Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๑๖

sangharaja-section

sungaracha

อัตตโนบุพพกรรมกถา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน)


 
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

มตฺตาสุขปริจฺจาคา   ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร   สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขนฺติ.

 

บัดนี้ จะวิสัชชนาพระธรรมเทศนาในอัตตโนปุพพกัมมวัตถุกถา พรรณนาหลักธรรมตามพระพุทธภาษิตอันมาในธรรมบท ขุททกนิกาย ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปรารภบุพพกรรมของพระองค์เอง ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้โดยพิสดารในอรรถกถาแห่งธรรมบท มีความย่อว่า “เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ในมคธรัฐ ครั้งนั้น ได้เกิดภัยขึ้น ๓ ประการ คือ ทุพภิกขภัย อมนุสสภัย และโรคภัย ในนครเวสาลี คณะเจ้าลิจฉวี ผู้ครองนครได้ส่งทูตไปเชิญเสด็จพระพุทธดำเนินสู่กรุงเวสาลี พระเจ้าพิมพิสาร กรุงราชคฤห์ ได้ทรงจัดการส่งเสด็จเป็นมโหราฬสักการะ จำเดิมแต่เสด็จพระพุทธดำเนินออกจากพระเวฬุวนาราม จนกระทั่งเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาเข้าเขตนครเวสาลี คณะเจ้าลิจฉวีพร้อมด้วยชาวเมืองก็ได้จัดการรับเสด็จต่อไปเป็นมโหฬารสักการะทวีคูณ ตั้งแต่แม่น้ำนั้นจนเสด็จเข้าสู่นคร เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จขึ้นถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เขตนครเวสาลี มหาเมฆก็ตั้งตกเป็นฝนโบกขรพรรษห่าใหญ่ ภัยทั้งปวงก็เริ่มสงบลงโดยลำดับ ด้วยพุทธานุภาพ พระบรมศาสดาได้ตรัสรัตนสูตรโปรด เป็นเหตุให้เกิดธรรมาภิสมัยแก่เวไนยนิกรเป็นอันมาก เมื่อทรงทราบว่าภัยทั้งปวงสงบแล้ว ก็ทรงอำลาเสด็จออกจากนครเวสาลี กลับไปประทับอยู่จำพรรษาในพระเวฬุวนารามในมคธรัฐ คณะเจ้าลิจฉวีและพระเจ้าพิมพิสารก็จัดการส่งและรับเสด็จเป็นมโหฬารสักการะอีก ในการเสด็จไปและกลับจากนครเวสาลีในครั้งนั้น โดยเฉพาะในตอนข้ามแม่น้ำคงคา ท่านพรรณนาว่า ในมีนรานรนิการอันใหญ่ยิ่งไพศาลมาถวายบูชาสักการะเป็นมหาสมาคม ภายหลังพวกภิกษุได้กล่าวปรารถกันถึงเรื่องนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบ จึงตรัสว่า บูชาสักการะอันมโหฬารนั้น มิใช่เกิดเพราะอานุภาพของสิ่งอื่น แต่เกิดเพราะอานุภาพบุพพกรรมของพระองค์ คือเมื่อครั้งพระองค์เป็นพราหมณ์ชื่อว่าสังขะ ในเมืองตักกสิลาในอดีตกาล ได้ทรงชำระตกแต่งลานพระสถูปที่บรรจุอัฏฐิธาตุของพระสุสิมะปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นบุตร และผูกผ้าสาฎกยกขึ้นเป็นธงทั้งกั้นร่มเหนือพระสถูป ด้วยผลานิสงส์แห่งการที่พระองค์ทรงสละสุขนิดหน่อยในครั้งนั้น จึงมีผู้บูชาสักการะเป็นมโหฬารยิ่งในครั้งนี้” เมื่อทรงปรารภเหตุนี้ จึงตรัสถามพระคาถาดังที่ยกขึ้นเป็นบทนิกเขป ณ เบื้องต้นนั้นว่า

“มตฺตาสุขปริจฺจาคา    ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
จเช มตฺตาสุขํ ธีโร       สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ”

แปลความว่า “ถ้าเห็นสุขไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณ ปราชญ์เมื่อเห็นสุขไพบูลย์ดีกว่า พึงสละสุขพอประมาณเสีย” ดังนี้

