Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๖

sangharaja-section

sungaracha

จิต วิญญาณ มนะ

จิตใจนี้ ย่อมดำเนินไปในกระแสโลก หรือกระแสตัณหาอยู่โดยปกติ กล่าวคือ อารมณ์ทั้งหลายที่ไหลเข้ามาสู่จิตใจ เป็นอารมณ์ที่นับว่าเป็นสภาวธรรมส่วนหนึ่ง เป็นอารมณ์ที่นับว่าเป็นที่ตั้งของตัณหา หรือตัณหาอีกส่วนหนึ่ง อันที่จริงสภาวธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นไปอยู่ กล่าวคือ กระบวนการของกายและใจอันนี้ ซึ่งเป็นไปอยู่

มหาภูตรูป   กายนี้ในส่วนที่เป็นมหาภูตรูป ก็เป็นธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม   ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เป็นไปอยู่ตามเหตุปัจจัยของตน คือของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเอง

อุปาทายรูป   ในส่วนที่เป็นอุปาทายรูป รูปอาศัยเป็นต้นว่า ประสาททั้ง 5   จักขุประสาท ประสาทตา ก็รับรูป   โสตประสาท ประสาทหู ก็รับเสียง   ฆานประสาท ประสาทจมูก ก็รับกลิ่น   ชิวหาประสาท ประสาทลิ้น ก็รับรส   กายประสาท ประสาทกาย ก็รับโผฏฐัพพะ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของประสาทเหล่านี้เอง

แหละยังมีประสาทที่ 6 คือมโน หรือมนะ อันไม่ใช่เป็นรูปโดยตรง ก็นับว่าเป็นพวกนามธรรม แต่ว่าไม่ใช่เป็นนามธรรมชนิดที่เป็นอาการ แต่เป็นนามธรรมชนิดที่เป็นตัวตั้ง เหมือนอย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นประสาททั้ง 5 เป็นสิ่งที่เป็นตัวตั้งอย่างหนึ่งๆ มโนก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เป็นรูปโดยตรง แต่ก็ไม่ใช่นามธรรมเหมือนอย่างนามธรรมอย่างอื่น แต่เป็นนามธรรมชนิดที่เป็นตัวตั้ง ทำนองเป็นประสาทที่ 6 ซึ่ง มโน อันนี้ในอภิธรรมก็จัดเข้าเป็นพวก จิต พวก วิญญาณ แต่ผู้พิจารณาในสมัยต่อมา เช่นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีพระมติว่า หน้าที่ของมโน ที่แสดงไว้ คล้ายคลึงกับ หน้าที่ของมันสมอง จึงถือเอาว่าเป็นมันสมอง แต่เมื่อเป็นมันสมองก็จะต้องเป็นรูปธรรม แต่มโนจะเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรมก็ตามที ก็ยุติได้ว่ามโนเป็นสิ่งที่มีอยู่ นับว่าเป็นประสาทที่ 6 ซึ่งเป็นประสาทสำคัญ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นอายตนะที่ 6 คืออายตนะภายในข้อที่ 6 และเมื่อตรัสเรียกทั้ง 6 ข้อนี้ว่า ทวาร มโนก็เป็นทวารที่ 6 และเมื่อเรียกว่าเป็นอายตนะ เหมือนอย่างตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือเป็นทวารเหมือนอย่าง 5 ข้อนั้น มโนจึงอยู่ในฐานะเป็นอายตนะอย่างหนึ่ง มีหน้าที่เป็นที่ต่อ หรือว่าเป็นทวารๆหนึ่ง มีหน้าที่เป็นทางเข้าเช่นเดียวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงเป็นอันแบ่งแยกออกจากสภาพที่เรียว่า จิต ซึ่งตรัสสอนไว้ว่า ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ ดังนี้

จิตนี้ ตรัสว่า เป็นธรรมชาติประภัสสร คือผุดผ่อง แต่ว่าเศร้าหมองไปเพราะ อุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรมา แต่ว่าจิตนี้ก็อาจอบรมให้วิมุติ คือหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้ เป็นจิตวิมุติ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ดังนี้ ฉะนั้น สภาพที่เรียกว่า จิต จึงต่างจากสิ่งที่เรียกว่า อายตนะ หรือทวารมโน โดยอายตนะนั้นเป็นที่ต่อหรือที่เรียกว่า ทวาร ก็เป็นทางเข้า ถามว่าเป็นที่ต่อของอะไร ก็ตอบว่าเป็นที่ต่อของอารมณ์ เป็นทางเข้าของอะไร ก็เป็นทางเข้าของอารมณ์ กล่าวคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มโน เป็นที่ต่อของอารมณ์เข้าไปสู่จิต เป็นทวาร คือเป็นทางเข้าไปแห่งอารมณ์สู่จิต หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นที่ซึ่งจิตต่ออารมณ์ หรือเป็นทางที่จิตรับอารมณ์ ดังนี้ก็ได้ ก็แปลว่าจิตกับอารมณ์ จะพบกันก็ต้องอาศัยอายตนะและทวารทั้ง 6 นี้ เป็นที่ต่อหรือเป็นทวาร ฉะนั้น มโนจึงอยู่ในฐานะเป็นอายตนะ หรือเป็นทวารเท่านั้น

