Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๒๗

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


 

 

เมตตานั้นก็ผิดได้ กรุณาก็ผิดได้ มุทิตาก็ผิดได้ อาจมีปัญหาว่าเมตตากรุณาทำไมจึงยังมีผิดได้ ในเมื่อความหมายของเมตตากรุณาก็ดีอย่างยิ่ง ไฉนความปรารถนาให้เป็นสุขและประสงค์ช่วยให้พ้นทุกข์จึงมีผิดได้ ควรจะถูกเท่านั้น ความจริงก็น่าจะเช่นนั้น และก็เป็นเช่นนั้นจริง ที่ยังผิดก็เพราะยังไม่ใช่เมตตากรุณาที่แท้จริง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเหมือนเป็นเมตตากรุณา คือปรารถนาให้เป็นสุข และจะช่วยให้พ้นทุกข์ แต่ที่จริงเป็นเพียงความเห็นแก่ตัวบ้างเห็นแก่พวกพ้องหรือผู้เป็นที่รักชอบของตนบ้าง เป็นสุขเพียงพอก็ยังไม่ถึงใจ ยังปรารถนาจะให้เป็นสุขยิ่งขึ้น จนเกินขอบเขตเหตุผล พยายามจะช่วยทั้งที่เกินขอบเขตเหตุผล เช่นนี้ที่ไม่เป็นเมตตากรุณา เป็นความเห็นแก่ตัวเห็นแก่พวกซึ่งเข้าใจผิดว่าเป็นเมตตากรุณา

เมตตากรุณาและความเห็นแก่ตัวมีลักษณะใกล้เคียงกัน พึงระวังสังเกตให้เข้าใจถูก มิฉะนั้นจะหลงเห็นแก่ตัวและพวกของตัว แล้วคิดว่ากำลังแสดงออกซึ่งความเมตตากรุณา ที่น่าจะเป็นที่สรรเสริญว่าเป็นคนดีมีธรรม ความเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่พวกของตัวเป็นเรื่องธรรมดา ปุถุชนย่อมมีอยู่ แม้การแผ่เมตตาก็ยังให้แผ่ให้ตนเองก่อน ให้ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจก่อน แต่หมายถึงในขอบเขตที่เป็นเมตตาจริง ไม่ใช่เลยขอบเขตจนเป็นความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น เพียงใจคิดเอาเปรียบ ไม่ถึงกับแสดงออกทางกายทางวาจาก็ไม่พึงทำ

เกี่ยวกับเมตตากรุณามีที่ถึงสังวรระวังอย่างยิ่ง คือต้องระวังอย่างที่สุดที่จะให้เมตตากรุณาอย่างเป็นธรรม ไม่เข้าข้างโน้นข้างนี้ แม้การเข้าข้างนั้นข้างนี้จะเกิดจากความบริสุทธิ์ใจ ก็ยังไม่สมควร เมตตากรุณาควรเป็นเหตุให้เกิดความรอบคอบระวังรักษาจิตใจของทุกฝ่าย โดยอาศัยความเชื่อในกรรมและการให้ผลของกรรมเป็นหลัก วางใจลงให้ได้ในกรรม เมื่อผู้ใดทำกรรมใดไว้ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น การยึดกรรมเป็นหลักจะช่วยให้ไม่ปฏิบัติผิดในการแสดงออกซึ่งเมตตากรุณา ถ้าจำเป็นต้องปล่อยให้ผู้ใดผู้หนึ่งต้องเสียน้ำใจ เพราะไม่ได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ คือไม่ได้รับเมตตากรุณาจากเราทางกายทางวาจา เหตุเพราะผู้นั้นทำกรรมไม่ดี คือเป็นฝ่ายผิด ก็ควรทำใจให้เป็นกลาง ยอมปล่อยให้เขาเสียน้ำใจ หรือแม้เขาจะนำเราไปตำหนิติเตียนว่าไม่เห็นแก่พวกบ้างก็พึงยอม เพื่อรักษาความเชื่อในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมไว้ให้ปรากฏเป็นตัวอย่างแก่ผู้รู้เห็นทั้งหลาย และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ทำกรรมดี ที่อาจเป็นคู่กรณีกับฝ่ายผู้ทำกรรมไม่ดี ให้มีกำลังใจเบิกบานอาจหาญที่จะทำดีต่อไป

