Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๑๕

sangharaja-section

sungaracha

อุจจาวจาทัสสนกถา

เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน)

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺตีติ

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนา เป็นเครื่องเตือนใจให้กลับได้สติปัญญา ในเมื่อประสบเรื่องของโลก ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ตามนัยพระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้น พระพุทธนิพนธ์นั้นแปลว่า บัณฑิตย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง มีความหมายโดยตรงคือไม่แสดงอาการเช่นนั้น ด้วยอำนาจความยินดีและยินร้ายในโลกธรรม ดังจะอธิบายเป็นลำดับไป

โลกธรรม หมายความว่า เรื่องของโลกหรือเรื่องประจำโลก จำแนกออกเป็น ๘ ประการ คือ

ลาภ    ได้แก่ทรัพย์สิ่งสัตว์บุคคลที่ได้มา ๑
อลาภ  ได้แก่ความไม่มีหรือเสื่อมลาภ ๑
ยศ      ได้แก่อิสสริยะคือความเป็นใหญ่โดยกำเนิด โดยฐานันดรศักดิ์ หรือโดยหน้าที่การงาน
และความมีบริวาร คือผู้แวดล้อมติดตาม หรือผู้อยู่ใต้อำนาจคอยรับบัญญาใช้สอย ๑
อยศ    ได้แก่ความไม่มีหรือเสื่อมยศ ๑
นินทา  ได้แก่ความติเตียน ๑
ปสังสา ได้แก่ความสรรเสริญหรือเกียรติ คือชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องชมชื่นเชิดชู ๑
สุข     ได้แก่ความสำราญแช่มชื่นแจ่มใสสมจิตต์สมใจไม่บกพร่อง ๑
ทุกข์   ได้แก่ความลำบากเดือดร้อนคับแค้นเข็ญใจ ๑

โลกธรรม ๘ ประการเหล่านี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นโลกธรรมข้างขึ้น อันใคร ๆ รักชอบขวนขวายหา จึงเรียกว่า อิฏฐารมณ์ แปลว่า เรื่องที่ถูกปรารถนา   ส่วนอลาภ อยศ นินทา ทุกข์ เป็นโลกธรรมข้างลง อันใคร ๆ ไม่ปลงใจชอบอยากได้ จึงเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ แปลว่า เรื่องที่ไม่ถูกปรารถนา แต่โลกธรรมทั้ง ๒ ส่วนดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นคู่กันดุจกลางคืนและกลางวัน ใคร ๆ จะคิดปรารถนาเลือกสรรเอาไว้เพียงส่วนที่ใจชอบ และหวังให้ดำรงคงอยู่ตลอดไปจึงไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะโลกธรรมมีปริวัฏฏ์ คือสับเปลี่ยนขึ้นลง ลุ่มดอน สูงต่ำ และต้องเป็นไปตามกฎธรรมดาแห่งสิ่งทั้งปวงในโลก

ที่ว่า โลกธรรมมีปริวัฏฏ์ มีอธิบายว่า มนุษย์ในโลกทุกถ้วนหน้า ไม่เลือกเพศ ภูมิ ชั้น วรรณะ จะเป็นกษัตริย์เศรษฐี หรือผู้ดี อริยชนก็ตาม จะเป็นราษฎร์สามัญหรือชั้นต่ำจำยากก็ตาม ต้องได้ลาภบ้าง อลาภบ้าง ยศบ้าง อยศบ้าง นินทาบ้าง สรรเสริญบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง สลับสับเปลี่ยนกันเรื่อยไป เพราะเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “โลกธรรม ๘ ประการเหล่านี้ ย่อมปริวัฏฏ์สับเปลี่ยนเวียนโลก และโลกก็ปริวัฏฏ์สับเปลี่ยนเวียนโลกธรรม” ดังนี้

