Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๑๙

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


 

กรุณา ช่วยให้พ้นทุกข์ ในพรหมวิหาร มีทางปฏิบัติเป็นสองนัยเช่นเดียวกับเมตตา คือปฏิบัติถูก และปฏิบัติผิด   กรุณาช่วยให้พ้นทุกข์หมายถึงช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ด้วย และช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย และก็เช่นเดียวกับเมตตา คือต้องช่วยตนเองได้ก่อน แล้วจึงช่วยผู้อื่นต่อไปได้

ผู้ที่มีทุกข์ เป็นต้นว่ามีทุกข์เพราะไม่มีทรัพย์ ก็จำเป็นต้องช่วยตนเองให้พ้นจากการไม่มีทรัพย์ก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถช่วยทุกข์ของผู้อื่นที่ไม่มีทรัพย์ได้เลย การปฏิบัติกรุณาที่ผิดเห็นได้ง่าย ๆ เช่นช่วยให้ตนพ้นทุกข์จากการไม่มีทรัพย์ด้วยการถือเอาของผู้อื่นโดยเจ้าของไม่อนุญาต ผู้ทำเช่นนี้ไม่ใช่ผู้มีเมตตากรุณา ผู้ที่ช่วยตนให้พ้นทุกข์ด้วยวิธีนี้ผิดอย่างแน่นอน ผิดอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเป็นทุกข์เพราะไม่มีเงินก็ต้องช่วยตนเองด้วยการขยันหมั่นแสวงหาโดยชอบ และเมื่อจะช่วยทุกข์เพราะความไม่มีเงินของผู้อื่นต่อไป ก็ต้องช่วยด้วยวิธีแบ่งปันของตนให้ หรือแนะนำช่องทางให้แสวงหาโดยชอบ

กรุณาอีกวิธีหนึ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง ที่เป็นธัมมะ เป็นพรหมวิหารแท้ คือช่วยให้พ้นทุกข์ทางใจ ให้ใจพ้นจากทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์เพราะเรื่องใดก็ตาม ถ้าสามารถทำใจให้พ้นจากความทุกข์นั้นได้ ทุกข์เพราะเรื่องใดนั้นย่อมหมดไป

การช่วยให้พ้นทุกข์ทางใจเป็นการช่วยให้พ้นทุกข์ที่ถูกวิธี ที่ถูกธรรม ทุกกรณี

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีพระกรุณาสูงสุด เพราะทรงช่วยให้พ้นทุกข์ได้อย่างไม่มีผู้เปรียบเสมอ ทรงช่วยพระองค์เองให้ทรงพ้นทุกข์ได้ก่อน และทรงช่วยผู้อื่นอีกมากมายให้พ้นทุกข์โดยเสด็จพระพุทธองค์ไปได้ด้วย เป็นการทรงช่วยให้พ้นทุกข์ทั้งอย่างเด็ดขาดไม่ย้อนกลับเกิดอีกเลย และทั้งอย่างชั่วครั้งชั่วคราว ตามกำลังของการปฏิบัติตามที่โปรดประทานพระกรุณาสอนวิธีต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก

สมเด็จพระบรมศาสดาเป็นผู้ทรงพ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง ตลอดกาล ทั้งทางพระกายและทางพระหฤทัย ไม่ทรงต้องกลับพบทุกข์อีก ทั้งทางพระกายและพระหฤทัย เพราะไม่ทรงกลับเกิดอีก ไม่ทรงมีพระกายอีก จึงไม่ทรงมีความแก่ความเจ็บ คือไม่ทรงมีทุกข์ที่จะต้องทรงพบอีก พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ความพ้นทุกข์ของท่านเกิดแต่พระมหากรุณาช่วยให้พ้นทุกข์ของพระพุทธองค์โดยแท้ และยังมีผู้คนอีกมากมายประมาณมิได้ที่ได้มีความสุข พ้นจากความทุกข์ แม้จะยังไม่แน่นอนยั่งยืนตลอดไป ด้วยอานุภาพแห่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงสอนไว้ด้วยทรงมุ่งจะช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นทุกข์

