Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๑๘

sangharaja-section

sungaracha

แสงส่องใจให้เพียงพรหม

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


 

ธรรมหมวดหนึ่งซึ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการครองชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข คือ พรหมวิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม หรือธรรมที่ทำให้เป็นพรหม ความหมายง่าย ตรงไปตรงมาก็คือพรหมทั้งหลายมีธรรมนี้ครบถ้วน ผู้ไม่มีธรรมนี้ครบถ้วนเป็นพรหมไม่ได้ ไม่ใช่พรหม แม้เป็นเทวดาก็ตามถ้าไม่มีธรรมนี้ก็ไม่ใช่พรหม แต่ถ้ามีธรรมนี้บริบูรณ์แม้เป็นมนุษย์ก็เรียกได้ว่าเป็นพรหม

          ชักชวนกันทำอะไรเป็นอะไรมาก็มากมายนักแล้ว มาชวนกันเป็นพรหมบ้างเถิด ก่อนอื่นก็มาศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ ว่าธรรมที่ทำให้เป็นพรหมคือพรหมวิหารธรรมคืออะไร

พรหมวิหารธรรม คือ ๑.เมตตา ๒.กรุณา ๓.มุทิตา ๔.อุเบกขา ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นที่คุ้นหูคุ้นปากมานักแล้ว แต่จะให้เกิดผลเป็นประโยชน์ได้จริงจะต้องทำให้คุ้นใจ คือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจด้วย

เมตตาคือปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาคือช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตาคือพลอยยินดีเมื่อมีผู้ได้ดีมีสุข และอุเบกขาคือวางใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับความได้สุขได้ทุกข์ได้ดีได้ชั่วของผู้ใด รวมทั้งของตนเองด้วย

เมตตา ปรารถนาให้เป็นสุข ก็เช่นเดียวกับมุ่งหวังให้เป็นสุข แม้ตั้งปัญหาว่าให้ผู้ใดเป็นสุข ก็จะมีคำตอบว่าให้ผู้อื่นเป็นสุข และให้ตัวเองเป็นสุขด้วย ไม่ใช่จะให้ผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้นเป็นสุข ต้องให้เป็นสุขทุกผู้ทุกฝ่าย นี้คือความหมายที่ถูกแท้ของเมตตา ส่วนมากเข้าใจว่าเมตตาคือปรารถนาให้ผู้อื่นเท่านั้นเป็นสุข ไม่รวมตัวเองด้วย ความเข้าใจเช่นนี้แม้จะแสดงถึงน้ำใจที่ดีงาม แต่ก็ไม่ถูก สิ่งใดไม่ถูก สิ่งนั้นก็ผิด ก็ต้องแก้ คนอื่นก็มีชีวิต ตนเองก็มีชีวิต ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็ต้องปรารถนาให้ตนเองเป็นสุขด้วยจึงจะถูกต้อง ไม่มีอะไรแตกต่างกันในความเป็นชีวิตทั้งผู้อื่นและตนเอง แม้ปรารถนาให้ผู้อื่นเท่านั้นเป็นสุขไม่รวมตนเองด้วย การปฏิบัติผิดย่อมตามความปรารถนาที่ผิดนั้นมาอย่างแน่นอน  และเมื่อปฏิบัติผิด คือทำเหตุผิด ผลก็ต้องผิดไปตามเหตุ จะเป็นผลที่ถูกไม่ได้เพราะไม่ตรงตามเหตุ เหตุกับผลต้องตรงกันเสมอเหตุเป็นเช่นใด ผลย่อมเป็นเช่นนั้น

ผู้ที่เข้าใจความหมายของเมตตาผิด ยิ่งเป็นผู้มีเมตตามากเพียงใด ก็จะยิ่งปฏิบัติผิดก่อให้เกิดผลผิดมากเพียงนั้น มีเมตตาก็จะเหมือนไม่มีเมตตา โดยเฉพาะแก่ตนเอง คือไปมุ่งปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขฝ่ายเดียวจนตัวเองต้องเป็นทุกข์ การทำให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ แม้จะปรารถนาให้ใคร ๆ อีกหลายคนเป็นสุข ก็ไม่เรียกว่าเป็นเมตตาอย่างถูกต้องแท้จริง เมตตายังผิดพลาดบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ผิดจากเมตตาที่แท้จริงในพรหมวิหาร

