Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๘

sangharaja-section

sungaracha

ข้อว่าด้วยมรรคมีองค์ 8

การตั้งใจฟัง ก็เป็นการอบรมจิตอย่างหนึ่ง ดังจะพึงเห็นได้ในศาสนประวัติว่า พระพุทธสาวกไม่น้อยท่านสำเร็จมรรคผล เมื่อได้ฟัง ธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า   พระอัญญาโกณฑัญญะได้ฟังปฐมเทศนา ก็ได้ ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรที่ 2 ที่เรียกว่า อนัตตลักขณสูตร  พระเบญจวัคคีย์ก็มีจิตพ้นจากอาสวะ คือ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง 5 รูป และได้มีพระสงฆ์สาวกอีกไม่น้อยผู้ได้ธรรม เมื่อได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา   ฉะนั้น มรรคมีองค์ 8 จึงเกิดขึ้นได้แก่ผู้ตั้งใจฟัง การตั้งใจฟัง จึงเป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมจิตอย่างหนึ่ง พิจารณาดูแม้จะไม่ได้ไม่ถึงธรรมดังกล่าว ก็เป็นการปฏิบัติ เป็นการอบรมจิต ทุกคราวที่ตั้งใจฟัง ที่เป็นการปฏิบัตินั้น ก็กล่าวได้ว่า เป็นการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ย่นลงมาก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

 

ศีล สมาธิ ปัญญา

          ศีล   ในการตั้งใจฟังธรรม จะต้องมีความสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ

สำรวมกาย   ก็คือกายจักต้องอยู่ในอาการสงบ ไม่หลุกหลิกกระสับกระส่าย

สำรวมวาจา   นั้นก็คือ จะต้องตั้งวิตกวิจารไปเป็นธรรม เพราะว่า วิตกวิจารนี้เป็นต้นของวาจา คนเราจักต้องคิดขึ้นมาก่อนจึงพูด บางทีรู้สึกคล้ายกับว่าพูดโดยไม่ได้คิด คือ พูดโพล่งออกไป แต่อันที่จริงต้องมีคิดนำ คือ คิดจะพูดแล้วก็พูด แต่ว่ายังไม่ทันคิดว่าที่จะพูดนั้นเหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร เพราะความคิดนี้รวดเร็วมาก เมื่อจะพูดจึงจะต้องคิดก่อนดังกล่าว คิดที่เป็นเหตุให้พูด นี่แหละ เรียกว่า วิตกวิจาร จะต้องคิดไปในธรรมที่ฟัง เรียกว่า พูดในใจไปกับธรรมที่ฟัง ไม่ใช่ว่าคุยกันไป เมื่อสำรวมวาจาดั่งนี้ จึงชื่อว่าสำรวมวาจา

สำรวมใจ   นั้นก็คือ สำรวมใจให้สงบ ไม่ตั้งเจตนาคือความจงใจไปว่า จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะพูดอย่างนั้นอย่างนี้ จะคิดอ่านอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นการงานต่างๆ ถ้าส่งใจไปคิดการงานต่างๆเสีย ก็ไม่สำรวมใจ ต่อเมื่อสำรวมใจอยู่ คือ ทำใจให้สงบจากเจตนาที่คิดการงานต่างๆดังกล่าว จึงจะชื่อว่า สำรวมใจ

การสำรวมกาย วาจา ใจ ดั่งนี้ นับเป็นศีล ซึ่งจะต้องมีในขณะฟังธรรม

สมาธิ   จะต้องมีสมาธิในการฟัง คือทำจิตใจให้สงบจากนิวรณ์ทั้งหลาย และตั้งใจไว้ในธรรมที่ฟัง นำธรรมที่ฟังเข้ามาสู่ใจ เปิดใจออกรับธรรมที่ฟัง ให้ธรรมที่ฟังไหลเข้ามาสู่ใจตามลำดับเสียง อักษร ภาษาที่แสดง เมื่อมีสมาธิในการฟัง ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติในสมาธิ

