Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๓

 

sangharaja-section

sungaracha

ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

กิจในอริยสัจ ๔

กิจในอริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นข้อที่ควรทำความเข้าใจ คือว่าทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นข้อที่ควรละ นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง และมรรคเป็นข้อที่ควรอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น นี้เป็นกิจในอริยสัจทั้ง ๔ ความกำหนดรู้ในข้อที่ควรกำหนดรู้นั้นเรียกว่า ปริญญา  ละในข้อที่ควรละนั้นเรียกว่า ปหานะ  กระทำให้แจ้งในข้อที่ควรกระทำให้แจ้งนั้นเรียกว่า สัจฉิกรณะ   ปฏิบัติอบรมในข้อที่ควรปฏิบัติอบรมนั้นเรียกว่าภาวนา ปริญญาพึงปฏิบัติในข้อทุกข์ ปหานะพึงปฏิบัติในข้อสมุทัย สัจฉิกรณะปฏิบัติ
ในข้อทุกขนิโรธ ภาวนาปฏิบัติในข้อมรรค

ได้มีพุทธภาษิตแสดงไว้ ว่ากุศลธรรมทั้งหลายสงเคราะห์เข้าในอริยสัจ ๔ ทั้งหมด อริยสัจทั้ง ๔ เปรียบเหมือนอย่างว่ารอยเท้าช้าง กุศลธรรมทั้งหลายเปรียบเหมือนอย่างรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลก รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลกนั้นย่อมรวมเข้าได้ในรอยเท้าช้างฉันใดก็ดี บรรดากุศลธรรมทั้งหลายก็รวมเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ ฉันนั้น

คำนี้ต้องเข้าใจว่า ที่เรียกว่ากุศลธรรมก็หมายถึงว่าตัวอริยสัจที่เกิดจากปัญญา เกิดจากญาณคือความหยั่งรู้ความตรัสรู้ จึงจะเรียกว่าอริยสัจ เพราะฉะนั้นจึงมุ่งถึงตัวญาณและปัญญา เมื่อเป็นตัวญาณและปัญญาก็เป็นกุศลธรรมทั้งหมด แต่ถ้าหากจะแยกจำเพาะบท ทุกข์และสมุทัยนั้นเป็นฝ่ายทุกข์ นิโรธกับมรรคเป็นฝ่ายดับทุกข์ ก็จะต้องใช้คำให้เหมาะสมให้คลุมได้ทั้งหมด ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล ทั้งที่เป็นฝ่ายอกุศล ทั้งที่เป็นฝ่ายอพยากตธรรม ธรรมที่เป็นกลาง ๆ
กุศลก็ไม่ใช่ อกุศลก็ไม่ใช่ ดังที่มีแสดงไว้ในอภิธรรมว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นกุศล อกุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นอกุศล อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นอพยากฤต คือเป็นกลาง ๆ กุศลก็ไม่ใช่ อกุศลก็ไม่ใช่ ธรรมทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ทั้งหมด ทั้งที่เป็นหมวดกุศลธรรม หมวดอกุศลธรรม หมวดอพยากตธรรมดังกล่าวนั้น ก็สงเคราะห์เข้าในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ทั้งสิ้น

ดังจะพึงเห็นได้ว่า ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นต้น โดยตรัสชี้ว่าเป็น อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังเช่นที่เราสวดกันในการทำวัตรเช้า ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโดยมากเป็นพหุลานุสาสนี ย่อมเป็นไปมากว่า รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจฺจา เวทนาไม่เที่ยง สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณไม่เที่ยง รูปํ อนตฺตา รูปเป็นอนัตตา เวทนา อนตฺตา เวทนาเป็นอนัตตา สญฺญา อนตฺตา สัญญา เป็นอนัตตา สงฺขารา อนตฺตา สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา วิญฺญาณํ อนตฺตา วิญญาณเป็นอนัตตา สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เหล่านี้เป็นข้อที่ตรัสสอนให้กำหนดรู้ กำหนดรู้ว่าไม่เที่ยง กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ กำหนดรู้ว่าเป็นอนัตตา นี่เรียกว่าปริญญา เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ สรุปเข้าในข้อทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์

คำสอนที่ทรงแสดงถึงบรรดากิเลสทั้งปวง ยกเอาอกุศลมูล ๓ คือราคะหรือโลภะโทสะโมหะก็ตาม ยกเอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากก็ตาม หรือกิเลสข้อใดข้อหนึ่งหมวดใดหมวดหนึ่ง ตลอดจนถึงบาปอกุศลทุจริตทั้งหลายที่ประพฤติด้วยอำนาจของกิเลส นี่เป็นข้อที่ควรละทั้งหมด รวมเข้าในหมวดสมุทัย ปหานะ

คำสั่งสอนของพระองค์ที่แสดงถึงผลของการปฏิบัติธรรม เป็นวิมุตติ เป็นวิสุทธิ เป็นนิพพาน เป็นสันติ ดังที่แสดงไว้ในหมวดอนุสสติ ๑๐ อุปสมานุสติ ระลึกถึงความสงบระงับหรือ ในข้อทุกขนิโรธ อริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นหมวดธรรมที่ตรัสสอนให้กระทำให้แจ้งสัจฉิกรณะ

