Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๑๔

sangharaja-section

sungaracha

วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ

พระธรรมเทศนา
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน)
พ.ศ. ๒๕๑๖

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องทางธรรมะ คือ ปฏิบัติตนโดยลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ชื่อว่าถูกต้องในทางที่ดีของโลกด้วย ความโลภ โกรธ หลง  เป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องลด จะได้กล่าวต่อไป

ความโลภ อยากจะได้ อยากจะเป็น ในทรัพย์สิ่งของในตำแหน่งของผู้อื่น หรือที่ไม่ควรจะได้จะเป็นของตน

ความโกรธ เคืองแค้น เพราะไม่ได้ดังใจ หรือเพราะขัดใจ ไม่ถูกใจ ไม่ตรงใจ จนถึงจะต้องให้ได้ในทางร้าย หรือจะต้องตอบโต้ในทางร้ายให้สาสมกันหรือยิ่งกว่า

โมหะ หลงใหล ไม่ใช้ปัญญาพินิจให้รู้เหตุผล จึงหลงตนเอง คือไม่รู้จักตนเองตามที่เป็นจริง หลงทาง คือถือเอาทางที่ผิด เดินทางที่ผิด เพราะไม่มีมนสิการ (ใส่ใจพิจารณา) โดยแยบคาย โมหะที่มีเพราะไม่ใช้ปัญญามนสิการโดยแยบคายนี้ เป็นมูลฐานให้โลภ ให้โกรธดังกล่าวมาแล้วด้วย กล่าวรวมกันว่าทั้งสามนี้เป็นกิเลส คือ เครื่องเศร้าหมอง เพราะเป็นมูลเหตุก่อเจตนาให้ประกอบกรรมที่เศร้าหมองคือทุจริตทางกายวาจาใจต่าง ๆ

กิเลสมี ๒ อย่าง คือ จิตกิเลส กิเลสทางใจ  กรรมกิเลส กิเลสทางกรรม  ในทางโลกของฆราวาส ลำพังกิเลสทางใจอย่างเดียวยังไม่เรียกกันว่าเป็นกิเลส ต่อเมื่อเป็นกิเลสทางกรรม (การกระทำ) จึงจะเรียกกันว่าเป็นกิเลส กิเลสของฆราวาส จึงหมายถึงกิเลสทางใจนั่นแหละที่แรงขึ้นจนถึงทำทุจริตต่าง ๆ คือเป็นกิเลสทางกรรมขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสสอนเรื่องกิเลสแก่คฤหัสถ์ ก็ตรัสสอนถึงกิเลสทางกรรมเช่นนี้ และที่ตรัสถึงอกุศลมูล (รากเหง้าของอกุศล) มีความตอนหนึ่งว่า “คนที่โลภโกรธหลงแล้วย่อมก่อทุกข์แก่ผู้อื่นด้วยไม่มีสติ” กรรมที่เศร้าหมอง อันหมายถึงทุจริตต่าง ๆ เป็นกิเลสที่ใคร ๆ ก็มองเห็น และพูดกันว่าเป็นกิเลส คือเศร้าหมองจริง ใครไปทำเข้าก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสื่อม แม้คนที่ทำทุจริตเอง ก็ต้องซ่อนทำ และต้องพยายามกลบเกลื่อนแก้ตัวหรือหลบหนี เพราะก็รู้ว่าผิดไม่ดี และความรู้นี้เองคอยหลอนรบกวนจิตใจตนเองอยู่เสมอ ทำให้ไม่มีสุข เพราะคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์โดยทั่วไป ย่อมมีระดับจิตใจสูงพอที่จะสำนึกในความผิดชอบชั่วดีอยู่ตามสมควร เมื่อจิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใสร่างกายก็เศร้าหมอง หมดสง่าราศีเป็นกิเลสจริงดังนี้ ฉะนั้น วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องไม่ว่าในทางธรรมโดยตรงหรือในทางที่ดีของโลก จึงอยู่ที่ปฏิบัติลดความโลภ ความโกรธ ความหลง มิใช่ปฏิบัติโดยการเพิ่มให้มากขึ้น

