Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๒๑

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


 

อุเบกขาหมายความว่าวางใจเป็นกลาง ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ความหมายขั้นแรกของไม่ยินดีไม่ยินร้ายก็คือไม่ยินดีเมื่อมีผู้เป็นทุกข์และไม่ยินร้ายเมื่อมีผู้เป็นสุข ส่วนความหมายที่แท้จริงลึกซึ้งของอุเบกขานั้นคือ ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นทุกข์เป็นสุขก็วางใจเป็นกลางได้ ไม่พลอยยินดียินร้ายจนเป็นความวุ่นวายในหัวใจไปด้วย รวมทั้งเมื่อตนประสบโลกธรรมฝ่ายดีก็ไม่ยินดี ประสบโลกธรรมฝ่ายร้ายก็ไม่ยินร้าย วางใจเป็นกลาง ปกติอยู่

ความยินดียินร้ายหรือความไม่มีอุเบกขาเป็นความกระเพื่อมของใจ ไม่ว่าจะยินดีหรือไม่ว่าจะยินร้ายก็เป็นความกระเพื่อมของใจทั้งนั้น เมื่อใจกระเพื่อมก็ไม่สงบ ไม่เป็นปกติ ความสุขย่อมแตกต่างกันไกลมากมายนักระหว่างใจกระเพื่อม แม้ด้วยความยินดี กับใจที่เป็นปกติสงบอยู่ด้วยอุเบกขา ดังนั้น เพื่อความสุขยิ่งใหญ่แท้จริงพระพุทธองค์จึงทรงสอนให้มีอุเบกขา ให้ทำใจให้เป็นอุเบกขา

อุเบกขาโดยอัตโนมัติในพรหมวิหารธรรมนั้น อาจพิจารณาให้เห็นได้ดังนี้ เมื่อผู้ใดมีเมตตากรุณาเต็มที่แล้ว คือปรารถนาให้เป็นสุข และช่วยเพื่อให้พ้นทุกข์เต็มความสามารถแล้วจริง อย่างสม่ำเสมอจนเป็นปกติวิสัยแล้วจริง ไม่เลือกเขาไม่เลือกเรา จะเกิดอุเบกขาขึ้นได้เองในใจผู้นั้น เป็นไปได้เองโดยไม่ต้องพยายาม โดยไม่ต้องค้นคว้าหาเหตุผลเพื่อให้ใจเป็นกลางวางเฉยอยู่ด้วยความเป็นปกติ

อุเบกขาโดยอัตโนมัติเกิดขึ้นเมื่อใด เจ้าตัวเองจะรู้ได้ เช่นเดียวกับจะรู้ได้เมื่อมีเมตตากรุณาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจแล้ว เพราะจะมีใจเยือกเย็นอ่อนละมุนที่สุด จนเจ้าตัวจะได้รับความชุ่มฉ่ำของจิตใจเช่นนั้นอย่างรู้ถนัดชัดแจ้ง

เป็นความจริงที่ว่าพรหมวิหารธรรมจะขจัดปัดเป่าความร้อนทั้งหลายที่ต่างมีความรู้สึกว่าได้รับกันอยู่อย่างยิ่ง ทุกคนทุกฝ่ายจึงควรต้องมีเมตตากรุณาต่อกัน ไม่จำเป็นต้องผู้ใหญ่เท่านั้นที่อาจเมตตากรุณาผู้น้อยได้ ผู้น้อยก็อาจเมตตากรุณาผู้ใหญ่ได้ เพราะเมตตากรุณามีความหมายว่าปรารถนาให้เป็นสุขและช่วยให้พ้นทุกข์ จึงย่อมเป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่าย ที่จะต้องช่วยกัน

