Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๙

sangharaja-section

sungaracha

อย่าเป็นผู้ล่วงขณะ

จิตใจนี้เป็นสิ่งประเสริฐสุด เป็นสมบัติล้ำค่าที่ทุกๆคนมีอยู่ และจิตใจนี้เองซึ่งได้อบรมมาด้วยกุศลจึงนำให้มาถือกำเนิดเป็นมนุษย์ที่ประกอบด้วยปัญญา คือ ตัวความรู้ที่มีอยู่ตั้งแต่เกิดมีเป็นพื้นเพ เลิศล้ำกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ทำให้สามารถที่จะเพิ่มพูนบารมี ส่งเสริมให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกโดยลำดับ ฉะนั้นถ้าไม่ฉวยโอกาสแห่งความเกิดมาเป็นมนุษย์บำเพ็ญความดีให้ยิ่งขึ้นไป ก็ยิ่งเป็นที่น่าเสียดาย และเมื่อได้อาศัยปัจจัย คือเหตุอุปถัมภ์ทั้งหลายของความเป็นมนุษย์ไปทำความชั่วร้ายเสียหายก็ยิ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะจะทำตนให้ตกต่ำลงไป ได้ชื่อว่าเป็นผู้ล่วงขณะ และผู้ที่ล่วงขณะไปเสีย ก็จะต้องไปเกิดเบียดเสียดกันในนรก ดั่งนี้ พระพุทธเจ้าได้ประทานแสงสว่างให้เราทั้งหลายได้มองเห็นทางปฏิบัติ นำไปสู่สวรรค์ สู่มรรค ผล นิพพาน และจิตใจนี้เองก็มีปัญญาจักขุ คือดวงตา คือปัญญา อาจที่จะมองเห็นทางซึ่งพระองค์ได้ทรงชี้แสดงบอกไว้ได้ สัจจะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้แจงแสดงบอกไว้ก็เป็นสัจจะ คือ ความจริง อันมีอยู่ที่ตนนี้เอง

ฉะนั้น เมื่อได้ฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดง และมาทำความกำหนดรู้ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในตนเอง สัจจะคือความจริงที่มีอยู่ ก็ย่อมจะปรากฏขึ้นแก่จิตใจเป็น ปัญญา คือความรู้

 

อริยสัจจ์ทั้ง 4 อยู่ที่ตนเอง

นี้ทุกข์ ก็หมายความว่า ทุกข์นั้นไม่ใช่อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ตนนี้เอง เกิด แก่ ตาย เป็นทุกข์ก็อยู่ที่ตนนี้เอง   ความโศก เป็นต้น เป็นทุกข์ ก็อยู่ที่ตนนี้เอง   ความประจวบ ความพลัดพราก ความปรารถนาไม่สมหวังทั้งหลายที่เป็นทุกข์ ก็อยู่ที่ตนเป็นที่ตนนี้เอง   และกล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง 5 ประการ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็อยู่ที่ตนนี้เอง ไม่ใช่ที่ไหน

นี้สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ก็อยู่ที่ตนนี้เองอีกเหมือนกัน อันได้แก่ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากทั้งหลาย ก็ปรากฏที่จิตใจนี้แหละ ไม่ใช่ที่ไหน

ความดับทุกข์ คือความดับตัณหาเสีย ก็มีที่ใจนี้แหละ ไม่ใช่มีที่ไหน   ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็มีที่ใจนี้อีกเหมือนกัน

ผู้ที่ได้ปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นผู้สร้างทาง นำไปสู่ความดับทุกข์ขึ้นที่ตนเอง มีอยู่น้อยหรือมากแล้ว และก็ย่อมจะมีความดับทุกข์อันเป็นตัวนิโรธ น้อยหรือมาก เพราะฉะนั้น หัดทำสติคือความกำหนดรู้ตามอาการ   ปัญญา คือตัวความรู้เจาะแทง เข้าถึงสัจจะ คือความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ให้รู้จักสัจจะเหล่านี้ที่ตนเอง ก็เป็นการอบรมสติ ปัญญา ประการหนึ่ง

 

ผลสำคัญในพระพุทธศาสนา

และโดยเฉพาะนิโรธ คือความดับทุกข์นั้น เป็นผลสำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะทุกขนิโรธนี้เอง เป็นเครื่องแสดงว่า การปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีผลดับทุกข์ได้จริง ไม่ใช่ดับไม่ได้ และผู้ที่เคยพบทุกขนิโรธความดับทุกข์น้อยหรือมาก ย่อมจะได้พบผลของพระพุทธศาสนา และ เมื่อได้พบผลของพระพุทธศาสนานี้มาก ก็ยิ่งจะทำให้เกิดศรัทธาปสาทะ เกิดปัญญาในธรรมยิ่งขึ้นไปอีก  ก็แหละการหัดทำความรู้จักตัวนิโรธ คือความดับทุกข์นี้ ก็พึงสังเกตให้รู้ได้ในขณะที่ปฏิบัติ และในขณะที่มีกิเลสบังเกิดขึ้น ครอบงำจิตใจ ย่อมต้องการการปฏิบัติเพื่อดับ เมื่อกิเลสบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจดับไม่ได้ ก็แสดงว่าการปฏิบัติยังย่อหย่อน ยังไม่ได้ผล