ปัญญา   และจะต้องมีความรู้ที่ฉวยได้จากธรรมที่ฟัง ความรู้ที่ฉวยได้ คือที่เกิดขึ้นจากธรรมที่ฟังนี้ เริ่มตั้งแต่ความรู้เรื่องที่แสดง เมื่อรู้เรื่องที่แสดง ก็รู้เหตุผลที่แสดง เมื่อรู้เหตุผลที่แสดง ความรู้ก็เข้าถึงสัจจะ ตามเหตุและผลตามลำดับ และส่องเข้ามาจนถึงรู้สัจจะในตนเอง แต่เป็นเพียงเงา เงาที่ปรากฏในกระจก ไม่ใช่เป็นตัวหน้าของตนเอง ตัวหน้าของตนเองนั้นตนเองมองไม่เห็น เพราะว่าโดยปกติ ตาของตนเองนั้น ได้แต่มองออกไปข้างนอก เห็นแต่ข้างนอก ไม่เห็นย้อนกลับเข้ามา จะต้องมีเครื่องมือ คือกระจกตั้งไว้และก็มองไปที่กระจก ก็เห็นเงาในกระจก คราวนี้ บุคคลผู้ต้องการจะแต่งหน้า ถ้าไปแต่งที่เงาในกระจกก็แต่ไม่ถูกหน้า จะต้องกลับมาแต่งที่หน้าของตนเอง จึงจะแต่งถูกหน้า ฉันใดก็ดี ธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ก็เป็นเหมือนอย่างกระจกสำหรับที่จะส่องให้เห็นตนเอง แต่ตัวธรรมที่เป็นปริยัติธรรมนั้น ก็เป็นเหมือนอย่างกระจกที่แสดงให้เห็นได้แต่เงาหน้า แต่ตัวของหน้านั้นก็คงอยู่ที่บุคคลนั่นเอง ฉะนั้น เมื่อได้เห็นตนในปริยัติธรรม ก็เท่ากับว่าเห็นเงาหน้าของตนในกระจก ตนที่ปรากฏในปริยัติธรรมนั้น เป็นเพียงเงาของตน เมื่อไปตกแต่งเงาอยู่เท่านั้น การตกแต่งก็ไม่ถึงตน แต่งแค่เงา ฉะนั้น ที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมนั้น ก็จักต้องมาแต่งที่ตน คือเมื่อเห็นตน หรือเห็นเงาของตนจากกระจก คือปริยัติธรรมแล้ว ก็มาแต่งที่ตน เมื่อปริยัติธรรมส่องให้มองเห็นว่า นี้เป็นทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ก็ต้องกลับมากำหนดให้รู้ทุกข์ที่ตน เมื่อปริยัติธรรมแสดงว่า นี้เป็นสมุทัย เหตุที่เกิดทุกข์ และควรละเสีย ก็ต้องกลับมาดูให้รู้จักสมุทัยที่ตนและละสมุทัยที่ตน  เมื่อปริยัติธรรมแสดงว่าส่องว่า นี้เป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ซึ่งควรกระทำให้แจ้ง ก็กลับมาทำความรู้ในทุกขนิโรธที่ตน กระทำให้แจ้งทุกขนิโรธที่ตน เมื่อปริยัติธรรมส่องว่า นี้เป็นมรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งควรจะอบรมให้มีขึ้น ให้เป็นขึ้น ให้สมบูรณ์ ก็กลับมาศึกษาปฏิบัติธรรมให้บังเกิดขึ้นที่ตน กล่าวโดยย่อก็คือ ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา

เหล่านี้ เป็นการปฏิบัติทางปัญญาทั้งนั้น ซึ่งมีได้ด้วยการฟังธรรมให้รู้จักตนก็คือ ให้รู้จักทุกข์ ให้รู้จักสมุทัยเหตุที่เกิดทุกข์ ให้รู้จักนิโรธความดับทุกข์ ให้รู้จักมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และให้มาปฏิบัติทำความรู้จักที่ตนเอง ดั่งนี้ จึงจะเป็นปฏิบัติธรรมขึ้น และเมื่อเป็นปฏิบัติขึ้น ปฏิเวธธรรม คือปัญญาที่เจาะแทงเข้าไปถึงสัจจะ คือ ความจริง ก็จะปรากฏขึ้นโดยลำดับ ตามควรแก่ความปฏิบัติ