ถ้าเป็นผู้ใหญ่อยู่ในฐานะดีกว่าสูงกว่าสมบูรณ์กว่าก็มีเมตตากรุณาได้ด้วยการให้การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งหลาย ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อใจยินดีจะทำ คือใจต้องเกิดเมตตากรุณาก่อน เต็มใจจะช่วยเหลือก่อน ใจยินดีพอใจจะให้เมตตากรุณาเพียงใด ก็จะสามารถปฏิบัติช่วยเหลือเอื้อเฟื้อได้เพียงนั้น และจะเป็นไปอย่างเต็มใจ นุ่มนวล จนแม้ผู้รับก็อาจรู้สึกได้ อาจรับได้อย่างประจักษ์ชัดในเมตตากรุณาของผู้ให้ แตกต่างจากการช่วยอย่างจำใจหรืออย่างที่มิได้เกิดจากเมตตากรุณาที่แท้จริง การช่วยอย่างจำเป็นจำใจจะเป็นการช่วยสักแต่ว่าช่วย จากใจที่ไม่อ่อนละมุนกว้างขวาง หรือเป็นการช่วยที่หวังผลตอบแทน มิใช่ช่วยด้วยเมตตากรุณา การช่วยเช่นนี้อาจสำเร็จผลแก่ผู้รับ แต่จักไม่เกิดผลงดงามแก่จิตใจผู้ให้ ผลงดงามนี้จักเกิดแต่ความมีเมตตากรุณาจริงใจเท่านั้น พึงสำนึกในความจริงนี้ และพยายามปลูกเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นจริง จนเป็นความอ่อนโยนในใจจริง ตนเองจะได้รับผลเต็มที่สมดังที่ว่ากรรมของผู้ใด ผลเป็นของผู้นั้น  กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว การทำใจให้ดีให้มีเมตตากรุณาอย่างหนึ่งของการทำกรรมดีที่สำคัญยิ่ง ผู้ทำจึงย่อมจะได้รับผลดีอย่างยิ่งจากรรมของตน คือการทำใจให้มากด้วยเมตตากรุณาจริงแท้

เมตตากรุณาเป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่ายจริง ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีเมตตากรุณาต่อกันจึงจะควร แม้เป็นผู้น้อยอยู่ในฐานะต่ำต้อยลำบากยากไร้ขาดความบริบูรณ์ก็สามารถมีเมตตากรุณาต่อผู้ใหญ่ได้ ด้วยคำนึงห่วงใยในความสะดวกสบายของผู้ใหญ่ หลีกเลี่ยงการทำให้เดือดร้อนวุ่นวาย ด้วยเมตตาปรารถนาให้เป็นสุข ทำทุกอย่างที่สามารถเพื่อช่วยผู้ใหญ่ไม่ให้เป็นทุกข์เพื่อให้พ้นทุกข์ ปฏิบัติการเต็มความสามารถเพื่อป้องกันและขจัดความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะเกิดกับผู้ใหญ่ ทั้งนี้ต้องมิใช่เพื่อหวังผลตอบแทน แต่ต้องเป็นการทำที่เกิดจากใจเมตตากรุณา เช่นนี้จึงจะเป็นการอบรมเมตตา กรุณา ผู้ที่ทำเพื่อผลตอบแทนเป็นลาภยศสรรเสริญเพื่อตน มิใช่มุ่งเพื่อช่วยให้มีผู้พ้นทุกข์ให้เป็นสุข ไม่ใช่เป็นผู้มีเมตตากรุณา

ผู้มุ่งมาอบรมเมตตากรุณาให้เป็นการเริ่มปฏิบัติเพียงพรหมพึงพิจารณาใจตนเอง ว่าทำสิ่งใดด้วยมีใจเมตตากรุณาจริงแท้หรือด้วยมีจุดมุ่งหมายอื่น แม้พิจารณาเห็นว่าทำเพราะปรารถนาให้มีผู้พ้นทุกข์ให้เป็นสุข ก็พึงรู้ได้ว่ามีใจเมตตากรุณา แม้เห็นว่าทำเพราะเหตุอื่น ก็พึงรู้ได้ว่ามิได้มีเมตตากรุณา ให้พยายามเปลี่ยนจุดมุ่งหมายแห่งการกระทำของตนให้เป็นไปเพราะมีความปรารถนาจะช่วยให้มีผู้พ้นทุกข์เป็นสุข ซึ่งจะเป็นการกระทำที่เป็นกรรมดี อันจะให้ผลดีแก่ผู้ทำได้แน่นอน แม้จะมิได้มุ่งหวังเพื่อตนก็ตาม

