Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๓๐

sangharaja-section

sungaracha

ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 

ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่บังเกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีเศษมาแล้ว และก็ได้บังเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีศาสนาอื่น ๆ สั่งสอนมาแล้ว เช่น ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งบัดนี้มักจะเรียกกันว่าฮินดู และหลังจากพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น ก็ได้มีศาสนาต่าง ๆ บังเกิดตามขึ้นในภายหลังอีกหลายศาสนา เช่นศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และยังมีลัทธิคำสอนต่าง ๆ ของบุคคลซึ่งเป็นที่นับถือกัน ในเมืองจีนก็เช่นขงจื้อ เป็นต้น และในประเทศอื่นก็ยังมีอีก ซึ่งไม่ถึงกับเป็นศาสนา เพราะฉะนั้นจึงมีคำสั่งสอนของศาสนาต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมักจะแตกต่างกัน แม้ว่าในด้านสอนให้ทำดีทำชั่วทั่ว ๆ ไป คือสอนให้รู้จักความดีความชั่ว รู้จักการทำดีทำชั่วทั่วไป คือให้ละชั่วทำดี อะไรเป็นดีอะไรเป็นชั่ว ก็ยังมีแสดงต่าง ๆ กัน และนอกจากนี้ก็ยังมีแสดงถึงอดีตถึงอนาคตและปัจจุบันต่าง ๆ กันอีก เมื่อมาพิจารณาดูในแง่ของสัจจะคือความจริง เมื่อเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าแสดงถึงสิ่งนั้น ๆ ต่างกัน ก็น่าจะคิดว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะว่าความจริงนั้นถ้าเป็นสิ่งเดียว ก็ควรจะเป็นความจริงแต่เพียงสิ่งเดียว คือมีความจริงเพียงอย่างเดียวในสิ่งนั้น ฉะนั้นจึงจะต้องมีแสดงผิดแสดงถูก ใครจะแสดงผิดใครจะแสดงถูก เมื่อเป็นเรื่องอดีตเป็นเรื่องอนาคต ก็เป็นเรื่องที่เมื่อต่างมีความเชื่อถือกันหลายฝ่าย การจะกล่าวหักล้างกันลงไปว่าใครผิดใครถูก แม้ว่าจะมีใครรู้จริงและกล่าวได้ก็ตาม ก็ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน แม้ที่เป็นปัจจุบันเองที่แสดงต่างกันก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าที่เป็นปัจจุบันนั้น ทุกคนสามารถที่จะรู้ได้ถ้าสิ่งนั้นอยู่ในวิสัยของปัญญาที่จะพึงรู้ได้ ถ้าเป็นปัจจุบันที่พ้นวิสัยของปัญญาที่จะพึงรู้ได้ ผู้ที่อ่อนปัญญานั้นก็จะรู้ไม่ได้ ฉะนั้นจึงควรจะทราบถึงลักษณะของพุทธศาสนาว่าแสดงอย่างไรในท่ามกลางของสิ่งที่เป็นปัญหาเหล่านี้

 

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์

มีปัญหาอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ คือไม่ตรัสตอบแก้  อีกอย่างหนึ่งคือปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ คือตรัสตอบแก้

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์นั้น คือเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในครั้งพุทธกาลที่มีอยู่ ๑๐ ข้อ ที่มักจะยกขึ้นอ้างถึงในพระสูตรทั้งหลาย ปัญหา ๑๐ ข้อเหล่านี้คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด   ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีวะเป็นอย่างอื่น สรีระเป็นอย่างอื่น ถัดจากตายไปตถาคตมีอยู่ ถัดจากตายไปตถาคตไม่มี ถัดจากตายไปตถาคตมีด้วยไม่มีด้วย ถัดจากตายไปตถาคตมีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ปัญหาเหล่านี้ได้มีผู้มากราบทูลถามพระพุทธเจ้า   พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์ คือไม่ตรัสตอบแก้

ในปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ พิจารณาดูความก็จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับโลก โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด คือโลกนี้ยั่งยืนอยู่ตลอดไปหรือไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ก็สืบมาจากยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนดังกล่าวนั้น ซึ่งได้มีอาจารย์หรือมีศาสดาแสดงไว้ต่าง ๆ กัน ดั่งในศาสนาที่บังเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาลก็ดี ก่อนพุทธกาลก็ดี ได้มีแสดงถึงผู้สร้างโลก พราหมณ์หรือฮินดูก็มีแสดงถึงผู้สร้างโลก ศาสนาที่มีในภายหลังก็มีแสดงถึงผู้สร้างโลก ก็เป็นปัญหาเค้าเดียวกัน

เรื่องชีวะกับเรื่องสรีระก็เหมือนกัน ชีวะนั้นก็คือความเป็นอยู่หรือตัวชีวิต สรีระนั้นก็คือร่างกาย ตัวชีวะหรือชีวิตหรือตัวร่างกายนั้นเป็นอันเดียวกันหรือว่าแยกกันอย่างไร ถ้าหากว่าชีวะหรือสรีระเป็นอย่างเดียวกัน สรีระแตกสลายคือตาย ชีวะก็จะต้องดับ ถ้าหากว่าแยกกัน สรีระแตกสลาย ชีวะก็อาจจะไม่ดับ และชีวะหรือชีวิตนี้ก็รวมถึงอัตตาหรืออาตมัน อันเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันไปถึงตายเกิดตายสูญ

คราวนี้มาถึงปัญหาของตถาคต ตถาคตนั้นที่ใช้ทั่วไปก็หมายถึงพระพุทธเจ้าเอง ซึ่งตรัสเรียกพระองค์เองว่าตถาคต ถ้าหมายถึงองค์พระพุทธเจ้าเองก็มีปัญหาว่า ถัดจากที่ตายไปคือดับขันธ์ องค์ตถาคตมีหรือไม่มี หรือทั้งมีทั้งไม่มี หรือว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่  อีกอย่างหนึ่ง ตถาคตพระอาจารย์แสดงว่าหมายถึงสัตว์ ดังที่เราเรียกว่าสัตวโลกหรือหมู่สัตว์ และคำว่าสัตว์นี้ก็มิได้หมายความว่าสัตว์เดียรัจฉานดังที่เราเรียกกันเท่านั้น แต่ว่าครอบหมดทั้งมนุษย์ทั้งเดียรัจฉาน ทั้งเทพดามารพรหมทั้งหมด หรือแม้ว่าสัตว์นรกเปรตอสุรกายทั้งหมด ซึ่งยังมีความติดพันเกี่ยวข้องอยู่กับโลกก็ชื่อว่าสัตว์ทั้งหมด สิ่งที่เรียกว่าสัตว์นี้ถัดจากตายไปจะมีหรือไม่มี หรือว่าทั้งมีทั้งไม่มี หรือว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ก็เป็นปัญหาที่พูดถกเถียงกัน ได้มีผู้มากราบทูลถามถึงปัญหาเหล่านี้ พระองค์ไม่ตรัสพยากรณ์

ได้มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่ามาลุงกยะ ได้คิดว่าข้อที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ตนเองไม่พอใจ ฉะนั้นก็คิดจะเข้าไปเฝ้ากราบทูลถาม และคิดว่าถ้าตรัสพยากรณ์ตนก็จะบวชอยู่ต่อไป ถ้าไม่ตรัสพยากรณ์ก็จะลาสิกขา ท่านมาลุงกยะจึงได้เข้าไปเฝ้าและได้กราบทูลถามปัญหาเหล่านี้ และก็ได้กราบทูลว่า ขอให้พระองค์ตรัสตอบ ถ้าทรงทราบก็ให้ตรัสตอบแก้ ถ้าไม่ทรงทราบก็ให้ตรัสบอกตรง ๆ ว่าไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ถ้าไม่ตรัสตอบแก้อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะลาสิกขาคือสึกไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระองค์มิได้ทรงชักชวนให้ท่านมาลุงกยะเข้ามาบวชว่าถ้าเข้ามาบวชแล้วจะตรัสพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ และเมื่อท่านมาลุงกยะเข้ามาบวช ท่านมาลุงกยะเองก็มิได้ขอให้พระองค์ทรงรับรองว่าจะตรัสแก้ปัญหาเหล่านี้ ตนจึงจะบวช เพราะฉะนั้นใครเล่าที่เป็นผู้ขอร้องและเป็นผู้รับรองในเรื่องนี้ และจะไปทวงเอาเรื่องนี้จากใครเล่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปว่า ปัญหาที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านี้ ก็เป็นปัญหาที่ไม่พึงทรงพยากรณ์นั่นเอง ผู้ที่จะคิดคาดคั้นให้พระองค์ทรงพยากรณ์ก็จะตายเปล่า ไม่เป็นประโยชน์อะไร

