Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๒๑๓

sangharaja-section

sungaracha

จตุธรรมสำคัญ

พระธรรมเทศนา
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน)
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส
สิกฺขานิสํสา ภิกฺขเว วิหรถ ปญฺญุตฺตรา วิมุตฺติสารา สตาธิปเตยฺยาติ

บัดนี้จักแสดงศาสนธรรม ธรรมคือคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แห่งการฟังธรรม ตามสมควรแก่วันธรรมสวนะ คือวันเป็นที่ฟังธรรมอันเวียนมาถึงเข้า

ศาสนธรรม ธรรมคือคำสั่งสอนนั้น เรียกว่าพุทธศาสนา แปลว่าคำสอนหรือคำสั่งสอนของพระศาสดาบ้าง ศาสนธรรมกับคำว่าสัตถุศาสน์ พุทธศาสน์หรือพุทธศาสนา จึงเป็นคำเดียวกัน อันส่องความว่าเป็นคำสอนหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือของพระศาสดา คำว่าศาสดาก็คือครูอาจารย์ ก็คือพระพุทธเจ้านั้นเอง เมื่อได้ตรัสรู้แล้วได้ทรงแสดงคำสั่งสอน จึงทรงเป็นพระศาสดาที่แปลว่าครูอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาก็คือองค์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือองค์พระบรมศาสดาผู้ทรงสั่งสอนพุทธศาสนา ฉะนั้น คำสั่งสอนของพระศาสดาคือพระพุทธเจ้าจึงเป็นคำสั่งสอนที่เราทั้งหลายผู้เป็นพุทธศาสนิกชนพึงตั้งใจฟัง ตั้งใจพินิจพิจารณาให้มีความเข้าใจ และน้อมนำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ และได้มีพุทธภาษิตตรัสแสดงเอาไว้ว่า ทุก ๆ คนควรจะมีอะไรเป็นอานิสงส์ผล คือผลดีที่ต้องการ ควรจะเป็นผู้ยิ่งด้วยอะไร มีอะไรเป็นยิ่งหรือเป็นอย่างยิ่ง ควรจะมีอะไรเป็นแก่นสาร ควรจะมีอะไรไรเป็นใหญ่ หรือหากจะตั้งเป็นคำถามว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนให้มีอะไรเป็นแก่นสาร ควรจะมีอะไรเป็นใหญ่ หรือหากจะตั้งเป็นคำถามว่า พระพุทธศาสนานั้นสอนให้มีอะไรเป็นอานิสงส์ สอนให้ยิ่งด้วยอะไร สอนให้มีอะไรเป็นแก่นสาร และสอนให้มีอะไรเป็นใหญ่ เมื่อน้อมเข้ามาในตนซึ่งเป็นผู้รับพุทธศาสนามาปฏิบัติ ก็อาจจะตั้งปัญหาขึ้นที่ตนว่า ตนเองนั้นควรจะมีอะไรเป็นอานิสงส์ ควรจะยิ่งด้วยอะไร ควรจะมีอะไรเป็นแก่นสาร และควรจะมีอะไรเป็นใหญ่ ดั่งนี้ อาจจะตั้งเป็นปัญหาว่า พระพุทธศาสนาสอนให้มีอะไรเป็นอานิสงส์ ดั่งนี้ก็ได้ หรือว่าตนเองของบุคคลทุกๆคนนี้ ควรจะมีอะไรเป็นอานิสงส์เป็นต้นก็ได้ เพราะปัญหาทั้งสองนี้ย่อมเนื่องถึงกัน ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนอย่างไร ผู้มีศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ก็ย่อมรับเอามาปฏิบัติตนเองตามที่ทรงสั่งสอนนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า สิกฺขา นิสํสา ภิกฺขเว วิหรถ เป็นต้น  ที่แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นอย่างยิ่งหรือยิ่งด้วยปัญญา มีวิมุตติเป็นสาระคือแก่นสาร มีสติเป็นอธิปไตยคือมีสติเป็นใหญ่ดั่งนี้

ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้นี้ เป็นอันชี้ว่า พระพุทธศาสนาหรือพุทธศาสตร์หรือสัตถุศาสตร์นั้น แสดงให้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ ให้มีปัญญาเป็นอย่างยิ่งหรือว่ายิ่งด้วยปัญญา ให้มีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นแก่นสาร ให้มีสติเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าทุก ๆ คนผู้มีศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า ในคำสั่งสอนของพระองค์ จึงเป็นผู้ปฏิบัติตนให้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ ให้มีปัญญาเป็นอย่างยิ่งหรือให้ยิ่งด้วยปัญญา ให้มีวิมุตติคือความหลุดพ้นเป็นแก่นสาร ให้มีสติเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่ดั่งนี้ ทุกคนจึงควรพิจารณาทำความเข้าใจในพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนเอาไว้นี้ ดังจะอธิบายแสดงต่อไป

ข้อแรกที่ตรัสสอนให้มีสิกขาเป็นอานิสงส์นั้น คำว่าอานิสงส์หมายถึงผลที่ดีที่จะพึงได้ และก็ย่อมหมายถึงเหตุแห่งผลนั้นด้วย บุคคลย่อมต้องการอานิสงส์คือผลที่ดีอยู่ด้วยกัน เป็นต้นว่าต้องการผลที่เป็นเครื่องเกื้อกูลให้มีความสุขต่าง ๆ ดังเช่นผลที่น่าปรารถนาพอใจทางโลก คือลาภยศสรรเสริญสุขทั้งปวง และแม้ในการปฏิบัติธรรมที่เป็นส่วนเหตุทั้งหลายก็ต้องการผลที่ดีของธรรมปฏิบัตินั้น เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้ผู้หวังผลที่ดีปฏิบัติในกรรมที่ดี กรรมที่เป็นบุญ กรรมที่เป็นกุศลทางกาย ทางวาจา ทางใจต่าง ๆ   และเมื่อปฏิบัติกรรมที่ดีดั่งนี้ก็ย่อมจะได้รับผลดี เป็นต้นว่าความเป็นผู้มีอายุยืน ความเป็นผู้มีร่างกายไม่มีโรค ความเป็นผู้ไม่ขัดสนจนยากต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น รวมเข้าก็คือว่า บรรดามนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ ตลอดจนถึงนิพพานสมบัติ ย่อมได้จากกรรมที่ดี ได้จากการปฏิบัติที่ดี เพราะฉะนั้น อานิสงส์คือผลที่ดีนั้นจึงบังเกิดจากเหตุที่ดี ซึ่งบุคคลทุกคนปฏิบัตินั้นเอง เมื่อปฏิบัติในเหตุที่ดีก็ย่อมจะได้รับอานิสงส์คือผลที่ดี การปฏิบัติในเหตุนั้นย่อมเป็นสิ่งสำคัญ   เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งผลที่ดีทั้งปวงนั้นจึงไม่ควรมุ่งแต่ผลเท่านั้น ต้องมุ่งปฏิบัติเหตุที่ดีคือมุ่งเหตุที่ดีด้วย เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงได้รับอานิสงส์คือผลที่ดี ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมุ่งอานิสงส์ส่วนเหตุ คือเหตุที่ดีก่อน เมื่อได้ปฏิบัติในเหตุที่ดีแล้วจึงจะได้รับผลที่ดีอันเป็นส่วนผล ที่เกิดจากการปฏิบัติที่เป็นส่วนเหตุนั้น