ที่ว่าโลกธรรมต้องเป็นไปตามกฎธรรมดาแห่งสิ่งทั้งปวงในโลกนั้น มีอธิบายว่า กฎธรรมดาแห่งสิ่งทั้งปวงในโลก คือเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด กฎธรรมดาทั้ง ๓ ข้อนี้ เรียกว่า สังขตลักษณะ แปลว่าลักษณะแห่งสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น โลกธรรมทุกประการก็ไม่พ้นไปจากลักษณะทั้ง ๓ นี้ โลกธรรมข้างขึ้น คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เมื่อเกิดขึ้นในเบื้องต้น เบ่งตัวขึ้นจนเต็มที่แล้ว ก็ยุบลงในท่ามกลาง และในที่สุดก็เสื่อมสลายหายไปหมด แม้ในโลกธรรมข้างลง คือ อลาภ อยศ นินทา ทุกข์ ก็มีนัยดุจเดียวกัน บางทีโลกธรรมที่ประสบยังมิได้ผ่านไปถึงกฏธรรมข้อสุดท้าย บุคคลผู้ได้ผ่านไปถึงก่อนก็มี กล่าวคือ จำตายจากไปก่อนที่โลกธรรมนั้น ๆ จะไปจาก เพราะเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวไว้โดยความว่า “โลกธรรมทุก ๆ ประการ ล้วนไม่เที่ยง ไม่คงทนยั่งยืน ต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา” ดังนี้

โลกธรรมประวัฏฏ์เป็นที่ตั้งแห่งสติความระลึก และสัมปชัญญะความรู้สึกสำนึกตนว่าจักต้องประสบสับเปลี่ยนกันเรื่อยไป กฎธรรมดาแห่งโลกธรรมเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาพิจารณาให้รู้เช่นเห็นจริง ต่อไปนี้ในที่ซึ่งกล่าวถึงแต่สติ เพื่อให้คำสั้น ก็พึงทราบว่าหมายถึงสัมปชัญญะด้วยทุกแห่งไป และพึงทราบว่า สติเป็นเครื่องห้ามหรือหยุดยั้งมิให้ตื่นเต้นตกใจในโลกธรรม ซึ่งดีกว่าเครื่องฉุดรั้งทุกอย่าง ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดหรือสั่งสำทับมิให้ยินดียินร้ายในโลกธรรม ซึ่งดีกว่าคำสั่งทุกอย่างแม้ที่วางโทษผู้ล่วงละเมิดไว้อย่างแรง

สำหรับผู้ที่มิได้ระลึกพิจารณาให้รู้สึกเห็นจริง โลกธรรมย่อมกลายไปเป็นที่ตั้งแห่งความตื่นเต้นยินดี หรือตื่นตกใจยินร้าย คือย่อมตื่นเต้นยินดีฟูขึ้น เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ย่อมตื่นตกใจยินร้ายฟุบลง เพราอลาภ อยศ นินทา ทุกข์ จึงเป็นผู้หลงงมงายแสดงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ ดุจเรือน้อยลอยโคลงเคลงตามกระแสคลื่นในมหาสมุทร ฉะนั้น นี้ชื่อว่าผู้เขลาเฉาสติปัญญา ส่วนผู้มีสติปัญญาปรีชาฉลาดระลึกพิจารณาให้รู้สึกเห็นจริง เมื่อประสบโลกธรรมที่ยิ่งหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เท่ากับได้พบซึ่งที่ตั้งแห่งสติปัญญา คือย่อมมีสติยับยั้งใจ เป็นเหตุให้ไม่รู้สึกผิดแปลก และย่อมมีญาณปรีชา คือความรู้ตามเป็นจริงสั่งสำทับใจ เป็นเหตุให้มีใจเฉย ๆ เป็นกลาง จึงเป็นผู้ไม่หลงงมมาย วางอาการได้ปกติ ดุจเรือใหญ่ไม่โคลงเคลงเพราะกระแสคลื่นในมหาสมุทร แล่นรุดลัดตัดตรงไปยังท่าที่ประสงค์โดยปกติฉะนั้น

อนึ่ง ผู้ระลึกพิจารณาพอได้สติปัญญาในโลกธรรม ถึงจะแสดงอาการคงที่แท้ทีเดียวยังมิได้ก่อน ก็ยังมีอาการทั่วไปในการแสวงหาเป็นต้น ดีกว่าคนที่ไม่ระลึกพิจารณา ดังจะจำแนกพรรณนาต่อไปเป็นข้อ ๆ พอให้เห็น

