Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๒๐

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


 

มุทิตา คือพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข

ความหมายของมุทิตาก็มีเป็นสอง คือหมายถึงพลอยยินดีด้วยกับผู้อื่น เมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข และพลอยยินดีด้วยกับตนเอง เมื่อตนได้ดีมีสุข   ความพลอยยินดีด้วยนี้จะเป็นเหตุนำไปสู่ความดีอีกชั้นหนึ่งถ้ารู้จักคิดให้ลึกให้ถูก เมื่อตนได้ดีมีสุข อย่าปล่อยให้การได้ดีมีสุขนั้นผ่านไปเฉย ๆ แต่ให้พลอยยินดีกับตนเอง ให้ตั้งใจสงวนรักษาความดีที่ได้มานั้นไว้ และเพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้น นี้หมายถึงผู้ยังเป็นปุถุชนที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งยังจำเป็นต้องอาศัยความดีเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่ความพ้นทุกข์ ส่วนผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมจนล่วงทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้วย่อมไม่มีความยินดียินร้ายเหลืออยู่ ความยินดีกับความได้ดีมีสุขแม้ของตนก็ย่อมไม่มี

ที่พึงยินดีกับความได้ดีมีสุขของตน ก็เพื่อให้ใจสงบสบายได้พอสมควร ไม่ทะเยอทะยานให้ยิ่งขึ้นจนเกินไป เช่นได้ดีเพียงใดก็ให้ยินดีกับการได้ดีเพียงนั้น อย่าไม่พอใจเพราะต้องการให้ยิ่งกว่านั้น ส่วนการขยันหมั่นเพียรให้ยิ่งขึ้นอย่างถูกต้องสมควรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้ยินดีในความได้ดีมีสุขของตนอาจปฏิบัติได้

สำหรับต่อผู้อื่นที่ได้ดีมีสุข มุทิตาความพลอยยินดีด้วยเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงอบรมให้มี เมื่อมีเมตตากรุณาแล้วก็เป็นไปได้ที่มุทิตาจะเกิดตามมา ถ้าเมตตากรุณาบริสุทธิ์งดงามจริงใจ เป็นเมตตากรุณาจริง ซึ่งบางทีก็ยาก บางคนมีเมตตากรุณาได้มากมายต่อผู้ที่ลำบากหรือผู้ที่ต่ำต้อยกว่า แต่จะมีไม่ได้ต่อผู้ที่ดีกว่าผู้ที่สูงกว่า

เมตตากรุณาที่แท้จริงนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ผู้สูงกว่าจะพึงมีต่อผู้ที่ต่ำกว่าด้อยว่าเท่านั้น เมตตากรุณาที่แท้ไม่ใช่เรื่องของความสูงความต่ำความดีความไม่ดี เมตตากรุณาที่แท้จริงย่อมมีได้แม้ในคนยากจนเข็ญใจ ต่อเศรษฐีมหาเศรษฐี มีได้แม้ในผู้มีสกุลต่ำยศต่ำ ต่อผู้มีสกุลสูงยศสูง เมตตากรุณาเป็นเรื่องของความงดงามแห่งจิตใจโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับอะไรอื่น คนสูงคนต่ำคนรวยคนจนต่างมีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อมีความเกิดย่อมตามมาด้วยความทุกข์ คือความแก่ความเจ็บความตายเป็นต้น พิจารณาเช่นนี้แล้วย่อมเห็นว่าทุกคนมีเมตตากรุณาต่อกันได้ และทุกคนพึงมีเมตตากรุณาต่อกันด้วย

ความพลอยยินดีเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข ผลดีที่จะเกิดขึ้นนั้นเราจะเป็นผู้ได้รับก่อนผู้อื่นทั้งนั้น

ความพลอยยินดีด้วยกับความริษยาให้ความเย็นร้อนต่างกัน

ขณะที่ใจเกิดความยินดีเราเองนั้นแหละสบายใจ สบายก่อนใครอื่นทั้งหมด ผู้อื่นกว่าจะได้รับความสบายใจที่เกิดจากใจยินดีด้วยของเรา ก็เป็นอันดับรองจากตัวเรา ตรงกันข้าม ขณะที่ใจเกิดความริษยา เราเองนั้นแหละทุกข์ร้อนก่อนใครอื่นทั้งหมด ผู้อื่นกว่าจะได้รับความร้อนใจที่เกิดจากใจริษยาของเรา ก็เป็นอันดับรองจากตัวเรา

ความพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข เป็นสิ่งพึงอบรมให้มี จะว่าเพื่อประโยชน์ตนก่อนประโยชน์ผู้อื่นก็ไม่ผิด เพราะรานั่นแหละจะได้รับผลดีเป็นความเย็นใจก่อนผู้ใดอื่นทั้งนั้น

มุทิตา ความพลอยยินดี้วยเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเองได้เมื่อมีเมตตากรุณาพร้อมอย่างถูกแท้จริง และอาจอบรมให้เกิดได้สำหรับในกรณีที่ยังไม่เกิดขึ้นเองด้วยความพร้อมของเมตตากรุณาแท้

การอบรมคุณธรรมความดีใด  ๆ ให้เกิดมีในจิตใจ ทำได้ด้วยใช้ปัญญาใคร่ครวญปลูกฝัง เหมือนเพาะต้นไม้ตั้งแต่เมล็ด รอบคอบดูแลรักษา ให้งอกงามเติบใหญ่ เป็นสิ่งทำได้

การใช้ปัญญาคือการใช้ความคิดให้ถูกต้องให้สมควร จะอบรมมุทิตาให้เกิดมี ก็ต้องคิดไปคิดมาให้เป็นปัญญาบังเกิดเป็นผลดังปรารถนา คือเป็นมุทิตาพลอยยินดีเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข

วิธีคิดให้เป็นปัญญาก็เช่นเมื่อรู้เมื่อเห็นว่ามีผู้ได้ดีมีสุข ใครนั้นก็คือใครที่เรารู้จักหรือเกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูงนั่นเอง ถ้าใจไม่ยินดีด้วย ก็ให้พยายามคิดให้ถูก เขาเป็นเพื่อนของเรา เขาได้ดีมีความสุข เราควรต้องพลอยยินดีด้วย เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นเพื่อนของเรา เขาดีขึ้นก็เหมือนเครื่องประดับที่ช่วยให้เราดีขึ้นด้วย ถ้าเป็นคนอื่นได้ดีหรือดีขึ้นเสียด้วยซ้ำ ที่จะไม่เกี่ยวเนื่องถึงเราเลย เพื่อนเราได้ดี เช่นได้ลาภ นับว่าดีกับเราด้วย เราควรยินดีกับเขาด้วย เพราะเมื่อเขามีลาภเขามีความสุข เขาจะเผื่อแผ่ความสุขนั้น ถึงผู้เกี่ยวข้องใกล้เคียง รวมทั้งเราด้วย จะเผื่อแผ่อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทุกคนรวมทั้งเราจะต้องพลอยได้รับด้วยแน่นอน ผู้ได้ดีมีความสุขทุกคนจะมีความเย็น ความเย็นในทุกคนจะไม่เป็นผลร้ายแก่ผู้ใดจะเป็นผลดีเท่านั้น เราก็จะได้รับผลดีจากความเย็นนั้นด้วย แล้วทำไมเล่าเราจึงไม่พลอยยินดีด้วยกับความได้ดีมีสุขของคนทั้งหลาย

คนฉลาดพึงคิดแบบคนฉลาด คิดให้ฉลาด คิดอย่างไรก็ได้ที่จะให้เกิดผลเป็นความสงบสบายใจ

ผู้ที่คิดเห็นแก่ตัว อิจฉาริษยา ไม่ใช่คิดแบบคนฉลาด

ริษยาเขาเพราะนึกเห็นแก่ตัวเราเอง ไม่เกิดผลดีอย่างไร เขาได้ดีมีสุข เราจะพลอยได้ดีมีสุขกับเขาได้ก็ต่อเมื่อเราพลอยยินดีด้วยกับเขาเท่านั้น เหมือนที่รู้เห็นว่าท่านทำบุญทำกุศลแล้วอนุโมทนาด้วยจริงใจ จะสามารถมีส่วนในบุญในกุศลนั้นได้ด้วย ถ้าไปนึกอย่างอื่น ไม่อนุโมทนาด้วย ก็จะไม่สามารถมีส่วนแห่งบุญกุศลได้เลย คิดให้ดี จะเห็นว่าโอกาสที่จะได้ดีมีสุขไปพร้อมกับผู้คนทั้งหลายที่ได้ดีมีสุขนั้นมีอยู่สำหรับเราเสมอ เพียงแต่จะต้องรู้จักทำใจให้คิดให้เป็นเท่านั้น พลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุขนั่นแหละ คือวิธีทำใจที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ตนเองพลอยได้ดีมีสุขไปพร้อมกับใคร ๆ ทั้งหลายด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม จะเป็นคนอยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ก็ตาม

