Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๑๗

sangharaja-section

sungaracha

พุทธุปปาทาทิสุขกถา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน)


 
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท        สุขา สทฺธมฺมเทสนา
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี           สมคฺคานํ ตโป สุโขติ.

 

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาธรรมะซึ่งพระได้ตรัสเป็นเครื่องชี้ทางแห่งความสุข ตามพระพุทธภาษิตอันมาในธรรมบทขุทกนิกายที่ยกขึ้นไว้เป็นบทอุเทศ ณ เบื้องต้น แปลความว่า “ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายให้เกิดสุข การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุข ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข ความเพียรของผู้พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุข” ดังนี้ พระพุทธภาษิตนี้แสดงฐานให้เกิดสุข ๔ ประการ จำเดิมแต่ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเป็นต้นไป

ความสำราญ ชื่นบาน เอิบอิ่มแจ่มใส ปลอดโปร่งจากทุกข์ภัยเดือดร้อน ได้ชื่อว่าสุข สุขนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจให้เป็นไปได้ด้วยดี ตรงกันข้ามกับทุกข์เป็นเครื่องแผดเผาให้อาดูรเดือดร้อน จึงเป็นพระที่ปรารถนาตรงกันของทุก ๆ คน จะเห็นได้ในคำอวยพรหรือคำอนุโมทนาทั้งปวง เช่นว่า “สุขิโต โหตุ   ขอจงบรรลุสุข” แม้ในบทเจริญเมตตาแผ่ไมตรีจิต เช่นในกรณียเมตตสูตรก็มีว่า “สพฺเพสตฺตา ภวนฺตุ สุขิตตฺตา   ขอสัตว์ทั้งหลาย จงรักษาตนให้เป็นสุขทั่วกันเถิด” ดังนี้ สุขเป็นที่ปรารถนาดังกล่าวมา เพราะมีอีกสิ่งหนึ่งบังคับให้ปรารถนา สิ่งนั้นคือทุกข์ ในเวลาที่ไม่มีทุกข์หรือไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ก็ดูไม่จำต้องการสุข แต่เมื่อมีทุกข์หรือเกิดเห็นว่าเป็นทุกข์ขึ้น ก็เกิดต้องการและขวนขวายเพื่อให้ได้สุขมา และสุขจักปรากฏเมื่อทุกข์อย่างหนึ่งสิ้นสุดลง แต่เมื่อสุขสิ้นแล้ว ทุกข์ก็กลับปรากฏให้ต้องการสุขอีก มีข้อเปรียบโลกนี้ด้วยต้นไม้ ทุกข์เหมือนความแห้งผากอันเกิดแต่แสงตะวัน สุขเหมือนน้ำ เมื่อมีทุกข์ก็จำต้องการสุข เหมือนเมื่อมีความแห้งผากก็จำต้องการน้ำ และเมื่อจำต้องการสุข ก็ส่องความว่าทุกข์ยังไม่สุดสิ้นกะแสดง โลกได้อาศัยสุขแก้ทุกข์พอกันอยู่จึงเป็นไปได้เหมือนต้นไม้ได้น้ำหล่อเหลี้ยงลำต้นอยู่ฉะนั้น สุขทุกข์มีคู่กันอยู่อย่างนี้ในโลก และเป็นเรื่องประจำชีวิต จนถึงเมื่อถามถึงข่าวคราวของกันปรารถนา ก็ย่อมมีให้ได้ประสบอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุให้ปรารถนาแหละแสดงสุขอยู่ร่ำไป