อีกคำหนึ่ง คือ ตัณหา มักพูดกันในภาษาไทยว่ากิเลสตัณหา เฉพาะคำว่า ตัณหา แปลกันว่า ความทะยานอยาก ความดิ้นรนใจ เพื่อจะได้สิ่งที่ชอบ จะเป็นตามที่อยาก จะไม่เป็นอย่างที่ไม่ชอบ บางทีก็แปลว่า ความอยากเท่านั้น ฟังดูคล้ายกับความโลภ ทั้งถ้าแปลตัณหาว่าทะยานอยาก ก็คล้ายจะแรงกว่าความโลภไปเสียอีก แต่การแปลภาษาโดยเฉพาะศัพท์ธรรมเป็นการยากที่จะหาคำให้ตรงความหมายกัน จึงต้องอาศัยอธิบาย ได้อธิบายความหมายของคำว่า โลภ มาแล้ว ส่วนคำว่าตัณหานี้ ใช้หมายถึงความอยากที่มีเป็นวิสัยของโลก เมื่อเป็นโลกุตระ (เหนือหรือพ้นโลก) จึงจะสิ้นตัณหา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “โลกอันตัณหาก่อขึ้น” และพระอานนท์ได้กล่าวไว้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พึงอาศัยตัณหา ละตัณหาเสีย” ท่านพระอานนท์อธิบายไว้เอง ถือเอาแต่ใจความย่อ ๆ ว่า “คือคิดปรารถนาว่า ท่านผู้มีชื่อนี้ได้บรรลุวิมุตติแล้ว เมื่อไรจักได้บรรลุบ้าง” ฉะนั้น ในวิสัยโลกทั่วไปจึงยังมีและอาศัยตัณหาเพื่อก่อสร้างความดี แต่ถ้าเป็นความอยากในทางที่ผิดก็มีโทษ และถ้าแรงจนถึงเป็นโลภที่ให้ทำทุจริต ก็เป็นกิเลสที่จะต้องปฏิบัติลดลง ทั้งถ้าเป็นทาสของตัณหา ก็จะเดือดร้อนไม่มีสุข เช่นเมื่ออยากได้มาก ๆ ได้เท่าไหร่ไม่พอ หรืออยากดีมากไป ก็กระเสือกกระสนให้ทำงานเกินกำลัง ทีแรกแม้ไม่ได้คิดจะทำทุจริต แต่ความอยากใหญ่โตอาจฉุดรั้งไปให้ทำได้ จึงจำต้องลดลงอีกเหมือนกัน ให้อยู่ในระดับที่พอดี ลดลงได้ จึงจะเป็นไทแก่ใจของตนเองและมีสุข