 

ทรงพยากรณ์เรื่องทุกข์และการแก้ทุกข์

ต่อจากนั้นพระองค์ก็ตรัสต่อไป โดยตรัสแสดงถึงปัญหาที่จะทรงพยากรณ์แก้ไข โดยความก็คือเรื่องทุกข์และเรื่องแก้ทุกข์เป็นต้น ซึ่งเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นปัญหาที่จะพึงแก้ไขในปัจจุบัน โดยตรัสยกเป็นข้ออุปมาขึ้นก่อน ว่าเหมือนอย่างว่ามีบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรที่มีพิษร้าย ญาติมิตรได้นำบุรุษที่ถูกยิงนั้นไปหาหมอผ่าตัด ถ้าหากว่าหมอผ่าตัดนั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักยังไม่ผ่าตัดนำลูกศรนี้ออกเยียวยารักษา จนกว่าเราจะรู้ว่าบุรุษนั้นถูกใครยิง คนยิงนั้นเป็นใคร คนยิงนั้นชื่ออะไร โคตรสกุลอะไร คนยิงนั้นเป็นคนสูง เป็นคนต่ำ หรือเป็นคนท่ามกลาง คนยิงนั้นมีผิวดำ หรือผิวคล้ำ หรือผิวสองสี และคนยิงนั้นอยู่ที่ไหน บ้านไหน นิคมไหน นครไหน และลูกศรที่ยิงนั้นเล่าเป็นแบบลูกศรมีแล่งหรือ
เป็นแบบเกาทัณฑ์ สายที่ใช้ยิงเป็นสายที่ทำด้วยอะไร เหล่านี้เป็นต้น  ถ้าหากว่าหมอผ่าตัดนั้นจะพึงกล่าวดั่งนี้ ให้สอบสวนค้นคว้าไปถึงเรื่องคนยิงถึงเรื่องลูกศรเป็นต้นดังกล่าวนั้น บุรุษผู้ถูกยิงด้วยลูกศรนั้นก็จะพึงตายเสียก่อนที่จะรักษา

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ไม่พึงพยากรณ์เหล่านี้ แต่ว่าพระองค์
จะตรัสพยากรณ์ปัญหาที่พึงพยากรณ์ อันจะเป็นปัญหาที่แก้ทุกข์ถอนทุกข์ทั้งปวงได้ในปัจจุบัน คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือโสกะ ความแห้งใจ   ปริเทวะ ความคร่ำครวญรัญจวนใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ เพราะในปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้น แม้ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรในปัญหาเหล่านั้น คือใครจะมีความเห็นว่าโลกเที่ยงก็ตาม โลกไม่เที่ยงก็ตาม ก็คงมีชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ดังกล่าวนั้นอยู่นั่นเอง จะมีความเห็นอย่างไรก็ถอนทุกข์เหล่านี้ไม่ได้ พระองค์จึงต้องการที่จะแก้ปัญหาที่จะถอนทุกข์เหล่านี้ได้ในปัจจุบันนี่แหละ  ฉะนั้น ปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้นจึงเป็นปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายความสิ้นติดใจยินดี เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพานคือความดับ

แต่ว่าปัญหาที่ทรงพยากรณ์อันจะเป็นเครื่องแก้ทุกข์ในปัจจุบันนั้น ย่อมเป็นการแก้ที่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ ที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ที่เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความสิ้นติดใจยินดี
เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพานคือความดับ ปัญหาที่ทรงพยากรณ์นั้นก็คือปัญหาที่ทรงพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ นี้ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์   นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดั่งนี้

 