 

อุทาหรณ์เรื่อง คนเจาะไม้และดอกบัว 4 เหล่า

ก็เหมือนอย่างช่างไม้ ใช้สว่านเจาะแทงไม้ เมื่อหมุนสว่านทีหนึ่ง ก็เจาะแทงไม้ลงไปได้ส่วนหนึ่ง แม้จะยังไม่ทะลุหรือยังไม่ถึงขนาดที่ต้องการ ก็เป็นอันว่าได้เริ่มเจาะแทง และเมื่อได้ใช้สว่านเจาะแทงอยู่บ่อยๆ ก็จะเจาะแทงได้ลึกลงไปทุกที จนทะลุ หรือจนได้ขนาดที่ต้องการ การปฏิบัติศึกษาในสัจจะทั้ง 4 ที่ตนเองดังกล่าวก็เป็นฉันนั้น ก็เหมือนอย่างการที่ใช้สว่านเจาะแทง ปฏิบัติเมื่อใด ก็เป็นการเจาะแทงลงไปได้หน่อยหนึ่งๆเท่านั้น ในขั้นแรก ก็อาจจะยังไม่รู้สึกว่า เจาะแทงลงไปได้ลึกเท่าใด เหมือนอย่างยังไม่ปรากฏผลอะไรขึ้นมาเลย แต่ว่าเมื่อปฏิบัติอยู่บ่อยๆ การเจาะแทงก็ลึกลงไปลึกลงไป จนทะลุในที่สุด ทะลุเมื่อใดก็โปร่งเมื่อนั้น นั่นแหละเรียกว่า เป็นขั้นมรรคผล ซึ่งขั้นมรรคผลนี้ปรากฏขึ้นในขั้นสุดท้าย ในเมื่อเจาะทะลุ คราวนี้ บางคนเขาได้ปฏิบัติเจาะแทงดังกล่าวมาแล้วนานนักหนา ก็เหมือนอย่างว่า ใช้สว่านเจาะแทงกระดานแผ่นหนึ่ง ซึ่งหนามาก เขาก็เจาะลงไปเจาะลงไป จนเหลืออีกนิดเดียวจะทะลุแล้ว แต่ว่ายังไม่ทะลุ ดังนี้เรียกว่า เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมามาก สั่งสมมา คราวนี้ เมื่อได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา บางทีเพียงประโยคสั้นๆ การเจาะแทงของเขาก็ทะลุพรวดลงไปทันที เพราะเหลืออีกนิดเดียวเท่านั้น พวกนี้แหละที่เรียกว่า เป็น อุคฆฏิตัญญู คือรู้เร็ว เรียกว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนเพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นมาเท่านั้น ยังไม่ทันจะต้องอธิบายอะไร เขาก็เจาะแทงพรวดลงไปแล้ว เพราะว่าส่วนที่เหลืออยู่ยังไม่ได้เจาะนั้นอีกนิดหนึ่งเท่านั้น

คราวนี้ผู้ที่เจาะแทงลงไปยังเหลือหนากว่านั้น เรียกว่าต้องเจาะอีกสักทีสองทีจึงจะทะลุ ดั่งนี้ พระพุทธเจ้าเมื่อทรงยกหัวข้อขึ้นแล้ว ก็ต้องทรงอธิบายแล้วผู้ฟังนั้นก็เจาะแทงทะลุได้ พวกนี้เรียกว่า วิปจิตัญญู คือเมื่อยกหัวข้อขึ้นแล้ว ต้องอธิบายจึงรู้

