Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๕

sangharaja-section

sungaracha

การปฏิบัติกุศลกรรมบถ

ชีวิตนี้มีอันตรายต่างๆอยู่รอบด้าน ความมีชีวิตล่วงมาได้วันหนึ่งๆ เดือนหนึ่งๆ ปีหนึ่งๆ จึงเป็นความสวัสดีของชีวิต ที่นับว่าเป็นสิ่งที่ได้ด้วยยาก เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะไม่ประมาท เลินเล่อเผลอเพลินอยู่ในเรื่องแวดล้อมทั้งหลาย ที่น่ายินดีเพลิดเพลิน แต่พิจารณาถึงสัจจะซึ่งทุกๆคนจะต้องประสบ คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก อันมีอยู่ทุกขณะจิต ทุกขณะลมหายใจเข้าออก แต่ความดับนั้นยังมีความเกิดสืบต่อเป็นสันตติ จึงไม่ใช่เป็นความดับในที่สุด แต่แม้เช่นนั้น ทุกๆคนก็ไม่รู้จักกาลอันแน่นอนของความดับในที่สุดซึ่งจะมีแก่ชีวิต ฉะนั้น ในขณะที่ชีวิตยังดำรงอยู่ ยังมีความสวัสดีอยู่ ก็ใช้ชีวิตประกอบกรณี คือกิจที่ควรทำต่างๆอันเป็น   กายสุจริต ความสุจริตทางกาย   วจีสุจริต ความสุจริตทางวาจา   มโนสุจริต ความสุจริตทางใจ   ความประพฤติอยู่ในกรณีอันเป็นสุจริตธรรมดังนี้ ย่อมเป็นกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศลอันเป็นของๆตน ชีวิตอันประกอบด้วยร่างกาย และใจส่วนที่เป็นนามธรรมทั้งปวง หาใช่เป็นของตนไม่ ต้องแก่ไป ต้องเจ็บไป ต้องตายไป แม้สิ่งทั้งหลายที่มาประจวบเข้าเป็นลาภผลต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพลัดพรากไปทุกอย่าง แต่ว่ากรรมที่บุคคลกระทำเอาไว้ ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ย่อมเป็นของๆตน

เพราะฉะนั้น จึงควรสั่งสมกรณีที่เป็นบุญเป็นกุศลทั้งหลาย ด้วยความไม่ประมาท และตั้งใจอบรมในกรรมฐานตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติในสมถกรรมฐาน ทำจิตให้มีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีความสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายในบางครั้งบางคราวหรือเสมอ ตามควรแก่ภาวะของตน และน้อมนำจิตที่สงบตั้งมั่น พิจารณาในสัจจะทั้ง 4 ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ น้อมเข้ามาให้เป็น โอปนยิโก ที่ตนเองให้เห็นสัจจะในตนเอง คือให้เห็นทุกข์ในตนเอง ตลอดจนถึง นิโรธสัจจะ และมัคคสัจจะ ตามควรแก่ความปฏิบัติ การหัดพิจารณาให้รู้สัจจะตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนไว้ให้เป็นโอปนยิโก น้อมเข้ามาให้เห็นสัจจะในตนดั่งนี้ ย่อมเป็นการปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมฐาน อบรมปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง

         

การพิจารณาให้รู้จักสมุทัย

กล่าวโดยเฉพาะพิจารณาให้รู้จัก สมุทัย คือตัณหา การพิจารณาสมุทัยนี้ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะว่า โดยปกตินั้น สมุทัยคือตัณหา เป็นตัวนายที่ครอบครองสั่งการทุกๆคนให้ปฏิบัติตาม ดั่งที่เรียกว่า เป็นทาสของตัณหา ตัณหาเป็นนายบงการใช้สอยบุคคลให้ทำนั่นทำนี่ต่างๆ บุคคลมิได้พิจารณาดูตัณหาที่เป็นตัวนายนี้ให้รู้จัก แต่ก็ปล่อยให้ตัณหาใช้ ให้เข้าครองบังคับบัญชา บุคคลก็เป็นคนใช้ที่ซื่อสัตย์ ที่เช่าฟังตัณหาไปทุกสิ่งทุกอย่าง พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้ชนะตัณหา และได้ทรงสั่งสอนธรรมไว้สำหรับที่จะได้เอาชนะตัณหาในใจของตนเอง ธรรมที่ทรงสั่งสอนทุกๆข้อก็เพื่อที่จะเอาชนะตัณหาในใจนี่แหละ แม้จะยังเป็นทาสตัณหาอยู่ แต่ก็ไม่เป็นทาสจนสุดตัว เริ่มที่จะขัดขืนคำสั่งของตัวตัณหา ที่จะทำตัวเองให้เป็นผู้มีอำนาจต้านทานตัณหาขึ้นบ้าง และเพิ่มกำลังที่จะต้านทานตัณหาขึ้นโดยลำดับ ก็โดยการที่ปฏิบัติ ในศีล สมาธิ ปัญญา มาโดยลำดับและโดยเฉพาะการปฏิบัติทางปัญญาที่เป็นวิปัสสนานี้ ก็เป็นการที่ปฏิบัติต่อสู่ตัณหาในใจของตนเองโดยตรง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ต้องให้พิจารณาดูทางที่ตัณหาบังเกิดขึ้น และเมื่อตัณหาบังเกิดขึ้น ก็พิจารณาให้รู้จักลักษณะหน้าตาของตัณหา ทางที่ตัณหาบังเกิดขึ้นนั้น ก็ได้แก่ทางที่เรียกว่า ปิยรูป สาตรูป ซึ่งได้อธิบายมาแล้วว่า หมายถึง สิ่งที่เป็นเชื้อให้ตัณหาบังเกิดขึ้น วิ่งเข้ามาสู่จิตใจเหมือนอย่างเชื้อของไฟสำหรับที่จะให้ไฟติดเชื้อลุกโพลงขึ้น