วิธีที่จะลดความโลภโกรธหลง คือ หัดใช้ปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้ดีรู้ชั่ว ด้วยการใส่ใจพิจารณาโดยแยบคายคือโดยเหตุผลที่ไม่อยู่ในอำนาจของความโลภ โกรธ หลง ปัญญาที่จะหัดใช้พิจารณาให้รู้ดังนี้ ทุก ๆ คนย่อมมีอยู่เป็นพื้นน้อยหรือมาก แต่ถึงจะมีน้อยก็สูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานแน่ สัตว์ดิรัจฉานบางพวกน่าจะมีความรู้อยู่บ้าง ดังสังเกตจากกิริยาของแมวในขณะที่ลักปลา มีอาการซ่อนเจตนา เช่น ทำเดินเมียงเข้าไป หรือหมอบคอยทีอยู่เฉยๆ เหมือนไม่เอาใจใส่ ได้ท่าก็คาบปลาวิ่งหนีไปโดยเร็ว กิริยาที่แสดงออกของแมวดังนี้ แสดงว่าแมวรู้ว่าปลาเป็นสิ่งที่เจ้าของหวงและการที่ทำนั้นเป็นความผิดจึงต้องรีบหนี เมื่อแมวยังรู้ว่าผิด ไฉนคนจึงไม่รู้ว่าผิด คนย่อมรู้ได้ดีกว่าแน่นอน แต่คนที่ทำชั่วทำผิดมักไม่ใช้ความรู้หรือไม่ใช้ปัญญาพินิจให้เกิดความรู้ ไปใช้ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ถูกความโลภ โกรธ หลง เป็นนายใช้ให้ทำ ส่วนความรู้ไม่ได้ใช้ น่าจะเป็นเพราะมีกำลังอ่อนกว่า ดังเช่นตัวอย่างว่า ใจหนึ่งคิดจะทำทุจริต อีกใจหนึ่งคิดว่านี่เป็นความชั่วความผิดไม่ดีอย่าทำ แต่ใจที่คิดจะทำแย้งว่า มัวกลัวผิดก็จนอยู่อย่างนี้แหละ ทำดีไม่เห็นจะพอใช้สักที ถ้าใจที่คิดอยากร่ำรวยทางทุจริต (โลภ) แรงกว่า ก็เป็นฝ่ายชนะ ผลก็คือทำทุจริต ถ้าใจที่รู้ผิดชอบแรงกว่าก็ชนะ ผลก็คือไม่ทำทุจริต ฉะนั้น วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ปฏิบัติเสริมกำลังให้แก่ความรู้ในความดีความชั่ว ด้วยการเพิ่มพูนความรู้นี้ โดยหมั่นใส่ใจพิจารณาให้แยบคาย ให้ยุติด้วยเหตุผลที่เป็นเสรีจากความโลภโกรธหลง กับด้วยการเพิ่มกำลังสมทบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ คือ ความเคารพเชื่อฟังกฎหมาย ศาสนา คตินิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ความพากเพียรพยายาม ความมีสติ ความตั้งใจมั่นคงแน่วแน่ กำลังผสมเหล่านี้ประกอบกันเข้ากับความรู้ดังกล่าว ก็รวมเป็นกำลังใจฝ่ายธรรมะ คือฝ่ายดี จะเอาชนะฝ่ายกิเลสได้ เครื่องยั่วเย้าให้อยากทำทุจริตก็จะยั่วไม่สำเร็จ เพราะมีกำลังใจฝ่ายธรรมะแข็งแรงกว่าต่อต้านไว้ได้ คนที่ติดสุรา หรือติดยาเสพติดให้โทษ อาจเลิกได้ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว ฉะนั้นหากมีกำลังใจฝ่ายธรรมะ ไฉนจะลดความโลภโกรธหลงไม่ได้ กำลังใจดังกล่าวนี้ มีความรู้นี่แหละเป็นข้อสำคัญ จึงกล่าวไว้ข้างต้นว่า ให้หัดใช้ปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้ดีรู้ชั่ว

 

จะกล่าวถึงความเพิ่มพูนความรู้อีกอย่างหนึ่ง ความรู้ที่ได้จากปัญญา คือ ความรู้ในสัจจะ (ความจริง) สัจจะมีซับซ้อนกันอยู่หลายชั้นหลายอย่าง ดังเช่นที่จะกล่าวต่อไป

โลกสัจจะ สัจจะของโลก เช่น คน สัตว์ดิรัจฉาน ต้นไม้ ภูเขา เพราะในโลกมีสิ่งเหล่านี้อยู่จริง จึงเป็นสัจจะของโลกแต่ละอย่าง

