้วยความมีระเบียบเรียบร้อย พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ ว่าเป็นผู้ที่มีศิลปะดั่งนี้ก็เป็นความงาม

แม้ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นนั้นก็เป็นความงามเหมือนกัน เพราะเมื่อภิกษุผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่ได้มีความประพฤติปฏิบัติเรียบร้อยอยู่ในระเบียบอันเดียวกัน และเป็นระเบียบที่ดี ก็ดูเป็นหมู่ที่เรียบร้อยงดงามน่าเลื่อมใส นี่ก็เป็นความงาม เพราะฉะนั้นคำว่า ความงามนั้นจึงกินความกว้าง มิได้หมายถึงตกแต่งให้สวยสดงดงามดั่งแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้า ด้วยเครื่องประดับอันมีค่าต่าง ๆ ที่สวยงาม บางทีเราก็เรียกกันนั่นเป็นความสวย แต่ความงามนั้นมีความลึกซึ้งกว่า และแม้ในทางพุทธศาสนาก็ต้องทำความงาม เพราะฉะนั้นในข้อว่าความงามนี้ จึงมีความหมายถึงว่าความนิยมชมชอบ หรือว่าเป็นสิ่งหรือเป็นข้อที่พึงนิยมชมชอบ พึงพอใจชอบใจ พึงเลื่อมใส และก็มีความหมายสืบเนื่องมาจากความดี ก็คือนิยมชมชอบในความดี เห็นความดีว่าเป็นของงามทำให้เป็นสุข ใจเห็นว่างามนิยมชมชอบ เพราะฉะนั้นจึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตที่แสดงว่า ศีล เป็นอาภรณ์ที่ประเสริฐสุด ผู้ที่ได้เห็นงามในศีลว่าศีลเหมือนอย่างเป็นอาภรณ์เครื่องประดับอันประเสริฐสุด ชื่อว่าเป็นผู้ที่เข้าถึงศีลจริง ๆ ทำให้พอใจที่จะปฏิบัติอยู่ในศีลเป็นประจำขาดไม่ได้ และมีความสุขที่จะอยู่กับศีล อันนี้สำคัญ

คนโดยมากนั้นรู้จักความดีกันอยู่ รู้จักความชั่วกันอยู่ แต่ว่าไม่เห็นงามในความดี แต่ไปเห็นงามในความชั่ว จึงละชั่วทำดีไม่ได้ถนัด ต่อเมื่อเห็นสกปรกในความชั่ว และเห็นงามในความดี จึงจะทำให้ปฏิบัติความดีกันยิ่งขึ้น พอใจที่จะอยู่กับความดี อันนี้สำคัญ

เพราะฉะนั้นต้องเข้าให้ถึงความงามของพุทธศาสนา คือข้อที่ ๓ นี้ จึงจะน้อมใจให้ละชั่วทำดีเห็นงามในความดี และปฏิบัติในความดี เพราะฉะนั้นจึงได้มีหมวดธรรมอันส่องให้เห็นความงามในพุทธศาสนาอยู่มาก ตั้งต้นแต่พระรัตนตรัย รัตนะก็คือแก้วรัตนะ เป็นสิ่งที่งดงามเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะฉะนั้นพูดกันเรื่อย ๆ ว่าพระไตรรัตน์หรือพระรัตนตรัย แต่ว่าใจไม่ถึงฟังดูก็เผิน ๆ แต่ถ้าใจถึงแล้ว ก็จะเห็นพระพุทธเจ้างาม พระธรรมงาม พระสงฆ์งาม อันแสดงถึงความมีศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ตลอดถึงปัญญาในพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณที่ซาบซึ้ง จนถึงนิยมชมชอบอย่างสูง ยกย่องขึ้นเป็นของสุดงาม คือเป็นรัตนะอันเป็นของมีค่ายิ่ง

ในทุกะหมวด ๒ ก็มีธรรมที่ทำให้งาม ๒ อย่าง ขันติ โสรัจจะ ต้องเห็นว่าขันติงาม โสรัจจะงาม จึงจะน้อมใจปฏิบัติในขันติโสรัจจะ และจะทำให้ทิ้งขันติทิ้งโสรัจจะไม่ได้ ปล่อยตัวเองไปกระโดดโลดเต้น ด้วยอำนาจของโลภะโทสะโมหะไม่ได้ ไม่งามต้องอดทนเอาไว้ สงบเสงี่ยมเอาไว้ เพราะนี่งามกว่า เพราะเป็นสิ่งที่งามจริง ๆ

ธรรมที่สูงกว่านั้นก็เช่นว่าโพชฌงค์ ๗ ก็มียกย่องเรียกเป็นรัตนะทั้ง ๗ เหมือนกัน สติสัมโพชฌังครัตนะ เป็นต้น ก็แปลว่าจิตใจถึงงาม หรือเช่นที่สวดสรรเสริญว่าพระธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ใจต้องถึงพระธรรม เมื่อใจถึงพระธรรมจะไม่เบื่อที่จะฟังธรรม ไม่เบื่อที่จะปฏิบัติธรรม ธรรมจะเป็นสิ่งที่งดงามที่ไพเราะ อยากที่จะฟังอยากที่จะอ่าน ได้ฟังธรรมได้อ่านธรรมแล้วมีความเพลิดเพลินมีความสุข นี่แปลว่าใจถึงเห็นงามในพระธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด และพอใจที่จะปฏิบัติธรรมเห็นงามในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้รู้จักความจริง รู้จักความดี รู้จักความงาม จึงจะถึงพุทธศาสนา



จากหนังสือ ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา
ธรรมบรรณาการ อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หน้า ๔๒ – ๕๔