Print

แสงส่องใจ ฉบับที่ - ๒๒๔

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


 

ใจที่มีพรหมวิหารธรรมไม่บริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ เช่นมีเพียงเมตตากรุณา ก็ยังไม่เย็นจริง ยังร้อนอยู่ การขาดมุทิตาและอุเบกขาเป็นเหตุให้ร้อนได้ ขาดมากเพียงไรก็ยิ่งร้อนมากเพียงนั้น แต่เมตตากรุณาเพียงสองประการ ผู้ใดมีก็ยังช่วยให้เย็นช่วยให้ใจเป็นสุขได้มาก แต่ในเวลาที่ต้องใช้มุทิตาและอุเบกขา ถ้าไม่มีมุทิตาและอุเบกขา เมตตากรุณาก็ช่วยให้มีความเย็นความเป็นสุขไม่ได้ ความร้อนจะต้องเกิดจนได้ ผู้เคยประสบความรู้สึกเช่นนี้ด้วยตนเอง และพิจารณาจนเข้าใจแล้วว่าตนเป็นทุกข์เพราะมีเมตตากรุณาแต่ขาดมุทิตาและอุเบกขา ย่อมจะรู้ดีว่าไม่เพียงแต่เมตตากรุณาเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับช่วยให้เป็นสุขเย็นใจ มุทิตาและอุเบกขาก็จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน แต่เมตตากรุณานั้นต้องนำหน้ามาก่อนเสมอ มีเมตตากรุณาก่อน แล้วจึงให้มุทิตาและอุเบกขาตาม


ใจเป็นสิ่งที่ฝึกได้อบรมได้ เพียงให้มั่นใจและมีความตั้งใจจริงที่จะฝึกอบรมใจตน มีความเพียรพยายามให้สม่ำเสมอในการฝึกอบรมใจตน และที่สำคัญที่สุดคือให้มีความเห็นชอบคือสัมมาทิฐิก่อนด้วย แม้ความเห็นชอบมั่นคง การปฏิบัติที่ตามมาจะเป็นการปฏิบัติในสายชอบ นำสู่จุดหมายปลายทางที่ชอบได้ สัมมาทิฐิในกรณีนี้คือให้เชื่อในเรื่องประโยชน์หรือคุณของพรหมวิหารธรรมที่จะเกิดแก่ตนก่อน ส่วนที่จะเกิดแก่ผู้อื่นเป็นเรื่องทีหลัง เมื่อเมตตาเกิดขึ้น กรุณาเกิดขึ้นในจิตใจ ใจตนเองนั้นแหละได้เสวยผลแล้วทันที จะอ่อนโยนเยือกเย็น เป็นความสุขที่เกิดแต่เมตตากรุณาโดยเฉพาะ ไม่มีความสุขใดที่เกิดแต่อื่นเปรียบเสมอ


การฝึกเมตตากรุณานั้นฝึกได้ทุกเวลานาที แผ่ไปได้ทั้งในคนในสัตว์ทั้งปวง จะคิดไปเรื่อย ๆ ก็สมควรนัก เห็นคนเห็นสัตว์ก็คิดให้เห็นความทุกข์ของเขา ซึ่งก็เหมือนความทุกข์ของเรานั่นเอง บางทีบางคนให้เมตตากรุณาแก่สัตว์ได้ง่าย เพราะคิดให้เห็นความน่าสงสารได้ชัด คือคิดว่าสัตว์แตกต่างกับคนเพียงรูปลักษณะเท่านั้น อย่างอื่นเหมือนกัน สัตว์เกิดจากธาตุน้ำธาตุดินคือเลือดเนื้อของแม่พ่อเช่นเดียวกับคน สัตว์มีส่วนประกอบคือธาตุดินน้ำไฟลมอากาศและวิญญาณเช่นเดียวกับคน ความรู้สึกนึกคิดของสัตว์อาจไม่แตกต่างจากคนมากนัก สัตว์นั้นอาจเคยมีความเป็นอยู่เหมือนคนในชาติหนึ่งภพหนึ่งมาแล้ว เมื่อเกิดชาตินี้ภพนี้ต้องเป็นเช่นนี้ ถ้ายังมีความรู้สึกนึกคิดที่พอจะเหมือนคนอยู่ด้วย ก็จะยิ่งน่าสงสารในความเดือดร้อนของสัตว์เป็นอันมาก มีผู้เคยกล่าวว่า คิดเช่นนี้แล้วเกิดความเมตตากรุณาในสัตว์ได้เสมอเมื่อพบเห็นหรือเมื่อนึกถึง ความคิดเช่นนี้เป็นคุณ เป็นทางอบรมปัญญาที่ไม่ผิด


การอบรมเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขานั้น ไม่มีข้อบังคับกฎเกณฑ์ว่าให้ทำอย่างไรเป็นที่แน่นอนลงไป เพียงให้ใช้ปัญญา คิดอย่างไรก็ได้ที่จะเกิดความรู้สึกเมตตาสงสารอย่างจริงใจ ไม่ใช่ปากพูดว่าสงสาร แต่ใจไม่เป็นเช่นปากพูด หรือไม่ใช่ปากพูดว่าอยากจะช่วยให้พ้นความทุกข์ความเดือดร้อน แต่ใจไม่ได้คิดเลยที่จะช่วย หรือปากพูดว่าดีใจด้วยแต่ใจมิได้พลอยยินดีด้วยหรืออาจจะกำลังริษยาอยู่ด้วยซ้ำ หรือปากพูดว่าอุเบกขาแต่ใจจืดใจดำไม่ใช่อุเบกขาเลย เรื่องของปากพูดกับเรื่องใจจริงเช่นนี้แตกต่างกันเหมือนสีดำกับสีขาว แม้มีเมตตากรุณาอยู่จริงในใจ ปากจะพูดหรือไม่ก็เป็นผู้มีเมตตาจริง ตรงกันข้าม แม้พูดแต่ปากไม่มีอยู่จริงในใจ ก็ไม่เป็นผู้มีเมตตาจริง
ความจริงในใจนั้นสำคัญยิ่งนัก ถ้าใจเป็นอย่างไรแล้ว กายวาจาจะแสดงออกมาเป็นอย่างนั้น ผู้ที่มีความจริงใจสวยงามจึงเป็นคนสบาย ไม่ต้องเสแสร้งแสดงออกให้ลำบาก ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีความจริงใจไม่สวยงาม ที่จะต้องเป็นคนไม่สบาย ที่จะต้องเสแสร้งแสดงออกอย่างลำบากยากเย็นอยู่เสมอ แม้บางคนจะมีจิตใจไม่สวยงามแต่แสดงออกให้ตรงกันข้ามจนเคยชิน จนยากที่คนอื่นจะจับได้ แต่ตัวเองก็ต้องรู้ตัว จึงจะให้มีความสบายใจเหมือนผู้ที่สวยงามมาตั้งแต่ภายในใจหาได้ไม่
ใจเป็นความสำคัญที่สุด ผู้ปรารถนาความสุขพึงให้ความสำคัญแก่จิตใจให้อย่างยิ่ง ทำใจให้มีความสุขอย่างแท้จริง อย่าให้อวิชชาความโง่ทำให้หลงเห็นทุกข์เป็นสุขจนเกินไป จะหลงไปบ้างก็ควรเพียงพอสมควรคือ เท่าที่ปุถุชนคนดี ๆ จะหลงเห็นไปได้ อวิชชาคือความไม่รู้จริงมีอยู่ในปุถุชนทุกคนที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพานเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย แต่อย่าให้อวิชชาท่วมท้นจนมืดสนิทไม่มีแสงสว่างเลย ให้รู้จักดีรู้จักชั่วแม้เพียงพอสมควร อย่าให้อวิชชาชักพาให้ยืนยันว่าชั่วเป็นดี ดีเป็นชั่ว เพราะตัวเองจะได้รับผลเป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


เพื่อจะให้รู้ชัดถูกจริงว่าไหนดีไหนชั่ว ไหนถูกไหนผิด พึงศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงศึกษาศีล ๕ ที่พระพุทธศาสนิกชนทั้งนั้นควรต้องรู้ ก็จะรู้ได้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามนั้นผิดแน่ ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงห้ามนั้นไม่ผิด ศีล ๕ นั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ ปฏิบัติผิดศีล ๕ จึงผิด ผู้ปฏิบัติหรือที่เป็นผู้รักษาศีล ๕ ได้ไม่ขาดทะลุด่างพร้อย เป็นผู้มีเมตตากรุณาจริง


