Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๒๖

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


 

มุทิตาความพลอยยินดีเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุขนั้น แม้ไม่พิจารณาให้ดีพอสมควรด้วยปัญญาอันชอบก็อาจเข้าใจไขว้เขวไปได้ ว่าความพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดีนั้นหมายรวมถึงได้ลาภได้ยศแม้เมื่อไม่สมควรเช่นได้ลาภจากการลักขโมย คดโกง เอาเปรียบ หรือได้ยศเพราะการใช้อำนาจอิทธิพลที่ไม่ยุติธรรม ความจริงมุทิตาความพลอยยินดีด้วยในพรหมวิหารธรรมนั้น หมายถึงความพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดี อันเป็นความดีแท้ เช่นได้ลาภอย่างบริสุทธิ์ ได้ยศอย่างยุติธรรม หรือได้สรรเสริญที่ควรแก่การได้ ไม่ใช่เมื่อมีผู้ได้รับเงินทองจะเพราะคดโกงลักขโมยมา เราได้รู้ได้เห็นก็พลอยยินดีด้วย เช่นนี้ไม่ถูก เป็นการรับแบ่งบาปที่ผู้อื่นทำ หรือเมื่อใดได้ยศถาบรรดาศักดิ์เพราะอำนาจอิทธิพลบันดาลอย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม เราได้รู้ได้เห็นก็พลอยเห็นดีเห็นงามยินดีด้วย เช่นนั้นไม่ถูก เป็นการรับแบ่งบาป หรือเมื่อคนทำไม่ดีคนไม่ดีด้วยกันยกย่องสรรเสริญ เราได้รู้ได้เห็นพลอยยินดีด้วย เช่นนี้เป็นการรับแบ่งบาป ผิดหลักธรรม ผิดพรหมวิหารธรรมข้อมุทิตาแน่นอน

มุทิตาความพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุขนั้น อาจรู้ได้ว่าถูกต้องหรือไม่ เช่นให้พิจารณาใจตนว่าในกรณีที่ผู้ใดผู้หนึ่งได้ดีมีสุขอย่างไม่ผิดศีลไม่ผิดธรรม เราก็ยินดีในความได้ดีมีสุขนั้นด้วยจริงใจ นั่นคือมุทิตาที่แท้ มุทิตาในพรหมวิหารธรรม ตามปกติผู้ไม่มีมุทิตาธรรมจะอิจฉาริษยาเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข แต่จะไม่ริษยาผู้ที่เป็นโจรเป็นขโมย ผู้ที่พลอยยินดีด้วยกับผู้ได้ดีมีสุข ที่คนไม่มีมุทิตาธรรมริษยา คือผู้มีมุทิตาในพรหาวิหารธรรมแท้

ผู้ที่พลอยยินดีด้วยกับการได้ลาภได้ยศของโจรผู้ร้ายหรือผู้ทรยศคดโกงทั้งหลาย นอกจากจะไม่ใช่ผู้มีมุทิตาธรรมแล้ว ยังเป็นคนใจดำ ขาดเมตตาธรรม เพราะขาดความปรารถนาจะให้มีผู้เป็นสุข ยินดีด้วยกับโจรผู้ร้ายคนไม่ซื่อก็เท่ากับยินดีด้วยที่พวกเขาจะต้องได้รับทุกข์ ยินดีด้วยที่พวกเขาทำความไม่ดี เป็นกรรมไม่ดีที่จะให้ผลไม่ดีแน่นอน ความยินดีด้วยเช่นนี้จะเป็นการถูกต้องสมควรได้อย่างไร จะเป็นมุทิตาธรรมได้อย่างไร

อบรมพรหมวิหารธรรมข้อมุทิตา ต้องระวังใจให้ดีที่สุด อย่าให้พลอยยินดีไปกับผู้ผิด และอย่างให้ความริษยาเกิด จะทำได้จะต้องพยายามพิจารณาความจริงให้ประจักษ์ถ่องแท้ ว่าเรากับเขามิได้แตกต่างกัน เราก็เช่นเดียวกับเขา เขาก็เช่นเดียวกับเรา ไม่มีเขาไม่มีเราเสียอีกด้วย เพียงเป็นธาตุเช่นเดียวกัน ดินน้ำไฟลมอากาศเหมือนกัน การที่รูปร่างผิดกัน สูงต่ำดำขาวผิดกัน ไม่ใช่เครื่องแบ่งแยกความเป็นเราเป็นเขา เป็นเพียงเพื่อรู้ เพื่อจำได้ เพื่อให้เรียบร้อยไปตามสมมุติบัญญัติเท่านั้น พยายามคิดเช่นนี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ตนก่อนผู้อื่น