๑. ในการแสวงหา สามัญชนทั่วไปไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า ทุก ๆ คนต้องอาศัยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จึงเป็นอยู่ได้ คืออาศัยลาภบำรุงกาย อาศัยยศป้องกันอันตราย เพราะยศความเป็นใหญ่ ย่อมทำให้เป็นที่เกรงขาม และยศย่อมอำนวยให้กิจการดำเนินสะดวก ด้วยผู้มียศย่อมมีพรรคพวกบริวารคอยช่วยเหลือ อาศัยสรรเสริญเอื้อใจให้มีกำลัง อาศัยสุขปลุกชีวิตให้สดชื่น และลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ย่อมเกิดทำให้เห็นโลกแจ่มใสน่าดู ให้เห็นดังโลกคอยยิ้มแย้มเอื้อนเชิญให้อยู่ชม เพราะเหตุนี้ ทุก ๆ คนจึงต่างขวนขวายเสาะแสวงกันอยู่อย่างอลวนบ้างก็ลุอำนาจแห่งความยินดีปรารถนา แสวงหาอย่างโลดโผนไม่เลือกทาง คือที่หมายลาภ ก็ประกอบทุจริตคิดคด เช่นตลบตะแลงฉ้อฉลฉกลักเอา ที่หมายยศ ก็คิดแย่งและแข่ง โดยทางปัดหรือทำลายเขาเพื่อตนจะเข้าสวม ที่หมายสรรเสริญหรือเกียรติ คือชื่อเสียง ก็แสร้างแสดงตัวให้เด่น โดยการปกปิดซ่อนเร้นหนอนบ่อนไว้ภายใน ย้อมแต่ผิวภายนอกให้ดูดี หรือปากเปราะเราะราย พูดป้ายร้ายทับถมผู้อื่น และยกตนให้เขาชมว่าดีชอบ ที่หมายสุข ก็ประกอบการสนุกไปในทางเบียดเบียน หรือในทางทุราจาร หรือคิดอ่านประทุษร้ายล้มละลาย ผู้ขัดขวางความสุขสะดวก และบ้างก็แสวงหาอย่างเรียบร้อยสะอาด แม้จะมีความยินดีปรารถนาอยู่บ้างดังสามัญชนทั่วไป ก็คุมใจไม่ปล่อยให้กิเลสออกมาบงการ คือที่หมายลาภ ก็พยายามประกอบธุรกิจไม่คิดท้อ ถึงจะเป็นงานลำบากแต่สุจริต ก็ยอมยากอาบเหงื่อเพื่อลาภผลซึ่งประสงค์ ที่หมายยศ ก็ตั้งใจประกอบกรณีย์หน้าที่ไม่ให้บกพร่อง และขวนขวายหาทางเพิ่มความรู้ละความสามารถให้ก้าวหน้าไม่หยุดถอย ทั้งมั่นอยู่ในทางซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดคดเพื่อส่งตน ยอมให้แต่ความดีความชอบส่งตนขึ้นไปโดยส่วนเดียว ที่หมายสรรเสริญ ก็พยายามวางตนไว้ในทางดีงามอันเป็นที่ตั้งแห่งความสรรเสริญ เมื่อต้องการเกียรติ คือชื่อเสียงยิ่งขึ้น ก็พยายามยกตัวให้เด่นแต่ด้วยความทำประโยชน์ ที่หมายสุข ก็บำรุงกายและใจให้สดชื่นแจ่มใส โดยวิธีที่ไม่เป็นเหตุทำลายสุขของผู้อื่น เมื่อต้องการความสนุกบันเทิง ก็แสวงหาโดยอาการต่าง ๆ กัน ดังที่กล่าวมาพอเป็นตัวอย่างฉะนี้ แต่ถึงจะมีมากคนมากอาการสักเท่าไรก็ตาม เมื่อจัดเข้าพวกอย่างย่นย่อ ก็มีเพียง ๒ คือ พวกที่แสวงหาโดยทางมิชอบ ๑   พวกที่แสวงหาโดยทางชอบ ๑   ทั้ง ๒ พวกนี้ย่อมปรากฏต่างกันโดยผลดังนี้ พวกที่แสวงหาโดยทางมิชอบ ในส่วนที่ปรากฏว่าผิดกฎหมาย ย่อมต้องได้รับโทษตามกระบิลเมือง ต้องเลื่องชื่อลือชั่ว เสื่อมลาภยศ เสื่อมสรรเสริญสุขแทนที่จะได้ เมื่อยังไม่ปรากฏหรือจับยังไม่ได้ ก็ต้องเดือดร้อนนอนตาไม่หลับ เพราะต้องคอยหลีกหลบระวังตัว ในส่วนที่ผิดศีลธรรม เมื่อความชั่วปรากฏแก่ผู้อื่น ก็ย่อมประสบความเสื่อมดุจเดียวกัน แม้จักยังไม่เสื่อมจากลาภยศในปัจจุบันนี้ก่อน ก็ย่อมเสื่อมเสียชื่อเสียง แม้เมื่อไม่ปรากฏแก่ผู้อื่น ก็ต้องนอนเป็นทุกข์เพราะหวาดต่อผลสนอง และการแสวงหาอันผิดศีลธรรมนั้น เป็นกรรมชั่ว เป็นบาปอกุศล อันจักอำนวยอนิฏฐผล มีอลาภ อยศ เป็นต้นในภายหน้า ส่วนพวกที่แสวงหาโดยทางชอบ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถึงจะค่อย ๆ เกิด ย่อมนับว่าเป็นสิ่งประเสริฐบริสุทธิ์ แม้จะน้อยก็เป็นของมีค่าดุจทองคำธรรมชาติ ผู้ที่ได้มาเล่าก็เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด ซึ่งคิดตรวจดูแล้วน่าอิ่มใจ ย่อมปลอดภัยแต่กฎหมาย ย่อมปลอดเวรและผลร้ายอันจักเกิดแต่ความชั่วเพราะมิได้ทำ ผลแห่งการแสวงหาที่ชอบและมิชอบ ย่อมตั้งอยู่ตรงกันข้ามฉะนี้ แม้ในปัจจุบัน ก็ยังมีปรากฏตัวอย่างให้รู้เห็นเป็นที่อ้างได้อยู่มาก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดมีปัญหาขึ้นว่า คนมิใช่น้อยทั้งเคยรู้เช่นเห็นตัวอย่างอยู่แล้ว ไฉนจึงได้แกล้วกล้าเสาะแสวงโดยมิชอบ ? ปัญหานี้ตอบได้ทันทีว่า เพราะเฉาสติและปัญญาดังกล่าวมาข้างต้น จึงเป็นผู้เขลารู้ไม่เท่าทันกิเลสในใจของตนเอง ผู้ที่ทำการใกล้โลกธรรมวัตถุเช่นเงินทอง หรือมองเห็นยศมาจดจ้องอยู่ใกล้ ๆ ถ้าไม่มีสติปัญญาเป็นเครื่องให้คิดรั้งสั่งสำทับกำกับอยู่เพียงพอ ก็จะเอนเอียงไปตามอำนาจความปรารถนา ที่อย่างแรงกล้าถึงให้คว้าเอามาอย่างลืมตัว ลืมกลัวผิด คนย่อมถลำทุจริตเพราะขาดเครื่องรั้งสั่งสำทับใจฉะนี้มิใช่น้อย