พึงมีสติระลึกไว้เสมอ ว่าเราจะสามารถได้ดีมีสุขทุกเวลา เพียงแต่พลอยยินดีด้วยกับการได้ดีมีสุขของผู้อื่นเสมอ ๆ เท่านั้น วันหนึ่ง ๆ มีข่าวคนนั้นได้ดีคนนี้มีสุขมาถึงเราทุกคนอยู่ไม่ว่างเว้น ตั้งสติระวังใจ อย่าให้เกิดริษยา แต่ตั้งสติทำใจให้พลอยยินดีด้วย เราก็จะเหมือนได้ดีมีสุขไปกับเขาด้วยไม่ว่างเว้น ตรงกันข้าม ถ้าไม่ตั้งสติคิดให้ถูกเหตุผล พอได้รู้ได้เห็นการได้ดีมีสุขของใครก็ริษยาไม่ชอบใจ เราก็จะมีความทุกข์เกิดขึ้นในขณะที่เขามีความสุขไม่ว่างเว้นเช่นกัน

พิจารณาให้ดี แล้วเลือกดู ว่าความพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุขพร้อมกับผลที่ได้รับเหมือนได้ดีมีสุขไปด้วยกับผู้อื่น กับความริษยาเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุขพร้อมกับผลที่ได้รับคือตนเองเหมือนมีทุกข์อยู่ตลอดเวลา จะพอใจเลือกอย่างไหน ถ้าเลือกการที่เหมือนตนได้ดีมีสุขตลอดเวลา ก็ต้องอบรมใจให้พลอยยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข เพราะไม่มีวิธีอื่นจะให้ผลเช่นนี้ได้นอกจากวิธีเดียวนี้เท่านั้น

เมตตาปรารถนาให้เป็นสุขก็ตาม กรุณาช่วยให้พ้นทุกข์ก็ตาม มุทิตาพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุขก็ตาม ทั้งสามประการนี้จะสมบูรณ์ไม่ได้แม้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งสามนี้ขาดธรรมสำคัญข้อหนึ่งในพรหมวิหารธรรมคืออุเบกขา วางใจเฉย วางใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย เมื่อสุดวิสัยจะแสดงเมตตากรุณามุทิตาได้แล้ว

 

อุเบกขาเป็นธรรมสำคัญอย่างยิ่งจริง เมตตากรุณามุทิตาจะไม่สมบูรณ์จริงถ้าไม่ประกอบด้วยอุเบกขา ธรรมทั้งหลายคือเรื่องทั้งหลายสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา คือไม่เป็นไปตามอำนาจปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น ไม่ว่าเราไม่ว่าเขา จะปรารถนาต้องการอย่างใดก็จะไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการเสมอไป แม้ในการแสดงเมตตากรุณามุทิตาก็เช่นกัน เมตตากรุณาแล้วไม่ใช่ว่าจะเป็นผลตามที่ปรารถนาต้องการ ตัวอย่างก็มีอยู่เป็นอันมาก ปรารถนาจะให้ผู้ที่เรารักเราชอบเป็นสุขด้วยกันทุกคน แต่ก็ไม่เป็นไปดังปรารถนาต้องการ เมื่อผู้ที่เรารักเราชอบเป็นทุกข์ก็พยายามช่วยให้พ้นทุกข์ แต่ก็ย่อมไม่เป็นผลดังที่ปรารถนาเสมอไป บางทีก็เป็นไปดังที่ประสงค์ คือช่วยได้  บางทีก็ไม่เป็นไปดังที่ประสงค์ คือช่วยไม่ได้ ทั้งที่เราพยายามช่วย ก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ในกรณีเช่นนี้ อุเบกขาเป็นสิ่งจำปรารถนาที่สุด ต้องนำมาใช้ จึงจะเป็นการทำให้เมตตากรุณามุทิตาถูกต้องสมบูรณ์ เป็นพรหมวิหารที่ถูกแท้