พระพุทธศาสนาสอนให้แผ่เมตตาปรารถนาให้เป็นสุข และให้แผ่ให้ตนเองก่อน ผู้อื่นเป็นอันดับต่อ ๆ ไป ซึ่งเป็นไปตามเหตุผลธรรมดาที่ถูกต้อง คือผู้ใดจะให้อะไรใครได้ ผู้นั้นต้องมีอะไรนั้นเสียก่อน ผู้ไม่มีจะให้ได้อย่างไร ผู้ไม่มีให้ไม่ได้ จะปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขก็เช่นกัน ถ้าตนเองไม่เป็นสุข จะมีความสุขที่ไหนไปเผื่อแผ่ให้ผู้อื่น ตนเองต้องมีสุขก่อนจึงจะแผ่เมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขได้ ฉะนั้นจึงต้องปรารถนาให้ตนเองเป็นสุขก่อน ต้องทำตนเองให้เป็นสุขก่อน ให้มีสุขก่อน เมตตาที่แท้จริงถูกต้องเป็นเช่นนี้ คือเมตตาตน แล้วก็เมตตาคนอื่นต่อไปหรือพร้อมกันไป ไม่ใช่เมตตาแต่ผู้อื่น และก็ไม่ใช่เมตตาแต่ตนเอง

เมตตาที่ถูกต้องนั้นต้องปรารถนาให้ตนเองเป็นสุข ทำตนเองให้เป็นสุข ให้มีสุข การแผ่เมตตาไม่ใช่การแสดงเพียงปากพูดหรือนึกส่ง ๆ ไปเหมือนนึกถึงเรื่องอะไรทั้งหลาย การแผ่เมตตาที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดผลจริงต้องแผ่ออกจากใจที่อ่อนละมุน และใจจะอ่อนละมุนสามารถแผ่เมตตาออกไปเพื่อผู้อื่นได้ ก็ต้องเป็นใจที่สงบจากความทุกข์ความร้อนด้วยความโลภโกรธหลง อย่างน้อยก็ในชั่วระยะเวลาที่ปรารถนาจะแผ่เมตตาออกไป ใจที่กำลังทุกข์กำลังร้อนด้วยความโลภโกรธหลงจะไม่มีพลังเมตตาแผ่ไปได้เลย คิดดูง่าย ๆ ย่อมเข้าใจ เวลาโกรธผู้ใดผู้หนึ่งอยู่ตนเองก็ร้อน ตนเองก็ยังไม่แผ่เมตตาให้ตนเองหายร้อนให้เป็นสุข แล้วความเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเช่นผู้ที่ตนโกรธเป็นสุขจะเกิดได้อย่างไร เมตตาจะไม่เกิดขึ้นเลย จะไม่แผ่ออกไปได้เลย ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้ใดก็ตาม ตรงกันข้ามจะมีแต่ความไม่เมตตาปรารถนาไม่ให้เป็นสุข

การเมตตาตนเองทำใจตนเองให้มีความสุขก่อน จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งก่อนจะเมตตาผู้อื่นได้ต่อไป ใจตนเองเป็นสุขเพียงไร สงบจากความร้อนมีความเยือกเย็นอ่อนละมุนเพียงไร จะสามารถแผ่เมตตาไปยังผู้อื่นได้กว้างไกลเพียงนั้น พึงเข้าใจเช่นนี้ และพึงแก้ไขที่แม้ผิดให้ถูกต้อง ใจตนเองที่สับสนวุ่นวายเป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่ตราบใด ตราบนั้นความหวังดีต่อผู้ใดก็ไม่เกิด เมตตาต่อผู้ใดก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีใจเป็นทุกข์มีใจร้อนเร่าสับสนวุ่นวายจึงปรากฏออกทางกายวาจาเป็นความร้อนแรง จึงเป็นผู้ที่ผู้รู้เห็นทั้งหลายเห็นว่าไม่มีเมตตา ทั้ง ๆ ที่ความจริงผู้นั้นก็มีความปรารถนาให้บุคคลบางพวกเป็นสุข แต่เมื่อไม่แผ่เมตตาให้ตนเองก่อน ไม่ทำใจตนเองให้เป็นสุขสงบมีความเย็นความอ่อนละมุนก่อน ก็เป็นการไม่ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริงของเมตตา แต่เป็นไม่เมตตา จึงพึงระวังสังวรอย่างยิ่ง

เมตตาตนเองเสียก่อน ด้วยการทำใจตนเองให้สงบจากโลภโกรธหลงทั้งสามประการ จนเยือกเย็นเป็นสุขอ่อนละมุนเสียก่อน จึงจะถูก จึงจะเป็นเมตตาที่แท้จริงได้

