Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๗

sangharaja-section

sungaracha

ข้อว่าด้วยนิโรธ - กายกับจิต

จิตใจนี้เป็นธาตุรู้ที่รู้อะไรๆได้ ในบัดนี้ก็กำลังรู้ฟัง สิ่งที่ฟังก็คือการอบรมในกรรมฐาน และยังมีเสียงอื่นสอดแทรกเข้ามาเป็นครั้งเป็นคราว นอกจากนี้ยังรู้ทางอื่นๆ รวมความเข้ามาก็คือ รู้ทางอายตนะทั้ง 6 ซึ่งมีกายนี้เป็นที่ตั้ง และกายนี้ก็ประกอบขึ้นด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และประกอบด้วยวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้อันได้แก่จิตนี้เราเรียกกันว่า กายและใจ หรือกายและจิต ซึ่งทุกๆคนก็ได้มาตั้งแต่ถือกำเนิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา และก็ดำรงอยู่จนถึงบัดนี้ ความเกิดก่อขึ้นมานั้นก็ด้วยอำนาจของตัณหา อุปาทาน กรรม ประกอบด้วยอวิชชาเป็นต้นเดิม พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ดั่งนี้ ตามนัยที่ตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

บุคคลไม่รู้ด้วยตนเอง ความรู้ของตนเองนั้นมาเริ่มรู้จำได้ก็ต่อเมื่อรู้เดียงสาขึ้นมาแล้ว เป็นต้นมาเท่านั้น ก่อนแต่นั้น เมื่อยังเล็กมากก็ย่อมมีความรู้ทางอายตนะแต่ก็จำไม่ได้ เมื่ออายตนะยังไม่บริบูรณ์ ก็ไม่มีทางที่จะสื่อให้เกิดความรู้ดังกล่าว แต่อาศัยพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระสัพพัญญู ตรัสรู้และได้ทรงแสดงบอกไว้ตลอดจนถึงได้ตรัสชี้ให้เห็นสัจจะคือความจริงว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน กายและใจที่ประกอบกันอยู่นี้ก็เป็นสังขาร คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่งว่าถึงกายเอง ก็ปรุงแต่งขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ เมื่อประกอบกันขึ้นเป็นสัตว์บุคคล ก็มีวิญญาณธาตุหรือจิตใจนี้เข้าประกอบอีกส่วนหนึ่ง จึงเป็นสังขาร คือเป็นส่วนผสมปรุงแต่งตังกล่าว คือต้องมีการปรุงเข้ามา กายและจิตอันนี้ หรือธาตุทั้ง 6 ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณธาตุ เข้ามาประกอบกันก็เป็น เกิด และเมื่อเกิดก็มีแก่ มีตาย ความตายนั้นก็คือ ความแยกออกไปแห่งธาตุทั้ง 6 นี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงชี้ให้เห็นสัจจะ คือความจริงของความเกิดแก่ตายนี้ และก็ได้ทรงชี้ถึงเหตุคืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมซึ่งเป็นผู้สร้างให้บังเกิดขึ้น

ในอริยสัจจ์ 4 ได้ทรงยกขึ้นชี้ให้เห็นแต่เพียงข้อเดียว คือ ตัณหา และตัณหานั้นก็มีอยู่ 2 อย่างคือ 

1. ตัณหาอย่างละเอียด เป็น ตัณหานุสัย นอนจมอยู่ในจิต
            2. อีกอย่างหนึ่ง ตัณหานิวรณ์ คือตัณหาที่บังเกิดขึ้น กลุ้มกลัดจิตใจ ทำจิตใจให้กลัดกลุ้ม ดิ้นรน วุ่นวาย กระสับกระส่าย มีอาการที่อยากได้บ้าง อยากเป็นบ้าง อยากที่จะให้เสื่อมสิ้นไปบ้าง

 

ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม

          ตรัสชี้ให้บุคคลพิจารณาให้เห็น สัจจะคือ ข้อที่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทรงชี้ให้เห็นสัจจะของชีวิต คือ เกิด แก่ ตาย และทรงชี้ให้เห็นเหตุที่เป็นผู้สร้างคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม หรือว่าทรงยกขึ้นแต่เพียงตัณหาข้อเดียว พิจารณาดูตามกระแสพระพุทธภาษิตที่ตรัสชี้แจงบอกไว้ ก็จะพึงเห็นได้ว่า สังขารทั้งหลาย คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายบรรดาที่มีอยู่ในโลกนี้ หรือว่าธรรมทั้งหลายกล่าวคือ ทั้งสิ่งที่เป็น สังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่ง ทั้งสิ่งที่เป็น วิสังขาร คือมิใช่สิ่งผสมปรุงแต่ง ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมดาของตนเองคือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง   ทุกขตา ความเป็นทุกข์   อนัตตตา ความเป็นของมิใช่ตนดังกล่าวแล้ว   พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ทรงอุบัติขึ้นในโลก สังขารทั้งปวง ธรรมทั้งปวง ก็ย่อมเป็นไปตามกฎธรรมดาดั่งนี้ ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นสุข แก่ใครผู้ใดผู้หนึ่งทั้งสิ้น จึงได้เรียกว่า ธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยาม ความกำหนดแห่งธรรม คือเป็นธรรมดา โลกนี้ย่อมเป็นสังขาร คือส่วนผสมปรุงแต่งทั้งนั้น และก็ผสมปรุงแต่งขึ้นจากธาตุทั้งหลาย ธาตุทั้งหลายนั้น ในทางวิปัสสนาที่แสดงไว้สำหรับยกขึ้นพิจารณา ก็คือ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ เพราะเป็นสิ่งที่พึงแยกออกพิจารณาได้ทางวิปัสสนา

 

ลักษณะของธาตุ

แต่แม้เช่นนั้น ก็ยังมีกำหนดลักษณะสำหรับที่จะเป็นที่รวม คือลักษณะที่แข้นแข็งก็เป็น ธาตุดิน   ลักษณะที่เอิบอาบก็เป็น ธาตุน้ำ   ลักษณะที่อบอุ่นก็เป็น ธาตุไฟ   ลักษณะที่พัดไหวก็เป็น ธาตุลม   ลักษณะที่เป็นช่องว่างก็เป็น อากาศ  และก็อาจหยิบยกเอาคำว่าธาตุขึ้นมากำหนดลักษณะรวมอีกอย่างหนึ่ง คือ ลักษณะที่ทรงตัวแยกออกไปอีกไม่ได้ คู่กับสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง   สังขารก็ผสมปรุงแต่งขึ้นจากธาตุ ธาตุเป็นสิ่งที่มาผสมปรุงแต่งขึ้นเป็นสังขาร   ธาตุนั้นที่มีลักษณะเป็นอันหนึ่ง คือทรงตัว เป็นสิ่งแยกออกไปไม่ได้ก็เป็น ธาตุแท้   แต่เมื่อยังแยกออกไปอีกได้ก็เป็นสังขาร   สังขารนั้นย่อมเป็นสิ่งที่แยกออกไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่ธาตุมาปรุงแต่งกันเข้า และเมื่อเป็นสังขารก็ต้องไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และเมื่อเป็นธรรมดังจะกล่าวว่า คือตัวธาตุแท้นั้นเอง ก็ยังเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน นี้เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม   สิ่งที่เป็นธาตุแท้หรือเป็นธรรม ส่วนที่เป็นธาตุแท้นี้ ก็พึงแยกออกได้เป็นสองคือ เป็นธาตุที่เป็นวัตถุ กับธาตุที่เป็นธรรมมิใช่วัตถุ

 

