Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๒๙

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ผู้มีปัญญาพอประมาณเตรียมเสบียงสำหรับภพชาติข้างหน้าด้วยการทำทานการกุศล เพื่อได้มีชีวิตใหม่ในภพชาติข้างหน้าอย่างไม่ขาดแคลน บางคนก็ทำบุญทำกุศลปรารถนาสวรรค์ บางคนก็ปรารถนาความมั่งมีในภพภูมิของมนุษย์ ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ถูก เป็นการเชื่อกรรม ว่ากรรมดีจักให้ผลดี จึงเมื่อหวังผลดีก็ทำกรรมดี

ผู้มีปัญญามากเล็งรู้ว่าความไม่เที่ยงมีอยู่ แม้เกิดดีในภพใหม่ ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้าสมปรารถนา แต่ด้วยความไม่เที่ยงก็ย่อมสามารถพ้นจากฐานะนั้นมาได้รับผลของกรรมเป็นความทุกข์ยากในภพภูมิอื่นได้ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงไม่มุ่งปรารถนาความเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม สูงส่งเป็นสุขเพียงใดก็ตาม เพราะมีปัญญาทำให้รู้ว่าความสุขนั้นไม่ยั่งยืน และทำให้รู้ด้วยว่าแม้ปรารถนาความไม่ต้องพ้นจากความสุขไปสู่ความทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์คือละจากกิเลสให้ไกลจริงเท่านั้น

ผู้มีปัญญาย่อมศึกษาปฏิบัติเพื่อความไกลกิเลส และท่านผู้สามารถไกลกิเลสได้ก็มิใช่ว่าไม่มีอยู่ ตัวอย่างมีอยู่ ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงมีกำลังใจที่จะดำเนินตามเพื่อความเป็นผู้พ้นทุกข์ ไม่ต้องพบความเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องพบทุกข์ของความเกิดอีกต่อไป จุดสูงสุดในพระพุทธศาสนา ที่ไม่มีในศาสนาใด ที่ชาวพุทธภาคภูมิใจเทิดทูนพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง คือการไม่ต้องกลับมาเกิดอีกให้ต้องเป็นทุกข์ แม้พิจารณาเห็น หรือเพียงเชื่อตามก็ยังดี ว่าทุกคนสามารถปฏิบัติดำเนินไปถึงจุดสูงสุดนั้นได้ ก็พึงเร่งศึกษาปฏิบัติเพื่อความไกลกิเลส ไกลจากความโลภ ไกลจากความโกรธ ไกลจากความหลง

ความไกลโลภ ไกลโกรธ ไกลหลง แม้เราจะยังไม่บรรลุถึง แต่แม้ใช้ปัญญาพิจารณาก็ย่อมเข้าใจว่าบรรลุถึงเมื่อใด ย่อมมีความสุขสูงสุดสิ้นทุกข์เมื่อนั้น ทั้งนี้พึงใช้ปัญญาเปรียบเทียบให้แยบคาย มีใจตนเองนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นหลัก พิจารณาให้เห็นจากใจตนเอง ดูให้รู้ ว่าเวลามีความโลภความโกรธความหลงมาครอบคลุมใจ ใจมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ ดูให้เห็นชัดเจนตามความเป็นจริง ก็จะต้องยอมรับว่าเป็นทุกข์ มิได้เป็นสุข เมื่อความโลภเข้าครอบคลุมใจก็เป็นทุกข์ เพราะร้อนรนด้วยความปรารถนาต้องการที่จะได้สิ่งทั้งหลาย ความร้อนเกิดแก่ใจที่โลภแสวงหาอย่างแน่นอน มากน้อยตามความปรารถนาต้องการว่ารุนแรงเพียงไร    โลภมากก็ร้อนมาก ทุกข์มาก เพราะต้องทุ่มเทแรงใจมากเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะสนองความปรารถนาต้องการ คือความโลภ