เมตตาผู้อื่นแต่ไม่เมตตาตนเองก่อน ก็ไม่ได้ ก็ไม่ถูก ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข จนตัวเองเป็นทุกข์ ก็ไม่ได้ ก็ไม่ถูก ไม่มีผู้ใดที่จะยินดีรับความไม่ถูกนอกเสียจากไม่รู้ เมื่อรู้แล้วก็จะต้องแก้ไขที่ไม่ถูกให้เป็นถูก ให้สังเกตดูความถูกไม่ถูกเกี่ยวกับเมตตานี้ที่ใจตนเองนั่นแหละ ไม่ต้องไปดูที่ไหนอื่น

ถ้าใจตนเองสับสนวุ่นวายทุกข์ร้อนแล้วไม่ทำให้สงบเยือกเย็นเสียก่อน มุ่งแต่จะไปเมตตาผู้อื่น นั่นแหละผิด นั่นแหละต้องแก้ไข

พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้คือทรงรู้แจ้งจริง รับสั่งไว้ว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ นี้หมายถึงทั้งทางดีและทางไม่ดี   ใจดี ทุกสิ่งที่ทำสำเร็จด้วยใจก็เป็นสิ่งดีด้วย   ใจไม่ดี ทุกสิ่งที่ทำสำเร็จด้วยใจก็เป็นสิ่งไม่ดีด้วย เท่าที่ปรากฏโดยทั่วไป ก็เชื่อเช่นนี้กันอยู่แล้ว เห็นได้จากทั่ว ๆ ไป เมื่อปรารถนาจะต้องการเมตตาก็จะต้องไปขอจากท่านผู้ที่ตนมั่นใจว่าเป็นผู้มีศีลมีธรรมมีเมตตากรุณา คือมีใจดีนั่นเอง ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดไปขอให้คนไม่มีศีลไม่มีธรรมไม่มีเมตตากรุณาแผ่เมตตาให้ ไม่ต้องดูคนอื่นไกล ดูได้ที่ตัวเราเองของทุกคน ก็จะเห็น ท่านที่มีใจดีมีศีลมีธรรมเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนเป็นอันมาก ใจของเราก็อยากจะไปพบ และถ้ามีโอกาสก็จะไปเพื่อขอรับเมตตาจากท่านนั่นแหละ พระที่ท่านมีผู้ศรัทธามาก ๆ ก็ล้วนเป็นพระที่ปรากฏว่าใจดีมีศีลมีธรรม ที่พวกเราเชื่อมั่นว่าจะแผ่เมตตาช่วยพวกเราได้ และจากเมตตาที่ท่านแผ่ให้นั้น เราก็เชื่อกันว่าจะได้รับความสุขความสำเร็จต่าง ๆ อันเป็นที่ปรารถนา นี่ก็แสดงว่าเราพากันเชื่อถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ ใจเป็นอย่างไรจะให้เกิดผลสำเร็จอย่างนั้น เมื่อเข้าใจถูกในขั้นนี้แล้วก็ขอให้เข้าใจถูกต่อไปด้วย ว่าเราจะต้องพากันทำใจ ทำใจให้เป็นอย่างไร ใจก็ย่อมเป็นอย่างนั้น ทำใจให้ดีใจก็จะดี ทำใจให้ไม่ดีใจก็จะไม่ดี ใจจะไม่ดีเองและใจจะไม่ร้ายเอง ใจจะไม่มีพลังส่งออกไปได้ถ้าใจไม่มีพลัง นี้หมายรวมทั้งพลังที่ดีและพลังที่ไม่ดี ถ้าใจมีพลังที่ดีก็จะส่งพลังที่ดีออกไป เช่นพลังแห่งความเมตตาอันเป็นความเย็นความสุข ถ้าใจมีพลังที่ไม่ดีก็จะส่งพลังที่ไม่ดีออกไป เช่นพลังแห่งความหลงผิด พลังแห่งความโกรธแค้นพยาบาท อันเป็นความร้อนแรง เป็นความทุกข์