เมื่อเมตตาแล้ว กรุณาแล้ว แสดงออกซึ่งเมตตากรุณาเต็มที่แล้วก็ยังไม่เกิดผล ยังช่วยเขาไม่ได้ให้พ้นจากความทุกข์ ต้องใช้อุเบกขา คือพยายามทำใจเป็นกลางวางเฉย ปลงใจลงเสียให้ได้ ว่าเมื่อได้ทำสุดความสามารถได้เมตตากรุณาถูกต้องแล้ว ผลเป็นเช่นไรก็จำเป็นต้องอุเบกขา แม้ไม่อุเบกขา ปล่อยใจให้ดิ้นรนร้อนเราเพราะปรารถนาจะให้เขาพ้นทุกข์ ที่ช่วยแล้ว ไม่ได้ผลแล้ว เช่นนี้เป็นการผิด เป็นการขาดเมตตากรุณา คือขาดเมตตากรุณาในตน

เมื่อขาดเมตตากรุณา แม้จะในตน ไม่ใช่ในผู้อื่น ก็เป็นการขาดเมตตากรุณา ผู้มีเมตตากรุณานั้นต้องมีครบถ้วน ในบุคคลอื่นด้วย และในตนเองด้วย

อุเบกขานั่นแหละ จะช่วยให้เมตตากรุณาในตนบังเกิดผล คือเมื่ออุเบกขาเกิดเพราะเมตตากรุณาแล้วไม่มีผลเป็นความพ้นทุกข์ดังปรารถนา อุเบกขาจะช่วยจิตใจไม่ให้เร่าร้อนเป็นทุกข์เป็นโทษแก่ตนเอง จึงกล่าวว่าอุเบกขาเป็นเครื่องช่วยให้เมตตากรุณาสมบูรณ์ ช่วยให้เมตตากรุณาเกิดในตน ไม่เกิดแต่ในบุคคลอื่นเท่านั้น

อุเบกขาจึงสำคัญอย่างยิ่ง พึงอบรมให้เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง แต่การอบรมอุเบกขาให้เกิดอย่างถูกต้องนั้นยากกว่าอบรมเมตตากรุณา ถ้าผิดไปก็จะกลายเป็นใจจืดใจดำ อุเบกขากับใจจืดใจดำเป็นคนละอย่าง ไม่พึงเข้าใจว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ผู้อบรมพรหมวิหารธรรมที่แท้จริงจะไม่ปฏิบัติผิดในเรื่องอุเบกขากับใจจืดใจดำ

ผู้ใดเห็นใครทุกข์ยากเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ แม้ผู้นั้นอบรมพรหมวิหารธรรมอยู่ จะต้องมีเมตตาปรารถนาให้ใครนั้นเป็นสุข และจะต้องมีกรุณาลงมือช่วยให้พ้นทุกข์ เมื่อมีเมตตากรุณาเช่นนี้แล้วจะไม่ใจจืดใจดำ แม้มีเมตตากรุณาเกิดขึ้นก่อนเลยจะกล่าวว่าตนมีอุเบกขาในพรหมวิหารธรรมไม่ถูก จะมีใจจืดใจดำมากกว่า ดูใจตนเองรับความจริงใจกับตนเอง ก็จะได้รู้จักตนเองว่ามีใจจืดใจดำหรือมีพรหมวิหารธรรมคือมีอุเบกขาวางใจเป็นกลาง

พรหมวิหารธรรมนั้นแม้เบื้องต้นไม่มีก็อบรมให้เกิดได้ คือด้วยการฝืนใจแสดงเมตตากรุณาเสียก่อนเนือง ๆ ต่อไปก็จะเป็นความเคยชิน เกิดขึ้นได้เอง ทั้งเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา ที่เรียกว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติ การอบรมมุทิตาความพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้ได้ดี และการอบรมอุเบกขาความวางใจเป็นกลาง สามารถทำได้ด้วยการนึกถึงเหตุผลให้ถูกต้อง หรือเรียกว่าใช้ปัญญานั่นเอง หัดคิดนึกตรึกตรองไปในเหตุผล ให้สามารถมีมุทิตาและอุเบกขาได้ในคนทั้งหลายที่ล้วนต้องเป็นทุกข์ ไม่ยกเว้นผู้ใดผู้หนึ่ง รวมทั้งเจ้าตัวของทุกคนด้วย เพราะเมื่อเกิดแล้วพร้อมชีวิตร่างกายเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ ไม่มีที่จะหนีทุกข์พ้น