ผู้ที่มุ่งหมายจะอบรมกรุณาให้เกิดขึ้นพึงดำเนินตามพระพุทธองค์ และพึงถือว่าถ้าสามารถช่วยให้ตนเองและผู้อื่นพ้นทุกข์ทางใจได้ สำคัญยิ่งกว่ามุ่งให้พ้นทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางกายนั้นหาได้เกิดเป็นประจำแก่ทุกคน ส่วนทุกข์ทางใจเกิดขึ้นเป็นประจำแก่ทุกคนผู้ยังเป็นปุถุชนไม่พ้นจากกิเลส

การช่วยให้พ้นทุกข์คือกรุณานั้นมีสองอย่าง คือช่วยให้พ้นทุกข์ทางกาย และช่วยให้พ้นทุกข์ทางใจ   ช่วยให้พ้นทุกข์ทางกายเห็นได้ง่ายเข้าใจได้ดี ทั้งยังพอสามารถปฏิบัติกันได้ เห็นใครมีทุกข์ไม่นิ่งดูดาย ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อช่วยให้พ้นทุกข์ นั่นคือกรุณา และก็ต้องช่วยให้ถูก อย่าให้เป็นการเบียดเบียนใครรวมทั้งตนเอง

กรุณา ช่วยให้พ้นทุกข์ทางใจ   นี้ดียิ่งนัก พึงพยายามทำให้ได้ทั่วกัน จะเป็นการพ้นทุกข์ มีสุขอย่างยิ่ง พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ ว่าการให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง มีความหมายว่าการช่วยให้พ้นทุกข์ทางใจเป็นการช่วยที่เหนือการช่วยทั้งปวง ทั้งนี้ก็เพราะการให้ธรรมนั่นแหละคือการช่วยให้พ้นทุกข์ทางใจ ใจมีธรรมเพียงไรจะพ้นจากความทุกข์มีความสุขสงบเย็นเพียงนั้น ผู้ให้ธรรม คือบอกเล่า สั่งสอน อบรม ให้เกิดธรรม กล่าวได้ว่าเป็นผู้ช่วยให้ความทุกข์ทางใจลดน้อยถอยไปเป็นลำดับ

ศึกษาธรรม อบรมธรรม ปฏิบัติธรรม ให้ตนเองมีใจพ้นจากทุกข์ให้ได้เสียก่อน แม้จะเพียงพอประมาณ ยังไม่พ้นจนเกือบสิ้นเชิง ก็จะสามารถช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ทางใจได้ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนพวกนี้แหละที่ไม่รู้วิธีที่จะช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ทางใจ

ผู้มีเมตตากรุณาพึงสอนธรรมแก่ตนเองก่อน ปฏิบัติให้ได้ก่อน แล้วนำไปสอนผู้มีทุกข์ทั้งหลายต่อไปให้คลายทุกข์ให้พ้นทุกข์ ทำได้เช่นนี้เป็นกรุณาในพรหมวิหารที่ไม่มีทางผิด

ความสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเป็นผู้รู้ธรรมก่อน ปฏิบัติธรรมก่อน ช่วยใจตนเองให้พ้นทุกข์ได้บ้างก่อน จึงจะสามารถนำผู้อื่นไปได้ถูกต้องตามทางที่ตนดำเนินมาแล้ว ไม่เช่นนั้นก็เป็นผู้ไม่รู้ทาง จะนำผู้อื่นให้เดินถูกทางได้อย่างไร

ความคิดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความจริงมีอยู่เช่นนี้ ถ้าคิดผิด คิดให้เป็นทุกข์ ก็จะต้องเป็นทุกข์แน่   ถ้าคิดให้ถูก คิดไม่ให้เป็นทุกข์ ก็จะต้องพ้นจากความทุกข์แน่ ไม่ว่าในเรื่องอะไรทั้งสิ้น