ความจริง ยอดปรารถนาของสัตว์ทุกหมู่เหล่าก็คือสุข สุขตามพระพุทธภาษิตนี้มี ๒ สถาน คือ มัตตาสุข สุขพอประมาณ ๑   วิปุลสุข สุขไพบูลย์ ๑   สุขอย่างน้อย สุขนิดเดียว หรือสุขบกพร่อง เป็นสุขพอประมาณ,   สุขอย่างมาก สุขยั่งยืน หรือสุขเต็มที่ เป็นสุขไพบูลย์   ในสุข ๒ อย่างนี้ สุขไพบูลย์ย่อมมดีกว่าสุขพอประมาณ เหตุฉะนี้ ถ้าจำต้องสละสุขพอประมาณ เพื่อแลกสุขไพบูลย์ ก็ควรสละสุขพอประมาณเสีย

 

          สุขที่จะพึงได้พึงถึงในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุข คือสุขในปัจจุบันทันเห็น ทิฏฐธรรมสุขนี้อาศัยสุขวัตถุ คือ ทรัพย์ ยศ ไมตรี ความผาสุกไม่มีโรค และความได้บำเพ็ญกรณียกิจ มีเลี้ยงมารดาบิดา บุตร ภรรยาให้เป็นสุขเป็นต้น   เกิดขึ้นเพราะประกอบธรรมที่เป็นเหตุ ๔ ประการ คือ

อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ประกอบการงานเครื่องเลี้ยงชีวิต เช่นการทำนา การค้าขาย การรักษาโคหรือเลี้ยงสัตว์ การรับราชการ หรือการช่างต่าง ๆ เป็นต้น ขยันไม่เกียจคร้าน รอบรู้อุบายวิธีดำเนินงาน สามารถจัดทำให้สำเร็จด้วยดี

อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยธรรม ด้วยความขยันหมั่นเพียร มิให้เป็นอันตรายเพราะภัยต่าง ๆ

กัลยณมิตตตา มีเพื่อนเป็นคนดี ผู้จะชักนำไปในทางดี ไม่คบคนชั่ว ผู้จะชักนำไปในทางเสื่อมเสีย

สมชีวิตา คิดชั่งทางได้ทางเสียให้รอบคอบแล้ว ใช้จ่ายเลี้ยงชีวิตตามสมควร มิให้ฟูมฟายนัก มิให้เบียดกรอนัก และเว้นจากอบายมุข คือทางฉิบหายแห่งโภคทรัพย์ เช่นเป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตรสหายเป็นเพื่อนคู่หู ประกอบด้วยอายมุข คือทางเจริญแห่งโภคทรัพย์อันตรงกันข้ามกับอบายมุข

“อิเม โข ... จตฺตาโร ธมฺมา กุลปุตฺตสฺส ทิฏฺฐธมฺมหิตาย สํวตฺตนฺติ ทิฏฺฐธมฺมสุขาย”

“ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน เพื่อทิฏฐธรรมสุขแห่งกุลบุตร”

ถ้าธรรมเหล่านี้มีเต็มที่ ทิฏฐธรรมสุขก็ไพบูลย์ ถ้ามีย่อหย่อน ทิฏฐธรรมสุขก็พอประมาณ บุคคลผู้ใดใคร่สุขและหวังตั้งตนให้เป็นหลักในปัจจุบัน พึงละความเกียจคร้าน ความทำย่อหย่อน ขวนขวายให้ถึงพร้อมด้วยความหมั่นประกอบการงานเป็นต้น   เว้นทางเสื่อม ดำเนินอยู่ในทางเจริญงอกงามแห่งทรัพย์ และสุขวัตถุต่าง ๆ เช่น ยศ ไมตรี ก็จักชื่อว่า ขวนขวายเพื่อละสุขพอประมาณ เพื่อบรรลุถึงทิฏฐธรรมสุขอันไพบูลย์

แต่ว่า ทิฏฐธรรมสุข แม้ไพบูลย์ ก็ไพบูลย์อยู่แต่ในปัจจุบัน และเป็นสุขที่อยู่ในวงแคบ เพราะเรียกได้ว่าเป็นอัตตสุข สุขส่วนตนเท่านั้น เหตุฉะนี้ แม้มีเต็มที่ ก็ชื่อว่าเป็นสุขพอประมาณ ในเมื่อเทียบกับสุขที่จะพึงได้พึงถึงในภายหน้า ซึ่งเรียกว่าสัมปรายสุข สัมปรายสุขนี้ อาศัยสุขวัตถุ เช่น สมบัติ ยศ อายุ