สมมุติสัจจะ สัจจะโดยสมมุติ คำว่า สมมุติ แปลว่ารู้พร้อมกัน รู้ด้วยกัน แต่มีใช้กันอยู่ ๒ คำ คือ สมมุติ (มีสระอุ) กับสมมติ (ไม่มีสระอุ) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้ในความหมายอย่างเดียวกันว่า “สมมต สมมติ สมมุติ ก. ตกลงกันว่า, ยินยอมกันว่า. สัน. ต่างว่า” ในดิกชันนารีบาลี ของ ที. ดับบลิว. ริส เดวิดส์ ให้คำแปลต่างกันว่า สมมติ สงบ, พักผ่อน, ส่วนสมมุติ ตกลง, อนุมัติ เป็นต้น กล่าวเฉพาะในความหมายว่า รู้พร้อมกัน รู้ด้วยกัน หรือตกลง อนุมัติ ดังกล่าวในสัจจะข้อนี้ ในตำราศัพท์อภิธานัปปทีปิกาสูจิ ใช้ว่า สมมุติ (เหมือนกับดิกชันนารีของ ริส เดวิดส์) แต่ในตำราภาษาบาลีบางเล่มและในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พ.ศ. ๒๔๗๑ ใช้ สมมติ (ไม่มีสระอุ) เป็นพื้น ดูในตำราศัพท์สันสกฤตเทียบ ในดิกชันนารีของ วะมัน ชิวราม อัปเต ใช้รูปเดียวว่า สํมติ อีกฉบับหนึ่ง ใช้ว่า สมมติ (ไม่มีสระอุ) ประมวลเข้าแล้วน่าจะใช้ได้ทั้ง ๒ รูป คือสมมุติสัจจะ สมมติสัจจะ

สัจจะโดยสมมุติ คือ โดยตกลง ยินยอม อนุมัติกัน เช่น ชื่อของคน ชื่อของสัตว์ ชื่อของต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น ซึ่งตั้งขึ้นเรียกรู้กันโดยตกลงยินยอมพร้อมกันว่าใช้ชื่อนี้ เช่น ต้นมะม่วง ต้นทุเรียน ชื่อวัตถุที่คนนำไม้เป็นต้นมาปรุงแต่งประกอบเข้า เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นสมมุติสัจจะ แม้ภาษาที่พูดต่าง ๆ เช่น ภาษาไทย จีน แขก ฝรั่ง เป็นสมมุติสัจจะเช่นเดียวกัน เพราะตั้งคำขึ้นสำหรับพูดเขียนที่รับรองใช้พร้อม ๆ กัน ในชนชาติที่พูดภาษาเดียวกัน สมมุติดังกล่าวเป็นสัจจะขึ้นเพราะตกลงยินยอมพร้อมกัน เช่น เมื่อตั้งชื่อให้แก่ต้นไม้ชนิดหนึ่งว่าต้นมะม่วง ต้นไม้ชนิดนั้นก็เป็นต้นมะม่วงขึ้นจริง ใคร ๆ พากันเรียกว่ามะม่วง ถ้าเรียกเป็นอย่างอื่นก็ผิด ไม่มีใครรู้รับรอง ทั้งอาจเป็นพูดเท็จอีกด้วย เช่น เมื่อเดินผ่านต้นมะม่วงมา ถูกถามว่าได้เดินผ่านต้นมะม่วงมาหรือเปล่า ตอบทั้งรู้ว่า ไม่ได้เดินผ่านมา ก็เป็นพูดเท็จ เพราะความจริงได้เดินผ่านมา ทุกอย่างที่สมมติขึ้นแล้วก็กลายเป็นสัจจะขึ้นโดยสมมุติดังนี้