 

วิถีของตัณหาอุปาทานและทุกข์

ฉะนั้น ก็ลองพิจารณาดู ดูตัวตัณหาก็ได้ คือความดิ้นรนของใจ ความอยากของใจ พร้อมทั้งอุปาทานคือ ความยึดถือ เมื่อมีความอยากในสิ่งอันใด ก็ย่อมมีความยึดถืออยู่ในสิ่งอันนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเกิดทุกข์ขึ้น เพราะความยึดถืออันสืบเนื่องมาจากความอยากนั้น

ทางที่จะพิจารณาจับตัวตัณหาอุปาทานและตัวทุกข์นั้น ก็พิจารณาได้ที่ความประจวบกันของอายตนะภายในภายนอกอันมีอยู่เป็นประจำนี้แหละ กล่าวคือ เมื่อตากับรูปประจวบกัน เมื่อหูกับเสียงประจวบกัน เป็นต้น ก็เกิดความรู้สึกเห็นรูป ความรู้สึกได้ยินเสียง เป็นต้นขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็มาสัมผัสถึงจิตใจ มากระทบถึงจิตใจ ตอนนี้แหละที่บังเกิดอาการทางจิตใจสืบเนื่องกันไป แต่จักกล่าวตัดลัดว่า ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก ก็ฉวยโอกาสวิ่งเข้ามาสู่จิตใจทางอารมณ์ คือเรื่องดังกล่าว มีเรื่องรูปที่ตาเห็นอันมาสัมผัสถึงใจนี้แหละ ตัณหาก็วิ่งเข้าไปสู่ใจ คือความดิ้นรนทะยานอยากพร้อมทั้งความยึดถืออยู่ในอารมณ์นั้นๆ พิจารณาดูจิตใจของตนในขณะที่เห็นรูปอะไร ได้ยินเสียงอะไร เป็นต้น ก็ย่อมจะรู้ได้ว่า ตัณหาอุปาทานจะบังเกิดขึ้นวิ่งเข้าไปจับรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน เป็นต้น นั้นอยู่เสมอ และเมื่อจับ ก็บังเกิดเป็นตัวความทุกข์ขึ้น

 

ทุกข์อย่างละเอียด

          ตัว ความทุกข์อย่างละเอียด นั้น พิจารณาจึงจะมองเห็นได้ เมื่อตัณหาอุปาทานวิ่งเข้ามาจับจิตใจเมื่อใด ความทุกข์ ย่อมบังเกิดขึ้นเมื่อนั้น แต่อาจจะเป็นความทุกข์อย่างละเอียดก่อน ซึ่งมีอาการเป็นความเศร้าหมอง เป็นความร้อนรุ่มไม่สงบไม่ปกติ เหล่านี้เป็นอาการที่เรียกว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น และถ้ามีความปรารถนาแรงมาก ยึดไว้แรงมาก อาการที่กระสับกระส่ายไม่สงบที่เศร้าหมอง ก็ปรากฏมากขึ้นตามส่วน และนำให้เกิดอาการอย่างอื่น เช่น ความระแวง ความตระหนึ่ ความหวงกัน เพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้นอีก และเมื่อต้องพบกับความพลัดพรากเข้าอันเป็นของธรรมดา  ก็ยิ่งเพิ่มความทุกข์มากขึ้นอีก เพราะเหตุที่มีความยึดถือเอาไว้ไม่ยอมปล่อย แต่เมื่อสิ่งที่ยึดถือไว้นั้น ไม่เป็นไปตามที่ต้องการตามที่อยากจะให้เป็น กลายเป็นความปรารถนาไม่สมหวัง จึงได้เพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้น

 

ตัวการให้อาสวะอนุสัยฟุ้งขึ้น

          เพราะฉะนั้น ให้สังเกตดูให้รู้จัก ตัวตัณหา อุปาทาน ที่วิ่งวุ่นอยู่ในใจ ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น ตลอดจนถึงที่ใจคิดนึกเรื่องต่างๆ และข้อที่ 6 คือมโนทวาร ใจที่คิดธรรม คือเรื่องราวต่างๆนี้แหละ เป็นทวารที่ขุดคุ้ยเอาอาสวะอนุสัยทั้งหลายให้โผล่ขึ้นมายั้วเยี้ยไปหมด กล่าวคือ อารมณ์เก่าทั้งหลายที่เก็บเอาไว้ในใจ ความชอบความชังทั้งหลายที่เก็บเอาไว้ในใจ เมื่อมโนคิดเรื่องทั้งหลาย สิ่งที่เก็บไว้เหล่านี้จะพลอยฟุ้งขึ้นมาอีกมากมาย เพราะฉะนั้น ก็ให้จับดูอาการที่วุ่นวายของจิตใจดังกล่าวนี้ ให้มีความรู้ว่า นี้แหละเป็นสายทุกข์ สายอาสวะ