แต่ท่านอธิบายไว้ว่า อายตนะหรือทวาร 5 ข้อข้างต้น ย่อมมีวิสัยอำนาจเฉพาะ กล่าวคือ ตาก็มีวิสัยเฉพาะ คือมีอำนาจหรือมีความสามารถรับได้เฉพาะรูปเท่านั้น หูก็รับได้เฉพาะเสียงเท่านั้น จมูกก็เฉพาะกลิ่นเท่านั้น ลิ้นก็เฉพาะรสเท่านั้น กายก็เฉพาะโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องเท่านั้น ส่วนมโนซึ่งเป็นข้อที่ 6 นั้น มีวิสัยอำนาจรับได้ทั้งหมด กล่าวคือ ร่วมรับรูปทางตาด้วย ร่วมรับเสียงทางหูด้วย ร่วมรับกลิ่นทางจมูกด้วย ร่วมรับรสทางลิ้นด้วย ร่วมรับสิ่งที่กายถูกต้องทางกายด้วย และรับอารมณ์คือ เรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ประสบพบผ่านมาแล้วในอดีต อันเป็นอารมณ์จำเพาะของตนได้อีกด้วย

มโนข้อที่ 6 นี้ จึงมีวิสัยอำนาจที่กว้างขวาง และถ้าหากว่า มโนไม่ไปร่วมรับรูป เสียง ทางตา ทางหู เป็นต้นด้วยแล้ว แม้ว่าตากับรูปจะประจวบกัน หูกับเสียงจะประจวบกันเป็นต้น ก็ไม่สำเร็จความรู้เรื่องรูปเสียง เป็นต้น ต่อเมื่อมโนไปร่วมรับด้วย จึงจะให้สำเร็จความรู้รูปเสียงเป็นต้น ดังจะพึงเห็นได้ว่า เมื่อลืมตาอยู่ก็ย่อมพบกับรูปต่างๆ ที่อยู่ในคลองของจักขุประสาท ก็แปลว่า รูปกับจักขุประสาทจะต้องมาพบกัน แต่ก็มีเป็นอันมากที่บุคคลไม่มีความรู้เห็น คือไม่เห็นเพราะว่ามโนนั้นไม่ได้ไปร่วมดูรูปด้วย มโนไปอยู่เสียในที่อื่น หูกับเสียงก็ประจวบกันอยู่เสมอเพราะว่าหูไม่หนวก มีเสียงอะไรมากระทบก็ต้องมาประจวบกัน แต่ว่ามีเป็นอันมากเหมือนกันที่บุคคลไม่ได้ยินเสียง เพราะว่ามโนไม่ได้มาฟังด้วย มโนไปอยู่เสียในที่อื่น ฉะนั้น แม้จะลืมตาอยู่ ก็เรียกว่า ตาดับ ไม่เห็น เปิดหูอยู่ก็เรียกว่า หูดับ ไม่ได้ยิน ถ้ามโนไม่ได้ไปร่วมดูร่วมฟังด้วย

ฉะนั้น มโนซึ่งเป็นข้อที่ 6 นี้ จึงเป็นข้อสำคัญที่จะต้องไปร่วมดูร่วมฟังเป็นต้น ทั้ง 5 อายตนะนั้น จึงจะให้เกิดความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียงเป็นต้นขึ้นได้ และความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียงเป็นต้นนี่แหละ ตั้งชื่อเรียกว่า วิญญาณ ฉะนั้น คำว่าวิญญาณ จึงเป็น นามธรรมที่เป็นอาการ ที่เป็นอาการเริ่มรู้ขึ้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อที่ว่าด้วยวิญญาณเมื่อดำเนินสืบขึ้นไปก็เป็นสัมผัส แล้วก็เป็นเวทนา จากเวทนาก็เป็นสัญญาคือความจำหมายก็จำแนกออกเป็น 6 ตามสิ่งที่จำ          คือจำรูป ก็เรียกว่า รูปสัญญา   จำเสียง ก็เรียกว่า สัททสัญญา   จำกลิ่นก็เรียกว่า คันธสัญญา   จำรส ก็เรียกว่า รสสัญญา   จำสิ่งที่กายถูกต้อง ก็เรียกว่า โผฏฐัพพสัญญา   จำเรื่องราวทั้งหลายก็เรียกว่า ธรรมสัญญา   ก็เป็นสัญญา 6 เพราะฉะนั้นสัญญาจึงเป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา ที่กล่าวมาโดยลำดับนี้เป็นนามธรรมที่ตัวอาการ เป็นปิยรูป สาตรูปของตัณหา ดังได้กล่าวมาแล้ว

ฉะนั้น ก็ให้พิจารณาดูอายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกัน พิจารณาดูวิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา ที่ดำเนินมาโดยลำดับ และพิจารณาจับดูตัณหาที่วิ่งออกจับสิ่งเหล่านี้ อันกล่าวได้ว่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสภาวธรรม ธรรมที่มีภาวะของตน คือเป็นขึ้นเองตามเหตุตามปัจจัย เป็นกระบวนการทางกาย ทางใจ ตัณหาก็วิ่งจับกระบวนการทางกายทางใจนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ก็ที่กระบวนการทางกาย ทางใจนี้ เมื่อตั้งสติกำหนดพิจารณาดูอยู่ สภาวธรรม คือายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา ก็จะปรากฏขึ้น กระแสตัณหาที่วิ่งมาตามสิ่งเหล่านี้ ก็จะปรากฏขึ้น อาจจะเทียบได้ว่าสภาวธรรมเหล่านี้ เหมือนอย่างเป็นสายไฟ กระแสตัณหาเหมือนอย่างกระแสไฟฟ้าที่วิ่งมาตามสายไฟเหล่านี้ เมื่อมีสติกำหนดดูอยู่ พร้อมทั้งพิจารณาให้เห็นความเกิด ความดับ เมื่อความเกิดพร้อมกับความดับปรากฏขึ้น ความแล่นไปของกระแสตัณหาก็จะดับลงไปพร้อมกับความดับของนามธรรม รูปธรรม ที่ปรากฏขึ้น

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
13 มกราคม พ.ศ.2516