ปรมัตถสัจจะ สัจจะโดยปรมัตถ์ คือ เด็ดขาด คำว่า ปรมัตถ์ ประกอบขึ้นจาก ปรม อย่างยิ่ง, สูงสุด+อัตถ เนื้อความ, ประโยชน์, ผล, ความดี แปลรวมกันว่า เนื้อความอย่างยิ่ง, ประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นต้น เมื่อใช้กับสัจจะหมายถึงสัจจะโดยเนื้อความละเอียดอย่างยิ่ง คือ โดยเด็ดขาด มิใช่โดยโลกบัญญัติ หรือโดยสมมุติ เช่น คน สัตว์ดิรัจฉาน ต้นไม้ ภูเขา ที่เป็นโลกสัจจะ หรือคนชื่อนั้นชื่อนี้ มีบรรดาศักดิ์อย่างนั้นอย่างนี้ ที่เป็นสมมุติสัจจะ แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถสัจจะแล้ว ก็ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ดิรัจฉาน ไม่มีภูเขา ต้นไม้ ไม่มีนาย ข. นาง ฉ. มีแต่ขันธ์ อายตนะ ธาตุหรือมีแต่อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังมีคาถาแสดงปรมัตถสัจจะบทหนึ่ง แปลความว่า “ทุกข์มีอยู่ แต่ใคร ๆ ผู้ถึงทุกข์ไม่มี การทำมีอยู่ แต่ผู้ทำไม่มี ความดับมีอยู่ แต่บุคคลผู้ดับไม่มี ทางมีอยู่ แต่บุคคลผู้ไปไม่มี” การอธิบายทางปรมัตถ์ ก็อธิบายไปตามแนวธรรมล้วน ๆ ไม่พูดถึงสัตว์ บุคคล เช่นว่า เมื่อส่วนต่าง ๆ อันเรียกว่า “ธาตุ” มาประกอบปรุงแต่งกันขึ้นเรียกว่า “สังขาร” ตามที่เรียกกันต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วในโลกสัจจะ สมมุติสัจจะ ระยะแรกที่ก่อเกิดขึ้น เป็นชาติ (ความเกิด) ต่อไปเป็นชรา (ความแก่) ในที่สุดก็แตกแยกออกจากกัน เป็นมรณะ (ความตาย) เมื่อยังมีเหตุธาตุทั้งหลายก็มาประกอบปรุงแต่งกันอีก จนกว่าจะสิ้นเหตุ จึงจะหยุดประกอบปรุงแต่งเป็นอะไร ๆ อีกต่อไป

สัจจะมีซับซ้อนกันหลายชั้นหลายอย่างดังนี้ ถ้านำไปพูดกันผิดที่ผิดทาง ก็สับสนไม่เข้าใจ ชีวิตที่ยังดำเนินอยู่ในโลก ต้องอาศัยสัจจะทั้งหมดนี้จึงอยู่ได้ จะมีเพียงปรมัตถสัจจะอย่างเดียวหาได้ไม่ เหมือนอย่างต้นไม้เป็น ถ้ามีแต่แก่นก็อยู่ไม่ได้ ต้องทั้งมีเปลือก กระพี้ กิ่ง ใบ เป็นต้น แม้พระพุทธศาสนาก็แสดงธรรมเหมือนอย่างต้นไม้ ที่มีพร้อมทุกอย่าง คือประกอบด้วยสัจจะทุกอย่าง เช่น วินัย และศีลธรรมเบื้องต้น เป็นไปทางโลกสัจจะ สมมุติสัจจะธรรมชั้นสูงจึงหนักไปทางปรมัตถสัจจะ จนถึงเป็นปรมัตถ์ล้วนและปรมัตถ์ล้วนนั้นเป็นไปในการปฏิบัติภายในจิตใจแท้ ๆ แต่สำหรับเป็นข้อปฏิบัติทางกาย (แม้ของพระอรหันต์) ก็เป็นไปตามควรแก่โลกสัจจะ สมมุติสัจจะเช่น ศีล หรือวินัยดังกล่าวแล้ว