๒. ในคราวได้ความเสื่อมหรือคราวไม่ได้ ธรรมดาอำนวยให้โลกธรรมมีปริวัฏฏ์ได้ โลกธรรมนั้น ๆ จึงไม่รวมอยู่ในบุคคลผู้เดียวตลอดไป ต้องกลับกลายไปเฉลี่ยแก่คนอื่น ๆ ทุกคนจึงต้องรับต้องแบ่งลาภ อลาภ เป็นต้น จากกันและกัน สลับสับเปลี่ยนเรื่อยไป โลกจึงหมุนเวียนขึ้นลงอยู่โดยปกติ ถึงดังนี้ก็จริง โลกธรรมที่น่าปรารถนาอย่างเช่นลาภ ยศ บางขั้น ย่อมมีจำนวนอันจำกัด ไม่เพียงพอเพื่อคนทั้งปวงจะได้เทียมเท่าทั่วหน้ากัน เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ทำการแสวงหาจึงบ้างก็ได้ บ้างก็ไม่ได้ เป็นธรรมดาผู้เขลาสติปัญญาเมื่อได้โลกธรรมที่น่าปรารถนา บ้างก็ตระหนี่ถี่เหนียวเข้าเกลียวกับโลภสนิทดังเชือกหนัง ไม่ใช้ลาภให้บังเกิดประโยชน์แก่ตนและคนอื่นสมคุณค่า บ้างก็เจ้ายศออกท่าจนน่าหัว บ้างก็ติดสรรเสริญชอบฟังแต่คำเยินยอว่าตัวดีติไม่ได้ บ้างก็ติดสุขติดการสนุกเพลิดเพลินถึงเกียจคร้านเสียการงาน บ้างก็อาศัยโลกธรรมมีลาภ ยศ เป็นต้น ประกอบกรรมมิชอบต่าง ๆ เช่นอ้างหรือใช้ยศข่มขู่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ข้อนี้ก็จะเป็นทุรกรรมเครื่องตัดรอนอิฏฐผลมีลาภ ยศ เป็นต้น ของตนเอง โลกธรรมที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุข กลับไม่เป็นประโยชน์ ซ้ำอำนวยทุกข์โทษทวีคูณ   ส่วนผู้มีสติปัญญาปรีชาฉลาด เมื่อได้โลกธรรมที่ปรารถนามา ย่อมรู้จักรักษาและใช้ให้เกิดผล คือรู้จักจ่ายลาภให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไม่หวงแหนเก็บไว้อย่างก้อนหิน ดิน ทราย ใช้ยศอำนวยอำนาจบริหารการงานให้สำเร็จไปดี ไม่หลงเห่อเสิบสาน รับคำสรรเสริญทั้งนินทามาสอบกับการกระทำ แต่ไม่ถึงคำลมปากนั้น ๆ ว่ามีเนื้อหาสาระสำคัญ และลอยลมหรือพองลม เมื่อเห็นว่าตนกระทำดีสมคำสรรเสริญ ก็ยินดีด้วยการกระทำของตน มิใช่ยินดีด้วยคำสรรเสริญ ใช้สุขบำรุงชีวิตให้สดชื่นตามสมควรแก่กาล ไม่ติดความเพลิดเพลินถึงลืมงาน หรือถึงความเกียจคร้านเลิกละหน้าที่ ทั้งอาศัยโลกธรรมมีลาภ ยศ เป็นต้น ประกอบการบุญการกุศล อันจะเป็นเหตุต่ออิฏฐพลมีลาภ ยศ เป็นต้น ต่อไปภายหน้า โลกธรรมฝ่ายอิฏฐผลที่บังเกิดแก่บุคคลเช่นนี้ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์โดยส่วนเดียว