คนเราจะคิดให้ถูกได้จำเป็นต้องเรียนรู้วิธี และวิธีที่ดีที่สุดนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนไว้มากมาย พึงเลือกนำมาปฏิบัติให้เหมาะสม เช่นทรงสอนไตรลักษณ์ คือลักษณะสาม มีอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ อนัตตาไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น เมื่อพบสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็ให้นึกถึงไตรลักษณ์ที่ทรงสอนไว้นี้ พิจารณาไตร่ตรองให้ดีเปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังพบกำลังต้องเป็นทุกข์ ว่าจะต้องเป็นไปตามลักษณะสาม

อนิจจัง ไม่เที่ยง คือขณะนี้เป็นอยู่อย่างไร จักต้องไม่เป็นเช่นขณะนี้ต่อไป ต้องเปลี่ยนแปลง

ความต้องเปลี่ยนแปลงทนอยู่ไม่ได้ คือเป็นทุกขัง

แม้ปรารถนาจะให้ดำรงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง ก้จะไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ นั่นคือเป็นอนัตตา

ตนกำลังเป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะสิ่งไร เพราะเป็นเช่นไร   อะไรนั้น สิ่งนั้น ที่เป็นเช่นนั้น จะไม่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาหรือ มีอะไรหรือที่จะพ้นความเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ ถามตนเอง ตอบตนเอง ซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้ ก็จะได้คำปลอบโยนแก้ไขให้พ้นุทกข์ทางใจได้อย่างแน่นอน

ทุกข์ทำไมในเมื่อทุกสิ่งที่เป็นเหตุให้ทุกข์กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นอื่น ไม่ทุกข์จึงจะถูก

ช่วยตนเองให้พ้นทุกข์เช่นนี้ และช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์เช่นนี้ ช่วยเช่นนี้คือกรุณาในพรหมวิหารที่ไม่มีทางผิด

เมตตากรุณาในพรหมวิหาร คือปรารถนาให้เป็นสุขและช่วยให้พ้นทุกข์ สองข้อนี้จะไม่แยกจากกัน แม้แยกจากกันเมื่อไร เมื่อนั้นจะไม่ใช่เมตตากรุณาแท้ เป็นปลอมไป คือเป็นเมตตากรุณาที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ

เมตตากรุณาปลอมนั้นแยกจากใจ อาจจะเป็นเพียงที่ปาก หรือที่การแสดงออกเพียงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้แสดงเท่านั้น

เมื่อใจจริงมีเมตตาปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาคือการช่วยให้พ้นทุกข์จักตามมา

มีกรณีที่ผู้มีเมตตาจริงใจไม่สามารถกรุณาได้ เพราะผู้รับไม่อยู่ในสภาพที่จะรับได้ ผู้มีเมตตามีกรุณาไม่สามารถให้ได้ทั้งเมตตากรุณาเสมอไป

ผู้มีเมตตาจริงในคนเจ็บไข้ได้ป่วย ปรารถนาให้เป็นสุข และก็มีกรุณาจริง จะช่วยให้พ้นทุกข์ แต่ก็จะไม่สามารถช่วยได้เสมอไป แม้ว่าผู้มีเมตตากรุณานั้นจะเป็นแพทย์ผู้สามารถก็ตาม เช่นนี้เป็นเพราะผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่จะรับได้ ไม่ใช่แพทย์ขาดเมตตากรุณา

บรรดาผู้มีเมตตากรุณาแต่ช่วยให้พ้นทุกข์ดังใจเมตตาไม่ได้ พึงคลายความเร่าร้อนกระวนกระวายจึงจะเป็นความถูกต้อง ด้วยดังกล่าวแล้ว ผู้มีเมตตากรุณาจะต้องเมตตากรุณาตนเองด้วย ปล่อยให้ตัวเองเป็นทุกข์เดือดร้อนไม่ถูก โดยเฉพาะทุกข์ที่ใจนี้แหละสำคัญที่สุด