 

สวรรค์ เกิดขึ้นเพราะธรรมเป็นเหตุ ๔ ประการ คือ สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๑   สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ๑   จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยจาคะ ๑   ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑

ศรัทธา ได้แก่ความเชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่า กรรมดีมี กรรมชั่วมี กรรมดีให้ผลดี กรรมชั่วให้ผลชั่ว ไม่ไร้ผล หรือให้ผลสับกัน และบุคคลมีกรรมเป็นของ ๆ ตน    ตนทำดี ก็ได้ดี   ทำชั่ว ก็ได้ชั่ว  จะหลีกหนีไม่ได้ และเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า เมื่อถึงพร้อมด้วยศรัทธาตามที่กล่าวมานี้ ย่อมมีหิริ ละอายใจในอันที่จะทำชั่ว สะอิดสะเอียนเกลียดชังความชั่วทุกประเภท   โอตตัปปะ กลัวเกรงต่อผลชั่วที่จะเกิดสนอง จึงไม่ทำชั่วลงไปได้   และมีความเชื่อฟังต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเชื่อว่า พระองค์ตรัสคำจริง เพราะได้ตรัสรู้จริง   การไม่ทำชั่ว รักษากายวาจาให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษเป็นศีล  ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมไม่ประพฤติเป็นเหตุเบียดเบียนตนและผู้อื่น ชื่อว่าให้อภัย อยู่ในที่ใด ย่อมมีสันติสุขในที่นั้น การสละกิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงศีล เป็นจาคะอย่างหนึ่ง   การสละประโยชน์สุขของตนเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นก็เป็นจาคะอย่างหนึ่ง ผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะย่อมมีศีลมั่นคง และมีอัธยาศัยกว้างขวาง ประกอบด้วยเมตตา กรุณา เฉลี่ยความสุขแก่ผู้อื่น เป็นการบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ตามสมควร ปัญญาในข้อท้ายได้แก่ความรู้ อันเป็นเหตุให้ดำเนินไปในทางที่ถูก เป็นเครื่องประคองธรรมข้อต้น ๆ ให้เป็นไปด้วยดี ผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ย่อมสามารถบริหารรักษาตนให้สวัสดี และเมื่อประสบวิปริณามธรรม คือ แก่ เจ็บ ตาย ก็มีปัญญารู้เท่าต่อธรรมดา สามารถประคองจิตให้บริสุทธิ์ จึงเป็นผู้หวังสุคติได้ในสัมปรายภพ

“อิเม โข ... จตฺตาโร ธมฺมา กุลปุตฺตสฺส สมฺปรายหิตาย สํวตฺตนฺติ สมฺปรายสุขาย”

“ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในสัมปรายะ คือภายหน้า เพื่อสัมปรายสุขแห่งกุลบุตร” มิใช่แต่เป็นไปเพื่อสุขภายหน้าเท่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสุขตั้งแต่ในปัจจุบันนี้ด้วย แต่ตลอดไปถึงภายหน้า ท่านจึงจัดเป็นสัมปรายสุข และเป็นสุขที่ถึงผู้อื่นด้วย จึงนับว่าเป็นปรสุขได้อีก ผู้ที่ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่าบำเพ็ญสุขแก่ผู้อื่นส่วนหนึ่ง แท้จริง อัตตสุข คือสุขส่วนตน เป็นสุขพอประมาณเท่านั้น เมื่อเทียบกับปรสุข เพราะว่าตนมีเพียงผู้เดียว ส่วนผู้อื่นมีเป็นอันมาก ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตน เช่นเป็นผู้ร่วมสกุล ตลอดถึงร่วมชาติ ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตน และเมื่อเพ่งถึงชีวิตของเฉพาะบุคคล ก็เป็นของสั้นของน้อยไม่ไปถึงไหน เพ่งความตั้งอยู่แห่งหมู่ ตั้งต้นแต่สกุลขึ้นไป ย่อมเป็นกาลนานกว่า เพราะเหตุนี้ จึงควรเห็นสุขประโยชน์ส่วนคนมากเป็นใหญ่กว่าส่วนตนฝ่ายเดียว