อนึ่ง ในคราวประสบอนิฏฐผล เช่น อลาภ อยศ คือในคราวเสื่อมหรือคราวว่างลาภ ยศ เป็นต้น ผู้ไม่ฉลาดดังกล่าวมา ย่อมเสียขวัญตระหนกตกใจ ฟุบแฟ่บกรอบเกรียบด้วยความยินร้าย อาจเป็นเหตุให้คิดหมายมุ่งไปนอกทาง ส่วนผู้มีสติปัญญาปรียชาฉลาด ย่อมมีขวัญดีไม่ตกใจและคิดเห็นไปว่า ทั้งนี้เพราะเหตุที่มิได้กระทำให้ถูกทางแห่งลาภ ยศ เป็นต้นในปัจจุบัน และมิได้กระทำบุญอันเป็นตัวเหตุอำนวยให้ไว้แต่ก่อน เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ ย่อมปลูกความอุตสาหะในการแสวงหาไปใหม่ พยายามคิดแก้ไขให้ดีโดยแยบคาย เมื่อแก้ไขให้ดำเนินไปถูกทางแล้ว ลาภยศเป็นต้นจะแคล้วไปข้างไหน และหมั่นประกอบการบุญการกุศลไว้ เพื่อจะได้ไม่ต่ำต้อยน้อยหน้าด้วยลาภ ยศ เป็นต้นในกาลต่อไป