ในการแสวงหาให้ได้สุข จำเป็นต้องรู้จักหลบทุกข์ ยกตัวอย่างความยากจนขาดแคลน เพราะมีไม่พอแก่ความต้องการ หรือไม่มีตามที่ต้องการ เป็นทุกข์เดือดร้อน เมื่อปรารถนาสุขอันตรงกันข้าม ก็จำต้องรู้จักหลบความยากจนขาดแคลนนั้นเสีย ถ้าไม่รู้จักหลบ แม้จะขวนขวายประการใด ก็ไม่อาจประสบสุขได้ คงต้องพบแต่ทุกข์ ในการหลบทุกข์ ก็จำต้องมีสุขวัตถุ คือเครื่องบริหารอันพอแก้ทุกข์นั้นๆได้ ยกตัวอย่าง เช่น ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยาแก้ไข้เจ็บ สิ่งเหล่านี้เมื่อมีอยู่พอเพียง ก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เดือดร้อน แต่เมื่อขาดแคลนมีไม่พอต้องการ จึงรู้สึกว่าเป็นทุกข์   ผู้ปรารถนาสุขจึงสมควรแสวงหาสุขวัตถุทั้งปวงไว้ ให้มีเพียงพอทั้งเมื่อนี้และเมื่อหน้า แม้ใจข้ออื่นก็มีนัยเช่นเดียวกัน รวมความว่า ในการแสวงหาให้ได้สุข จำต้องรู้จักหลบทุกข์ ในการหลบทุกข์ จำต้องมีสุขวัตถุพอแก้ทุกข์นั้น ๆ ได้   เหตุฉะนี้ ผู้ปรารถนาสุขจึงควรสำเนียกให้รู้จักวิธีหลบทุกข์ แสวงเครื่องบริหารสุขนั้น ๆ มาใช้แก้ทุกข์ให้ตกไปเป็นอย่าง ๆ ด้วยความขยันหมั่นเพียรไม่ท้อถอย

ในการแสวงหาสุขตามที่กล่าวมานี้ จำต้องใช้ทั้งกำลังกายและกำลังใจด้วยความฉลาด จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียไม่ได้ จึงจำต้องบำรุงร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรค บำรุงจิตใจให้เข้มแข็งอดทน  และอบรมปัญญาให้ฉลาดเฉียบแหลม ไม่เช่นนั้นก็จักยอมแพ้ทุกข์เอาง่าย ๆ    ความฉลาดรู้วิธีหลบทุกข์นั้น ต้องดำเนินตามหลัก ๔ ประการ คือ ต้องรู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด อะไรเป็นความดับทุกข์ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์ ยกตัวอย่างในทางโลก ความจนเป็นทุกข์   ความเกียจคร้าน เป็นเหตุ   ความมี เป็นความดับทุกข์   ความขยันหมั่นเพียรประกอบการงาน เป็นทางดำเนิน   ในทางธรรม ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และความโศกความระทมใจเป็นทุกข์   ตัณหาคือความดิ้นรนของใจ เป็นเหตุ   ความดับตัณหาเสียได้ เป็นความดับทุกข์   มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นทางดำเนิน   ในหลัก ๔ ประการนี้ไม่มีกล่าวถึงสุข เพราะสุขเป็นที่สุดของทุกข์  และจำต้องการเมื่อทุกข์ยังไม่สิ้นสุดลงเพื่อแก้กัน   เมื่อทุกข์สิ้นสุดลงแล้วก็ไม่จำต้องการ  และถือว่าเป็นสุขอยู่ในตัว

ความฉลาดรู้วิธีหลบทุกข์ในทางโลก ไม่อาจทำให้หลบทุกข์ได้ทั้งหมด เพราะทุกข์บางอย่างไม่อาจหลบได้ แม้จะหลบทุกข์อื่นได้โดยลำดับมา ก็ต้องประจวบทุกข์ คือความแก่จนถึงความตายในที่สุด ทั้งถ้าใจดิ้นรนไปต่าง ๆ ด้วยความยึดถือ เมื่อไม่ได้ตามปรารถนาก็เป็นทุกข์ใจ มีโศกระทมเป็นต้นขึ้นอีก และถ้าลุอำนาจแห่งความดิ้นรนปรารถนา ก็อาจดำเนินไปในทางผิด เช่นในทางเบียดเบียนกัน เป็นเหตุก่อทุกข์โศกให้อีกส่วนหนึ่ง เพราะผู้แสวงหาสุขโดยวิธีให้ทุกข์แก่ผู้อื่น หรือ
โดยทางทุจริตผิดธรรม หาได้รับสุขไม่ ผู้ฉลาดรู้แต่ในทางคดีโลก ไม่ปรากฏว่าแก้ทุกข์ได้ตกทั้งหมด บางทีกลับทุกข์หนักเสียอีก ทุกข์ที่หลบหรือแก้ให้ตกไปไม่ได้ในทางโลกนั้น อาจหลบหรือแก้ให้ตกไปได้ในทางธรรม กล่าวคือทุกข์ใจ หลบหรือแก้ให้ตกได้ด้วยดับความดิ้นรนปรารถนาที่จะให้ได้ดังใจ เป็นเหตุให้ปล่อยวางความยึดถือ เป็นอันหลบทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พ้นได้ด้วย เพราะเมื่อไม่ยึดถือแล้ว จะประจวบสิ่งใด ๆ ก็หาเป็นทุกข์อันใดไม่ การที่ยังยึดถือดิ้นรนไป เพราะเห็นว่า ข้อที่ยึดถือไว้นั้นเป็นสุข ในทางปฏิบัติ จำต้องกลับไปเห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์ เห็นดังนี้ เป็นเหตุดับความดิ้นรนของใจ ปล่อยวางความยึดถือ เป็นฝ่ายสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นมรรคองค์ที่หนึ่ง มรรคองค์นอกนี้เป็นเครื่องอบรมส่งเสริมให้รวบรวมเข้าเป็นกำลังกาย จิตใจ และปัญญา จนเป็นมัคคสมังคีในที่สุด กล่าวโดยย่อ “เมื่อเห็นทุกข์ จักเป็นสุข  เมื่อเห็นสุข จักเป็นทุกข์” มีคำเทียบว่า “ไฝ่ร้อน จะนอนเย็น   ไฝ่เย็น จะเข็ญใจ” ดังนี้   เหตุฉะนี้ ผู้ปรารถนาสุขจึงควรสำเนียกวิธีหลบทุกข์ด้วยการอบรมปัญญาให้เห็นสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นสุขนั้นแลว่า เป็นทุกข์ตามเป็นจริง แล้วจักเป็นสุขตามแต่จะเห็นได้เพียงไร เพราะทุกข์อันเกิดที่ใจนั้น ก็ดับไปที่ใจนั้นเอง