อนึ่งมีหลักธรรมดาอยู่ว่า สัตว์ทุกหมู่เหล่าต่างมีความปรารถนาสุขไม่ต้องการทุกข์อยู่ด้วยกัน จึงควรถือเป็นธรรมได้ข้อหนึ่งว่า บุคคลไม่ควรแสวงหาสุขให้แก่ตน ด้วยวิธีให้ทุกข์แก่ผู้อื่น และควรเฉลี่ยสุขของตนให้แก่ผู้อื่นบ้างตามสมควร เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อทรงสอนให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรประกอบการงานเครื่องเลี้ยงชีวิตเป็นต้น เพื่อให้บรรลุถึงทิฏฐธรรมสุข อันเป็นสุขของตนโดยตรงแล้ว จึงทรงสอนให้ถึงพร้อมด้วยศีล เพื่อให้มีความประพฤติอยู่ในขอบเขต ไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งเป็นการให้ทุกข์แก่เขา และทรงสอนให้ถึงพร้อมด้วยจาคะคือการสละ เพื่อให้ไม่เห็นแก่ตนถ่ายเดียว เมื่อถึงคราว ก็อาจสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ เป็นต้น เป็นการเฉลี่ยหรือให้สุขแก่ผู้อื่นตามสมควร และศีลกับจาคะจักเป็นไปได้ ก็เพราะมีศรัทธาและปัญญายังเป็นบ่อเกิดแห่งคุณสารอื่น ๆ อีก  จึงทรงสอนให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาเป็นข้อต้น และให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเป็นข้อท้าย  ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุถึงสัมปรายสุข อันเป็นสุขภายหน้าของตน และเป็นสุขที่ถึงผู้อื่นด้วย ถ้าบุคคลต่างปฏิบัติตามพระโอวาทที่ตรัสสอนไว้นั้น แม้เพียงเป็นผู้มีศีล ไม่เบียดเบียนกันและกัน สำรวมระวังในกันและกัน ไม่ยอมให้การเบียดเบียนกันเกิดขึ้น ทั้งตนและผู้อื่น จักอยู่เย็นเป็นสุขไม่น้อยเลย ถ้าแถมมีความโอบอ้อมอารีเสียสละให้กันได้ด้วยจาคะอีก จักเป็นสุขสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงปรารภถึงสุขที่พึงมีในโลก จึงทรงอุทานขึ้นด้วยพระพุทธอุทาน อันมาในอุทาน ขุททกนิกายว่า อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก   ปาณภูเตสุ สญฺญโม” แปลความว่า “ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก” ดังนี้ บุคคลผู้ใคร่สุข ไม่ควรคิดอยู่ในทิฏฐธรรมสุขเท่านั้น ควรแสวงหาสัมปรายสุขต่อไป เพราะปัจจะบันนี้น้อยนัก และตนเองก็มีเพียงผู้เดียว ทั้งจักไม่อยู่ยั่งยืนไปได้เท่าไร ส่วนภายหน้าและผู้อื่นมีมากต่อมาก ถ้าเห็นว่าจักได้สัมปรายสุข เพราะสละทิฏฐธรรมสุข ก็พึงสละเพื่อแลกสุขที่ไพบูลย์กว่า และพึงสั่งสมอบรมธรรม ๔ ประการ มีศรัทธาเป็นต้นตามสามารถ เพื่อผลคือสัมปรายสุขอันไพบูลย์