 

การพิจารณาปิยรูป สาตรูป

ปิยรูป สาตรูป แปลว่ารูปเป็นที่รัก รูปเป็นที่ชอบใจ ก็หมายถึงว่าสิ่งที่เป็นนิมิตคือที่กำหนดหมาย สิ่งที่เป็นเชื้อของตัณหา ซึ่งตัณหารัก ตัณหาชอบ เมื่อตัณหาพบเชื้อนี้เข้า ก็รักนัก ชอบนัก จะวิ่งเข้ามาจับเชื้อนี้ทันที จึงเรียกว่า ปิยรูป สาตรูป ดังกล่าวแล้ว และก็ได้ยกเอาอายตนะภายในภายนอกที่เป็นคู่กัน เป็นปิยรูป สาตรูป คู่แรก ต่อมาก็วิญญาณที่ล่วงเข้ามาถึงใจ วิญญาณเป็นอาการของใจที่มีอาการเป็นตัวรู้ รู้รูปเมื่อตากับรูปประจวบกัน ดังนี้เป็นต้น ตัณหาก็วิ่งเข้าจับอายตนะภายใน ภายนอก จับวิญญาณนี่แหละบังเกิดขึ้น และมิใช่แต่เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้ายังได้ทรงจำแนกแจกแจงละเอียดต่อไปอีก

 

สัมผัสทางใจ 6

อาการของใจที่สืบต่อจากวิญญาณ คือ สัมผัส คำว่าสัมผัสนั้น แปลว่า ถูกต้องสัมผัส คือความถูกต้องนี้ ไม่ใช่หมายถึงสัมผัสถูกต้องทางกาย ซึ่งเป็นวัตถุต่อวัตถุด้วยกัน แต่หมายถึงสัมผัสถูกต้องทางใจ คือสัมผัสใจถูกต้องใจ ว่าถึงท่านอธิบายไว้ ท่านอธิบายไว้ว่า อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ 3 อย่างนี้ มาพบกันประจวบกัน เรียกว่า สัมผัส และก็จะแบ่งออกเป็น 6 ตามอายตนะทั้ง 6 กล่าวคือ

ตา 1  รูป 1  วิญญาณทางตา 1  ประจวบกันเรียกว่า  จักขุสัมผัส  สัมผัสทางตา
          หู 1  เสียง 1  วิญญาณทางหู 1  ประจวบกันเรียกว่า  โสตสัมผัส  สัมผัสทางหู
          จมูก 1  กลิ่น 1  วิญญาณทางจมูก 1  ประจวบกันเรียกว่า  ฆานสัมผัส  สัมผัสทางจมูก

          ลิ้น 1  รส 1  วิญญาณทางลิ้น 1  ประจวบกันเรียกว่า ชิวหาสัมผัส  สัมผัสทางลิ้น
          กาย 1  โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้อง 1  วิญญาณทางกาย 1 ประจวบกันเรียกว่า กายสัมผัส สัมผัสทางกาย
          มโนคือใจ 1  ธรรมคือเรื่องราว 1  วิญญาณทางมโน 1  ประจวบกันเรียกว่า มโนสัมผัส สัมผัสทางมโนคือใจ

