Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๑

sangharaja-section

sungaracha

ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

การพยากรณ์ปัญหาของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ไม่ควรหรือไม่พึงพยากรณ์ ทรงพยากรณ์แต่ปัญหาที่ควรพยากรณ์ คำว่าพยากรณ์นั้น เดี๋ยวนี้ภาษาไทยก็นำมาใช้เหมือนกัน เช่น หมอดูพยากรณ์ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ แต่ที่นำมาใช้สำหรับพระพุทธเจ้าในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าพระพุทธเจ้าเป็นหมอดู แต่พยากรณ์ของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่าทรงกระทำให้แจ้ง ถ้าเป็นปัญหามาก็ทรงตอบปัญหานั้นให้แจ้งชัด และก็ทรงตอบให้แจ้งชัดด้วยพระญาณที่หยั่งรู้ ไม่ใช่ด้วยตำรา อย่างหมอดูที่พยากรณ์นั้นก็พยากรณ์ด้วยตำราพยากรณ์ เพราะหมอดูก็ไม่มีญาณหยั่งรู้เหมือนกัน วินิจฉัยก็ว่าไปตามตำราพยากรณ์ แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ้ง ทรงตอบให้แจ่มแจ้งชัดเจน ทรงแสดงให้แจ่มแจ้งชัดเจนด้วยพระญาณคือความหยั่งรู้ คำว่าพยากรณ์นั้นก็ได้มีใช้มาในพุทธศาสนา ดังที่ได้แสดงถึงเรื่องนี้ และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นที่ท่านแสดงไว้ในพระสูตร เกี่ยวกับท่านมาลุงกยะ นี้ก็แสดงไว้ว่าทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ่มแจ้ง ตอบให้แจ่มแจ้งแสดงให้แจ่มแจ้งในข้อว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในพระสูตรนี้ไม่ได้ใช้คำว่า อริยสัจ หรืออริยสัจจะ แต่ว่าโดยปกตินั้นเมื่อเป็นหมวดธรรม ๔ ข้อนี้ ก็มักจะพูดว่าอริยสัจกันทีเดียว แต่สำหรับที่แสดงในพระสูตรนั้น บางแห่งท่านก็ใช้คำว่าอริยสัจ บางแห่งท่านก็ไม่ได้ใช้คำนี้


ปัญหาของสัตวโลก

คราวนี้มาพิจารณาดูว่า ทั้ง ๔ ข้อนี้มาเกี่ยวกับอุปมาว่าพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนดังหมอผ่าตัดอย่างไร ซึ่งตามอุปมานั้นคนไข้ที่ญาติมิตรนำไปหาหมอผ่าตัด เป็นคนไข้ที่ถูกลูกศรยิงกำลังต้องบาดเจ็บ
เรียกว่าอาการปางตายกันทีเดียว และเมื่อจะเป็นข้ออุปไมย คือว่าเป็นสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ หรือบุคคลที่ถูกเปรียบเทียบ ก็จะต้องหมายถึงบุคคลทั่วไปทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่แล้ว
เรียกว่ามีอาการปางตายกันอยู่แล้ว

คราวนี้ในข้ออุปมานั้นก็ได้กล่าวถึงว่า ถ้าหมอผ่าตัดจะไต่ถามสอบสวนถึงคนยิง ถึงลูกศรที่ใช้ยิง เพื่อให้ทราบรายละเอียดต่าง ๆ เสียก่อน แล้วจึงจะลงมือรักษาก็ย่อมจะไม่ทันการ คนไข้นั้นก็น่าจะต้องถึงแก่ความตายเสียก่อนก็ได้ หรืออาการก็จะมากขึ้น ยากแก่การที่จะเยียวยารักษา ฉะนั้นหน้าที่ของหมอผ่าตัดก็ไม่ต้องมัวชักช้าไต่ถามสอบสวน หมอควรที่จะต้องรีบผ่าตัดนำลูกศรออกทันที นี่เป็นอุปมา

ทีนี้ข้ออุปไมยคือสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ ก็มาถึงบุคคลและสัตว์ทั้งหลายเรียกว่าสัตวโลกทั่ว ๆ ไปนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นคนที่ถูกลูกศรเสียบด้วยกันทั้งนั้น มีอาการปางตายอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเสมือนหมอผ่าตัดนั้น ก็จะต้องทรงรีบเยียวยารักษาทันที ไม่ต้องมัวไปสอบสวนไต่ถามถึงรายละเอียดต่าง ๆ ก็มาถึงเรื่องปัญหาโลกแตก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ๑๐ ข้อนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงพยากรณ์ให้ชักช้า จึงได้ตรัสปฏิเสธไม่ทรงพยากรณ์ และก็ได้ตรัสรับรองในข้อที่ทรงพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงเป็นข้อที่ควรจะทำความเข้าใจ
ว่าบัดนี้ทุก ๆ บุคคลกำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ อาการปางตายด้วยกันทั้งหมดหรือ

ในข้อนี้จึงควรจะทราบลักษณะพระพุทธศาสนาว่าเป็นจริงอย่างนั้น ทุก ๆ คนในบัดนี้ซึ่งเป็นสามัญชนสามัญสัตว์นั้นก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ทั้งนั้น และมีอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น