แต่สุขตามที่กล่าวมานี้ จะเป็นทิฏฐธรรมสุขก็ตาม สัมปรายสุขก็ตาม แม้จะไพบูลย์เป็นมนุษย์สุขสมบัติ หรือทิพยสุขสมบัติอันยิ่งใหญ่ไพศาลเพียงใด ก็เป็นสุขภายนอก และเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนคงทน มีอันแปรปรวนไปเป็นธรรมดา สุขภายนอกแม้มีสักเท่าไร ถ้าไม่มีสุขภายใน ก็เหมือนไม่มีสุข เหตุฉะนี้ จึงยังมิใช่สุขไพบูลย์แท้ เป็นสุขพอประมาณ เมื่อเทียบกับสุขภายในที่เที่ยงและยั่งยืน สุขภายในเช่นนี้ก็คือสุขที่ปราศจากกิเลสคือราคะ อันได้แก่ความกำหนัดยินดีติดอยู่ในกามทั้งหลาย ด้วยว่าใจที่ประกอบด้วยราคะย่อมดิ้นรนแส่ไปต่าง ๆ   ถูกความอยากฉุดชักให้แสวงหาไปรอบด้าน ก็การแสวงหาสิ่งต่าง ๆ เพียงเพื่อบำรุงกายเท่านั้น ไม่เป็นการยุ่งยากเดือดร้อนสักเท่าไร แต่การแสวงหาที่ถูกความปรารถนาอันมีราคะเป็นต้นเดาฉุดชักไปนี้แล เป็นการยุ่งยากเดือดร้อนไม่น้อยเลย ที่ได้สุขนั้นน้อยนัก และเนื้อแท้สุขที่ได้นั้น ก็เป็นสุขเพราะสมปรารถนา และได้ในขณะที่สมปรารถนาเท่านั้น หลังจากนั้นก็จืดจางไป ทั้งใจก็มิได้บริโภคใช้สอยสิ่งเหล่านั้นเลย สุขที่เจือความปรารถนาฉะนี้เป็นกามสุข หรือเป็นสามิสสุข สุขิงอามิสคือกามคุณ แม้เป็นสุขภายใน ก็มิใช่ภายในแท้ เพราะอาศัยกามวัตถุภายนอก และเป็นสุขที่ไม่เที่ยงดุจเดียวกัน ทั้งแฝงทุกข์ไว้ข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้าง แม้ทิฏฐธรรมสุขและสัมปรายสุข ถ้าเจือด้วยกามกิเลส ก็พลอยเป็นกามสุขเช่นเดียวกัน   ใจที่ลุอำนาจความปรารถนา ย่อมหาโอกาสเป็นสุขสงบได้ยาก  แก้วแหวนเงินทองเป็นต้นที่มีอยู่ก็ไม่ช่วยให้เป็นสุขได้   บางทีเมื่อปรารถนาไม่ได้สมหวัง อาจดิ้นรนเพื่อให้ได้ แม้โดยทางเบียดเบียนผู้อื่น และอาจเป็นทุกข์เดือดร้อนถึงกับทำลายตนเอง เช่นที่มีตัวอย่างอยู่บ่อย ๆ ใจที่ประกอบด้วยราคะ จึงเป็นใจที่หมดอิสระ ตกเป็นทาสของความอยากต้องรับทุกข์เดือดร้อนทั้งที่ใจเอง ทั้งที่เกิดเพราะกรรม คือการที่ทำร่ำไป เปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ ซึ่งต้องรับแต่คมมีด    ส่วนใจที่หายกำหนัดยินดีติดอยู่ ย่อมหมดอยากหมดปรารถนาในกามคือสิ่งที่ใคร่ทั้งหลาย จึงเป็นใจอิสระเต็มที่ เป็นใจเกษม คือปลอดโปร่งจากความทุกข์ทั้งปวง จึงเป็นสุขหมดจดแจ่มใส และผู้ที่สิ้นราคะแล้ว ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นสิ้นเชิง เพราะหมดกิเลสอันเป็นต้นเหตุให้เบียดเบียนแล้ว เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงอุทานขึ้นด้วยพระพุทธอุทานอันมาในอุทานขุททกนิกายว่า สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม” แปลความว่า “ความหายกำหนัดยินดีติดอยู่ คือความล่วงเสียซึ่งกามทั้งหลาย เป็นสุขในโลก” ดังนี้