๓. ในอาการที่เนื่องด้วยโลกธรรม ทุกคนจำต้องมีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่นมากและน้อยตามฐานะ ผู้ไม่ฉลาดรู้สภาพแห่งโลกธรรมย่อมประมาท อาศัยโลกธรรมเช่นยศแสดงอคติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่าเลือกที่รักมักที่ชัง และในคราวเจริญมั่งมีด้วยอิฏฐผลมีลาภและยศเป็นต้น ย่อมผยองมองหมิ่นและกระด้างต่อญาติมิตรสหาย แต่ในคราวเสื่อมก็ฟุบแฟ่บซบเซาอ่อนเข้าหา นี้ชื่อว่าอาศัยโลกธรรมแสดงอาการขึ้นลงด้วยอำนาจอคติ และด้วยอำนาจกระด้างหรืออ่อนแอ อาการแม้เช่นนี้ ย่อมสนองให้ต้องเสื่อมอิฏฐผลมียศเป็นต้นของตนเอง ส่วนผู้มีสติปัญญาปรีชาฉลาด ย่อมไม่ประมาท สามารถตั้งตนไว้ได้ในความยุติธรรมเที่ยงตรง ดังคำว่า “อุชุ” ตรง   “สุหุชุ” ตรงดี  และมีสมานัตตา คือวางตัวเสมอต้นเสมอปลายในหมู่ญาติมิตรสหาย นี้ชื่อว่าอาศัยโลกธรรมแสดงอาการเที่ยงธรรมและสม่ำเสมอ อาการแม้เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุเจริญอิฏฐผล ดังคำว่า “ยศของผู้ไม่ล่วงอคติ ๔ ย่อมเจริญเต็มที่ เหมือนพระจันทร์ข้างขึ้น” ดังนี้

 

ในข้อที่จำแนกกล่าวมานี้ มีใจความว่า “ผู้มีสติปัญญาปรีชาฉลาด ย่อมไม่หลงและแสดงอาการของผู้หลงงมงาย ส่วนผู้เขลาเฉาสติปัญญา ย่อมหลงและแสดงอาการของผู้หลงงมงาย เพราะโลกธรรมจำเดิมแต่การแสวงหาเป็นต้นไป” และทุก ๆ ข้อสามัญชนทั่วไป ย่อมสามารถระลึกรู้ได้ว่าดีชั่วควรมิควรอย่างไร เว้นไว้แต่ไม่พยายามจะระลึกรู้ เพื่อเตือนให้ระลึกรู้โดยนัยละเอียดยิ่งขึ้นอีก จะลำดับกล่าวด้วยคำสั้น ๆ แต่ย่อ ๆ ต่อไป