คำสั่งสอนของพระองค์ที่เป็นธรรมปฏิบัติทั้งหมดอย่างในธรรมวิภาค นวโกวาท ก็ตั้งต้นด้วยทุกะหมวด ๒ ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง  สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เป็นต้น อันรวมเข้าในไตรสิกขาก็ดี มรรคมีองค์ ๘ ก็ดี เหล่านี้เป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นทั้งนั้น รวมเข้าในข้อมรรค เป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมทำให้มีขึ้นทำให้เป็นขึ้น

 

กิจที่พึงทำในพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนานั้นก็มี ๔ ข้อ ถ้าเกี่ยวแก่ทุกข์ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าเกี่ยวกับสมุทัยก็ให้ละ ถ้าเกี่ยวกับนิโรธก็ให้กระทำให้แจ้ง ถ้าเกี่ยวกับมรรคก็ให้ปฏิบัติอบรมทำให้มีขึ้นทำให้เป็นขึ้น เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็ชื่อว่าปฏิบัติให้เหมาะ เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมในพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมทรงบัญญัติวินัยทั้งหมดก็อนุวัตรตามหลักปฏิบัติทั้ง ๔ ข้อนี้ทั้งนั้น แม้ในข้อที่เราไม่น่าจะคิดว่ามีความสัมพันธ์ถึง ดังเช่นในพุทธศาสนานั้นไม่สอนให้บุคคลทำอัตวินิบาตกรรมคือฆ่าตัวตาย ก็เพราะอะไร ก็เพราะสิ่งที่ฆ่าคือชีวิต ชีวิตร่างกายนี้ก็คือขันธ์ ๕ ซึ่งขันธ์ ๕ นั้นก็รวมอยู่ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ดังที่ตรัสย่อไว้ในข้อสุดท้ายของทุกข์ว่า กล่าวโดยย่อ ขันธ์
เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ หรือว่าชีวิตร่างกายนี้จึงเป็นข้อที่ควรทำปริญญาคือกำหนดรู้ กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ เป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องเสวยเวทนาต่าง ๆ อันเป็นตัวทุกข์ ให้กำหนดรู้ดั่งนี้ ไม่ใช่ให้ฆ่า ถ้าอยากจะฆ่าก็ให้ฆ่าความอยาก ความอยากที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งความอยากที่จะฆ่าตัวตายนั้นเป็นวิภวตัณหา หรือเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง ก็ต้องฆ่าตัณหาเสีย ไม่ใช่ไปฆ่าร่างกาย ตัณหาคือความอยากตาย อยากฆ่าตัวตายนั้นเป็นปหานะคือเป็นข้อที่ควรละ คือให้ละเสียให้ฆ่าเสีย แต่ว่าร่างกายชีวิตนี้เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้ ให้รู้จักว่าเป็นอนิจจะ เป็นทุกขะ เป็นอนัตตา ไม่ต้องไปฆ่าเขา เขาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปเอง ให้กำหนดรู้ไว้ว่าอย่างนี้ อยากจะฆ่าให้ไปฆ่าตัวตัณหา ทำลายตัวตัณหาในใจ

คราวนี้เมื่อโกรธขึ้นมา คิดจะไปทำร้ายร่างกายเขา คิดที่จะฆ่าเขา นี่ก็ผิดศีล ก็เพราะว่าที่จะไปฆ่าไปทำร้ายเขานั้น ก็คือไปฆ่าไปทำร้ายขันธ์ ๕ ของเขา ซึ่งทางพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไปฆ่าขันธ์ ๕ หรือชีวิตร่างกาย แต่ให้กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ หรือชีวิตร่างกายนี้เป็นอนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ให้ฆ่าความโกรธ ความโกรธเป็นกิเลส เป็นข้อที่ควรละ เข้าในข้อสมุทัยที่ควรละ ต้องฆ่าความโกรธ โลภขึ้นมาจะไปลักของของเขาก็เหมือนกัน ให้ฆ่าความโลภเสีย เพราะความโลภเป็นตัวสมุทัยที่ต้องละ ให้ละเสียให้ฆ่าเสีย แต่ไม่ให้ไปลักขโมยของของเขา ของของเขานั้นก็เป็นเรื่องของสังขารเหมือนกัน ก็เป็นสิ่งที่อนิจจะทุกขะอนัตตา รวมเข้าในหมวดทุกขสัจจะทั้งหมด

 

สรุปพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น เมื่อทำความเข้าใจในหน้าที่ของธรรมตามหลักอริยสัจทั้ง ๔ นี้ และเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาทั้งหมดสรุปเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ และข้อทำความเข้าใจว่าข้อไหนจัดเข้าในข้อไหน คือพระพุทธศาสนาที่เป็นคำสั่งสอนนั้น ข้อใดหมวดใดจัดเข้าในทุกขสัจจะก็ให้กำหนดรู้ จัดเข้าในสมุทัยก็ให้ละ จัดเข้าในข้อนิโรธก็ให้กระทำให้แจ้ง จัดเข้าในข้อมรรคก็ให้อบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดั่งนี้แล้วจึงจะปฏิบัติพระพุทธศาสนาได้ถูกต้อง และการปฏิบัตินั้นก็เรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมจะได้รับผลอย่างเต็มที่



จากหนังสือ
ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา
ธรรมบรรณาการ อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หน้า ๓๔ – ๔๑