แต่ความยินดีติดอยู่ในกามทั้งหลายย่อมมี เพราะมีผู้รับคือตน ตนหรืออัตตาเป็นสมมติ เมื่อเพิกสมมติเสียแล้ว ก็เป็นอนัตตา คือไม่มีตน แต่เพราะอวิชชา คือความไม่รู้จริง จึงเกิดอัสมิมานะคือความสำคัญว่า เรามีเราเป็นขึ้น แต่นั้นก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นของเราเป็นของเขา และเกิดความสำคัญเปรียบเทียบระหว่างเราและเขาขึ้นว่า ดีกว่า เสมอกัน เลวกว่า และเมื่อประสบอารมณ์อะไร ๆ ก็คอยเอาตนออกรับไปทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นเมื่อได้ชม ก็ออกรับว่าตนได้รับชม  เมื่อถูกด่าว่าก็ออกรับว่าตนถูกด่าว่า  ตลอดถึงเมื่อร่างกาย แก่ เจ็บ ตาย ไปตามธรรมดา ก็ออกรับว่า ตนแก่ ตนเจ็บ ตนตาย เหตุฉะนี้ จึงเกิดรัก แก่งแย่ง แข่งขัน โกรธ เกลียด กลัว และทุกข์เดือดร้อนขึ้นพร้อมมูล โทษทุกข์เหล่านี้มีเพราะอัสมิมานะเป็นต้นเหตุ ส่วนความนำออกได้ซึ่งอัสมิมานะ ย่อมทำลายความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นต้นเสียได้ เมื่อประสบอารมณ์อะไร ๆ ทั้งส่วนดีและส่วนร้าย ก็ไม่มีตนออกรับ จึงไม่ต้องคอยยินดียินร้ายเดือดร้อนไปตามอารมณ์ เมื่อร่างกาย แก่ เจ็บ ตาย ไปตามธรรมดา ก็ไม่มีตนออกรับว่า ตนแก่ เจ็บ ตาย จึงเป็นผู้พ้นรัก พ้นโกรธ พ้นทุกข์เดือดร้อน พ้นแก่ เจ็บ ตาย ได้ชื่อว่าพ้นทุกข์ทั้งปวง ข้อนี้จึงเป็นบรมสุข คือสุขอย่างยิ่ง หรือยอดสุข เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงอุทานขึ้นด้วยพระพุทธอุทานอันมาในอุทานขุททกนิกายข้อต่อไปว่า “อสฺมิมานสฺส วินโย   เอตํ เว ปรมํ สุขํ” แปลความว่า “ความนำออกได้ซึ่งอัสมิมานะ คือความสำคัญว่าเรามีเราเป็น นี้แลเป็นบรมสุข” ดังนี้ สุขในอุทานภาษิตนี้ เป็นนิพพานสุข ดับกิเลสและกองทุกข์สิ้นเชิง ดังที่ตรัสไว้อีกบรรยายหนึ่งว่า “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ”   “นิพพานเป็นบรมสุข” ดังนี้ บรมสุขนี้ เป็นนิรามิสสุข สุขปราศจากอามิสคือกามคุณ เป็นสุขไพบูลย์แท้จริง บรมสุขนี้จักเกิดมี เพราะอาศัยการปฏิบัติอบรมในอัฏฐังคิกมรรค ย่นย่อลงเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้ออันพุทธศาสนิกชนพึงศึกษาสำเหนียกตามพระพุทธสาสโนวาท   บุคคลผู้ใคร่สุข เมื่อได้ทิฏฐธรรมสุขและสัมปรายสุข อันเป็นสุขภายนอกตามสมควรแล้ว พึงแสวงหาสุขภายในต่อไปตามแนวอัฏฐังคิกมรรค กล่าวคือทำใจให้ว่างรัก ว่างชัง ว่างจากความสำคัญว่าเรา ว่าเขา อันเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ความชัง หรือกล่าวโดยส่วนรวมว่าทำใจให้ว่างกิเลส เมื่อทำได้ดังนี้แม้ชั่วคราว ก็จักได้สุขภายในอันนับเข้าในฝักฝ่ายแห่งบรมสุข และควรคิดชั่งใจดูว่า “ใจที่ว่างกิเลสบางอย่างเพียงชั่วคราวยังเป็นสุขได้ ถ้าว่างโดยสิ้นเชิงตลอดไป จักเป็นสุขเพียงไหน”  เมื่อคิดได้เช่นนี้ ก็จักเห็นเค้าบรมสุขได้ราง ๆ เหตุฉะนี้เมื่อเห็นว่าจักได้สุขภายในอันเป็นฝักฝ่ายแห่งบรมสุข เพราะสละทิฏฐธรรมสุขและสัมปรายสุข ก็พึงสละเพื่อแลกสุขที่ไพบูลย์กว่า และพึงสั่งสมอบรมอัฏฐังคิกมรรคตามสามารถ เพื่อจักได้บรมสุขอันเป็นวิบุลสุขแท้จริง