คำว่าอานิสงส์แม้จะมีความหมายทั่วไปมุ่งถึงผลที่ดี แต่ก็พึงเข้าใจว่า ต้องหมายถึงอานิสงส์ที่เป็นส่วนเหตุคือเหตุที่ดี เพราะเหตุดังกล่าวมานั้นด้วย อันอานิสงส์ส่วนเหตุคือเหตุที่ดีนั้น เมื่อรวมเข้ามาแล้ว ก็รวมเข้าในคำว่าสิกขาอันแปลว่าศึกษา อันได้แก่การเรียนให้รู้ในสิ่งที่ควรเรียนรู้ทั้งหลายด้วยการตั้งใจสดับตรับฟัง หรือว่าด้วยการตั้งใจอ่านด้วยตา ตั้งใจพินิจพิจารณาให้มีความเข้าใจ และก็ตั้งใจปฏิบัติให้ถูกให้ชอบทางกายวาจาทางใจ เหล่านี้รวมเข้าในคำว่าสิกขาหรือศึกษา ซึ่งมีความหมายถึงทั้งการเรียนให้รู้ ทั้งการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ท่านได้ให้คำจำกัดความเอาไว้แต่เดิมว่า ความสำเนียกตามสิ่งที่ได้ประสบพบปะ ให้มีความรู้ความเข้าใจ และตั้งใจปฏิบัติตามสิ่งที่สำเหนียกพบปะนั้น ให้เป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อผลที่ต้องการทางกายวาจาทางใจ พระพุทธศาสนาได้แสดงสิกขาเอาไว้ ๓ คือ สีลสิกขา ศึกษาในศีล   จิตตสิกขา ศึกษาในจิต   และปัญญาสิกขา ศึกษาในปัญญา

สีลสิกขา ศึกษาในศีลนั้น ก็คือศึกษาสำเหนียกให้มีความรู้ความเข้าใจว่าอะไรคือศีล และตั้งใจปฏิบัติศีลให้มีขึ้น ให้เป็นศีลขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจของตน   อันศีลนั้นได้แก่ความปรกติกายปรกติวาจาปรกติใจ อันเกิดขึ้นจากวิรัติคือความงดเว้นจากข้อที่พึงงดเว้นนั้นๆ ทางกายทางวาจา มีความสำรวมกายวาจาและใจให้เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม ไม่ละเมิดทางกายทางวาจาในข้อห้ามนั้น ๆ  ตลอดจนถึงตั้งใจงดเว้นไม่ละเมิดแม้ด้วยทางใจด้วย ให้เป็นความปรกติเรียบร้อยทางกายวาจาตลอดจนถึงใจ และก็หมายถึงข้อที่พึงงดเว้นนั้น ๆ ตลอดจนถึงข้อที่ควรประพฤตินั้น ๆ ตามพระพุทธบัญญัติ คือข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเอาไว้เป็นสิกขาบท คือเป็นทางแห่งการศึกษา เป็นก้าว ๆ ไปแห่งการศึกษาอันเรียกว่าวินัย คือข้อพระบัญญัติที่ได้ทรงบัญญัติเอาไว้ สำหรับเป็นข้อแนะนำการปฏิบัติทางกายทางวาจาต่าง ๆ อันเป็นเครื่องกำจัดโทษแห่งความละเมิดอันเป็นเครื่องเบียดเบียนกันและกันให้เดือดร้อน อันทำให้เกิดความไม่สงบไม่งดงามไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะต่าง ๆ   ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดให้มีความรู้ความเข้าใจในศีลดังที่กล่าวมานี้ ตลอดจนถึงในวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้า และก็ตั้งใจปฏิบัติศีลให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจของตน คือให้กายวาจาใจเป็นศีลขึ้นมา ดั่งนี้คือ สีลสิขา ศึกษาในศีล  เมื่อศึกษาในศีลจนสามารถปฏิบัติได้ในศีลอย่างละเอียดโดยพระบัญญัติก็ดี โดยจิตใจของตนเองเข้าไปถึงศีลคือความสงบเรียบร้อยของใจเอง ตลอดถึงกายวาจาได้ก็ดี สีลสิกขาก็เลื่อนชั้นขึ้นเป็นอธิสีลสิกขา ศึกษาในอธิศีล หรือว่าอธิสิกขา ศึกษายิ่งในศีลดั่งนี้

จิตตสิกขา ศึกษาในจิต ก็ศึกษาในกระบวนแห่งจิตใจของตนเอง ให้มีความรู้จักอารมณ์ของจิตใจ และให้รู้จักจิตใจที่เป็นไปตามอารมณ์ รู้จักควบคุมรักษาจิตของตนให้มีความสงบ ด้วยตั้งใจไว้ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงบ ละอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่สงบทั้งหลายให้พ้นไปจากจิตใจ ก็คือปฏิบัติตามหลักสมถกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ ทำจิตให้มีสมาธิตั้งมั่นขึ้น และเมื่อสามารถทำจิตให้สงบสงัดได้จากกามจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เขาถึงภาวะจิตที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่แนบแน่น ตั้งแต่ขั้นปฐมฌานขึ้นไป จิตตสิกขาก็เลื่อนชั้นขึ้นเป็นอธิจิตตสิกขา ศึกษาในอธิจิต หรืออธิศีลสิกขา ศึกษายิ่งในจิต