เรื่องของการรับเมตตากรุณาไม่ได้เป็นเรื่องที่พึงพิจารณาไตร่ตรองให้ดี พระพุทธองค์ยังทรงรับว่าทรงเป็นได้แต่เพียงผู้ชี้ทางให้เท่านั้น ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ทั้งหลายต้องเดินไปด้วยตนเอง ทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรับเมตตากรุณาให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะถือเป็นความไม่เมตตากรุณาของผู้อื่นหาถูกไม่ และผู้มีเมตตากรุณาจะหลงผิดตำหนิตนเองว่าบกพร่องในเรื่องเมตตากรุณาก็หาถูกไม่ ผู้ให้และผู้รับต้องปฏิบัติเกี่ยวเนื่องกัน แม้แยกจากกันจะไม่เกิดผล ผู้ให้ให้แล้วผู้ควรรับไม่รับ ผู้ไม่รับจะได้รับผลได้อย่างไร ผู้ให้นั่นแหละจะได้รับกลับคืน การให้ความเมตตากรุณาก็เช่นกัน ผู้ให้มี ผู้รับไม่มี หรือผู้รับมีแต่รับไม่เป็นรับไม่ได้ ผู้รับไม่เป็นรับไม่ได้หรือไม่รับจะเป็นผู้เสวยผลไม่ได้ แต่ผู้ให้จะเสวยผลทันทีที่ให้ แต่ต้องเป็นผู้ให้ที่เข้าใจเรื่องเมตตากรุณาถูกต้อง เราให้แล้ว เราต้องเป็นสุข เขารับไม่ได้เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราไม่สามารถทำให้เขารับได้แล้วจริง ๆ เราก็ต้องปลงใจลงเสียให้ได้ ไม่ปล่อยใจให้ร้อนเร่าเศร้าเสียใจเพื่อจะบังคับบัญชาให้เกิดผลแก่ผู้ต้องการให้รับให้ได้

ทุกคน ไม่มีเว้น จักต้องเป็นทั้งผู้ให้เมตตากรุณาและผู้รับเมตตากรุณา ฉะนั้นทุกคนจึงควรศึกษาปฏิบัติในการให้และการรับเมตตากรุณาให้ถูกต้อง จะได้รับผลสำเร็จเสวยผลโดยควร ไม่เช่นนั้นแล้ว เมื่อไม่ศึกษาปฏิบัติให้ถูกต้องก็เสียประโยชน์ ผู้เมตตากรุณาไม่รู้จักให้ให้ถูก ก็จักเป็นทุกข์ ความถูกเป็นความสำคัญยิ่งในทุกเรื่องทุกเวลา

ในมรรคมีองค์แปดอันเป็นทางแห่งความดับทุกข์ ความเห็นถูกเห็นชอบคือสัมมาทิฐิยังเป็นประการสำคัญที่สุด ฉะนั้นพึงคำนึงถึงการศึกษาและปฏิบัติให้ถูกให้ชอบในทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา   การให้เมตตากรุณาที่ถูกต้องและการรับเมตตากรุณาอย่างถูกต้องเป็นความสำคัญ ผู้ทำให้ถูกต้องไม่ได้ จะเป็นผู้ให้ก็ไม่เกิดผลดี จะเป็นผู้รับก็ไม่เกิดผลดี โดยเฉพาะก็แก่ตนเองนั้นด้วย ฉะนั้นจึงควรสังวรระวังปฏิบัติให้ถูก เมตตาให้ถูกกรุณาให้ถูกในฐานะเป็นผู้ให้ รับเมตตาให้ถูก รับกรุณาให้ถูกในฐานะเป็นผู้รับ

ทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับเมตตากรุณาทั้งสองฐานะ คือทั้งเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะเป็นแต่ผู้รับหรือเป็นแต่ผู้ให้

เมื่อพูดถึงเป็นผู้รับเมตตากรุณา ทุกคนคงจะนึกว่าจะต้องรับอย่างมีกตัญญูกตเวที ความจริงก็เป็นเช่นนั้น ควรเป็นเช่นนั้น แต่มักไม่เป็นเช่นนั้น มีคำกล่าวว่าคนกตัญญูหายาก มีเปรียบว่าเท่ากับหาพระอรหันต์นั่นเทียว แต่ที่จะกล่าวในที่นี้ มิใช่จะพูดถึงให้เป็นผู้รับเมตตากรุณาอย่างมีกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้เท่านั้น สอนให้ทำเช่นนั้นสอนได้ แต่หาผู้ปฏิบัติตามยากจึงจะไม่แน่นำในที่นี้ว่าเป็นผู้รับเมตตากรุณาต้องมีกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้ เพราะรู้กันดีแล้วว่าที่ถูกที่ชอบต้องเป็นเช่นนั้น