มนุษย์เราเกิดมา มีปัญญาที่ทำให้รู้จักคิดอ่าน จึงใช้ปัญญาปรับปรุงตนเองให้เจริญขึ้น พ้นจากเป็นสัตว์ป่าคนป่า มาเป็นคนบ้าน คนเมือง มีความเจริญ เห็นประโยชน์ของการอยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบ ด้วยความสงบสุข จึงได้ตั้งคตินิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เห็นกันยินยอมกันว่าดีงามขึ้น จนถึงตั้งเป็นกฎหมายบังคับ และตั้งศาสนาขึ้น สำหรับเป็นทางปฏิบัติดีทางกายวาจาใจ ทั้งเพื่อเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวของใจ ด้วยความประสงค์ที่ประมวลเข้ามาได้ว่าเพื่อเว้นการที่ควรเว้น ประพฤติการที่ควรประพฤติ จะได้ควบคุมกันอยู่อย่างมีระเบียบและมีความสุขสงบ สิ่งทั้งปวงที่ตั้งขึ้นนี้ โดยมากตั้งขึ้นตามโลกสัจจะ สมมุติสัจจะ จึงนับเป็นสัจจะเหล่านี้ด้วย ถ้าไม่มีปรมัตถสัจจะ คือเหตุผลที่แท้จริงเป็นมูลฐานอยู่บ้าง ตั้งกันขึ้นแล้วก็เลิกกันไปคราวหนึ่งๆ บางอย่างก็เลิกเร็ว เช่น ความนิยมที่เรียกว่า สมัยนิยม แม้ศาสนาหรือศีลธรรมในศาสนาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีมูลฐานจากปรมัตถสัจจะด้วย ก็ตั้งอยู่ยั่งยืน ถ้าแสดงคำสอนเป็นปรมัตถสัจจะโดยแท้ ก็จักตั้งอยู่ได้ตลอดไป

ศาสนา หรือศีลธรรมในศาสนา กฎหมาย ตลอดถึงคตินิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในหมู่ชนที่เจริญเพื่อความอยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และมีความสงบสุข ว่าเฉพาะทางศีลธรรม แม้ในหมู่โจรก็ต้องมีศีลธรรมในหมู่โจรด้วยกันคือ ไม่ลักขโมยไม่หักหลังกันเอง เป็นต้น คนที่ใช้ความโลภ โกรธ หลง ไม่มีศีลธรรมแก่คนอื่น แต่ก็ต้องมีศีลธรรมแก่ตนเองและผู้ที่ตนรัก เช่น เบียดเบียนตัดรอนผู้อื่น รวบรวมทรัพย์อำนาจมา ก็เพื่อบำรุงตนและผู้ที่ตนรัก ไม่มีที่จะคิดเบียดเบียนตัดรอนตนและผู้ที่ตนรักเลย และคนที่ชั่วร้าย จะดำรงชีวิตมีความสุขอยู่ได้ ก็เพราะไม่มีผู้ร้ายอื่นมาทำร้าย ชื่อว่าอยู่ได้ด้วยศีลธรรมของคนอื่น ถึงตนเองจะไม่มีศีลธรรม ฉะนั้น ถ้าคิดสักหน่อยเดียวเท่านั้น ก็จะเห็นว่าศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็น ต้องมีอยู่เป็นเครื่องบำรุงรักษาโลกให้ดำรงอยู่ได้

การหัดใช้ความคิดตามเหตุผลที่ไม่ขึ้นอยู่ในอำนาจของโลภโกรธหลง เป็นทางเพิ่มพูนความรู้ในสัจจะ และเมื่อหัดคิดไปจนถึงปรมัตถสัจจะ เพียงถึง แก่ ตายที่ทุก ๆ คนต้องประสบ พูดสั้น ๆ คือ คิดถึงความตายกันบ้าง ก็จะเป็นวิธีลดความโลภโกรธหลงได้มาก และถ้ายิ่งได้คิดให้รู้ซึ้งถึงความดีความชั่ว ถึงประโยชน์ของศีลธรรมของศาสนา ก็จะทำให้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม ให้ประกอบประโยชน์คุณงามความดีเพื่อตน และเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนี้ ก็จะเป็นการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ได้มาก ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามทางธรรมะ พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระธรรมบทไว้คาถาหนึ่ง แปลความว่า “ชีวิตเพียงวันเดียวของผู้ที่มีปัญญาเพ่งพินิจ ประเสริฐกว่าผู้ที่ทรามปัญญา มีจิตใจไม่มั่นคง ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี”



จากหนังสือ
วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ พ.ศ. ๒๕๑๖