ปัญญาสิกขา ศึกษาในปัญญา คือศึกษาสำเหนียกในความรู้ความเห็นของตน ให้รู้จักความรู้ความเห็นของตน และตั้งใจปฏิบัติอบรมความรู้ความเห็นของตน ให้เป็นความรู้ความเห็นอันถูกตรงต่อสัจธรรม ธรรมที่เป็นตัวความจริง ตั้งต้นแต่ให้ถูกตรงต่อสัจธรรมอันเกี่ยวแก่บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ทั้งหลายทางกรรม ตลอดจนถึงให้ถูกตรงต่ออริยสัจจะ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ และเมื่อได้ปัญญาในธรรมในอริยสัจ ปัญญาสิกขาก็เลื่อนขึ้นเป็นอธิปัญญาสิกขา ศึกษาในอธิปัญญา หรืออธิสิกขา ศึกษายิ่งในปัญญา

นี้คือสิกขาคือศึกษา อันทุก ๆ คนควรมุ่งการศึกษา คือการสำเหนียกตามที่ได้ประสบพบปะทั้งปวง และให้รู้จักศีล รู้จักจิตหรือสมาธิหรือสมถะ ให้รู้จักปัญญาหรือวิปัสสนา ปฏิบัติอบรมให้เป็นศีล เป็นจิตหรือเป็นสมาธิ หรือเป็นปัญญาขึ้น ตั้งแต่ขั้นธรรมดาสามัญ จนถึงอธิศีล อธิจิต หรืออธิสมาธิ อธิสมถะ หรืออธิปัญญาไปโดยลำดับ มุ่งให้ได้ศีลสมาธิปัญญาดั่งนี้ เป็นอานิสงส์ที่ต้องการ นี้เป็นข้อที่ ๑ ที่ตรัสยกการศึกษาขึ้นแสดงเพื่อให้เห็นความสำคัญของการศึกษา จะได้ไม่หยุดศึกษา

ข้อที่ ๒ พุทธศาสนาสอนให้มีปัญญาเป็นอย่างยิ่ง หรือให้ยิ่งด้วยปัญญา ก็คือให้อบรมปัญญาคือความรู้ ให้มีความรู้ทั่วถึงยิ่งขึ้นในสิ่งที่ควรรู้ทั่วถึงทั้งหลาย เป็นต้นว่า ให้มีความรู้ทั่วถึงว่า อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์ อะไรเป็นธรรมดำ อะไรเป็นธรรมขาว เหล่านี้เป็นต้น อันเป็นชั้นของกรรม คือการงานที่จะปฏิบัติกระทำทางกายทางวาจาทางใจของตน เพื่อว่าเมื่อมีความรู้อันเป็นตัวปัญญาดั่งนี้ กรรมที่ทุกคนปฏิบัติกระทำทางกายทางวาจาทางใจอยู่เป็นประจำก็จะเป็นกรรมที่ดี เป็นบุญเป็นกุศล เป็นกรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นกรรมที่เป็นธรรมอันขาว เป็นกรรมที่ไม่มีโทษ ดั่งนี้   ตลอดจนถึงอบรมปัญญาคือความรู้ ให้รู้ทั่วถึงอริยสัจที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ปฏิบัติให้มีปัญญาเป็นอย่างยิ่งดั่งนี้ หรือให้ยิ่งด้วยปัญญา คือให้มีปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยลำดับ มากกว่าที่จะให้มีสิ่งอื่น ๆ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยลำดับ ให้มีปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยลำดับอยู่เสมอ ข้อที่ ๒ นี้ตรัสยกปัญญาขึ้นแสดงโดยเฉพาะ เพื่อให้เห็นความสำคัญของปัญญาว่ายิ่งกว่าข้ออื่นมีศีลสมาธิ เป็นต้น  เพื่อจะได้ไม่หยุดอยู่เพียงศีลสมาธิเท่านั้น

