Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๒

 

sangharaja-section

sungaracha

ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 ญาณในอริยสัจ ๔

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๔ บท คือ ๑.ทุกข์   ๒.ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์   ๓.ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์   ๔.ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ เรียกกันว่าอริยสัจ ก็เรียกตามพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา คือเทศนาทีแรกของพระองค์ที่ตรัสว่าพระตถาคตคือพระองค์ได้เว้นทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือทางกามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบพัวพันอยู่ด้วยความสุขสดชื่นในกาม และทางอัตตกิลมถานุโยค ทางทรมานตนให้ลำบาก ได้ทรงปฏิบัติอยู่ในทางอันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่เกี่ยวข้องด้วยสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น ก็คือ มรรคมีองค์ ๘   มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นที่สุด จึงได้ทรงเกิดญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และมรรค หรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ญาณคือความหยั่งรู้ที่บังเกิดขึ้นแก่พระองค์นั้น เป็นญาณที่บังเกิดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยสดับแล้วมาก่อน ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าว โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

 

สัจจญาณ

มีวนรอบ ๓ ก็คือวนรอบในสัจจะทั้ง ๔ นี้โดยเป็นสัจจญาณ คือความหยั่งรู้ว่าจริง คือนี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้เป็นทุกขนิโรธคือความดับทุกข์จริง นี้เป็นมรรคคือทางดับทุกข์จริง  ข้อที่ว่านี้เป็นทุกข์จริงก็คือว่า ความเกิดเป็นทุกข์จริง ความแก่เป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง ความโศกคือความแห้งใจ ความปริเทวะคือความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะคือความไม่สบายกาย โทมนัสสะคือความไม่สบายใจ อุปายาสะความคับแค้นใจ เป็นทุกข์จริง ความประจวบกับสิ่งคือสัตว์และสังขารไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความปรารถนามิได้สมหวังเป็นทุกข์จริง และกล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เป็นทุกข์จริง

ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์นั้นก็คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันประกอบด้วยนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี เพลิดเพลินยินดียิ่งในอารมณ์นั้น ๆ จำแนกออกเป็นกามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง

ดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ดับไปหมด นี้เป็นความดับทุกข์จริง

มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบดังกล่าวเป็นต้นนั้น เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง

พระญาณคือความหยั่งรู้ว่า นี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง นี้เป็นความดับทุกข์จริง นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง นี้เป็นสัจจญาณ นี่ก็วนไปในสัจจะทั้ง ๔ รอบหนึ่ง

 

กิจจญาณ

กิจจญาณ ความหยั่งรู้ในกิจคือข้อที่พึงกระทำ ได้เกิดพระญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นว่า ทุกข์เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้อันเรียกว่าปริญญา สมุทัยเป็นข้อที่ควรละอันเรียกว่าปหานะ ความดับทุกข์เป็นข้อที่พึงกระทำให้แจ้งอันเรียกว่าสัจฉิกรณะ มรรคคือข้อที่ควรอบรมปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นอันเรียกว่าภาวนา นี้เป็นกิจที่พึงกระทำในสัจจะทั้ง ๔ เรียกว่ากิจจญาณ

 

กตญาณ

กตญาณ คือความหยั่งรู้กิจทั้ง ๔ นั้นว่าได้กระทำแล้ว คือว่าทุกข์นั้นพระองค์ก็ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยคือตัณหาพระองค์ก็ทรงละได้แล้ว นิโรธคือความดับทุกข์พระองค์ก็ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นครบถ้วนแล้ว เรียกว่ากตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ว่ากิจได้กระทำเสร็จแล้ว

เพราะฉะนั้นพระญาณทั้ง ๓ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ในอริยสัจทั้ง ๔ รวมเข้าก็เป็นอาการ ๑๒ จึงเรียกวามีวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ วนรอบไปโดยเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณในอริยสัจทั้ง ๔ ก็เป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒  พระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้บังเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เพราะเหตุที่พระองค์ได้บรรลุพระญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้ ในอริยสัจทั้ง ๔ สมบูรณ์ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิคือความตรัสรู้ยิ่งเป็นยอดเยี่ยมแล้ว พระองค์สิ้นชาติแล้ว พรหมจรรย์พระองค์ได้อยู่จบแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อที่จะเป็นอย่างนี้อีก ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

อธิบายอริยสัจ

นี้เป็นเนื้อความในปฐมเทศนาที่พระองค์แสดงทีแรก เพราะฉะนั้นข้อความทั้ง ๔ บทนี้จึงได้เรียกว่าอริยสัจตามที่พระองค์ได้ทรงเรียกในปฐมเทศนานั้น

คำว่าอริยะนั้น แปลกันว่าประเสริฐ แปลกันว่าเจริญ เดิมก็ใช้เป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ ดังที่มีแสดง
ในพุทธประวัติตอนที่แสดงประวัติของประเทศอินเดียคือชมพูทวีปในครั้งนั้น ว่าเดิมเป็นเผ่าของมิลักขะ
หรือทัสสยุ และต่อมาได้มีชนเผ่าอริยะหรือเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่าอาริยะได้อพยพเข้ามาอยู่ โดยที่พวกอริยะหรืออาริยะนี้มีความเจริญกว่า พวกทัสสยุหรือมิลักขะก็ต้องกลายเป็นทาสไป พวกอริยะหรืออาริยะก็ได้เป็นผู้ปกครองประเทศถิ่นสืบต่อมา เดิมเป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ที่มีความเจริญดังที่แสดงมา และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ได้ตรัสเรียกสัจจะคือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ทั้ง ๔ บทนั้นว่าอริยสัจในปฐมเทศนา เพราะฉะนั้นพระอาจารย์จึงได้แปลคำว่าอริยสัจไว้ว่า สัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้รู้แจ้งแทงตลอด คือได้ตรัสรู้สัจจะของบุคคลผู้เป็นอริยะ หรือของพระตถาคตผู้เป็นอริยะ สัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะว่าเป็นสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายได้ตรัสรู้ สัจจะที่เป็นอริยะเอง คือความหมายว่าเป็นสัจจะที่แท้ เป็นสัจจะที่ไม่ผิด เป็นสัจจะที่กล่าวไม่ผิด เป็นสัจจะที่ไม่เป็นอย่างอื่น คือเป็นจริงอยู่โดยแท้จริง ไม่มีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น พระอาจารย์ได้อธิบายคำแปลไว้อย่างนี้