ทรงแสดงปัจจุบันธรรม

ท่านมาลุงกยะได้ฟังพระพุทธภาษิต ก็มีความอภินันท์ยินดีในภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เป็นอันว่าท่านก็พอใจในพระพุทธภาษิตที่ตรัสนี้ เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้จึงเป็นพระสูตรที่แสดงลักษณะของพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนานั้นไม่แสดงถึงเรื่องต่างๆ อันเป็นปัญหาที่ไม่ตรัสพยากรณ์ และปัญหาที่
ไม่ตรัสพยากรณ์นี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตก ถึงจะตรัสพยากรณ์ไปก็ไม่มีใครที่จะไปตามรู้ได้ เช่น ปัญหาว่าโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ถึงแม้จะตรัสพยากรณ์ว่าอย่างไร ดังที่มีศาสดาหรือศาสนาก่อนพุทธศาสนาก็ตาม หลังก็ตาม ได้กล่าวเอาไว้ถึงเรื่องสร้างโลกต่าง ๆ ก็ไม่มีใครที่จะตามไปรู้ได้ ได้อย่างเดียวคือเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น และก็เป็นความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาคือความรู้ เชื่ออย่างเดียว จะเรียกว่าเชื่ออย่างหลับตาเชื่อก็ได้เพราะไม่รู้ เชื่อด้วยศรัทธาในศาสดาผู้แสดงนั้นอย่างเดียวเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เชื่อเอาทีเดียว เพราะว่าไม่สามารถจะตามไปรู้ได้ และแม้ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่อาจจะแก้ทุกข์อะไรได้ที่เป็นปัจจุบันดังกล่าว ก็คงยังมีความทุกข์อยู่นั่นเอง แก้อะไรไม่ได้ และหากทรงแสดงไปก็อาจจะเป็นที่ตั้งแห่งความวิวาทขัดแย้งแก่บรรดาผู้แสดงอื่น ๆ ที่ต่างก็แสดงกันไปต่าง ๆ และก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ยิ่งเพิ่มความทุกข์เข้าไปอีกเพราะความวิวาทขัดแย้งนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ตัดประเด็นเสียทีเดียว คือไม่แสดงไม่แก้ไข การที่ไม่แสดงนั้นก็มีความหมายว่าไม่เข้าไปพาดพิงเกี่ยวข้องถึงทั้งในด้านรับรองทั้งในด้านปฏิเสธ แปลว่านอกเรื่องที่จะยกขึ้นมาวินิจฉัยว่าอย่างไร เพราะว่าในปัจจุบันนี้ทุก ๆ คนต่างก็เพียบกันด้วยความทุกข์ต่าง ๆ อยู่แล้ว มีชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ มีโสกะ ความโศก ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพันรัญจวนใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาส ความคับแค้นใจ ความประจวบกับสัตว์และสังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง และกล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ดังที่เราสวดกันอยู่ ต่างก็มีทุกข์กันอยู่เต็มแปร้แล้วในปัจจุบัน จึงเหมือนอย่างว่าทุกคนเป็นบุรุษถูกยิงด้วยลูกศร ถูกลูกศรเสียบใจกันอยู่เสียบกายกันอยู่

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า ซึ่งเปรียบเหมือนอย่างหมอที่ผ่าตัดลูกศร พระองค์ก็มีหน้าที่ที่จะผ่าตัดเอาลูกศรออกโดยเร็ว เพื่อให้ดับทุกข์อันเกิดจากลูกศรเสียบแทงนั้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาไปสอบค้นว่าใครยิง คนยิงชื่ออะไร เป็นต้น หรือว่าลูกศรที่ยิงนั้นทำด้วยอะไร สายธนูนั้นทำด้วยอะไร เหล่านี้เป็นต้น เป็นการเสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์อะไร หน้าที่ของพระองค์ก็คือผ่าตัดเอาลูกศรออก เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงแสดงธรรมเป็นการผ่าตัดลูกศร ชี้ให้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คำสั่งสอนที่ทรงพยากรณ์นี้ก็คืออริยสัจจ์ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรม ธรรมที่เป็นปัจจุบัน

 


จากหนังสือ
ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา
ธรรมบรรณาการ อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หน้า ๑ – ๑๒