ข้อที่ ๓ ตรัสสอนให้มีวิมุตติคือความหลุดพ้นเป็นแก่นสาร คือให้ปฏิบัติทำจิตนี้ให้หลุดพ้น ตั้งแต่ให้หลุดพ้นจากภัยเวรด้วยอำนาจของศีล ให้หลุดพ้นจากนิวรณ์ด้วยอำนาจของสมาธิ ให้หลุดพ้นจากความยึดถือว่าตัวเราของเราด้วยอำนาจของปัญญา ให้ได้ความหลุดพ้นไปโดยลำดับ โดยพิจารณาดูให้รู้จักว่าอะไรเป็นความคิด เช่นติดอยู่ในภัยในเวรต่าง ๆ  ติดอยู่ในนิวรณ์ ติดอยู่ในตัวเราของเรา และความติดมีโทษอย่างไร มีภัยอย่างไร ปัญญานี้แหละพิจารณาให้รู้จักและให้เห็นโทษของความติด และปัญญานี้เองเมื่ออบรมให้มีขึ้น มองเห็นโทษของความติดแล้ว ก็จะทำให้เกิดความปล่อยวาง วางความติดเสีย ก็ได้ความพ้น พ้นภัยพ้นเวร พ้นนิวรณ์ พ้นความยึดถือว่าตัวเราของเราโดยลำดับ ดั่งนี้เป็นวิมุตติ ความหลุดพ้นที่เป็นตัวสาระแก่นสาร ตรัสยกขึ้นแสดงให้เห็นความสำคัญของวิมุตติว่า เป็นแก่นสารอันแท้จริง ข้ออื่นยังไม่ใช่แก่นสาร เพื่อจะได้ไม่หยุดพยายามจนกว่าจะได้แก่น

ข้อที่ ๔ ตรัสสอนให้มีสติเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่ คือให้มีสติความระลึกได้ในการที่ทำคำที่พูดอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งความรู้ตัวในการที่ทำคำที่พูดอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนถึงความระลึกได้และความรู้ตัวอยู่ว่า การที่จะทำที่จะพูดจะติดอยู่ในปัจจุบันก็ดี มีคุณหรือมีประโยชน์ มีโทษหรือไม่มีโทษ เป็นกรรมดำหรือเป็นกรรมขาวเป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้วให้ระลึกได้และให้มีความรู้ตัว จนถึงความระลึกได้ละความรู้ตัวนี้เอง จะเป็นเครื่องยับยั้งมิให้ทำสิ่งที่มีโทษ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นกรรมดำ สิ่งที่เป็นบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย แต่สนับสนุนส่งเสริมให้ทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ที่เป็นกรรมขาวทั้งปวง ที่เป็นบุญเป็นกุศลทั้งปวงดั่งนี้ นี้คือตัวสติ สติจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อมีสติเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่อยู่แล้ว จึงสามารถทำให้บุคคลละกรรมที่ชั่วที่ผิด ประกอบกรรมที่ดีที่ชอบ ตลอดจนถึงชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสยิ่งๆขึ้นไปได้ ความมีสติเป็นอธิปไตยคือเป็นใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ตรัสยกขึ้นแสดงให้เห็นความสำคัญของสติ เพื่อให้มีสติเป็นใหญ่ เป็นอธิปไตยไว้ในตนเอง จะทำให้ได้อีก ๓ ข้อข้างต้นด้วย สตาธิปไตยจึงสำคัญมาก

พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีสิกขาหรือศึกษาเป็นอานิสงส์ ให้มีปัญญาเป็นอย่างยิ่ง หรือให้ยิ่งด้วยปัญญา ให้มีวิมุตติความหลุดพ้นเป็นสาระแก่นสาร ให้มีสติเป็นอธิปไตยหรือเป็นใหญ่ มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการ ฉะนี้

 

คัดจากหนังสือ จตุธรรมสำคัญ
จัดพิมพ์โดย
มูลนิธิส่งเสริมการปฏิบัติสมาธิทางพุทธศาสนา