หากจะพิจารณาดู ถ้าแปลว่าสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสรู้ หรือว่าสัจจะของพระตถาคตพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ หรือว่าสัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะพระอริยะเหล่านั้นตรัสรู้ ก็เข้าใจ พิจารณาดูไม่ขัดข้อง

แต่คำแปลที่ว่าสัจจะเป็นอริยะเอง ถ้าอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายว่า ที่เป็นอริยะเองนั้น อริยะในคำนี้หมายถึงจริงแท้ไม่ผิด ไม่มีที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็เข้าใจ แต่ว่าถ้าแปลว่าเจริญ แปลว่าประเสริฐ ก็น่าคิดเหมือนกัน ว่าสำหรับความดับทุกข์และสำหรับมรรคนั้นก็เป็นอันว่าเจริญประเสริฐจริง แต่ว่าตัวทุกข์กับตัวสมุทัยนั้นเจริญประเสริฐได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นจึงน่าจะทำความเข้าใจได้ ว่าจะต้องอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายคือสัจจะเป็นอริยะเอง
อริยะเองในที่นี้ก็ต้องหมายความว่าจริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ไม่ได้หมายความว่าประเสริฐเจริญ แต่หากว่าจะหมายความว่าประเสริฐเจริญก็จะต้องเข้าใจ ว่าเพราะเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในญาณคือความหยั่งรู้ที่เป็นตัวปัญญา ดังที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาว่าเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าข้อนี้จริง คือเป็นทุกข์จริง เป็นสมุทัยจริง เป็นนิโรธจริง เป็นมรรคจริง และทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นข้อที่ควรละ นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง มรรคเป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น และทุกข์พระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยพระองค์ละได้แล้ว นิโรธพระองค์ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ได้ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้ว ที่ปรากฏในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ

ฉะนั้น ทุกข์ที่จะเป็นอริยสัจนั้น จะต้องเป็นทุกข์ที่ได้ปัญญาหยั่งรู้ ว่านี้เป็นทุกข์จริง ทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ และทุกข์เป็นข้อที่กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจขึ้นก็เพราะได้ปัญญาหยั่งรู้ ว่านี้เป็นสมุทัยจริง สมุทัยควรละ และสมุทัยละได้แล้ว นิโรธก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะได้มีปัญญาหยั่งรู้ ว่านิโรธเป็นความดับทุกข์จริง นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง นิโรธเป็นข้อที่กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะบังเกิดขึ้นในญาณปัญญาที่หยั่งรู้ ว่านี้เป็นมรรค มรรคควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น มรรคเป็นข้อที่ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้วให้เป็นขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ จะแปลว่าเป็นสัจจะที่เจริญที่ประเสริฐก็คงได้เหมือนกัน อันหมายถึงว่าเป็นอริยสัจในปัญญาที่ตรัสรู้ของพระผู้รู้ดังกล่าวนั้น

ถ้าไม่เป็นสัจจะบังเกิดขึ้นในปัญญาของผู้รู้ดังกล่าวนั้น แม้ว่านิโรธก็ดี มรรคก็ดีก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง เหมือนอย่างว่าสัจจะในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในปฐมเทศนานั้นเป็นอริยสัจ และในพระธรรมที่ทรงสั่งสอนก็เป็นอริยสัจ แต่ว่าสำหรับในปัญญาที่บุคคลรู้อยู่ด้วยปัญญาที่
เป็นสามัญ คือยังไม่บรรลุมรรคผลอย่างที่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมทั่วไปรู้กันอยู่ หมายความว่ารู้กันอยู่ด้วยปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ว่ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า ถ้ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย อันประกอบด้วยวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ นั้น นั่นเป็นอริยสัจในปัญญาของท่าน แต่ว่ารู้ด้วยปัญญาของผู้ศึกษาปฏิบัติที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล คือรู้ด้วยปัญญาของตนเอง ก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง เพราะว่ายังไม่ได้ญาณที่วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดังพระพุทธเจ้านั้น คือยังไม่แล้ว ทุกข์ก็ยังไม่
ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็ยังละไม่ได้แล้ว นิโรธก็ยังไม่ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็ยังไม่ได้ปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ เมื่อยังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจของแต่ละบุคคล คือเป็นแค่สัจจะเท่าที่ปัญญาของบุคคลจะรู้ ต่อเมื่อมีญาณปัญญาที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดั่งนั้นแหละ คือว่าแล้ว จึงจะเป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ถ้ายังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ยังเป็นสัจจะคือความจริงอยู่เท่าที่ศึกษาและปฏิบัติได้ของแต่ละบุคคล



จากหนังสือ
ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา
ธรรมบรรณาการ อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หน้า ๒๓ – ๓๓