Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๔

sangharaja-section

sungaracha

ดวงตาแห่งปัญญา

พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระผู้ตรัสรู้ คือเป็นผู้รู้ ผู้เห็นสัจจะ ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลส เป็นผู้พ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้น และได้ทรงมีพระกรุณาแผ่ไปในสัตวโลกทุกกาลทุกสมัย   ธรรม คือคำสั่งสอนของพระองค์ เมื่อตั้งใจฟังก็จะได้ประสบพบพระคุณของพระองค์ คือ พระปัญญา พระบริสุทธิ์และพระกรุณา ดังกล่าวแล้ว ธรรมที่ทรงสั่งสอนด้วยความรู้ ความเห็น ย่อมประมวลลงในสัจจะทั้ง 4 ดังที่เรียกว่า อริยสัจ 4 แต่ผู้ที่จะฟังและพิจารณาให้เข้าถึงสัจจะ ก็จำจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติในธรรมปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานขัดเกลาจิตใจจากกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล และกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ เมื่อมีศีลเป็นภาคพื้น และมีจิตเป็นสมาธิสงบสงัดจากกาม และอกุศลธรรมซึ่งเป็นเครื่องหุ้มห่อ การพิจารณาสัจธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงจะปรากฏได้ง่าย และพระพุทธเจ้าจะปรากฏเหมือนอย่างเป็นผู้ชูดวงประทีปขึ้นในที่มืด สำหรับผู้ที่มีจักษุคือดวงตาจะได้มองเห็นทาง เมื่อพระองค์ทรงชูประทีปขึ้นในที่มืด ทุกๆคนก็จะต้องมีดวงตาและจะต้องลืมตาขึ้นมอง ดั่งนี้ จึงจะเหมือนอย่างดวงประทีปที่ทรงชูขึ้นในที่มืด เมื่อธรรมคือคำสั่งสอน ยังดำรงอยู่ยังเป็นไปอยู่ ดวงประทีปสำหรับส่องให้มองเห็นสัจจะในโลกนี้ก็ยังมีอยู่

ฉะนั้น ในบัดนี้ จึงตกอยู่แก่หน้าที่ของเราทั้งหลายทุกคน ที่จะต้องใช้ดวงตาลืมตาดูทางที่ทรงส่องแสดงนั้น ดั่งนี้ จึงจะบังเกิดประโยชน์และพระพุทธเจ้าก็จะปรากฏเป็นสรณะ คือที่พึ่งอย่างแจ้งชัด พระพุทธะทรงเป็นสรณะคือที่พึ่ง ก็ในฐานะที่ทรงชูดวงประทีปให้มองเห็นทาง  ธรรมเป็นสรณะคือที่พึ่ง ก็โดยเป็นทางที่ประทีปส่องให้มองเห็น  และพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง ก็โดยที่ได้เป็นผู้เดินไปในทางที่ทรงส่อง ได้บรรลุถึงความเกษมสวัสดิ์แล้ว  และผู้ปฏิบัติทุกคนก็เป็นผู้เดินตามพระสงฆ์ และเมื่อเดินไปประสบความสวัสดี ก็เป็นผู้เข้าหมู่พระสงฆ์นับเนื่องอยู่ในพระรัตนตรัย และเมื่อเป็นดั่งนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็ย่อมมาประมวลกันเต็มที่ แต่ดวงตาที่ทุกๆคนมีอยู่ซึ่งจะพึงลืมตาขึ้นดูทางนั้น ก็ย่อมมีกิเลสธุลี คือผงกิเลส ที่เข้าตาอยู่ น้อยบ้าง มากบ้าง อันทำให้มองไม่เห็นชัดหรือมองไม่เห็น

         