ความพลอยยินดีด้วยในความได้ดีมีสุขของบุคคลร่วมบ้านร่วมครอบครัวร่วมสกุลวงศ์มักไม่ใช่เป็นความพลอยยินดีด้วยที่เป็นมุทิตาในพรหมวิหารธรรม มักจะเป็นความพลอยยินดีด้วยอันเกิดจากฉันทาคติความลำเอียงเพราะรักมากกว่า เช่นผู้ร่วมบ้านร่วมสกุลไปเอาเปรียบคดโกงได้อะไร ๆ ของใครมา ก็พลอยยินดีด้วยกับลาภผลนั้นที่ได้มา เช่นนี้ไม่ใช่มุทิตาความพลอยยินดีด้วยในพรหมวิหารธรรม พึงทำความเข้าใจให้ดี พิจารณาความรู้สึกของตนที่มีต่อการได้มาซึ่งลากยศสรรเสริญสุขของผู้ร่วมบ้านร่วมสกุลได้ดี ไม่เช่นนั้นแทนที่จะเป็นการอบรมจิตให้สูงงดงามขึ้นด้วยพรหมวิหารธรรม ก็อาจจักกลายเป็นทำจิตให้ต่ำให้เศร้าหมองลดความงดงามลง เพราะความพลอยยินดีด้วยในกรณีที่ไปเอาเปรียบลักขโมยคดโกงมา ก็เท่ากับเป็นความยินดีส่งเสริมสนับสนุนการทำความไม่ดี ผู้ที่จะยินดีสนับสนุนผู้อื่นให้ทำความไม่ดีเช่นนั้นได้ จะต้องมีใจโน้มเอียงไปทางนั้น ใจของผู้นั้นนั่นที่สกปรก และต่ำลงด้วยเห็นดีเห็นชอบไปกับคนที่ทำไม่ดี

ความพลอยยินดีด้วยที่เป็นมุทิตาธรรมนั้น ไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะต่อบุคคลเป็นที่รักที่ชอบใจหรือเฉพาะที่เกี่ยวข้องติดต่ออยู่เท่านั้น มุทิตาธรรมเกิดได้แม้แต่กับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือรู้จักกันเลย เมื่อได้ล่วงรู้ถึงความได้ดีมีสุขอย่างไม่ผิดศีลผิดธรรมของผู้ใดก็ตาม ที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ที่อยู่ใกล้อยู่ไกลเพียงไหนก็ตาม มุทิตาอาจเกิดได้ในผู้มีพรหมวิหารธรรมเพียงพอ ในขณะที่ผู้ไม่มีพรหมวิหารธรรมอาจริษยา

พึงพยายามทำความมั่นใจให้เกิด ว่าความพลอยยินดีด้วยในความได้ดีมีสุขของผู้อื่นนั้นมีขึ้นในใจผู้ใด ไม่ทำให้ผู้นั้นเสียเปรียบ มีแต่จะทำให้ได้เปรียบ เพราะเป็นการได้มีจิตใจที่มีค่า มีความสงบสุขเบิกบานแจ่มใส เวลาดีใจกับเวลาหงุดหงิดขัดเคืองใจแตกต่างกันอย่างไร ความพลอยยินดีด้วยกับความหมั่นไส้ริษยาเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุขก็แตกต่างกันอย่างนั้น

 

พรหมวิหารธรรมทุกประการ คือทั้งเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา เมื่อเกิดขึ้นแท้จริง เป็นไปอย่างบริสุทธิ์สะอาด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ จะมีพร้อมกันครบถ้วนทุกประการ คือทั้งสี่ประการ เป็นสายสืบต่อกัน ไม่มีขาดตกบกพร่อง ถ้าขาดตกบกพร่องแม้ประการเดียวก็จะเป็นไปไม่สมบูรณ์ คือเมตตาก็ตาม กรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม อุเบกขาก็ตาม จะบกพร่องตามลำพังตนเอง เมื่อมีเมตตาปรารถนาให้เป็นสุขจริง จะหยุดอยู่เพียงเท่าที่ปรารถนาอย่างไร เหมือนคนหิวข้าว ปรารถนาจะได้กินข้าว ก็ยังต้องหาข้าวกิน เมตตาปรารถนาให้เป็นสุขก็เช่นกัน ปรารถนาให้เป็นสุขก็ต้องช่วยให้เป็นสุข หรือให้พ้นทุกข์ นั่นก็คือเมื่อเมตตาเกิด กรุณาคือช่วยให้พ้นทุกข์ก็ตามมาเอง เมื่อปรารถนาให้เป็นสุขและช่วยให้พ้นทุกข์ได้เป็นสุขแล้ว จะหยุดเพียงเท่านั้นย่อมไม่มี เหมือนคนหิวข้าวปรารถนาจะได้กินข้าว หาข้าวกิน หายหิว อิ่มแล้ว ก็ยินดีที่ไม่ต้องหาข้าวกินให้หายหิว เมื่อเมตตากรุณาเกิดแล้วก็เช่นเดียวกัน มุทิตาความพลอยยินดีด้วยย่อมต้องตามมา ก็เมื่อมีเมตตาปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาช่วยให้พ้นทุกข์ได้ มุทิตาความพลอยยินดีด้วยจะไม่เกิดมีหรือ และเมื่อหิวข้าว ปรารถนาจะได้กินข้าว หาข้าวกินได้ อิ่มแล้ว ยินดีที่ไม่ต้องหาข้าวกินอีกแล้ว ใจก็จะสงบ จะดิ้นรนไปทางไหนอีกย่อมไม่มี ย่อมสงบใจอยู่ เปรียบเช่นเมื่อมีเมตตา กรุณา มุทิตา ครบถ้วนทั้งสามแล้วจริง ใจย่อมสงบโดยอัตโนมัติ เป็นอุเบกขาที่เกิดพร้อมเมตตา กรุณา และมุทิตา

อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง เป็นข้อสำคัญสุดท้ายของพรหมวิหารธรรม จิตใจของคนใกล้กิเลส มีความเอียงไปทางนั้นบ้างทางนี้บ้างด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาต่าง ๆ ที่จะให้ตั้งมั่นอยู่ตรงกลางคือเป็นอุเบกขาจึงยาก แต่แม้จะยากก็หาใช่สิ่งสุดวิสัย แม้จะยากก็อยู่ในวิสัยที่พอจะให้เกิดได้ โดยเฉพาะเมื่ออบรมเมตตากรุณามุทิตาพร้อมแล้ว เป็นไปบริสุทธิ์บริบูรณ์เพียงพอแล้ว อุเบกขาจะเกิดโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายาม ที่เป็นเช่นนั้นด้วยสำนึกในใจตนเป็นสำคัญ เมื่อรู้อยู่แก่ใจตนอย่างซาบซึ้ง ว่าได้เมตตากรุณามุทิตาแล้วอย่างจริงใจเต็มที่ อะไรจะเกิดจะเป็นไปก็ไม่กระทบกระเทือนถึงได้อีกแล้ว เหมือนคนมีงานต้องทำ เมื่อทำสำเร็จเรียบร้อยทุกอย่าง ก็หมดกังวลพักผ่อนนอนหลับได้สบาย ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่าถ้าพิจารณาใจตนเห็นอุเบกขายังเกิดไม่ได้ในเรื่องใด ก็แสดงว่าการทำหน้าที่ของตนในเรื่องนั้น ที่จำเป็นต้องใช้เมตตากรุณามุทิตา ยังไม่สำเร็จเรียบร้อย ยังขาดตกบกพร่อง หรืออาจยังผิดพลาดอยู่ เช่นเมตตากรุณาและมุทิตาไม่ถูกต้อง ยังผิดพลาด เช่นนี้ก็ให้พิจารณาเมตตากรุณามุทิตาของตนให้ดี ปฏิบัติให้ถูกต้องบริบูรณ์โดยสมควร

เมตตานั้นมีผิดได้ กรุณาก็ผิดได้ มุทิตาก็ผิดได้ พึงพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราเมตตากรุณามุทิตาในตนให้ละเอียดรอบคอบ แม้มีอคติลำเอียงเข้าข้างตน หรือลำเอียงเข้าข้างผู้ใดผู้หนึ่ง จะไม่สามารถอบรมเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาพรหมวิหารธรรมได้สมบูรณ์บริบูรณ์อย่างดี

คนบางคนบางพวกมีความสุขตามควรแก่อัตภาพอยู่แล้ว แต่เมื่อเราไปมีจิตผูกพันชอบพอผู้ใดผู้หนึ่งเป็นพิเศษ ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดเมตตาที่ผิดกรุณาที่ผิดในคนบางคนบางพวกนั้นได้ คือเขาได้ดีมีสุขอยู่แล้ว พอเหมาะพอสม แต่ด้วยความผูกพันชอบพอเป็นพิเศษ ก็อาจทำให้เกิดปรารถนาให้เขาได้ดีมีสุขยิ่งขึ้น อาจทำให้เห็นไปว่าในสภาพที่เหมาะสมแล้วของเขานั้นเป็นความทุกข์ของเขา จึงอาจทำให้เกิดต้องการช่วยให้เขาพ้นทุกข์ เมตตากรุณาเช่นนี้ที่รวมเข้าในเมตตากรุณาที่ผิด อันจะเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นความเดือดร้อนแก่ตนเอง และอาจเกิดแก่ผู้ที่ตนจะให้ความเมตตากรุณาด้วย แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายอีกเป็นอันมากด้วยก็ได้ คือแทนที่จะเป็นคุณ เมตตากรุณาเช่นนั้นอาจเป็นโทษได้ สิ่งที่ทำลงไปไม่ถูกต้องย่อมให้โทษมากกว่าให้คุณ ทำผิดมากเพียงไรจักให้โทษมากเพียงนั้น พึงสังวรระวังให้อย่างยิ่งในข้อนี้ เพราะเป็นจริงเช่นนี้

พิจารณาใจตนเองที่กำลังร้อนด้วยความมีเมตตากรุณาต่อผู้ใดผู้หนึ่ง เมื่อเห็นความร้อนในใจก็ให้รู้ ว่าความรู้สึกว่าเป็นเมตตากรุณานั้นไม่ถูกต้อง เพราะเมตตากรุณาจะให้แต่ความเย็นเท่านั้น ไม่มีความร้อนแอบแฝงอยู่ด้วย ยิ่งเป็นความร้อนเพียงไร ก็ยิ่งแน่ใจได้ว่าเป็นเมตตากรุณาที่ไม่ถูกเพียงนั้น

 

จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๙๑ – ๙๙