ผู้จะเมตตาผู้ใดได้ต้องมีเมตตาต่อตนเองก่อน คือต้องทำใจตนเองให้เยือกเย็นเป็นสุขก่อน ความเยือกเย็นเป็นสุขก็คือผลของเมตตานั่นเอง พลังของเมตตานั่นเอง ซึ่งต้องมีในใจตนเสียก่อน หรือมีต่อตนเองเสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีไปเมตตาผู้อื่น หรือจะเมตตาผู้อื่นไม่ได้นั่นเอง เพราะใจไม่มีพลังเมตตาที่จะเผื่อแผ่ไปให้ผู้อื่นเป็นสุขได้ พึงทำความเข้าใจให้ถูกต้องในข้อนี้ ไม่เช่นนั้นอาจเห็นผิดไป ว่าการเมตตาตนเองก่อนเป็นการเห็นแก่ตัว การทำใจให้สงบเยือกเย็นเป็นผลของความเมตตาตนเองไม่เป็นการเห็นแก่ตัว เพราะไม่มีผู้ใดต้องเสียประโยชน์จากเหตุนี้ มีแต่จะได้ประโยชน์อย่างยิ่งเท่านั้น การเมตตาตนเองเช่นนี้เป็นความดีที่ไม่มีจุดด่างพร้อย ไม่มีผลเสียแก่ผู้ใดทั้งสิ้น ตรงกันข้ามจะเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งกว้างขวางสืบไป คนใจดีมีความสงบเยือกเย็นเพียงคนเดียวสามารถยังให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้มากมายนัก เช่นเดียวกับคนใจไม่ดีมีความวุ่นวายเร่าร้อนเพียงคนเดียวก็สามารถยังให้เกิดความทุกข์ความร้อนได้มากมายนัก เมตตาตนเองก็คือทำตนเองให้มีใจที่ดี ที่สงบเย็น เป็นสุข มีเมตตา ทำให้ได้ก่อน แล้วจึงจะแผ่เมตตานั้นไปถึงผู้อื่นได้ จากใจผู้สงบเย็นบรรเทาเบาบางแล้วจากความโลภความโกรธความหลง

ใจที่เบาบางหรือที่ไกลจากกิเลสคือโลภโกรธหลง มีความสงบ เป็นใจที่ไม่มืดไม่มัว มีแสงสว่างคือมีปัญญามีเมตตาประจำอยู่ในตัวอยู่ในใจที่แผ่ออกไปตลอดเวลา และจะรู้ได้ถูกต้องว่าเมื่อใดควรจะแสดงเมตตาต่อใครอย่างไร ซึ่งข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมตตาตลอดเรื่อยไปก็ถูกต้องยิ่งนักถ้าแม้เป็นเมตตาที่ปรากฏอยู่ในใจเท่านั้น แต่การจะแสดงเมตตาทางกายทางวาจาต้องอาศัยปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะช่วยพิจารณาให้ถูกต้อง ว่าควรแสดงเมตตาต่อผู้ใดอย่างไรเมื่อใดจึงจะเป็นคุณไม่เป็นโทษ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น บางกรณีการแสดงเมตตาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ฝ่ายที่ได้รับเมตตาเป็นฝ่ายได้รับคุณไป แต่คู่กรณีได้รับโทษ ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายได้รับคุณนั้นเป็นฝ่ายผิด และฝ่ายได้รับโทษเป็นฝ่ายถูก เพื่อป้องกันมิให้ผิดพลาดในการแสดงเมตตาทางกายทางวาจาจึงจำเป็นต้องอาศัยปัญญาประกอบเสมอ

เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก โลกก็มิใช่อะไรอื่น โลกก็คือเขาคือเรานี้แหละ เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลกก็คือเมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนส่งเสริมเราและเขา โลกไม่ได้หมายถึงเขาฝ่ายเดียว แต่หมายรวมถึงเราด้วย และโลกไม่ได้หมายถึงเราฝ่ายเดียว แต่หมายรวมถึงเขาด้วย ให้เมตตาต่อตนเองด้วย ต่อเขาอื่นทั้งหลายด้วย เมตตาจึงจะเป็นเครื่องค้ำจุนโลกสมบูรณ์ตามความหมายจริง เมื่อผู้ใดเมตตาตนเองถูกต้อง ใจของผู้นั้นจะสงบเย็น เป็นทางให้เกิดปัญญา และปัญญานั้นเป็นแสงสว่าง เป็นดวงแก้ประเสริฐเลิศค่า จนมีคำกล่าวว่า ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน คือผู้มีปัญญาเป็นผู้มีแก้วประเสริฐสารพัดนึก ปัญญาอันเป็นแก้วสารพัดนึกนี้จะเกิดแก่จิตใจที่สงบบางเบาไกลจากกิเลสโลภโกรธหลงเท่านั้น