ผงกิเลสเข้าดวงตาแห่งปัญญาของสัตวโลก

พระพุทธเจ้า ในขั้นแรกที่ท่านเล่าว่า ไม่คิดจะโปรดโลกก็เพราะปรารภถึงผงกิเลสที่เข้าตาสัตวโลกอยู่มีมากมาย แม้จะทรงส่องประทีปส่องทาง แต่เมื่อสัตวโลกมีผลกิเลสเข้าตากันมาก ไม่อาจจะเห็นทางได้ การสอนก็เป็นการสอนเหนื่อยเปล่า ไม่สำเร็จประโยชน์ แต่อาศัยพระกรุณาที่ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า สัตวโลกที่มีผลกิเลสเข้าตาน้อยมีอยู่ อาจที่จะพอมองเห็น อาจที่จะเขี่ยผลที่เข้าตานั้นออกไปและเห็นทางชัดเจนได้มีอยู่ จึงได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอน และสัตวโลกจำพวกที่มีผงกิเลสเข้าตาน้อย อันพอจะเขี่ยออกให้มองเห็นทางได้นั้น ก็เรียกว่า เวเนยยะ หรือ เวไนย คือผู้ที่พึงแนะนำได้ หรือ ทัมมะ ผู้ที่พึงฝึกได้ ดังในบทพระพุทธคุณว่า ปุริสทมฺมสารถิ ทรงเป็นสารถึฝึกคนที่พึงฝึกได้ดังนี้ อันหมายความว่า สัตวโลกจำพวกที่เป็น อเวเนยยะ คือผู้ไม่พึงแนะนำอบรมหรือเป็นอทัมมะย่อมมีอยู่ ซึ่งสัตวโลกจำพวกนี้เป็นผู้ที่ไม่อาจจะทรงฝึกได้

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายผู้ที่ได้ตั้งใจปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ตั้งใจปฏิบัติตนอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา พยายามที่จะเขี่ยผงกิเลสที่เข้าตาปัญญา อันเป็นเครื่องกำบังไม่ให้มองเห็นสัจจะคือความจริง ให้น้อยเข้าโดยลำดับ ก็ย่อมจัดอยู่ในจำพวกที่รับการฝึก รับการแนะนำอบรมสั่งสอน ส่วนจะแนะนำอบรมได้ หรือฝึกได้ไม่ได้เพียงไรนั้น ก็สุดแต่การปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมของทุกๆคน

 

การปฏิบัติเพื่อเขี่ยผงกิเลสอันเข้าดวงตา

การปฏิบัติเพื่อที่จะเขี่ยผงกิเลสอันเข้าตาออกไปนั้น ก็คือการปฏิบัติอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ดังกล่าวคือ

1. ศีล   การตั้งใจปฏิบัติอยู่ในศีลก็เป็นการเขี่ยกิเลสอย่างหยาบออกไป มีจิตใจสงบ งดเว้น กาย วาจา และใจของตนที่จะก่อภัยก่อเวร อย่างน้อยก็ 5 ประการ อันผู้ปฏิบัติพึงสมาทานให้มั่นคง แม้ในขณะที่ปฏิบัติในสมาธิและปัญญา

2. สมาธิ   การปฏิบัติในสมาธิเป็นการปฏิบัติเขี่ยกิเลสอย่างกลางออกไป คือเป็นการปฏิบัติระงับนิวรณ์