แม้ผู้วุ่นผู้ร้อนทั้งหลายปรารถนาจะคลายความวุ่นความร้อน ก็จะต้องอบรมพรหมวิหารธรรมให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่เมตตากรุณา ให้เป็นการปฏิบัติเพียงพรหมโดยมีอุเบกขาตามมาโดยอัตโนมัติ แล้วจะรู้ชัดถึงความสงบ ความเย็น ความไม่วุ่น ความไม่ร้อน โดยเฉพาะในใจตน ซึ่งเป็นจุดสำคัญเหนือจุดอื่นทั้งหมด ใจเราเองไม่วุ่นไม่ร้อน ที่เราจะวุ่นจะร้อนเพราะอะไรอื่นไม่มีเลย

เริ่มอบรมเมตตา แผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง ทำใจให้สบาย ที่ทุกข์ที่ร้อนด้วยความคิดใดก็ตาม พึงปัดไปให้พ้น แม้ไม่มุ่งมั่นจะเมตตาตัวเองให้ไม่ทุกข์ไม่ร้อนจริง ๆ ก็ต้องทำให้ได้ อย่าคิดอะไรที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ความร้อน แม้ความคิดที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ความร้อนถูกปัดไปพ้นใจได้ ถูกระงับดับได้ ดังนี้ แม้กายจะอยู่ในสภาพที่ลำบากเพียงใด อยู่ในที่ที่มองดูเต็มไปด้วยความทุกข์ร้อนเพียงใด ความยากลำบากทุกข์ร้อนนั้นมีก็เหมือนไม่มี ทั้งนี้ด้วยอำนาจเมตตากรุณาที่เราแผ่ให้ตัวเราเป็นเครื่องบันดาลให้เป็นไป ผู้ไม่เคยแผ่เมตตาให้ตัวเองด้วยวิธีดังกล่าว อาจจะไม่เคยซาบซึ้งถึงผลเช่นว่านี้ แต่แม้ฝึกอบรมแผ่เมตตาให้ตัวเองให้จริงจังจนได้ผล จะได้ประจักษ์ชัดถึงอานุภาพของเมตตาอย่างแน่นอน เมตตาตนเอง กรุณาตนเอง จนใจตนเองสงบสบายพ้นจากความทุกข์ความร้อนได้ จะสามารถแผ่เมตตากรุณาทำความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดแก่โลกได้

แผ่เมตตาให้ตนเองเมื่อไร พึงแผ่ไปถึงผู้อื่นด้วยเมื่อนั้นเสมอไป แม้จะยังแผ่ไปได้ไม่กว้างไกลมากนักก็พึงแผ่ไปให้ได้ในผู้เป็นที่รักที่ชอบใจทั้งหลาย รักชอบต้องอัธยาศัยผู้ใด ก็มุ่งใจเมตตากรุณาไปยังผู้นั้นให้มั่นคงสม่ำเสมอด้วยเพียงการคิด ว่าขอให้พ้นทุกข์ให้เป็นสุข ก็ยังดี แต่ต้องให้เป็นการคิดอย่างออกจากใจจริง ทุกเวลา โดยเฉพาะหลังสวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็นแล้วด้วย เพราะเมื่อสวดมนต์แล้วจะจะสงบกว่าปกติ มีพลังกว่าปกติ นึกถึงตัวเองด้วยความรัก นึกถึงผู้เป็นที่รักที่ชอบใจทั้งหลายด้วยความรัก แล้วแผ่เมตตาปรารถนาให้เป็นสุขไปด้วยกำลังแห่งความรัก ความรู้สึกที่เกิดจากความรักแม้จะไม่เยือกเย็นเท่าความอ่อนละมุนที่เกิดจากเมตตา แต่ก็สามารถใช้เป็นทางเดินไปสู่เมตตาได้ ให้ใช้ความรักเป็นทางเดินไปสู่เมตตา เมื่อเมตตาเกิดจริงแล้วความรักก็จะมีความหมายน้อยลง ความอ่อนละมุนของเมตตาจะเยือกเย็นให้ผลเป็นความสุขยิ่งกว่าขณะที่อาศัยความรู้สึกของความรัก

ความรักเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ผู้ใดมีรักผู้นั้นมีทุกข์ ส่วนเมตตาเป็นเหตุแห่งความสุขความเย็น เมตตาจึงมีค่ามีความหมายยิ่งกว่าความรักมากนัก

อาศัยความรักเป็นทางเดิน เป็นบันได เพื่อไปถึงเมตตาได้ เพื่อวันหนึ่งจะได้ไปสู่ที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ได้พบความดีความสุขที่ยิ่งขึ้น คือให้แผ่เมตตาให้ผู้เป็นที่รักที่ชอบใจก่อน มีตนเองเป็นหนึ่ง เมตตานั้นจะค่อยทวีขึ้นในใจ ควบคู่ไปกับความรักความชอบใจ คือใจที่เคยมีแต่ความรักความชอบใจก็จะได้เป็นใจที่มีความเมตตาเข้าระคนปนด้วย ไม่มีแต่ความรักล้วน ความเมตตาที่เกิดขึ้นได้แล้วควบคู่กับความรักจะสามารถขยายออกไปถึงผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจก็ได้ เพราะของที่เกิดขึ้นแล้วมีอยู่แล้วย่อมสามารถหยิบยื่นให้ผู้ใดก็ได้ แม้จะฝืนใจให้ก็ให้ได้ ไม่เหมือนสิ่งที่ไม่มี ปรารถนาจะให้ผู้ใดเพียงไร ก็ให้ไม่ได้ ไม่มีจะให้ จึงต้องทำให้มีขึ้นก่อน เช่นเมตตาก็ต้องอบรมให้มีก่อน

แม้อบรมเมตตาให้เกิดขึ้นได้แล้วควบคู่ไปกับความรักความชอบใจ ก็พึงหยิบยื่นคือแผ่เมตตานั้นไปให้ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจบ้าง แม้อย่างฝืนใจปรารถนาให้ผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจให้ไม่มีทุกข์เป็นสุข ฝืนใจไว้เสมออย่างง่ายดังนี้ คือเมื่อมีความทุกข์ร้อนเกิดแก่ผู้ไม่เป็นที่รักผู้ไม่เป็นที่ชอบใจ ก็พึงบังคับใจฝืนใจคิดว่าของให้เขาเป็นสุขเถิด อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย  หยุดความคิดอื่นทั้งหมดชั่วระยะ แล้วคิดดังกล่าวด้วยเมตตาต่อผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจซึ่งกำลังมีทุกข์มีร้อน พยายามคิดซ้ำไปซ้ำมาเช่นนั้นให้นานเท่าที่จะทำได้ เมื่อความคิดอื่นจะเกิดขึ้นก็ปัดไปคิดดังกล่าวเท่านั้น เหมือนภาวนา คิดเช่นนี้เสมอ ๆ กับใคร ๆ ทั้งนั้น ต่อไปความคิดนี้ก็จะเกิดเป็นนิสัยหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตใจ เป็นความเมตตาปรารถนาให้เป็นสุข จะเกิดขึ้นได้เองเป็นอัตโนมัติเช่นเดียวกับผู้ที่หัดท่องพุทโธคือภาวนาพุทโธอยู่ไม่ว่างเว้น เวลาตกอยู่ในความหวาดกลัว พุทโธก็จะปรากฏขึ้นในใจได้เองเป็นอัตโนมัติ เป็นเหตุแห่งความสวัสดีของจิตได้อย่างแท้จริง

 


จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๔๔ – ๕๒