ผู้ใหญ่มีอำนาจวาสนาบารมีเพียงใดยิ่งต้องรอบคอบในการแสดงออกซึ่งเมตตากรุณาเพียงนั้น ส่วนเรื่องเมตตากรุณาในใจนั้นพึงมีเต็มเปี่ยมได้ในทุกคนทุกฝ่าย ไม่ว่าคนดีคนชั่วหรือฝ่ายถูกฝ่ายผิด แต่การแสดงออกต้องเป็นคนละอย่าง ต้องไม่ให้เป็นไปทำนองเดียวกับใจเสมอไป พระพุทธเจ้าก็ตาม พระอรหันตสาวกก็ตาม ที่ไกลกิเลสสิ้นแล้ว ไกลโลภโกรธหลงสิ้นเชิงแล้ว แต่การแสดงออกบางครั้งยังเป็นการแสดงอาการโกรธเกลียด ยังมีตำหนิติเตียนและลงโทษผู้ผิด ขณะเดียวกันก็มีสรรเสริญยกย่องผู้ถูก เป็นที่เข้าใจกันดีระหว่างผู้รู้ ว่าการแสดงออกเช่นนั้น ทางกายก็ตามทางวาจาก็ตาม หาได้เป็นการแสดงให้เห็นว่าจิตใจของท่านหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของความโลภความโกรธความหลง ใจเป็นเรื่องหนึ่ง การวาจารเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านผู้หมดโลภโกรธหลงแล้วก็ยังแสดงออกทางกายวาจาได้เหมือนผู้มีความโลภโกรธหลงทั้งหลาย สำคัญที่แตกต่างกันตรงการแสดงออกของท่านผู้บริสุทธิ์แล้วจากกิเลสทั้งหลายนั้นเป็นการจงใจแสดงออกมาด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้ความเมตตากรุณาของท่านเกิดผลเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ มิใช่เป็นการแสดงออกด้วยอำนาจผลักดันของกิเลส

พิจารณาเปรียบเทียบไปให้ถึงพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะเห็นว่าผู้มีเมตตากรุณาไม่จำเป็นต้องนิ่งเสมอไป ตำหนิโทษเพื่อช่วยแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของผู้ใดไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ใช่เช่นนั้น พึงทำความเข้าใจให้ดีใจความเป็นคนละเรื่องของใจกับการแสดงออก และแยกการปฏิบัติทางกายวาจากับใจให้ออกพ้นกัน อย่าให้ผูกพันกัน จนเป็นว่าเมื่ออบรมเมตตากรุณาแล้วตำหนิติโทษผู้ผิดไม่ได้เช่นนั้นไม่ถูก ควรทำความเข้าใจเรื่องเมตตาในใจกับการปฏิบัติให้ถูกจริง

ผู้มีอุเบกขาในใจ การแสดงออกภายนอกหมายรวมถึงการที่ทำคำที่พูดจะเหมือนไม่มีอุเบกขาได้ เพราะผู้มีอุเบกขานั้นไม่หมายถึงจะต้องไม่รับรู้ในคุณโทษของสิ่งภายนอก ผู้มีอุเบกขาย่อมรู้ดีว่าปฏิบัติอย่างไรเป็นคุณปฏิบัติอย่างไรเป็นโทษ บางทีการวางเฉยทางกายทางวาจาเหมือนกับใจที่วางเฉยอยู่ด้วยความสงบก็อาจเป็นคุณ แต่บางทีก็อาจเป็นโทษ เมื่อการวางเฉยภายนอกจะเป็นโทษ ผู้มีพรหมวิหารธรรมข้ออุเบกขาพิจารณาเห็นแล้ว ก็ย่อมต้องแสดงออกตามความเหมาความควร รักษาไว้อย่างหวงแหนที่สุดเพียงอย่างเดียว คือใจที่เป็นอุเบกขา ไม่หวั่นไหววูบวาบขึ้นลงไปตามการแสดงออกภายนอก ความสงบอย่างยิ่งของใจย่อมมีอยู่ได้เป็นปกติด้วยอำนาจของอุเบกขาที่แท้จริงในพรหมวิหารธรรม ตรงกันข้ามกับผู้มีใจยังไม่เป็นอุเบกขา ยังหวั่นไหววูบวาบ เอียงไปทางนั้นทางนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่อาจวางใจเป็นกลางวางเฉยได้ แต่ก็สามารถแสร้งแสดงอุเบกขาให้ปรากฏออกภายนอกได้

อุเบกขานั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจของผู้ใด ใจของผู้นั้นจะสามารถวางเฉยได้ในทุกเรื่องทุกเวลา แม้บางระดับจะวางได้ไม่สูงก็ยังพอวางได้ เรียกว่าเป็นอุเบกขาได้แม้ใจระดับต่ำ แต่ก็ยังเป็นอุเบกขาที่แท้จริง ต้นมะม่วงที่เพิ่งเริ่มสอนเป็น ยังเป็นต้นอ่อน เล็ก แต่เป็นมะม่วงพันธุ์อะไร เช่นมะม่วงมัน แม้จะยังต้นเล็กก็เป็นต้นมะม่วงมัน โตขึ้นด้วยการบำรุงรักษา ก็จะเป็นต้นมะม่วงมัน จะไม่กลายเป็นต้นขนุนหรือลำไยไปได้ อุเบกขาในพรหมวิหารธรรมก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นได้ในระดับต่ำ ๆ ก่อน และเมื่อได้รับการอบรมอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ก็จะค่อย ๆ เจริญ มีระดับสูงขึ้นทุกเวลา จนสามารถเป็นอุเบกขาในระดับสูงสุด จะเป็นอื่นนอกจากอุเบกขาไม่ได้