เมื่อความโกรธเข้าครอบคลุมใจเมื่อใด ย่อมมีความร้อนใจเมื่อนั้น โกรธมากก็ร้อนมาก โกรธน้อยก็ร้อนน้อย ความโกรธเข้าครอบคลุมในความปกติแห่งใจย่อมมีไม่ได้ ใจย่อมมืดมัววูบวาบหวั่นไหวไปตามอำนาจแห่งความโกรธ แม้บางเวลาจะสามารถควบคุมกิริยาวาจาไว้ไม่ให้ความโกรธปรากฏออกมาภายนอก แต่เมื่อความโกรธปรากฏใกล้ชิดปิดบังใจอยู่ ก็ต้องให้ความร้อนแก่ใจ ถ้าสามารถควบคุมระวังความโกรธไม่ให้เข้าใกล้ชิดปกปิดครอบคลุมใจได้ ก็จะเป็นการทำให้ใจไม่ได้รับความร้อนอันเกิดจากความโกรธ แม้แสดงความโกรธด้วยกิริยาวาจาโดยที่ไม่มีความโกรธสนิทชิดใกล้ปกปิดใจอยู่ ใจย่อมไม่มีความร้อนของความโกรธ เมื่อความร้อนไม่มี ความทุกข์ก็ไม่มีเพราะความร้อน   ในทางตรงกันข้าม เมื่อโกรธใครขึ้นมาแต่แสดงออกทางกายทางวาจาไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ต้องแสดงออกอย่างสุภาพราบเรียบ พูดจาอ่อนหวานไพเราะเรียบร้อย กิริยาท่าทางก็สงบเยือกเย็น แต่ขณะเดียวกันใจพลุ่งพล่านด้วยพลังความร้อนจากความโกรธที่เข้าครอบคลุมใจ ขณะนั้นใจมีความทุกข์ความร้อนแม้หน้าจะยิ้มอยู่ก็ตาม  การแสดงออกภายนอกหาอาจดับความร้อนของกิเลสโทสะที่เข้าใกล้ชิดปิดบังใจไว้ได้ไม่

การแสดงออกทางกายทางวาจาเพื่อสกัดกั้นความโกรธให้ถอยห่างใจ โดยที่เจ้าตัวรู้จุดมุ่งหมายแห่งการแสดงออกที่กำลังขัดกับใจ เช่นนี้ให้ผลดีได้ คือย่อมทำความโกรธให้ไกลออกไปได้เร็ว ความร้อนใจดับลงได้เร็ว ไม่เพิ่มความรุนแรงเหมือนเช่นที่ปล่อยให้การแสดงออกทางกายทางวาจารุนแรงเช่นความรุนแรงของความโกรธที่เข้าครอบคลุมปกปิดใจ เมื่อใดความโกรธไกลใจออกไปบ้าง เมื่อนั้นความร้อนก็จะลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้น มีความโกรธไกลใจเพียงไร ความร้อนที่ใจจะได้รับก็น้อยลงเพียงนั้น ความโกรธอยู่ใกล้ชิดใจเพียงไร ความร้อนที่ใจจะได้รับก็จะมากเพียงนั้น

โมหะความหลง คือความรู้ผิดเห็นผิดจากความจริง รู้ไม่ถูกไม่ตรงเห็นไม่ถูกไม่ตรงตามความจริง ความจริงที่ทั้งลึกซึ้งมากและที่ไม่ลึกซึ้งนัก ความเห็นไม่ถูกไม่ตรงตามความจริงที่ลึกซึ้งมาก ที่จัดเป็นอวิชชาคือความรู้ไม่ตรงตามความจริงที่ประเสริฐสำคัญคืออริยสัจสี่ ความจริงอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์สิ้นเชิง ความรู้ไม่ตรงในอริยสัจสี่คือรู้ไม่ถูกในทุกข์ ความรู้ไม่ถูกในธาตุทั้งสี่คือดินน้ำไฟลม อันประกอบเป็นคนสัตว์สิ่งของ รู้ผิดเห็นผิดในธาตุว่าเป็นเราเป็นเขาของเราของเขา ความรู้ไม่ถูกในไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง   ทุกขัง ความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปร   อนัตตา
ความไม่เป็นไปตามปรารถนาต้องการของผู้ใด เป็นต้น  นี้จัดเป็นโมหะความหลงในเรื่องที่ลึกซึ้ง ยากแก่ความรู้ถูกเห็นถูก

เมื่อเห็นความประชุมกันของธาตุดินน้ำไฟลม เป็นตัวเราของเรา ตัวเขาของเขา ความโลภอยากได้เพื่อตัวเราเพื่อให้เป็นของเราย่อมตามมา ความโกรธเพื่อตัวเราเพื่อของเราย่อมตามมา ทั้งความโลภความโกรธที่ตามความหลง คือความรู้ผิดเห็นผิดจากความจริง ล้วนเป็นความทุกข์ความร้อนทั้งสิ้น

ความหลงรู้ไม่ถูกเห็นไม่ถูกตามความจริง ที่ไม่ลึกซึ้ง คือเห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด  เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี  เห็นของจริงเป็นของปลอม เห็นของปลอมเป็นของจริง  เห็นของแท้เป็นของเทียม เห็นของเทียมเป็นของแท้  เห็นคุณเป็นโทษ เห็นโทษเป็นคุณ เป็นต้น   เมื่อเห็นผิดรู้ผิดก็ปฏิบัติผิด ต้องเห็นถูกรู้ถูกจึงจะปฏิบัติถูก เมื่อเห็นถูกรู้ถูกจะปฏิบัติผิดไปบ้างก็จะเป็นเพียงบังเอิญ เช่นเดียวกับเมื่อรู้ผิดเห็นผิด แม้ปฏิบัติถูกบ้างก็จะเป็นเพียงบังเอิญ