ธาตุแท้ 2 อย่าง

          ธาตุที่เป็นวัตถุ นั้น ส่วนที่เป็นธาตุแท้ คือที่แยกออกไปไม่ได้ ในบัตดนี้ ก็ค้นกันลงไปจนถึงเป็นปรมาณู แต่เมื่อยังแยกออกไปได้อีกก็ยังมิใช่ธาตุแท้ จนกว่าจะพบถึงส่วนที่แยกออกจากกันไม่ได้อีก จึงจะเป็นธาตุแท้ แต่จะมีได้หรือไม่อย่างไรนั้น ก็เป็นสิ่งที่นักปราชญ์ทางวัตถุจะได้ค้นคว้ากันต่อไป

          ส่วนธาตุแท้ที่เป็นธรรมไม่ใช่วัตถุ นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงพบดังที่ตรัส เรียกว่า วิราคธรรม ธรรมที่สิ้นคิด สิ้นยินดี หรือว่าสิ้นกิเลสเป็นเครื่องย้อมใจให้ติด ให้ยินดี ได้แก่ พระนิพพาน อันเป็นธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เป็น อสังขตธาตุ ธาตุที่เป็นอสังขตะ คือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็น วิสังขาร สิ้นสังขาร คือ สิ้นความปรุงแต่ง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่ง เป็นสัจจะที่เรียกว่า บรมอริยสัจจะ คือเป็นสัจจะที่เป็นอริยะอย่างยิ่ง ไม่เป็นโมฆะ คือไม่เป็นของเปล่า แต่เป็นตัวสัจจะที่แท้จริง นี้ก็รวมอยู่ในธรรมฐิติในธรรมนิยามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และได้ทรงแสดงบอกไว้ ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นสุขแก่ใครผู้ใดผู้หนึ่งทั้งสิ้น เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม อยู่โดยแท้   แต่เมื่อบุคคลมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม ที่สืบเนื่องกันไป หรือยกขึ้นเพียงอย่างเดียวว่าตัณหา ซึ่งจะต้องหมายรวมถึงอุปาทานเข้าด้วย ดังจะกล่าวว่า ตัณหาอยาก อุปาทานยึด เมื่อมีความอยากยึดบังเกิดขึ้น อยากยึดกายและใจนี้ที่เป็นสังขารดังกล่าวหรือที่เรียกว่า อยากยึด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันรวมเข้าเป็นนามรูปว่า   เอตํ มม นี่เป็นของเรา   เอโส หมสฺมิ เราเป็นนี่   เอโส เม อตฺตา นี่เป็นตัวตนของเรา ขันธ์ 5 ที่ย่นเข้าเป็นนามรูป คือ กายและใจอันนี้ ก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือขึ้น ก็กลายเป็นทุกข์ขึ้น คือเป็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือ ทุกข์ แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งมีเป็นธรรมฐิติ มีเป็นธรรมนิยาม ก็กลายเป็น เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ เมื่อยังไม่มีตัณหาอุปาทานเข้าจับเกิดเป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม แก่ตายเป็นธรรมฐิติ แก่ตายเป็นธรรมนิยาม ไม่เป็นทุกข์แก่ใคร แต่เมื่อมีตัณหาอุปาทานเข้าจับ ก็เป็น ชาติปิ ทุกฺขา  ชราปิ ทุกฺขา  มรณมฺปิ ทุกฺขํ และเป็นทุกข์ต่างๆ ดังที่เราทั้งหลายฟังหรือสวดกันอยู่ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้ให้รู้จักธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ให้รู้จักตัณหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งอุปาทานอันสร้าง ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ดังกล่าว   ตัณหาก็เป็น สมุทัยสัจจะ สภาพที่จริงคือสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์   ปัญญาที่กำหนดรู้เป็นความรู้ละ รู้วาง ละวางตัณหาอุปาทานได้เมื่อใด ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้น   ขันธ์ 5 ก็คงเป็นขันธ์ 5 นามรูป หรือกายและใจก็คงเป็นนามรูป หรือกายและใจ   แต่ว่าเมื่อดับตัณหาอุปาทานได้ สิ่งเหล่านี้ก็ปรากฏเป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามได้ ไม่เป็นทุกข์แก่ใคร ฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้ทำความรู้จัก ตัวนิโรธ คือตัวความดับ

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516