บุคคลผู้อาจสละสุขพอประมาณ เพื่อสุขไพบูลย์ตามนัยที่แสดงมานี้ ได้ชื่อ ธีระ คือปราชญ์ เพราะเป็นผู้มีสติปัญญาพอเพื่อจะไม่ติดอยู่ในสุขพอประมาณเฉพาะหน้า อาจสละเพื่อแลกวิบุลสุขได้ พึงเห็นสมเด็จพระบรมศาสดาเป็นนิทัสสนุทาหรณ์ แม้ในเรื่องนี้เอง คือในการสละที่ทรงทำเมื่อครั้งเป็นสังขพราหมณ์ตามที่เล่ามาข้างต้น ได้ชื่อว่า ทรงสละทิฏฐธรรมสุขเพื่อสัมปรายสุขอันไพบูลย์ และปรากฏในชาดาปกรณ์นั้น ๆ ว่า เมื่อทรงเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็ไม่ทรงติดอยู่ในทิฏฐธรรมสุขและสัมปรายสุข ทรงยอมสละเพื่อบรมสุข ทุกพระชาติโดยลำดับมา ในที่สุดเมื่อได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ชื่อว่าได้ทรงบรรลุบรมสุขอันเป็นวิบุลสุขแท้จริง เมื่อทรงบรรลุบรมสุขแล้ว ก็ยังมีพระหฤทัยไหวเอ็นดูปชานิกรผู้ยังไม่ได้รับสุข แม้มีความปรารถนาสุข อันกำลังแห่งพระมหากรุณาให้ทรงขะมักเขม้น มั่นอยู่ในอันที่จะทรงบำเพ็ญปรหิตสุขสมบัติ เป็นเหตุให้ไม่ทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยาก จึงเสด็จจาริกสั่งสอนเวไนยนิกรเพื่อให้บรรลุถึงสุขอันไพบูลย์ จึงปรากฏว่าทรงเป็นมหาบุรุษแห่งโลก เพราะประกอบด้วยพระมหากรุณา ต้องด้วยพระมหาสมณนิพนธภาษิตว่า “มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห”   “ อัธยาศัยที่ทนอยู่ไม่ได้เพราะกรุณา เป็นลักษณะของมหาบุรุษ ” ดังนี้ ข้อนี้ควรเป็นเนตติของบุคคลทั่วไป เมื่อตนได้บรรลุสุขประโยชน์ตามสมควรแล้ว ก็ไม่ควรมีใจคับแคบนิ่งดูดาย ควรมีเมตตากรุณาบำเพ็ญสุขประโยชน์แก่ผู้อื่นตามกำลังสามารถ

สาธุชนผู้ใคร่สุข พึงอาศัยความไม่ประมาท หมั่นเพ่งพินิจด้วยสติและปัญญาว่า อย่างไรเป็นสุขพอประมาณ อย่างไรเป็นสุขไพบูลย์ ไม่ควรติดอยู่ในสุขพอประมาณที่เกิดเฉพาะหน้า และไม่ควรเกียจคร้านในอันที่จะแสวงหาสุขให้ยิ่งขึ้นไป ถ้าเห็นว่าจักได้สุขไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณ ก็พึงสละเพื่อแลกสุขไพบูลย์ เช่นนี้ก็จักประสบทิฏฐธรรมสุขไพบูลย์ สัมปรายสุขไพบูลย์ และบรมสุขไพบูลย์โดยลำดับ ต้องด้วยนัยพระพุทธสุภาษิตอันมาในธรรมบท ขุททกนิกาย ว่า “อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต ปปฺโปติ วิปุลํ สุขํ”   “ผู้ไม่ประมาท เพ่งอยู่ ย่อมถึงวิบุลสุข”  ดังนี้

รับประทานวิสัชชนามา ในอัตตโนปุพพกัมมวัตถุกถา ยุติลงด้วยเวลา ด้วยประการฉะนี้



จากหนังสือ ธรรมจักษะ เล่ม ๒๗ ตอนที่ ๔ ประจำเดือนมกราค พ.ศ. ๒๔๘๕