เมื่อจะเป็นผู้รับเมตตากรุณา ให้พยายามทำใจให้สงบจากกิเลสคือความโลภโกรธหลงให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อจะได้รับผลจากเมตตากรุณาของผู้อื่นได้มากที่สุด

ขณะความโลภมีมากในจิตใจ ความต้องการเมตตากรุณาจากผู้อื่นจะแรงมาก ได้น้อยก็จะไม่พอใจ และแม้ได้มากเพียงไรก็จะไม่รู้สึกพอ เมื่อเป็นเช่นนี้ได้รับก็เหมือนไม่ได้รับ จะไม่เป็นประโยชน์อะไร

ขณะความโกรธมีมากในจิตใจ จะไม่เห็นไม่รู้สึกถึงเมตตากรุณาที่ผู้ใดแผ่มาให้ จะรับไม่ได้เลยแม้มีผู้ให้

ขณะความหลงมีมากในจิตใจ จะเห็นเมตตากรุณาที่มีผู้ให้เป็นไม่เมตตากรุณา นอกจากไม่เป็นประโยชน์ยังจะเป็นโทษ

ในฐานะเป็นผู้รับพึงทำใจให้เป็นกลาง คือสงบ แล้วจะได้รับเมตตากรุณาเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อทุกข์ร้อนไม่ว่าทางกายหรือทางใจให้เมตตากรุณาตนเองก่อน ด้วยการทำใจตนเองให้สงบเย็นให้ได้ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ คืออนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และอนัตตาไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ อย่าไปมุ่งให้ผู้อื่นเมตตากรุณาตน แล้วนั่นแหละจะรับเมตตากรุณาจากผู้อื่นได้เต็มที่ เท่าที่ผู้อื่นจะมีให้ตนได้ ไม่ถูกทำลายหรือทำให้ลดน้อยไปด้วยอำนาจกิเลสในใจตนเอง

พึงมีสติระลึกไว้เสมอ ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน

พึ่งตนเองก่อน ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนก่อน คือเมตตากรุณาตนให้มีใจสงบเย็นก่อน จึงจะได้ผู้อื่นมาเป็นที่พึ่งด้วยได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ยากที่จะเป็นผู้สามารถพึ่งผู้ใดได้ด้วยการรับเมตตากรุณา แม้อาจมีผู้ให้ความเมตตากรุณาเป็นอันมาก

การศึกษาและปฏิบัติให้ถูกเป็นความสำคัญในทุกเรื่อง รวมทั้งในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือในพรหมวิหารธรรมดังกล่าวมา

กรุณาการช่วยให้พ้นทุกข์นั้น ความจริงทำไม่ถูกกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นการกรุณาตนเองมักจะทำผิดกันเนือง ๆ ยกตัวอย่างที่เป็นทุกข์ทางใจ มีคนไม่น้อยที่เมื่อกลุ้มใจ ก็กรุณาตนเองด้วยการดื่มสุราเมรัย หรือเที่ยวไปในที่เพลิดเพลินที่ไม่สมควรเพื่อให้ความกลุ้มใจระงับดับลง ถือเป็นการช่วยให้ตนพ้นทุกข์ ถือเป็นกรุณา ซึ่งไม่ถูกอย่างยิ่ง เป็นความไม่กรุณา ทั้งแต่ตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายที่ห่วงใย กรุณาช่วยให้พ้นทุกข์มีความหมายที่งดงาม ไม่ใช่การช่วยเช่นตัวอย่างข้างต้น เมื่อทุกข์ใจจะต้องช่วยด้วยกรุณาที่ถูก และกรุณาที่ถูกเพื่อแก้ทุกข์ใจนั้นต้องพึ่งพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่สำคัญเช่นให้พิจารณาไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแนะนำวิธีเดียวกันนี้เพื่อช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ใจ