มีคำไทยสองคำที่มีความหมายแตกต่างกันคือ คนมีปัญญากับคนเจ้าปัญญา คนมีปัญญาคือคนมีสัมมาปัญญา คนเจ้าปัญญาคือคนมีมิจฉาปัญญา ผู้มีมิจฉาปัญญาคือผู้ที่ไม่เมตตาแม้แต่ตนเอง มีจิตใจวุ่นวายเร่าร้อนด้วยกิเลสโลภโกรธหลง ตรงกันข้ามกับผู้มีสัมมาปัญญา ซึ่งเป็นผู้เมตตาตนเองทำตนเองให้มีจิตใจสงบเย็นด้วยสงบด้วยไกลจากกิเลสโลภโกรธหลง

พระพุทธศาสนาสอนให้ดูตัวเอง สอนตัวเอง แก้ตัวเอง ฉะนั้นก็ดูตัวเราเองนี้แหละให้อบรมเมตตาให้ถูก แสดงออกให้ถูก เมตตาในใจให้มีอยู่อย่างถูกต้องสม่ำเสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ ไม่เลือกผู้รับเมตตาจากใจว่าจะเป็นพวกเขาพวกเรา เป็นคนผิดคนถูก เป็นคนรวยคนจน หรือเป็นคนดีคนชั่ว เป็นมิตรหรือเป็นศัตรู แต่การแสดงออกต้องถูกต้อง การลงโทษไม่ว่าหนักหรือเบาที่ไม่เกินกว่าเหตุเพื่อช่วย ก็นับว่าเป็นการแสดงเมตตา ไม่ใช่ไม่เมตตา

เมตตาตรงกันข้ามกับความโกรธแค้นพยาบาท มีเมตตาก็หยุดความโกรธแค้นพยาบาทได้ เมตตาจะไม่มีพร้อมกับความโกรธแค้นพยาบาท มีพร้อมกันไม่ได้ ผู้มักโกรธแค้นพยาบาท แม้จะเมตตาคนนั้นคนนี้อยู่บ้างเป็นพิเศษ ก็หาใช่คนมีเมตตาไม่ หากแต่เป็นผู้มีความรักความผูกพันเป็นพิเศษในบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น นั่นไม่ใช่เมตตาจิต ฉะนั้นให้ดูจิตของตน ให้เห็นจิตของตน ถ้าเห็นความโกรธแค้นพยาบาทยังมีอยู่มากเพียงใด ก็ให้เห็นให้เข้าใจไปพร้อมกันได้ ว่าตนยังไม่มีเมตตาเพียงพอ ยังต้องอบรมเมตตาอีกมากเพียงนั้น

ข้อสำคัญยิ่งของเมตตา คือการแสดงออกซึ่งเมตตา ที่แสดงผิดก็ไม่ได้ ก็จักเป็นการแสดงที่ให้ผลเป็นการเบียดเบียน ไม่ใช่เมตตา เช่นควรลงโทษไม่ลงโทษเพราะคิดว่าเมตตาทำไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น หรือไปเมตตาฝ่ายผิด ทำให้ฝ่ายถูกต้องเสียหายเสียใจ เช่นนี้ก็เป็นการเบียดเบียนทั้งฝ่ายถูกและฝ่ายผิด คือฝ่ายถูกก็จะเสียหายเสียใจ ฝ่ายผิดก็จะไม่สำนึกในความผิด ทั้งยังอาจเป็นการเบียดเบียนตนเองด้วยคือถูกตำหนิจากผู้รู้ความผิดถูกควรมิควรทั้งหลาย การแสดงเช่นนี้เป็นการขาดเมตตาที่แท้จริง เมตตาในพรหมวิหารอันเป็นเมตตาที่แท้จริงต้องถูกต้องทุกอย่างดังแสดงมา

เมตตาปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาช่วยให้พ้นทุกข์ พิจารณาความหมายของคำแล้วจะรู้สึกว่าเมตตาเป็นเรื่องของจิตใจ เพราะเป็นความปรารถนา ส่วนกรุณาเป็นเรื่องของกาย เพราะเป็นการปฏิบัติช่วย แต่ที่จริงเมตตาและกรุณาเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ได้ เมตตากรุณาในพรหมวิหารต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่แยกจากกัน


จากหนังสือ แสงส่องใจให้เพียงพรหม
๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๑ – ๑๔