ความรู้ผิดเห็นผิด เห็นดีเป็นชั่วเห็นชั่วเป็นดี ก็เช่นเห็นบัณฑิตเป็นพาล เห็นพาลเป็นบัณฑิต  คือเห็นคนดีเป็นคนชั่ว เห็นคนชั่วเป็นคนดี  เห็นมิตรเป็นศัตรู เห็นศัตรูเป็นมิตร  เห็นสิ่งไม่ควรทำเป็นสิ่งควรทำ เห็นสิ่งควรทำเป็นสิ่งไม่ควรทำ ผลที่ได้รับไม่พึงต้องอธิบายก็ทราบกันดีทั่วไป ว่าเป็นความทุกข์ความร้อนทั้งสิ้น

ความหลงเป็นต้นสายของความไม่ดีทั้งปวง โลภก็เพราะหลง โกรธก็เพราะหลง ความหลงมีมากเพราะมีปัญญาน้อย หรือเพราะปัญญามีน้อยความหลงจึงมีมาก ความหลงจึงแก้ได้ด้วยปัญญา อบรมปัญญาให้มากความหลงจะน้อยลง ปัญญารุ่งเรืองเต็มที่ความหลงจะหมดสิ้นไป กายเป็นปัญญาล้วน ๆ ขึ้นมา

ความโลภความโกรธมีความหลงเป็นเชื้อ เปรียบความโลภความโกรธเป็นกองไฟ ความหลงเป็นเชื้อไฟ เมื่อแรงปัญญากล้า แรงความหลงอ่อน ความโลภความโกรธก็เช่นไฟอ่อนเชื้อ ไฟเชื้อน้อยย่อมไม่ลุกโพลง ความโลภความโกรธเกิดแต่ความหลงน้อยย่อมไม่รุนแรง เมื่อสิ้นความหลงก็เช่นไฟสิ้นเชื้อ ย่อมดับสนิท สิ้นร้อน เย็นอยู่

เมื่อใจไกลความโลภความโกรธความหลงได้เพียงพอประมาณ ก็จะได้พบความสุขความเย็นเป็นอันมากแล้ว   ถ้าใจไกลกิเลสแล้วจริง จะพ้นทุกข์สิ้นเชิง เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ผู้ทรงไกลกิเลสและไกลกิเลสแล้วจริง

การอบรมพรหมวิหารธรรม หรือการปฏิบัติดำเนินไปตามทางที่มีแสงส่องใจให้เพียงพรหม คือความพยายามนำใจให้ไกลกิเลสโลภโกรธหลง กิเลสโลภโกรธหลงมีอยู่เต็มโลกทุกยุคทุกสมัย ผู้มีปัญญาต้องใช้สติใช้ปัญญาป้องกันมิให้กิเลสเข้าครอบคลุมใจ ไม่ให้ใจเข้าใกล้กิเลส หาที่วางใจให้ได้ ที่กิเลสจะไม่อาจแตะต้อง จะวางอาหารให้พ้นมดก็ต้องเลือกที่ เช่นหาน้ำมาหล่อ จะวางใจให้ไกลกิเลสก็ต้องพึ่งพระปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือง่าย ๆ ก็คือพึ่งพระพุทโธ ภาวนาพุทโธเมื่อเห็นหน้าตาของกิเลสว่าใกล้ใจเข้ามาแล้ว เพียงเท่านี้ก็จะพาใจให้ไกลกิเลสได้แม้เพียงชั่วระยะ

แม้การภาวนาพุทโธจะช่วยสกัดกั้นกิเลสไม่ให้เข้าใกล้ครอบคลุมใจได้เพียงชั่วระยะ นานบ้างไม่นานบ้าง แต่ก็จะทำให้รู้จักลักษณะใจที่ไกลกิเลสแม้เพียงชั่วระยะนั้น จะทำให้ปรารถนาสงวนรักษาสภาพของใจในลักษณะนั้น และนั่นจะเป็นเหตุให้ไม่ทิ้งการภาวนาพุทโธ เป็นเหตุให้ระยะเวลาที่ใจไกลกิเลสยาวนานขึ้นได้เป็นลำดับ สงบได้นานขึ้นเป็นลำดับ สิ่งมีค่ายิ่งที่จะเกิดเมื่อใจสงบคือปัญญาก็จะตามมา เมื่อปัญญาตามความสงบมา ความหลงก็ต้องหลีกไป ให้ที่แก่ปัญญา อย่าว่าแต่จะเพียงอบรมพรหมวิหารธรรมให้เกิดได้ แม้ความไกลกิเลสสิ้นเชิงได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ยังเกิดได้ด้วยปัญญา

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจริงทั้งหลาย แม้ยังไม่อาจทำใจให้ไกลกิเลสได้ตลอดไป ก็พึงทำใจให้รับ แสงส่องใจให้เพียงพรหม เป็นการก้าวขึ้นบันไดขั้นหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขสงบแล.

จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖  หน้า ๑๑๕ – ๑๒๓