๑. โลกธรรมทุกประการล้วนเป็นผล   อิฏฐารมณ์ทั้งหมด รวมเรียกว่าอิฏฐผล   อนิฏฐารมณ์ทั้งหมด รวมเรียกว่าอนิฏฐผล   อิฏฐผลทุกอย่างประมวลลงในสุข   อนิฏฐผลทุกอย่างประมวลลงในทุกข์   สุขและทุกข์จึงเป็นประธานแห่งโลกธรรมทั้งปวง เพราะโลกธรรมเป็นผล จึงมีเหตุ เพราะฉะนี้ โลกธรรมทุกประการจึงประวัฏฏ์มาแต่เหตุ เหตุแห่งโลกธรรมมี ๒ คือ   เหตุปัจจุบัน ๑   เหตุอดีต ๑   เหตุปัจจุบันได้แก่การทำงานในปัจจุบันทั้งปวง คือการงานใดถูกทางแห่งโลกธรรมข้อใด การงานนั้นก็เป็นเหตุแห่งโลกธรรมข้อนั้น เหตุอดีตได้แก่กรรมอันได้ทำไว้ คือกรรมที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นเหตุแห่งอิฏฐผล   กรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศล เป็นเหตุแห่งอนิฏฐผล ได้ในคำว่า “กรรมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต” กรรมที่ได้ทำไว้นี้แล เป็นเครื่องหนุนเหตุปัจจัยให้เป็นไปได้ แม้อย่างไม่นึกฝันและอย่างคาดไม่ถึง โลกธรรมย่อมปริวัฏฏ์มาจากเหตุฉะนี้ และต้องปริวัฏฏ์ไปตามสังขตลักษณะ อันเป็นกฎธรรมดาแห่งวิปริณามวัตถุทั้งปวง เพราะเหตุนี้โลกธรรมทุกประการจึงไม่ควรเป็นที่ตั้งแห่งยินดีและยินร้าย

๒. ยินดียินร้ายในภายใน เป็นเหตุแห่งอาการขึ้นลงในโลกธรรม และเป็นตัวกิเลสนำให้กิเลสอื่น ๆ เกิดตามเป็นทิวแถว กิเลสนั้น ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุแห่งอาการวิปริต ทั้งภายในและภายนอกทุก ๆ อย่าง เช่นตื่นเต้นตกใจและทุจริตต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาในการแสวงหาเป็นเบื้องต้น ยินดียินร้ายจึงเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งอาการสูงต่ำในโลกธรรม และอาการวิปริตทั้งสิ้น   อาการเช่นนี้ นับว่าเป็นอาการขึ้นลงทั้งหมด ผู้มียินดียินร้ายจึงชื่อว่าเป็นผู้หลงงมงาย และต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนรอบด้านโดยตรง   ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดยินดียินร้าย ปัญญาจึงนับว่าเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งอาการไม่ขึ้นลงในโลกธรรม และอาการปกติทั้งสิ้น เพราะเหตุนี้อาการขึ้นลงทั้งหมดจะหายไปได้ด้วยอาศัยปัญญาโดยตรงและโดยอ้อม ก็ต้องอาศัยอุปการธรรมอื่น ๆ เช่นสติเป็นต้น เป็นเครื่องช่วยปัญญา โดยนัยดังแสดงมานั้น

๓. วิธีทำกิจกำจัดยินดียินร้ายแห่งปัญญา คือพินิจพิจารณาที่ตั้งแห่งยินดียินร้าย คือโลกธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าล้วนเป็นวิปริณามธรรม ไม่มีส่วนไหนน่ายินดี ไม่มีส่วนไหนน่ายินร้าย เมื่อรู้เห็นตามเป็นจริงดังนี้ ยินดียินร้ายก็สงบ เพราะไม่พบเห็นว่าส่วนไหนควรจะยินดีหรือยินร้าย เมื่อยินดียินร้ายสงบ อาการขึ้นลงในโลกธรรมและอาการวิปริตทั้งสิ้นก็พลอยสงบ ผู้มีปัญญากำจัดยินดีหรือยินร้ายได้สิ้นเชิง จึงเป็นตาที แปลว่าผู้คงที่ ซึ่งเรียกในที่นี้ว่าบัณฑิต ย่อมเป็นผู้พ้นความหลงงมงาย ไม่แสดงอาการขึ้นลงทุกประการ จึงเป็นผู้พ้นสรรพทุกข์ประสบสุขไพศาล ได้ในฉันทคาถาท้ายโลกธรรมสูตร แปลความว่า “ผู้มีสติปัญญาดี พิจารณารู้โลกธรรมเหล่านี้ว่า มีอันแปรปรวนไปเป็นธรรมดา โลกธรรมส่วนที่น่าปรารถนาย่อมไม่ย่ำยียั่วเย้าจิตต์ของท่านให้ยินดี ส่วนที่ไม่น่าปรารถนาก็ไม่เป็นเหตุบีฑากระทบให้ยินร้าย เพราะยินดีหรือยินร้ายท่านมล้างจนตกไปไม่มีเหลือ ท่านรู้ทางว่างกิเลสไม่มีทุกข์โศก รู้โลกธรรมโดยชอบ จึงถึงซึ่งฝั่งแห่งภพ คือพระนิพพาน” ดังนี้