ท่านผู้มีญาณปรีชารู้แจ้งจบหลักทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นตามเป็นจริง ท่านผู้นั้นคือ พระพุทธะ แปลว่า พระผู้รู้   ข้อที่ท่านได้รู้ ชื่อว่าอริยสัจ แปลว่า ของจริงอันประเสริฐแต่ละข้อ   พระผู้รู้ที่มีผู้อื่นรู้ตามได้ ชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธะ ที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า   พระผู้รู้ที่ไม่มีผู้อื่นรู้ตามได้ ชื่อว่าพระปัจเจกพุทธะ   ส่วนพระผู้รู้ตาม ชื่อว่าพระอนุพุทธะ คือพระพุทธสาวกผู้รู้ทั้งปวง ความที่ได้รู้แจ้งจตุราริยสัจด้วยพระองค์เองแล้ว ปลุกประชานิกรให้รู้ตามด้วยพระมหากรุณา เป็นความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย “พุชฺฌิตา สจฺจานีติ พุทฺโธ   โพเธตา ปชายาติ พุทฺโธ     ชื่อว่าพระพุทธะ เพราะรู้สัจจะทั้งหลาย   เพราะปลุกประชานิกรให้ตื่นด้วยความรู้” ในเหตุทั้ง ๒ นี้ได้เฉพาะข้อแรก เป็นพระปัจเจกพุทธะ  ได้ครบทั้ง ๒ จึงเป็นพระพุทธเจ้าในพระพุทธภาษิตนี้   พระพุทธเจ้าทรงเป็น “ทุกฺขนฺตคู  ถึงที่สุดทุกข์” ทุกข์ทั้งปวงขาดแสล่ง เพราะทรงฉลาดรู้วิธีหลบทุกข์อย่างยอดเยี่ยม และทรงฉลาดรู้วิธีปลุกประชานิกรให้ถึงที่สุดทุกข์ตามได้ เมื่อทรงเกิดขึ้น จึงให้เกิดสุข ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายให้เกิดสุขด้วยประการฉะนี้

สุขข้อนี้ พระพุทธเจ้าทรงประสบเองแล้ว ทรงแผ่มาสู่โลกโดย สัทธัมมเทศนา คือการแสดงพระสัทธรรม และเพราะทรงแสดงพระสัทธรรม จึงเกิดปรากฏแก่ผู้ฟังผู้รู้ตามว่าเป็นพระพุทธเจ้า เข้าในข้อว่า “โพเธตา ปชาย”    พระสัทธรรม ได้แก่ธรรมของท่านผู้สงบระงับแล้ว คือพระพุทธเจ้านั้นเอง อันท่านผู้รู้สรรเสริญว่าเป็นจริงถูกต้อง มุ่งถึงคำสั่งสอนที่ดีจริง พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสัทธรรม ชี้ความจริงแห่งสุขทุกข์ พร้อมทั้งวิธีหลบพ้นจากทุกข์ ประมวลลงในจตุราริยสัจที่ได้ตรัสรู้ เมื่อมีผู้นับถือปฏิบัติตามขึ้น ก็เกิดเป็นพระพุทธศาสนา จำแนกออกเป็นธรรมส่วนหนึ่ง วินัยส่วนหนึ่ง พระพุทธศาสนานี้เมื่อยังดำรงอยู่ในโลก ก็เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสุขทั้งปวง จึงเป็นที่ปรารถนาว่า “ขอศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงตั้งอยู่ในโลก แสดงทางบริสุทธิ์แห่งสัตวโลก แก่ผู้สดับฟังทั้งหลายตลอดกาลนาน” เพราะเป็นเหตุให้ผู้สดับฉลาดรู้วิธีหลบล่วงทุกข์ประสบสุขอันไพบูลย์ จนกระทั้งเป็นพระผู้รู้ตามได้ในที่สุด การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุขด้วยประการฉะนี้