 

ตัณหา – ลูกศรเสียบแทงใจ

อะไรเป็นลูกศรเสียบแทง และเสียบแทงอะไร โดยปริยายคือทางอันหนึ่งที่ท่านยกขึ้นแสดงไว้
ลูกศรเสียบแทงนั้นก็คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ และเสียบแทงอะไร ก็คือเสียบแทงจิตใจ ต่างมีตัณหาเสียบแทงจิตใจอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ดังที่ได้ตรัสแจกเอาไว้เป็นกามตัณหา ความดิ้นรนปรารถนาไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจบ้าง ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ต่าง ๆ บ้าง วิภวตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ คือต้องการให้สิ่งที่ไม่พอใจอยากจะได้ไม่พอใจอยากจะเป็นสิ้นไปหมดไป นี้ยกขึ้นมาเพียงข้อเดียว แต่อันที่จริงนั้น กิเลสที่เป็นเครื่องเสียบแทงจิต จำแนกออกไปเป็นอาการต่าง ๆ อีกมากมาย แต่ว่าเอาข้อเดียวเท่านี้ก่อน นี่เป็นลูกศรที่เสียบแทงจิตใจบุคคลอยู่

และที่ว่ามีอาการปางตายนั้นก็เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่ายังต้องถูกความทุกข์ต่าง ๆ ครอบงำอยู่ตลอดเวลา ดังที่ตรัสชี้ไว้ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์นั้นแหละ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เรียกว่าต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตาย ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตสังขาร และยังต้องประสบทุกข์ทางจิตใจอีกมาก เป็นความแห้งใจ เป็นความคร่ำครวญไม่สบายกายไม่สบายใจ ความไม่สบายกายนี้ก็รวมเอาอาพาธเจ็บป่วยต่าง ๆ เข้าด้วย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจ รวมเข้าก็เป็นความประจวบกับสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์สังขารที่เป็นที่รัก รวมเข้าก็เป็นความปรารถนาไม่ได้สมหวัง และเมื่อรวมเข้าอีก ก็รวมอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งอันนี้ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจให้ชัดเจนกันต่อไป

 

นิพพาน – ความสิ้นตัณหา

ก็แปลว่าต้องอยู่ในอาการที่ปางตายด้วยกันทั้งนั้น ต้องเป็นทุกข์อยู่ด้วยเกิด แล้วก็แก่ แล้วก็ไม่สบายกายไม่สบายจิตต่าง ๆ ต้องพบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ปรารถนาไม่ได้สมหวังต่าง ๆ รวมเข้าก็ต้องมีขันธ์ ๕ ย่อเป็นกายใจนี้เอง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอยู่ในอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น และก็จะต้องแก่ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น และชีวิตก็ดำเนินไปสู่ความแก่ความตายอยู่ทุกเวลาไม่มีหยุด เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงเป็นหมอถอนลูกศร ผ่าตัดลูกศร ด้วยใช้เครื่องมือก็คือมีดผ่าตัด อันได้แก่ปัญญา โดยตรัสเทศนาสั่งสอนให้ทุกคนได้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็รวมอยู่ในเรื่องของความจริงความดีความงามที่จักกล่าวต่อไป และปัญญานี้เองที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล ก็จะผ่าตัดถอนลูกศรคือตัณหาออกจากจิตใจได้ และเมื่อถอนตัณหาคือลูกศรออกจากจิตใจได้ด้วยปัญญาแล้ว ทุกข์ก็จะดับไปหมด บุคคลก็จะเป็นผู้ที่พ้นทุกข์ เพราะว่าลูกศรออกจากจิตใจได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกธรรมหรือสภาพธรรมที่จิตใจถอนลูกศรออกได้แล้ว แปลว่าสิ้นตัณหาหมดแล้ว และก็สิ้นทุกข์หมดแล้วว่านิพพาน อันเป็นธรรมที่มุ่งจะบรรลุสำหรับพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และพระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เองจนได้ปัญญา เป็นมีดผ่าตัดถอนลูกศรออกจากพระหทัยของพระองค์เองได้แล้ว สิ้นตัณหาแล้วก็สิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวงแล้ว ทรงบรรลุนิพพานแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมาทรงสั่งสอนเพื่อที่จะโปรดสัตว์โลกที่กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่นี้ ให้ได้ปัญญาที่จะถอนลูกศรออกแล้วก็พ้นทุกข์อย่างพระองค์บ้าง นี้เป็นพระมหากรุณา เป็นพระมหากรุณาจริง ๆ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ และก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่ เพราะฉะนั้นท่านจึงอธิบายคำของนิพพาน ว่าออกจากวานะ ภาษาสันสกฤตว่านิรวาณะ ภาษาบาลีว่านิพพาน เป็นคำเดียวกัน  วานะนั้น แปลว่าเครื่องเสียบแทง แปลว่าลูกศร นิรวานะ แปลว่าออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรคือถอนลูกศรเสียได้ไม่มีลูกศรเสียบใจ