ควรพยายามเห็นคุณของอุเบกขา อบรมให้เกิดเป็นอุเบกขาที่แท้จริง แม้จะได้เพียงระดับต่ำก่อน ก็มั่นใจได้ว่าจะดำเนินถึงระดับสูงสุดได้ และเมื่ออุเบกขาเกิดขึ้นแล้ว ได้รับความเอาใจใส่อบรมสม่ำเสมอแล้ว ความสุขอย่างยิ่งย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เป็นความสุขที่ผู้ได้รับเท่านั้นเข้าใจ คนอื่นผู้ไม่มีอุเบกขาหาอาจเข้าใจรสของอุเบกขาได้ไม่ ว่าเป็นรสที่เลิศควรลิ้ม

ความวุ่นวายมีให้ต้องประสบพบผ่านอยู่เป็นอันมากเสมอ ทั้งยังต้องแก้ไขไปตามเรื่องอีกด้วย ถ้ามีอุเบกขาธรรมอยู่ในใจให้พอสมควร การแก้ไขหรือการเผชิญความวุ่นวายเหล่านั้นจะเป็นไปได้อย่างไม่ทำให้ต้องร้อนต้องวุ่นจนเกินไปนัก การกระทำทางกายทางวาจานั้น แน่นอนที่บางเรื่องบางคราวจะต้องเหนื่อยต้องวุ่นต้องยุ่งอย่างถึงที่สุด แต่ใจนั้นสำคัญกว่า ให้อุเบกขารักษาใจไว้อย่าให้โลดแล่นไปกับกาย ให้อุเบกขาเป็นเครื่องอยู่ที่ร่มเย็นเป็นสุขที่สุดของใจ

คุณลักษณะของผู้มีพรหมวิหารธรรมที่ถูกต้องแท้จริง คือมีเมตตาที่ประกอบด้วยอุเบกขา มีกรุณาที่ประกอบด้วยอุเบกขา มีมุทิตาที่ประกอบด้วยอุเบกขา และมีอุเบกขาที่พร้อมด้วยเมตตากรุณาและมุทิตา ผู้มีพรหมวิหารธรรมที่แท้จริงนั้นต้องมีธรรมทั้งสี่ประการพร้อมบริบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องทุกเวลา ไม่มีอย่างหนึ่งอย่างใดตามลำพังโดดเดี่ยว ถ้ามีธรรมประการใดประการหนึ่งตามลำพังจะมีทางผิดไปจากทางของธรรมที่ถูกต้องแท้จริงได้ เช่นถ้ามีแต่อุเบกขา ก็จะเป็นความใจจืดใจดำได้แน่นอน แต่ถ้ามีอุเบกขาประกอบด้วยเมตตากรุณาและมุทิตาก็จะเป็นธรรมที่แท้ ไม่ผิดไปจากพรหมวิหารธรรม ถ้ามีแต่เมตตากรุณามุทิตา ไม่มีอุเบกขาประกอบไปพร้อมกันก็จะเป็นความเห็นแก่ตัวเห็นกับพี่น้องพวกพ้องผู้เป็นที่รักที่ชอบใจ และให้โทษไม่น้อยกว่าให้คุณ คือเมื่อเมตตากรุณาแล้วไม่อาจทำให้เป็นไปตามปรารถนาต้องการได้ ก็ย่อมจะร้อนรนแม้ปราศจากอุเบกขาความวางใจเป็นกลาง

ถ้าจะอบรมพรหมวิหารธรรมอย่าเห็นว่าเมตตากรุณาเท่านั้นสำคัญ มุทิตาและอุเบกขาก็สำคัญอย่างยิ่ง ไม่มีเมตตากรุณาก็จะมีใจโหดเหี้ยม ไม่มีมุทิตาก็จะมีริษยา ไม่มีอุเบกขาก็จะไม่รู้จักวางเฉย ไม่รู้จักปล่อยวาง ยึดมั่นอยู่   ความโหดเหี้ยม ความริษยา ความยึดมั่นไม่ปล่อยวาง ย่อมเป็นความไม่งดงามของจิตใจ ย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนา ฉะนั้นเมื่อปรารถนาจะไม่ให้ได้ชื่อว่าเป็นคนโหดเหี้ยม ขี้อิจฉาริษยา หรือไม่ปล่อยวาง ก็พึงอบรมพรหมวิหารธรรมให้สมบูรณ์บริบูรณ์ เพื่อให้จิตพ้นจากสภาพที่ไม่งดงาม ไม่เป็นที่พึงปรารถนา

ผู้ปรารถนาจะมีจิตใจดีมีจิตใจเย็นสบายควรต้องอบรมพรหมวิหารธรรมอย่าได้ว่างเว้น โอกาสที่จะแผ่เมตตามีอยู่ทุกเวลา โอกาสที่จะกรุณาก็มีอยู่ทุกเวลา โอกาสที่จะแสดงมุทิตาก็มีอยู่ทุกเวลา พึงมีสติให้มีอุเบกขาไปพร้อมกัน จะเป็นพรหมวิหารธรรมที่ถูกแท้สมบูรณ์ ที่จะให้คุณแก่ตนเองก่อนแก่ผู้อื่น

 

จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๑๐๐ – ๑๐๘