ปลงความว่า ผู้มีสติปัญญาปรีชาฉลาด เป็นเหตุบรรเทาละยินดียินร้ายให้จางหาย ดังได้กล่าวถึงโดยลำดับแต่ต้นมา มิใช่ว่าใครที่ไหนอื่นคือบัณฑิต ถ้าเราท่านฉลาดระลึกคิดพิจารณา บัณฑิตก็มิใช่ใครที่ไหนมาคือเราท่าน บัณฑิตผู้มีสติปัญญาปรีชาฉลาดเต็มที่ มาละกิเลสมียินดียินร้ายเป็นประธานได้สิ้นเชิง ย่อมเป็นตาทีชนคนคงที่ เมื่อต้องสุขอันเป็นที่ตั้งรวมแห่งอิฏฐผล หรือเมื่อต้องทุกข์อันเป็นที่ตกรวมแห่งอนิฏฐผล ก็ดำรงตนสม่ำเสมออย่างหนึ่งอย่างเดียวไม่เลี้ยวขึ้นเลี้ยวลง และมีอาการตรง ไม่ฟูฟุบ ลุ่มดอน สูงต่ำ เพราะกิเลสจำพวกอื่นทั้งหมด สมด้วยพระพุทธปาพจน์บทตั้ง ณ เบื้องต้นว่า “นอุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ   บัณฑิตย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง” ดังนี้

สาธุชนเมื่อรู้โดยนัยที่แสดงมาฉะนี้ พึงปลูกสติปัญญาให้เกิดมีโดยไม่ผัดให้เนิ่นช้า ด้วยว่าสติปัญญานั้นมีอยู่ในบุคคลทุกถ้วนหน้า ไม่ต้องไปซื้อแย่งแสวงหาที่ไหน แต่อาจยังเฉาอยู่ เพราะมิได้รับความใส่ใจถึง ฉะนั้น เพียงตักเอาน้ำใจรดใส่ให้ ก็จะงอกงามขึ้นในฉับพลัน และวิธีปลูกด้วยน้ำใจก็มิใช่ยาก คือใส่ใจระลึกให้รู้สึกสำนึกตนว่า “โลกธรรมต้องปริวัฏฏ์มาไปเป็นปกติ ข้อนี้จึงมิใช่ของแปลก” นี้เป็นสติ ใส่ใจพิจารณาให้รู้ตามเป็นจริงว่า “โลกธรรมนี้นั้นไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องแปรปรวนไปตามธรรมดา” นี้เป็นปัญญา เมื่อใส่ใจปลูกอยู่ฉะนี้ สติปัญญาก็จะเจริญขึ้นโดยลำดับ เป็นเครื่องรับรองพร้อมทั้งถ่ายถอนให้เบาสบาย ทำให้เป็นไทยแก่ตน ดลแต่ความสุขปลอดโปร่ง ทุกทิพาราตรีกาล

ขออำนาจพระศรีรัตนตรัยอันศักสิทธิ์จงอำนวยอิฏฐผล คือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แก่สาธุชนทุกถ้วนหน้าผู้แสวงหาแต่โดยชอบ ส่วนผู้ที่ประกอบการแสวงหาโดยมิชอบ ขอจงอำนวยให้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี โดยเหตุผลวิถีอันเที่ยงธรรมทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้กลับตัวเปลี่ยนใจดำเนินทางใหม่ ทั้งนี้ เพื่อสันติสุขและไพบูลย์ผลแก่ตนและหมู่ แก่ประเทศชาติและโลกเป็นที่สุด สมดังจุดประสงค์แห่งพระพุทธศาสนาจงทุกประการ

อุจจาวจาทัสสนกถามีใจความพร้อมทั้งอรรถาธิบาย ดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้



จากหนังสือ ธรรมจักษะ เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๙ ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