3. ปัญญา   เมื่อนิวรณ์สงบ จิตสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ดวงตาก็จะแจ่มใสขึ้น การมองดูทางที่พระพุทธเจ้าทรงชูประทีปขึ้นไว้แล้วก็จะเห็นชัดขึ้น พระองค์ตรัสชี้ว่า นี่ทุกข์ เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ ความโศก ความร่ำไรรำพัน เป็นต้น เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง 5 ประการ คือ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ เป็นทุกข์ดั่งนี้   พิจารณาดูทุกข์เหล่านี้ ก็ย่อมจะเห็นทุกข์ชัดเจนขึ้นว่าเป็นทุกข์จริง   พิจารณาสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้บอกไว้ว่า คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ ก็จะเห็นชัดได้ง่ายขึ้น และตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของใจนี้ ตรัสชี้ให้พิจารณาดูที่ ปิยรูป สาตรูปของตัณหา ดังที่ได้กล่าวแล้วในครั้งก่อน คือที่ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้อง และมนะคือใจกับเรื่องราวของใจ พระองค์ได้ทรงแสดงชี้ที่เกิดของตัณหา ตั้งต้นแต่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก ที่คู่กันเป็นต้นทาง แล้วก็ทรงชี้เข้ามาจนถึงอาการของใจ ที่เกิดขึ้นสืบจาก อายตนะภายใน อายตนะภายนอกกระทบกัน กล่าวคือ เมื่อดูที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก ก็ให้ดูเข้ามาที่ตัวอาการของใจ ตั้งต้นแต่ วิญญาณ คือตัวความรู้ ก็ให้จับดูที่วิญญาณคือตัวความรู้นี้ และการจับดูวิญญาณคือตัวความรู้นี้ก็จับดูที่ตา ที่หู เป็นต้นนี่แหละดังในบัดนี้ รู้เสียง คือเสียงที่กำลังพูดอยู่นี้ ผู้ที่พูดเองก็รู้เสียงที่ตนพูดเองคือเป็นผู้ฟังด้วย และผู้ฟังทั้งหลายก็รู้เสียงที่พูดอยู่นี้ นอกจากนี้ ยังรู้เสียงอื่นๆที่ดังแทรกเข้ามา เช่น เสียงรถ ความรู้เสียงนี้เป็นวิญญาณอย่างหนึ่งเรียกว่า โสตวิญญาณ รู้ทางหู เป็นความรู้เสียง ถ้าหากว่าไม่มีตัวความรู้ เช่น ในขณะที่สลบ หรือในขณะที่หลับ หรือแม้ว่าส่งใจไปเสียในที่อื่น หูก็ดับ คือไม่ได้ยินแม้อายตนะทางอื่นก็เช่นเดียวกัน ลืมตาดูก็รู้รูป ถ้าไม่มีความรู้ แม้จะเห็นอะไรก็เหมือนไม่เห็น ไม่ต้องสลบไสล เพียงแต่ส่งใจไปในที่อื่นเท่านั้น ตาลืมอยู่ก็มองไม่เห็นเรียกว่า ตาดับ รู้ทางจมูก รู้ทางลิ้น ก็เช่นเดียวกัน รู้ทางกาย เช่นในบัดนี้ รู้ร้อน รู้เย็น ลมมากระทบ กายก็รู้เป็นความเย็น ยุงกัดก็กู้ก็เป็นรู้ทางกาย รู้ทางใจ คิดอะไรขึ้นมาก็รู้   ความรู้ในทางต่างๆเหล่านี้ รู้ทางตา ก็เป็น จักขุวิญญาณ คือรู้รูป เรียกว่า เห็นรูป   รู้ทางหูก็เรียกว่า โสตวิญญาณ คือรู้เสียง เรียกว่าได้ยินเสียง   รู้ทางจมูกก็เรียกว่า ฆานวิญญาณ คือรู้กลิ่นดังที่เรียกว่า ทราบกลิ่น   รู้ทางลิ้นเรียกว่า ชิวหาวิญญาณ คือรู้รส ได้แก่ทราบรส   รู้ทางกายก็เรียกว่า กายวิญญาณ คือรู้สิ่งที่กายถูกต้อง เรียกว่า ทราบสิ่งที่กายถูกต้อง   รู้ทางมโนก็คือใจ ก็เรียกว่า มโนวิญญาณ คือรู้เรื่องที่ใจคิดต่างๆ   รู้เหล่านี้เป็นตัววิญญาณ ตรัสสอนให้พิจารณาดูที่ตัวรู้ที่เป็นวิญญาณนี้ เป็นอันตรัสสอนให้พิจารณาเข้ามาถึงอาการของจิตใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญ อายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เป็นต้นทางซึ่งนับว่าเป็นชั้นนอก