เพราะฉะนั้น ก็ให้เข้าใจคำว่านิพพานง่าย ๆ ดั่งนี้ว่า ที่ว่าเป็นนิพพานนั้นก็คือว่าสภาพธรรมของจิตใจที่ถอนวานะคือลูกศรอันเป็นเครื่องเสียบแทงของจิตใจได้แล้ว ออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรได้แล้ว ไม่มีลูกศร ไม่มีเครื่องเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอิสระเสรี มีความสบายคล่องตัวเป็นสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน พ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง พ้นจากอาการปางตาย อาการที่เป็นทุกข์
ทั้งหลายหมดสิ้น

 

ปัญญาเครื่องถอนลูกศรหรือตัณหา

เพราะฉะนั้น นิพพานมิได้อยู่ที่ไหน แต่ว่าอยู่ที่ถอนลูกศรออกจากจิตใจนี้แหละ ก็
ด้วยปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ประทานให้จากการสั่งสอน พระปัญญานี้แหละช่วยผ่าตัดเอาตัณหาที่เป็นลูกศรเสียบใจออกได้ ก็พ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกิจของพระพุทธเจ้าที่จะทรงปฏิบัติหน้าที่อันนี้ ซึ่งจะต้องรีบกระทำ และพระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี หน้าที่เป็นหมอถอนลูกศรนี้แหละ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนก็เป็นการประทานปัญญาอันเป็นมีดผ่าตัด เพื่อให้ผ่าตัดลูกศรถอนลูกศรออกจากจิตใจของตนเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็นำเข้าสรุปใน ๔ ข้อนั้นได้

ทุกข์ ก็คือว่าอาการเป็นทุกข์ถึงปางตาย นี่เป็นตัวทุกข์ทั้งทางกายทั้งทางจิตใจที่โลกต้องพบอยู่ตลอดเวลา ที่บุคคลทุก ๆ คนต้องพบอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่เป็นลูกศรนั้นก็คือตัณหา ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ และก็ถอนลูกศรเสียได้ก็เป็นความดับทุกข์ หรือทุกขนิโรธ และมีดสำหรับที่
จะผ่าตัดพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

อันมีดที่จะผ่าตัดนั้นก็ขอให้เข้าใจว่า ก็จะต้องมีตัวมีดที่ส่วนหนึ่งคมผ่าตัด
ได้ และก็จะต้องมีส่วนของเหล็กอันประกอบกันอยู่ที่เป็นสันของมีดเป็นส่วนของมีด เพราะว่า
ความคมที่สำหรับผ่าตัดนั้นจะอยู่อย่างเดียวไม่ได้ แล้วก็จะต้องมีด้ามมีด เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ของมีดต่างๆ สำหรับที่จะผ่าตัดลูกศรที่เสียบแทงจิตใจ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้จำแนกสำหรับที่จะทรงผ่าตัดสะดวกก็คือ มรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ นี่คือเป็นตัวคม และก็ยังมี
ส่วนประกอบอื่นของมีด เช่นว่าสันมีด ด้ามมีด อะไรเหล่านี้ ก็เป็นสัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตขอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ สติระลึกได้ชอบ สัมมาสมาธิ สมาธิตั้งใจมั่นชอบ รวมเข้าเป็นมีดเล่มเดียวนี่แหละ ส่วนที่คมสำหรับผ่าตัดจริง ๆ ก็คือสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นตัวปัญญา ซึ่งจะต้องประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้จึงจะใช้ได้ ทรงจำแนกไว้ดั่งนี้สำหรับที่ทุกคนจะปฏิบัติได้สะดวก แต่แล้วก็ต้องรวมเป็นมีดเล่มเดียวกัน ใช้สำหรับที่จะผ่าตัดจิตใจ ถอนเอาลูกศรออกจากจิตใจ

และการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็ปฏิบัติไปโดยลำดับ ก็เป็นการรักษาเยียวยาการถอนลูกศรออกจากจิตใจไปโดยลำดับ เพราะว่าทีแรกนั้น จะถอนพรวดออกไปจากจิตใจทีเดียวย่อมไม่ได้ ก็จะ
ต้องมีวิธีขั้นตอนของการผ่าตัดไปตั้งแต่ต้น แล้วก็ค่อย ๆ ถอนออก จนถึงถอนได้หมดสิ้น
แล้วก็รักษาเยียวยาแก้ไขแผลให้หาย เหล่านี้เป็นขั้นตอนของการรักษาซึ่งพระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติหน้าที่รักษาโรคทางจิตใจนี้ได้อย่างสมบูรณ์ แล้วก็ทรงกระทำทันที ไม่เสียเวลาไปทรงแสดงเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่าง ๆ หน้าที่ของพระองค์ก็ต้องรีบทำดั่งนี้ และรีบช่วยให้บุคคลพ้นจากความพ้นทุกข์ทันที ได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี รวมเข้าก็ในข้อนี้เท่านั้น


จากหนังสือ
ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา
ธรรมบรรณาการ อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หน้า ๑๓ – ๒๓