เมตตากรุณาเป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความโกรธแค้นพยาบาท มีเมตตากรุณาในผู้ใดอยู่ ความโกรธจะเกิดไม่ได้ในผู้นั้น เพราะเมตตาหมายถึงปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาปรารถนาจะช่วยให้พ้นทุกข์ เมื่อมีความรู้สึกดังกล่าวอยู่ในใจ ความโกรธย่อมไม่เกิดเป็นธรรมดา นี้ที่กล่าวได้ว่าเมตตากรุณาให้คุณแก่ตนเองก่อนผู้อื่น ความโกรธเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะให้ความร้อนความทุกข์แก่ผู้นั้นทันที เมตตากรุณาดับความโกรธได้ เมื่อเมตตากรุณาดับความโกรธได้ เมตตากรุณาจึงเป็นคุณแก่เราก่อนแก่ผู้อื่น ให้คุณแก่เราก่อนแก่ผู้อื่นแน่นอน


ผู้ใดดูใจตนเองแล้วไม่รู้สึกถึงความเย็นในใจตน น่าจะเร่งอบรมเมตตากรุณาให้ยิ่งขึ้น เพราะเมตตากรุณานั้นเป็นความเย็นจริง และก็อบรมให้เกิดได้จริง คนเราทุกคนหรือสัตว์ทุกตัวรวมเรียกว่าทุกชีวิตล้วนควรได้รับเมตตากรุณาจากกันและกันทั้งนั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วคิดให้ชอบ คิดให้ถูกต้อง เราเองมีเวลาปรารถนาเมตตากรุณาจากคนนั้นจากคนนี้ในเรื่องนั้นในเรื่องนี้เกือบไม่ว่างเว้น ในเรื่องเล็กไม่เป็นความทุกข์ความร้อนนักก็มักไม่รู้สึก ไม่ค่อยได้สังเกตเห็น แต่ความจริงมีความปรารถนาต้องการได้รับเมตตากรุณาแอบแฝงอยู่อย่างแน่นอน บางทีขณะเดินอยู่ที่ถนน หรือขณะรอรถประจำทาง มีความร้อนทั้งกายทั้งใจ เพราะอากาศบ้าง เพราะภารธุระที่จะต้องรีบเร่งบ้าง ความรู้สึกจะเป็นไปในทำนองอยากให้มีผู้ที่มีรถส่วนตัวผ่านไปรับไปส่งให้ถึงจุดหมายปลายทาง นี้เป็นความปรารถนาต้องการได้รับเมตตากรุณา ซึ่งอาจจะเล็กน้อยจนทำให้ทุกคนไม่คิด ว่าตนนั้นก็ต้องการความเมตตากรุณาจากผู้อื่นเหมือนกัน และต้องการอยู่ตลอดเวลา


พึงคิดให้มากถึงความจริงที่ว่าทุกคนไม่มียกเว้น ต่างต้องการความเมตตากรุณาจากกันและกันอยู่ ตนเองจึงควรต้องพร้อมที่จะเป็นผู้ให้เมตตากรุณาด้วย อย่าเป็นผู้พร้อมแต่จะรับเท่านั้น ความจริงประการหนึ่งมีว่า ผู้ให้มีความสุขยิ่งกว่าผู้รับ เป็นผู้ให้เป็นสุขกว่าเป็นผู้รับ ไม่พึงคิดว่าเป็นผู้รับคือเป็นผู้ได้นั้นได้เปรียบดีกว่าสบายกว่าเป็นผู้ให้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ผู้ไม่เคยเป็นผู้ให้อาจไม่เข้าใจได้ แต่ผู้ให้จะเข้าใจดีว่าเป็นความจริง ผู้ให้จะมีความสุขยิ่งกว่าผู้รับ เป็นผู้ให้มีความสุขยิ่งกว่าเป็นผู้รับ เพื่อให้สามารถเป็นผู้ยืนยันรับรองความจริงนี้ได้ ก็พึงอบรมเมตตากรุณาให้มาก และแผ่เมตตานั้นออกไปให้กว้างขวาง ให้ปรากฏแน่ชัดแก่ใจตน ว่าตนได้แผ่เมตตากรุณาออกไปแล้วจริง แล้วตนเองจะยืนยันรับรองได้ว่าผู้ให้เมตตากรุณาเป็นสุขยิ่งกว่าผู้รับ