 

นิโรธขั้นศีล

คราวนี้ เมื่อมาหัดปฏิบัติอยู่ในมรรค์มีองค์แปด ย่นลงมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติฝืนกระแสของตัณหาอุปาทานดังกล่าว เพราะว่า ศีลนั้นคือวิรัติ เจตนาความตั้งมั่นงดเว้น   ตัณหาอุปาทานจะสั่งให้ทำอะไร ศีลก็ต้านทานเอาไว้งดเว้นไม่ทำดั่งนี้ เมื่อได้มั่นคงอยู่ในศีล ไม่ยอมประพฤติชั่วประพฤติผิดไปตามตัณหาอุปาทานที่สั่ง ก็ย่อมจะพบกับความดับภัยดับเวรซึ่งเป็นตัวนิโรธ อันเป็นผลของศีล เพราะฉะนั้น ก็คอยกำหนดดูให้รู้จัก ความดับภัยดับเวร ความดับตัณหาอุปาทานอย่างหยาบ ที่ทำให้ละเมิดศีล ดั่งนี้ นี่แหละ เป็นตัวนิโรธขั้นศีล ให้คอยทำความรู้จัก นิโรธขั้นศีล นี้ไว้ แล้วจักได้ความตระหนักแน่ชัดเจนในตัวความดับนี้ยิ่งขึ้น และจะรู้ว่า ตัวนิโรธคือความดับ แม้ดับภัยดับเวรดับอกุศลธรรมทั้งหลาย ดับตัณหาอุปาทานอย่างหยาบทั้งหลาย ด้วยศีลนี้แหละ เป็นตัวความสุข เป็นตัวความสุขที่สงบที่ประณีตยิ่งกว่าความประพฤติล่วงละเมิดศีลไปตามอำนาจของตัณหาอุปาทาน

 

นิโรธขั้นสมาธิ

คราวนี้ เมื่อปฏิบัติในสมาธิ สงบตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นขั้นนิวรณ์ ด้วยทำให้จิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ จิตสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ก็แปลว่า ดับตัณหาอุปาทานขั้นกลาง ก็เป็นนิโรธ คือความดับตัณหา อุปาทาน อีกขั้นหนึ่งก็ให้สังเกตตัวความนิโรธนี้ ก็จะพบว่า เป็นความสุขที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปกว่าศีลอีก

 

นิโรธขั้นปัญญา

และเมื่อปฏิบัติอบรมปัญญา ทำความรู้ให้เข้าถึงสัจจะ คือความจริงดังกล่าวมาข้างต้น ให้สัจจะปรากฏชัดขึ้น จนตัณหาอุปาทานอย่างละเอียดดับลงไปได้โดยลำดับ ก็ให้สังเกตดูตัวความดับ ที่ปรากฏขึ้นในใจนี้แหละ ด้วยอำนาจของปัญญา คือความรู้ที่เข้าถึงสัจจะ ให้มีความรู้จักอยู่กับตัวนิโรธนี้ ก็จะพบว่าเป็นตัวความสุขที่ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านิโรธขั้นสมาธิ ดั่งนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่า นิโรธ คือความดับกิเลสและดับทุกข์นี้เป็นผลของการปฏิบัติธรรมที่มีอยู่ตั้งแต่ในเบื้องต้น และเมื่อพิจารณาสรุปเข้ามาแล้วก็ให้กำหนดดูตัวความนิโรธนี้ ที่กายและใจนี่เอง เมื่อนิโรธปรากฏขึ้น อายตนะภายใจภายนอกจะต้องประจวบกัน ก็คงเป็นนิโรธอยู่นั่นเอง และ อาการทางจิตใจ ที่บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป เป็นวิญญาณ ความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียงก็ดี เป็นสัมผัสที่ถึงใจก็ดี เป็นอื่นๆที่สืบเนื่องกันไปก็ดี ก็เป็นนิโรธ คือ ดับทั้งนั้น   ตัณหาอุปาทานจะไม่บังเกิด วิ่งยั้วเยี้ยเข้ามาจับใจ แต่จะปรากฏเป็นตัวนิโรธ คือตัวความดับ ความเย็น ตลอดสายไปหมด ให้พยายามกำหนดดู ทำความรู้จักตัวนิโรธดังนี้อยู่เสมอ ย่อมจะยิ่งเพิ่มศรัทธาปสาทะ เพิ่มปัญญาในศาสนธรรม ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516