สุขข้อนี้ย่อมเกิดแก่ผู้สดับฟังที่รับปฏิบัติ ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนเกิดมีมัคคุเทศก์คือคนชี้ทาง การแสดงพระสัทธรรมเหมือนการชี้ทาง ผู้สดับฟังเหมือนคนเดินทาง เมื่อมีคนชี้ทางและได้ชี้ทางให้แล้ว ถ้าคนเดินทางไม่เดินไปตาม ก็ไม่อาจถึงที่ซึ่งประสงค์ได้ ฉันใดก็ดี ผู้ได้สดับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อไม่รับปฏิบัติ ก็ไม่อาจได้สุขที่ซึ่งชี้ให้ เหตุฉะนี้ ผู้ปรารถนาสุข เมื่อได้สดับพระสัทธรรมเทศนา ก็ควรนับถือด้วยรับปฏิบัติตามสามารถ และพระสัทธรรมก็จักเป็นเหมือนระเบียบบรรทัดหรือด้วยจัดร้อยผู้นับถือทั้งหลายให้เป็นหมวดหมู่ตามธรรมปฏิบัติ และภูมิธรรมที่บรรลุ กล่าวคือให้เป็นหมู่ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พุทธมามกะ พุทธมามิกา ซึ่งรวมเรียกว่าพุทธศาสนิกตามธรรมปฏิบัติ และให้เป็นหมู่กัลยาณบุคคลขึ้นไปจนเป็นพระอริยบุคคล ตามภูมิธรรมที่บรรลุ เหล่านี้เรียกว่าสงฆ์แปลว่าหมู่ ในที่นั้น หมายถึงเป็นหมู่กันโดยพระสัทธรรม หมู่นี้จักควบคุมกันอยู่ได้ ก็เพราะมีความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีหลักบรรทัดฐานเป็นที่รวบรวม ไม่เช่นนั้น ก็รวมหมู่กันไม่ติด หลักบรรทัดฐานในข้อนี้ก็คือ พระสัทธรรม ผู้นับถือพระพุทธศาสนาแต่ละคน เมื่ออยู่ในหมู่ใด ถ้ายกตนขึ้นไปสู่พระสัทธรรมของหมู่นั้น เช่นเป็นภิกษุ ก็ประพฤติธรรมวินัยสมควรแก่ภิกษุภาพ   เป็นพุทธมามกะ ก็ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ สมควรแก่การที่ได้ปฏิญาณรับเอาพระพุทธเจ้าเป็นพระของตน จึงจักมีความพร้อมเพรียงกันโดยชอบได้ แต่ถ้าทำตนให้ตกต่ำเสื่อมทรามจากพระสัทธรรม ก็หาอาจได้ความพร้อมเพรียงด้วยผู้ที่ตั้งอยู่ในพระสัทธรรมไม่ ถึงจะมีมากและพร้อมเพรียงกัน ก็ไม่ชื่อว่าพร้อมเพรียงกันโดยชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ หมู่ก็จักแตกแยก เหตุฉะนี้ เมื่อปรารถนาความพร้อมเพรียง ก็มีทางอันเดียวที่จะพึงทำ คือการยกตนขึ้นไปสู่พระสัทธรรม พระสัทธรรมก็จักจัดร้อยให้มีความประพฤติดีและความเห็นสม่ำเสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สำเร็จเป็นความพร้อมเพรียงของหมู่ที่ให้เกิดสุขได้ ทางนอกจากนี้ แม้จักทำได้ก็ไม่ให้เกิดสุข มีข้อเปรียบพระสัทธรรมด้วยสายโลหิต สายโลหิตย่อมจัดบุคคลให้เป็นญาติตลอดขึ้นไปถึงเป็นเชื้อชาติสายเดียวกัน เป็นหลักบรรทัดฐานให้คุมกันเข้าเป็นสกุลเป็นชาติได้