ส่วนพวกที่สาม ยังเหลือหนามากกว่านั้น จะต้องเจาะแทงอีกหลายหน แต่เขาก็เจาะลงไปได้มากแล้ว พระพุทธเจ้าเมื่อทรงยกหัวข้อขึ้นแล้ว ทรงอธิบายแล้ว ก็ต้องแนะนำแล้วๆเล่าๆอีกหลายหน เขาก็เจาะเรื่อยๆไปก็ทะลุได้ พวกนี้เรียกว่า เนยยะ ผู้ที่พึงแนะนำได้   สามพวกนี้แหละที่เรียกว่าเป็น เวเนยยะ หรือ เวไนย คือผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดได้ ซึ่งในพระบาลีเทียบด้วยดอกบัวสามเหล่า คือดอกบัวชนิดที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว ต้องแสงอาทิตย์ก็บานทันที ได้แก่พวก อุคฆฏิตัญญู คือผู้รู้เร็ว   ดอกบังจำพวกที่ปริ่มขึ้นมาเสมอน้ำ ต้องรออีกสักวันหนึ่งให้โผล่พ้นน้ำก็บานได้ เทียบกับจำพวกที่สอง วิปจิตัญญู คือที่รู้ต่อเมื่อต้องอธิบาย   พวกที่สามอยู่ใต้น้ำ แต่ก็จะโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำได้ในอีกสักสองสามวัน แล้วก็บานได้ เทียบกับบุคคลจำพวกที่เรียกว่า เนยยะ คือพึงแนะนำได้

ส่วนอีกจำพวกหนึ่งนั้น คือจำพวกที่ได้เจาะแทงมาน้อย ทั้งสว่านเครื่องเจาะก็ทื่อ เจาะให้ทะลุไม่ไหว ดังนี้เรียกว่า ปทปรมะ ซึ่งเทียบเหมือนอย่างบัวอยู่ใต้น้ำลึกๆ ไม่มีโอกาสจะโผล่ขึ้นมาบาน จะต้องเป็นอาหารของปลาและเต่า จำพวกนี้เองที่เป็น อทัมมะ คือผู้ที่พระพุทธเจ้าฝึกไม่ได้ ส่วนอีกสามพวกข้างต้นนั้น เป็น ปุริสทัมมะ คือบุคคลที่พระพุทธเจ้าฝึกได้

เราทั้งหลายในบัดนี้ จะเป็นพวกไหนก็ตาม แต่ก็มีหน้าที่ๆจะพึงลับเครื่องเจาะให้คมขึ้นอยู่เสมอ อย่าให้ทื่อนัก เครื่องเจาะดั่งนี้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญาที่ปฏิบัติให้เป็นพื้นเพนี่แหละ อันจะต้องปฏิบัติกันบ่อยๆ จึงจะเป็นการลับเครื่องมือนี้ให้หมดสนิม และให้คมขึ้นอยู่เสมอ และก็เจาะแทงอยู่เสมอ คือการปฏิบัติอยู่เสมอ การเจาะแทงก็จะลึกลงไปๆโดยลำดับ แต่ถ้าหากว่าไม่สร้างเครื่องมือสำหรับเจาะไว้ และไม่ค่อยลับให้คมอยู่เสมอ เครื่องมือก็จะทื่อเป็นสนิม คือผู้ที่มิได้ใส่ใจที่จะปฏิบัติเป็นการตั้งต้น และไม่ปฏิบัติอยู่เสมอ ดังนี้ การเจาะแทงก็จะช้าเข้า ก็ชื่อว่าได้ทำตนเองนี้แลให้เป็นบุคคลจำพวกที่ 4 ไม่ใช่ว่าใครทำให้ แต่ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติอบรมตนอยู่เสมอ สร้างเครื่องมือเจาะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นพื้นเพให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ให้คมยิ่งขึ้น ขัดเกลาสนิมออกไป และเจาะแทงอยู่เสมอดังนี้แล้ว ก็จะทำตนเองนี่แหละให้เป็นเนยยะขึ้น คือว่าแปละว่าเจาะลงไปได้ครึ่งหนึ่ง หรือค่อนหนึ่งแล้ว ก็เป็นเนยยะขึ้น และทำตนเองนี้แหละให้เป็นวิปจิตัญญูขึ้น คือว่าใกล้ที่จะทะลุจนถึงให้เป็นอุคฆฏิตัญญู คืออีกทีเดียวก็จะทะลุพรวดแล้ว ดั่งนี้ การบรรลุธรรมในที่สุด จึงจะบังเกิดขึ้น

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516