พิจารณาถึงวิญญาณ   นับว่าล่วงเข้ามาถึงชั้นใน จับตัววิญญาณคือตัวรู้ ดังกล่าวนี้ที่เกิดอายตนะทั้งหลายดังกล่าว และก็จะมองเห็นตัณหาที่เกิดขึ้นท่าอายตนะภายในภายนอก ที่วิญญาณเหล่านี้นี่แหละ คืออาการที่เป็นความอยากยึดอยู่ ในรูปที่ตาเห็น ในเสียงที่หูได้ยิน ในกลิ่นที่จมูกได้ ในรสที่ลิ้นได้ ในโผฏฐัพพะที่กายได้ และในเรื่องราวที่ใจคิด มีอาการเป็นความอยากยึดอยู่ คืออยากจะได้รูปบ้าง เสียงบ้าง เป็นต้น หรืออยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ ก็เนื่องอยู่กับรูปและเสียง เป็นต้นนี่แหละ หรือว่าอยากที่จะให้ รูป เสียง ที่ไม่ชอบสิ้นไป หมดไป นี่เป็นอาการที่อยากยึดทั้งนั้น มีลักษณะเป็นตัวตัณหา

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติเมื่อมาพิจารณาที่อายตนะภายในภายนอก ที่ตัววิญญาณคือตัวรู้ดั่งนี้ ก็จะจับตัวตัณหาที่บังเกิดขึ้นได้ และตัณหาที่บังเกิดขึ้นนี้ วิ่งเข้ามาสู่จิตใจรวดเร็ว ตากับรูปกระทบกัน วิญญาณรู้ในรูปเกิดขึ้น ตัณหาก็วิ่งเข้าจับทันที จับในรูปนั้น ที่กล่าวว่าจับในรูปนั้น เป็นการกล่าวเพื่อเข้าใจง่าย แต่อันที่จริงนั้นจับทั้งตา ทั้งรูป จับทั้งตัววิญญาณเอง ความอยากยึดดังนี้ พิจารณาดูได้ที่ใจของตัวเองดังกล่าว นี่เป็นตัวสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์

เพราะฉะนั้น ก็ให้มองให้เห็นตัณหาที่วิ่งเต้นอยู่ในใจของตัวเองว่า มีอาการเป็นอย่างไร ท่านสอนให้จับพิจารณาดู และตัณหามันเต้นอยู่ในใจตัวอย่างนี้ นี่เป็นกามตัณหา นี่เป็นภวตัณหา นี่เป็นวิภวตัณหา มันเต้น อยู่อย่างนี้   อยาก อยู่อย่างนี้   ยึด อยู่อย่างนี้ ความเพ่งพินิจเป็นตัวสติ ความรู้ว่านี่เป็นตัณหา และให้รู้ลงไปว่า นี่เป็นตัวสมุทัย คือเป็นตัวเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ทั้งหมดดังกล่าวมาข้างต้นนั้น บังเอิญเกิดขึ้นเต็มที่ตั้งแต่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ คือตั้งแต่ต้นแถวจนถึงปลายแถว ก็เมื่อตัณหานี่แหละที่เข้ามาเต้นอยู่ในใจ ทำใจให้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ให้อยากให้ยึดต่างๆ ไม่ปล่อยสติปัญญาที่เพ่งพินิจให้รู้ในสัจจะคือความจริง ดังนี้ เมื่อสัจจะคือความจริงปรากฏขึ้นว่า นี่เป็นตัวสมุทัยแล้ว ความปล่อย ความวาง ก็จะบังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปเองและทุกข์ต่างๆก็จะดับลงไปทันที ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้พิจารณาดูเข้ามาให้รู้จัก

 

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
4 มกราคม พ.ศ.2516