อนึ่ง พระพุทธศาสนาย่อมอิงอยู่กับชาติ เหมือนเรือนใจอาศัยอยู่กับเรือนกาย เมื่อชาติระส่ำระสาย พระพุทธศาสนาก็พลอยระส่ำระสายด้วย ดังมีตัวอย่างแล้ว และบุคคลแต่ละคน ย่อมเป็นทั้งพุทธศาสนิกทั้งประชาชาติ จึงมีหน้าที่จะพึงปฏิบัติในฐานะเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง ในฐานะเป็นประชาติอีกทางหนึ่ง โดยความพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้จะเป็นไปได้ด้วยการที่แต่ละคนขวนขวายปฏิบัติตามหลักบรรทัดฐานของชาติ เช่นเดียวกับขวนขวายปฏิบัติตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อมีหลักบรรทัดฐานร่วมกัน และทุกคนขวนขวายยกตนขึ้นสู่ ก็จักเป็นหมู่ที่มีความพร้อมเพรียงกันได้ แต่อาจเป็นการยาก เพราะมากคนด้วยกัน จึงมีไม่ถูกส่วนกัน หรือมีเหตุขัดขวางอื่น ๆ เรื่องเหล่านี้ไม่สุดวิสัยที่จะแก้ได้ เพราะเมื่อเห็นความจำเป็นที่จะให้มีความพร้อมเพรียงกันจริงแล้ว ก็จำต้องพยายามอบรมกล่อมเกลาตนให้เข้ากับหลักบรรทัดฐาน แม้จะมีอุปสรรคใด ๆ ก็พยายามฟันฝ่า ในข้อนี้ อย่าว่าแต่บุคคลเลย แม้ในการต่อตู้โต๊ะเป็นต้น ก็จำต้องถากไส เจาะบากตัวไม้ให้เข้ากันได้ตามที่ จะจับมาต่อเข้าทีเดียวคงไม่สำเร็จ เมื่อพยายามอบรมกล่อมเกลาจนเข้าหลักบรรทัดฐานได้แล้ว หลักบรรทัดฐานนั้น ก็จักจัดร้อยให้เป็นหมวดหมู่ที่พร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนเหมือนดังเป็นบุคคลคนเดียวกันได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจคุมกันเข้าติด เป็นเหตุพิบัติเสียหายตั้งแต่ส่วนย่อยจนถึงส่วนใหญ่และส่วนอื่นที่อิงกันอยู่ เพราะต่างก็ชื่อว่า เป็นหมู่เดียวกันโดยชาติหรือศาสนา ซึ่งต้องมีทุกข์สุขเนื่องถึงกันอยู่ ข้อนี้ควรสาธกด้วยพระพุทธจริยาที่เล่าไว้ว่า ครั้งพระเจ้าวิฑูฑภะแห่งโกศลรัฐเสด็จยกทัพไปเพื่อทำลายศากยวงศ์ สมเด็จพระศากยมุนีบรมศาสดาได้เสด็จไปสู่พรมแดน ประทับนั่ง ณ โคนไม้เงาห่างแสงแดดส่องต้องพระองค์ ในเขตเมืองพระญาติ ไม่ประทับ ณ โคนไทรเงาร่มชิดสนิทในเขตรัฐสีมาของพระเจ้าวิฑูฑภะซึ่งอยู่ใกล้กัน เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จกรีธาทัพไปถึง จึงเข้าเฝ้ากราบทูลถามถึงเหตุ ก็ตรัสตอบว่า “ชื่อว่าเงาของญาติทั้งหลายร่มเย็น”  ดังนั้น พระเจ้าวิฑูฑภะทราบพระพุทธประสงค์ ก็เสด็จยกทัพกลับ เป็นดังนี้ถึง ๓ ครั้ง   เหตุฉะนี้ ผู้ปรารถนาสุขจึงควรปฏิบัติในทางให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน ทั้งในฐานะเป็นพุทธศาสนิก ทั้งในฐานะเป็นประชาชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ จักเป็นหมู่ที่มีความพร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุให้เกิดความเจริญสุข เพราะ “ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ” ดังนี้ เมื่อหมู่คือชาติเจริญสุข หมู่พุทธศาสนิกก็เป็นสุข มีโอกาสได้เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติธรรมวินัย เพื่อความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นโดยสะดวก ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุขด้วยประการฉะนี้