ท่านผู้หนีพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเชิงจากกิเลส เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายผู้จะไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกเท่านั้นที่จะพ้นทุกข์ได้ ที่ไม่มีผู้ใดควรต้องเกี่ยวข้องกับเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา นอกนั้นแล้วต่างต้องควรมีพรหมวิหารธรรมต่อกันและกันทั้งนั้น พรหมวิหารธรรมจึงเป็นธรรมสำคัญอย่างยิ่ง ควรอบรมให้มีขึ้นด้วยกันทุกคน ควรศึกษาให้รู้จักให้เข้าใจอย่างถูกต้องด้วยกันทุกคน พรหมวิหารธรรมนั้นผู้อบรมศึกษาและปฏิบัติเป็นการทำกรรมดียิ่ง กรรมนั้นผู้ใดทำผู้นั้นได้ผล ทำกรรมดีจักได้รับผลดี ทำกรรมชั่วจักได้รับผลชั่ว พรหมวิหารธรรมเป็นความดีอย่างยิ่ง ผู้อบรมพรหมวิหารธรรมคือผู้ทำกรรมดีอย่างยิ่ง จึงจักเป็นผู้ได้รับผลดีอย่างยิ่งด้วยตนเองแน่แท้

อันผลดียิ่งที่ผู้มีพรหมวิหารธรรมจักได้รับนั้นเที่ยงแท้ ไม่เป็นอื่น ผู้ไม่เชื่อเรื่องผลดีของพรหมวิหารธรรมที่ผู้อบรมปฏิบัติจะได้รับ ก็เช่นเดียวกับผู้ไม่เชื่อว่า ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว แล้วก็หลงทำกรรมต่าง ๆ ไปตามความพอใจ ซึ่งก็ต้องได้รับผลของกรรมไปต่าง ๆ ดีบ้างร้ายบ้าง เป็นความสุขบ้างเป็นความทุกข์บ้าง สับสนปนเปกันไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้ทำเหตุเช่นนั้นไว้ ถ้าเชื่อเรื่องการให้ผลของกรรมอย่างจริงจัง ว่ากรรมดีจักให้ผลดี กรรมชั่วจักให้ผลชั่วแน่นอน ก็จักเลือกการทำกรรม จักทำแต่กรรมดี จักไม่ทำกรรมชั่ว ผลที่ได้รับก็จักเป็นผลดีไม่เป็นผลชั่วแน่นอน

การอบรมเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาให้เกิดด้วยการใช้ความคิดที่เป็นปัญญาเป็นเหตุผล ให้ประจักษ์ชัดว่าทุกคนควรมีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขานั้น แม้กระทำเป็นปรกติจนเคยชิน เป็นความมั่นใจ ก็จะไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดเช่นนั้นอีก เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาจะเกิดขึ้นเองในใจเมื่ออบรมไประยะหนึ่ง แม้จะยังไม่เกิดขึ้นพร้อมบริบูรณ์ทั้งสามประการในเวลาเดียวกัน หรือในระยะเดียวกัน แต่เมตตากรุณาก็จะเกิดขึ้นแน่ เมื่อใดเมตตากรุณาเกิดขึ้นสมบูรณ์เต็มที่ จนทำให้จิตใจอ่อนละมุนกว้างขวางอย่างยากจะอธิบายให้ถูกต้องได้ เมื่อนั้นมุทิตาก็ตาม อุเบกขาก็ตาม จะเกิดตามมาเอง พิจารณาเหตุผลก็จะเห็นว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เมื่อเมตตากรุณาเต็มเปี่ยมจริงแล้ว เป็นที่ประจักษ์ชัดเต็มตื้นหัวใจตนเองแล้ว มุทิตาก็ตาม อุเบกขาก็ตาม ก็ย่อมจะตามมาอย่างแน่นอน เพราะเมื่อปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ช่วยให้พ้นทุกข์ร้อนได้แล้ว ด้วยความมีเมตตากรุณาบริสุทธิ์ใจจริง ก็เป็นธรรมดาที่ย่อมจะต้องพลอยยินดีด้วยเมื่อมีผู้พ้นจากทุกข์ร้อน และได้ดีมีสุข แม้โดยไม่ต้องอาศัยเมตตากรุณาของตน 


จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๓๐ – ๔๓