ท่านอธิบายสัมผัสไว้ดั่งนี้ ถือเอาความง่ายๆว่า สัมผัสใจ หรือ สัมผัสจิต อะไรมาสัมผัสจิต ก็คืออารมณ์นั่นเอง ได้แก่เรื่องรูปที่ตาเห็น เรื่องเสียงที่หูได้ยินเป็นต้น อันเรียกว่า อารมณ์    อารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่เป็นวัตถุ วัตถุเข้าไปถึงจิตใจไม่ได้ วัตถุอยู่ข้างนอก แต่สิ่งที่จะเข้าไปถึงจิตใจได้นั้นเป็นอารมณ์ คือเป็นเรื่องที่ถอดออกจากวัตถุต่างๆ เป็นตัวเรื่องอายตนะภายในภายนอกพบกันเกิดวิญญาณ คือความรู้ รู้เสียงทางหูเป็นต้น   ดังที่กล่าวแล้ว ก็คือ รู้อารมณ์ ได้แก่รู้เรื่องนั้นเอง รู้เรื่องรูป รู้เรื่องเสียงเป็นต้น และเรื่องรูปเรื่องเสียงนั้นก็สัมผัสถึงใจ คือกระทบใจ ถูกต้องใจ นี่แหละเป็นตัวสัมผัส เพียงแค่อายตนะภายในภายนอกกระทบกัน ไม่เกิดวิญญาณ ก็มีอยู่เป็นอันมาก และเกิดวิญญาณแล้วก็หายไปแค่วิญญาณเท่านั้น ก็มีอยู่เป็นอันมาก อารมณ์บางอย่างที่แรงขึ้นจึงล่วงเข้ามาเป็นสัมผัส คือกระทบถูกต้องจิต เหมือนอย่างมาทุบประตูร้องเรียกซึ่งมีอาการที่แรงขึ้นดังนี้ ท่านจึงแสดงไว้ว่า ทั้ง 3 อย่างมาประจวบกันดังกล่าวแล้ว จึงเป็นสัมผัส

 

การพิจารณานามรูปที่หยาบและละเอียด

สัมผัสทางจิตใจดังกล่าวนี้ ไม่ได้แสดงไว้ในขันธ์ 5   ในขันธ์ 5 นั้น เรียงลำดับว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เอาวิญญาณไว้ท้าย และไม่มีสัมผัส   ส่วนในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ และในพระสูตรอื่นอีกเป็นอันมาก เรียงวิญญาณไว้เป็นอันดับต้นต่อจากอายตนะภายนอกภายในแล้วก็มาวิญญาณแล้วก็มาสัมผัส เป็นการแสดงความเกิดขึ้นของนามธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามลำดับ คือ อายตนะภายในภายนอกประจวบกันเกิดวิญญาณ แล้วก็เป็นสัมผัส แล้วจึงจะไปข้ออื่น   ในขันธ์ 5 นั้น เรียงวิญญาณไว้ท้าย พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้เหมาะแก่การพิจารณาของผู้ปฏิบัติในทางวิปัสสนา จึงจัดแต่หยาบไปหาละเอียด

รูปเป็นของหยาบ พิจารณาก่อนย่อมเห็นได้ง่าย เวทนาเป็นของหยาบประกอบอยู่ใกล้เคียงกับรูป เหมือนอย่างเช่นรูปกายของทุกๆคนในบัดนี้ เวทนาของรูป เช่นหนาวร้อน ร่างกายสบายไม่สบาย ปวดเมื่อยที่ไหนอันเป็นส่วนไม่สบาย หรือว่าที่เป็นส่วนสบาย นี่เป็นเวทนาทางกาย ตลอดจนถึงใจที่สบายหรือไม่สบาย เป็นเวทนาทางใจนี่พิจารณาได้ง่าย เป็นนามธรรมที่หยาบ ก็เรียงเวทนาไว้ก่อน แล้วก็สัญญาก็ละเอียดเข้า สังขารก็ละเอียดเข้า แล้วจึงถึงวิญญาณซึ่งเป็นของละเอียดกว่าข้ออื่น

เมื่อพิจารณาจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ได้โดยลำดับ ก็พิจารณาจับวิญญาณได้ง่ายขึ้น และเมื่อพิจารณาจับวิญญาณได้ ก็โยงไปถึงอายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกัน อันเป็นที่ตั้งของวิญญาณ และเมื่อพบอายตนะภายในภายนอกมาประจวบกันก็พบวิญญาณ พบวิญญาณและพบสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบถึงใจ แล้วก็ย่อมพบเวทนา เป็นต้นดั่งนี้ ธรรมก็ดำเนินไปตามลำดับเอง   เพราะฉะนั้นในที่นี้ท่านจึงแสดงวิญญาณไว้เป็นลำดับแรกของนามธรรม แล้วก็แสดงสัมผัส ตัณหาก็วิ่งเข้าจับสัมผัสนี้ เมื่ออารมณ์มากระทบใจ ตัณหาก็วิ่งเข้าจับอารมณ์ที่มากระทบใจนี้ พร้อมทั้งจับใจขึ้นทันที ลองมาพิจารณาดูตัณหาที่วิ่งเข้ามาจับ จับทางตา ก็เป็น รูปตัณหา   จับทางหู ก็เป็น สัททตัณหา   จับทางจมูก ก็เป็น คันธตัณหา   จับทางลิ้น ก็เป็น รสตัณหา   จับทางกาย ก็เป็น โผฏฐัพพตัณหา   จับทางมโน ก็เป็น ธรรมตัณหา   พิจารณาดูให้รู้ดั่งนี้ ก็จะเป็นตัวสติและเป็นตัวปัญญาขึ้น ตัณหาก็จะสงบลง

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
5 มกราคม พ.ศ.2516