เมื่อเมตตากรุณาเกิดขึ้นจริงแล้ว ใจจะอ่อนละมุนจริง ความจริงมีอยู่ประการหนึ่งเช่นนี้ นี่ไม่ใช่เป็นเพียงคำบรรยายลักษณะของจิตใจเท่านั้น แต่ความจริงเป็นยิ่งกว่าคำบรรยายนี้ แม้อบรมเมตตากรุณาให้จริง ให้เกิดจริงจะรู้สึกได้ด้วยตนเองถึงความอ่อนละมุนที่ให้ความลึกซึ้งอย่างยิ่งแก่จิตใจ เป็นความสุขที่น่าปรารถนาได้ลิ้มรส
หัดทำตนให้เป็นคนขี้สงสารเสียแต่บัดนี้ พบเห็นผู้ใดรู้จักหรือไม่รู้จัก หรือพบเห็นสัตว์ใดก็ตาม ให้มองดูในแง่ที่น่าสงสาร อย่างน้อยที่สุดทุกชีวิตก็มีความทุกข์ของการเกิดร่วมกัน ผู้ที่กำลังมั่งมีศรีสุขดูตนเองอย่างตรงไปตรงมาย่อมจะยอมรับ ว่าแม้ในฐานะเช่นนั้นตนก็ยังมีทุกข์เป็นอันมาก ด้วยเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ผู้สูงส่งก็มีทุกข์ด้วยเรื่องนั้นบ้างด้วยเรื่องนี้บ้าง มิได้แตกต่างจากผู้ต่ำต้อยทั้งหลาย ทุกข์ที่เกิดจากความเกิดนั้นทุกคนได้รับ หนีไม่พ้น จึงควรประคับประคองกันและกันพอให้ทุกข์นั้นผ่านไป เพียงพอได้มีความสุขกันบ้าง


ความไม่รู้ทำให้พากันดีใจชื่นชมเมื่อมีการอุบัติขึ้นของชีวิตใจชีวิตหนึ่ง มีความรู้สึกตรงกันข้ามกับเมื่อมีการแตกดับของชีวิตใดชีวิตหนึ่ง แต่ถ้ามีความรู้ถูกรู้จริงย่อมจะรู้ ว่าการอุบัติขึ้นของชีวิตทุกชีวิตคือการเริ่มต้นรับความทุกข์ในชาตินี้ภพนี้ ไม่มีอะไรสมควรที่จะชื่นชมยินดีในเมื่อความเกิดนั้นคือการเริ่มเหยียบย่างลงบนหนทางที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายและความทุกข์ร้อนนานัปการ แทนที่จะมีความชื่นชมโสมนัสยินดีควรจะมีความเมตตากรุณาต่อชีวิตใหม่ที่อุบัติขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่อุบัติขึ้นในที่สูงที่ต่ำที่ดีที่เลวเพียงใด ทุกชีวิตควรได้รับเมตตากรุณาโดยควรจากทุกคนจากทุกชีวิตด้วยกัน


ถ้าความแตกดับทำให้สงสารหรือเศร้าเสียใจเพียงไร ความเกิดขึ้นก็น่าจะได้รับเพียงนั้น และน่าจะได้รับยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ เมื่อเกิดแล้วทุกชีวิตต้องพบอะไรบ้าง ที่เห็นชัดคือความเจ็บความตาย นึกถึงความเจ็บความตายของตนของบรรดาผู้เป็นที่รู้จักคุ้นเคยก็จะตระหนักชัดถึงความทุกข์ของผู้เจ็บผู้ตายเหล่านั้น และทั้งของตนเอง คนอื่นที่แม้ไม่ใช่ญาติพี่น้องลูกหลาน ไม่ใช่ผู้ที่ตนรู้จักคุ้นเคย ก็ย่อมมีความทุกข์ไม่แตกต่างจากกัน เมตตากรุณาญาติพี่น้องมิตรสหายผู้เป็นที่รักของตนได้อย่างไร ก็น่าจะเมตตากรุณาคนอื่นได้อย่างนั้น เช่นนี้จึงจะเป็นเมตตากรุณาอย่างถูกต้อง อย่างแท้จริง อย่างเหมาะควร

จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๗๑ – ๗๙