ปัญญาเป็นแสงสว่าง ไม่ว่าจะแก้ทุกข์กายหรือแก้ทุกข์ใจ ไม่ว่าจะแก้ทุกข์ของตนเองหรือทุกข์ของผู้อื่น ถ้าใช้ปัญญาจะได้ผล ความทุกข์คือความมืด ปัญญาคือแสงสว่าง แสงสว่างเข้าไปสู่ที่ไหนความมืดย่อมสลายไปในที่นั้น ปัญญาเกิดขึ้นที่ใดทุกข์ย่อมดับลงที่นั้น จะเป็นผู้กรุณาได้จริงต้องอบรมปัญญาให้เกิดมีในตนให้จริง

ปัญญาทั้งหลายมีอยู่ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีทุกระดับ ตั้งแต่ปัญญาขั้นหยาบใช้แก้ทุกข์หยาบ ปัญญาขั้นกลางใช้แก้ทุกข์กลาง ๆ จนถึงปัญญาขั้นละเอียดใช้แก้ทุกข์ที่ละเอียด

ปัญญาที่ละเอียดคือปัญญาที่ประณีตลึกซึ้ง แก้ทุกข์ได้สิ้นเชิง พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้ปัญญาขั้นละเอียดประณีตลึกซึ้งที่สุดของท่าน จึงทรงแก้ทุกข์ได้สิ้นเชิง ไม่หลงเหลือทุกข์แม้เล็กน้อยเพียงไร และไม่มีการจะกลับเกิดทุกข์ได้อีก พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็เช่นกัน มีผู้เชื่อในคุณของความจริงนี้ คือในปัญญาขั้นละเอียดประณีตที่สุด ยิ่งขึ้นทุกที ผู้มุ่งมาปฏิบัติพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงมีมากขึ้นทุกที มีผู้มีปัญญาเพิ่มขึ้น ซึ่งย่อมจะช่วยให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ยิ่งขึ้น

ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของเจริญใจ ความต้องประสบสิ่งไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ เหล่านี้เป็นทุกข์ แม้จะมีผู้ไม่เข้าใจ ว่าทำไมจึงกล่าวว่าความเกิดเป็นทุกข์ แต่ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความเกิดเป็นต้นสายของความแก่ความเจ็บความตาย ซึ่งทุกคนต้องยอมรับว่าเป็นความทุกข์แน่ แม้ไม่มีความเกิดเป็นต้นสาย ก็จะไม่มีความแก่ความเจ็บความอันเป็นความทุกข์แน่ แล้วความทุกข์จะมาแต่ไหน จะมีได้อย่างไร แม้จะกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่าความเกิดเป็นตัวทุกข์ที่แท้ก็น่าจะได้ ถ้าเข้าใจว่าความเกิดเป็นทุกข์ จะเข้าใจเรื่องความกรุณาช่วยให้พ้นทุกข์ได้ชัดขึ้น ว่ากรุณาที่ถูกนั้นไม่ใช่จะช่วยไม่ให้มีการเกิดด้วยวิธีอื่น

กรุณาที่ถูกในเรื่องการช่วยไม่ให้เกิด คือช่วยไม่ให้ทุกข์เกิดตามพระพุทธองค์สอน คือการทำกิเลสให้สิ้นเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่นที่ถูกแท้ นอกจากทำกิเลสให้หมดจดสิ้นเชิง

ปรารถนาจะไม่ให้พบความทุกข์เลยไม่ว่าเล็กน้อยเพียงไหน ตลอดไป ก็มีวิธีปฏิบัติวิธีเดียว คือมุ่งหน้าศึกษาปฏิบัติทำกิเลสมีโลภโกรธหลงสามกองนี้ให้สิ้นจะเป็นกรุณาที่ใหญ่ยิ่งต่อตน และจะเป็นกรุณาต่อผู้อื่นด้วยถ้าแนะนำชักชวนตักเตือนผู้อื่นให้ศึกษาปฏิบัติเช่นเดียวกัน


จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๑๔ –
๓๐