สุขข้อนี้ย่อมเกิดมี เพราะผู้ที่พร้อมเพรียงกัน ย่อมมีตบะ คือความเพียรที่มีอำนาจ เกิดแต่ความรวมกำลัง อาจทำให้สำเร็จประโยชน์สุขตามที่กล่าวมาทุกประการได้ เพราะถ้าไม่ทำ ก็ปิดทางความสุขเสียทุกฐาน และเมื่อทำก็ต้องพร้อมเพรียงกันจึงจะมีตบะที่เป็นเหตุให้สำเร็จ พึงเห็นเช่นการงานที่บุคคลผู้เดียวทำไม่สำเร็จหรือสำเร็จได้ยาก แต่เมื่อหลายคนพร้อมเพรียงกันทำ ก็สำเร็จได้ง่าย   ไม่ใช่แต่เฉพาะบุคคลเท่านั้น แม้สังขารทั้งหลายก็ล้วนเกิดมีขึ้นเพราะธาตุและวัตถุหลายอย่างประกอบกัน ลำพังอย่างเดียวไม่อาจสำเร็จเป็นสังขารนั้น ๆ ได้ เช่นอิฐแผ่นเดียว ไม่ทำให้เป็นตึกขึ้นได้ ร่างกายนี้เองก็ประกอบขึ้นด้วยอวัยวะหลายส่วน และทุกส่วนก็ต้องร่วมกันทำงานตามหน้าที่ ชีวิตจึงดำเนินไปได้โดยสวัสดี ในการพากเพียรประกอบกิจการทุกอย่างก็เหมือนอย่างนั้น ความสำเร็จจักมีได้ด้วยการที่พร้อมเพรียงกันรวมกำลังทุกส่วนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ตั้งแต่บุคคลรายตัวขึ้นไปจนถึงหมู่มาก แม้ในการปฏิบัติธรรม เมื่อธรรมปฏิบัตินั้น ๆ พร้อมเพรียงกันเป็นธัมมสมังคี จึงเป็นตบะให้บรรลุถึงภูมิธรรมนั้น ๆ ได้ ถ้าขาดพร้อมเพรียงกัน ก็หมดตบะในกิจการทุกอย่าง แต่ถึงพร้อมเพรียงกัน ก็ต้องตั้งอยุ่บนหลักบรรทัดฐานที่ชอบ จึงจักสำเร็จผลอันสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสุข ไม่เช่นนั้น ก็จักเป็นเหตุให้เกิดโทษทุกข์ตลอดสาย เหตุฉะนี้ ผู้ปรารถนาสุข เมื่อได้ยกตนขึ้นสู่หลักบรรทัดฐานของหมู่จนมีความพร้อมเพรียงด้วยหมู่แล้ว ก็พึงพากเพียรปฏิบัติธุรกิจให้ก้าวหน้าไปด้วยดีตามพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ตบะคือความเพียรนั้น ก็จักเป็นตัวอำนาจอำนวยให้หลบล่วงทุกข์ประสบสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยลำดับได้ เพราะ “บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” ดังนี้ ความเพียรของผู้พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุขด้วยประการฉะนี้

รวมความว่า โดยอนุโลมนัย สัจพุทธิความรู้สัจ ก่อนเกิดพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสัทธรรม พระสัทธรรมรวบรวมหมู่คือสงฆ์ สงฆ์แสดงตบะของบุคคลหรือธรรมที่พร้อมเพรียงกัน ให้เกิดผลเป็นสุขโดยปฏิโลมนัย สุขเกิดเพราะตบะที่ชอบ ตบะอย่างนี้ชี้ได้ที่สงฆ์เท่านั้น สงฆ์เป็น สทฺธมฺมโช เกิดจากพระสัทธรรม พระสัทธรรมแสดงองค์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าชี้ถึงสัจพุทธิ   กล่าวโดยย่อ ในทางปฏิบัติ ทำให้เป็นผู้รู้ขึ้นอย่างเดียวก็พ้นทุกข์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประมวลอยู่ในผู้รู้ เหตุฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การแสดงพระสัทธรรมความพร้อมเพรียงของหมู่ ความเพียรของผู้พร้อมเพรียงกัน ให้เกิดสุขสายเดียวกันโดยตลอด มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้


จากหนังสือ ธรรมจักษุ เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๑ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